วิธีออกแบบโรงพยาบาลเด็ก EKH ที่ ‘คิดแบบเด็ก’ ของ Integrated Field

Highlights

  • คุยกับทีมนักออกแบบจาก IF (Integrated Field) ถึงเบื้องหลังงานอินทีเรียร์ของอาคารกุมารเวช โรงพยาบาลเอกชัย หรือ EKH Children Hospital
  • แนะนำแบบรวบรัด IF เป็นบริษัทให้บริการด้านการออกแบบที่เกิดจากการรวมตัวของพาร์ตเนอร์ 13 คน ส่วนผสมที่แตกต่างหลากหลายนี้ทำให้ IF น่าจับตาตรงที่พวกเขาสามารถทำงานออกแบบได้หลากหลายทั้งในแง่สเกลและความซับซ้อนของงานสถาปัตย์
  • แม้จะไม่มีประสบการณ์ในการออกแบบอินทีเรียร์ให้โรงพยาบาลมาก่อน แต่ IF พร้อมสนุกไปกับโจทย์ท้าทายโจทย์นี้ พวกเขาเริ่มต้นจากการรีเสิร์ชข้อมูลอย่างหนักหน่วง ลงลึกถึงแบบแปลนที่สถาปนิกร่างไว้ และใช้วิธีออกแบบที่พวกเขานิยามไว้ว่าเป็นการออกแบบที่ไม่ได้คิดเพื่อเด็กแต่ 'คิดเป็นเด็ก'

แวบแรกที่ได้เห็นอาคารกุมารเวช โรงพยาบาลเอกชัย หรือ EKH Children Hospital สำหรับเราที่นี่เป็นโรงพยาบาลที่ดูจากมุมไหนก็ให้ความรู้สึกละมุน เป็นมิตร สวยงามผิดแผกจากโรงพยาบาลในความทรงจำวัยเด็กของเราลิบลับเหลือเกิน

ก่อนที่คนอ่านจะดูออกว่าเราอิจฉาเด็กๆ สมัยนี้ นาทีนี้สองเท้าของเราก็หยุดอยู่ที่ตึกออฟฟิศสถาปัตย์ย่านพระราม 3 ได้รับการต้อนรับจากนักออกแบบจากบริษัท Integrated Field หรือ IF ที่ประกอบไปด้วย co-founder อย่าง กวง–วรวุฒิ เอื้ออารีมิตร, นิน–คณิน มัณฑนะชาติ, เฟย–ก่อเกียรติ กิตติโสภณพงศ์ และ แคร์–นานา ตรรกวาทการ ทั้ง 4 คนคือตัวแทนทีมนักออกแบบที่อยู่เบื้องหลังงานอินทีเรียร์ทั้งหมดของอาคารโรงพยาบาลที่ว่า

แนะนำกันแบบรวบรัด IF เป็นบริษัทให้บริการด้านการออกแบบที่มีพาร์ตเนอร์มากถึง 13 คน ซึ่งทุกคนมีแบ็กกราวนด์เป็นนักเรียนสถาปัตย์มาก่อน เรื่องน่าสนใจคือแต่ละคนต่างมีความถนัดของตัวเอง ส่วนผสมที่แตกต่างหลากหลายนี้ทำให้ IF น่าจับตาตรงที่พวกเขาสามารถทำงานออกแบบได้หลากหลายทั้งในแง่สเกลและความซับซ้อนของงานสถาปัตย์

เฟย, นิน, กวง และแคร์

สำหรับ IF แล้ว EKH Children Hospital คือโปรเจกต์โรงพยาบาลโปรเจกต์แรกที่พวกเขามีโอกาสได้ออกแบบ จินตนาการเล่นๆ ว่าแค่โรงพยาบาลก็น่าจะซับซ้อนหนักพอแล้ว ยิ่งเป็นโรงพยาบาลสำหรับเด็กด้วย คงไม่ต้องเดาแล้วล่ะว่าทีมนักออกแบบอย่างพวกเขาต้องทำการบ้านกันหนักขนาดไหน ที่แน่ๆ เราเชื่อว่าสิ่งที่พวกเขาได้เรียนรู้จากการทำงานกับอาคารใหญ่แห่งนี้คงจะสมน้ำสมเนื้อพอตัวทีเดียว

ก่อนที่บทสนทนาจะเริ่มขึ้น กวงเอ่ยปากบอกเราว่า “ดีใจที่มันพิสูจน์ว่าพวกเราทำได้” เบื้องหลังการออกแบบโรงพยาบาลเด็กครั้งแรกของ IF เต็มไปด้วยเรื่องสนุกแบบไหน (ขออนุญาตผายมือ) ที่นั่งข้างๆ เรายังว่าง พวกเขาพร้อมเล่าให้ทุกคนฟังแล้ว

 

โจทย์ที่ว่าด้วยโรงพยาบาลที่ไม่รู้สึกว่าเป็นโรงพยาบาล

หมุดหมายการออกแบบอินทีเรียร์ที่เจ้าของโรงพยาบาลปักไว้ในใจคือ หนึ่ง–อยากให้เด็กที่เข้ารับการรักษารู้สึกว่าตัวเองไม่ได้มาโรงพยาบาล และสอง–อยากให้ภาพโรงพยาบาลเป็นที่จดจำได้ สิ่งที่เกิดขึ้นคือทีมผู้บริหาร EKH จึงเปิดกว้างในการมองหาดีไซเนอร์ที่ถึงแม้จะไม่เคยทำโรงพยาบาลมาเลยสักครั้งมาออกแบบพื้นที่ทำงานให้ โดยเงื่อนไขสำคัญคือต้องเป็นทีมที่ต้องรับมือกับความยุบยับซับซ้อนของพื้นที่โรงพยาบาลได้

