“ทักษะเท่ากัน วัดกันที่ใจ“ ผศ. ดร. วิมลมาศ นักจิตวิทยาการกีฬาเบื้องหลังเหรียญทองโอลิมปิก

“…หนูให้ความสำคัญกับการฝึกจิตวิทยาเป็นอย่างมาก ฝึกจิตใจอย่างหนักควบคู่กับการฝึกซ้อมทางด้านร่างกาย พี่ปลาฝึกให้หนูมีสติ อยู่กับปัจจุบัน และทุกสิ่งทุกอย่างจะเกิดขึ้นได้อยู่ที่เท้าเราทั้งนั้น ดังนั้นหนูขอบพระคุณอาจารย์ปลามากที่ทำให้หนูฟื้นจากความตาย ลืมความผิดพลาด และลุกกลับมาสู้ได้อีกครั้ง…” นักจิตวิทยาการกีฬา

ข้อความข้างต้นคือส่วนหนึ่งที่ เทนนิส–พาณิภัค วงศ์พัฒนกิจ เขียนในเฟซบุ๊กส่วนตัว หลังจากคว้าเหรียญทองโอลิมปิกจากกีฬาเทควันโด และ ‘พี่ปลา’ หรือ ‘อาจารย์ปลา’ ในเนื้อความนี้หมายถึง ผศ. ดร. วิมลมาศ ประชากุล นักจิตวิทยาการกีฬาที่ร่วมงานกับเธอ

แน่นอนว่าด้วยข้อความของเทนนิสนี่เองที่ทำให้เราติดต่อไปสนทนากับอาจารย์ปลา เพราะอยากรู้ว่าลมใต้ปีกจากเธอเกิดขึ้นและมีความสำคัญยังไง

แต่สิ่งที่น่าสนใจมากไปกว่านั้นที่เราค้นพบคืออาชีพ ‘นักจิตวิทยาการกีฬา’ และตัวของอาจารย์ปลาเองกลับมีเรื่องราวที่น่าบอกเล่าต่ออีกมาก

“อยากให้คนเข้าใจในอาชีพนักจิตวิทยาการกีฬามากขึ้น” เธอว่าอย่างนั้น

และการพูดคุยต่อจากนี้เองคือเรื่องราวที่อาจารย์ปลาว่า เรื่องราวที่เต็มไปด้วยการว่ายทวนกระแสน้ำของความเข้าใจคนมาตลอดหลายปี จนวันนี้ที่เธอได้เป็นส่วนหนึ่งของเหรียญทองโอลิมปิก

นักจิตวิทยาการกีฬา

ช่วยอธิบายให้ฟังหน่อยว่าหน้าที่ของนักจิตวิทยาการกีฬาคืออะไร เหมือนหรือต่างจากจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยาทั่วไปไหม

ต่างกันเยอะมาก เพราะนักจิตวิทยาการกีฬาเปรียบเสมือนเทรนเนอร์คนหนึ่งที่ฝึกนักกีฬาเพื่อลงสนาม เพียงแต่ความเชี่ยวชาญของเราคือการฝึกทางด้านจิตใจ

การที่นักกีฬาจะประสบความสำเร็จต้องมี 3 อย่าง หนึ่ง–ทักษะที่ยอดเยี่ยม สอง–ร่างกายที่แข็งแกร่ง และสาม–จิตใจที่เข้มแข็ง นั่นคือสิ่งที่นักกีฬาทุกคนต้องฝึก ซึ่งทักษะก็เป็นหน้าที่ของโค้ช ร่างกายเป็นหน้าที่ของเทรนเนอร์ นักกายภาพ นักโภชนาการ และอื่นๆ ส่วนจิตใจก็เป็นหน้าที่ของนักจิตวิทยาการกีฬา เราต้องฝึกเพื่อให้เขาแสดงศักยภาพออกมาสูงสุดอย่างที่ควรจะทำได้

นักกีฬาส่วนใหญ่มักเป็น ‘หมูสนามจริง สิงห์สนามซ้อม’ เพราะเวลาซ้อมจะปราศจากความกดดัน สมองนักกีฬาตอนซ้อมจึงมีสติรู้ตัวว่าควรทำอะไร แต่พอไปอยู่ในการแข่งขันจริง หลีกเลี่ยงไม่ได้เลยที่ความคาดหวังและความกดดันจะทำให้นักกีฬาตัดสินใจไม่ถูก สมาธิหลุดลอย ทำให้นักกีฬาแสดงศักยภาพออกมาได้ไม่เต็มที่ นักจิตวิทยาการกีฬาจะเข้ามาตรงนี้ เพื่อช่วยให้นักกีฬาได้ฝึกควบคุมความคิดให้ถูกต้องต่อสถานการณ์นั้นๆ 

