ฟังบิว Hypothesis เล่าเบื้องหลัง งานสภาสถาปนิก’19 งานใหญ่ปลายปีที่คนในแวดวงสถาปนิกและก่อสร้างไทยทุกคนตั้งตารอ

Highlights

  • สภาสถาปนิก’19 หรือ ACT Forum’19 คืองานเสวนาครั้งยิ่งใหญ่ส่งท้ายปีที่จัดโดยสภาสถาปนิก (จัดขึ้นระหว่างวันที่ 14-17 พฤศจิกายนนี้ ณ อิมแพ็ค เมืองทองธานี ชาแลนเจอร์ ฮอลล์ 3)
  • หัวใจหลักของงานคือ การรวบรวมไอเดียและองค์ความรู้ใหม่ๆ ที่เกี่ยวข้องกับนักออกแบบอย่างสถาปนิก มัณฑนากร ภูมิสถาปนิก และนักผังเมือง ที่ล้วนมีความเกี่ยวเนื่องกันไว้ในงานงานเดียว โดยหวังว่าจะเป็นงานที่ช่วยพัฒนาศักยภาพคนในวิชาชีพออกแบบไทยได้อย่างต่อเนื่องและยั่งยืน
  • กิจกรรมหลักในงานแบ่งออกเป็น 4 forum ประกอบด้วยไฮไลต์อย่าง Forum A ที่สภาสถาปนิกเชิญนักออกแบบระดับโลกอย่าง Stefano Boeri, Barbara Barry, Andrew Grant, และ Pierre Clément มาแชร์วิธีสร้างสรรค์ผลงานของพวกเขา ตามด้วย Forum B งานเสวนาจากผู้รู้ในแวดวงออกแบบไทย Forum C ที่เป็นพื้นที่อวดโฉมนวัตกรรมใหม่ๆ ในวงการก่อสร้าง และ Forum D ที่เปิดพื้นที่ให้คนทั่วไปได้เข้ามาคุยหรือปรึกษาปัญหารอบบ้านกับ 'สถาปนิกอาสา' แบบฟรีๆ

งานใหม่ล่าสุดในวงการสถาปนิกและออกแบบสิ่งก่อสร้างอย่าง สภาสถาปนิก’19 หรือ ACT Forum’19 มีจุดหมายเพื่อพัฒนาศักยภาพคนในวิชาชีพสถาปัตยกรรมไปพร้อมๆ กับการพัฒนาเทคโนโลยีการก่อสร้างและนวัตกรรมที่เกี่ยวข้องต่างๆ อย่างต่อเนื่องและยั่งยืน ที่จะจัดขึ้นในวันที่ 14-17 พฤศจิกายนนี้ ณ อิมแพ็ค เมืองทองธานี ชาแลนเจอร์ ฮอลล์ 3 เป็นอีกงานใหญ่ส่งท้ายปีที่คนในแวดวงสถาปัตยกรรมและก่อสร้างเฝ้ารอ

ก่อนจะถึงงานที่หลายคนเฝ้าคอย เราชวนหนุ่มนักออกแบบผู้เชื่อว่าองค์ความรู้คือสิ่งที่ต้องแบ่งปันอย่าง บิว–มนัสพงษ์ สงวนวุฒิโรจนา Co-founder Architect และ Design Director จาก Hypothesis มาคุยถึงงาน ACT Forum’19 ที่เจ้าตัวเป็นหนึ่งในผู้อยู่เบื้องหลังอย่างลงลึก

มีเรื่องน่าสนใจและไฮไลต์อะไรรอชาววิชาชีพสถาปนิกและคนทั่วไปที่สนใจเรื่องตึกรามบ้านช่องกระทั่งการออกแบบเมืองอยู่บ้าง ไปฟังจากปากเขากัน

คอนเซปต์ ‘RE-ACT ตอบสนอง ต่อยอด ต่อเนื่อง’ ที่ถูกคิดมาเพื่อทุกคน

“ผมเป็นสามัญสถาปนิก เป็นสมาชิกคนหนึ่งของสภาสถาปนิก แล้วสภาสถาปนิกจัดงานนี้เป็นครั้งแรก ในมุมของผมงานนี้มันน่าสนใจเพราะในต่างประเทศมี forum หรืองานประชุมที่พูดถึงองค์ความรู้แบบมืออาชีพที่สถาปนิกควรจะได้ค่อนข้างเยอะ ถ้านอกเหนือจากงานสถาปนิก ในไทยมีน้อยมากเลยที่ทำกันเป็นจริงเป็นจัง พอสภาสถาปนิกลุกขึ้นมาจัด forum ผมรู้สึกว่ามันเป็นเรื่องที่ดีที่เรามีงานพัฒนาวิชาชีพของเราเพิ่มขึ้นอีกงาน

