The Great Outdoor Market : Flea Market ของคนรุ่นใหม่ที่เท่ทั้งคอนเซปต์และสถานที่

ย้อนกลับไปเมื่อ 2 – 3 ปีก่อน Flea Market คือหนึ่งในบรรดาสถานที่หย่อนใจสุดฮิปในช่วงสุดสัปดาห์ของเหล่าคนเมือง เรียกได้ว่าจัดแทบทุกสัปดาห์จนเดินกันไม่หวาดไม่ไหว แอน-ภรณ์พัทธ์ สหเจริญวัฒน์ และ แก้ม-ดาลี ฮุนตระกูล คือสองศิษย์เก่าคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาฯ Urban Designer ที่ขยับขยายสตูดิโอออกแบบของตัวเอง The Great Outdoor Studio มาทำโปรเจกต์เนรมิตตลาดนัดบนพื้นที่ Hidden Place สุดเท่หรือแลนด์มาร์กในย่านต่างๆ ของกรุงเทพฯ ภายใต้ชื่องาน The Great Outdoor Market

แต่ในวันนี้ที่เทรนด์การจัดฟลีมาร์เก็ตบางตาลงไปมาก The Great Outdoor Market กลับไม่มีทีท่าว่าจะถูกลดความนิยมลงไปเลยแม้แต่นิด (พิสูจน์ได้จากงาน The Great Outdoor Market x LHONG 1919 ที่เพิ่งจัดไปเมื่อต้นเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ที่แทบจะรวมคนกรุงเทพฯ ทุกคนไปอยู่ที่นั่นในสัปดาห์นั้น) เราเลยอยากนั่งพูดคุยและเรียนรู้วิธีคิดและวิธีทำของสองคนรุ่นใหม่นี้ไปพร้อมๆ กัน

จุดเริ่มต้นของ The Great Outdoor Market เป็นมายังไง

แก้ม : เราเรียน urban design การออกแบบเมืองที่คาบเกี่ยวเรื่อง public space อยู่แล้ว ช่วงที่เรียนจบ ปี 2014 แอนมีโอกาสได้เจอผู้ใหญ่ที่ดูแลอู่ต่อเรือกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่แอนชอบมากสมัยเรียน เลยบอกเขาไปว่าชอบอู่ต่อเรือมาก เป็นพื้นที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาที่สวยและเท่มากเลยอยากทำเป็น public space ให้คนทั่วไปได้เข้ามานั่งชิลล์เหมือนที่ต่างประเทศ เพราะปกติพื้นที่ริมน้ำในกรุงเทพฯ ถูกทำให้กลายเป็นร้านอาหารและโรงแรมเต็มไปหมด

ทีนี้ก็ลองไปคุยกับเขาว่าอยากหากิจกรรมมาลง ทำเป็นโปรเจกต์สนุกๆ ตอนแรกเราอยากจัด installation art เพราะที่อู่ต่อเรือมีสถาปัตยกรรมให้ดู มีพื้นที่ให้เล่นด้วย แต่คิดไปคิดมาการทำ installation art คงเข้าถึงคนแค่บางกลุ่ม จุดประสงค์หลักๆ เราอยากให้คนทั่วไปได้เข้ามาใช้พื้นที่นี้แฮงเอาต์มากกว่า แถมตอนปี 2014 ยังไม่มีตลาดนัดฟลีมาร์เก็ตให้คนมากินข้าว ช้อปปิ้ง นั่งชิลล์อะไรขนาดนั้น เราก็เลยเสนอไอเดียนี้ไป

ทำไมโปรเจกต์ทำสนุกของพวกคุณถึงกลายเป็นฟลีมาร์เก็ตจริงจังได้

แก้ม : ฟีดแบ็กงานแรกที่อู่ต่อเรือค่อนข้างดีนะ อาจจะด้วยความแปลกของสถานที่ คนก็เลยมางานเราเยอะ หลังจากนั้นพี่เจ้าของโครงการ Canapaya ย่านพระราม 3 ชวนเราไปดูที่เพราะเขาบอกว่าพื้นที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาตรงนั้นสวยไม่แพ้กัน แถมเป็นพื้นที่ริมน้ำส่วนที่กว้างที่สุดในกรุงเทพฯ พอไปเห็นจริงๆ มู้ดของสนามหญ้าตรงนั้นดีมาก ตอนเย็นๆ มองไปก็จะเห็นพระอาทิตย์ตกมีวิวด้านหน้าเป็นแม่น้ำ เรา 2 คนก็เลยตัดสินใจทำต่อ

