HUBBA-TO จุดรวมตัวคนมีของ พื้นที่ทดลองสำหรับคนรักงานคราฟต์

HUBBA เป็น Co-working Space แห่งแรกที่เปิดให้บริการในกรุงเทพฯ
เมื่อ 4 ปีก่อน ตั้งแต่วันที่คนทั่วไปยังไม่ค่อยเข้าใจว่าพื้นที่แบบนี้คืออะไร
จนถึงวันนี้ที่มี Co-working Space อื่นๆ เกิดขึ้นเต็มไปหมด HUBBA ก็เติบโตอย่างมั่นคง
เป็นศูนย์รวมคนช่างคิดช่างทำในสายสตาร์ตอัพของเมืองไทยที่ทุกคนไว้วางใจมากที่สุด
แต่ก็ใช่ว่าจะหยุดแค่นั้น เพราะตอนนี้พวกเขากำลังฟูมฟักน้องน้อยอย่าง HUBBA-TO
ซึ่งตั้งอยู่บนชั้น 3 ของคอมมูนิตี้มอลล์ชื่อคล้ายกันว่า
HABITO ในโครงการของแสนสิริที่ย่านอ่อนนุช คริสซี่ศิขรินทร์ ลางคุลเสน Project Manager ผู้ดูแลทุกตารางนิ้วของ HUBBA-TO
และ ฝ้าย-ยุพดี สุวิสิษฐ์ จาก Supermachine Studio หนึ่งในทีมผู้ออกแบบพื้นที่นี้จะมาผลัดกันเล่าถึงกระบวนการต่อจุดปักหมุดโครงสร้างตั้งแต่วันแรกที่ไอเดียนี้เกิดขึ้น

1
ออกตัวแบบสตาร์ตอัพ
คริสซี่: “หลายคนคงรู้กันดีว่า คุณชาล เจริญพันธ์ ผู้ก่อตั้ง HUBBA นั้นจะให้ความสนใจกับเรื่องของเทคสตาร์ตอัพ (Tech Startup) มากๆ
จนกระทั่งวันที่ได้ไปพบเห็นการทำงานฝีมืออย่างพวกเครื่องแก้ว เซรามิก ที่ประเทศญี่ปุ่น จึงเกิดแรงบันดาลใจ
ได้แนวคิดในการเปิดพื้นที่สำหรับทำงานพวกนี้ในเมืองไทย บวกกับ คุณเบนซ์ ธนภัทร สินธุวราวรรณ หุ้นส่วนก็สนใจเรื่องพื้นที่สำหรับงานสร้างสรรค์อยู่แล้วด้วย
พอดีกับที่แสนสิริชวน HUBBA มาร่วมกันสร้างพื้นที่ใหม่ให้ลูกบ้านซึ่งเป็นครอบครัวคนรุ่นใหม่
จึงเกิดเป็น HUBBA-TO ขึ้นมา โดยยังคงเปิดพื้นที่ให้คนมาทำงานร่วมกันเหมือนเดิม แต่เน้นไปที่การทำงานคราฟต์ งานดีไซน์มากกว่า”

2
เติมเต็มความตื่นเต้น
คริสซี่: “เราเลือกประเภทของเวิร์กช็อปจากสิ่งที่กำลังอยู่ในความสนใจของคนยุคนี้
ยกตัวอย่าง เรื่องห้องมืด ก็ทำขึ้นมาเพื่อรองรับความนิยมของคนในช่วงนี้ที่หันมาสนใจการถ่ายภาพด้วยกล้องฟิล์มอีกครั้ง
มันเป็นโปรดักไลฟ์สไตล์ที่กำลังกลับมา คนรู้ว่าถ่ายภาพด้วยฟิล์มต้องทำอย่างไรบ้าง
แต่หลายคนต้องข้ามกระบวนการไปให้ร้านล้างฟิล์มให้
ทั้งที่มันมีเมจิกโมเมนต์ในการล้างฟิล์มในห้องมืดซึ่งมันมหัศจรรย์มากๆ สำหรับคนถ่ายภาพ
เป็นสิ่งที่หลายๆ คนอยากลองทำด้วยตัวเอง แต่อาจจะไม่เคยทำหรือสู้ค่าใช้จ่ายไม่ไหว ก็สามารถมาทดลองทำที่นี่ได้ นอกจากนี้ยังมีห้อง Wearable
Art สำหรับเย็บเสื้อผ้า เครื่องหนัง ห้องเซรามิกก็จะมีแป้นหมุน
เตาเผา เคลือบ ห้องงานไม้ ส่วน Maker Space สำหรับงาน 3D
Printing ก็กำลังจะตามมาในเฟสต่อไป”

