POTATO กับขวบปีที่ 20 ของการเป็นเพื่อนคนฟังในเบื้องหลังเพลง ‘คนตัวเล็ก’ และอัลบั้มชุดที่ 8

การมีคนที่คอยนั่งเป็นเพื่อนเราในยามทุกข์ใจมายาวนานถึง 20 ปี ไม่ได้หาได้ง่ายๆ คุณเห็นด้วยไหม?

ในบรรดาคนที่มองบทบาทตัวเองเป็นเพื่อนของผู้คนในยามทุกข์ใจแบบนั้น คือวงดนตรีร็อกเจ้าของเพลงอกหักที่คอยปลอบประโลมนักรักยามทุกข์ใจมาหลายคน ไม่ว่าจะเป็นเพลง ปากดี, กล้าพอไหม, รักแท้ดูแลไม่ได้, นี่แหละความเสียใจ, ทนพิษบาดแผลไม่ไหว, ทิ้งไว้กลางทาง

เรากำลังพูดถึง POTATO วงดนตรีร็อกที่มีสมาชิกปัจจุบันอย่าง ปั๊บ–พัฒน์ชัย ภักดีสู่สุข, โอม–ปิยวัฒน์ อนุกูล, กานต์ อ่ำสุพรรณ, ชูหั่ง–ทีฆทัศน์ ทวิอารยกุล และ อั้ม–เกียรติยศ มาลาทอง

เบื้องหน้าในเวลาสองทศวรรษอาจเต็มไปด้วยเพลงฮิตก็จริง แต่ถ้าใครเป็นแฟนเพลงของโปเตโต้คงรู้ดีว่าที่ผ่านมาพวกเขาต้องเจอกับบททดสอบในชีวิตอยู่มาก ทั้งการปรับเปลี่ยนสมาชิก ฟีดแบ็กจากการปรับเปลี่ยนแนวทางเพลงใหม่ๆ อีกทั้งการปล่อยอัลบั้มชุดที่ 7 ไม่นานมานี้ก็ใช้เวลาทำนานถึง 7 ปีด้วย 

แต่สิ่งเหล่านี้ก็ทำให้พวกเขากลับมาทบทวนถึงตัวตนของโปเตโต้อีกครั้งจนค้นพบว่าที่ผ่านมามีทั้งดีและทุกข์ใจแค่ไหน และไม่ว่าวันนี้หรือพรุ่งนี้จะเป็นยังไง พวกเขาก็ภูมิใจในสิ่งที่เกิดขึ้น และอยากทำงานเพลงที่คนฟังได้ลิ้มรสชาติความจริงใจจากพวกเขา ในฐานะเพื่อนที่ร่วมเดินทางมาด้วยกัน

จึงออกมาเป็นเมสเซจในอัลบั้มชุดที่ 8 ซึ่งเปิดตัวด้วยซิงเกิลแรกอย่าง ‘คนตัวเล็ก’ สื่อสารถึงการมองโลกและตัวตนของโปเตโต้ในขวบปีที่ 20 ทั้งเนื้อร้อง ดนตรี และเอ็มวีซึ่งได้ พล หุยประเสริฐ และทีมงานจาก H.U.I บริษัทครีเอทีฟที่รับดีไซน์คอนเสิร์ตและเทศกาลดนตรีทั้งออนกราวด์และออนไลน์

นอกจากนี้เมสเซจที่โปเตโต้อยากเป็นเพื่อนร่วมเดินทางของคนฟัง ยังทำให้เกิดเป็นโปรเจกต์ที่ชวนคนในแวดวงต่างๆ มาร่วมตีความเพลง คนตัวเล็ก ให้ออกมาเป็นงานสร้างสรรค์ในรูปแบบอื่นๆ หนึ่งในนั้นคือ Zine คนตัวเล็ก ที่โปเตโต้และ a day ชวนนักเขียนและนักวาดภาพประกอบมาบอกเล่าเรื่องราวที่ตีความจากซิงเกิลนี้ในแบบเฉพาะตัวของแต่ละคน โดยจะเปิดตัวเร็วๆ นี้

