The Only One : หนังสั้นโฆษณาฮาปนซึ้งของทีม Hello Filmmaker ที่เรียกน้ำตาใครไปหลายคน

นาทีนี้คงไม่มีหนังสั้นโฆษณาเรื่องไหนถูกพูดถึงมากไปกว่า ‘The
Only One-Short Film’ หนังสั้นยอดวิวเฉียด 10
ล้านบนเฟซบุ๊กที่ชวนให้เรากดดูจากการจั่วหัวสุดน่าสนใจว่า ‘จีบได้
แฟนตายแล้ว’ เนื้อเรื่องเล่าความสัมพันธ์ของคู่รักวัยรุ่นอินดี้ที่พอดูจบแล้วหลายคนอาจน้ำตาไหลไม่รู้ตัวแม้บทไม่ได้ขยี้แถมมีมุกตลกแทรกตลอดเรื่อง
เราเลยรีบต่อสายตรงโทรหา พงศ์-ฐิติพงศ์ เกิดทองทวี แห่งบริษัท
เฮลโลฟิล์มเมคเกอร์ จำกัด ผู้กำกับงานชิ้นนี้เพื่อชวนเขาเล่าเบื้องหลังการคิดถ่ายทำและตัดต่อแบบละเอียดยิบกว่าจะออกมาเป็นงานโฆษณาที่เขาบอกว่า
ได้ทดลองทำในสิ่งที่อยากลองจริงๆ

TAKE 1: เศร้าได้ไม่ต้องขยี้เพิ่ม
“ไอเดียแรกที่ Yell Advertising เอเจนซี่ของลูกค้า
The 1 Card ทำมู้ดบอร์ดมาขายเราแต่แรกเป็นเรื่องของผู้หญิงคนหนึ่งแชตคุยกับแฟน
ซึ่งเรื่องจะไปหักมุมตอนท้ายว่าจริงๆ แฟนตายไปแล้วนะ ซึ่งเขาอยากได้โทนงานคล้ายๆ
มิวสิกวิดีโอเพลง ขอ ของ Lomosonic แต่ที่เราทำงานดราม่าบ่อยในช่วงหลังๆ เราก็ไม่ได้รู้สึกชอบหรือถนัดดราม่าขนาดนั้น มิวสิกวิดีโออาจจะมีวิธีการโกงในการเล่าเรื่องได้ เพราะเราแค่ต้องเล่าเรื่องให้เป็นภาพประกอบเพลง
โดยที่มู้ดและโครงสร้างเพลงก็จะมีบล็อกกิ้งมาให้เราอยู่แล้ว
เช่นเพลงเศร้าก็เล่าเรื่องเศร้า แต่พอเป็นหนัง เราจะไม่มีมู้ดอะไรให้เกาะเลย
ทุกอย่างจะขึ้นอยู่กับเจตนาล้วนๆ จากความเห็นส่วนตัวเรารู้สึกว่า
คนดูเดี๋ยวนี้รู้ทันหมดแล้ว ถ้าอยากเล่าเรื่องเศร้า แล้วเปิดเรื่องมาเศร้าๆเลย
อาจจะไม่มีลูกเล่นเพียงพอที่จะดึงคนไว้ได้แล้ว”

“ผมเลยลองมาพัฒนาบทกับเอิร์ธ (วิโรจน์
สุวรรณรักษ์กูล) ผู้ช่วยผู้กำกับจนเป็นหนังที่ตั้งโจทย์เกี่ยวกับการสูญเสีย
แต่ทำให้สนุกโปกฮาโดยเล่าผ่านอารมณ์เวิ่นเว้อของผู้หญิง
ผมว่าความตายเป็นเรื่องเศร้าอยู่แล้ว
ไม่รู้จะพยายามทำให้เป็นเรื่องเศร้ากว่านี้เพื่อขยี้ไปทำไม ซึ่งเราอยากลองโจทย์แบบนี้พอดีเลยลองไปขายดู
ถ้าไม่ผ่านก็ไม่เป็นไรเพราะเราไม่อยากไปทำแนวดราม่าที่ไม่ถนัดแล้ว”

