ปิดเมือง 24 ชั่วโมง ใช้โดรนฆ่าเชื้อ งดละหมาดหมู่ วิธีรับมือโควิด-19 แบบมหานครดูไบ

Highlights

  • สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์เป็นประเทศแรกในแถบตะวันออกกลางที่ประกาศว่าพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 และเป็นผู้ติดเชื้อรายแรกในภูมิภาคนี้
  • มาตรการปูพรมตรวจหาผู้ติดเชื้อทำให้ยอดผู้ป่วยพุ่งสูงขึ้นมากในแต่ละวัน แต่ได้ผลดีในการยับยั้งการระบาดของไวรัสระลอกใหม่
  • ทางการประเมินสถานการณ์อยู่ตลอดเวลาและออกมาตรการเด็ดขาดได้ทันท่วงที ส่งผลให้สามารถลดความเสี่ยงของการแพร่ระบาดได้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพ

เมื่อคืนวันที่ 22 มีนาคมที่ผ่านมา แสงไฟจากตึก Burj Khalifa ดูแปลกตากว่าทุกวัน ภาพของตึกที่สูงที่สุดในโลกตั้งตระหง่านอยู่ในใจกลางนครดูไบ ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) ในวันนี้ปราศจากสีสันฉูดฉาด ไม่มีดนตรี ไม่มีการแสดงน้ำพุ เหลือเพียงความเงียบงันและข้อความสั้น ส่งผ่านไปยังทุกที่ดังประกาศิตแด่คนทั้งเมืองว่า stay at home หลังจากทางการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเพื่อเฝ้าระวังการระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่งในขณะนั้นมียอดผู้ติดเชื้อรวมแล้ว 198 ราย

หากนับถอยหลังย้อนกลับไปในวันที่ 29 มกราคม สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์เป็นประเทศแรกในภูมิภาคตะวันออกกลางที่ประกาศว่าพบผู้ติดเชื้อ เรามาดูกันว่าตลอดระยะเวลา 4 เดือนที่ผ่านมา ทางการและนครดูไบมีมาตรการเฝ้าระวังและป้องกันการระบาดของเชื้อไวรัสนี้ยังไงบ้าง

 

ตรวจมาก เจอผู้ป่วยไว รักษาได้ทันที

ทางการ UAE ใช้มาตรการเชิงรุกในการตรวจหาผู้ติดเชื้อไวรัส ทั้งการติดตั้งเครื่องตรวจอุณหภูมิร่างกายภายในอาคารผู้โดยสารของท่าอากาศยานนานาชาติอาบูดาบีและท่าอากาศยานนานาชาติดูไบ การตรวจผู้โดยสารที่เดินทางเข้าประเทศ ลูกเรือ และบุคลากรที่ทำงานภายในสนามบินด้วยวิธี nasal swab รวมถึงการสั่งเปิดศูนย์การแพทย์สำหรับตรวจไวรัสโดยเฉพาะให้แก่ประชาชนโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย โดยนครดูไบได้เปิดจุดบริการตรวจแบบ drive-thru ที่สะดวก รวดเร็ว รายงานผลตรวจผ่านแอพพลิเคชั่นของทางการ และหากผลตรวจออกมาเป็น positive จะมีทีมแพทย์เข้าไปรับผู้ป่วยทันที อีกทั้งยังเปิดสายด่วนให้ประชาชนติดต่อเข้ามาได้ทันทีหากเริ่มมีอาการต้องสงสัย ซึ่งหากพบว่าติดเชื้อไวรัสจะไม่เสียค่าใช้จ่ายใด ทั้งสิ้นในการรักษาพยาบาล

นอกจากนี้ทางการนครดูไบได้เปลี่ยน Dubai World Trade Centre ซึ่งเป็นฮอลล์สำหรับจัดแสดงนิทรรศการต่าง ให้กลายเป็นโรงพยาบาลภาคสนามจำนวน 3,000 เตียง เพื่อรองรับผู้ป่วย

จากมาตรการที่เข้มงวดดังกล่าวส่งผลให้ประชาชนได้รับการตรวจหาเชื้อไวรัสทั้งหมดกว่า 760,000 ราย และในวันที่เขียนบทความนี้ (19 เมษายน 2020) มีจำนวนผู้ป่วยทั้งหมด 6,781 ราย เป็นผู้ป่วยใหม่ 479 ราย ผู้ป่วยที่รักษาหายแล้ว 1,286 ราย และยอดผู้เสียชีวิต 41 ราย

