จริงหรือมั่ว ชัวร์หรือไม่ ชวนพิสูจน์ 5 ทริกที่สายดื่มคิดว่าจะช่วยให้รอดด่าน

Highlights

  • ดื่มนมเปรี้ยวแก้เมา ดื่มใกล้บ้านไม่เป็นไร เดินตัวตรงได้แปลว่าผ่านฉลุย ความเข้าใจเกี่ยวกับการดื่มแล้วขับเหล่านี้เป็นจริงหรือไม่ เรามีคำตอบให้ในบทความนี้ อ่านแล้วรับรองว่าครั้งต่อไปที่ออกไปสังสรรค์ คุณจะกลับบ้านได้อย่างปลอดภัยแน่นอน

เข้าสู่ช่วงปลายปีเมื่อไหร่ นอกจากการเคาต์ดาวน์ส่งท้ายปีเก่าแล้ว เรายังจะได้เห็นการนับยอดผู้ประสบอุบัติเหตุในช่วงเทศกาล ซึ่งต่อให้กวดขันกันมากเท่าไหร่ รณรงค์กันเพียงไหน อุบัติเหตุบนท้องถนนก็ยังเกิด และเอาเข้าจริงไม่ต้องถึงช่วงเทศกาลก็ได้ ไม่ว่าวันไหนก็ล้วนเกิดอุบัติเหตุเป็นประจำ โดยหนึ่งในต้นสายปลายเหตุเหล่านั้นก็หนีไม่พ้นเครื่องดื่มมึนเมา ที่ต่อให้แทบทุกคนจะมีวลีติดหูอย่าง ‘ดื่มไม่ขับ’ ไว้เตือนใจ แต่พอแอลกอฮอล์เข้าเส้นเลือด หลายคนก็พากันนั่งหลังพวงมาลัยแล้วเลือกที่จะขับขี่รถยนต์ด้วยตัวเอง

หนำซ้ำยังมีความรู้คู่ความเมาที่ไม่รู้ไลฟ์โค้ชคนไหนเป็นผู้ริเริ่ม แต่ที่แน่ๆ คือคนดื่มที่มียานพาหนะต่างท่องจำชุดความเชื่อเหล่านี้ฝังใจว่าทำเช่นนี้แล้วจะรอดปลอดภัย คุณตำรวจประจำด่านต้องปล่อยผ่าน และไม่ว่าบ้านจะอยู่ไกลแค่ไหนก็ไปถึง

ว่าแล้วเราเลยติดต่อไปหาสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส. ผู้ใจดีช่วยไขข้อสงสัยให้กับเราดังต่อไปนี้

1. ดื่มนมเปรี้ยวไม่ช่วยให้หายเมา

พ.ร.บ.จราจรทางบกระบุไว้ว่า ‘ผู้ขับขี่ที่มีปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดเกิน 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ถือว่าดื่มแล้วขับ มีความผิดทางกฎหมาย อาจติดคุก ถูกปรับ หรือทั้งจำทั้งปรับ และอาจยังต้องรายงานตัวกับกรมคุมประพฤติเพื่อบำเพ็ญประโยชน์’

ด้วยเหตุนี้คนดื่มแล้วขับจึงเหมือนมีมิสชั่นให้ต้องทำก่อนกลับบ้าน คือตรวจสอบว่าถนนเส้นที่ต้องขับผ่านจะมีด่านตรวจแอลกอฮอล์หรือไม่ ซึ่งบางคนก็รู้อยู่แก่ใจว่าขับไปคือถูกจับแน่ ถ้าไม่ใช้บริการเรียกคนอื่นมาขับแทนก็ขอนั่งอยู่ต่อไปจนกว่าจะหายเมาดีกว่า

แต่ใช่ว่าทุกคนจะทำเช่นนี้ มีหลายคนเช่นกันที่รู้ตัวว่าเมา รู้ว่าต้องเจอด่านแน่ๆ แต่ก็ขอฝืนขับไปเผชิญหน้า เพราะเชื่อว่าตัวเองนั้นมีเคล็ดลับดี ต่อให้ต้องเป่ายังไงก็รอด

ตำนานเล่าขานกันว่าต่อให้มึนเมาแค่ไหน หากดื่มนมเปรี้ยวหรือน้ำเยอะๆ ก็จะช่วยให้ผ่านด่านไปได้ฉลุย จึงเป็นเหตุผลที่ถ้าใครผ่านไปร้านสะดวกซื้อแถวสถานบันเทิงในยามค่ำคืนก็จะเห็นภาพบุคคลหน้าแดงๆ มีลมหายใจเมาๆ ต่อแถวซื้อนมเปรี้ยวและน้ำเปล่ากันเป็นแถบ ซึ่งถ้าใครลองแล้วรอดก็อาจแสดงว่าวันนั้นดื่มแอลกอฮอล์มาไม่มากพอ แต่ถ้าใครลองแล้วไม่รอดก็ไม่ต้องแปลกใจ เพราะตำนานดังกล่าวนั้นเป็นความเชื่อที่ผิด!