ถ้าเปรียบเป็นคนวัย 20 น่าจะทำให้โปเตโต้โตเป็นหนุ่มที่พร้อมออกไปเผชิญโลกกว้างเต็มที่ แต่ในฐานะวงดนตรี อายุ 2 ทศวรรษไม่ใช่เวลาน้อยๆ สิ่งเหล่านี้สื่อสารผ่านงานที่พวกเขาตั้งใจทำออกมาในอัลบั้มที่ 8 นี้ยังไง กระบวนการตั้งแต่เริ่มต้นของซิงเกิล คนตัวเล็ก จนเอ็มวีเสร็จสิ้นเป็นเช่นไร ลองไปฟังคำตอบจากพวกเขาได้จากบรรทัดต่อไปนี้

‘คนตัวเล็ก’ เพลงที่แสดงถึงความคิดและชีวิตของโปเตโต้ในขวบปีที่ 20 

แม้โปเตโต้เพิ่งออกอัลบั้มชุดที่ 7 ไปเมื่อ 2 ปีที่แล้ว ชูหั่งในฐานะมือกีตาร์และทำงานเป็นโปรดิวเซอร์ให้กับโปเตโต้มานาน บอกกับเราว่าทันทีที่อัลบั้มปล่อยไป พวกเขาก็เริ่มต้นคุยกันว่าจะวางแผนทำอัลบั้มที่ 8 ทันที

“จริงๆ เรามาคุยกันก่อนว่าเราทำงานมานาน มันตกผลึกอะไรได้บ้าง ทุกคนก็บอกว่า เพลงเราเหมือนอยู่เป็นเพื่อนคนฟัง เวลาเขาทุกข์ เขาก็ฟังเพลงเรา เวลาเขาแฮปปี้ก็ฟังเพลงเรา เวลาเขาอกหักเขาก็ชอบเอาเพลงโปเตโต้ไปนั่งเปิดฟังให้มันยิ่งเศร้าเข้าไปอีก คือเราอยู่กับเขามาโดยตลอด พยายามคิดออกมาเป็นเมสเซจหนึ่ง แรกๆ ก็จะฟุ้งๆ อยู่บ้าง เช่น เป็น God of love บ้างล่ะ Friend of love บ้าง” หลังจากชูหั่งอธิบายจบ ดูเหมือนคำว่า God of love ที่เขาพูดถึงจะทำให้สมาชิกในวงถึงกับหัวเราะเสียงดัง

“คำนี้ฟังแล้วจั๊กกะจี้มาก” ปั๊บพูดขึ้น “ตอนนั้นเราเขียนบนกระดานกันหลายคำเลย  จนสุดท้ายมาลงตัวที่คำว่าเพื่อน เราเป็นเพื่อนคนฟังในทุกๆ ช่วงเวลาของเขา แต่เพื่อนที่ว่านี้ก็ไม่ได้หมายความว่ารักอย่างเดียว เพื่อนที่เราเกลียดขี้หน้า ก็เคยเป็นเพื่อนเรามาก่อน หมายถึงมันก็เป็นเพื่อนทุกข์เพื่อนยาก เราก็ตั้งใจนำเสนอลักษณะแบบนี้ด้วย” นักร้องหนุ่มอธิบาย

เมื่อคำว่าเพื่อนกลายเป็นเมสเซจหลักของอัลบั้มนี้ กระบวนท่าต่อไปของพวกเขาคือการวางโครงสร้างอัลบั้มเพื่อไม่ให้เพลงมีฟังก์ชั่นทับซ้อนกัน 

“มีประมาณ 14-15 คอนเซปต์ที่เราคุยกัน โดยแต่ละฟังก์ชั่นจะแบ่งเป็นเพลงเร็ว เพลงจังหวะกลางๆ และเพลงช้า แล้วก็มาดูว่าอยากจะเล่าอะไรบ้างในแต่ละฟังก์ชั่น เช่น เพลงที่เกี่ยวกับเพื่อน เพลงดาร์กๆ มุมมืด เพลงรัก หรืออย่างเพลง คนตัวเล็ก นี่ก็เป็นฟังก์ชั่นแรกที่เราเขียนขึ้นมาเลย” ปั๊บนึกย้อนถึงวันแรกที่พวกเขาประชุมเรื่องอัลบั้มกัน

