พบกับ The Wrappers ผู้เปลี่ยนการห่อของขวัญธรรมดาๆ ให้มีความหมายและไม่ทำร้ายโลก

Highlights

  • Emporium Department Store จัดแคมเปญ Let's Give Good เพื่อตอบโจทย์ทุกคนที่กำลังเลือกซื้อของขวัญสำหรับมอบให้คนสำคัญในช่วงเทศกาล 
  • The Present Holiday Pop-in Shop คือส่วนหนึ่งของแคมเปญที่ว่า ซึ่งมีความพิเศษตรงที่พวกเขาตั้งใจคัดสรรสินค้านานาชนิดที่ดีต่อผู้ใช้และดีต่อโลก อีกทั้งยังมี The Wrappers กลุ่มศิลปินและนักออกแบบที่มาช่วยแก้โจทย์เรื่องการห่อของขวัญแบบไม่ทำร้ายโลกอีกด้วย
  • กลุ่ม The Wrappers ประกอบด้วย พิม–พิม จงเจริญ แห่ง Teaspoon Studio ผู้มาออกแบบลายกระดาษห่อของขวัญและผ้าฟุโรชิกิ, หมู–อัญชลี ศรีไพศาล หรือ Curious Pig ผู้ออกแบบวิธีการห่อของขวัญโดยไม่ใช้เทปกาว รวมทั้ง หยก–ภารดี กับ หงส์–ภิรดา เสนีย์วงศ์ ณ อยุธยา จาก Trimode Studio และ ดิว–ดุลยพล ศรีจันทร์ ทีม PDM Brand ผู้ร่วมกันออกแบบกระเช้าของขวัญแนวใหม่ที่ใครได้รับก็ทิ้งไม่ลง

เคยไหม เวลาที่ได้รับของขวัญมาแล้วต้องใช้เวลาแกะเทปกาวสิบนาที แถมยังต้องทิ้งกระดาษห่อนั้นไป นี่ยังไม่รวมกระเช้าของขวัญช่วงเทศกาล ที่พอแกะของขวัญออกมาใช้เสร็จ หลายคนอาจจะโยนกระเช้าเข้าตู้เก็บของให้ฝุ่นจับโดยแทบไม่ได้หยิบมาใช้งานอีก

กระดาษห่อของขวัญและกระเช้าของขวัญถูกมองว่าเป็นฟอร์แมตซ้ำๆ เชยๆ ในช่วงเทศกาล แถมยังต้องกลายเป็นขยะแบบ single-use แบบไม่ตั้งใจภายในไม่กี่นาทีที่ถึงมือผู้รับ เพราะวัสดุห่อของขวัญนำกลับมาใช้ใหม่ยาก ไม่ฟังก์ชั่น เลยต้องไปลงเอยที่ถังขยะหรือห้องเก็บของ

ปลายปีนี้เราขอชวนคุณมาร่วมมอบของขวัญที่มีความหมายจากใจผู้ให้ถึงใจผู้รับ ผ่านการห่อของขวัญอย่างตั้งใจ ที่ทั้งสนุกและมีคุณค่า แถมยังช่วยรักษาโลกได้โดยการนำวัสดุที่ห่อกลับมาใช้ใหม่ได้

“เพราะการห่อของขวัญคือการแสดงออกถึงความตั้งใจ”

เอ็มโพเรียม ดีพาร์ทเม้นท์สโตร์ เชื่อในสิ่งนี้และอยากชวนทุกคนมาเริ่มต้นปีใหม่ดีๆ ภายใต้คอนเซปต์ Let’s Give Good หรือการแบ่งปันความสุขที่มีความหมาย ซึ่งหนึ่งในนั้นคือการห่อของขวัญอย่างมีความหมายและไม่ทำร้ายโลก โดยเอ็มโพเรียมจับมือกับนักออกแบบและนักห่อของขวัญเพื่อร่วมกันดีไซน์กระเช้า กระดาษ และผ้าห่อของขวัญลายพิเศษ พร้อมทั้งวิธีการห่อสุดเก๋แบบไม่ใช้เทปกาวใดๆ ซึ่งคุณก็สามารถเก็บทิปการห่อของขวัญเหล่านี้ไปทำตามที่บ้านได้