แม้ว่าตัวเลขยอดรวมผู้ป่วยจะเพิ่มสูงขึ้นมาก แต่ถือว่ามาตรการดังกล่าวได้ผลดีในแง่ของการตรวจหาผู้ป่วยใหม่ กักกันผู้ที่มีความเสี่ยงได้ทันท่วงทีเพื่อป้องกันการระบาดที่อาจเกิดขึ้นได้ใหม่อย่างมีประสิทธิภาพ

 

เอาจริงกับ home quarantine

สำหรับวิธีการกักตัวผู้ที่เดินทางกลับจากต่างประเทศหรือมีความเสี่ยงต้องเฝ้าระวังอาการ ทางการจะใช้แอพพลิเคชั่นชื่อว่า StayHome ในการตรวจสอบว่าบุคคลดังกล่าวอยู่ในที่พักอาศัยหรือไม่ เมื่อเริ่มใช้งานจะให้ผู้ใช้ถ่ายภาพตนเองและภายในที่พักของตน โดยทางการจะส่งข้อความแจ้งเตือนให้ถ่ายภาพเพื่อเช็กอินในช่วงเวลาที่แตกต่างกันในแต่ละวัน รวมถึงจะมีเจ้าหน้าที่โทรหาหรือแวะมาตรวจถึงที่พักอีกด้วย

หากบุคคลดังกล่าวไม่ได้ถ่ายภาพเมื่อแอพพลิเคชั่นแจ้งเตือน ไม่รับโทรศัพท์ หรือไม่อยู่เมื่อมีเจ้าหน้าที่ไปตรวจ จะถูกดำเนินการตามกฎหมายต่อไป

 

อยู่บ้านไม่ใช่เพื่อชาติ แต่เพื่อพวกเราทุกคน

ทางการ UAE ประกาศขอความร่วมมือจากประชาชนให้อยู่บ้านตั้งแต่ช่วงต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา โดยเริ่มจากมีคำสั่งปิดสถานที่สาธารณะทั่วประเทศ เช่น ชายหาด สวนสาธารณะ ห้างสรรพสินค้า โรงภาพยนตร์ ตลาด รวมถึงโรงเรียนและมหาวิทยาลัย จากนั้นในวันที่ 22 มีนาคม ทางการได้ยกระดับคำสั่งเป็นมาตรการเคอร์ฟิว ห้ามประชาชนออกจากที่พักอาศัยตั้งแต่เวลา 20:00-06:00 . ยกเว้นบุคลากรทางการแพทย์และอาชีพอื่นที่จำเป็น เป็นระยะเวลา 2 สัปดาห์ ซึ่งมีการแจ้งเตือนเวลาให้ประชาชนทราบผ่านข้อความฉุกเฉินทางโทรศัพท์ทุกวัน

หลังจากประกาศยกระดับการเฝ้าระวังสถานการณ์แล้ว ทางการก็ได้ออกกฎและกำหนดค่าปรับเพื่อบังคับใช้เพิ่มเติมอีกด้วย เช่น

  • ออกจากเคหสถานโดยไม่มีเหตุจำเป็นเร่งด่วน มีโทษปรับ 2,000 AED
  • ไม่ใส่หน้ากากอนามัยในที่สาธารณะ มีโทษปรับ 1,000 AED
  • ไม่รักษาระยะห่างอย่างน้อย 1.5 เมตรจากผู้อื่นในที่สาธารณะ มีโทษปรับ 1,000 AED
  • ถ้ามีคำสั่งให้กักตัวอยู่บ้านเพื่อเฝ้าระวังอาการแต่ไม่ปฏิบัติตาม มีโทษปรับ 50,000 AED
  • จัดงานหรือชุมนุมกันเป็นจำนวนมากภายในเคหสถาน มีโทษปรับ 10,000 AED
  • หากเดินทางด้วยรถยนต์ มีการจำกัดจำนวนคนนั่ง 3 คน ต่อรถ 1 คันเท่านั้น ซึ่งทางการจะใช้กล้องและ AI ในการตรวจสอบ หากไม่ปฏิบัติตาม มีโทษปรับ 1,000 AED
  • มีคำสั่งให้ยุติการให้บริการของรถประจำทาง รถราง และรถเมล์ รวมถึงแท็กซี่ หากต้องการออกจากที่พักอาศัยจะต้องจองรถผ่านแอพพลิเคชั่นของผู้ให้บริการก่อน
  • ร้านค้าและร้านอาหารเปิดทำการได้ปกติแต่ห้ามนั่งรับประทานภายในร้าน ต้องสั่งกลับบ้านเท่านั้น สำหรับซูเปอร์มาร์เก็ตนั้นเปิดให้บริการปกติแต่จำกัดจำนวนคนเข้าเป็นรอบ มีการกันระยะให้ห่างกัน 1.5 เมตร ตลอดจนมีการตรวจวัดอุณหภูมิก่อนเข้าอีกด้วย