3
โจทย์จัดจ้าน
Supermachine Studio: “สิ่งที่เหมือนกันของคนยุคนี้คือไม่ต้องการมีห้องหรือโต๊ะเป็นของตัวเอง
ทุกคนย้ายที่นั่ง แชร์พื้นที่กันได้ทุกวัน ทำให้มีพื้นที่ทำงานเพิ่มขึ้น
เราทำงานออกแบบออฟฟิศคนทำงานสร้างสรรค์มาตลอด
แต่นี่เป็นงานแรกที่เราต้องทำพื้นที่งานเวิร์กช็อปด้วย จึงต้องไปคุยกับผู้รู้แต่ละศาสตร์ว่าแต่ละกิจกรรมต้องทำอะไรก่อนหลัง
มีอุปกรณ์อะไรบ้าง พื้นที่เตรียมงาน กระบวนการทำงาน ต้องทำอะไรกันบ้าง
พวกงานปั้นจะเยอะหน่อย เพราะมีปัจจัยเรื่องความร้อนที่ต้องวางแปลนให้อากาศถ่ายเทได้ และมีเครื่องปรับอากาศเพื่อรักษาอุณหภูมิ
ทุกอย่างมันเฉพาะทางมาก แต่ละโซนทำให้เราได้เรียนรู้กระบวนการใหม่ๆ ไปด้วยหมดเลย

“หลังได้รับบรีฟมาว่าที่นี่จะมีส่วน Co-working Space กับส่วนเวิร์กช็อป ทีมงานของเราก็คิดไว้หลายคอนเซปต์นะ พอมาลองขึ้น Sketch Up ดู ก็มองว่าที่นี่จะต้องเป็นพื้นที่ที่รองรับการใช้งานหลากหลาย
เราจึงทำให้มันมีความหลากหลายจะได้ไม่น่าเบื่อ แต่ก็ต้องทำให้พื้นที่ที่ต่างกันยังคงพูดเรื่องเดียวกัน
ดูกลมกลืนเป็นหนึ่งเดียวกันอยู่ จึงหาวิธีใช้ท่อสีฟ้าสดใสต่อกันเป็นเส้นสาย คุมพื้นที่ทั้งหมดให้เลื่อนไหลมาเชื่อมโยงกันและคุมโทนสีในแต่ละโซน ให้รู้สึกถึงการแบ่งสัดส่วนที่ชัดเจน ซึ่งท่อที่เป็นไฮไลต์ของงานนี้ก็เป็นปัญหาแรกๆ
เลยที่เจอ เพราะเราดีไซน์ไปซับซ้อนมาก ตามคอนเซปต์ของ HUBBA-TO ที่ต้องการสื่อถึงการเชื่อมโยงจุดเข้าหากัน
แต่ช่างไม่สามารถดัดท่อให้เป็นไปตามแบบที่เราวางไว้ได้ งานจึงเดินไปช้ามาก ทำให้เราต้องเข้าไปตรวจดูงานทุกสัปดาห์
เข้าไปตรวจสอบปัญหาว่า มีตรงไหนที่เวลาทำจริงแล้วไม่ได้ตามแบบก็จะถูกตัดออกไปบางส่วน
หรือดัดแปลงให้ออกมาใกล้เคียงกับที่คิดไว้มากที่สุด จริงๆ ไม่ว่างานไหนก็ไม่มีอะไรที่ทำได้จริง
100% อยู่แล้ว เราก็ต้องปรับแก้ไปตามแต่ละกรณี”

4
เรื่องเหล็กที่ไม่เล็ก
Supermachine Studio: “สังเกตให้ดีจะเห็นว่าที่นี่มีงานเหล็กเยอะ
มีทั้งบันได ผนัง ลิฟต์ขนาดเล็ก เราเลือกเหล็กสีดำจริงๆ ที่ไม่ต้องทาสีทับ เพื่อความสวยงามตามแบบที่วางไว้ให้มันเหมาะสมกับสไตล์อินดัสเทรียล
ที่เน้นปูนเปลือย โชว์โครงสร้าง สอดคล้องกันทั้งในแง่วัสดุและความรู้สึก แต่ก็มีปัญหาตั้งแต่ตอนเสนอราคาเลย
เพราะไม่มีใครรับทำให้ โชคดีที่สุดท้ายก็ได้ผู้รับเหมาจากแสนสิริมาช่วยจัดการให้จนเรียบร้อยได้ออกมาตามที่ต้องการ”

5
ดัดแปลงความคิดเป็นความจริง
Supermachine Studio: “ดีไซน์แรกกับดีไซน์สุดท้ายไม่เหมือนกันนัก ด้วยข้อจำกัดด้านงบประมาณและปัญหาหน้าไซต์งาน
ตอนแรกส่วนของ Food Lab เราอยากให้คนที่อยู่ข้างในกับคนข้างนอกมองเห็นกันได้ชัดเจนที่สุด
แต่เพราะงานระบบน้ำและไฟต่างๆ ไม่เอื้อ เคาน์เตอร์ที่ตั้งใจจะตั้งติดกระจกจึงถูกเปลี่ยนมาตั้งไว้ด้านในแทน หรือตู้โทรศัพท์ที่เราออกแบบให้มุดเข้าไปใช้จากด้านล่าง
พอผู้ใหญ่มาดูก็คิดว่าลำบากสำหรับคนมีอายุ จึงต้องเปลี่ยนเป็นประตู 2 บานเปิดออกมา
มีหลายอย่างที่ต้องปรับไปตามความเหมาะสมสำหรับการใช้งานจริงๆ”

