ชีวิตใหม่ : หนังโฆษณาแนวทดลองที่พาวงการโฆษณาไทยไปในจุดที่ไม่เคยไปถึง

คนที่ติดตามวงการโฆษณาไทยแบบห่างๆ ต่างพากันชื่นชมหนังโฆษณาเรื่อง ‘ชีวิตใหม่’
ของบริษัทเงินติดล้อ ที่กล้าส่งสารบอกลูกค้าว่า เราไม่อยากให้คุณกลับมาหาเราอีก
แต่เราอยากบอกว่า ความน่าสนใจของงานนี้ไม่ได้มีแค่ความกล้าของ ปิยะศักดิ์
อุกฤษฎ์นุกูล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทเงินติดล้อ
แต่หนังเรื่องนี้ยังเต็มไปด้วยการทดลองทำสิ่งใหม่ๆ ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในวงการโฆษณาไทย
(และอาจจะวงการโฆษณาโลก) หนังเรื่องนี้เป็นการทำงานร่วมกันของเอเจนซี่ Genesis
12 และธนญชัย ศรศรีวิชัย จากโปรดักชั่นเฮ้าส์ Phenomena

งานทดลองสุดมันที่อยู่ในหนังเรื่องนี้มีอะไรบ้าง
อัศนีย์ อักษรนุกูล Chief Creative Officer กับ วิลาสินี
สุวรรณมณี
Creative Director จาก Genesis 12 (ซึ่งร่วมสร้างแบรนด์กับเงินติดล้อมาตั้งแต่หนังโฆษณาเรื่องแรกทำให้แบรนด์เป็นที่รู้จักชั่วข้ามคืน ด้วยดีกรีรางวัล Bronze จากเวที Cannes Lions ในปี 2011) จะมาเกริ่นให้ฟังก่อน
แล้วค่อยโยนไม้ให้
ธนญชัย ศรศรีวิชัย อดีตผู้กำกับโฆษณาอันดับหนึ่งของโลก
มาเล่าต่อเรื่องความพิเศษในขั้นตอนการถ่ายทำ ซึ่งอ่านแล้วคุณอาจจะประทับใจหนังเรื่องนี้ในอีกมุมที่ต่างไป

เรื่องเริ่มต้นจากการรีแบรนด์ ‘เงินติดล้อ’

Genesis 12: ศรีสวัสดิ์ เงินติดล้อ
เป็นแบรนด์สินเชื่อที่อนุมัติรวดเร็ว ซึ่งช่วยให้ลูกค้าใช้เพื่อแก้ปัญหาต่างๆ ในชีวิตได้เร็ว สโลแกน ‘ของ่าย ได้ไว’ คือแกนหลักของแบรนด์ ในช่วงเริ่มต้น
เราทำหนังโฆษณาไปหลายเรื่องจนแบรนด์เป็นที่รู้จัก และเป็นแบรนด์อันดับต้นๆ ที่มีคนจดจำได้ ทำมาได้สัก
4 – 5 ปี ทางบริษัทก็คิดว่าถึงเวลารีแบรนด์ เพราะอยากสร้างภาพลักษณ์ใหม่
และทำให้คนมองธุรกิจนี้ในมุมที่กว้างขึ้น คือ การมีส่วนช่วยให้เขามีชีวิตที่ดีขึ้น ไม่อยากให้เอาไปใช้ในสิ่งไม่จำเป็น จนต้องก่อหนี้ไม่สิ้นสุด กลุ่มเป้าหมายหลักคือคนทั่วไปที่มีรายได้น้อย คนหาเช้ากินค่ำ ซึ่งต้องพึ่งพาเงินกู้นอกระบบ การรีแบรนด์ใหม่เริ่มจากชื่อและสัญลักษณ์ใหม่ โดยเน้นเฉพาะชื่อ
ชัดๆ ว่าเราคือ ‘เงินติดล้อ’ เราเป็นทางเลือกที่ดีกว่า
เพื่อช่วยเหลือเขาในเวลาที่ยากลำบาก ให้เขาได้รับความเป็นธรรมดีขึ้น มากกว่าสินเชื่อนอกระบบ และเปลี่ยนสโลแกนเป็น ‘ชีวิตหมุนต่อได้’ เราจึงอยากทำหนังโฆษณาที่พูดถึงภาพลักษณ์ใหม่ของแบรนด์
โดยไม่ได้เน้นขายสินค้าเพียงอย่างเดียว