ต้องคิดยังไงถ้ามีอะไรที่รบกวนสมาธิ ต้องจัดการสถานการณ์ตรงหน้าแบบไหน ถ้าตื่นเต้นต้องทำยังไง นักจิตวิทยาการกีฬาจะสอนวิธีการทำให้นักกีฬากลับสู่สภาวะปกติให้ได้ไวที่สุด

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น สมมติถ้านักกีฬามีภาวะซึมเศร้า นักจิตวิทยาการกีฬาก็ต้องส่งไปให้ผู้เชี่ยวชาญซึ่งก็คือจิตแพทย์และนักจิตวิทยา นี่จะไม่ใช่หน้าที่เรา เพราะเราเรียนมาทางด้านวิทยาศาสตร์การกีฬา ไม่ได้เรียนหมอหรือจิตวิทยา ดังนั้นเราไม่มีอำนาจในการสั่งยาหรือวินิจฉัยใดๆ

แต่คนก็มักเข้าใจผิดทุกที เวลาไปไหนคนเลยมักเรียกเราว่าหมอปลา ซึ่งจริงๆ แล้วไม่ใช่ และชื่อ ‘หมอปลา’ ก็เป็นชื่อหมอผีด้วย ดังนั้นอย่าเรียกเลย เรียก ‘พี่ปลา’ หรือ ‘โค้ช’ ดีกว่า (หัวเราะ)

นักจิตวิทยาการกีฬา

แล้วคุณมาทำอาชีพนี้ได้ยังไง

จุดเริ่มต้นคงตั้งแต่ช่วงมัธยมที่เราเป็นนักกีฬาของโรงเรียน เราชอบทำกิจกรรมและมีผลการเรียนที่พอใช้ได้ ช่วงสอบเข้ามหาวิทยาลัยเราเลยถามครูแนะแนวว่าจะเรียนอะไรดี ครูจึงแนะนำว่าลองคณะวิทยาศาสตร์การกีฬาสิ เพราะคิดง่ายๆ ว่าในชื่อมันมีทั้งวิทยาศาสตร์และกีฬาที่ตรงกับความชอบเราทั้งคู่ แต่ถามว่ารู้ไหมว่าคณะนี้เรียนอะไร ตอนนั้นไม่รู้เลย จนกระทั่งเข้าไปเรียนเราถึงได้รู้ว่านี่คือคณะที่ถูกต้อง เพราะการเรียนไปด้วยและได้ออกกำลังกายไปด้วยคือความสุขของเรา

แต่ตอนเรียนปริญญาตรีเรายังไม่ได้เรียนเฉพาะทางด้านจิตวิทยาการกีฬานะ ยังเป็นการเรียนวิทยาศาสตร์การกีฬาทั่วไปอยู่ แต่จุดเปลี่ยนคืออาจารย์พิชิต เมืองนาโพธิ์ ท่านเป็นอาจารย์ที่เราใกล้ชิดและเป็นนักจิตวิทยาการกีฬามือหนึ่งของประเทศไทย ตอนนั้นเวลาท่านไปทำงานเราจะตามไปด้วย เราเลยได้เห็นท่านทำงานจริงและเกิดเป็นแรงบันดาลใจ ทำให้พอสอบทุนเรียนต่อปริญญาโทและเอกได้ เราจึงเลือกเรียนเฉพาะทางด้านนี้ โดยมีอาจารย์พิชิตเป็นที่ปรึกษาตั้งแต่ปริญญาตรีจนจบปริญญาเอก

อะไรทำให้แน่ใจว่าอยากเอาจริงเอาจังด้านนี้

ตอนที่เลือกเรียนก็ยังไม่ได้แน่ใจขนาดนั้น แต่พอเราได้เรียนเกี่ยวกับด้านนี้บ้างตอนปริญญาตรีและตามอาจารย์พิชิตไปทำงานมากๆ มันทำให้เราไม่ได้มองอาชีพอื่น และยิ่งพอได้เรียนสูงขึ้นไป ศาสตร์ด้านนี้มันช่วยให้เราเข้าใจตัวเองไปด้วย เพราะการที่เราจะไปเข้าใจนักกีฬาได้ เราต้องเข้าใจตัวเราเองก่อน มันเลยทำให้เรายิ่งได้ค้นพบความชอบและประโยชน์ จนตกตะกอนได้ว่าเราคงทำอาชีพนี้แหละ