สมาชิกโปเตโต้ยกตัวอย่างฟังก์ชั่นบางเพลงในอัลบั้มนี้ให้ฟัง เช่น การหยิบคำพูดของปั๊บที่บอกว่าไม่อยากสอนใครในเวลาที่คนคนนั้นทุกข์ใจ จึงอยากอยู่เป็นเพื่อน นั่งข้างๆ เขาไปเรื่อยๆ จึงกลายมาเป็นฟังก์ชั่นที่ว่า ‘ให้ฉันเป็นเพื่อนเธอ’ 

“แล้วก็จะมีอีกประมาณ 3-4 เพลงที่เราจะพูดเรื่องความสัมพันธ์การเดินทาง พูดถึงบัดดี้ ซึ่งคนที่เราอยากร่วมงานด้วยจะอยู่ในเพลงเหล่านี้ ซึ่งความสนุกคือ คนที่เราจะชวนมาฟีเจอริงจะมาจากสัญชาตญาณในระหว่างการทำอัลบั้มนี้ อย่างสมมติวันนี้เราไปทำงาน เรารู้สึกคลิกกับพี่คนนี้จัง เราก็จะคุยกันในวงว่าทำเพลงกับพี่คนนี้ไหม เราอยู่ร่วมทางกับเขามาเป็นสิบปีแล้วนะ เฉียดกันมากี่งานแล้ว เอาไหม ได้เจอกันแล้ววันนี้ แสดงว่ามีสัญญาณ ผมเชื่อเรื่องสัญญาณพวกนี้” ปั๊บเล่า

แต่อย่างที่เรารู้ โปเตโต้มีชื่อเสียงเรื่องเพลงรักมากๆ แฟนเพลงหลายคนมักมีเพลงเหล่านี้เป็นเพื่อนในยามอกหัก แล้วทำไมพวกเขาถึงเลือก คนตัวเล็ก มาเป็นเพลงเปิดอัลบั้มครั้งนี้ นี่คือสิ่งที่เราสงสัย

“พอเราทำอัลบั้มไปได้ครึ่งหนึ่งก็รู้สึกว่าเอาคนตัวเล็กขึ้นมาก่อนดีกว่า เพราะเราอยากสื่อสารถึง positioning ของเราว่า ณ วันนี้ ปัจจุบันนี้ อัลบั้มชุดที่ 8 เราคิดอย่างนี้จริงๆ” ปั๊บให้คำตอบกับเรา 

“แล้วเพลงนี้มันถอดความมาจากการที่เราคุยกันเรื่องวง ความเป็นแบรนด์โปเตโต้ที่เดินทางมาจนถึงทุกวันนี้ ไม่ว่าที่ผ่านมาจะมีวันเวลาที่ไม่ดี หรือจะมีวันที่ดีมาก สุดท้ายเราภูมิใจสิ่งที่มันเกิดขึ้นแล้ว ซึ่งเนื้อหาและทำนองในเพลง คนตัวเล็ก ก็ตอบโจทย์ในความเป็นแบรนด์ด้วยครับ” 

ถึงอย่างนั้นสมาชิกหลายคนก็ลงความเห็นตรงกันว่าจริงๆ เพลง คนตัวเล็ก ก็อาจจะเรียกว่าเป็นเพลงรักในแบบที่รักตัวเองก็ได้ เพราะเนื้อหาพูดถึงการไม่เอาตัวเองไปเปรียบเทียบกับโลกคนอื่น การหันกลับมารักในความเป็นตัวเราเอง ซึ่งเป็นมุมมองความรักใน พ.ศ.นี้ 

เพลงนี้จริงๆ มันมีสตอรี่อีกอย่างคือคนชอบบอกว่าพี่ปั๊บตัวเตี้ยด้วยนะ” โอม มือเบสประจำวงพูดขึ้นจนนักร้องอย่างปั๊บหัวเราะเสียงดัง