พวกคุณสรรหาสถานที่เจ๋งๆ ในกรุงเทพฯ เจอได้ยังไง

แก้ม : ส่วนใหญ่เจ้าของที่เขาจะมาชวนเรามากกว่า เพราะเขาเห็นแล้วว่างานจะเป็นประมาณไหนและน่าจะเป็นจุดที่ทำให้คนเข้าไปรู้จักที่ตรงนั้นได้ เราก็ไปดูก่อนทุกที่เลยว่าสถานที่โอเคมั้ย คนจะอยากเข้ามามั้ย และเราชอบพื้นที่ตรงนั้นมั้ย พอจัดไป 2 ครั้งแล้วมีทั้งคนที่ชอบ Canapaya เพราะชิลล์กว่าอู่ต่อเรือ หรือบางคนเขาชอบอู่ต่อเรือมากกว่าเพราะดิบกว่าเท่กว่า แต่ละที่ก็จะมีมู้ดที่เป็นจุดเด่นของตัวเองอยู่ เราก็เลือกคอนเซปต์ของงานให้เข้ากับที่นั้นด้วย จริงๆ เราก็มีที่ที่เล็งไว้อยู่หลายที่นะ แต่ก็มีข้อจำกัดหลายอย่างทั้งการเดินทาง สถานที่จอดรถ หรือแม้แต่การดีลกับเจ้าของสถานที่

อย่างครั้งล่าสุดที่จัดที่ ล้ง 1919 หรือโกดังหวั่งหลี ก็พีกมากตรงที่พื้นที่ตรงนี้เราเคยเรียนในวิชาการวางผังเมืองตอนมหาวิทยาลัยและเรา 2 คนก็ชอบที่ตรงนี้มากๆ เหมือนกัน เคยคิดอยากทำที่ตรงนี้เป็น public space เราดีใจมากๆ ที่ทางเจ้าของเขาตัดสินใจปรับปรุงที่นี่ให้กลายเป็นมิวเซียม เปิดพื้นที่ให้คนได้เข้ามาจริงๆ ตอนที่รับโทรศัพท์แล้วปลายสายถามเราว่า ‘มีโกดังแถวคลองสานสนใจมาดูมั้ย’ ทันทีที่รู้ว่าเป็นโกดังหวั่งหลี เรากับแอนกรี๊ดเลย

ฟลีมาร์เก็ตของ The Great Outdoor Market ต่างจากที่อื่นยังไง

แก้ม : นอกจากการเลือกสถานที่แล้ว เราให้ความสำคัญกับการวางแปลนมากๆ คือเราจะแบ่งโซนพื้นที่อย่างชัดเจน เช่น โซนนี้เป็นร้านขายของ เดินเข้ามาก็จะเจอร้านขายของก่อนเลย โซนนี้เป็นร้านอาหาร ถัดมาก็เป็นโซนที่นั่ง เราคิดไว้เสมอเลยว่าเวลาจัดพื้นที่เราจะต้องมีโซน public space ให้คนได้มานั่งเล่น ได้มาใช้งานพื้นที่จริงๆ อย่างพื้นที่ริมน้ำ เราจะกันไว้เลยว่าพื้นที่ตรงนี้เราจะเก็บไว้ให้คนมาใช้ ไม่เอาร้านอะไรมาลงเด็ดขาด