เทศกาลแห่งการมอบของขวัญกำลังจะเวียนมาหา ถ้างั้นอย่ารอช้า ไปดูการห่อของขวัญที่มากกว่าแค่กระดาษธรรมดาๆ กัน

การห่อของขวัญอย่างตั้งใจคือความประณีตที่สื่อถึงกันได้

ปุ้ม–กฤชคุณ พรธนนันท์ ผู้จัดการทั่วไป Corporate Marketing Department Store เกริ่นให้ฟังถึงที่มาของแคมเปญ Let’s Give Good ว่า ทีมงานตีโจทย์จากช่วงเทศกาลปลายปีที่ผู้คนมักจะหาซื้อสินค้าเพื่อมอบเป็นของขวัญ แต่จะทำยังไงให้ของขวัญนั้นมีความหมายทั้งต่อผู้ให้ ผู้รับ และต่อโลกด้วย

“ภายใต้แคมเปญ Let’s Give Good ของเอ็มโพเรียม ดีพาร์ทเม้นท์สโตร์ เราอยากให้สินค้าที่จะนำไปเป็นของขวัญมีความหมายดีๆ โดยเริ่มจากการเชิญแบรนด์ที่น่าสนใจมาร่วมใน The Present Holiday Pop-in Shop ซึ่งล้วนเป็นแบรนด์ที่ผลิตของซึ่งมีความหมายดีทั้งต่อผู้ใช้และต่อโลก เช่น สินค้าที่ลดการสร้างขยะ สินค้าที่ส่งเสริมความยั่งยืนให้กับชุมชน มาเป็นพาร์ตเนอร์ให้สเปซของเรามีความหมายมากขึ้น 

“อย่างที่สองคือ เวลาเราให้ของขวัญใคร เราก็อยากจะให้ของนั้นแสดงเอกลักษณ์ความเป็นตัวเราเองด้วย เลยมาคิดกันเรื่อง signature wrapping ซึ่งการห่อของขวัญน่าจะเป็นสิ่งที่บ่งบอกความเฉพาะตัวของผู้ให้ได้ดี เราเลยเชิญศิลปินที่มีแนวคิด และเห็นความสำคัญกับคุณค่าดีๆ ไปในแนวทางเดียวกับเอ็มโพเรียม ซึ่งกลุ่มศิลปินเหล่านี้มีความเข้าใจและใช้ชีวิตอยู่ละแวกสุขุมวิท มาร่วมกันดีไซน์ตัวกระดาษห่อ ผ้า และกระเช้าของขวัญ รวมถึงออกแบบวิธีการห่อของขวัญที่มีเอกลักษณ์เฉพาะเอ็มโพเรียม

“โดยโจทย์ที่ศิลปินนำไปตีความในการออกแบบจะอยู่ภายใต้ธีม less waste หรือสร้างขยะให้น้อยที่สุด วิธีการห่อเลยออกมาในรูปแบบที่ไม่ต้องใช้เทปกาว ซึ่งสามารถนำกลับมาใช้ได้อีก นอกจากนี้ยังมีวัสดุห่อที่มาจากผ้าฟุโรชิกิและกระเช้าที่ทำมาจากเสื่อ พอใช้เสร็จ วัสดุเหล่านี้ก็สามารถนำไปใช้ต่อได้อีก การห่อของขวัญเลยไม่ทำร้ายโลก และให้ความหมายที่ดีต่อทั้งผู้ให้และผู้รับ”

ปุ้มมองว่า เพราะการห่อของขวัญคือการสร้างความประทับใจให้ผู้รับตั้งแต่แรกเห็น และแน่นอนว่าหีบห่อก็สามารถแสดงความประณีตและความตั้งใจของผู้ให้ได้ดีไม่แพ้ของขวัญข้างใน

“การห่อของขวัญอย่างตั้งใจจะช่วยให้การมอบของขวัญนั้นกลมกล่อม คนที่รับก็มีความรู้สึกที่ดี เพราะของขวัญไม่ใช่แค่ฟอร์แมตช่วงเทศกาล หรือเป็นแค่หน้าที่ แต่เราพยายามทำให้การมอบของขวัญมีความหมายตั้งแต่ของข้างในจนถึงการห่อภายนอก ซึ่งเราเชื่อว่าความตั้งใจที่สื่อออกมาตั้งแต่แรกเห็นจะทำให้ผู้รับประทับใจไปด้วย”