“ใช่ๆ มันเป็นเรื่องตลกนิดๆ เวลาใครเจอผมจะชอบพูดว่า ‘พี่ตัวแค่นี้เองเหรอ นึกว่าจะตัวใหญ่มากกว่านี้’ แรกๆ มันก็รู้สึกเจ็บๆ แต่พอผ่านไปเรื่อยๆ เราก็เริ่มคิดว่าเป็นแบบนี้เราก็แฮปปี้ มีความสุขกับสิ่งที่เราเป็นนะ มันเลยขยายความออกมาเป็นความรู้สึกในเพลงนี้ บวกกับว่าผมก็ลองมองในภาพรวมของสังคม กว่าสังคมจะประกอบเป็นภาพใหญ่ได้ก็เริ่มจากสิ่งเล็กๆ รวมกัน ถ้าอย่างนั้นเขาจะเป็นคนตัวเล็กๆ ที่ยังทำสิ่งที่รักต่อไป แต่ทุกอย่างเราจะทำให้เปิดประเด็นกว้างๆ ไม่ได้ไปตัดสินนะว่าสุดท้ายมันใช่ มันดีเยี่ยม ต้องเป็นคนตัวเล็กอย่างนี้ ไม่ใช่แบบนั้น” 

ซึ่งปู่–ปิยวัฒน์ มีเครือ ผู้รับหน้าที่เขียนคำร้องเพลงคนตัวเล็กก็ทำให้คอนเซปต์ที่โปเตโต้คิดออกมาตรงใจกับที่พวกเขาคิดมาทั้งหมดจนปั๊บบอกว่าไม่มีการแก้เนื้อร้องเลยแม้แต่คำเดียว

“ส่วนพาร์ตดนตรี เรามีเบนซ์ (กัณฑ์กณัฐ อังคณาจีรธิติ) มาเป็นโปรดิวเซอร์ แล้วเขามีความชำนาญเรื่องดนตรีอิเล็กทรอนิก เขาก็จะทำเพลงลูปต่างๆ มาให้ เราก็มาจิ้มเลือกว่าอันไหนน่าจะเหมาะกับเพลง คนตัวเล็ก จนออกมาเป็นเพลงนี้ ซึ่งเราก็ใช้เวลาทำกันไม่นานนะ แป๊บเดียวเลย มันโฟลว์มาก” ชูหั่งช่วยเสริม

แน่นอน เมื่อเทียบกับอัลบั้มที่แล้วซึ่งใช้เวลาถึง 7 ปีกว่าจะปล่อยออกมา น่าจะมีสิ่งที่พวกเขาได้เรียนรู้ไม่น้อย แล้วสิ่งเหล่านั้นคืออะไรบ้าง

“พี่หั่งบอกผมว่า อัลบั้มนั้นมันเหมือนคนคิดไม่จบ คิดอยู่นั่น วนๆ ตกตะกอนแล้วตกตะกอนอีก ตกอยู่นั่น เฮ้ยมันยังดีไม่พอว่ะ ก็กรองกันใหม่ ผ่านไปอีกก็บอกว่า เฮ้ย ยังไม่ได้ว่ะ” ปั๊บเล่า ก่อนที่ชูหั่งจะช่วยอธิบาย 

เวลาเราคิดอะไรเยอะๆ มันทำให้เรากลั่นกรองมากเกินไป เวลาเราทำอะไรให้มันในเวลาที่เหมาะสม มันอาจจะไม่ได้สมบูรณ์แบบ แต่ว่าเอาที่ใช่ที่สุดในโมเมนต์นั้น คือถ้าถามผม ทำให้มันได้ในเวลาที่เหมาะสม ผมว่ามันจะดีที่สุด สุดท้ายแล้ว ไม่ว่าเราจะใช้เวลาทำนานขนาดไหน เร็วช้าขนาดไหน ผมว่าคนที่ตัดสินไม่ใช่เรา คนตัดสินคือคนฟัง นั่นคือสิ่งที่เราเรียนรู้แล้วก็ลองเอามาทำในอัลบั้มนี้”

‘คนตัวเล็กที่เพลินกับโลกกว้างใหญ่’

โลกกว้างใหญ่ในเอ็มวีซิงเกิลแรกจากอัลบั้มที่ 8 ของโปเตโต้ ทำให้เราได้เห็นสมาชิกตัวเล็กล้อไปกับชื่อเพลง ทั้งหมดนี้เป็นไอเดียจากทีมงาน H.U.I ผู้ผ่านงานออกแบบคอนเสิร์ตให้ศิลปินมานักต่อนัก และเมื่อได้รับโจทย์ว่าจะต้องทำเอ็มวีทั้งที พวกเขาจึงขนเอาเทคนิค CG มาสร้างสรรค์ให้เอ็มวีคนตัวเล็กตอบโจทย์ทั้งเนื้อหาและภาพ

