Chang Beer Lamiat : จากลายเส้นดินสอแบบไทยๆ สู่โฆษณาที่ถ่ายทอดความละเมียดให้ทั่วโลกได้เห็น

จากโลโก้บนขวดที่เป็นเอกลักษณ์ ถูกนำไปสร้างเรื่องราวต่อในภาพยนตร์โฆษณาชิ้นใหม่ของ Chang Beer Lamiat ที่ใครหลายคนได้เห็นกัน ทั้งข้าวบาร์เลย์และฮอปส์ที่ลอยละล่อง รวมตัวกลายเป็นมงคลของนักมวยไทยผู้แข็งแกร่ง งานเฉลิมฉลองที่มีช้าง สัตว์ประจำชาติไทยเป็นพระเอก และฉากนกโผบินเข้าไปในป่าเพื่อเจอน้ำพุพวยพุ่งตระการตา ลายเส้นทั้งหมดในงานนี้คือผลงานของ พิงค์-ฉัตรชนก วงศ์วัชรา สาวนักวาดภาพประกอบและศิลปินที่มีลายเส้นเป็นเอกลักษณ์

โฆษณา Chang Beer Lamiat ชิ้นนี้คือผลงานการร่วมมือของนักสร้างสรรค์ไทยหลากแขนง ตั้งแต่สาธิต กาลวันตวานิช ผู้กำกับภาพยนตร์โฆษณาแถวหน้าเจ้าของโปรดักชั่นเฮาส์ ฟีโนมีนา และทีมแอนิเมชัน YGGDRAZIL ที่ร่วมกันรังสรรค์ให้ลายเส้นดินสอของพิงค์กลายเป็นงานแอนิเมชั่นสามมิติที่เหมือนมีชีวิตจริงๆ ขึ้นมา ที่พิงค์บอกกับเราว่าผ่านทั้งการค้นคว้าหาข้อมูล ทดลอง และทำงานในขอบเขตใหม่ๆ ที่มีรายละเอียดน่าสนใจมากมายพร้อมเล่าให้ฟัง เพราะเธอตั้งใจให้งานชิ้นนี้ออกมาสมบูรณ์แบบ และละเมียดอย่างที่แบรนด์ต้องการจะสื่อออกมาจริงๆ

4 ปรัชญาสำคัญสู่เรื่องราวที่เรียงร้อยกัน

“ตอนแรกสุดทางฟีโนมีนาติดต่อเรามาก่อนเพราะเรากับพี่สาธิตเคยทำงานร่วมกันมาแล้ว ทางผู้กำกับและครีเอทีฟเองมีภาพในหัวแต่ยังไม่สามารถจบงานได้ เลยให้เรามาช่วยจบภาพให้”

“งานนี้มีคีย์วิชวล 4 คำของแบรนด์คือ Craftmanship, Respect, Harmony และ Refreshment โดยผู้กำกับฯ วางภาพโฆษณาโดยให้โลโก้ของแบรนด์เป็นตัวเล่าเรื่อง ทั้งเมล็ดพันธ์ุและฮอปส์ที่สื่อถึงความคราฟต์และพิถีพิถันในการผลิต นักมวยที่เคารพซึ่งกันและกัน ซูมเข้าไปในดวงตานักมวยเป็นฉากงานสังสรรค์ที่มีช้างโค้งเข้าหากัน และเป็นน้ำพุที่พูดถึงความสดชื่น แต่ละคำก็ค่อนข้างชัดเจนว่าจะตีความออกมาเป็น object อะไร ทั้งหมดทั้งมวลสื่อถึงวัฒนธรรมไทยที่ให้เกียรติกัน สร้างความปรองดอง สิ่งที่ยากหน่อยคือการหาวิธีทรานสิชันว่าจะนำเสนอ object นี้ไปสู่อีก object หนึ่งได้ยังไงโดยไม่ให้ขัดกัน”

ละเอียดทั้งการทำงานและผลงานที่ออกมา

พอต้องวาดภาพที่สื่อถึงความเป็นไทย พิงค์ยังทำงานร่วมกับทีมครีเอทีฟของฟีโนมีนาเพื่อรีเสิร์ชข้อมูลต่างๆ ให้วาดออกมาได้อย่างถูกต้อง “ลักษณะการไหว้ ท่วงท่า เสื้อผ้า และพิธีกรรมต่างๆ ที่เราจะเอามาใส่ในฉาก ทุกคนก็ช่วยกันหาเรเฟอเรนซ์เพื่อให้เราสื่อภาพออกมาได้ถูกต้อง เพราะถ้าไม่ถูกต้องก็อาจมีดราม่าเกิดขึ้นได้ง่าย”

“พอคอนเซปต์ของงานนี้คือความละเมียด เราเลยต้องเน้นรายละเอียดของงานมากเป็นพิเศษ อย่างลายเส้นก็มีการคุยกันว่าจะนำเสนอสไตล์ไหน มีแบบที่ทดลองประมาณ 3 – 4 สไตล์ เช่น ถ้าเรานำเสนอแบบใช้บรัชสโตรกหรือเป็นลายเส้นสีน้ำจะเป็นยังไง แต่สุดท้ายก็กลับมาที่คำว่า ‘ละเมียด’ มันควรจะสื่อถึง ‘gods is in details’ ควรจะทำให้เห็นว่าแม้จะเป็นจุดเล็กจุดน้อย เราควรจะพิถีพิถันในทุกๆ ส่วน เลยกลายเป็นลายเส้นที่เราถนัดคือ maximum ละเอียดสุดๆ”