ในแคมเปญนี้เอ็มโพเรียมได้ชวนศิลปินนักออกแบบชาวไทยผลงานระดับอินเตอร์จาก 4 สตูดิโอ ทั้ง Teaspoon Studio, Curious Pig, Trimode Studio และ PDM Brand มาร่วมกันสรรค์สร้างประสบการณ์การห่อของขวัญสุดพิเศษในช่วงเทศกาลปลายปีนี้ด้วย

ถ้าอยากรู้ว่าในสเปซ The Present Holiday Pop-in Shop ที่เอ็มโพเรียม ดีพาร์ทเม้นท์สโตร์ ชั้น G ตระเตรียมการห่อของขวัญสุดยูนีกแบบไหนไว้บ้าง ลองตามไปฟังแนวคิดของนักออกแบบทั้งสี่แบรนด์กัน

เปเปอร์คราฟต์จากเศษกระดาษ ผสานการห่อแบบไร้เทปกาว

พิม–พิม จงเจริญ ศิลปินเปเปอร์คราฟต์รุ่นใหม่จาก Teaspoon Studio ผู้ออกแบบลายกระดาษห่อของขวัญและลายผ้าฟุโรชิกิ จับมือกับ หมู–อัญชลี ศรีไพศาล หรือ Curious Pig นักออกแบบที่เชี่ยวชาญด้านการห่อของขวัญแบบใส่ใจโลก มาร่วมกันหาวิธีการห่อของขวัญสุดคูลที่สร้างขยะเพิ่มให้น้อยที่สุด

สายพานงานออกแบบห่อของขวัญครังนี้ตั้งต้นจากพิมที่รับงานดีไซน์ลวดลายบนกระดาษและผ้าก่อน จากนั้นจึงส่งต่อให้หมูลองหยิบ พับ จับมุมกระดาษและออกแบบวิธีการห่อหุ้มของขวัญหลายๆ แบบ จนออกมาเป็นการคอลแลบการห่อของขวัญจากกระดาษลวดลายคราฟต์ ผสานกับวิธีการห่อสุดสร้างสรรค์แบบไม่ใช้เทปกาว

พิมอธิบายกระบวนการออกแบบลวดลายกระดาษว่า “ไอเดียเริ่มแรกมาจากเศษกระดาษชิ้นเล็กชิ้นน้อยที่เหลือๆ ในออฟฟิศซึ่งทำงานกระดาษอยู่แล้ว เวลาที่เศษกระดาษมากองรวมกันจะดูเหมือนเป็นภาพคอลลาจภาพหนึ่ง เราเลยหยิบไอเดียนี้มาต่อยอดเป็นลายกระดาษห่อของขวัญ โดยเอาเศษกระดาษมาลองทำแพตเทิร์นดู แต่เราจะไม่ทำแพตเทิร์นแบบ repeat ธรรมดาๆ แต่ดีไซน์ออกมาให้เป็นเหมือนรูปภาพใหญ่หนึ่งรูป ที่ลายแต่ละมุมไม่ซ้ำกันเลย ไม่ว่าพนักงานจะตัดกระดาษด้านไหนมาห่อ ลายก็จะต่างกันออกไปทุกมุม”

เมื่อออกแบบลายกระดาษเสร็จ ขั้นตอนต่อไปคือการนำเอาลายนั้นไปพิมพ์บนผ้าฟุโรชิกิ เนื่องด้วยวิธีการพิมพ์บนกระดาษกับบนผ้าต่างกัน บนกระดาษสามารถพิมพ์กี่สีก็ได้ แต่สำหรับผ้าฟุโรชิกิ พิมเลือกพิมพ์ 2 สีเพื่อประหยัดการใช้สีและสารเคมี โดยที่ตัวลายยังเชื่อมกับกระดาษอยู่

ส่วนของประดับที่ทำเป็นพู่ดอกไม้เล็กๆ พิมตระเวนหาเศษผ้ามาจากโรงงานร่ม แล้วซื้อเศษผ้าร่มมาเป็นกิโลๆ เพื่อเย็บเป็นพู่ดอกไม้เล็กๆ เพื่อชุบชีวิตมันให้สามารถใช้ประดับกล่องของขวัญได้ต่อ

