ฤดูกาลเป็นสิ่งที่โอบล้อมและแนบชิดกับบ้านมากที่สุด จะดีแค่ไหนหากมีใครสักคนเก็บบันทึกความงามของฤดูกาล และแปรความประทับใจเหล่านั้นให้กลายเป็นของใช้ตกแต่งบ้าน เพื่อให้เราได้ใกล้ชิดกับฤดูกาลที่ผันผ่านมากขึ้นอีกนิด
ปุ้ม-นวัต ศักดิ์ศิริศิลป์ และ ตี้-กรวุฒิ กาญจนาบุญมาเลิศ สองหนุ่มผู้ก่อตั้งแบรนด์ของตกแต่งบ้าน Moreover หยิบเอาบรรยากาศของฤดูกาลต่างๆ มาต่อยอดเป็นงานออกแบบคอลเลกชันล่าสุด ‘Season Collection’ จนได้เป็นของแต่งบ้านที่สวยงามและตอบโจทย์การใช้งานในพื้นที่จำกัด และพวกเขายังตั้งใจให้คอลเลกชันนี้ส่งเสริมให้เกิดบรรยากาศของความคิดสร้างสรรค์ภายในบ้านอีกด้วย
ปุ้มและตี้พาเราไปสำรวจเบื้องหลังของ Season Collection ตั้งแต่ต้นจนจบของงานออกแบบทั้ง 3 ชิ้นที่ได้แรงบันดาลใจจากแสงแดดที่กระทบผิวน้ำในฤดูร้อน ต้นคริสต์มาสแห่งการเฉลิมฉลองในฤดูหนาว หรือแม้กระทั่งหยาดฝน ในผลงาน Summer Sunset, Come Rain Come Shine และ Winter Forest
1. ก่อร่างงานออกแบบจากความต้องการของลูกค้า
ขั้นตอนแรกสุดของการออกแบบคอลเลกชันนี้ คือเริ่มระดมสมองหาไอเดียร่วมกันในทีมนักออกแบบและฝ่ายการตลาดเพื่อตีโจทย์ให้สอดคล้องตามความต้องการของลูกค้า สิ่งที่ท้าทายคือต้องหาจุดสมดุลระหว่างความสวยงามและการใช้งานจริง จนมาลงตัวที่ ‘ฤดูกาล’ ที่แบรนด์นำลักษณะเด่นของฤดูต่างๆ มาใช้เป็นแกนหลักที่เชื่อมร้อยผลิตภัณฑ์ในคอลเลกชันนี้ไว้ด้วยกัน
“เราอยากขยายความต่อจากคอลเลกชันที่แล้วว่าการพับเหล็กไม่ใช่แค่คล้ายการพับกระดาษเท่านั้น แต่ยังสื่อสารเรื่องอื่นได้ด้วย เราเลยลองคิดคอนเซปต์เพื่อนำเสนองานพับเหล็กในแง่มุมอื่น การออกแบบเลยไม่ได้คิดจากเราคนเดียว แต่คิดจากผู้ใช้ด้วย ดูว่าสินค้าประเภทไหนที่เข้าได้กับไลฟ์สไตล์ของทั้งคนไทยและชาวต่างชาติ จนมาลงตัวที่ถาดใส่เครื่องประดับ (Jewelry tray) แล้วก็ต้องคิดต่อยอดอีกว่า อะไรที่ออกมาเป็นเหล็กแล้วน่าสนใจ เลยออกมาเป็นคอนเซปต์ ‘ฤดูกาล’ เพราะเราตั้งใจจะนำบรรยากาศของฤดูกาลจากนอกบ้านมาใส่ไว้ในบ้าน ทำให้บ้านสวยงามโดยใช้องค์ประกอบของธรรมชาติเข้ามาเสริม” ปุ้มเล่า
ตี้ขยายความต่อว่า กว่าจะออกมาเป็นไอเดียนี้ก็ต้องลองปรับหลายครั้งและนำเรื่องการพับเหล็กที่แบรนด์ถนัดอยู่แล้วมาใส่ในคอลเลกชันนี้ด้วย รวมทั้งตอกย้ำความต้องการของแบรนด์ที่อยากให้งานออกแบบเป็นลักษณะ Unisex คือใช้ได้ทั้งชายและหญิง “คำว่าเครื่องประดับในความหมายของเราไม่ได้โฟกัสว่าจะต้องเป็นของผู้หญิงเท่านั้น อย่างถาด Summer Sunset อาจจะใช้วางเครื่องสำอาง สร้อย แหวน กุญแจ ปากกา หรือนาฬิกาก็ได้ เราเลยทำสีกลางๆ อย่างขาวหรือดำ ให้เป็นยูนิเซ็กส์ทั้งเชิงรูปแบบและการใช้งาน”