นักจิตวิทยาการกีฬา

ในยุคนั้นพอจบปริญญาเอกมา โอกาสในงานนักจิตวิทยาการกีฬามีมากน้อยขนาดไหน

น้อยมาก (ตอบทันที) คนไม่เข้าใจ งานแรกๆ ที่เราได้เป็นอานิสงส์จากอาจารย์พิชิต แต่ความเข้าใจของคนในวงการต่ออาชีพนี้ก็ยังถือว่าน้อย เพราะอย่างอาจารย์พิชิตเองยังเคยเล่าให้ฟังเลยว่าสมัยท่านทำงาน บางทีต้องแอบไปคุยกับนักกีฬาสองคนเพราะโค้ชไม่ยอมรับก็มี หรืออย่างเราเองพอทำงานจริงครั้งแรกๆ ก็เจอเหตุการณ์แบบนี้

เช่น นักกีฬาบางคนก็บอกเลยว่าผมไม่เอาหรอกจิตวิทยา เอาเงินมาก็พอ เงินเป็นแรงจูงใจให้ผมฝึกแล้ว หรือโค้ชที่บอกกับนักกีฬาว่า ‘มึงเป็นบ้าเหรอ ไปคุยกับอาจารย์ปลา’ ทำให้งานบางที่เราก็อยู่ได้แค่ 2-3 เดือนเพราะคนไม่เข้าใจ งานของเราเลยไม่สามารถจะไปช่วยอะไรเขาได้เลย

แล้วคุณได้เข้าไปทำงานกับสมาคมกีฬาเทควันโดแห่งประเทศไทยได้ยังไง

ตอนนั้นเป็นช่วงปี 2545 ที่คุณปรีชา ต่อตระกูล เข้ามาดำรงตำแหน่งเป็นอุปนายกสมัยแรก ท่านรู้จักกับอาจารย์พิชิตอยู่แล้วและเห็นความสำคัญในศาสตร์นี้ ท่านเลยชวนนักจิตวิทยาการกีฬาเข้าไปทำงานกับสมาคม และเราเป็นหนึ่งในนั้น ทำมาต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน ซึ่งเราว่านี่เป็นตัวอย่างที่ดีของความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจากการที่ผู้บริหารให้ความสำคัญและสนับสนุน

ยุคแรกต้องยอมรับว่าโค้ชหรือนักกีฬาอาจยังไม่เข้าใจนักจิตวิทยาการกีฬามากนัก แต่ตัวอย่างของสมาคมกีฬาเทควันโดแห่งประเทศไทยคือการทำให้เห็นว่าถ้าผู้ใหญ่มีวิสัยทัศน์ มันจะทำให้เกิดโอกาสที่ศาสตร์นี้จะแทรกซึมและทำความเข้าใจกับคนมากขึ้น เพราะเราเชื่อว่าด้วยตัวเนื้องานสิ่งที่เราทำมันดีอยู่แล้ว ดังนั้นช่วงแรกขอแค่โค้ชหรือนักกีฬาเข้ามาและเปิดใจ จะเป็นเพราะผู้ใหญ่สั่งให้มาก็ได้ เพราะพอเขามาบ่อยๆ เขาก็จะรู้เองว่าประโยชน์ในงานของเราคืออะไร เวลาต่อมาเขาจะพร้อมเดินเข้ามาหาเราเอง โค้ชหรือนักกีฬารุ่นพี่ก็จะแนะนำนักกีฬารุ่นน้องต่ออีกว่าศาสตร์นี้สำคัญ น้องควรฟัง มันเลยเกิดเป็นรากฐานที่แข็งแรงขึ้นมาได้

นักจิตวิทยาการกีฬา

ลงลึกในแง่การทำงานบ้าง เอากรณีของเทนนิสเป็นตัวอย่างก็ได้ ขอบเขตการทำงานของคุณเป็นแบบไหน