TAKE 2: สร้างบทสนทนาจากประสบการณ์ตรง
“เราวางโครงเรื่องให้เล่าไปเลยว่าผู้ชายตายตั้งแต่แรก
คิดว่ามันน่าจะสนุกมากกว่าการเอาไปหักมุมทีหลัง แล้วก็ให้ผู้หญิงนั่งคิดถึงแฟนที่จากไป
สงสัยว่าแฟนแอบมีกิ๊กหรือเปล่า พยายามเข้าไปดูเฟซบุ๊กของผู้ชายแล้วถึงรู้ว่าเราเป็นคนพิเศษของเขา
เงยหน้าไปเจอแหวน ซีนหลักๆ พวกนี้ล็อกไว้ตั้งแต่ต้น แต่รายละเอียดอย่างหมาชื่อเจอร์ราร์ด หรือฉากบึงบัว
ค่อยๆ เติมเข้ามาทีหลัง”

“ตอนคิดสคริปต์ส่วนใหญ่ก็จะเป็นอารมณ์นั่งต่อบทกับเอิร์ธ
ตัวละครพูดอย่างนี้ดีไหม ดึงจากคำพูดที่ได้ยินเพื่อนพูดกันหรือเหตุการณ์ใกล้ตัว
แชร์ประสบการณ์ร่วมกันทั้งผมและเอิร์ธว่าเคยเจออะไรกันมา
อย่างตัวละครผู้ชายเรื่องส่วนใหญ่ก็ดึงมาจากเอิร์ธหมดเลย เช่นเรื่อง Vanilla Sky หรือพาสเวิร์ดโน้ตบุ๊ก
พอได้สคริปต์ก็ทำแยกไว้ดูกันเองแต่ไม่ได้เอาไปขายลูกค้า”

TAKE 3: ทำหนังที่เล่าเรื่อง
ไม่ใช่ทำหนังเพื่อขายของ
“ตอนนำเสนอลูกค้า ผมทำคล้ายๆ ชู้ตติ้งบอร์ด
เล่าเป็นคัตติ้งเลยว่าจะตัดยังไง ให้เขาเห็นว่าอะไรจะอยู่ช่วงไหนของเรื่อง ใส่เรื่อง Vanilla Sky ช่วงไหนของเรื่อง
โดยเอามู้ดจากหนังเรื่องอื่นๆ หลายเรื่องมายำรวมกัน
ลูกค้าจะเห็นภาพกว่าเอาสตอรี่บอร์ดที่เป็นภาพวาดไปขาย ซึ่งลูกค้า The 1
Card ก็โอเคเลย เขาอยากได้อะไรที่แปลกใหม่
ช่วงแรกของหนังอาจดูไร้สาระ แต่พอสุดท้ายมันสรุปได้ตาม tagline ว่าให้นึกถึงความสัมพันธ์ของคนใกล้ตัว มันตอบโจทย์และสนุก ลูกค้าก็ไฟเขียว
แทบไม่แก้รายละเอียดอะไรเลย”

“งานนี้ผมโชคดีด้วย เพราะทั้ง Yell Advertising และ ลูกค้า The 1 Card เข้าใจอยู่แล้วว่าเขากำลังจะทำหนัง
ไม่ได้ทำโฆษณาที่ต้องมี tie-in อะไร
วิธีการเล่าเราเลยคิดว่าทำยังไงให้คนดูสนุก ไม่ได้ต้องคิดว่าตัวละครจะหยิบบัตร The
1 Card มาใช้เมื่อไหร่
ทุกเหตุผลที่ใส่เข้ามาก็เพื่อให้หนังสมบูรณ์ขึ้น ตัวละครกลมขึ้น เพราะทุกคนเข้าใจตรงกันว่าสิ่งที่เราต้องการส่งไปให้คนดูหลังจากดูจบมันชัดเจนอยู่แล้ว”

TAKE 4: ครึ่งหนึ่งต้องพึ่งสิ่งที่นักแสดงเป็น
“ทั้งเหมย (ณภัสนันท์
สิรินดาศุภสิริ) และทู (สิราษฏร์
อินทรโชติ) เราได้มาจากการแคสต์รอบสอง จริงๆ มีบางคนเชียร์อีกคู่ที่แสดงได้ดีกว่า ดีดนิ้วแล้วร้องไห้ได้เลย แต่พอเป็นงานโฆษณา ส่วนตัวคิดว่าแค่สีหน้าสื่อสารได้ เล่นได้อารมณ์ พูดจามีเสน่ห์ก็พาเรื่องไปได้แล้ว เพราะเรื่องนี้ผมว่าเราไม่ได้ต้องการคนที่แสดงเก่งขนาดนั้น
พอเลือกคู่นี้ลูกค้าก็บอกเลยว่าคุณพงศ์ต้องเอาแอคติ้งให้อยู่นะ ผมรู้สึกขึ้นหลังเสือทันที (หัวเราะ) เพราะก็ไม่มั่นใจว่าจะไหวขนาดนั้นรึเปล่า
แต่หนังมีแนวโน้มว่าจะน่าสนใจขึ้น”