และ IF คือออฟฟิศสถาปัตย์ที่พวกเขาเชื่อว่าเอาอยู่

“ในวงการสถาปัตย์เรารู้กันอยู่แล้วว่าโรงพยาบาลคือรูปแบบอาคารยืนหนึ่งในเรื่องความซับซ้อนสุดๆ ตั้งแต่พื้นที่ใช้งานที่ค่อนข้างหลากหลาย เพราะในพื้นที่โรงพยาบาลมีส่วนของออฟฟิศ ห้องพักผู้ป่วย พื้นที่สาธารณะ พื้นที่รีเทล และอื่นๆ รวมอยู่ด้วยกัน และส่วนฟังก์ชั่นของโรงพยาบาลเองก็มีกฎเกณฑ์มาตรฐานมากมายที่ยากจะปรับเปลี่ยน เช่น ห้องตรวจต้องมี corridor แพทย์อยู่ด้านหลัง การวางโฟลว์ของห้องผ่าตัดและโฟลว์อื่นๆ” กวงเล่าความรู้สึกแรกหลังจากรับบรีฟ

“ปกติเวลาออกแบบงานสถาปัตย์ทั่วไปจะมีงานระบบพื้นฐานต่างๆ เช่น ไฟฟ้า ประปา แต่พอเป็นโรงพยาบาลเราจะได้เจอระบบอย่างอื่นที่ไม่เคยเจอและถ้าเราไม่ได้ทำเราก็จะไม่มีทางรู้เลยว่าต้องคิดถึงสิ่งนี้ด้วย เช่น ระบบท่อแก๊สทางการแพทย์และระบบอื่นๆ สำหรับเราการที่มีท่ออีกเส้นหนึ่งเพิ่มเข้ามาในทุกๆ ส่วนก็ถือเป็นเรื่องใหญ่แล้ว” นินเสริม

“จริงๆ ตอนเรียนปี 4 ก็มีสอน แต่ในขั้นตอนการทำงานจริงซับซ้อนกว่านั้นมาก บวกกับเทรนด์ของโรงพยาบาลในปัจจุบันก็ต่างจากตอนที่เราเคยเรียนเยอะมาก พูดง่ายๆ คือเมื่อก่อนโรงพยาบาลเป็นสถานที่ที่ดีไซน์เพื่อจัดการกับโรคภัย พอเอาคำว่าการรักษาเป็นธงหลักในการออกแบบ ทุกอย่างเลยต้องเป็นไปตามขั้นตอน 1 2 3 4 ห้องพักต้องเป็นแบบนี้ แสงสว่างต้องจ้ามากเพื่อที่หมอจะได้เห็น ซึ่งเทรนด์ในปัจจุบันโรงพยาบาลมีความเป็น human centric มากขึ้น ไม่ใช่การรักษาอาการเจ็บไข้เพียงอย่างเดียวแล้ว แต่เป็นการรักษาที่คำนึงถึงความรู้สึกของผู้ป่วยด้วย” กวงเปิดประเด็นเรื่องเทรนด์การออกแบบที่กำลังจะเปลี่ยนไปไว้น่าสนใจมากทีเดียว

ยิ่งเด็กๆ กับสถานที่อย่างโรงพยาบาล (แค่ลองนึกถึงประสบการณ์ไปโรงพยาบาลครั้งแรกตอนเด็ก มั่นใจว่าแถวนี้ต้องมีคนเคยเสียน้ำตากันบ้างแหละ) ความสัมพันธ์ที่ดูเหมือนจะลงรอยบ้างไม่ลงรอยบ้างนี้ คงเดาได้ไม่ยากว่าการออกแบบโรงพยาบาลที่ไม่ทำให้เด็กรู้สึกกลัว IF ต้องงัดวิทยายุทธมาใช้เยอะแน่ๆ

ตั้งต้นจากข้อมูลรีเสิร์ช

ไม่ว่าจะเป็นงานออกแบบสเกลเล็กอย่างบ้าน หรือสเกลใหญ่แบบตึกออฟฟิศ IF ตั้งต้นจากการรีเสิร์ช ทำความเข้าใจกับ requirement ของพื้นที่ด้วยเครื่องมือต่างๆ เสมอ หนึ่งในนั้นคือการคุยกับคนใช้งาน รวมทั้งมองย้อนไปยังปัญหาเดิมและวิธีแก้ไข หากวิธีที่ถูกใช้มาไม่เวิร์กในความเป็นจริง พวกเขาก็กล้าที่จะเสนอสิ่งใหม่ๆ

“เราพยายามหาแค็ตตาล็อกว่าอะไรเป็นสิ่งที่คนไม่ชอบในโรงพยาบาลบ้าง เช่น ที่พักคอยในโรงพยาบาล โดยเฉพาะกับโรงพยาบาลรัฐ สิ่งนี้จะเป็น pain point มาก ส่วนเอกชนก็พยายามทำให้ที่พักคอยเป็นโซฟาให้นั่งสบายมากขึ้น แต่สุดท้ายก็ไม่ได้แก้ปัญหาความน่าเบื่อจริงๆ ของมันสักเท่าไหร่