ไอเดียหนังเริ่มจากสินเชื่อตลาดสด

Genesis 12: เราอยากสื่อสารภาพลักษณ์ใหม่ของแบรนด์ให้ชัดเจน
ลูกค้าบรีฟมาว่าอยากให้เป็นแบรนด์ที่ผู้บริโภครู้สึกดีเพราะถึงเงินติดล้อจะเป็นแบรนด์ที่คนชอบ
หนังโฆษณาสนุก แต่ปัญหาใหญ่ของธุรกิจไฟแนนซ์คือ คนไม่ได้ชอบแบรนด์ ทั้งๆ
ที่เงินติดล้อก็ทำหน้าปล่อยสินเชื่อ และคิดดอกเบี้ยตามความเสี่ยงของลูกหนี้
ตามปกติ และสิ่งหนึ่งที่เงินติดล้อพยายามทำคือ หาโปรดักต์ดีๆ
มาช่วยทำให้ชีวิตลูกค้าดีขึ้น ลูกค้าเล่าเรื่องสินเชื่อตลาดสดให้ฟังว่า
เข้าไปให้สินเชื่อกับแม่ค้าในตลาดสดซึ่งส่วนมากเป็นหนี้นอกระบบ ช่วยให้เขาปิดหนี้นอกระบบมากู้หนี้ในระบบซึ่งเสียดอกเบี้ยถูกกว่ามาก และการผ่อนก็ง่าย ตามกำลังของเขา เมื่อปิดสินเชื่อได้ก็มีเงินมาซื้อของมาขายเพิ่ม พอขายของดีขึ้น
เหลือกำไรมากขึ้น ก็อยากขยายแผง เราก็ปล่อยสินเชื่อให้อีก พร้อมมีคนคอยช่วยให้คำปรึกษาด้านการเงินกับแม่ค้าด้วย
เป็นกลุ่มคนที่ไม่เคยมีใครเข้าไปหามาก่อน เราเห็นถึงความจริงใจของเงินติดล้อ
เห็นความตั้งใจของแม่ค้า ที่อยากทำอาชีพสุจริต เพื่อให้ตัวเองมีรายได้มากพอ มีชีวิตที่ดีขึ้น
และไม่ต้องเป็นกลับมาเป็นหนี้อีก และเขาก็ทำได้ถ้ามีคนช่วยเขาจริงๆ
ไม่เอาเปรียบเขา เราว่าเรื่องนี้น่าสนใจ น่าเอามาขยายให้เป็นหนังโฆษณาที่สร้างแรงบันดาลใจได้

พูดเรื่องจริงอย่างจริงใจ

Genesis 12: เราพัฒนาวิธีเล่าเรื่องเพื่อทำให้คนรู้สึกว่าเงินติดล้อช่วยให้ชีวิตเขาเดินต่อไปได้ แต่สุดท้ายเราก็พบว่า
ไม่ว่าจะทำหนังโฆษณาให้ดูเป็นคนดียังไง เมื่อแตะมาที่แบรนด์คือเงินติดล้อ คนดูจะรู้สึกว่าเราไม่จริงใจอยู่ดี เพราะคุณก็ยังเก็บเงินค่างวด ยังกินดอกเบี้ยเขาอยู่ เราในฐานะที่เป็นครีเอทีฟ
รับผิดชอบในการสร้างภาพพจน์ที่ดีให้กับลูกค้า เราเองก็ต้องจริงใจกับลูกค้าเช่นกัน
จึงมองหาแนวทางใหม่ในการสื่อสารที่จะให้ผลออกมาดีกับลูกค้ามากที่สุด โดยยึดหลักความเป็นจริง
ไม่โกหกหรือหลอกล่อ และนี่คือจุดเริ่มของการทำหนังโฆษณาที่ตรงไปตรงมามากที่สุด
จริงใจที่สุด อย่างที่เรายอมรับว่าไม่เคยทำมาก่อน เราก็เลยต้องพูดเรื่องที่ตรงไปตรงมาที่สุด จริงใจที่สุด ก็พูดไปเลยว่าเราเป็นใคร อยู่ในธุรกิจอะไร รายได้ของเรามาจากอะไร ซึ่งจะทำให้คนดูยอมรับได้ง่ายที่สุด ในหนังโฆษณาที่ผ่านมา
เราก็เล่าถึงสินค้าอย่างค่อนข้างตรงไปตรงมาตลอด
แล้วลูกค้าก็กล้าพอจะพูดเรื่องนี้ด้วย เพราะเขาตั้งใจอยากให้คนปลดหนี้ได้จริงๆ
ถ้าไม่ใช่ลูกค้าเงินติดล้อก็คงไม่มีทางขายไอเดียนี้ได้
เพราะสินเชื่ออื่นจะมีบุคลิก มีวิธีการที่แตกต่างกันออกไป