“ตัวละครผู้ชายค่อนข้างตรงกับภาพที่คิดไว้ตอนแรกคือเซอร์ๆ
กวนๆ จะดูชัดว่าเป็นคนไม่ค่อยแสดงออกว่ารักเราจริงไหม
ส่วนผู้หญิงเลือกเหมยเพราะไปดูงานเก่าๆ ของเขาแล้วรู้สึกว่ามีเสน่ห์ดี จริงๆ
วางไว้แค่ต้องเป็นคนฟุ้งซ่านได้ เพราะคาแรกเตอร์ผู้หญิงในเรื่องน่าจะเป็นกลางมากๆ ส่วนตัวคิดว่าผู้หญิงส่วนใหญ่น่าจะมีอีเกิ้ลอายส์ที่เคยแอบมองพาสเวิร์ดแฟนอยู่บ้าง”

“เวลาร่วมงานกับน้องที่ไม่ได้เป็นนักแสดงอาชีพ
ครึ่งทางเราต้องพึ่งสิ่งที่เขาเป็น
ดูแค่เคมีว่าคนนี้น่าจะเป็นแฟนกับคนประมาณนี้ได้เพื่อความสมจริง
ที่เหลือขึ้นอยู่กับเขาจะแสดงออกยังไงมากกว่า
อย่างซีนบึงบัวก็แค่บอกว่าเหมยพูดแขวะอะไรก็ได้ เหมยก็พูดเองว่า ‘ไหนล่ะบึงบัว’, ‘สวยเนอะ’, ‘มาๆ
ถ่ายรูปให้’, ‘มาถ่ายรูปคู่กับน้องบัวหน่อยเร็ววว’ ทุกคนในกองฟังกันก็บอกว่ากัดเจ็บจริงๆ
เลยนะ”

TAKE 5: โลเกชั่นที่ช่วยเสริมเรื่อง
“เราอยากได้บ้านที่ดูไม่ออกว่าเป็นบ้านหรือคอนโดฯ
ดูไม้ๆ มีสวน มีระเบียงให้นางเอกออกไปเดินเล่น มันตรงกับกลุ่มเป้าหมายวัยรุ่นหรือเฟิร์สจ๊อบเบอร์ชนชั้นกลางดี แต่จริงๆ ก็ไม่ได้คิดลึกขนาดนั้น
แค่มู้ดมันสวยดี (หัวเราะ) มีไปดูบ้านที่พี่เต๋อถ่าย ฟรีแลนซ์ฯ ด้วย แต่หลังนั้นอาจต้องเซ็ตเยอะหน่อย
สุดท้ายก็ได้บ้านที่เคยถ่ายหนังสั้นโฆษณาของ B Talk แล้วปรับใหม่
ห้องนอนกับห้องนั่งเล่นจริงๆ มีประตูอยู่ผมก็ถอดออก
เพราะอยากให้เห็นตัวละครเดินไปเดินมาระหว่างสองห้อง เวลาเขาว้าวุ่นหรือทะเลาะกัน”

“ส่วนโลเกชั่นเอาต์ดอร์ ตามบทก็จะต้องมีวัด มีทะเล
แต่ไม่ได้ซีเรียสว่าต้องเป็นที่ไหนเพราะเราถ่ายแค่มุมเดียว
ทีมสถานที่ก็ทำการบ้านมาดีมากเลย ได้ทุกที่อยู่ใกล้กันหมด
ไปถ่ายกันที่เขาสามร้อยยอด จ.ประจวบคีรีขันธ์
ส่วนบึงบัวเป็นซีนที่ไม่มีในบท แต่ไปดูสถานที่แล้วชอบเลยด้นขึ้นมาสดๆ”

TAKE 6: เตรียมแผนไว้ตามสถานการณ์
“เราถ่ายทำกัน 2 วัน
แบ่งเป็นฉากที่บ้านหนึ่งวัน และฉากเอาต์ดอร์กับงานศพอีกวัน
งานนี้ผมลองถ่ายเป็นซีนๆ แล้วให้ตากล้องช่วยคิดเลยว่าฉากนี้จะเล่ายังไง มุมนี้ดี
ลองไปนั่งมุมนี้ดูนะ กึ่งๆ เหมือนจะด้นสด แต่ก็มีบางอย่างที่ฟิคไว้่ เช่น ช็อตนี้เวลาในเรื่องเท่ากับกี่โมง
แสงต้องประมาณเท่านี้ ก็ถ่ายไล่แสงจริงและเซ็ตไฟด้วย อย่างซีนร้านเหล้า
ก็เซ็ตไฟถ่ายตรงลานจอดรถหน้าคอนโดฯ เอาไฟมาวางซ้อนกันด้านหลัง ถ้าแอบมองจริงๆ
อาจเห็นคนถือไฟหมุนทำแสงวาบๆ อยู่”