อย่างแรกคือต้องเข้าใจพื้นฐานของกีฬาก่อน เพราะเวลาเราเข้าไปเป็นนักจิตวิทยาการกีฬาในกีฬาไหน เราต้องเข้าใจธรรมชาติของกีฬานั้นอย่างแท้จริง เราจะได้พูดภาษาเดียวกับนักกีฬา อย่างเทควันโด เรามีโอกาสได้รับทุนรัฐบาลเกาหลีใต้ไปฝึกที่นั่นอยู่ 6 เดือนจนได้สายดำ เพื่อเป็นการเพิ่มความเข้าใจในมุมของนักกีฬา ไม่ใช่เข้าใจเขาแค่ในมุมมองของเรา

หลังจากนั้นเราจะเริ่มจากการตั้งโจทย์ อย่างกรณีน้องเทนนิส โจทย์ของน้องคือต้องได้เหรียญ เพราะด้วยศักยภาพ น้องมีโอกาสได้เยอะมาก และถ้ายึดตามลำดับโลก (อันดับที่ 1) น้องทำได้แน่นอน แต่ในความเป็นจริงสิ่งที่เกิดขึ้นคือความคาดหวังและความกดดันที่ถาโถมใส่น้องเยอะมากทั้งจากภายนอกและภายใน นั่นจึงเป็นโจทย์ของเราที่ต้องจัดการเพื่อให้น้องมีความเชื่อมั่นและแสดงศักยภาพของตัวเองออกมาอย่างที่ควรจะเป็น

สิ่งที่เราช่วยฝึกน้องมีหลายอย่าง แต่ที่หลักๆ คือการฝึกสติและความคิดที่ถูกต้อง ให้น้องรู้ตัวว่ากำลังคิดหรือรู้สึกอะไรอยู่ น้องจะได้จับความคิดของตัวเองได้เร็วเพื่ออยู่กับปัจจุบันและมีทัศนคติที่ถูกต้อง สาเหตุเพราะก่อนหน้านี้น้องมีอดีตที่ฝังใจมากเกี่ยวกับการแข่งขันที่เคยพลาดหลายครั้ง หรือความคาดหวังและคิดมากไปก่อนว่าถ้าไม่สำเร็จจะต้องเจออะไร โอลิมปิกครั้งหน้าจะมีโอกาสไหม อดีตและอนาคตเหล่านี้มันทำให้น้องกดดันหมด ดังนั้นจึงต้องช่วยให้น้องอยู่กับปัจจุบันมากขึ้นเพื่อเป็นทางออก

นี่เป็นแค่เรื่องหลักๆ นะ แต่จริงๆ แล้วน้องฝึกหลายอย่างมากกว่านี้ เช่น การฝึกตัดสิ่งรบกวน การเตรียมโซนเพื่อเข้าสู่การแข่งขัน การฝึกหายใจ ทั้งหมดนี้ต้องทำเป็นกิจวัตรเพื่อให้น้องพร้อมเข้าสู่การแข่งขันในวันแข่งจริง ซึ่งช่วง 3 เดือนก่อนโอลิมปิกจะเป็นช่วงที่เข้มข้นหน่อย เราเจอกับน้องวันเว้นวันและต้องทำงานกับทุกฝ่ายตลอดเวลา เพราะในเมื่อเวทีใหญ่อย่างโอลิมปิกทุกคนมีทักษะและร่างกายที่เตรียมพร้อมกันมาดีหมด เราว่ามันก็วัดกันที่จิตใจนี่แหละ

อย่างกรณีเทนนิสท่ีสุดท้ายประสบความสำเร็จ ระหว่างทางมีขรุขระบ้างไหม

มีแน่นอน นักกีฬาทุกคนเป็น ไม่ว่าจะประสบความสำเร็จหรือไม่ อย่างน้องเทนนิสก็จะมีบางวันที่การซ้อมออกมาไม่ตรงกับที่คิด น้องก็จะเฟล เราต้องไปคุยเพื่อปรับความคิดว่านี่คือการเรียนรู้และฝึกฝน ไม่ใช่การแข่งขัน ดังนั้นมาหาทางแก้ดีกว่าว่าซ้อมรอบหน้าจะทำให้ดีขึ้นได้ยังไง เหมือนเป็นการประคองความมั่นใจให้น้อง เพราะความมั่นใจในสนามมันไม่ได้ถูกสร้างขึ้นมา ณ ตอนนั้น แต่มันต้องถูกสร้างมาตั้งแต่ตอนซ้อม ดังนั้นมันไม่ใช่คำว่าเยียวยาจิตใจ แต่มันคือคำว่าเตรียมจิตใจเพื่อให้พร้อมไปเผชิญกับสิ่งที่เราไม่คาดคิด