พล หุยประเสริฐ ในฐานะหัวเรือใหญ่ของ H.U.I จึงรับหน้าที่ไปตีโจทย์เพลงคนตัวเล็กให้ออกมาเป็นภาพ แล้วนำมาเสนอไอเดียให้กับสมาชิกวง

“พี่พลมาเล่าว่าเขาไปพายเรือคายัค เอาเพลงนี้ไปฟังด้วย แล้วเขาไป explore ตัวเองแล้วก็คิดออกมาว่าโลกความสุขของแต่ละคนก็ไม่เหมือนกันด้วย เพราะฉะนั้นมันก็บอกถึงเพลงว่าทุกคนก็จะเลือกแฮปปี้ในแบบที่ตัวเองเป็นได้ในแบบที่ไม่ต้องไปบอกทุกคนว่าเป็นแบบนี้แล้วมันจะดี  เขาเลยคิดว่าถ้าเราแทนค่าโปเตโต้ตัวเล็กๆ แล้วไปท่องเที่ยวในโลกคนอื่นล่ะ จะเป็นยังไง” ปั๊บเล่าถึงวันแรกที่พลมาขายไอเดียนี้ให้ ซึ่งเขาชอบตั้งแต่ได้ฟังทันที 

น้ำหนึ่ง–ลิปสา วรสิทธา ในฐานะผู้กำกับบอกว่าที่ทีม H.U.I เสนอไอเดียนี้ เพราะตีความจากเนื้อร้องที่ว่า ‘ฉันคิดว่าโลกใบนี้มันกว้างเกินไป จนมีดวงดาวน้อยใหญ่’ โลกในนี้อาจจะไม่ใช่แค่ planet แต่หมายถึงมุมมองของโลกแต่ละคนที่ไม่เหมือนกัน เพราะแต่ละคนก็ให้ความสำคัญแต่ละเรื่องไม่เท่ากัน เลยทำให้เกิดเป็นความรู้สึกว่าบางคนตัวเล็ก บางคนตัวใหญ่ในโลกนั้นๆ  

“เราเลยคิดว่า ถ้าเข้าไปอยู่โลกใบหนึ่ง แล้วสิ่งของทุกอย่างเป็นไปตามสเกลที่เราให้ความสำคัญ หรือเราอยากเห็นอะไรที่เราฝัน เราชอบสิ่งนั้นมันก็จะมีความสำคัญในโลกของเรา แล้วทำให้ของเหล่านั้นมันใหญ่กว่าปกติ มันจะเป็นยังไง” 

เมื่อได้โจทย์นี้มาแล้วสิ่งต่อไปที่ทีม H.U.I ต้องทำคือเลือกมุมมองต่อโลกจากผู้คนหลากหลายกลุ่มเพื่อเอามาประกอบในแต่ละฉากของเอ็มวี

“พี่พลมีไอเดียว่าถ้าไหนๆ เราจะนำเสนอโลกของคนแล้ว ทำไมเราไม่ทำ Easter egg ไปเลยว่ามันไม่ใช่คนธรรมดา มันต้องเป็นคนที่พอจะรู้จัก แล้วให้คนไปตามหาว่าใคร เลยลองลิสต์คนออกมา ทางค่ายก็ช่วยคุยกัน ช่วยติดต่อมาสัมภาษณ์เขาว่าโลกของเขาให้ความสำคัญกับอะไร ควรจะมีอะไรอยู่ ของชิ้นใหญ่ชิ้นไหนควรใหญ่ที่สุด อันนี้จะเป็นพาร์ตแรกของเพลง” น้ำหนึ่งอธิบาย