(1 AED หรือดีแรห์มสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เท่ากับประมาณ 8.7 บาท)

khaleejtimes.com

 

ทำความสะอาดเมืองเพื่อฆ่าเชื้อโรค

สำหรับช่วงเวลาที่ห้ามประชาชนออกจากที่พักอาศัยเป็นเวลาที่ทางการจะทำความสะอาดพื้นที่สาธารณะต่าง รอบเมือง ซึ่งทางนครดูไบใช้โดรนออกมาฉีดพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อเพื่อช่วยให้เจ้าหน้าที่และอาสาสมัครสามารถทำงานได้โดยสะดวกและปลอดภัยยิ่งขึ้น ส่วนทางนครอาบูดาบีใช้หุ่นยนต์ช่วยฉีดล้างทำความสะอาดเช่นกัน

 

รักษาสุขภาพกายแล้วต้องรักษาสุขภาพใจด้วย

นอกจากมาตรการเชิงรุกที่ปูพรมตรวจหาผู้ติดเชื้อ การกักตัวผู้มีความเสี่ยงอย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจนมาตรการเคอร์ฟิวและการทำความสะอาดพื้นที่สาธารณะ การดูแลสภาพจิตใจของประชาชนก็เป็นเรื่องสำคัญที่ทางการไม่ได้นิ่งนอนใจ โดยจัดให้มีสายด่วนให้คำปรึกษาเกี่ยวกับสุขภาพจิตโดยนักจิตวิทยา เปิดเว็บไซต์ให้ความรู้ที่ถูกต้องเกี่ยวกับแนวทางการปฏิบัติตัวในช่วงเคอร์ฟิว พร้อมทั้งแนะนำกิจกรรมให้เด็กๆ และผู้ปกครองทำร่วมกัน ตลอดจนมีช่องทางช่วยเหลือผู้ที่ได้รับความรุนแรงในครอบครัวอีกด้วย

 

สู้ไปด้วยกัน

พื้นที่ที่มีความเสี่ยงในการระบาดสูง ขณะนี้คือพื้นที่ชุมชนแออัดที่เป็นที่พักของแรงงานต่างด้าว ซึ่งทางสำนักงานตำรวจนครดูไบร่วมกับเจ้าหน้าที่สาธารณสุข จัดตั้งโครงการ Don’t Worry เพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับการระบาดของไวรัส แนวทางป้องกันตนเอง มีการแจกหน้ากากอนามัยและเจลแอลกอฮอล์ รวมถึงข้าวสารอาหารแห้งและของใช้จำเป็นต่าง พร้อมกับเสนอแนะและหาวิธีทำงานเพื่อให้แรงงานเหล่านี้สามารถทำงานได้อย่างปลอดภัยและได้รับค่าจ้างตามปกติ

สำหรับผู้พำนักใน UAE (residence visa) ที่ได้รับผลกระทบและอาศัยอยู่ในนครอาบูดาบี ก็มีการเปิดเว็บไซต์ togetherwearegood.ae ให้ลงทะเบียนเพื่อหาวิธีเยียวยาและให้การสนับสนุนต่อไป ซึ่งเว็บไซต์เดียวกันนี้มีการเปิดรับเงินบริจาคและอาสาสมัครอีกด้วย

 

24-hour Lockdown

เมื่อวันที่ 5 เมษายนที่ผ่านมา ทางการ UAE ได้ยกระดับคำสั่งเคอร์ฟิวเป็น 24 ชั่วโมง ซึ่งทางการนครดูไบได้ออกกฎเพิ่มเติมเกี่ยวกับการขออนุญาตออกจากเคหสถาน หากประชาชนมีความจำเป็นต้องออกไปทำงานและทำอาชีพที่ไม่ได้รับอนุญาตจากทางการ ตลอดจนมีเหตุฉุกเฉินต้องออกจากที่พักอาศัย เช่น รับบริการทางการแพทย์ ซื้ออาหารและสิ่งของจำเป็น หรือเหตุอื่นๆ จะต้องขอ movement permit ผ่านเว็บไซต์ dxbpermit.gov.ae โดยต้องระบุข้อมูลส่วนตัว เบอร์โทรศัพท์ที่ติดต่อได้ เหตุผลในการขอออกนอกเคหสถาน สถานที่ที่จะไป และระยะเวลาไป-กลับ ทั้งนี้เพื่อเป็นการเก็บข้อมูลที่จำเป็นสำหรับใช้ติดตามและกักตัวบุคคลที่อาจสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยรายใหม่ที่เพิ่งเข้ารับการรักษาได้