“corridor หรือโถงทางเดินในหอพักผู้ป่วยก็เป็นอย่างหนึ่งที่ผมในตอนเด็กๆ เคยกลัว มันดูมีผีมาก ความสว่างตลอดทางเท่ากันหมด ไม่มีแสงและเงา ประตูทุกบานเหมือนกันไปหมดซึ่งทำให้ทางดูยาวมาก ผมไม่อยากให้เด็กสมัยนี้เจอแบบนั้น ในความเป็นจริงมันเป็นสิ่งที่ไม่ได้ตอบฟังก์ชั่นอะไร เป็นแค่แนวทางในการออกแบบในยุคที่ไม่ได้คิดถึงผู้ใช้งานเป็นหลัก แต่พอเราสลับให้ประตูของแต่ละห้องมีสีต่างกันแล้วมันเกิดประตูหลายๆ สีในทางเดินเดียวกัน แค่นี้มันก็ทำให้ corridor ดูน่ากลัวน้อยลงเยอะ ซึ่งสิ่งนี้เป็นความตั้งใจแรกๆ เลยที่เกิดขึ้นหลังจากที่เรารู้ว่าเราออกแบบอาคารนี้เพื่ออะไร” กวงเล่า

เลเวลของการตามใจเจ้าของพื้นที่คือสิ่งที่ต่างอย่างชัดเจนระหว่างการออกแบบบ้านและพื้นที่กึ่งสาธารณะ เมื่อพูดถึงการออกแบบที่คิดถึงคนแล้วใจเราอดเปรียบเทียบความยาก-ง่ายของสองอย่างนี้ไม่ได้ ที่แน่ๆ คนตรงหน้ายืนยันอย่างมั่นใจว่าบางครั้งการทำบ้านหนึ่งหลังท้าทายยิ่งกว่าการทำตึกโรงพยาบาลทั้งตึกเสียอีก

“ทุกโปรเจกต์มีความท้าทายไม่เท่ากันอยู่แล้ว กับโรงพยาบาลจะมีจุดคุ้มทุนที่ต้องคิดถึง มีมาตรฐานบางอย่างที่เป็นเหตุและผลที่ทุกคนเข้าใจและเห็นพ้องต้องกัน ซึ่งช่วยให้การออกแบบง่ายขึ้นเหมือนกัน ไม่ใช่ว่าต้องตามใจเจ้าของหมด เพราะเขาเองก็ต้องฟังทีมบุคลากรด้วยว่าเขาทำงานยังไง ดีไซเนอร์ต้องฟังช่างที่ทำงานให้เขาด้วย หน้าที่เราคือต้องคุยกันเพื่อบุคคลที่สามซึ่งเป็นเด็กๆ ที่เข้ามาที่นี่ มันอาจดูซับซ้อนในเชิงหนึ่ง แต่ก็เป็นความซับซ้อนที่สนุก” กวงอธิบาย

การออกแบบอินทีเรียร์ที่ลงลึกถึงแบบสถาปัตย์

เท่าที่คนนอกอย่างเราเข้าใจ งานอินทีเรียร์ถือเป็นงานตกแต่งที่ต้องอยู่ภายใต้กรอบของงานสถาปัตย์ พูดง่ายๆ คือโครงสร้างและภาพรวมทั้งหมดที่สถาปนิกคิดไว้เป็นสิ่งที่เชปไอเดียของอินทีเรียร์ดีไซเนอร์อีกที แต่โปรเจกต์นี้ทำให้เราได้รู้ว่าในการทำงานจริง ลูปของงานก่อสร้างไม่จำเป็นต้องเดินเป็นทางตรงแบบนั้นเสมอไป

“เจ้าของชัดเจนมาแต่แรกว่าอยากให้งานอินทีเรียร์มันตอบกับไอเดียที่ไม่อยากให้ดูเป็นโรงพยาบาล เราเลยต้องเริ่มทำหน้าที่ตั้งแต่ตอนที่งานสถาปัตย์ยังไม่ได้เริ่มสร้าง ซึ่งเมื่อเริ่มทำการออกแบบไปแล้วมันมีผลกระทบกับเนื้องานสถาปัตย์ SCSB (บริษัทที่รับหน้าที่ออกแบบสถาปัตย์) ก็พร้อมที่จะปรับแบบ 30-40 เปอร์เซ็นต์ซึ่งถือว่าเป็นดีกรีที่เยอะมาก พอเราได้คุยกันตั้งแต่แรกก็มีข้อดีในแง่ที่ว่า ถ้าเราอยากจะเปลี่ยนแปลงอะไร เราก็สามารถเปลี่ยนแปลงมันได้ในดีกรีที่เยอะกว่าการที่เราเข้ามาในตอนที่ก่อสร้างไปแล้ว เพราะถ้าเป็นแบบนั้นเราจะขอเปลี่ยนโครงสร้างอะไรไม่ได้เลย” กวงเล่า

“มีอะไรที่ทีม IF ขอปรับแล้วมันดูต่างจากดราฟต์แรกมากๆ ไหม” เราถาม

“ยกตัวอย่างผนังจากแบบแรกที่ได้มา” กวงเปิดแบบแปลนที่สถาปนิกออกแบบไว้ให้เราดู แต่ละพื้นที่ถูกกั้นด้วยผนังตรงๆ มีเหลี่ยมมุม

