จินตนาคาร 9 เรื่องสั้นจากอาคารในฝันของสถาปนิกสิงคโปร์

Highlights

  • จินตนาคาร (Dream Storeys) คือหนังสือรวมเรื่องสั้นของ Clara Chow นักเขียนชาวสิงคโปร์ ที่ประกอบสร้างเรื่องสั้นทั้ง 9 ขึ้นจากบทสัมภาษณ์สถาปนิกชื่อดังในสิงคโปร์ 9 คน ด้วยคำถามง่ายๆ ว่าคุณจะสร้างอาคารอะไรในสิงคโปร์ ถ้าไม่ต้องคำนึงถึงข้อจำกัดด้านพื้นที่ งบประมาณ หลักฟิสิกส์ และอื่นๆ
  • คลาร่า ชาว จะนำคำตอบของสถาปนิกเหล่านี้มาต่อยอดเป็นเรื่องสั้น เนรมิตความฝันของเหล่าสถาปนิกจนเกิดเป็นเรื่องราวที่แตกต่างกันไป
  • จินตนาคาร สะท้อนให้เห็นข้อเท็จจริงที่ว่า แม้ว่าอาคารหลังใดๆ จะถือกำเนิดขึ้นจากความคิดของสถาปนิก หากสถาปนิกก็ไม่ใช่จุดศูนย์กลางในการจะทำความเข้าใจกับคุณค่าและความหมายของอาคารหลังนั้นๆ

1.

ใน ค.. 1979 Paul Oliver นักประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรมชาวอังกฤษได้ตีพิมพ์บทความชื่อมานุษยวิทยาแห่งที่พักอาศัย’ (The Anthropology of Shelter) ผ่านบทความชิ้นนี้โอลิเวอร์ได้พยายามอธิบายว่าทำไมการศึกษาทางมานุษยวิทยาจึงควรถูกบรรจุอยู่ในหลักสูตรของสถาปนิกเขากล่าวว่า

เมื่อมานุษยวิทยาคือศาสตร์แห่งการศึกษามนุษย์ ส่วนสถาปัตยกรรมคือศาสตร์แห่งการศึกษาสิ่งปลูกสร้าง การจะเสนอให้วิชามานุษยวิทยาเป็นส่วนหนึ่งในการศึกษาสำหรับสถาปนิกทุกคนมานุษยวิทยาแห่งสถาปัตยกรรมจึงไม่ใช่ข้อเสนอที่ฟังดูไร้เหตุผลแต่อย่างใด

สำหรับโอลิเวอร์ เขาเห็นว่า วิชามานุษยวิทยาจะช่วยสร้างความเข้าใจว่า ทำไมมนุษย์จึงสร้างสิ่งปลูกสร้างหนึ่งๆ ขึ้นมา เหตุใดรูปลักษณ์ของสิ่งปลูกสร้างจึงแตกต่างกันไป นอกจากนี้วิชามนุษยวิทยายังจะช่วยในการทำความเข้าใจระบบคุณค่า และรูปแบบความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์และสิ่งปลูกสร้าง

พูดอีกอย่างคือ สำหรับโอลิเวอร์แล้วคุณค่าทางวัฒนธรรม’ (cultural values) คือปัจจัยสำคัญต่อการจะเข้าใจความหมายของสิ่งปลูกสร้างหนึ่งๆ ด้วยเหตุนี้ สิ่งปลูกสร้างแต่ละหลังจึงไม่เหมือนกัน มีเรื่องราวที่เฉพาะเจาะจงของมัน และปฏิสัมพันธ์อยู่กับผู้คนที่แตกต่างกันไป

2.