ด้วยความที่เครื่องตรวจจับนั้นสแกนหาแอลกอฮอล์จากลมหายใจส่วนลึกที่สัมผัสเส้นเลือดฝอยในถุงลมปอด ทำให้นมเปรี้ยวหรือน้ำเปล่าไม่มีผลต่อการทำให้คนเมากลายเป็นคนไม่เมาได้ ยิ่งถ้าดื่มแอลกอฮอล์มาเยอะๆ ด้วยแล้ว ต่อให้ซัดนมเปรี้ยวหรือน้ำเปล่าเป็นลังก็ไม่อาจเปลี่ยนผลใดๆ

นอกจากนี้ยังมีคนที่ยืนยันว่าจะไม่เป่า ต่อให้คุณตำรวจเรียกร้องเพียงใดก็ไม่ยอม ซึ่งบอกเลยว่าการกระทำเช่นนี้ยิ่งมัดตัวให้ไม่ได้กลับบ้าน เพราะเจ้าหน้าที่จะมีสิทธิกักตัวไว้ตรวจสอบและสันนิษฐานว่าผู้ที่อิดออดคนนี้ดื่มแล้วขับ ทำให้จะได้รับโทษ คือจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับ 5,000-20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และพักใช้ใบอนุญาตขับรถไม่น้อยกว่า 6 เดือน หรืออาจเพิกถอนใบอนุญาตได้

2. งีบหลับไม่ช่วยให้หายเมา

อาจเพราะเวลาง่วงนอน การงีบหลับจะช่วยให้ร่างกายตื่นตัว เพียงแค่สิบนาทีก็ช่วยให้หายล้าได้ จึงมีบางคนนำวิธีนี้ไปประยุกต์ใช้กับการดื่มสุรา โดยหวังว่าการพักสายตาจะช่วยรีเซตให้หายเมาเป็นปลิดทิ้ง

แต่ต้องบอกเลยว่าการงีบสิบนาทีไม่ช่วยอะไร ครึ่งชั่วโมงก็ยังไม่พอ หนึ่งชั่วโมงก็ยังไม่ไหว เพราะมีข้อมูลบ่งชี้ว่าการดื่มเบียร์ขนาด 500 มิลลิลิตร สำหรับคนที่มีน้ำหนักโดยเฉลี่ย 60 กิโลกรัมขึ้นไป กว่าที่แอลกอฮอล์จะหายเป็นปลิดทิ้งต้องใช้เวลา 4 ชั่วโมง หรือถ้าเกิน 1,500 มิลลิลิตรต้องใช้เวลาประมาณ 12 ชั่วโมง!

ที่สำคัญถ้านอนไปแล้วแอลกอฮอล์จะสลายช้ากว่าตอนตื่นอีก คือถ้าจะงีบเพื่อหวังให้แอลกอฮอล์หาย สู้ตัดสินใจเลิกขับแล้วนอนยาวเลยดีกว่า อย่างไรก็ตามหากคุณกระดกแอลกอฮอล์เยอะเกินไป วันรุ่งขึ้นก็อาจยังมีตกค้างอยู่ในเลือด ส่งผลให้สติของเราในวันถัดมาขาดหายไปบ้างก็ได้

3. เดินตัวตรงได้ไม่ได้แปลว่าไม่เมา

หลายครั้งหลายหนเวลาดื่มเหล้าเรามักคิดว่าตัวเองเป็นผู้อยู่เหนือความเมา ก็ถ้าหากยังไม่เดินเซ คำนวณเลขไหว ทำไมถึงจะขับรถกลับบ้านไม่ได้

ขอบอกว่าอย่าเพิ่งด่วนตัดสินใจเช่นนั้น เพราะต่อให้ภายนอกจะดูไหว แต่ความจริงแล้วภายในอย่างสมองกำลังปั่นป่วนไม่ใช่น้อย