“เราเสนอการปรับแนวผนังที่ไม่จำเป็นต้องเป็นผนังตรง โดยสิ่งที่เราทำคือเอากระดาษแผ่นนี้วางแล้วขีดเส้นด้วยมือ คือเราพยายามลดความเพอร์เฟกต์ของรูปทรงเรขาคณิตในงาน อยากให้ผนังมีความเป็นโค้งที่ดูไม่สม่ำเสมอ แต่ว่าก็ต้องดูเป็นความโค้งที่ต่อเนื่องและสวยงาม ซึ่งในการก่อสร้างจริงเราก็ต้องไปส่องกล้อง พล็อตจุดไปตามพื้น ไปเช็กว่าโค้งมันได้หรือยัง ของจริงแคบไปก็ขอปรับกับผู้รับเหมา”

ถึงการก่อสร้างโปรเจกต์นี้อาจดูยุ่งยากกว่าปกติ ทว่าผู้รับเหมาอย่างบริษัท อดิศรรังสรรค์ ก็เปิดใจให้กับความละเอียดของทีม IF แถม EKH ก็เป็นโปรเจกต์แรกที่ผู้รับเหมาเจ้านี้ได้ก่อสร้างตึกโรงพยาบาล

“เหตุผลที่เราดีไซน์ EKH ออกมาเป็นลักษณะนี้ได้มันเป็นเพราะว่าเราดีไซน์จากจุดที่เราไม่รู้ข้อจำกัดมากนักในตอนแรก ถ้าเกิดว่าเรามีประสบการณ์ออกแบบโรงพยาบาลมามาก เราอาจรู้สูตรสำเร็จว่าต้องทำยังไง และเราจะไม่สามารถดีไซน์ลักษณะที่ฉีกทุกกฎพวกนี้ได้ แล้วภาพสุดท้ายที่ออกมา พูดได้ว่ามันเกิดจากการที่เราไล่แก้ปัญหาจนหัวหมุน (หัวเราะ) จากมุมมองของคนที่ไม่เคยออกแบบโรงพยาบาล” นินสรุป

ร่างแบบโดยดีไซเนอร์ที่คิดแบบเด็ก

“เรามีคีย์หลักๆ อยู่สองเรื่อง หนึ่งคือเราไม่ได้นึกว่าการทำโปรเจกต์นี้เป็นการพยายามคิดเพื่อเด็ก เช่น คิดว่าตรงนี้นุ่ม ตรงนี้สีสวยสีสด ตรงนี้ของเล่นเยอะ จริงๆ เรารู้สึกว่าเราควรคิดเป็นเด็กด้วย เหมือนคิดไปในเชิงว่าถ้าเราเป็นเด็กแล้วเราดีไซน์ตรงนี้ เรื่องของสเกล ระดับสายตา หรือผิวสัมผัสมันควรจะเป็นยังไง อย่างผนังโค้งก็เกิดจากไอเดียที่ว่าถ้าเราเป็นเด็กเราจะอยากขีดเส้นแบบไหนออกมา ทีนี้มันก็ลีดเราไปสู่คีย์ที่สองคือ ‘children dimension’ สิ่งที่เราออกแบบหรือเลือกใช้มันต้องเป็นไปในมิติที่สัมพันธ์กับประสบการณ์ของเด็กด้วย” กวงเล่า

“คำว่าไดเมนชั่นไม่ได้หมายถึงระยะหรือลักษณะทางกายภาพเพียงอย่างเดียว แต่หมายถึงมิติการรับรู้ คือเราต้องเข้าใจว่าโลกที่เราอยู่กับโลกที่เด็กอยู่เป็นโลกเดียวกันก็จริง แต่การรับรู้สิ่งต่างๆ ไม่เหมือนกัน อย่างเรื่องของสี สีพาสเทลที่เราใช้ในการออกแบบประกอบไปด้วย 4 สี ฟ้า ชมพู เหลือง เขียว ซึ่งมันเกิดจากการที่เรารวมแม่สีของสี (แดง เหลือง น้ำเงิน) และแม่สีของแสง (เขียว แดง เหลือง) เข้าด้วยกัน

“อย่างสีส้มหรือสีน้ำตาลในมิติของผู้ใหญ่เราจะแยกออกว่าเป็นสีส้มกับสีน้ำตาลต่างกัน แต่ในการรับรู้ของเด็กเขาจะแยกสีที่ใกล้เคียงกันไม่ออก เพราะงั้นถ้าเราใช้สีที่เด็กสามารถรับรู้และแยกแยะได้ เขาก็จะสามารถจดจำสเปซต่างๆ ที่เราใช้สีมาช่วย define ได้ เช่น ห้องพักสีนี้ คลินิกสีนี้ สระว่ายน้ำสีฟ้า เป็นต้น” นินเล่าแบบย่นย่อให้เราเข้าใจ

เด็กและสัตว์เป็นของคู่กัน ทีมผู้บริหารโรงพยาบาลเด็กรีเควสมาตั้งแต่แรกว่าขอให้มีวิชวลสัตว์น่ารักๆ อยู่ในโรงพยาบาล แน่นอนว่าไม่มีเหตุผลอะไรเลยที่ IF จะไม่หยิบองค์ประกอบนี้มาใช้ร่วมกับการตกแต่ง โดยทั้งหมดต้องวางแล้วดูพอดี ไม่สะเปะสะปะ และโชคดีที่ออฟฟิศของพวกเขาได้ดูแลการใช้กราฟิกประกอบอาคารที่หมายรวมถึงป้ายบอกรายละเอียดทั้งหมดด้วย งานนี้ได้เปรียบอีกตรงที่สามารถควบคุมไดเรกชั่นของกราฟิกให้ไปทางเดียวกับอินทีเรียร์ได้