6
อาณาเขตส่วนตัวในพื้นที่ส่วนรวม
Supermachine Studio: “ในเมื่อที่นี่เราตั้งใจให้เป็นพื้นที่ทำงานจึงอยากให้ทุกคนกล้าที่จะนั่งตรงไหนก็ได้
ไม่เกร็งเวลานั่ง เหมือนนั่งอยู่ในบ้าน มีเก้าอี้ลูกบอล
บาร์โหนเหนือโต๊ะสำหรับยืนทำงาน ส่วนฝั่งที่เป็นโต๊ะยาวต่อกันจะมีแสงไฟเป็นตัวคุมสเปซให้รู้สึกสบาย
เหมือนมีพื้นที่ของตัวเองแม้ว่าจะนั่งอยู่ข้างๆ คนอื่นๆ ก็ตาม ระหว่างห้องเวิร์กช็อปกับ
Co-working Space ก็กั้นไว้ด้วยเหล็กฉีกเพื่อให้คนนอกเห็นกิจกรรมข้างในด้วย”

คริสซี่: “เราแบ่งพื้นที่ให้เป็นสัดส่วน
แต่ก็ไม่อยากให้รู้สึกแบ่งแยกขาดออกจากกันจนเกินไป เพราะอยากให้ทั้งคนที่นั่งทำงานอยู่ข้างนอกและคนที่ทำงานคราฟต์อยู่ข้างในได้มองเห็นกันและกัน
เผื่อว่าวันหนึ่งต่างฝ่ายอาจจะลุกขึ้นมาลองทำสิ่งที่ไม่เคยทำ
หรือเดินมาพูดคุยแลกเปลี่ยนความรู้ความสนใจกันได้”

7
ต่อจุดดีต่อใจ
คริสซี่: “เราพยายามหาวิธีให้พื้นที่เป็นตัวเชื่อมโยงไอเดียเข้าหากัน
ตามสโลแกน ‘Connecting the Dot’ ของ HUBBA จึงมีการทำงานร่วมกันของหลายฝ่ายมาก ตั้งแต่การร่วมกันของร้านกาแฟ
April Store กับเว็บไซต์ Storylog ที่ให้คนมาร่วมเขียนร่วมอ่านเรื่องราวดีๆ
ด้วยกัน ส่วน HUBBA-TO Shop เราก็ร่วมกับ Blisby เว็บไซต์ขายของออนไลน์ ที่เปิดช่องทางให้คนที่อยากเปิดร้านออฟไลน์ได้มีพื้นที่วางขายสินค้า
ส่วน Food Lab นั้นนอกจากจะเป็นพื้นที่เรียนทำอาหารแล้ว ก็สามารถมาจัดอีเวนต์ส่วนตัวที่นี่ได้
ในระยะยาวน่าจะมี Share Dining ชวนคนมาร่วมโต๊ะกินอาหารด้วยกัน
เพราะคนที่อยู่ในโครงการอาจจะไม่รู้จักกัน แต่ที่นี่จะเป็นพื้นที่ที่ทำให้พวกเขาได้มาใช้เวลาร่วมกัน
มาเชื่อมต่อกันที่จุดนี้”

8
โครงสร้างที่ไม่สิ้นสุด
คริสซี่: “ตอนนี้ทุกอย่างก็เป็นรูปเป็นร่างมากขึ้น
เรายังไม่กล้าพูดว่าที่นี่จะสมบูรณ์ร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะเรายังพร้อมที่จะปรับเปลี่ยนไปตลอด ตอนนี้ Community Manager แต่ละคนก็ต้องค่อยๆ เรียนรู้งานทุกประเภทเป็นพื้นฐานในการแก้ปัญหา เพื่อให้การบริการลูกค้าได้อย่างเต็มที่

“เราอยากทำให้คนที่มาที่นี่รู้สึกว่า ‘ฉันทำได้’ จะทำถูกหรือทำผิดก็ไม่เป็นไร แต่ขอให้กล้ามาลองทำอะไรใหม่ๆ ร่วมกัน เพราะที่นี่คือ
Co-creation Community เราเป็นพื้นที่ทดลองของคนทำงาน ถ้าเขาสำเร็จแล้วเขาไม่อยู่กับเราหรอก เขาก็จะไปมีที่ทางของตัวเอง
เราอยากทำให้ทุกคนเติบโตได้อย่างดีที่สุด เราเองก็จะค่อยๆ เติบโตไปด้วยเหมือนกัน”

ภาพ ธีรพันธ์ ลีลาวรรณสุข และ Supermachine Studio

AUTHOR