“การทำงานของเราจะวาดมือด้วยดินสอเป็นหลัก ประมาณ 60 – 70 เปอร์เซ็นต์ ลายเส้นดินสอยังไงก็ไม่เหมือนวาดในคอมพิวเตอร์ ส่วนพาร์ตที่แก้หรือทำซ้ำ (duplicate) ได้ เราจะเอาไปปรับในคอมพิวเตอร์รวมถึงการจัดคอมโพสิชั่น ปรับแสง ปรับสี”

เปลี่ยนภาพบนกระดาษเป็นงานสามมิติที่มีชีวิต

พิงค์เล่าว่าก่อนหน้านี้ตัวเองเคยผ่านงานโมชั่นกราฟิกมาเยอะแล้วเหมือนกัน แต่โฆษณา Chang Beer Lamiat เป็นงานแรกที่ต้องคิดว่าจะเปลี่ยนภาพวาดสไตล์เรียลิสติกให้ขยับเป็น 3 มิติอย่างสมจริงได้อย่างไร “อย่างนักมวยที่ต้องหมุน 360 องศา ทำให้เราต้องทำงานร่วมกับทีม YGGDRAZIL ที่เขาจะปั้นโมเดลนักมวยขึ้นมา แล้วเรามาทำสกินโดยเอาลายเส้นดินสอเข้าไปแมปกับตัวอ็อบเจกต์ อย่างพาร์ตหัวจะค่อนข้างละเอียดมากกว่าโซนอื่นๆ ต้องวาดทั้งด้าน plan, front และ side มองให้เป็นภาพรวมและต้องทำให้ทุกส่วนสวยเท่ากันหมด เต็มที่หมดทุกด้าน”

“ซีนที่ยากหน่อยคือซีนน้ำพุที่เราต้องการการขยับของน้ำที่ละเอียดมาก ตอนแรกกะว่าจะต้องวาดแบบ shot by shot ไปเลย หนึ่งวินาทีมี 25 ช็อต แต่ก็เปลี่ยนเพราะมันเพิ่มงานให้โปรดักชั่นเฮาส์มากเกินไป เราเลยวาดน้ำพุแค่ 2 – 3 ซีนแล้วให้ทีมไปขยับตาม”

เติมเต็มความเป็นไทยลงในเนื้องาน

“เราว่าสิ่งที่ทำให้งานชิ้นนี้ดูเป็นไทยมากขึ้นคืออ็อบเจกต์นี่แหละ เพียงแต่ว่าเราจะทำให้ดูร่วมสมัยยังไง ทำให้ไม่เชย เราแก้ปัญหาด้วยการคุมโทนสี ปกติถ้าเราใช้สีผิวหนังมนุษย์เป็นสีปกติ แล้วยิ่งวาดเรียลิสติกอีก ก็จะเป็นเหมือนงานธรรมดาๆ เลยคุมโทนสี โดยใช้สีของลูกค้าเป็นหลัก เขียว เหลือง แดง และเติมความสดชื่นด้วยสีฟ้าแซมๆ บ้าง แต่ผิวของคน ช้าง ก็ทำเป็นออกเอิร์ธโทนหรือขาว-ดำไป ซึ่งพี่สาธิตก็ซื้อไอเดียนี้”

“ในลายเส้น ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือไทโปกราฟี ลูกค้าใช้ฟอนต์ที่โมเดิร์นมากอยู่แล้ว วิธีก็คือเราต้องทำให้ร่วมสมัยโดยไม่ไทยจ๋าเกินไป เราตวัดลายเส้นและเอากลิ่นของลายกระหนกนิดๆ ใส่เข้าไปให้ได้เซนส์ของความเป็นเอเชียมากขึ้น”

ความละเอียดและละเมียดคือทักษะที่สำคัญ

“คำว่าคราฟต์ไม่ได้จำกัดแค่เฉพาะทักษะ แต่อยู่ในไอเดียก็ได้ การที่เราให้ความสำคัญกับรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ก็เป็นเสน่ห์ที่ใครสังเกตเจอแล้วอาจรู้สึกว่าน่ารักว่ะ เราคิดว่าถ้าเกิดเราฝึกฝนจากด้านที่เยอะมาก่อน เราเป็น maximum มาก่อนเราจะรู้ว่าจุดไหนที่พอดีแล้ว แล้วค่อยปรับลดทอนให้น้อยลงตามการใช้งาน ความละเมียดและรายละเอียดในลายเส้นของเราเลยตอบโจทย์งานชิ้นนี้”

www.chatchanokwong.com

facebook | Chatchanok Wong

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ชนพัฒน์ เศรษฐโสรัถ

ช่างภาพนิตยสาร a day ที่เพิ่งมีพ็อกเก็ตบุ๊กเล่มใหม่ชื่อ view • finder ออกไปเจอบอลติก ซื้อสิ ไปซื้อ เฮ่!