พวกเขาตั้งใจว่าอยากใช้กราฟิกและภาพลายเส้นหลากหลายรูปแบบเพื่อเปิดจินตนาการให้เด็ก ซึ่งคนที่ดูแลกราฟิกทั้งหมดของโปรเจกต์นี้คือกราฟิกดีไซเนอร์ หนึ่งในผู้ก่อตั้ง IF อย่างเฟย

“พอเราทำงานกราฟิกด้วยเราเลยลงลึกกับมันได้เยอะ เราคุยกันตั้งแต่อาร์ตเวิร์กสัตว์ทั้งหลายต้องเป็นยังไงเพื่อให้ลิงก์กันไปทั้งงาน เช่น เด็กเห็นกระต่ายตัวนี้ตรงผนังก่อน แล้วถ้ากระต่ายมันมาปรากฏตัวบนเพดาน เขาอาจจะเริ่มจินตนาการและร้อยเรียงว่า อ่อ มันเป็นเรื่องเดียวกันนะ หรือแม้กระทั่งนิทานที่เราซ่อนลงไปตามผนัง เราคิดว่ามันจะช่วยเบี่ยงเบนความสนใจของเด็กที่อาจจะกำลังร้องไห้อยู่ เหมือนพยายามทำให้เกิดโลกที่เขาคอมฟอร์ตกับมันได้ children dimension มันคือมิตินั้น” กวงอธิบาย

ไฟ downlight บนเพดานห้องพักที่เรียงตัวคล้ายกลุ่มดาวรูปสัตว์เป็นอีกดีเทลที่ IF ชนะใจเด็กๆ พวกเขาเวิร์กกับ Accent Studio (lighting designer) ทำขึ้นเป็นพิเศษเพื่อให้ตอบโจทย์การใช้งานทางการแพทย์ ส่วนเวลากลางคืนก็สามารถปรับให้สลัวมากจนดูเหมือนสติ๊กเกอร์เรืองแสง นินมองว่าการนอนของเด็กไม่เหมือนกับผู้ใหญ่แบบเราที่ชอบนอนในห้องที่มืดสนิท แต่กับเด็กจะนอนแบบช้าๆ นอนแบบค่อยๆ จินตนาการเกี่ยวกับสิ่งที่เห็น ไฟกลุ่มดาวเหล่านั้นถูกคิดเพื่อพฤติกรรมนี้ ซึ่งนอกจากสัตว์บนผนังและเพดานด้านในตึกแล้ว การเจาะหรือทำให้ปรุเพื่อตกแต่งฟาซาดด้านนอกตึกพวกเขาก็ใส่ความตั้งใจน่ารักๆ นี้เข้าไปด้วย

“เรามีกระต่ายที่เป็นภาพวาดการ์ตูน กระต่ายที่เป็นกลุ่มดาว และกระต่ายที่เกิดจากการเจาะรูเป็นแพตเทิร์นบนฟาซาด ความแตกต่างของกระต่ายเหล่านี้น่าจะช่วยให้เกิดมิติในจินตนาการของเขา เหมือนมาโรงพยาบาลแล้วได้รักษาโรคไปด้วย ฝึกสมองไปด้วย” นินอธิบาย

บาลานซ์การใช้งานทั้งกับเด็กและผู้ใหญ่

ถึงจะขึ้นชื่อว่าเป็นโรงพยาบาลสำหรับเด็กก็จริง แต่การออกแบบจะคิดเพื่อเด็กแบบสุดทางเหมือนกับโรงเรียนหรือสนามเด็กเล่นก็ไม่ได้ เพราะยังมีผู้ใช้งานอีกกลุ่มที่นักออกแบบจะต้องคำนึงถึงให้มาก นั่นคือบุคลากรทางการแพทย์อย่างหมอ พยาบาล รวมทั้งเจ้าหน้าที่ฝ่ายต่างๆ

“เราเรียนรู้จากผู้ออกแบบสถาปัตย์และเรียนรู้จากโรงพยาบาลเยอะมากๆ ว่าอะไรเป็นไปได้หรือเป็นไปไม่ได้ มิติของการใช้งานของที่นี่เป็นยังไง ซึ่งสุดท้ายก็ได้คำตอบว่าโรงพยาบาลไม่ใช่สนามเด็กเล่น เราไม่ได้ทำเพื่อเด็กอย่างเดียว ต้องทำเพื่อบุคลากรทางการแพทย์ที่เขาต้องใช้งานพื้นที่ทุกวันด้วย