เลือกร้านที่จะเข้ามาขายของในงานยังไงบ้าง

แอน : ร้านค้าที่เราเลือกมาจะเน้นงานอาร์ต งานดีไซน์เป็นหลัก เป็นสินค้าไลฟ์สไตล์ที่เราชอบอยู่แล้ว อย่างเสื้อผ้าก็จะเน้นเสื้อผ้าที่มีดีไซน์ คือไม่ได้อยากได้สไตล์ที่เห็นทั่วไปตามพารากอน มีร้านขายของจุกจิกอื่นๆ ให้คนมาเดินรู้สึกว่าตลาดนัดของเรามีของหลากหลายไม่น่าเบื่อ ส่วนร้านที่เลือกหนักและไม่อยากให้ซ้ำเลยคืออาหาร หลักๆ เราจะดูก่อนว่าน่ากินมั้ย หรือบางร้านที่เราเคยกินแล้วรู้ว่าอร่อยแน่ๆ ก็เลือก หรือบางทีเราอยากกินร้านไหน เราก็ไปชวนเขามา (หัวเราะ)

แก้ม : แต่คนที่มางานเราก็เป็นคนหลายประเภทนะ ถ้าเราเลือกแบบเจาะจงไปเลยก็ไม่ค่อยเวิร์ก คนอาจจะเข้าไม่ถึงจนเสียโอกาสในการซื้อไป จริงๆ เวลาจัดงานทุกครั้งเราก็แอบกังวลเหมือนกันนะ กลัวชวนเขามาแล้วขายไม่ได้ คือขายได้มากหรือน้อยเราไม่ได้อะไรเพิ่มมาอยู่แล้ว แต่ไม่อยากให้เขาเข้ามาขายครั้งเดียวแล้วจบ

ปัญหาอะไรบ้างที่คนไม่ค่อยรู้เวลาจัดงาน The Great Outdoor Market

แก้ม : ปัญหาที่เจอเวลาจัดงานแต่ละครั้งจะมาคนละแบบกันเลย อย่างครั้งแรกที่อู่ต่อเรือ เรา 2 คนไม่ได้มีประสบการณ์ทำอีเวนต์มาก่อนเลยต้องใช้เวลาเยอะมากๆ ในการเตรียมงานทั้งการจัดการพื้นที่ วางแผน หาช่างมาเซ็ตอัพ แต่ตอนนี้เราจัดมาหลายรอบแล้วก็ใช้เวลาในการเซ็ตอัพพื้นที่น้อยลง แต่ก็จะเจอความยากในเรื่องของร้านค้ามากกว่าเพราะเดี๋ยวนี้ฟลีมาร์เก็ตไม่ได้มีบ่อยเหมือนช่วง 2 ปีก่อน ร้านที่เวียนไปออกร้านตามงานต่างๆ ก็น้อยลง เราก็ต้องใช้เวลากับการหาและเลือกร้านค้ามากขึ้น

แอน : คือต่อให้จัดที่เดิมซ้ำก็จะเจอปัญหาที่ไม่คาดคิดอยู่ดีนะ บางทีก็มีปัญหาแค่วันเซ็ตอัพหรือบางทีก็ 3 วันติด ยิ่งเป็น Outdoor Market เรื่องฟ้าฝนนี่คาดเดาอะไรไม่ได้เลยแม้ว่าจะจุดธูปบนก็แล้ว เราโทรไปหากรมอุตุฯ บ่อยจนพี่เขาจำเสียงเราได้แล้ว (หัวเราะ) จนเดี๋ยวนี้เรามีแอพพลิเคชั่นดูเรดาห์ฝนติดกับโทรศัพท์เพื่อคอยดูว่าเมฆจะลอยไปทางไหน อย่างปีนี้เราต้องดูว่าฝนจากฉะเชิงเทราจะหายไปเมื่อไหร่ หรือบางทีก็คิดว่าปลอดภัยแล้วนะ อยู่ๆ กลุ่มเมฆก่อตัวกะทันหันกลางกรุงเทพฯ เฉยเลย