“ไม่มีฉากที่ยกเปลี่ยนไปเลย อาจแค่เตรียมไดอะล็อกไว้เปลี่ยน
เช่นฉาก Vanilla Sky เตรียมไว้ว่าถ้าฝนตกก็ให้นักแสดงใส่เสื้อกันฝนแล้วนั่งทำหน้าตายมองดูฝนตกไป
แล้วพระเอกก็พูดว่า ‘เธอๆ รู้อะไรมั๊ย ดูตรงนั้นสิ
พายุลูกนั้นเรียกว่าพายุดีเพรสชันนะ’ นางเอกก็หันมาว่าอันนี้กูอยากรู้ไหมเนี่ย
แต่สรุปไม่เจอทั้งแดดและฝน เราเลยถ่ายเก็บมาไว้ก่อนแล้วค่อยเกรดสีให้มันออกส้มๆ
ทีหลัง”

TAKE 7: ถ่ายหน้าจอโหดกว่าออกกองจริง
“หลังออกกอง
เอิร์ธต้องมาถ่ายหน้าจอให้ผมแก้ไปแก้มาอีก 4-5 วัน
เพราะแค่เราขยับเมาส์เร็วไปนิดหนึ่ง พิมพ์พาสเวิร์ดเร็วไป
มันก็ไม่เข้ากับจังหวะของหนังแล้ว พวกนี้กลายเป็นส่วนหนึ่งของแอคติ้งด้วยเหมือนกัน
เพราะว่านางเอกเป็นคนทำ จะเร็วไป ช้าไปไม่ได้ ตรงนี้ปวดหัวมากๆ
แต่ที่ไม่อยากทำม็อคอัพวิดีโอขึ้นมาเพราะมันจะเป็นกราฟิกแข็งๆ
ไม่เห็นรายละเอียดหน้าจอเหมือนที่ตาเรามอง ยอมถ่ายหน้าจอจริงๆ ดีกว่า”

TAKE 8: the
only one (day)
“เพลงแรกที่คิดไว้ในใจคือ You are my sunshine เวอร์ชั่นของจอห์นนี่ แคช
ซึ่งผมเคยฟังเวอร์ชั่นที่เสียงของเขาเหมือนลุงแก่อ้วนๆ พังๆ ที่เมียทิ้งไป ส่วนตัวรู้สึกชอบมู้ดนี้มาก แต่จะไปซื้อลิขสิทธิ์เพลงนี้ก็คงแพงมาก”

“ผมเลยนึกไปถึงงานของห้างสรรพสินค้า John Lewis ที่ช่วงคริสต์มาสทุกปีเขาจะนำเพลงของศิลปินดังๆ
มาโคฟเวอร์ใหม่เป็นอีกเวอร์ชั่น ซึ่งผมสนิทกับนิค Part Time Musicians และคิดว่าเพลง The Only One ของวงนี้ถ้าร้องให้เสียงเศร้าๆ พังๆ
ดูปวดร้าวหน่อยก็คิดว่าน่าสนใจนะ
เลยขอให้นิคที่ตอนนี้เรียนอยู่ออสเตรเลียทำเวอร์ชั่นนี้ให้หน่อย
ประจวบเหมาะกับน้องแพท นักร้องนำของวงบินไปออสเตรเลียพอดี
นิคก็อัดเสียงแล้วตัดให้ผมเลยในวันเดียว มีทั้งเวอร์ชั่นแพทคนเดียว
เสียงนิคคนเดียว ร้องสลับกัน ก็เอามาวางๆ ดูจนได้เวอร์ชันที่อยู่ในหนัง”

“ส่วนอีกเพลงคือ ดอกไม้ ของ Selina &
Sirinya ผมชอบวงนี้ส่วนตัวด้วย รู้สึกว่าว่ามู้ดเพลงนี้มันเศร้ากำลังดี
ไม่มากไม่น้อยเกินไป ก็เลยเอามาใช้ช่วงกลางเรื่อง
ซึ่งความคิดที่ทำให้ผมอยากใช้เพลงอินดี้ประกอบในหนังต้องให้เครดิตพี่เต๋อ
(นวพล ธำรงรัตนฤทธิ์) และพี่บาส (นัฐวุฒิ พูนพิริยะ) เพราะเวลาเห็นสองคนนี้เขาเลือกใช้เพลงที่ไรมันมักจะพามู้ดหนังไปได้ไกลจากเดิมมากๆ ทุกที”