“เรื่องที่ชาเลนจ์จริงๆ สำหรับพวกเราจะเป็นเรื่องการจัดการโฟลว์ เพราะในการทำงานของหมอและพยาบาลค่อนข้างจะมีโฟลว์ที่ชัดเจน การเดินจากจุดหนึ่งไปถึงอีกจุดหนึ่งต้องเร็วที่สุด พอเป็นแบบนี้การดีไซน์ทางเดินในโรงพยาบาลจึงต้องออกแบบให้ตรงๆ ยาวๆ กว้างๆ พอเราไปทำให้แปลนนิ่งมันโค้ง เซนส์การเดินก็จะเปลี่ยนไป หรือเรื่องของการวางองค์ประกอบต่างๆ ที่สุดท้ายมันอาจจะกลายเป็นสิ่งกีดขวาง เช่น เราทำเคาน์เตอร์เป็นตัว L แต่พยาบาลบอกว่าเขาต้องเดินออกฝั่งนั้นได้ด้วย สมมติมีเด็กล้มใกล้ๆ ตรงนั้นเขาควรจะเดินไปให้ถึงภายใน 3 วินาที เราต้องปรับทุกอย่างเพื่อให้โฟลว์มันได้ ซึ่งผมมองว่ามันเป็นเรื่องดีเพราะมันมาจากประสบการณ์ตรงของผู้ใช้ เหมือนดีไซน์ไปกับผู้ใช้งานจริงตลอดเวลา

“ถ้าเราออกแบบสวนสนุกเราคงคิดแค่ว่าจะทำยังไงให้เด็กสนุกที่สุด แต่พอเป็นโรงพยาบาลที่ต้องมีพื้นที่ของสนามเด็กเล่นด้วย แปลว่าเด็กสนุกได้แต่ว่าผู้ใหญ่ต้องมองเห็นตลอดนะ เพราะถ้าเกิดเด็กคนหนึ่งหลบอยู่ใต้สไลเดอร์ ถ้าเกิดเขาเป็นอะไรไป หรือเราหาเด็กไม่เจอ มันเป็นความเสี่ยงที่ไม่ควรเกิดอยู่แล้ว ดังนั้นเรื่องการดีไซน์แปลนนิ่งทุกจุดต้องไม่เป็นจุดอับสายตา จุดที่สนุกอย่างสไลเดอร์อย่างน้อยคนก็ต้องมองเห็นเด็กได้จากหลายทิศทาง” กวงเล่า

เมื่อพูดถึงสิ่งที่ไม่ว่าใครเห็นก็ใจเต้นแรงอย่างสไลเดอร์ที่คนเล่นสามารถสไลด์จากชั้นสองลงมาชั้นหนึ่ง กวงบอกเราว่ามันเป็นสิ่งที่ผู้บริหารโรงพยาบาลขอมาตั้งแต่บรีฟแรกๆ คำถามแรกที่ IF ตั้งไว้ให้กับตัวเองคือ ควรจะออกแบบยังไงให้ถูกต้องตามกฎหมายของกองวิศวกรรม ในท้ายที่สุดพวกเขาจึงเลือกไว้ใจ K2J ผู้ออกแบบสไลเดอร์มืออาชีพให้เข้ามาช่วยดูแล เพราะเรื่องแบบนี้ความปลอดภัยต้องมาก่อนเสมอ

วกกลับไปที่พักคอยที่เป็น pain point คลาสสิกของโรงพยาบาล ยิ่งกับโรงพยาบาลเด็กพื้นที่ตรงนี้มักถูกเพิ่มเติมด้วยพื้นที่เล่นสำหรับเด็กๆ ซึ่งพื้นที่นั่งคอยแบบเรียงแถวยาวๆ หรือซ้อนกันหลายชั้นไม่ได้ถูกคิดมาเพื่อตอบโจทย์พ่อแม่ที่ไม่อยากจะละสายตาจากลูกตัวเองสักเท่าไหร่

“ปกติที่นั่งพักเราจะนั่งเป็นแถวๆ รอจ่ายเงินแล้วก็รับยา โปรเจกต์นี้เราทำที่พักคอยให้เป็นเหมือนสนามเด็กเล่นในตัว คือทำโซฟาที่ให้คนได้นั่งล้อมวง ผู้ใหญ่ก็นั่งรอบๆ พื้นที่ตรงกลางก็มีเบาะเล็กๆ ที่เป็นโมดูลกัน สามารถต่อเป็นปราสาท ต่อเป็นนู่นนั่นนี่ เด็กก็ไปนั่งเล่นตรงนั้นได้

“พอเราทำอันนี้ปุ๊บ เวลาไปที่โรงพยาบาลตอนเช้าเราจะเห็นเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลจัดวางมันไว้แบบหนึ่ง หรือพยาบาลบางคนเขาก็สนุกที่ได้เอาเบาะส่วนนั้นส่วนนี้มาต่อแล้วถ่ายรูป ไปอีกครั้งตอนเย็นเราก็จะเห็นว่ามันเละๆ แล้วเพราะเด็กๆ มาเล่น การที่ทุกส่วนของอาคารสามารถเป็นเครื่องมือให้เด็กเรียนรู้ได้มันทำให้ผมรู้สึกว่าการออกแบบโรงพยาบาลเป็นอะไรที่สนุกมาก” กวงสรุปพร้อมรอยยิ้ม

 

โปรเจกต์ที่ให้ดีไซเนอร์เรียนรู้จากข้อผิดพลาด

โปรเจกต์สถาปัตย์ที่ออกแบบโดยมนุษย์ เราเชื่อว่าร้อยทั้งร้อยต้องมีข้อผิดพลาดทั้งระหว่างทางและหลังงานเสร็จซ่อนอยู่ แต่ก็ด้วยความเป็นมนุษย์แบบเดียวกันด้วยที่ทำให้เราเลือกที่จะโอบรับมัน จัดการแก้ไขและทำให้ดีขึ้น ไม่ว่าจะในงานเดิมหรืองานในอนาคต