ขายงานด้วยสคริปต์โดยไม่มีสตอรี่บอร์ด

Genesis 12: เราขายงานด้วยสคริปต์ที่เป็นแกนของเรื่องทั้งหมด
ยังไม่มีสตอรี่บอร์ด เพราะเนื้อหา หรือ
content นี้เป็นหัวใจสำคัญ และถึงแม้จะรู้ว่านี่คือแนวคิดที่ตอบโจทย์ของแบรนด์ได้ดีที่สุด
เป็นวิธีที่ยังไม่มีใครกล้าทำมาก่อน แต่เราก็ยังอดกลัวไม่ได้ว่าลูกค้าอาจมีความกังวล
จนไม่ซื้อแนวคิดนี้ก็ได้ แต่ลูกค้าก็ซื้อ และมีความมั่นใจว่านี่จะเป็นไอเดียที่ดีที่สุด
สำหรับการสร้างแบรนด์ให้ได้อย่างที่เขาต้องการ

รักคนดู แล้วคนดูจะรักแบรนด์

Genesis 12: ถ้าคนที่เป็นหนี้มาดูหนังเรื่องนี้
แล้วมีกำลังใจอยากปลดหนี้จริงๆ ไม่ว่าจะกี่คน เราก็ดีใจแล้ว เพราะการปลดหนี้เป็นเรื่องยากที่สุด
สำหรับคนทำมาหากินปกติ และอย่างน้อยถ้าช่วยสร้างแรงบันดาลใจให้เขาได้
เราก็ถือว่างานสำเร็จ เพราะเมื่อเขายอมรับในเนื้อหาที่เราบอกเขา หรือถ้าเขารู้สึกดี และชอบสิ่งที่เราพูด เขาจะเชื่อมั่น และวางใจในแบรนด์ของเราด้วยในที่สุด

ทำงานบนความเสี่ยง

Genesis 12: เราตอบไม่ได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ว่าสุดท้ายแล้วผลที่ออกมาจะดีหรือแย่
หรืออยู่ตรงกลาง หรือจะเกิดอะไรขึ้น คนจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย เรากำลังทำสิ่งที่ถูกต้องแล้ว ไม่มีอะไรต้องกลัว
ถ้าพูดเรื่องจริง ไม่ว่าคนจะเชื่อหรือไม่เชื่อ มันก็เป็นความจริง ถ้าจะมีความเห็นในด้านลบ
เราก็ต้องยอมรับความจริง
และเราห้ามความคิดคนดูไม่ได้ แต่ผลที่เกิดขึ้นกับคนที่ยังไม่เคยรู้จักแบรนด์คือ
เขารู้สึกดี นี่เป็นแรงเหวี่ยงที่ใหญ่
มันเป็นหนังโฆษณาที่มีพลังในวงกว้าง มากกว่าทุกเรื่องที่เคยทำมา มันส่งผลถึงทุกคน ทุกอาชีพ ซึ่งส่วนมากก็ยังมีหนี้สินอยู่
เราอยากเห็นคนลุกขึ้นมาปลดหนี้ให้ได้ เพราะพระเจ้าไม่ได้สร้างเรามาเพื่อให้เราเป็นหนี้ใคร การเป็นหนี้คือการสูญเปล่าของการทุ่มเททำงาน
และบั่นทอนความสุขในชีวิต

พัฒนาหนังร่วมกับผู้กำกับ

ธนญชัย: เราค่อยๆ ปรับไอเดียของหนัง ระหว่างทางเราคิดงานเตรียมงานกันมาหลายไอเดีย ทีแรกสุดเราอยากทำหนังที่เล่าว่าคนจนก็มีศักดิ์ศรี
แต่ดูเหมือนเป็นหนังปลอบใจคนจน เพราะหนังไม่ได้แก้ปัญหาอะไรให้คนจน
ไม่ได้ช่วยให้เขาลืมตาอ้าปากได้ในทิศทางที่ควรจะเป็น ซึ่งก็คือ
มุ่งมั่นทำชีวิตตัวเองให้ดีขึ้น ไม่ได้หมายความว่ารวยขึ้น แต่สิ่งที่สำคัญกว่าความรวยก็คือ
ความเป็นอิสระ ดังนั้นเราจึงกลับมาในวิธีพูดและเมสเสจที่ตรงที่สุด อยากทำหนังเรื่องนี้ให้คนไม่เป็นหนี้
ทำให้เขาไม่ต้องกลับมาหาเราอีก นั่นคือขั้นสูงสุดของวิชาชีพเลย