“สภาสถาปนิกจัดงานนี้ขึ้นมาก็เพราะเห็นความสำคัญของการแบ่งปันองค์ความรู้ คนในวิชาชีพบางท่านเป็นอาจารย์ บางท่านก็เรียนปริญญาโทหรือปริญญาเอก ความรู้ที่เขากำลังศึกษาอาจจะไม่ได้มีโอกาสมาเผยแพร่ให้คนนอกนำไปต่อยอด หรือบางคนทำงานมาได้สักพักหนึ่งเขาตกผลึกอะไรบางอย่างในมุมของตัวเอง สภาจึงอยากดึงคนเหล่านั้นมาแชร์ความรู้ให้ทุกคนโดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ในวิชาชีพได้ฟัง ได้เรียนรู้จากประสบการณ์ของกันและกัน เป็นเรื่องที่ดีมากๆ ครับ”

งานนี้ไม่ได้จัดเพื่อเหล่าสถาปนิกเท่านั้น แต่ยังรวมถึงมัณฑนากร ภูมิสถาปนิก และนักผังเมือง เรียกได้ว่ามางานเดียวได้ความรู้ครอบคลุมทั้ง 4 สาขาวิชาชีพที่เกี่ยวข้องกัน ที่น่าสนใจคือการเรียนรู้กันข้ามสาย เช่น สถาปนิกหรือมัณฑนากรได้เรียนรู้เรื่องแลนด์สเคป หรือนักออกแบบผังเมืองได้เรียนรู้การออกแบบภายใน หรือคนทั่วไปที่อยู่นอกสาขาวิชาชีพก็สามารถเข้ามาเรียนรู้เรื่องที่ตัวเองสนใจจากงานนี้ได้เช่นเดียวกัน

ความหวังในการเติมเต็มช่องว่างที่ขาดหายของวงการออกแบบไทย

“ในมุมส่วนตัว ผมว่านักออกแบบบ้านเรามีมาตรฐานเทียบเท่านักออกแบบสากลเลย เรามีเอกลักษณ์คือความเป็น local เหมือนกับนักออกแบบจีนหรือญี่ปุ่น แต่วงการก่อสร้างเราไม่ได้ทันกัน คือ technical term บ้านเราไม่เท่าบ้านเขา ง่ายๆ คือเราต้องยอมรับว่าเราใช้วิธีการก่อสร้างเสาคานแบบโลกที่สามกันอยู่ สถาปนิกไทยสามารถออกแบบงานได้เท่าโลกที่หนึ่งแต่งานก่อสร้างยังตามไม่ทัน

“วงการก่อสร้างบ้านเรามีอีกหลายอย่างที่ต้องพัฒนาครับ เรามีซัพพลายเออร์ที่นำเข้าหรือผลิตวัสดุในประเทศ ซึ่งคุณภาพดีนะแต่ว่าเรายังไม่ค่อยรู้จักเขา เพราะเขาอาจจะไม่มีช่องทางในการโปรโมต อย่างเราไม่ได้เป็นบริษัทสถาปนิกใหญ่ เราอาจจะเข้าไม่ถึงเทคโนโลยีการก่อสร้างที่อัพเดตด้วย แต่ถ้ามันมีอะไรที่เป็นงานที่แชร์องค์ความรู้จากบริษัทก่อสร้างแถวหน้าที่ทำงานในต่างประเทศมาแชร์ให้ออฟฟิศขนาดกลางหรือขนาดเล็กมาฟัง ผมว่าอันนี้จะเป็นจุดหนึ่งเลยที่งานสภาสถาปนิกจะช่วยเสริมสิ่งที่เรายังขาด”

