วิชาตัวเบา : เอ็มวี 360 องศาของบอดี้สแลมที่ทำให้คนไทยบินได้ (ในที่สุด)

“ผมอยากเห็นคนไทยบินได้”

คือคำพูดของ ตูน บอดี้สแลม ก่อนเข้าเพลง หวั่นไหว บนเวที HOTWAVE LIVE : BODYSLAM MAXIMUM LIVE ที่หอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อปี 2547

วันนั้นตูนคงไม่รู้ว่าประโยคเรียบง่ายแต่ทรงพลังนี้จะกลายเป็นภาพจำของตัวเขาไปตลอดสิบกว่าปีข้างหน้า

ผ่านมา 14 ปี บอดี้สแลมผ่านเวทีใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ กระทั่งคำพูดบนคอนเสิร์ตฮอตเวฟครั้งนั้นกลับกลายเป็นจริงได้ด้วยพลังของเอ็มวีตัวหนึ่ง

วิชาตัวเบา ซิงเกิลที่สองจากอัลบั้มชื่อเดียวกันคือเอ็มวีที่ว่า ครั้งนี้ พวกเขาทดลองเล่นกับเทคนิค VR ที่ทำให้คนดูหันมองรอบเอ็มวีได้ครบ 360 องศา จากฉากในห้องมืดมิด สู่ทุ่งโล่ง กว้าง และทะยานขึ้นบนฟ้าฝ่าฝูงวาฬและแมงกะพรุนไปกระโดดในคอนเสิร์ตบอดี้สแลมบนชั้นอวกาศ ท่ามกลางหมู่ดาวและแสงสีระยิบระยับ

ความแปลกใหม่ตรงหน้าทำให้เราสนใจจนขอไปนั่งคุยกับ
ต้น-ยศศิริ ใบศรี หรือ ‘หัวกลม’ ผู้กำกับผู้อยู่เบื้องหลังเอ็มวี วิชาตัวเบา ถึงวิธีคิดตั้งแต่แรกเริ่มจนถึงวันที่คนไทยบินได้อย่างวันนี้

 

ไอเดียแบบพี่ตูน

เพราะผลงานก่อนๆ ที่ต้นขยันหาเทคนิคใหม่ๆ มาเล่นอยู่เสมอ อย่างเทคนิคการพรินต์วิดีโอเฟรมต่อเฟรมออกมาละลายน้ำแล้วทำเป็นสต็อปโมชั่นในเอ็มวี
Hailstorms ของ ฮิวโก้-จุลจักร จักรพงษ์ ทำเอาเรานึกไปว่าไอเดียการใช้เทคโนโลยี VR มีที่มาจากเขา แต่เอาเข้าจริง เจ้าของไอเดียนี้กลับเป็นคนเดียวกับเจ้าของเพลงต่างหาก

“จริงๆ ไอเดีย VR มาจากพี่ตูนตั้งแต่แรก ที่เขาอยากให้ผมเข้าไปคุยเพราะว่าเขาชอบเอ็มวีของฮิวโก้ที่ผมทำ และเขาอยากได้แอนิเมชั่นแบบนั้นในเอ็มวี
วิชาตัวเบา ด้วย คือเขาต้องการภาพลักษณ์ใหม่ของบอดี้สแลมที่ไม่ใช่การทำเอ็มวีเล่าเรื่องเท่ๆ เหมือนเมื่อก่อน”

แต่นอกจาก VR และการทำสต็อปโมชั่นที่เป็นโจทย์ข้อบังคับแล้ว ที่เหลือตูนก็ปล่อยเป็นพื้นที่ว่างให้ต้นเติมจินตนาการเข้าไปให้สมบูรณ์

 

วิชาตัวเบา = ปล่อยวาง = บินได้

ถ้าเป็นสถานการณ์ปกติ ต้นมักจะใช้วิธีดึงคีย์เวิร์ดจากเนื้อเพลงแต่ละท่อนออกมาตีความเป็นภาพเพื่อให้ภาพเป็นหนึ่งเดียวกับถ้อยคำในแต่ละท่อน แต่เพราะตอนได้รับโจทย์เพลง
วิชาตัวเบา วัตถุดิบของเขามีเพียงชื่อเพลง ดนตรีเปล่า และเนื้อร้องที่จดอยู่บนกระดานห้องอัดของบอดี้สแลม ภาพในเอ็มวีทั้งหมดจึงตีความจากมาจากชื่อเพลงและฟีลลิ่งล้วนๆ

“เราไม่ได้ตีความเพลงนี้ตามเนื้อเพลงแต่ตีความตามภาพรวม ตามความรู้สึกของมัน คีย์เวิร์ดมีแค่คำว่าปล่อยวางกับวิชาตัวเบา ถ้าพูดสั้นๆ คือให้ปล่อยวางแล้วลอยไปกับพี่ตูน เพราะภาพจำของพี่ตูนคือการพูดว่าอยากให้คนไทยบินได้ คนไทยก็บินได้สักทีกับเอ็มวีตัวนี้