TAKE 9: ทำอย่างที่คิดว่าออกมาดีที่สุด
“ตอนทำมิวสิกวิดีโอ
ยังไงเราก็ตัดให้ยาวกว่าเพลงไม่ได้เพราะถูกบังคับมาแล้วว่ามีเวลา 5 นาที แต่พอเป็นหนัง ตอนแรกขายไป 7 นาที
แต่ตัดไปตัดมาก็รู้สึกว่ามันอิ่มตรง 11 นาที
ไม่รู้ะแช่หรือตัดตรงไหนแล้ว ซึ่งจริงๆ รวมกันน่าจะมีถึง 24 ดราฟต์เลย
หลังๆ ตัดจนไม่รู้จังหวะจนต้องย้อนกลับไปรื้อใหม่ก็มี”

“พอไปเสนอลูกค้า เขาก็ชอบเลยนะ มีคนหนึ่งร้องไห้เลย
คงเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ผ่านแบบไม่โดนแก้เยอะ มีให้ตัดรูปบางรูปที่ไม่เหมาะสมออก
แต่ผมประทับใจคำพูดของลูกค้าคนหนึ่งมาก เขาพูดว่า ‘ถ้าเป็นงานโฆษณา
ผมรู้ว่าควรคอมเมนต์อะไร ช็อตไหนสั้นยาวเกินไป แต่ว่าเรื่องนี้เป็นหนัง
พงศ์แก้อย่างที่พงศ์คิดว่าหนังเรื่องนี้จะโอเคเลยครับ’ ผมฟังแล้วรู้สึกอบอุ่นมาก น้ำตาจะไหล
ปกติไม่เคยเจอโมเมนต์อย่างนี้เลย ซึ่งก็แก้ไปอีกรอบเดียว ดึงจังหวะให้ช้าลง
เก็บให้เนี้ยบ”

TAKE 10: รางวัลจากการทำในสิ่งที่เชื่อ
“ผลตอบรับจากคนดูเกินคาดมาก
งานนี้ผมตั้งใจว่าถ้าเราทำแนวนี้แล้วคนดูชอบ และมีงานแบบนี้เข้ามาอีกก็คงจะดีนะ
จะได้ไม่ต้องทำแนวที่ไม่ถนัดอีก
ซึ่งที่ผ่านมาผมจะไม่ค่อยรู้สึกว่ามีงานคอมเมอร์เชียลที่ผมทำได้ดีเท่าไหร่
เพราะสุดท้ายต้องผ่านลูกค้าที่เขาอาจมองบางเรื่องไม่ตรงกับเรา แต่งานนี้เราทำด้วยความรู้สึกว่าจะไม่ขยี้
จะทำให้พอดีที่สุด ซึ่งพอเราไม่พยายามให้คนดูต้องรู้สึกมากเกินไป
ก็น่าจะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ผลตอบรับมันดีมาก เรารู้สึกดีที่มีคนชอบงานนี้มากๆ
หรือร้องไห้กับมันทั้งที่พวกเราพยายามเล่าหลายอย่างให้มันนิ่งๆ ไม่ได้ขยี้ด้วยจังหวะการตัดหรือเพลงแบบที่เคยทำ”

“สิ่งที่ได้เรียนรู้คือเรารู้สึกชอบการทำหนังมากกว่าโฆษณาหรือมิวสิกวิดีโอ
เพราะมันเริ่มจากศูนย์แล้วเราสร้างขึ้นมาด้วยจุดประสงค์ที่อยากสื่อสารกับคนดูจริงๆ
โอเค สุดท้ายมันต้องขายของแหละ แต่ตอนที่คิด
เราโฟกัสแค่คนดูต้องรู้สึกอะไร คนดูจะชอบไหม
แชร์กันครึ่งทางกับสิ่งที่เราชอบหรือสิ่งที่อยากให้เป็น งานนี้เราได้คุยกับทีมงาน
ทำการบ้านหลายอย่างมากถามตัวเองบ่อยๆ ดูคัตหลายๆ รอบ หาเพลง
หาจังหวะที่เพลงจะขึ้น เลื่อนไปเลื่อนมาหลายรอบ รู้สึกสนุกกับทุกกระบวนการ เหมือนได้เริ่มเรียนรู้ใหม่อีกครั้งหนึ่ง”

Facebook.com l Hello Filmmaker

AUTHOR