หนังโฆษณาที่ก้าวข้ามสามพรมแดน

ธนญชัย: หนังเรื่องนี้ก้าวข้ามพรมแดนหลายเรื่อง หนึ่ง พรมแดนของการทำโฆษณาแล้วคนต้องเชื่อ
ซึ่งตอนนี้คนไม่เชื่อแล้ว ถ้าเราบอกว่า เราไม่อยากให้คุณเป็นหนี้ เขาจะเชื่อไหม สร้างภาพแน่เลย
ก็เราเก็บเงินจากเขา เราแก้ปัญหานี้ง่ายมากในทางจิตวิทยา
คนจะเชื่อก็ต่อเมื่อสะท้อนความเป็นจริงอย่างสูง ต้องยอมรับก่อนว่าเราเป็นยังไง หนังเรื่องนี้ก็เลยเปิดเรื่องด้วยประโยคที่ว่า
ที่เราทำทั้งหมดก็เพื่อให้คุณมากู้เงิน เราได้ดอก
ส่วนคุณได้เงิน
” นี่เป็นการก้าวข้ามพรมแดนโฆษณาทั้งหมด
เพราะปกติโฆษณาจะหมกเม็ดไม่พูดเรื่องนี้ แต่เราเปิดใจก่อนเลย คนก็จะรู้สึกว่า เฮ้ย! มันยอมรับแล้วเว้ย ลองฟังมันหน่อยสิ

ภาษาหนังรูปแบบใหม่

ธนญชัย: ปกติคนทำหนังจะสนใจภาษาภาพ
แต่เรื่องนี้เป็นภาษาคอนเทนต์ มันหักมุมต่างจากหนังเรื่องอื่นด้วยรูปแบบของเนื้อหาหนังบอกว่า
ที่เราทำทั้งหมดก็เพื่อให้คุณมากู้เงิน เราได้ดอก
ส่วนคุณได้เงิน
” จากนั้นก็ตามด้วย “แต่เรายังมีอีกสิ่งที่อยากจะบอก” ประโยคที่จะพูดต่อไปนี้คือสิ่งที่จะพูดจริงๆ
ถ้าเรายอมรับตัวตนของเราแล้ว คนจะฟังสิ่งที่เราจะพูดต่อไป นี่คือสิ่งสำคัญสุดในการทำโฆษณา
นั่นคือความเข้าใจมนุษย์ พอมนุษย์เริ่มฟัง ก็นำไปสู่สิ่งที่เราจะพูด นั่นก็คือ “ทันทีที่คุณได้เงิน เราอยากให้คุณนั่งนิ่งๆ แล้วคิด”

คัมภีร์ธรรมะในรูปแบบหนังโฆษณา

ธนญชัย: ผมคุยกับลูกค้าว่า
หนังเรื่องนี้ต้องเป็นคัมภีร์ชีวิต คนเป็นหนี้ที่กำลังท้อแท้ดูแล้วต้องมีกำลังใจ
ซึ่งลูกค้าก็น่ารักมาก เขาเห็นด้วย หนังเรื่องนี้ก็เลยก้าวข้ามพรมแดนที่สาม คือ
ผมจะเอาธรรมะที่ยากที่สุดมาอธิบายด้วยคำที่ง่ายที่สุด

เราอยากให้คุณนั่งนิ่งๆ แล้วคิด
อย่าเพิ่งใช้เงิน คิดก่อน นั่นเรียก ‘สติ’

คิดว่าอะไรคือสิ่งที่คุณอยากทำมากที่สุด” ก่อนจะมี ‘ฉันทะ’ (เต็มใจทำ)
ก็ต้องคิดในเรื่องที่ดี ต้องมี ‘สัมมาทิฏฐิ’ (ความเห็นชอบ
เห็นถูกต้องตามทำนองคลองธรรม) มี ‘สัมมาอาชีวะ’ (การทำมาหากินด้วยอาชีพที่สุจริต)

จากนั้นอยากให้หาความรู้
นั่นคือ ‘ปริยัติ’ (การเล่าเรียน)