จินตนาคาร (Dream Storeys) คือหนังสือรวมเรื่องสั้นของ Clara Chow นักเขียนชาวสิงคโปร์ ที่ประกอบสร้างเรื่องสั้นทั้ง 9 ขึ้นจากบทสัมภาษณ์สถาปนิกชื่อดังในสิงคโปร์ 9 คน ด้วยคำถามง่ายๆ ว่าคุณจะสร้างอาคารอะไรในสิงคโปร์ ถ้าไม่ต้องคำนึงถึงข้อจำกัดด้านพื้นที่ งบประมาณ หลักฟิสิกส์ และอื่นๆคำถามของคลาร่า ชาว ชัดเจนอยู่ในตัวว่า คำตอบที่เธอต้องการไม่จำเป็นจะต้องวางอยู่บนฐานของความเป็นจริงที่สร้างข้อจำกัดให้กับจินตนาการ และความคิดสร้างสรรค์ของสถาปนิกแต่ละคน พวกเขาสามารถคิดได้เต็มที่ เพ้อฝันได้ตามต้องการ เมื่อปราศจากเงื่อนไขต่างๆ อาคารในสิงคโปร์ที่สถาปนิกเหล่านี้อยากสร้างจึงสะท้อนให้เห็นว่า สำนึก ปัญหา และความหวังที่พวกเขามีต่อสิงคโปร์เป็นยังไง

จากนั้นเมื่อการสัมภาษณ์สิ้นสุดลง คลาร่า ชาว จะนำคำตอบของสถาปนิกเหล่านี้มาต่อยอดเป็นเรื่องสั้น เนรมิตความฝันของเหล่าสถาปนิกจนเกิดเป็นเรื่องราวที่แตกต่างกันไป ความน่าสนใจของกระบวนการนี้อยู่ตรงที่ว่า แม้ในทางหนึ่งเธอจะเคารพต่ออาคารในจินตนาการของเหล่าสถาปนิก หากนั่นก็ไม่ได้แปลว่า เธอจะหยิบฉวยไอเดียของพวกเขามาเล่าต่ออย่างทื่อๆ เพราะเธอเองก็สนทนาโต้ตอบอยู่กับความคิดของสถาปนิกเหล่านี้ผ่านเรื่องราวของเรื่องสั้น

ตัวอย่างเช่น ในเรื่องห้างสรรพสินค้า’ (The Mall) เยน เยน วู สถาปนิกที่ชาวสัมภาษณ์เล่าว่าอาคารในสิงคโปร์ที่อยากจะสร้างคือ

อาคารที่การแก่ตัวลงไม่ใช่เรื่องเลวร้าย อาคารที่ระลึกรู้ว่าเวลากำลังผ่านเลยไป ระลึกได้ว่าเซลล์ทุกเซลล์ของมัน (อย่างก้อนอิฐหรือปูน) ไม่สามารถหนีพ้นจากกาลเวลาที่ยังเดินต่อไป(หน้า 15)

วูอธิบายว่า แนวคิดนี้เกิดขึ้นจากความพยายามจะคัดค้านต่อแนวคิดที่มองว่า อาคารที่ดีคืออาคารที่มีอายุยืนยาว ด้วยเหตุนี้อาคารจึงควรจะถูกยืดอายุอย่างเต็มที่ผ่านการบำรุงรักษา ไปพร้อมๆ กับการปฏิเสธความจริงที่ว่า อาคารทุกหลังล้วนเก่าแก่ขึ้นตามกาลเวลา ไม่ต่างอะไรกับอายุคน สำหรับวู การสร้างอาคารที่มีอายุไขจำกัดจึงคือการวิพากษ์มุมมองเรื่องเวลาของวงการสถาปัตยกรรม

ชาวรับเอาแนวคิดเรื่องอาคารที่มีอายุไขมาต่อยอดเป็นเรื่องห้างสรรพสินค้าที่บอกเล่าเรื่องราวในวันสุดท้ายของห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่งที่กำลังจะหมดสิ้นอายุไข ทว่า ภาพของสิ่งปลูกสร้างในจินตนาการของวูกลับไม่ได้ถูกชาวถ่ายทอดออกมาอย่างสวยสดงดงามแต่อย่างใด ตรงกันข้ามห้างสรรพสินค้าที่มีอายุไขจำกัดแห่งนี้ตั้งอยู่ในพื้นที่เสื่อมโทรมของสิงคโปร์ที่ประชาชนไม่อยากจะเข้าไป