การดื่มเบียร์ขนาด 500 มิลลิลิตร เพียงแค่ 1-2 กระป๋อง ทำให้เราคิดอะไรได้ช้าลง เพราะแอลกอฮอล์ได้เข้าไปปั่นป่วนเปลือกสมอง (cortex) ซึ่งเป็นส่วนที่เกี่ยวกับการตัดสินใจ การใช้เหตุผล และถ้าดื่มมากขึ้นไปเป็น 3-6 กระป๋อง แอลกอฮอล์จะทำให้สมองส่วนหลัง (cerebellum) ใช้งานติดขัด ส่งผลให้ร่างกายเสียสมดุล เดินเป๋ไปเป๋มา และถ้ามากกว่า 6 กระป๋องขึ้นไป hippocampus สมองส่วนที่เกี่ยวกับความทรงจำก็จะถูกแอลกอฮอล์เข้ายึด ทำให้จำอะไรไม่ค่อยได้ เริ่มพูดจาไม่รู้เรื่อง ยืนไม่ค่อยไหว แล้วถ้ายังกินไม่หยุดอีกก็อาจส่งผลให้สมองเป็นอัมพาต ซึ่งขั้นนี้ถือว่าน่ากลัวมากๆ เพราะอาจส่งผลถึงชีวิต

ทางออกที่ดีคือดื่มไม่ขับ ไม่ใช่ดื่มแต่น้อยและคิดเอาเองว่าขับรถกลับบ้านได้ เพราะต่อให้ดื่มน้อยเพียงไหน แอลกอฮอล์ก็มีผลต่อสมอง กระทบถึงการตัดสินใจ ซึ่งบางครั้งการตัดสินใจช้าแค่เพียงเสี้ยววินาทีเราก็อาจแก้ไขอะไรไม่ทันแล้ว

4. กิน-ดื่มใกล้บ้านก็ประมาทไม่ได้

เวลาพูดเรื่องดื่มไม่ขับ หลายคนอาจคิดถึงแค่การเดินทางระยะไกล อารมณ์แบบเดินทางออกต่างจังหวัดหรือกลับบ้านที่ไกลกว่า 20 กิโลเมตรขึ้นไป แต่ความจริงแล้วไม่ว่าจะเดินทางใกล้หรือไกลก็ไม่มีใครควรดื่มแล้วขับทั้งนั้น

ผลสำรวจของศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.) ระบุว่าอุบัติเหตุกว่า 70 เปอร์เซ็นต์เกิดขึ้นบนถนนสายรอง อันหมายถึงถนนตามเขตหมู่บ้าน เทศบาล หรือทางหลวงชนบท และเมื่อมีการเก็บสถิติจากอุบัติเหตุ (โดยเฉพาะมอเตอร์ไซค์) ในโรงพยาบาลก็พบว่า 75 เปอร์เซ็นต์ของจุดเกิดเหตุมักอยู่ห่างจากบ้านหรือที่พักของผู้ประสบเหตุไม่เกิน 5 กิโลเมตร

ด้วยความที่อยู่ใกล้บ้าน ใครหลายคนเลยคิดว่าดื่มนิดดื่มหน่อยคงไม่เป็นไร ขับขี่แป๊บเดียวหรือไม่สวมหมวกนิรภัยก็ได้เดี๋ยวก็ถึงบ้านแล้ว แต่ก็เพราะความใกล้บ้านนี่แหละที่ทำให้ความเสี่ยงของการเกิดอุบัติเหตุเพิ่มมากขึ้น เพราะในทางหนึ่งความอยู่ใกล้นิดเดียวก็ทำให้เราประมาทขึ้นกว่าเดิมโดยไม่รู้ตัว

5. ดื่มแล้วขับตอนอายุไม่ถึง 20 ก็ได้รับโทษ

อีกหนึ่งความเข้าใจผิดที่ไม่รู้มาได้ยังไงว่า ถ้าอายุยังน้อยอยู่ เป็นผู้เยาว์ หากถูกจับจากการดื่มแล้วขับอาจไม่ได้รับโทษหรือได้รับโทษน้อยกว่า

โทษดื่มแล้วขับนั้นไม่มีการละเว้นให้กับใคร ความจริงยิ่งอายุน้อยยิ่งเสี่ยงได้รับโทษด้วย เพราะจากเดิมที่จะถือว่าเมาสุราเมื่อมีปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดเกิน 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ หากเจ้าหน้าที่เช็กอายุแล้วพบว่ายังไม่ถึง 20 ปี เกณฑ์การเมาสุราจะถูกปรับให้เหลือเพียง 20 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ กินไม่เยอะก็ถูกปรับอยู่ดี แถมโทษที่ได้ก็จะเหมือนผู้ใหญ่เลย

 

เห็นได้ว่าไม่ว่าจะพยายามยังไง ถ้าดื่มแอลกอฮอล์เข้าไปแล้วมีความเสี่ยงมากมาย ทั้งเสี่ยงต่อชีวิตของตัวเราเองและผู้ร่วมใช้ท้องถนน

ดังนั้นคิดให้ดีก่อนดื่ม และที่สำคัญคือดื่มไม่ขับ จะได้กลับบ้านปลอดภัยนะ

AUTHOR

ILLUSTRATOR

Jen.two

เจินเจิน นักออกแบบกราฟิกเเละนักวาดภาพประกอบ