พวกเขาเจอข้อผิดพลาดตรงซอกมุมไหนและได้เรียนรู้อะไรจากมันบ้าง เราโยนคำถามไปยังคนตรงหน้า

“เรื่องแรกที่เจอเลยคือเรื่องไฟ เราใช้หลักการออกแบบ human centric แบบอินทีเรียร์เลย แต่หลักในการออกแบบไฟในโรงพยาบาลจริงๆ ต้องเน้นความสว่างไว้ก่อน ซึ่งหนึ่งใน pain point ที่ผมอ่านเจอคือคนไข้ที่นอนอยู่บนเตียง เวลาที่เขาถูกเข็นผ่าน corridor สายตาเขาก็จะเจอแต่ไฟ เหมือนโดนไฟฉายส่องหน้าไปเรื่อยๆ ทีนี้ตรง corridor เราเลยพยายามไม่ให้มี direct light คือมีแต่ cove light หรือไฟหลืบที่ไม่ได้ให้แสงโดยตรงซึ่งความสว่างของ cove light ที่เราใช้มันต้องพอ แต่ในความเป็นจริงมันไม่พอ (หัวเราะ) วันที่เราไปเทสต์ไฟกัน สำหรับเราไม่ได้รู้สึกว่ามันมืดนะ แต่ทางโรงพยาบาลก็ยืนยันว่ามันใช้ไม่ได้เลย

“สุดท้ายก็ต้องคุยกับ lighting designer ใหม่ เราเพิ่มไฟ cove light อัดจนมันสว่างพอ แล้วก็ปรับสีของ corridor ให้สว่างขึ้นเพื่อให้มันรับกับตรงนี้ คือมันเป็นเรื่องที่ทำให้เรารู้สึกว่าตอนเราคำนวณในกระดาษ ถึงเราจะรู้สึกว่าคิดมาเป๊ะแล้วแต่ตอนที่มันออกมาจริงๆ อาจจะไม่ได้เป็นแบบนั้น แต่พอแก้ปัญหานี้ได้ ผมว่ามันช่วยคนไข้ได้เยอะเลย แถม corridor ก็ดูสวยขึ้นด้วย”

ฟังกวงเล่าและจินตนาการถึงหลอดไฟสว่างๆ บนเพดานโรงพยาบาลไปแล้ว บทเรียนที่สองเจ้าตัวขอหยิบเรื่องระดับสายตาที่เป็นเรื่องซีเรียสสำหรับทุกๆ โรงพยาบาลมาเล่าบ้าง

“เราทำอินทีเรียร์ให้โรงแรมและร้านอาหารมาเยอะประมาณหนึ่ง ซึ่งเลเวลของการทำความสะอาดของทั้งสองที่มันไม่ฮาร์ดคอร์เท่ากับโรงพยาบาล โรงพยาบาลเนี่ยต้องสะอาดมากๆ มีโปรโตคอล มีเช็กลิสต์เลยว่าคุณต้องทำอะไรบ้าง 1 2 3 4 ซึ่งบางทีพวกเฟอร์นิเจอร์ที่เราคิดว่าวางแล้วเซฟ เช่น ใช้หนังเทียมแทนวัสดุผ้า พอมันผ่านการใช้งาน ผ่านการทำความสะอาดมาสักระยะ สุดท้ายมันจะมีร่องรอยชำรุดจากการใช้งาน

“หรือบางทีล้างห้องน้ำ โรงพยาบาลอยากให้ระดับของห้องน้ำกับห้องพักผู้ป่วยมันเท่ากันเพื่อให้เข็นคนไข้เข้าไปได้และไม่เพิ่มความเสี่ยงเรื่องผู้ป่วยล้ม แต่พอห้องน้ำไม่มีสเตปปุ๊บ สิ่งที่เกิดขึ้นเวลาล้างห้องน้ำคือมีน้ำกระเด็นออกมา ซึ่งมันเป็นเรื่องที่เราต้องปรับแก้ในโปรเจกต์ต่อๆ มา” กวงเล่า

“ผมเรียนรู้ว่าแค่การทำความสะอาดอย่างเดียวมันมีมิติที่ซับซ้อนของตัวเองอยู่นะ ก่อนที่เราจะเลือกออกแบบหรือเลือกใช้อะไร เราต้องดูก่อนว่าเขาทำความสะอาดที่ตรงนั้นยังไงด้วย” กวงสรุปบทเรียน

อนาคตโรงพยาบาลที่ทุกคนควรจะได้เห็น

“พูดได้ไหมว่า EKH เป็นโรงพยาบาลที่ดีในแบบ 100 เปอร์เซ็นต์ที่ IF อยากเห็น” เราถาม กวงตอบกลับทันทีว่า

“โห ผมว่าคงไม่ได้ (หัวเราะ) ผมว่าทุกโปรเจกต์เราเคลมไม่ได้ว่ามันเป็น 100 เปอร์เซ็นต์ที่เราอยากเห็น การทำงานของอาชีพเรามันเหมือนการเรียนรู้ อย่างก่อนทำโปรเจกต์เรามีเลเวลของประสบการณ์เท่าหนึ่ง พอผ่านโปรเจกต์ไปเราก็เหมือนอ่านหนังสือเล่มหนึ่งจบ ผมว่าด้วยวัยของพวกเราหรือว่าโลกสมัยนี้มันเป็นไปไม่ได้เลยที่เราอ่านหนังสือเล่มหนึ่งจบแล้วเราจะรู้สึกว่าบรรลุแล้ว แถมมีแต่จะทำให้รู้สึกว่ามันมีอีกหลายเรื่องมากที่เราสามารถศึกษาและเรียนรู้ต่อ มันไปทางนั้นมากกว่า”