ส่วนพาร์ตหลังของเพลง ผู้กำกับบอกว่าเลือกหยิบเอาประเด็นที่คนกำลังสนใจในสังคมมาเล่า เช่น ความหลากหลายทางเพศ ความเหลื่อมล้ำ สิ่งแวดล้อม เพราะเธอคิดว่าความสำคัญของบางคนอาจไม่ได้อยู่ที่สิ่งของ แต่เป็นเรื่องในสังคมก็ได้ ซึ่งน้ำหนึ่งตั้งใจออกแบบฉากให้คนได้ตีความได้มากที่สุดด้วย

“เช่น ฉากที่จะเล่าถึงความหลากหลายทางเพศ เราคิดอยู่นานมากว่าจะสื่อสารยังไง จนสุดท้ายก็ออกมาเป็นหุ่นไม้ที่มีหลายๆ สี ซึ่งเราทำให้สเกลตัวศิลปินกับหุ่นไม้เท่ากัน สื่อถึงความเท่าเทียมทางเพศ”  

น้ำหนึ่งบอกด้วยว่าแต่ละฉากจะเรียงตามการตีความของเนื้อเพลง

สร้างโลกให้ใหญ่ ย่อคนให้เล็กด้วยวิธีการปั้นโมเดลและ CG

เมื่อวางคอนเซปต์ได้แล้ว โจทย์ต่อไปของทีม H.U.I. คือจะต้องใช้เทคโนโลยีอะไรที่จะสร้างโลกใบใหญ่ให้โปเตโต้กลายเป็นคนตัวเล็กในภาพนั้นได้บ้าง ซึ่งพวกเขาใช้วิธีการหยิบเอาเทคนิคที่เคยทำในงานคอนเสิร์ตออนไลน์ออกมาทบทวนเพื่อหาวิธีการที่เหมาะกับการทำเอ็มวีและโจทย์เพลงมากที่สุด 

“ที่ผ่านมาพวกเราใช้โปรแกรม XR, unreal engine หรือ CG ทำคอนเสิร์ตให้หลายคน ซึ่งแต่ละอันมันก็มีข้อดีข้อเสียของมัน ทีนี้พอเรากลับมาดูโจทย์เราในเพลง คนตัวเล็ก มันต้องการสร้างโลกที่มีของสเกลผิดเพี้ยนให้มันเป็นจริง และต้องทำหลายฉากมาก เราก็คิดว่าจะต้องใช้เทคนิคอะไรดี ถ้า XR ก็ไม่น่าได้ เพราะเราเคยทำบางทีมันจะมีช่วงคีย์หลุด คือเปลี่ยนฉากแล้วมันมีช่วงที่เห็นว่าถ่ายในห้องสีขาว อันอื่นๆ ก็ยังมีปัญหาในเชิงเทคนิคที่ต้องแก้ไขเยอะ เราเลยใช้ CG มาช่วย” มีน–วีรชัช ยี่ละหมัด Editor และ Visual Designer ในฐานะผู้ลงมือตัดต่อด้วยเทคนิคต่างๆ มาหลายงานอธิบายให้ฟัง

วิธีการทำงานคือเมื่อได้มุมมองโลกจากคนที่เลือกมาแล้ว และตีความประเด็นสังคมเป็นภาพได้แล้ว จะต้องนำมาออกแบบองค์ประกอบในแต่ละภาพ โดยร่างเป็นสเกตช์คร่าวๆ ว่าจะต้องมีสิ่งของอะไรบ้าง จัดเรียงแบบไหน สิ่งของอะไรจะเป็นพระเอกเด่นที่สุด จากนั้นทีมงานจะหาของหรือปั้นโมเดลขึ้นมา แล้วลองเอามาจัดตามแบบที่สเกตช์ โดยจะต้องปรินต์หุ่นสมาชิกโปเตโต้เป็นแบบ 3D มาวางประกอบในตำแหน่งต่างๆ

“พอดีน้องในออฟฟิศเรียนสถาปัตย์กันมาอยู่แล้ว ปั้นโมเดลกันตลอด อันไหนที่จำเป็นต้องทำเราก็จะทำ อันไหนที่ต้องซื้อหรือยืมมาก็มี อย่างลูกโลกที่พี่ปั๊บถือในเอ็มวีก็คือน้องๆ ปั้นกันมา หรือพวกอุปกรณ์ในฉากหมอ อันนี้เราเลือกมุมมองโลกของหมอแล็บแพนด้า เราก็ไปยืมอุปกรณ์บางอย่างมาจากแม่พี่พล เพราะแม่เป็นหมอผิวหนัง” ผู้กำกับเล่าถึงกระบวนการทำงานอย่างสนุกสนาน