โค้ช ชเว ย็อง-ซ็อก หัวหน้าผู้ฝึกสอนเทควันโดทีมชาติไทย เข้าใจงานตรงนี้หรือเปล่า

เข้าใจมากๆ ต้องให้เครดิตโค้ชเชตรงนี้ด้วย เขาให้ข้อมูลและโอกาสในการทำงาน เราได้ใกล้ชิดน้องในหลายการแข่งขัน โค้ชเองก็บอกเราประจำว่าช่วงนี้น้องเป็นยังไง พูดง่ายๆ ว่าเขาพร้อมซัพพอร์ตเสมอ

ในโมเมนต์ที่เทนนิสคว้าเหรียญทอง คุณทำอะไรอยู่

ตอนนั้นเราไปทำงานกับทีมอีสปอร์ต MiTH แต่ช่วงที่น้องแข่งเราก็บอกที่นั่นเลยว่าขอมาดูน้องแข่ง ซึ่งสุดท้ายก็มาดูด้วยกันหมด เฮกันหมด (หัวเราะ)

ความรู้สึกตอนนั้นเป็นยังไง

ในความคิดแรกก็ดีใจเหมือนคนไทยทุกคน ยังไม่กล้าเคลมว่าความสำเร็จนั้นมีเราเป็นส่วนร่วม จนกระทั่งน้องโทรมาแล้วบอกว่าเขาเอาที่เราสอนไปใช้อะไรบ้าง เราเลยดีใจและภูมิใจมาก และยิ่งดีใจสุดๆ เมื่อน้องเอาไปบอกกับสาธารณะด้วยว่านี่คือศาสตร์ที่สำคัญ เป็นหนึ่งในองค์ประกอบที่นักกีฬาทุกคนต้องเตรียมตัว

ความเข้าใจตรงนี้ดูมาไกลจากวันแรกที่คุณเริ่มทำงานอยู่เหมือนกัน

(พยักหน้าและยิ้ม) รู้สึกดีมากนะที่เราเป็นส่วนหนึ่งให้ทุกคนเข้าใจศาสตร์ตรงนี้มากขึ้น ยิ่งสิ่งที่น้องพูดไม่ได้เกิดจากเตี๊ยมใดๆ เราเลยต้องขอบคุณน้องจริงๆ ที่บอกต่อ เพราะน้องก็เป็นคนหนึ่งที่ฝึกและเอาไปใช้จนผลออกมาประสบความสำเร็จ

น่าจะทำให้อาชีพนี้เป็นที่รู้จักมากขึ้นแน่ๆ

ใช่ ถึงตอนนี้คนที่เลือกเรียนจะยังน้อยอยู่ แต่เราว่าช่วง 2-3 ปีมานี้ เทรนด์ความเข้าใจในศาสตร์จิตวิทยานั้นสูงขึ้นมาก คนเริ่มให้ความสำคัญมากขึ้นแล้ว

ถ้าให้สรุป รางวัลของอาชีพนี้คืออะไร คือการเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้นักกีฬาได้เหรียญทองหรือเปล่า

(นิ่งคิด) เราว่าตัวเองได้รางวัลตั้งแต่มีน้องสักคนที่ฝึกแล้วมาบอกเราว่า “พี่ หนูทำตามที่พี่บอกแล้วมันช่วยได้จริงๆ” นี่คือสิ่งที่หล่อเลี้ยง เพราะระหว่างทางที่ผ่านมามีหลายครั้งเหมือนกันที่เรารู้สึกท้อ เพราะพอคนไม่รับแล้วเราช่วยอะไรเขาไม่ได้ เราก็รู้สึกไม่มีคุณค่า แต่ทุกครั้งที่เกิดความรู้สึกนี้ จะมีน้องๆ นักกีฬามาบอกเราเสมอเลยว่าสิ่งที่เราทำช่วยเขาได้ และน้องนักกีฬาเหล่านั้นก็ไม่จำเป็นต้องชนะหรือประสบความสำเร็จมาก่อนด้วย ทุกคนที่ฝึกไปแล้วมาบอกทีหลังว่าตัวเองดีขึ้นเพราะการฝึกของเรา มันคือรางวัลทั้งนั้น

และนี่คงเป็นรางวัลที่เราอยากทำต่อไปในอนาคตด้วย


ขอบคุณรูปภาพจาก Wimonmas Prachakul และ ณัฐพงศ์ มีลังค์

AUTHOR