2. ตีโจทย์ ‘สัญลักษณ์’ ความงามของสามฤดูกาล
ขั้นตอนหลังจากได้ไอเดียเรื่องฤดูกาลคือการตีความต่อว่าแต่ละฤดูจะใช้สัญลักษณ์อะไร ทั้งฤดูร้อน ฤดูฝน และฤดูหนาว ซึ่งต้องคำนึงจากหลายปัจจัย “เราไม่ได้โฟกัสว่าอะไรเป็นตัวแทนของแต่ละฤดูเสียทีเดียว เพราะมีโจทย์หลายอย่างให้คิด ทั้งความต้องการของตลาด การใช้งาน เราพยายามหาจุดกึ่งกลางว่าหากเป็นฤดูกาลนี้จะใช้สัญลักษณ์อะไรเป็นตัวแทน สิ่งสำคัญคือต้องสื่อสิ่งที่เราต้องการและตอบโจทย์ตลาดได้”
ไอเดียการทำ Summer Sunset ถาดใส่เครื่องประดับที่เป็นลอนคลื่นเหมือนผิวน้ำเป็นไอเดียแรกที่ต่อยอดให้เกิดผลงานชิ้นอื่นๆ ในคอลเลกชันนี้ ปุ้มบอกว่าเขาได้แรงบันดาลใจมาจากการท่องเที่ยวเดินทางและนึกถึงช่วงเวลาที่ได้จ้องมองแสงอาทิตย์ตกกระทบผิวน้ำในฤดูร้อน “ที่เลือกบรรยากาศตอนพระอาทิตย์ตกเพราะเป็นสิ่งที่ทุกคนเคยเห็นและใกล้ชิดอยู่แล้ว ส่วนฤดูฝนก็เลือกใช้หยดฝนเพราะเป็นสิ่งที่สื่อได้ดีที่สุดจนออกมาเป็นผลงาน Come Rain Come Shine ส่วนฤดูหนาว ผมเอาต้นคริสต์มาสมาใช้เป็นสัญลักษณ์ เพราะเป็นสิ่งที่ชวนให้นึกถึงบรรยากาศของการเฉลิมฉลองช่วงปลายปีได้ดี จึงเกิดเป็นไอเดียในการออกแบบ Winter Forest ขึ้น”
3. ทำโมเดลจำลองก่อนทำของจริง
ขั้นตอนก่อนจะไปพับเหล็กจริงต้องทำโมเดลจำลองขึ้นก่อน เริ่มจากการพับกระดาษเพื่อดูองศาการเอียง ลองตัดกระดาษรูปทรงต่างๆ หลากหลายขนาดว่าขนาดใดเหมาะสมที่สุด
“อย่าง Summer Sunset เราทำโมเดลไม่ต่ำกว่าสิบชิ้น ทั้งพับจากกระดาษและพับจากเหล็ก ดูฟีดแบ็กจากลูกค้าและกลุ่มเป้าหมายตัวอย่าง อาศัยคนรอบข้างในการเก็บข้อมูลพอสมควร ถามความเห็นว่าควรจะปรับเปลี่ยนยังไงบ้างทั้งองศาของการพับและองศาการมองกระจก”
“ส่วน Come Rain Come Shine ก็ทำมาเป็นสิบไซส์เลย ให้คนลองจับว่าถนัดมือไหม ถ้าขนาดใหญ่เกินไปก็จะไปบังโพสต์อิทเวลาใช้งาน ในขณะเดียวกันก็ต้องไม่เล็กเกินไป มองไกลๆ หรือแปะเป็นหมู่คณะก็ต้องเห็นอยู่เพราะยังถือว่าเป็นของแต่งบ้าน”
“ดราฟท์แรกๆ ของ Winter Forest ฐานของมันเคยเป็นเหล็กทรงสามเหลี่ยมมาก่อน เราก็ปรับมาเรื่อยๆ ส่วนเรื่องขนาด เราตั้งโจทย์ไว้ว่าต้องเป็นได้ทั้งของแต่งบ้านและของขวัญ คือต้องไม่ใหญ่เกินไปให้คนสามารถซื้อเป็นของขวัญได้ ต้นคริสต์มาสของเราจึงถอดประกอบได้ เราดูจากหลายปัจจัย ทั้งการใช้งาน ความสวยงาม และน้ำหนัก เราไม่อยากให้ของหนักเกินไป คนจะรู้สึกว่ามันไม่ใช่ของขวัญแล้ว และถ้าเราทำบางเกินมันก็ไม่แข็งแรง ต่อมาคือต้องทำให้คนรู้สึกว่ามันเป็น Jewelry Tree ใช้แขวนสร้อยหรือตุ้มหูได้ไม่เยอะจนเกินไป ตอนแรกมีคอมเมนต์ว่ามีรูใส่ตุ้มหูน้อยไปหน่อย เราก็ลองปรับไปเรื่อยๆ ไม่อยากให้มันหยุดที่เวอร์ชั่นแรกอย่างเดียว”