“เราทำการบ้านกับเอ็มวีเก่าๆ ของเขามาเยอะ ผมตั้งใจให้
วิชาตัวเบา เป็นภาคต่อของเอ็มวีเพลง ขอบฟ้า ที่พี่ตูนแขนหักแล้วให้แฟนบินไปคนเดียว เราเลยเลือกสถานที่ที่ดูคล้ายๆ กันกับเอ็มวีนั้น อีกความตั้งใจหนึ่งคือการให้พี่ตูนวาร์ปไปวาร์ปมาเหมือนใช้วิชาตัวเบา ให้หาพี่ตูนกัน ซึ่งสิ่งนี้มันจะยิ่งสนุกถ้าใส่แว่น VR นะ แบบโอ้โห พี่ตูนอยู่ตรงนี้เองเหรอ”

 

บอกลาโลกขาวดำสู่กาแล็กซีสีสด

“พี่ตูนพูดกับเราตั้งแต่แรกว่าอยากได้เอ็มวีที่เปิดมาแล้วบรรยากาศอึดอัด ก่อนจะค่อยๆ เคลื่อนมายังที่โล่ง แล้วก็บินไปด้วยกันกับเขา หลังจากนั้นจะทำอะไรก็ได้เลย แล้วแต่ต้น”

‘อะไรก็ได้’ จึงถูกนำมาตีความและแบ่งเพลงออกเป็นสองพาร์ต พาร์ตแรกเป็นภาพขาว-ดำชวนอึดอัดและแปร่งประหลาดด้วยภาพหลุมดำที่โผล่มาตั้งแต่ต้นเอ็มวี หรือผืนผ้าโบกสะบัดที่งอกจากดิน เป็นตัวแทนความบ้าบอในโลกความเป็นจริงอันโหดร้าย ส่วนพาร์ตสองคือการล่องลอยขึ้นไปยังท้องฟ้าสีสดใสเต็มไปด้วยปลาวาฬ และปิดท้ายด้วยการเลิกคิดมากแล้วปล่อยใจให้มีความสุขกับคอนเสิร์ตบอดี้สแลมบนกาแล็กซีที่มีแสงสีวูบวาบเหมือนเวทีจริง

 

งานคอลลาจแบบ VR

นอกจาก VR ที่เป็นเทคนิคหลัก เอ็มวีวิชานี้ยังอัดแน่นไปด้วยเทคนิคแพรวพราวสมกับเป็นผลงานของหัวกลม ทั้งท่อนโซโล่ที่ใช้แอนิเมชันสไตล์เอ็มวี
Hailstorms คือการพรินต์เอ็มวีออกมาเฟรมต่อเฟรมและหยดน้ำลงไปให้สีละลาย เกิดเป็นเอฟเฟกต์คล้ายสีน้ำ และสแกนกลับไปทำสต็อปโมชั่นอีกครั้ง หรือจะเป็นการเพิ่มโมเดลสามมิติเข้ามาเป็นสีสัน เช่น เหล่าสัตว์น้ำที่ล่องลอยอยู่บนท้องฟ้า หรือก้อนเมฆ 3D รอบทิศทางเพิ่มความเซอร์เรียล

“เรารู้อยู่แล้วว่าการทำ VR ใช้พลังทรัพยากรสูง เราเลยชัดเจนตั้งแต่แรกว่าไดเรกชั่นของเอ็มวีจะเป็นกึ่งๆ คอลลาจ อย่างที่เห็นคือช่วงท้องฟ้า เราตั้งใจทำให้เป็น 3D ที่ไม่เรียลลิสติก เพราะงานเรียลลิสติกเราก็ไปสู้กับฮอลลีวู้ดไม่ได้อยู่แล้ว”

 

การทดลองครั้งใหม่

แม้ในอดีต ต้นจะเคยทดลองเทคนิค VR มาแล้วกับเอ็มวีของสล็อตแมชชีน (ที่สุดท้ายไม่ได้ปล่อย) แต่ครั้งนั้นก็เป็นการถ่ายทำที่เขาประดิษฐ์กล้อง VR ขึ้นมาเองด้วยกล้องโกโปร 6 ตัว แต่ครั้งนี้ เมื่อจะทำเอ็มวี VR อย่างจริงจัง เขาจึงต้องยังต้องนั่งหาข้อมูลเรื่องกล้องอยู่เป็นอาทิตย์ก่อนจะพบว่ากล้องที่เขาตามหานั้นไม่มีขายในเมืองไทยด้วยซ้ำ