หลังจากพิมออกแบบลวดลายกระดาษห่อของขวัญและผ้าฟุโรชิกิแล้ว หมูรับไม้ต่อโดยการสรรหาวิธีการห่อแบบรักษ์โลกมากที่สุดทั้งการห่อด้วยกระดาษและห่อด้วยผ้า

“เราคิดวิธีห่อโดยไม่ใช้เทปกาวเลย เพราะคนที่ได้รับของขวัญไปก็สามารถคลี่ออกได้โดยง่าย และกระดาษห่อก็สามารถนำกลับไปใช้ซ้ำต่อได้อีก เช่น นำกลับไปห่อของขวัญชิ้นอื่น ห่อปกสมุด ปกหนังสือ หรือนำไปพับเป็นถุงกระดาษเล็กๆ ก็ได้”

หมูขยายถึงวิธีการห่อแบบปราศจากเทปกาวว่าเป็นเทคนิคการพับให้เกิดช่องแบบสอดได้ ซึ่งกระดาษจะสอดทับกันและแข็งแรงอยู่ได้โดยไม่ต้องพึ่งเทปกาวเลย 

“วิธีการห่อโดยไม่ใช้เทปกาวจะใช้เทคนิคการพับแบบให้มีช่องพ็อกเก็ตให้สอดได้ ความหมายของช่องพ็อกเก็ตคือการเก็บความรู้สึกดีๆ ที่เราอยากมอบให้ผู้รับ ส่วนวิธีการล็อกกระดาษโดยไม่ใช้เทปกาวเราจะใช้ริบบิ้นคาดตรงกลาง และล็อกด้วยการ์ดใบเล็กๆ  เป็นการเสริมความสนุก และแทนที่จะผูกเป็นโบแบบหูกระต่าย เราก็ใช้วิธีผูกแบบสาน ซึ่งสื่อความหมายถึงการสายสัมพันธ์หรือความรู้สึกดีๆ ต่อกัน”

ส่วนผ้าฟุโรชิกิที่หลายคนมองว่าดูซับซ้อนกว่าการห่อด้วยกระดาษ แท้จริงแล้วผ้าสามารถห่อได้กับของหลากหลายรูปทรงกว่า เพราะมีความพลิ้วไหวและยืดหยุ่น หมูจึงออกแบบวิธีการห่อผ้าฟุโรชิกิถึง 3 วิธีด้วยกัน

“เราดัดแปลงวิธีการห่อผ้าฟุโรชิกิให้เป็นการห่อแบบโมเดิร์นขึ้น แบบแรกเป็นการดัดแปลงจากการห่อผ้าฟุโรชิกิดั้งเดิม โดยเพิ่มเชือกผูกดอกไม้จากผ้าร่มเข้ามา เพียงแค่กระตุกเชือกก็สามารถคลี่ออกโดยง่าย ผ้าก็นำไปใช้ห่อของต่อได้ เช่น ไปทำเป็นกระเป๋า ผ้าปูโต๊ะ

“แบบที่สองจะเป็นการเลียนแบบการห่อถุงข้าวสารญี่ปุ่นที่จะใส่ถุงกระดาษแล้วพับด้านบน และมีเชือกผูก เราก็ดัดแปลงโดยใช้เป็นผ้าผืนเดียวมาพับให้เหมือนปล่องถุงสี่เหลี่ยม แล้วพับแบนด้านบน จากนั้นผูกด้วยเชือกให้คล้ายที่หิ้วของถุงข้าวสารญี่ปุ่น

“ส่วนวิธีที่สามจะเป็นการพับแบบที่มีหูหิ้ว วิธีพับจะคล้ายๆ การห่อเบนโตะ แต่เราพลิกนิดหนึ่งแทนที่เราจะมัดผ้าเป็นหูหิ้วธรรมดา เราก็ผูกด้วยเชือกแล้วประดับด้วยพู่ดอกไม้เพิ่มเข้ามาเป็นลูกเล่น”