แต่แล้วภาวะเงินฝืดก็เข้าจู่โจม ผู้คนตกงานและหยุดการใช้จ่าย ธุรกิจพากันล้มละลาย นั่นเป็นเหตุผลว่าทำไมบริษัทออกแบบสถาปัตยกรรมที่มีแนวคิดเรื่องห้างสรรพสินค้าย่อยสลายตัวเองได้ถึงตัดสินใจมาตั้งอยู่ในแทงกลิน ฮอลต์ เพราะที่ดินในเมืองร้างนี้ราคาถูกแสนถูก และหากวันดีคืนดีอาคารพังทลายลงมาจากความจงใจละเลย (หรือที่บริษัทออกแบบเรียกว่าความไม่ยั่งยืนอันสร้างสรรค์’) ก็จะไม่มีเพื่อนบ้านคนใดมาฟ้องร้องเรียกค่าเสียหาย” (หน้า 24)

คุณสมบัติของอาคารที่มีอายุไขจำกัดยังคงอยู่ แต่สิ่งที่ชาวแต่งเติมในเรื่องสั้นคือ ชุดความสัมพันธ์อันเฉพาะเจาะจง ที่ถ่ายทอดผ่านตัวละครต่างๆ ซึ่งปฏิสัมพันธ์อยู่กับห้างสรรพสินค้าแห่งนี้ ในทางหนึ่งเราอาจกล่าวได้ว่า เรื่องสั้นของชาวคือการรับไม้ต่อจากสถาปนิก เพื่อจะประกอบสร้างภาพที่ชัดเจนขึ้นของอาคารในจินตนาการที่ยึดโยงอยู่กับบริบททางสังคมของสิงคโปร์ หากขณะเดียวกัน ความไม่สอดคล้องกันเสียทีเดียวระหว่างไอเดียของสถาปนิก และเรื่องสั้นของชาวก็สะท้อนให้เห็นว่า เมื่อพูดถึงสิงคโปร์ พวกเขาต่างก็มองเห็นภาพที่แตกต่างกันไปบ้าง สอดคล้องกันอยู่บ้าง แต่ไม่อาจวางทับกันได้อย่างแนบสนิท

สำหรับวู สิงคโปร์คือ

“…ประเทศที่มีประวัติศาสตร์แสนสั้น เราพยายามจะสร้างอัตลักษณ์ของตนเองขึ้นมาอยู่เสมอ พยายามจะหาความสำเร็จหรือความภาคภูมิใจ ในฐานะสังคม เราค่อยๆ หมกมุ่นอยู่กับวัตถุใหม่ล่าสุดในตลาด แต่เราต่างรู้ว่าสิ่งเหล่านี้มีวันสลายและไม่อาจคงอยู่ไปตลอดกาล(หน้า 17) 

ทว่าในเรื่องสั้น ชาวกลับเลือกจะตรวจสอบความคิดของวูผ่านการจำลองกลุ่มคนสิงคโปร์ที่ไม่เห็นด้วยกับแนวคิดของอาคารที่มีอายุไขจำกัดว่า

ณ ใจกลางย่านธุรกิจ กลุ่มพลเมืองดีเดินขบวนประท้วงสิ่งที่พวกเขาเห็นว่าทำให้ความทรงจำร่วมกันของบรรดาผู้อยู่อาศัยในเมืองนั้นสิ้นสูญและเสื่อมสลายนี่เป็นการสร้างรูโหว่ในแผนที่ความทรงจำของผู้คนอย่างจงใจ!” นักวิชาการคนหนึ่งที่สวมแว่นและไว้ผมปรกหน้าตะโกนขึ้นมาขณะให้สัมภาษณ์ในรายการโทรทัศน์สามปีก็เพียงพอแล้วที่จะสร้างความผูกพัน ที่จะโยงใยจุดประสานประสาทกับห้างสรรพสินค้าเหล่านี้! เราจะทำยังไงหากจู่ๆ วันหนึ่งมันเกิดถล่มลงมาแล้วก็หายไปเสียเฉยๆ ใครกันจะประสานรูโหว่ในใจของเราได้” ” (หน้า 25)

3.