Dubai Media Office Twitter Account

 

ผลกระทบต่อธุรกิจการบินและแนวทางในการรับมือ

ปฏิเสธไม่ได้ว่าธุรกิจการบินเป็นหนึ่งในธุรกิจหลักที่ทำเงินมหาศาลให้กับประเทศ เนื่องจากที่นี่เป็นหนึ่งในศูนย์กลางการบินระดับโลก สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์เป็นที่ตั้งและเจ้าของสายการบินต่าง เช่น Etihad สายการบินประจำชาติที่ให้บริการอยู่ที่นครอาบูดาบี และ Emirates ที่ให้บริการอยู่ที่นครดูไบ รวมถึงสายการบินขนาดกลางและขนาดเล็กอื่น อีกมากมาย การระบาดของไวรัสครั้งนี้มีผลกระทบโดยตรงต่อธุรกิจการบินและการท่องเที่ยวเป็นอย่างมาก สายการบินต่างต้องปรับตัวและกำหนดนโยบายที่เหมาะสมต่อสถานการณ์ ตลอดจนเรียกความเชื่อมั่นด้านความปลอดภัยให้แก่นักท่องเที่ยวผู้ใช้บริการอีกด้วย

สำหรับสายการบิน Emirates มีการยกเลิกเที่ยวบินจำนวนมากและประกาศยุติการให้บริการในช่วงที่ผ่านมา แต่หลังจากพ้นช่วงเคอร์ฟิว 2 สัปดาห์แรกก็เปิดให้บริการบางเส้นทางเพื่อรับประชาชนที่ติดค้างอยู่นอกประเทศและส่งนักท่องเที่ยวที่ติดค้างอยู่ใน UAE รวมถึงประชาชนที่ประสงค์จะกลับประเทศของตน โดยก่อนทำการบินจะมีการฆ่าเชื้อทำความสะอาดเครื่องบินทั้งลำ และตรวจ rapid test ผู้โดยสารทุกคนก่อนออกเดินทางด้วย โดยทางสายการบินวางแผนที่จะเปิดให้บริการตามปกติภายในวันที่ 1 พฤษภาคม

 

เดือนเราะมะฎอนและมาตรการเพิ่มเติมในการป้องกันการแพร่ระบาด

ช่วงเดือนเราะมะฎอนถือศีลอดของพี่น้องชาวมุสลิมในปีนี้จะเริ่มตั้งแต่วันที่ 24 เมษายนเป็นต้นไป ทุกปีประชาชนจะทำพิธีละหมาดยามค่ำโดยพร้อมเพรียง และร่วมกันรับประทานอาหารอิฟตาร์ (iftar) ร่วมกันหลังถือศีลอดมาตลอดทั้งวัน บรรยากาศยามเย็นภายในเมืองจะคึกคักเนื่องจากประชาชนพาครอบครัวออกมารับประทานอาหารและจับจ่ายซื้อของ ห้างสรรพสินค้าและตลาดจะขยายเวลาเปิดทำการนานขึ้นกว่าเดิม แต่ในปีนี้ทางการออกประกาศเพิ่มเติมเกี่ยวกับเดือนเราะมะฎอนเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัส โดยมีคำสั่งให้ปิดมัสยิดและยังคงเข้มงวดกับมาตรการเคอร์ฟิว ให้งดการชุมนุมเพื่อทำกิจกรรมทางศาสนาและการรับประทานอิฟตาร์ โดยเปลี่ยนเป็นการถ่ายทอดทางโทรทัศน์ วิทยุ หรือใช้โซเชียลมีเดียแทน ตลอดจนขอความร่วมมือจากประชาชนให้หลีกเลี่ยงการสลาม (ทักทาย) ด้วยการสัมผัสมือ การสวมกอด และการสัมผัสแก้ม โดยให้ยกมือสลามกันเท่านั้น

ประชาชนสวดมนต์ที่บ้าน Ahmed Ramzan/ Gulf News

 

และทั้งหมดนี้คือเรื่องราวการป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 แบบฉบับของเมืองทะเลทราย นครดูไบ ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ จนถึงวันนี้


อ้างอิง

dha.gov.ae

expo2020dubai.com

gulfnews.com

khaleejtimes.com

weqaya.ae

Royal Thai Consulate-General, Dubai

Royal Thai Embassy Abu Dhabi

หมายเหตุ ข้อมูลทางสถิติ วันที่ 19 เมษายน 2020

AUTHOR