“จริงๆ ต้องบอกว่าเอ็มวีนี้มีครบทั้งคน สัตว์ สิ่งของ อย่างในฉากแมวที่เราเลือกนำเสนอโลกในมุมมองของแมวที่จะเห็นคนตัวเล็กๆ เป็นทาสเขา ซึ่งพี่โอมก็บอกว่าเขามีแมว ให้เลือกเลยจะเอาตัวไหนมาถ่าย เราก็เลือกสองตัวแม่ลูก” น้ำหนึ่งเล่า

“สองตัวนี้ดื้อที่สุดด้วยครับ” โอมบอกกับเรา “แล้วมันไม่ให้ความร่วมมือสักอย่าง เลยต้องถ่ายแบบรีบๆ ครับ เพราะไฟมันร้อน แมวก็เลยร้อง สุดท้ายก็ออกมาได้ ผมชอบฉากนี้ที่สุดแล้ว”

แต่ส่วนที่น่าจะสนุกไม่แพ้กันคือตอนถ่ายทำจริงที่สมาชิกวงโปเตโต้จะต้องมายืนบนกรีนสกรีน แล้วจินตนาการว่าตัวเองกำลังอยู่บนโลกอันหลากหลายของผู้คน 

“ผมบอกทีมงานว่า สั่งเลย อยากให้ผมทำอะไร เอาเลย เขาจะมองจอแล้วเห็นว่ามันมีฉากอะไรบ้าง แล้วบอกเราว่าจะมีอะไรเกิดขึ้นตรงนั้น เช่น จะมีปลาโลมาตรงนี้นะ พี่ปั๊บโดด เอ้า โดดอีก” ปั๊บเล่าถึงบรรยากาศวันนั้น

ส่วนน้ำหนึ่งบอกว่าเนื่องจากก่อนที่จะถ่ายจริง ทีมงานจะต้องถ่ายฉากที่ทำโมเดลเสร็จออกมาแล้วก่อน แล้วจึงมาถ่ายสมาชิกวง ทำให้เธอจะต้องคอยกำกับว่าจะต้องทำอะไรตอนไหนบ้าง

“แล้วตอนถ่ายเราใช้เวลาในการเซตนานมาก ฉากหนึ่งถ่าย 5 วินาทีเราใช้เวลาเซตเป็นชั่วโมง เราเลยสามารถตัดต่อขึ้นจอให้ดูได้เลยว่าฉากไหนจะเป็นยังไง ใครจะยืนตรงไหน พี่ๆ เขาจะได้เห็นภาพว่าจะต้องทำอะไรด้วย” 

ทีมงาน H.U.I บอกว่าการทำงานครั้งนี้เปิดประสบการณ์จากการทำคอนเสิร์ตมาเยอะมาก เพราะใช้เวลาถ่ายทั้งหมด 3 วันเพื่อให้ได้เอ็มวีความยาว 4 นาที ทั้งหมดนี้ยังไม่นับรวมงานตัดต่อหลังถ่ายทำที่พวกเขาต้องใช้เทคนิค CG สร้างสรรค์แต่ละฉากให้เล่าเมสเซจคนตัวเล็กให้ได้มากที่สุด แต่ตรงโจทย์กับที่วงโปเตโต้อยากนำเสนอ

“จริงๆ งานนี้เหมือนทีมเราก็เป็นคนตัวเล็กในโลกการทำงานเอ็มวีที่กว้างใหญ่เหมือนกันนะ แต่เราก็เชื่อว่าเราทุ่มเทและทำกันเต็มที่เพื่อให้สื่อสารอย่างที่ตั้งใจไว้แล้ว” ผู้กำกับพูดปิดท้าย

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

สรรพัชญ์ วัฒนสิงห์

ชีวิตต้องมีสีสัน

ณัฐวัฒน์ ตั้งธนกิจโรจน์

ชื่อโทนี่ แต่พวกเขามักจะรู้จักผมในนาม Whereisone