ในบทนำของหนังสือ สถาปัตยกรรมไทย หลังรัฐประหาร ๑๙ กันยา ๔๙ ชาตรี ประกิตนนทการ ได้กล่าวถึงการศึกษาสถาปัตยกรรมในฐานะ ‘Material Culture’ หรือวัฒนธรรมวัตถุหากแปลกันอย่างตรงๆ แต่ชาตรีเลือกจะนิยามคำนี้ว่าวัฒนธรรมที่ส่งผ่านวัตถุสิ่งของนั่นคือ

การศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับวัตถุสิ่งของต่างๆ ที่มนุษย์ได้สร้างขึ้น โดยเป็นการศึกษาวัตถุเพื่อทำความเข้าใจวัฒนธรรม ค้นหาชุดความเชื่อ แนวความคิด ทัศนคติ ของชุมชนหรือสังคม ณ ช่วงเวลาที่ผลิตสิ่งของวัตถุชิ้นนั้นๆ โดยมีสมมติฐานว่าสิ่งของวัตถุที่มนุษย์สร้างขึ้นนั้นสามารถสะท้อน, ไม่ว่าจะโดยรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม ทั้งโดยตรงและโดยอ้อม, ความเชื่อของบุคคล ผู้สร้าง ผู้ซื้อ หรือผู้ใช้สอย และสามารถขยายไปสู่การทำความเข้าใจสังคมที่บุคคลผู้นั้นสังกัดอยู่ได้ด้วย”* (หน้า 3)

ชาตรีอธิบายว่า เมื่อสถาปัตยกรรมถูกศึกษาผ่านแนวทาง Material Culture สิ่งปลูกสร้างต่างๆ จึงมีพลังอำนาจในการเป็น “…เครื่องมือทางสังคมที่ช่วยก่อรูปจิตสำนึก ปลูกฝังอุดมการณ์ หรือควบคุมพฤติกรรมมนุษย์ ดังนั้นงานสถาปัตยกรรมจึงล่วงเข้าสู่พื้นที่ทางการเมืองด้วยในเวลาเดียวกัน…” ความเป็นการเมืองจึงไม่อาจแยกขาดจากสถาปัตยกรรม หรือพูดอีกอย่างได้ว่า อำนาจของสถาปัตยกรรมจึงคือการจัดวางความสัมพันธ์ทางการเมืองของผู้คนกลุ่มต่างๆ ของแต่ละสังคม–ไม่มีอาคารและสิ่งปลูกสร้างใดจะเกิดขึ้นดำรงอยู่และล่มสลายลงอย่างสันโดษและปราศจากการเชื่อมโยงตัวมันเองกับสังคม

ในแง่นี้ คำอธิบายของชาตรีจึงสอดคล้องกับข้อเสนอของพอล โอลิเวอร์ นั่นคือ ต่อการจะพิจารณา และศึกษาสถาปัตยกรรม มุมมอง และความเข้าใจในมนุษย์และสังคม คือเงื่อนไขสำคัญที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ เพราะมีมนุษย์จึงมีสิ่งปลูกสร้าง และเพราะมีสิ่งปลูกสร้าง พฤติกรรม ความคิด และจิตสำนึกของผู้คนจึงถูกกำหนดแบบแผนเมื่อพวกเขาอยู่ในพื้นที่สถาปัตยกรรมนั้นๆ คำถามคือ หากสิ่งปลูกสร้างคือผลผลิตของสถาปนิก เช่นนั้นแล้วจะเท่ากับว่า เราต้องย้อนกลับไปหาสถาปนิกทุกครั้งเพื่อทำความเข้าใจต่อความหมายของอาคารอยู่เสมอเลยหรือเปล่า? ชาตรีมองว่า ความหมายในงานสถาปัตยกรรมไม่อาจมีใครควบคุมได้โดยสมบูรณ์ ด้วยเหตุนี้มันจึงเป็นไปไม่ได้ที่จะควบคุมการตอบสนอง และผลกระทบที่ผู้ใช้สอยมีต่ออาคาร และสิ่งปลูกสร้างหนึ่งๆ