ทั้งคู่มองเห็นตรงกันว่าการให้ของขวัญคือการส่งความสุข ความรู้สึกดีๆ การระลึกถึง หรืออาจจะเป็นการขอบคุณความสัมพันธ์ตลอดทั้งปี แน่นอนว่าของขวัญข้างในก็สำคัญ แต่ประสบการณ์การได้รับของขวัญก็สำคัญ เพราะจะสร้างความประทับใจแก่ผู้รับตั้งแต่แรกเห็น ดังนั้นการที่ผู้รับได้เห็นกล่องของขวัญที่ห่อหุ้มมาอย่างสวยงาม นี่ก็ถือเป็นส่วนหนึ่งของประสบการณ์การได้รับของขวัญ

ยิ่งการห่อของขวัญนั้นไม่มีการใช้เทปกาวเลย จะยิ่งทำให้ผู้รับสามารถคลี่ห่อของขวัญออกมาได้ง่ายดาย ไม่ยุ่งยาก ก็น่าจะทำให้ผู้รับประทับใจยิ่งขึ้นไป ทั้งยังสามารถนำกระดาษและผ้าไปใช้ต่อได้ นี่จึงเป็นสิ่งที่บ่งบอกความใส่ใจของผู้ให้ที่มีต่อผู้รับ และผู้รับสามารถรับสิ่งดีๆ เหล่านี้ไปใช้ต่อได้ครั้งแล้วครั้งเล่า

กระเช้าของขวัญจากเสื่อสุดโมเดิร์น

ส่วนกระเช้าของขวัญที่หลายคนอาจมองว่าเป็นของขวัญสุดเชย ก็ถูกแปลงร่างให้กลายเป็นของใช้ที่คนอยากหยิบมาใช้บ่อยๆ โดยฝีมือของ หยก–ภารดี และ หงส์–ภิรดา เสนีย์วงศ์ ณ อยุธยา จาก Trimode Studio และ ดิว–ดุลยพล ศรีจันทร์ ทีม PDM Brand ร่วมกันออกแบบกระเช้าของขวัญแนวใหม่ที่ใครได้รับไปก็คงทิ้งไม่ลงแน่ๆ

โดย Trimode Studio เริ่มตีโจทย์จากตระกร้าหรือกระเช้าของขวัญ ที่เมื่อหมดหน้าเทศกาลก็มักจะไม่มีใครหยิบมาใช้อีก ทั้งหยกและหงส์จึงออกแบบกระเช้าของขวัญที่แตกต่างไปจากเดิมและสามารถอยู่ในชีวิตประจำวันของผู้คนได้บ่อยๆ โดยมองว่าเสื่อของ PDM Brand เป็นวัสดุที่ตอบโจทย์ที่สุด

“เรามองเห็นว่าเสื่อของ PDM Brand รุ่นที่พับได้ มีฟังก์ชั่นน่าสนใจ เพราะเสื่อเป็นแผ่นอยู่แล้ว น่าจะเหมาะกับการห่อของขวัญ แถมยังมีสายหูหิ้วพับเก็บได้ด้วย มันเลยตอบโจทย์เรา วัสดุที่ถักทอเป็นเสื่อก็ทำมาจากพลาสติกรีไซเคิล ลวดลายและสีสันก็สวยงามโดดเด่น เราเลยชวน PDM มาทำงานร่วมกัน” หยกเล่าที่มา

ระหว่างทางที่ Trimode Studio ทดลองขึ้นแบบเสื่อให้เป็นกระเช้า ก็มีปัญหาตรงที่ต้องเปลี่ยนโครงสร้างของเสื่อทั้งหมด เพราะโดยปกติเสื่อจะเป็นม้วนคลี่ออกมาแล้วเป็นแผ่นเรียบๆ เลยต้องนำเสื่อมาตัดคร็อปเพื่อจะทำเป็นกระเช้าหลากหลายไซส์ กระเช้าแต่ละใบจึงมีลวดลายไม่เหมือนกัน