4. วัสดุที่ใช้ต้องมีฟังก์ชันในตัวเอง
ขั้นตอนต่อมาที่ต้องคำนึงคือวัสดุต่างชนิดกันก็ย่อมทำให้รูปลักษณ์ ผิวสัมผัส และความรู้สึกแตกต่างกันไปด้วย วัสดุที่ใช้จึงต้องแสดงออกถึงฤดูกาลต่างๆ ได้ดี งานออกแบบใน Season Collection จึงผสมผสานวัสดุหลากหลายทั้งเหล็ก ไม้ และสแตนเลสขัดเงา ทำให้ผู้ใช้สัมผัสและรู้สึกได้ถึงธรรมชาติของแต่ละฤดูกาลผ่านผิวสัมผัสของวัสดุที่แตกต่างกันไป
ปุ้มเล่าให้เราฟังถึงจุดเปลี่ยนตอนออกแบบงาน Summer Sunset ว่า “เราอยากใส่กระจกเข้าไปใน Summer Sunset แต่ก็ไม่อยากได้วัสดุที่แตกง่าย อยากใช้วัสดุที่มีคุณสมบัติแทนกระจกได้ ก็คือ Stainless Mirror ซึ่งเป็นโลหะแทน ตกแล้วไม่แตก เราออกแบบด้วยการคิดตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำว่า กว่าสินค้าจะออกจากมือเราไปถึงลูกค้าก็ควรจะต้องทนทานด้วย”
ไม่เพียงแต่เพิ่มความทนทานเท่านั้น ตี้เสริมว่าความพิเศษของการนำ Stainless Mirror มาใช้เป็นกระจกส่องหน้าทำให้ Summer Sunset ไม่ใช่แค่ถาดวางเครื่องประดับ แต่ยังเป็น Make up tray วางเครื่องสำอางและใช้กระจกแต่งหน้าได้ด้วยในตัว อีกเรื่องคือปัจจัยด้านการขนส่งที่มั่นใจได้ว่าสินค้าจะไม่เสียหายในระหว่างการขนส่ง
ส่วนวัสดุที่ใช้ผลิตชิ้นงาน Winter Forest ก็ผสานผสานงานไม้เข้ามาเป็นฐานของต้นคริสต์มาส ปุ้มอธิบายว่า “ถ้าต้นไม้ขาดความรู้สึกของไม้ก็จะแข็งทื่อไปเลย มันจะเป็นแค่เอาต์ไลน์ของต้นคริสต์มาส การมีไม้มาใส่เป็นฐานก็ช่วยสร้างความรู้สึกอบอุ่นในช่วงฤดูหนาวมากขึ้นด้วย”
นอกจากนี้ ปุ้มอธิบายว่ายังอยากใช้วัสดุต่างๆ ในคอลเลกชันนี้ให้คุ้มค่าที่สุด อย่างเศษที่เหลือจากการตัดแผ่นสแตนเลสที่ใช้ทำกระจกใน Summer Sunset ก็นำมาใช้ต่อในการผลิตหยาดฝนในชิ้นงาน Come Rain Come Shine ทั้งยังเป็นการเชื่อมโยงความหมายว่าแต่ละฤดูกาลล้วนเป็นส่วนหนึ่งของกันและกัน
“เรามองว่าหยดฝนเป็นเศษเสี้ยวของฤดูกาลนั่นเอง เราคิดให้มันครบวงจรในคอลเลกชัน ไม่ได้คิดว่าต้องเป็นชิ้นใครชิ้นมัน การนำเศษเหลือๆ มาใช้ก็เป็นการใช้วัสดุอย่างคุ้มค่าด้วย เราเป็นดีไซน์เนอร์ ต้องคิดทุกแง่มุม ไม่ใช่คิดแค่ว่าสวยอย่างเดียว”