แต่สถาปัตยกรรมโดยตัวมันเองซึ่งเป็นผลรวมขององค์ประกอบต่างๆ มากมายที่ล้วนแล้วแต่ถูกกำหนดนิยามความหมายอย่างสลับซับซ้อน ทั้งความหมายสากลที่ยึดโยงกับคุณสมบัติพื้นฐานของตัวมันเอง และความหมายที่ถูกประกอบสร้างผ่านช่วงเวลาทางประวัติศาสตร์อันยาวนานนาน ได้ทำให้ตัวมันสามารถแสดงออกซึ่งความหมายโดยที่บางครั้งก็อยู่นอกเหนือการกำหนดของมนุษย์ ไม่ว่าจะทั้งจากสถาปนิกหรือผู้ใช้สอย และความหมายที่คาดไม่ถึงหรือเกิดขึ้นเองนี้ก็ส่งผลโดยตรงต่อพฤติกรรมมนุษย์ผู้ใช้สอยอาคารนั้นๆ อย่างชนิดที่หลายครั้งเราไม่สามารถรับรู้หรือตระหนักถึงพลังอำนาจของมัน” (หน้า 16)

กล่าวอย่างถึงที่สุดคือ แม้ว่าสถาปัตยกรรมใดๆ จะถูกสร้าง หรือเนรมิตขึ้นจากจินตนาการและแบบแปลนที่สถาปนิกวาดขึ้น คาดคำนวณอย่างพิถีพิถันถึงลักษณะการใช้งาน และความหมายที่อาคารหลังหนึ่งๆ จะมอบให้กับผู้คนในสังคม แต่เมื่ออาคารหลังนี้ได้ก่อสร้างจนแล้วเสร็จ และถูกใช้งานจริง แม้ว่าร่องรอยทางความคิดของสถาปนิกจะยังคงอยู่ หากนั่นก็ไม่ได้หมายความว่า คุณค่า ความหมาย และรูปแบบการใช้งานของอาคารหลังนี้จะต้องเป็นไปอย่างเคร่งครัดตามแบบแผนที่สถาปนิกคาดคำนวณไว้แต่อย่างใด ในชีวิตประจำวันที่ผู้คนต่างๆ ในสังคมปฏิสัมพันธ์อยู่กับอาคารหลังนี้ พวกเขาเองก็มีอำนาจในการจะตีความ และใช้สอยสิ่งปลูกสร้างในรูปแบบที่จะสอดคล้องกับบริบทแวดล้อมและการดำเนินชีวิต

ด้วยเหตุนี้ แม้ว่าโดยสามัญสำนึกแล้ว สิ่งปลูกสร้างจะคืออาคารที่ตั้งตระหง่านอย่างนิ่งๆ ทว่าสิ่งปลูกสร้างเหล่านี้ที่ต่างก็เชื่อมโยงและปฏิสัมพันธ์กับสังคมตลอดเวลาจึงไม่อาจตายตัว และหยุดนิ่ง แต่กลับเลื่อนไหล และปรับเปลี่ยนความหมายของมันอยู่เสมอ

 

4.

หากพิจารณาคำอธิบายของชาตรี จะเห็นว่า จินตนาคารสะท้อนให้เห็นข้อเท็จจริงที่ว่า แม้ว่าอาคารหลังใดๆ จะถือกำเนิดขึ้นจากความคิดของสถาปนิก หากสถาปนิกก็ไม่ใช่จุดศูนย์กลางในการจะทำความเข้าใจกับคุณค่า และความหมายของอาคารหลังนั้นๆ ดังที่ว่า แม้ว่าโจทย์ที่คลาร่า ชาว จะมอบให้กับสถาปนิกคนต่างๆ จะคือการจินตนาการถึงอาคารในฝัน แต่เมื่ออาคารหลังหนึ่งๆ ถูกส่งมอบต่อให้กับผู้เขียนเรื่องสั้น นั่นจึงเท่ากับการที่อาคารหลังนั้นๆ กำลังจะถูกใช้งานจริง ในแง่นี้ ความหมาย และจินตนาการของสถาปนิกจึงเป็นเพียงจุดเริ่มต้น ไม่ใช่อำนาจที่คอยกำหนดทิศทาง และความเป็นไปของเรื่องสั้น