นอกจากจะได้เห็นว่าคนในระดับมืออาชีพทำงานกันยังไง ชายตรงหน้าแชร์ให้เราฟังว่า นักออกแบบไม่ว่าจะเรียนจบระดับไหน หรือทำงานมาแล้วกี่ปี ในวงการวิชาชีพมีสิ่งที่ทุกคนต้องเรียนรู้ตลอดเวลา อย่างเช่นเรื่องวัสดุชนิดใหม่ที่นับวันจะ sustainable และ eco มากขึ้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้ต้องเรียนรู้จากซัพพลายเออร์ที่นำนวัตกรรมต่างๆ เข้ามา ในงานสภาสถาปนิก’19 จึงมีเซกชั่นที่ตอบโจทย์ความรู้ที่ว่านี้ด้วย

 

ไฮไลต์และเรื่องราวน่าสนใจที่คัดสรรโดยสภาสถาปนิก

กิจกรรมหลักในงานแบ่งออกเป็น 4 forum ประกอบด้วย Forum A: The Key Note ด้วยความตั้งใจของสภาสถาปนิกที่อยากมอบแรงบันดาลใจแก่นักออกแบบไทย รวมทั้งเรียนรู้วิธีคิดงานจากนักออกแบบระดับมืออาชีพที่ถูกเชื้อเชิญจากต่างประเทศ สำหรับบิว นี่ถือเป็นหนึ่งไฮไลต์ที่เขาตื่นเต้นสุดๆ

“สภาสถาปนิกได้เชิญนักออกแบบที่ครอบคลุมทั้ง 4 สาขาวิชาชีพ คนที่ผมสนใจก็มี Stefano Boeri สถาปนิกชาวอิตาลีที่ทำ Bosco Verticale (อาคารขนาดใหญ่ที่เป็นเสมือนป่าแนวตั้ง) ผมว่างานออกแบบของเขาค่อนข้างเกี่ยวโยงกับสภาพแวดล้อมที่เมืองไทยเรากำลังต้องการ ส่วนอีกคนที่ผมอยากฟังมุมมองในการออกแบบของเขามากๆ คือ Barbara Barry มัณฑนากรระดับโลกที่ทำงานอินทีเรียสไตล์ luxury ที่ใครๆ เห็นแล้วต้องชื่นชอบ”

ส่วนวิทยากรที่เป็นตัวแทนจากฝั่งการออกแบบแลนด์สเคปและผังเมืองก็คือ Andrew Grant ผู้อยู่เบื้องหลัง Gardens by the Bay และ Pierre Clément นักออกแบบผังเมืองชื่อดังจากฝรั่งเศส ในเซกชั่นเดียวกันนี้สภาสถาปนิกได้เชิญสถาปนิกและนักออกแบบชาวไทยที่ทำงานในระดับสากล เช่น กึ๋น–กุลภัทร ยันตรศาสตร์ สถาปนิกจาก wHY สตูดิโอจากลอสเอนเจลิส เจ้าของผลงานออกแบบ The Metropolitan Museum of Art มิวเซียมชื่อดังในอเมริกา และ เป้า–วิภาวดี พัฒนพงศ์พิบูล มัณฑนากรแนวหน้าที่ออกแบบโรงแรมห้าดาวหลากหลายแห่งทั้งในและต่างประเทศ

“ผมว่าสิ่งที่สภาสถาปนิกตั้งใจอีกอย่างคืออยาก celebrate นักออกแบบชาวไทยที่ได้รับการยอมรับในระดับโลก ซึ่งผมเชื่อว่าคนเหล่านี้ยินดีมากที่จะมาแชร์ว่าการทำงานกับต่างชาติ พวกเขาต้องปรับแนวคิดยังไง ระหว่างทางเจออุปสรรคและรับมือกับมันยังไงบ้าง”

Forum B: The Practice คือ forum เสวนากับผู้รู้จากทั้ง 4 วิชาชีพที่หยิบเรื่องควรรู้ ประเด็นคำถามมากมายที่เกิดขึ้นในงานออกแบบทั้งในและนอกประเทศมาแถลงข้อสงสัย ยกตัวอย่างเช่น Aging Society, Digital Disruptive ในงานสถาปัตยกรรม, BIM for Interior Design, โครงการฟื้นฟูกรุงเทพฯ โดยตัวแทนจาก UddC การพัฒนาพื้นที่สีเขียวของสิงคโปร์โดยนักออกแบบแลนด์สเคปชาวสิงคโปร์ เป็นต้น

