ล้อรถแล่นไปบนถนนคดเคี้ยวทอดยาว เมฆสีขาวบนฟ้ากำลังขยับเข้าใกล้เหลี่ยมเขา
ราว 60 กิโลเมตรจากสนามบินนานาชาติเชียงใหม่ เราเดินทางมาถึงโรงเรียนบ้านป่าเลา อำเภอแม่ทา จังหวัดลำพูน ในยามสาย อากาศข้างนอกรถกำลังเย็นสบาย ธรรมชาติของขุนเขาที่โอบล้อมอยู่คือสิ่งแรกที่สังเกตเห็น เช่นเดียวกับดนตรีพื้นเมืองจากน้องๆ นักเรียนที่บรรเลงต้อนรับ
กับคนที่ต้องเดินทางตั้งแต่ฟ้ายังไม่สาง นั่นคือยาแก้ง่วงชั้นดีที่ทำให้เราตื่นเต็มตา
แต่พูดกันตามตรง เราไม่ได้มาที่นี่เพื่อท่องเที่ยวตามอำเภอใจ อันที่จริง เรามาที่นี่เพราะได้ยินว่านักเรียนของบ้านป่าเลาเก่ง ถึงขนาดที่ปลุกปั้นแบรนด์เสื้อผ้าของตัวเองไปขายไกลถึงต่างประเทศเลยทีเดียว
ความสงสัยพาให้เราไปเจอกับกลุ่มคนผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จนี้ คนแรกคือ ผอ.สุเธียร โกกาธรรม ผู้อำนวยการของโรงเรียนที่มาต้อนรับเราพร้อมรอยยิ้ม ผอ.สุเธียรเท้าความให้ฟังว่า โรงเรียนบ้านป่าเลาเป็นโรงเรียนขยายโอกาสที่มีโรงเรียนย่อยๆ ในความดูแลอีก 3 สาขา เด็กที่นี่มีหลักร้อยคน และส่วนใหญ่ก็เป็นเด็กๆ ชาวปกาเกอะญอที่อยู่ในพื้นที่กันทั้งนั้น
นั่นคือตอนที่เรารู้ว่าแบรนด์เสื้อผ้าที่เด็กๆ ปลุกปั้น คือเสื้อผ้าที่ทอมาจากผ้าฝ้ายตามภูมิปัญญาของคนปกาเกอะญอที่ส่งต่อกันผ่านรุ่นสู่รุ่น
ในยามที่แสงแดดตอนสิบโมงกำลังสาดส่อง เราได้พบกับน้องมาย–กุลธิดา ใจหล้ากาศ, น้องพาย–ปณิตา สูงพนารักษ์ และน้องเพชร–น้ำเพชร ยอดเขา นักเรียนชั้นม.2 และ ม.3 ผู้เป็นเจ้าของแบรนด์ ‘ทาเชวา’ ที่เราพูดถึง ทั้งหมดเล่าให้ฟังว่าแบรนด์ที่ทำไม่ได้ถูกผลักดันจากไอเดียและแรงกายของทั้ง 3 คนเสียทีเดียว แต่แบรนด์นี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ ‘โมเดลการลดความเหลื่อมล้ำ โดยแนวคิดนวัตกรรม EQUITY PARTNERSHIP’ ที่กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ชวนเหล่าน้องๆ นักเรียนในพื้นที่ห่างไกลมาจับมือกับเด็กๆ โรงเรียนนานาชาติในเมืองกรุง มาช่วยกันพัฒนาสินค้าร่วมกันเพื่อขายจริงๆ บน Shopee มากกว่านั้นคือแข่งประกวดกับอีก 15 ทีมเพื่อหาผู้ชนะ
ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ได้กล่าวย้ำว่า โครงการดังกล่าวคือตัวอย่างของการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ที่ลงมือทำได้โดยไม่ต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก แต่อาศัยความร่วมมือร่วมใจจากหลากหลายภาคส่วน ในการระดมความเชี่ยวชาญ ประสบการณ์ เติมเต็มความรู้ ทักษะชีวิต ทักษะอาชีพให้กับเด็กๆ เป็นคุณค่าของ ALL FOR EDUCATION ปวงชนเพื่อการศึกษา ที่สำคัญ ยังช่วยเสริมทักษะที่สำคัญต่อโลกยุคปัจจุบันใน 3 ด้าน ได้แก่ 1. ความเข้าใจในวัฒนธรรมที่แตกต่าง 2. ทักษะความคิดสร้างสรรค์ในยุคศตวรรษที่ 21 และ 3. ทักษะการเป็นผู้ประกอบการออนไลน์ให้กับเด็กและเยาวชน ซึ่งนับเป็นนวัตกรรมในการสร้างความเสมอภาคทางการศึกษา จากการสร้างพื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างเครือข่ายที่มีเป้าหมายร่วมกัน และภายใต้แนวคิดที่มุ่งสร้างสรรค์พื้นที่สังคมแห่งความร่วมมือและมิตรภาพวันนี้ ทาง กสศ. Sea (ประเทศไทย) และภาคีเครือข่ายโรงเรียนนานาชาติ ได้เล็งเห็นความสำคัญส่วนนี้ จึงอยากเชิญชวนให้สังคมเข้ามามีส่วนร่วมตามความถนัดของตัวเอง และช่วยกันมองว่าจะทำอย่างไรให้เด็กๆกลับสู่เส้นทางการพัฒนาศักยภาพ รวมถึงการเรียนรู้ทักษะอาชีพ เพื่อเปลี่ยนแปลงเส้นทางอนาคตของพวกเขาได้
ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา
เราเดาไม่ผิดหรอก เหล่า 3 สาว ม.ต้นที่อยู่ตรงหน้าเราตอนนี้แหละคือผู้ชนะของปีที่แล้ว โดยมีผู้ร่วมทีมเป็นเด็กม.ปลายจากโรงเรียนนานาชาติ St.Andrews อย่าง เจสัน, โจนาธาน และอนัญญา ที่มาช่วยสมทบเล่าเรื่องราวเบื้องหลังความสำเร็จให้เราฟังอย่างสนุกสนาน โดยพรีเซนต์เสื้อผ้าที่พวกเขาสวมใส่ให้ดูไปพร้อมกัน
น้องๆ เล่าให้เราฟังว่า ผลิตภัณฑ์ของแบรนด์ทาเชวามีอยู่ 3 แบบ นั่นคือเสื้อคลุมผ้าทอมือ (แบ่งเป็นเสื้อคลุมของผู้หญิงและผู้ชาย) หมวกลายน้ำไหลที่ออกแบบได้อย่างร่วมสมัย สุดท้ายคือผ้าคลุมไหล่และผ้าพันคอลายคาเซที่สะท้อนวัฒนธรรมของคนปกาเกอะญอ โดยในกระบวนการทำจะแบ่งตามความถนัดของน้องแต่ละฝ่าย อย่างน้องๆ จากโรงเรียนบ้านป่าเลาที่เรียนรู้เรื่องการทอผ้ามาตั้งแต่เด็กก็จะเป็นฝ่ายสร้างสรรค์เสื้อผ้า ส่วนน้องๆ จากโรงเรียนนานาชาติที่เชี่ยวชาญเรื่องมาร์เก็ตติ้งและการออกแบบหีบห่อ ก็จะรับผิดชอบเรื่องการโปรโมตและการดีไซน์แพ็กเกจจิ้งให้ดูลักชูรี่น่าใช้ เพื่อเข้าถึงกลุ่มลูกค้ากลุ่มใหญ่ได้