ทั้งในและต่างประเทศตอนนี้มีโรงพยาบาลที่ถูกดีไซน์แบบ human centric แบบเดียวกับ EKH น้อยอยู่ อาจด้วยขนาดของตึกที่ใหญ่ คนเกี่ยวข้องเยอะ แถมรูปแบบการใช้งานก็ซับซ้อนสุดๆ จะเปลี่ยนแปลงทีก็คงต้องอาศัยปัจจัยอย่างเวลาค่อนข้างเยอะ

“ในวงการออกแบบโรงพยาบาลเป็น building type ที่ถูกคิดในมิตินี้มีน้อย หากเทียบกับมิวเซียม ตึกออฟฟิศ หรือห้าง ตึกเหล่านี้ไปไกลกันมากแล้ว แต่ ณ ตอนนี้กับตอนที่ผมเด็กๆ โรงพยาบาลก็ไม่ได้มีมิติที่แตกต่างกันมาก เต็มที่ตอนนี้คือออกแบบให้เหมือนโรงแรม ซึ่งผมว่ามันไม่ใช่ โรงพยาบาลควรจะมีวิธีคิดที่เหมาะกับผู้ใช้ในยุคสมัยนี้ แต่ผมเชื่อว่าในอีก 10-20 ปีข้างหน้า healthcare architecture จะมีอะไรเปลี่ยนแปลงอีกเยอะมาก

“ในมุมหนึ่งโปรเจกต์ EKH ทำให้เราสนใจเรื่องของ healthy space (พื้นที่สุขภาวะ) มากขึ้น จริงๆ แล้วความเฮลตี้มันเกิดขึ้นได้กับทุกๆ งานสถาปัตย์ ตั้งแต่บ้านหลังเล็กหลังใหญ่ ไปจนถึงห้างและโรงพยาบาล เราเลยเริ่มรีเสิร์ชเปเปอร์เรื่องพื้นที่สุขภาวะ ได้เห็นว่าคนในยุค 200 ปีที่แล้วเขาคิดกับพื้นที่สุขภาวะยังไง ความเฮลตี้ในแต่ละยุคสมัยถูกมองต่างกันยังไงบ้าง แล้วในอนาคตล่ะมันจะเป็นยังไง”

เพื่อนในวงการสถาปัตย์คนหนึ่งบอกเราว่า IF เป็นออฟฟิศที่เก่งเรื่องการรีเสิร์ชมากๆ หลังจากได้อ่านบทความเกี่ยวกับพื้นที่สุขภาวะที่พวกเขาเขียนขึ้นมา (ตามไปอ่านกันได้ที่นี่) ตอนนี้เราเชื่อแล้วว่าถ้าพวกเขาสนใจเรื่องอะไร พวกเขาจะ ‘ไปสุด’ ในเรื่องนั้นจริงๆ เป็นคุณสมบัติที่เราเองยังแอบอิจฉา

ขยับมาเรื่องใกล้ตัวอีกนิด การที่คนไทยอย่างเราจะได้เห็นโรงพยาบาลที่ถูกดีไซน์แบบ EKH มากขึ้นได้นั้น จำเป็นต้องอาศัยปัจจัยสำคัญอะไรบ้าง กวงเฉลยว่า

“ผมว่าเรื่องแรกต้องเป็น willing ของผู้ประกอบการ เจ้าของโรงพยาบาลบางคนอยากทำโรงพยาบาลที่ให้ผลประกอบการเยอะๆ บางคนอาจจะอยากทำโรงพยาบาลที่ให้ประสบการณ์ต่างจากโรงพยาบาลอื่นๆ เรื่องเทคโนโลยีทางการแพทย์ก็มีผล หาก telemedicine ถูกใช้อย่างแพร่หลายเมื่อไหร่ โรงพยาบาลใหญ่ๆ อาจจะไม่จำเป็นอีกต่อไปก็ได้ หรือแม้กระทั่งการกระจายบริการทางการแพทย์ไปที่ต่างๆ ด้วยตู้คอนเทนเนอร์ก็อาจจะทำได้ เผลอๆ มันอาจทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในระดับโลกได้ด้วยซ้ำ

“อย่างพักหลังๆ ประเทศเราพยายามวางตัวเองเป็น medical hub แต่ผมว่ามันไม่ควรพูดกันลอยๆ ต้องอธิบายด้วยว่าอยากจะเป็น medical hub แบบไหน ตอนนี้ผู้ประกอบการโรงพยาบาลในไทยที่มีวิชั่นน่าสนใจมีเยอะมาก ถ้าทุกอย่างมันประกอบเข้ากันอย่างนี้ โรงพยาบาลในบ้านเราน่าจะเดินไปจากจุดนี้ได้อีกไกล”

ภาพ Integrated Field

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ดวงสุดา กิตติวัฒนานนท์

ช่างภาพนิตยสาร a day ผู้ชอบกินอาหารที่ถ่าย