ทาร์เก็ตของ The Great Outdoor Market เป็นแบบไหน

แก้ม : เคยมองไว้ว่าเป็นคนรุ่นเรา แต่คนที่มาเดินจริงๆ มีทั้งผู้ใหญ่ หรือมากันทั้งครอบครัวเลย อย่างที่ล้ง 1919 คุณตาคุณยายบางคนเขาโตมากับที่นี่ พอได้ยินว่าโกดังนี้กลับมาเปิดเขาก็มากัน ทาร์เก็ตเราก็เลยกว้างขึ้นเรื่อยๆ

แอน : เราทำเรื่องการออกแบบเมืองมา เหมือนเราได้เจอคนทุกรูปแบบอยู่แล้ว เลยมองว่าทาร์เก็ตของเราขึ้นอยู่กับสถานที่เป็นหลักเลย มาพื้นที่ตรงนี้คุณจะได้เจออะไรบ้างแล้วเราค่อยปรับรูปแบบงาน ปรับรายละเอียดทุกอย่างให้เข้ากับพื้นที่ หรือถ้าเป็นงานสเกลเล็กที่เราจัดที่ The COMMONS จะเน้นคนในย่านทองหล่อเป็นหลัก

สิ่งที่สนุกที่สุดในการทำ The Great Outdoor Market

แอน : สำหรับพวกเราคือการได้ไปเจอที่ใหม่ๆ เราตื่นเต้นทุกครั้งเวลาที่ได้ไปดูพื้นที่ ส่วนมากพื้นที่ที่เราได้ไปจัดงานก็จะเป็นที่ๆ เราชอบอยู่แล้วในสมัยเรียนอย่างที่แก้มเล่าในตอนแรก แต่เรื่องที่ท้าทายที่สุดคือเรื่องการคุยกับคน ลุ้นว่าคนจะมางานเรามั้ย และการโฟลว์คนที่เข้ามาในงาน

ในฐานะ urban designer คุณคิดยังไงกับ public space ในกรุงเทพฯ

แก้ม : เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นยากเหมือนกัน อย่างพื้นที่สาธารณะหรือพื้นที่ริมน้ำของเมืองนอกจะเดินเชื่อมกันได้หมดเพราะใช้แนวคิดแบบ urban design guideline คิดไว้แล้วว่าพื้นที่เท่านี้ควรจะมี public space เท่าไหร่ เพื่อให้คนเดินไปมาระหว่างตึกได้ ไทยเราไม่ได้คิดเหมือนเมืองนอกขนาดนั้น public space บ้านเราก็เลยไม่ค่อยเกิดขึ้น แล้วพอไม่ค่อยมีให้คนได้ออกไปใช้ เวลาเราจัดงานแบบนี้ คนก็เลยรู้สึกว่าอยากจะใช้พื้นที่แบบนี้บ้าง น่าจะเป็นเหตุผลที่ทำให้คนเขาอยากมางานเราด้วย

หลังจากนี้พวกคุณมีโปรเจกต์ไปจัดงานที่ไหนต่อมั้ย

แก้ม : มี mini market ที่กำลังจะจัดที่ The COMMONS เรามองว่าเป็น neighborhood market เหมือนจัดให้คนในย่านนั้น เราก็เลยสามารถจัดเป็นประจำได้ แต่ถ้าเป็นสเกลใหญ่ตอนนี้ยังไม่มีนะ จริงๆ เราไม่เคยคิดไว้เลยว่าใน 1 ปีเราจะจัด The Great Outdoor กี่รอบ ถ้ามีที่ที่เราไปดูแล้วรู้สึกเซอร์ไพร์สมากเราก็จะทำ ทุกอย่างขึ้นอยู่กับพื้นที่ที่เราไปเจออย่างเดียวเลย

ระหว่างที่รอโปรเจกต์ใหญ่ครั้งต่อไป หรือใครที่อยากสัมผัสบรรยากาศตลาดนัดมินิสเกลของแอนและแก้ม อย่าลืมไป The Great Outdoor Mini Market x The Commons ในวันที่ 16 – 17 ธันวาคม 2560 ที่โครงการ The COMMONS ซอยทองหล่อ 17 นะ

Facebook: The Great Outdoor Market
Instagram: @thegreatoutdoormarket

ภาพ ดวงสุดา กิตติวัฒนานนท์

AUTHOR