“การคร็อปเสื่อทำให้กระเช้าแต่ละชิ้นมีลวดลายไม่เหมือนกัน มันจึงพิเศษสำหรับคนมอบและคนรับตรงที่กระเช้านี้จะแสดงตัวตนของแต่ละคนได้ด้วย แล้วก็ตอบโจทย์สิ่งที่ Trimode อยากทำ คือไม่อยากให้โยนกระเช้าเข้าตู้เก็บของ แต่กระเช้าของเราสามารถเอาไปใส่ของอื่นๆ ได้อีก เช่น อาจจะใส่ของหลังรถ ใส่หนังสือ หิ้วหมาแมว สะพายไปจ่ายตลาด หรือหิ้วไปปิกนิกได้”

ดิวเล่าต่อถึงวัสดุที่นำมาทำกระเช้าของขวัญและฟังก์ชั่นล้ำไปกว่าเสื่อทั่วๆ ไป

“ด้วยวัตถุดิบที่นำมาทำเสื่อค่อนข้างทนทาน และเป็นการแก้ปัญหาด้านการผลิตด้วย โดยการนำขยะพลาสติกมาใช้ เพราะเสื่อของเราทำมาจากเส้นใยพลาสติกรีไซเคิล แต่ปรับโครงสร้างการทอให้แน่นหนากว่าเสื่อทั่วไปมากๆ เพื่อลดปัญหาการขาดตรงกลาง มีการเพิ่มสารกันไฟลาม เจอแดดแล้วไม่กรอบไม่แตก ตากแดดตากฝนได้ ส่วนดีไซน์เป็นลายโมเดิร์นที่ตอบโจทย์ความต้องการที่หลากหลาย เพราะเรามองว่าคุณค่าของการให้ของขวัญไม่ได้อยู่แค่ที่สิ่งของเท่านั้น แต่มันคือทุกสิ่งที่เราเลือกสรรให้เขา เพราะฉะนั้นแพ็กเกจหรือการห่อของขวัญก็มีความสำคัญเหมือนกัน มันแสดงถึงความใส่ใจและความพิถีพิถันที่ส่งต่อถึงกัน”

หงส์เสริมว่า “ในฐานะดีไซเนอร์ เวลาเราออกแบบของออกมาสักชิ้น เราก็อยากให้ของชิ้นนั้นมีชีวิตอยู่ให้ยาวนานและยั่งยืนที่สุด อยากให้ของอยู่กับคนใช้ไปเรื่อยๆ ในช่วงเทศกาลเราก็อยากให้การมอบของขวัญมีความหมายและยั่งยืน เราจึงไปจับมือกับ PDM Brand ที่เป็นการผลิตของแบบทำร้ายโลกน้อยที่สุด นอกจากของชิ้นนั้นจะสวยงามแล้วยังมีฟังก์ชั่นต่อได้อีก อายุการใช้งานของมันก็จะยาวนาน เราก็ไม่จำเป็นต้องไปซื้อหาสิ่งของเพิ่มเติม เลยเป็นการช่วยลดการใช้ทรัพยากรด้วยอีกทาง”

นอกจากนี้ ลูกค้าสามารถมาแลกรับเมื่อซื้อของภายในห้างฯ เอ็มโพเรียมครบ 8,000 บาท หรือ ถ้าใครที่ใบเสร็จไม่ครบก็สามารถซื้อได้เลยเช่นกัน ซึ่งอีกความพิเศษคือลูกค้าสามารถคัดสรรสินค้าภายใน The Present Holiday Pop-in Shop จัดเป็นเซตของขวัญพิเศษได้เองอีกด้วย ไม่ว่าจะเป็นของสายกาแฟ สายสุขภาพ หรือสายครีเอทีฟ ก็เลือกจัดใส่ตะกร้าของขวัญได้เหมือนกัน พร้อมบริการปักและพิมพ์ชื่อลงบนสินค้าหลากวัสดุได้อีกด้วย สามารถไปเลือกดูของ เลือกสีและไซส์ที่ถูกใจกันได้ที่เอ็มโพเรียม ดีพาร์ทเม้นท์สโตร์ ตั้งแต่วันนี้ถึง 5 มกราคม 2563 ณ The Present Holiday Pop-in Shop บริเวณกลางห้าง ชั้น G ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมที่เฟซบุ๊กและอินสตาแกรม Emporium Department Store

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

เธียรสิน สุวรรณรังสิกุล

เจ้าของเพจ T E 4 M ที่หลงใหลในมุกตลกคาเฟ่และชื่นชอบน้องหมาหน้าย่นเป็นที่สุด