เรื่องตลกมีอยู่ว่า น้องๆ ทั้ง 2 โรงเรียนพัฒนาผลิตภัณฑ์กันในยุคโควิด และแต่ละคนก็พูดคนละภาษา (มีน้องจากโรงเรียนนานาชาติที่พูดไทยไม่ได้เลย) สิ่งที่พวกเขาแก้ปัญหาคือการใช้ Google Translate เป็นตัวกลางในการสื่อสาร แปลถูกบ้าง ผิดบ้าง แต่สุดท้ายก็สร้างผลิตภัณฑ์ร่วมกันได้จนสำเร็จ
เราหัวเราะตอนได้ฟังเรื่องเล่า แล้วดูน้องๆ สาธิตวิธีการแกะหีบห่อของ ‘ทาเชวา’ ที่เป็นแพ็กเกจจิ้งสวยงาม น้องๆ บอกว่าสำหรับพวกเขา ความสวยงามเป็นแค่องค์ประกอบหนึ่งเท่านั้น แต่สิ่งที่ให้ความสำคัญไม่แพ้กันคือมันต้องยั่งยืน และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม อย่างหีบห่อที่ใช้กระดาษแก้วห่อแทนพลาสติก มีเชือกจากผ้าฝ้ายผูกไว้หลวมๆ และมีการ์ดเล็กๆ ที่บอกเล่าเรื่องราวประวัติศาสตร์ของคนทำและวัฒนธรรมการทอผ้าของชาวปกาเกอะญอ เหล่านี้ล้วนผ่านการคิดที่ไตร่ตรองมาแล้วอย่างดีจากเด็กวัยมัธยม
“ทาเชวาเป็นภาษากะเหรี่ยง แปลว่าเสื้อค่ะ” น้องๆ เฉลยให้ฟังเมื่อคลี่หีบห่อออกมาจนเราได้จับเสื้อตัวสวย ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อว่าเสื้อตัวนี้แหละถูกส่งข้ามน้ำข้ามทะเลไปขายไกลถึงช็อปเสื้อผ้าในประเทศอังกฤษ
แต่กว่าจะได้เสื้อหนึ่งตัวต้องผ่านอะไรมาบ้าง คำถามนั้นติดอยู่ในใจของเรา และเด็กๆ ก็เฉลยให้ฟังในบ่ายวันนั้น
หลังจากกินข้าวกลางวันจนอิ่มแปล้ จู่ๆ พื้นที่ของโรงเรียนบ้านป่าเลานั้นก็คึกคักขึ้นมาเพราะชาวเผ่าปกาเกอะญอทั้งเด็กและผู้ใหญ่มาสาธิตวิธีการทำเสื้อผ้าในแบบฉบับของพวกเขาให้ดู
ขั้นตอนแรกคือการย้อมฝ้าย โดยฝ้ายจะแบ่งออกเป็น 2 ประเภทคือฝ้ายจากธรรมชาติและฝ้ายจากไหมประดิษฐ์ ตามความเชื่อโบราณของชาวปกาเกอะญอ ความร่ำรวยของคนเผ่านี้คือการมีเสื้อผ้าใส่ เพราะฉะนั้นบ้านไหนที่มีฝ้ายไว้ใช้หรือไว้ส่งต่อให้ลูกหลานได้ก็จะถือว่าร่ำรวย
ขั้นตอนการย้อมสีฝ้ายก็ดูสนุกสนานไม่น้อย เพราะชาวเผ่าเริ่มทำให้ดูตั้งแต่เริ่มสกัดสีจากวัตถุดิบธรรมชาติ เช่น ดอกประดู่ ดอกหูกวาง และครั่ง เมื่อสกัดสีแล้วก็นำผ้าลงไปแช่ในน้ำเย็นผสมสีราวครึ่งชั่วโมง แถมยังมีทิปพิเศษสุดๆ คือใช้สารส้มไปแกว่งก็จะทำให้สีไม่ตก กลายเป็นผ้าฝ้ายสีสันสดใสให้ไปกรอต่อ