แล้วลงมือทำ” อันนั้นเรียก ‘ปฏิบัติ’ (การกระทำเพื่อให้เกิดความชำนาญ)

ทำทีละเล็กละน้อย” กำลังใจจะมา

ทำแบบไม่วอกแวก” ‘จิตตะ’ (ความเอาใจใส่ฝักใฝ่ในสิ่งนั้น)
มาแล้ว

ทำแบบไม่คาดหวัง” นี่ก็ยังเป็นจิตตะ

ทำไม่หยุด ทำทุกวัน
คือ ‘วิริยะ’ (ความเพียร)

ทำจนเป็นเลือด เป็นเนื้อ
นี่คือ ‘ปฏิเวธ’ (เข้าใจตลอด ลุล่วงผลปฏิบัติ)

ทำแบบก้มหน้าก้มตา
ตะบี้ตะบัน และทำมันให้ถึงที่สุด
” จิตตะและวิริยะ

ทำจนกระทั่งถึงวันนึง
วันที่คุณเป็นอิสระ
” ผมไม่ใช้คำว่ารวยขึ้น
แต่ใช้คำว่าอิสระ ซึ่งมันเหนือสิ่งอื่นใด

แล้วเมื่อวันนั้นมาถึง
เราไม่อยากให้คุณกลับมาหาเราอีก
” จบ

นักโฆษณาจะมองหนังเรื่องนี้ในมุมของแบรนดิ้ง
แต่ถ้าไปถามชาวบ้าน จะได้อีกมุม ซึ่งผมพอใจในมุมนั้น เพราะผมหวังผลเรื่องนั้นสูง
ชาวบ้านอาจไม่มีเวลาไปอ่านหนังสือธรรมะ ถ้าเราทำหนังดีๆ
ธรรมะจะแทรกซึมเข้าไปได้ หนังเรื่องนี้พูดถึงปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ
ผสมกับอิทธิบาทสี่ ซึ่งทั้งหมดเกี่ยวกับการทำงาน อย่างน้อยถ้าเขาจะทำอะไรแล้วคิดถึงหนังเรื่องนี้ก็ยังดี”

 

นักแสดงไม่ต้องแสดง

ธนญชัย: เราใช้ตัวแสดงจากหนังเงินติดล้อเรื่องก่อนๆ
เพราะในหนังมีประโยคว่า “และในความเป็นจริง” ก็เลยต้องเอานักแสดงเก่ามาบอกว่า ในความเป็นจริงเป็นยังไง
เราเช็กประวัติแต่ละคนว่าเป็นยังไงบ้าง สู้ชีวิตกันมาก
ผมบอกเลยว่าบอร์ดจะเป็นยังไงขึ้นกับตัวพวกเขาเลยนะ สิ่งเหล่านี้คนดูอาจจะไม่เห็น แต่ในใจเรารู้
เรื่องที่ปรากฏทั้งหมด ภาพที่ปรากฎทั้งหมด สถานที่ทั้งหมด
เป็นชีวิตของตัวแสดงเหล่านี้ ทองอินมีงานหลักคือรับจ้างจัดสวน
เราก็ใช้รถมอเตอร์ไซค์เขา หมวกกันน็อกเขา เสื้อผ้าเขา เอาต้นไม้ไปลงที่บ้านไหน เราก็ไปถ่ายที่บ้านนั้น วุฒิทำอุปกรณ์กันขโมยมอเตอร์ไซค์ ทำรีโมตประตูบ้านด้วย
ทำงานหาเงินส่งแม่ที่อยู่ชัยภูมิ พัฒนาตัวเองจากคอมพิวเตอร์เก่าๆ
ผมก็เอาชีวิตเขาเลย ทุกอย่างที่เห็นคือของเขาหมด

เวลากำกับก็ง่าย
เพราะเราเข้าไปในลักษณะที่เคารพในความเป็นตัวเขา เวลาบอกให้คิด เขาก็คิดจริงๆ มันมหัศจรรย์มาก
เพราะเขาไม่ได้แสดง ตาคนที่คิดจริงไม่เหมือนตาที่แสดงนะ ไม่ว่าจะนั่งจะนอนมันก็จริงไปหมด เพราะเป็นตัวเขา