Forum C: The Innovation เป็นเรื่องนวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับทั้ง 4 สาขาวิชาชีพรวมทั้งงานก่อสร้าง ที่น่าสนใจคือมีการดีเบตกันระหว่างซัพพลายเออร์ โดยที่มีสถาปนิกหรือมัณฑนากรเป็นพิธีกรที่จะคอยยิงคำถาม ยิงอินไซต์ของยูเซอร์ที่ใช้งานจริง เช่นว่า ชวน R&D มาดีเบตกันเลยว่าหลังคาสองเจ้านี้ต่างกันยังไง อันนี้เป็นความสนุกที่สภาสถาปนิกคิดขึ้นมาเพื่อให้งานครั้งนี้แตกต่างจากงานอื่น”

เจ้าตัวบอกเราว่า เขาสนใจนวัตกรรมที่เป็นการก้าวข้ามขีดจำกัดทางสถาปัตยกรรม อาทิ หลังคาที่ผลิตให้บางลง หรือการ take long span ตัวผนังหายใจได้ที่ทั้งกันน้ำและถ่ายเทอากาศได้ ถือเป็นนวัตกรรมเหมาะกับการใช้งานในเมืองที่อากาศร้อนชื้น นอกจากนี้ในงานยังมีการเปิดตัวสินค้าที่มีแพลนวางจำหน่ายในปี 2020 อีกด้วย

“ส่วน Forum D: The ACT Services จะเป็นส่วนที่สถาบันการศึกษาและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมานำเสนอโครงการ งานวิจัยที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ และมีบูทสถาปนิกอาสาทั้งจาก 4 สาขาวิชาชีพมาให้คำปรึกษาในเรื่องข้อสงสัยเกี่ยวกับอาคารที่อยู่อาศัย ฝ้า เพดานรั่วก็คุยกับสถาปนิกได้ หรือมีปัญหากับต้นไม้ก็คุยกับแลนด์สเคปดีไซเนอร์ได้ เรียกได้ว่าเป็นอีกจุดหนึ่งที่เผยแพร่ความรู้ให้กับประชาชนทั่วไป”

ชวนมองอนาคตวงการออกแบบไทย

“ผมว่าอนาคตวงการสถาปนิกและออกแบบไทยค่อนข้างไปได้ดี แต่ส่วนที่ผมอยากให้เกิดขึ้นคือ ทั้งวงการต้องจับมือกัน เช่น วิชาชีพต่างๆ ควรหันมาคุยกันว่าเราจะทำยังไงให้วงการบ้านเราเข้มแข็งและไปด้วยกันได้ไกลกว่านี้ และต้องไม่มองเพียงแค่คนทำงานเท่านั้น เราควรมองทั้งองคาพยพ คือมองตั้งแต่เด็กที่เริ่มเข้าเรียน ทำให้เขาเข้าใจว่างานสถาปัตยกรรมหรืองานออกแบบเป็นสิ่งที่อยู่รอบตัวเราจริงๆ เมื่อเรียนจบเขาก็จะเป็นคนทำงานที่มีทัศนคติที่ดี ออฟฟิศออกแบบที่เขาเข้าไปทำงานก็ต้องเข้มแข็งในแนวคิดของตัวเอง รวมไปถึงหน่วยงานใหญ่อย่างสภาสถาปนิก เราทุกคนต้องจับมือและเกื้อกูลกัน แล้ววงการออกแบบบ้านเราก็จะเข้มแข็งเหมือนวงการในต่างประเทศที่เอาความ local ของตัวเองไปเลกเชอร์ให้คนอื่นๆ ฟัง ผมเชื่อว่ามันเกิดขึ้นได้นะ”


สำหรับวิธีการเข้าร่วมงาน ก่อนอื่นต้องลงทะเบียนเข้าชมงานเพื่อรับ visitor badge ที่ actforumexpo.com ส่วนใครที่สนใจอยากเข้าฟังเสวนาจากวิทยากรระดับโลก สามารถติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์หรือเฟซบุ๊กเพจ ACT Forum

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ณัฐปคัลภ์ ทัศนวิริยกุล

นักเรียนฟิล์มที่มาฝึกงานช่างภาพ รักการถ่ายรูป ชอบกินของอร่อย และชอบใช้เวลากับครอบครัว เพื่อนสนิท คนรัก