5. ฟังความเห็นรอบด้านก่อนขายจริง
ขั้นตอนต่อมาคือการส่งชิ้นงานไปให้โรงงานทำ Prototype หรือต้นแบบสินค้าจริงซึ่งใช้เวลาเป็นเดือนเหมือนกัน “เราคุยกับโรงงานเลยว่าผลิตยังไง พับยังไง อย่างที่เห็นว่าพับกระดาษมันพับง่าย แต่การพับเหล็กไม่ง่ายอย่างที่คิด เราใช้เครื่องจักรขนาดใหญ่มาก ต้องดูว่าพับออกมาแล้วได้องศาเท่าไหร่”
เมื่อได้ Prototype มาแล้วก็จะนำไปให้ลูกค้าเพื่อขอข้อเสนอแนะว่าควรปรับปรุงและพัฒนาชิ้นงานอย่างไร การรับฟังฟีดแบ็กจากลูกค้าเพื่อต่อยอดงานออกแบบจึงเป็นสิ่งสำคัญที่มองข้ามไม่ได้
“อย่างที่บอกว่าเราออกแบบตามกลุ่มเป้าหมาย แต่ก็จะมีตัวตนของเราเข้าไปแฝงด้วย เราจะส่งสินค้าไปที่กลุ่มลูกค้าตัวอย่างเพื่อรับฟีดแบ็ค อันดับแรกเป็นผู้ใช้จริง (End user) รวมถึงคนที่นำสินค้าของเราไปกระจายตามประเทศต่างๆ ด้วย เขาจะเป็นตัวแทนกลุ่มลูกค้าประเทศนั้นๆ เชี่ยวชาญในการเลือกผลิตภัณฑ์มาขาย เราจึงต้องทำชิ้นงานให้เสร็จร้อยเปอร์เซ็นต์ไปให้เขาดู ไม่เฉพาะแค่ผลิตภัณฑ์ แต่ต้องนำเสนอไปถึงเรื่องคอนเซปต์ทั้งหมดเลย”
“เรามักไปออกงานแฟร์ต่างประเทศ กลุ่มลูกค้าทั้งผู้ใช้จริงและ Distributor ก็จะมาเดินในงาน เขาก็ให้ฟีดแบ็กมา ซึ่งไม่ได้เป็นแค่ฟีดแบ็กสำหรับชิ้นใดชิ้นหนึ่ง แต่เราเก็บมาคิดเพื่อพัฒนาทั้งคอลเลกชัน ทั้งกลุ่มเป้าหมายตรงและกลุ่มเป้าหมายรอง เพื่อนำมาพัฒนาผลิตภัณฑ์ของเราอย่างต่อเนื่อง” ตี้บอกกับเรา
6. ใส่ความหมายและกำลังใจในชื่อชิ้นงาน
“อย่างชื่อ Come Rain Come Shine เป็นสำนวนที่สื่อว่าจงเตรียมพร้อมทุกสถานการณ์ ไม่ว่าฝนตกแดดออกก็พร้อมลุย ซึ่งตัวหยดฝนก็มีความหมาย ในรูปสำเร็จก็จะสื่อว่าเป็นฝนที่เป็นประกายได้ ถ้าซื้อเป็นของขวัญก็เป็นการให้กำลังใจเหมือนชื่อ Come Rain Come Shine” ปุ้มกล่าว ส่วนตี้ก็อธิบายถึงความหมายของ Winter Forest ที่อยากสื่อว่า ‘Every day is festive’ หรือทำทุกวันให้เป็นวันพิเศษของเรา
“ทุกวันสามารถเฉลิมฉลองได้ เราอยากให้งานชิ้นนี้ตีความหมายของต้นคริสต์มาสยุคใหม่ คนเราสมัยนี้อยู่บ้านคนเดียวมากขึ้น เป็นคอนโด หรือพื้นที่เล็กๆ การซื้อต้นคริสต์มาสต้นใหญ่มาตกแต่งบ้านอาจจะเป็นของฟุ่มเฟือย ปีหนึ่งใช้ได้ครั้งเดียว แต่ต้นคริสต์มาสของเราสามารถนำไปตกแต่งบ้านในช่วงเทศกาลได้ ซื้อไปเป็นของขวัญให้คนอื่นได้ แล้วก็เป็นของตกแต่งที่กลมกลืนกับบ้าน ใช้งานได้ 365 วัน ไม่ใช่แค่วันเดียว”
facebook | Moreover
ขอบคุณสถานที่ Room Concept Store, Siam Discovery
ภาพ ดวงสุดา กิตติวัฒนานนท์ และ Moreover