เปลี่ยนวิธีถ่ายทำ

ธนญชัย: ผมบอกลูกน้องว่า เราทำโฆษณาก็จริง
ขายลูกค้าแล้วเดี๋ยวก็จบ แต่สิ่งที่จะไม่จบคือ ชีวิตของไอ้สามคนนี้ เราต้องทำให้คุ้มค่าที่สุด
เราต้องยกระดับความคิดของผู้ร่วมงานทั้งหมด ยกระดับความคิดของลูกค้าด้วย
เอเจนซี่ด้วย คนในกองก็ต้องยกระดับด้วย ห้ามใช้ทุกอย่างที่อยากใช้
ใช้สมองให้เยอะที่สุด กฎข้อแรกเลยคือ ห้ามใช้ไฟ
ใช้แสงสว่างจากดวงอาทิตย์ได้อย่างเดียว ให้ใช้โฟมสะท้อนได้ ผมถามนักแสดงทุกคนเลยว่าได้เงินค่าตัวแล้วเอาไปทำอะไร
มีคนบอกว่าเอาไปทำบ้าน ผมบอกว่าคิดแบบนี้ก็จะจนเหมือนเดิม ต้องเอาไปต่อยอด
ไปซื้ออุปกรณ์ที่ทำให้มีรายได้มากขึ้นด้วย ต้องสัญญานะเว้ย

กองถ่ายเล็กมาก

 

ธนญชัย: นี่เป็นกองถ่ายที่เล็กที่สุดที่ผมเคยใช้
เล็กกว่าปกติประมาณ 3 เท่า ผมขอร้องลูกค้าว่าอย่ามาวันถ่าย ขอให้เชื่อใจ
เพราะต้องย้ายกองเร็ว เขาก็น่ารักมาก เขาก็โอเคๆ พอกองเล็กทุกอย่างก็มีความสุขมาก
กินง่ายอยู่ง่าย ใช้เวลาถ่าย 3 วันเท่านั้น

ตัดยาก

ธนญชัย: ตอนตัดต่อยากมาก ได้พี่มานพ (บุญวิภาส)
ช่วยไว้เยอะเลย ตัดมารอบแรกงงๆ
ไม่รู้ชาวบ้านจะเข้าใจไหมเพราะมันยาก ทั้งเรื่องการเรียงลำดับตามสคริปต์ ต้องปรับสคริปต์ด้วย
มันยากตรงเราต้องทำให้คนคิดตามหนังให้ได้ มีทฤษฎีของฮิตช์ค็อกเข้ามานะ คือ suspense คือ unpredictable ต้องเทิร์นสคริปต์ให้หักมุมแล้วหักมุมอีก ต้องใส่ความเป็นมนุษย์เข้าไป
ลูกล่อลูกชนต้องมี ให้เดาไม่ได้ พอคนเริ่มคล้อยตามแล้วจะปฏิเวธ จะฉันทะ ก็ซัดเลย

หนังที่ไม่ได้ทำให้ดูแค่วันนี้

ธนญชัย: หนังเรื่องนี้มีคอนเทนต์หลายอย่างที่ดูแล้วอาจจะประทับใจ
ตอนนี้ดูแล้วอาจจะชอบตรงประโยคที่บอกว่า “แล้วเมื่อวันนั้นมาถึง
เราไม่อยากให้คุณกลับมาหาเราอีก
” แล้วบอกว่าลูกค้ากล้าว่ะ
แต่ต่อไปพอมีคนทำคอนเทนต์นี้อีก คนจะรู้สึกว่าไม่ใหม่ แล้วถ้าหนังเรื่องนี้ออนแอร์ไปอีก
10 ปี คุณจะเข้าใจแก่นสารและสาระสำคัญในนั้น คุณต้องใช้เวลาค้นหาสิ่งที่อยู่ในนั้น
เหมือนหนังเรื่อง
ปู่ชิว, Silence of Love, Unsung Hero เราไม่ได้ทำให้ดูแค่ตอนนี้ วันนึงคนกลับมาดูอีกครั้งก็จะบอกว่า เฮ้ย! กูเข้าใจแล้ว

Credits
Advertising Agency: Genesis 12
Chief Creative Officer : อัศนีย์ อักษรนุกูล
Creative Director: วิลาสินี สุวรรณมณี
Strategic Planning Director: ทัศนวดี ชัยยะ
Account Manager: ฐานิพรรณ เอื้อจงประสิทธิ์
Account Executive: อริยา พันธุมโกมล
Producer: บุษรา จันทร์สิริ
Production House: Phenomena
Director: ธนญชัย ศรศรีวิชัย

ภาพ Phenomena

AUTHOR