ชาวเผ่าปกาเกอะญอกรอฝ้ายด้วยเครื่องมือที่เรียกว่า ‘คือรู’ หรือเครื่องปั่นฝ้ายจนได้เส้นด้ายเรียวสวย จากนั้นก็นำไปตั้งเส้นและทอในลำดับถัดไป สิ่งที่เซอร์ไพรส์เราที่สุดคือ เสื้อตัวหนึ่งต้องใช้เวลากว่า 3 วันในการทอ
เราใช้เวลาทั้งบ่ายไปกับการสำรวจการทอผ้าของชาวบ้านที่ทำกันอย่างขยันขันแข็ง พลางคิดว่าจากฝีมือและภูมิปัญญา รวมถึงความอุตสาหะของคนทำ ถ้าเทียบกับราคาหลักพันต้นๆ แล้ว ไม่ได้แพงไปจริงๆ
รู้ตัวอีกทีแดดยามบ่ายก็อ่อนแรงลง เราถามเด็กๆ ก่อนบอกลากันว่าพวกเขาได้เรียนรู้อะไรจากการเข้าร่วมโปรเจกต์นี้บ้าง และคำตอบของพวกเขาก็ทำให้เรายิ้มออก
นอกเหนือจากความภาคภูมิใจที่ได้สร้างสินค้าบางอย่างที่ขายได้จริงๆ พวกเขาบอกว่าการได้ทำงานร่วมกันของเด็กๆ ในพื้นที่ห่างไกลกับเด็กในเมือง ทำให้พวกเขาได้เรียนรู้เรื่องราวและชีวิตที่แตกต่างของกันและกัน และสร้างความเห็นอกเห็นใจระหว่างการทำงาน
สำหรับเรา นั่นคือผลพลอยได้ของโครงการที่สอนให้เด็กช่วยเหลือกัน และในอนาคตอาจต่อยอดไปสู่การลดความเหลื่อมล้ำในสังคมจริงๆ
เราโบกมือลาเด็กๆ พร้อมความรู้สึกอธิบายไม่ถูกที่แผ่กระจายอยู่เต็มอก ล้อรถแล่นไปบนถนนคดเคี้ยวทอดยาว เมฆสีขาวบนฟ้ากำลังขยับเข้าใกล้เหลี่ยมเขาอีกครั้ง
เราเงยหน้ามองฟ้า พลางคิดว่าถ้าช่องว่างของเด็กเมืองกับเด็กชนบทขยับเข้ามาใกล้ชิดกันเหมือนเมฆกับภูเขาก็คงจะดี
นอกจากแบรนด์ทาเชวา ปีนี้โครงการ ‘โมเดลการลดความเหลื่อมล้ำ โดยแนวคิดนวัตกรรม EQUITY PARTNERSHIP’ โดย กสศ. และพันธมิตร ได้ดำเนินมาถึงปีที่ 4 แล้ว และจะจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์แบรนด์ใหม่ของน้องๆ รุ่นที่ 4 ผู้มาจากโรงเรียนอื่นๆ ผ่านทางแพลตฟอร์ม Shopee ใครที่สนใจสามารถเข้าไปเลือกซื้อสินค้าได้ที่ ลิงก์นี้ หรือดาวน์โหลดแอปพลิเคชั่น Shopee ได้จากทั้ง Play Store และ Apple Store
แอบกระซิบไว้สักหน่อยว่าผลิตภัณฑ์แต่ละอย่างมีจำนวนจำกัดเพียง 50 ชิ้นเท่านั้น และรายได้จากการจำหน่ายทั้งหมดจะนำกลับคืนให้กับนักเรียนทุนเสมอภาคในโรงเรียนสังกัด สพฐ. โดยไม่หักค่าใช้จ่าย เพื่อให้เด็กๆ นำไปต่อยอดเพื่อส่งเสริมด้านการพัฒนาทักษะอาชีพในอนาคตได้ต่อ
หรือหากใครอยากร่วมสนับสนุนทุนต่อยอดการพัฒนาทักษะอาชีพให้กับน้องๆ ก็คลิกที่ ลิงก์นี้ ได้ ยอดบริจาคนี้สามารถลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่าด้วยนะ