“เราหาข้อมูลอยู่นานว่ากล้องแบบนี้มีขายที่ไหน สรุปว่าต้องไปซื้อที่สิงคโปร์ พอซื้อมา กล้องมันถ่ายได้ไฟล์ไซส์ 8K (ชัดกว่า Full HD 1080p 16 เท่า) เราก็เลยต้องซื้อคอมพ์ใหม่อีกประมาณเกือบสามแสนเพื่อทำเอ็มวีนี้ให้ได้ ก่อนถ่ายอาทิตย์หนึ่งเราก็เอากล้องมาตั้ง แล้วลองถ่ายดูว่าคนสามารถเข้าใกล้กล้องได้มากที่สุดแค่ไหน เพราะด้วยความที่เป็นกล้อง 6 ตัวรวมกัน ถ้าเข้าใกล้เกินไปหน้าจะเบี้ยวแล้ว”

 

การทดลองครั้งใหม่ (ที่พลาดไม่ได้)

ความกดดันอีกอย่างคือเอ็มวีที่เพิ่งปล่อยออกมานี้จริงๆ แล้วถ่ายทำกันมาตั้งแต่ก่อนตูนจะออกวิ่งจากเบตงไปแม่สายเสียอีก อันที่จริง หลังวันถ่ายทำไม่กี่วันตูนก็บินไปยังเบตงเพื่อเริ่มวิ่งแล้วด้วยซ้ำ นั่นแปลว่าพวกเขาจะพลาดไม่ได้ แม้จะมีแบตเตอรี่เพียงก้อนเดียวก็ตาม

“เรามีกล้อง VR จิ๋วอีกตัวหนึ่งเป็นตัวเทสต์มุมกล้อง อย่างตอนถ่ายพี่ตูนคนเดียวที่ลานโล่งๆ เราก็ต้องใช้ตัวนี้ลองก่อน เพราะว่ากล้องจริงมีแบตก้อนเดียว ตัวแทนจำหน่ายที่สิงคโปร์เขาไม่ขายแบตแยก เพราะฉะนั้นตอนถ่ายพี่ตูนที่ชลบุรีเรามีเวลาแค่ 2 ชั่วโมงเท่านั้น แต่ในสตูดิโอที่ถ่ายวงดนตรีเราเสียบปลั๊กได้เลยรอด

“เราลองแล้วว่ารัศมีที่คนยืนแล้วหน้าจะไม่เบี้ยวคือราวๆ 3 เมตรจากตัวกล้อง เราเลยคิดว่างั้นเมฆที่เป็นฉากหลังช่วงร้องเพลงต้องอยู่ห่างจากกล้อง 7 เมตร เราก็ต้องไปเช่าสตูดิโอใหญ่เบ้อเร่อเพื่อเอาเมฆมาวาง ได้พี่ต้นจาก Duck Unit มาช่วยจัดไฟ ทำไฟไหม้ ฟ้าผ่าตรงเมฆให้ เฉพาะฉากในสตูดิโอนี่ต้องเซตก่อนถ่ายหนึ่งวันเลย แล้วถ่ายในสตูดิโอล้วนๆ อีกวัน แล้วก็ถ่ายฉากพี่ตูนคนเดียวในทุ่งอีกวัน

“ตอนแรกเอ็มวีตัวนี้จะต้องปล่อยหลังจากที่พี่ตูนวิ่งเสร็จ แต่มันไม่เสร็จ เพราะว่ากระบวนการทำยากมากๆ มันเลยเลื่อนมา เราต้องเรียนรู้ใหม่หมดเลย เป็นความรู้ใหม่ที่ผมต้องนั่งเรียนรู้กับที่ออฟฟิศ คือทำ VR เฉยๆ ก็ยากแล้ว ดันทะลึ่งทำแอนิเมชั่นแบบ
Hailstorms เข้ามาอีก มีการ composite สามมิติ (ทำซีจีสามมิติ) เข้ามาอีก”

คำว่าความพยายามไม่เคยทำร้ายสักคนที่ตั้งใจดูจะใช้ได้ก็ในสถานการณ์นี้ เมื่อหลังปล่อยเอ็มวีที่ทุ่มเทมาหลายเดือน พวกเขาได้รับเสียงชื่นชมน่าชื่นใจพร้อมยอดวิวที่พุ่งสูงอย่างรวดเร็ว

“สิ่งที่เราอยากให้คนดูได้รับก็คือประสบการณ์ใหม่นั่นแหละ ต้องชื่นชมพี่ตูนที่เขาอยากได้เอ็มวีแบบนี้ ผมก็แค่มีหน้าที่ทำให้มันสำเร็จอย่างที่เขาอยากได้ แต่แค่สิ่งที่เขาอยากได้มันยากไปหน่อยแค่นั้น (หัวเราะ)”

ภาพ พชรธร อุบลจิตตต์, HUAGLOM Studio, Genie Records

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

พชรธร อุบลจิตต์

เป็นช่างภาพที่เรียนการเมืองแต่ชอบเดินทางเป็นอาชีพแถมยังชอบทำขนมเป็นงานอดิเรก กำลังเก็บเงินไปเอเวอเรสต์และซื้อตู้เย็น