ผมคิดว่า หากรวมเรื่องสั้นเล่มนี้จะมอบบทเรียนสักอย่างให้กับผู้อ่าน นอกไปจากการได้สัมผัสความคิดอันคมคายของเหล่าสถาปนิกชาวสิงคโปร์ และตื่นตะลึงไปกับจินตนาการของคลาร่า ชาวที่คาดเดาได้ยากว่าเธอจะต่อยอดอาคารในฝันของสถาปนิกคนต่างๆ ยังไงแล้ว คือบทเรียนที่ว่า ในสังคมที่เราดำรงชีวิตอยู่ ไม่ได้มีเรื่องเล่าแค่รูปแบบเดียว ในบทนำของ จินตนาคาร ชาวเขียนไว้ว่า

ดังที่คลิฟฟอร์ด เกียร์ซ นักมานุษยวิทยาอเมริกันสมัยใหม่ได้กล่าวไว้ว่าวัฒนธรรมก็คือการประกอบกันของเรื่องราวต่างๆ ที่เราใช้เล่าถึงตัวเองให้ตัวเองฟังและในครึ่งศตวรรษที่ผ่านมา สิงคโปร์ในฐานะรัฐชาติได้มีส่วนร่วมในกระบวนการทางวัฒนธรรม ทั้งจากเรื่องเล่าที่รัฐบาลอนุมัติและเรื่องเล่าที่มาจากรากฐานสังคมชุมชนเอง ภูมิทัศน์อาคารบ้านเรือนก็บอกเล่าเรื่องราวเช่นกัน ทั้งเรื่องราวการทำงานหนัก การเสียสละ ความมั่งคั่ง พัฒนาการ และเรื่องราวลัทธิปฏิบัตินิยม วัตถุนิยม และการหลงลืมประวัติศาสตร์ร่วมกัน ขึ้นอยู่กับว่าใครเป็นผู้เล่าเรื่อง” (หน้า 13)

แม้ว่าชาวจะคือผู้สรรค์สร้างเรื่องสั้นทั้ง 9 เรื่องของจินตนาคารหากนั่นก็ไม่ได้แปลว่าเธอผูกขาดการต่อยอดและตีความอาคารในจินตนาการของเหล่าสถาปนิกแต่เพียงผู้เดียวอย่างที่ได้กล่าวไปแล้วว่าสถาปนิกผู้สร้างสรรค์เองก็ไม่ใช่จุดศูนย์กลางของสถาปัตยกรรมเช่นกันเมื่อทุกคนเป็นเจ้าของเรื่องเล่านั่นจึงเป็นไปไม่ได้เลยที่สังคมใดๆ จะหยุดนิ่งอยู่กับเรื่องเล่าแค่กระแสเดียวจากผู้เล่าเพียงคนเดียวพลางทึกทักไปว่านั่นคือความจริงโดยสมบูรณ์ไม่จำเป็นต้องตีความ ไม่จำเป็นต้องตั้งคำถาม ไม่จำเป็นต้องจินตนาการถึงคำอธิบายใหม่ๆ

หรือต่อให้มีสังคมไหนที่ยังดื้อด้าน ดักดาน และยืนหยัดในความศักดิ์สิทธิ์ และจริงแท้ของเรื่องเล่าเพียงเรื่องเดียว ปฏิเสธที่จะมองเห็นความเป็นจริงที่ว่า มนุษย์คนอื่นๆ ก็มีสิทธิและเสียงในการจะบอกกล่าวเรื่องเล่าในทิศทางอื่นๆ ที่แตกต่างออกไป นั่นก็เป็นเรื่องที่ช่วยไม่ได้หากว่าสักวันหนึ่ง ความศักดิ์สิทธิ์และจริงแท้ของเรื่องเล่ากระแสเดียวจะถูกกลบฝัง กลืนหาย และล่มสลายลงภายใต้เรื่องเล่าอันหลากหลายของสามัญชนคนธรรมดา

 

อ้างอิง

ชาตรี ประกิตนนทการ. 2558. สถาปัตยกรรมไทย หลังรัฐประหาร ๑๙ กันยา ๔๙. สำนักพิมพ์อ่าน.

*คำอธิบาย Material Culture ส่วนนี้ ชาตรีถอดความมาจากคำอธิบายของ Jules David Prown ในบทความ “The Truth of Material Culture: History or Fiction”

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

สรรพัชญ์ วัฒนสิงห์

ชีวิตต้องมีสีสัน