8 โจทย์ใหญ่ที่ The Rapper Thailand รายการแข่งขันหาแรปเปอร์ต้องทุบให้แตก

ไม่ถึงเดือนดี The Rapper Thailand รายการค้นหาสุดยอดแรปเปอร์คนใหม่ของเมืองไทยก็กลายเป็นอีกหนึ่งรายการที่น่าจับตามองขึ้นมาทันที

สำหรับใครที่ยังไม่รู้จัก The Rapper Thailand เป็นรายการประกวดแรปเปอร์ทางช่อง Workpoint TV ที่เปิดรับสมัครให้คนทั่วประเทศมาออดิชั่น ผู้เข้าแข่งขันต้องมาแข่งดวลแรปกันในรูปแบบต่างๆ พร้อมผ่านการฝึกของโค้ชที่เป็นแรปเปอร์ชื่อดังระดับประเทศ แรปเปอร์ที่ชนะรายการจะได้รับเงินรางวัลสูงสุดมูลค่าหนึ่งล้านบาท

ไม่ใช่เรื่องแปลกที่วัยรุ่นและคนรุ่นใหม่จะตื่นเต้นกับรายการนี้ แต่สำหรับปรากฏการณ์ที่ผู้สูงอายุอย่างคุณพ่อคุณแม่ ลุงป้าน้าอา ร่วมกันดูรายการแรปพร้อมหลาน หรือสมัครใจเป็นแฟนคลับแรปเปอร์ในรายการนั่นต่างหากที่เป็นเรื่องแปลก ทำให้อยากไปพูดคุยกับทีมงานเบื้องหลังรายการดูสักครั้ง ว่ารายการค้นหาสุดยอดแรปเปอร์แบบไหน ที่ทำให้เหล่าผู้ปกครองของเราสนใจอยากลองแต่งไรม์ (rhyme) หรือร้องแรปขึ้นมาบ้าง

โจ้-วิรัตน์ เฮงคงดี ผู้กำกับรายการ The Rapper Thailand จากบริษัทโต๊ะกลมโทรทัศน์ เริ่มเล่าถึงจุดเริ่มต้นรายการว่า “เกิดจากกรรมการผังของทางช่องเวิร์คพอยต์ต้องค้นคว้าเทรนด์ของทั่วโลกว่านิยมอะไร กระแสกำลังเดินไปทางไหน เราพบว่าช่วงหลายปีที่ผ่านมา วงการแรปทั่วโลกเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว ถ้าลองสังเกตจะพบว่าซูเปอร์สตาร์ของโลก 2-3 ปีนี้จะหนักมาทางแรปเปอร์มากกว่าแนวอื่น และไม่ใช่แค่เพลง แรปได้เข้ามาอยู่ในวงการทีวีด้วย คิดว่าถึงเวลาแล้วที่ประเทศไทยควรมีรายการแรปบ้าง”

แต่กว่าจะเป็นรายการโทรทัศน์ดูสนุกและมันอย่างที่ทุกคนเห็นนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย มีโจทย์มากมายทั้งยากและง่ายที่ทางผู้กำกับ ทีมงาน และเหล่าโปรดิวเซอร์ต้องมาร่วมกันออกแบบและแก้ไขที่เราขอให้โจ้เป็นคนตอบไปทีละคำถาม

โจทย์ข้อที่ 1 : “ต้องเป็นรายการที่ไม่ใช่เฉพาะแรปเปอร์”

The Rapper Thailand ไม่ใช่รายการที่เกิดมาเฉพาะคนที่ฟังและชื่นชอบเพลงแรปเท่านั้น แต่ต้องเป็นรายการที่ดึงดูดใจผู้ชมทั่วไปและทำให้ผู้ชมมีความสุขกับการฟังเพลงเป็นหลัก

“พอเริ่มออกแบบรายการก็ย้อนกลับมาดูรากของตัวเองก่อนเลยว่าทุกคนเสพอะไรกัน สิ่งไหนที่เหมาะกับบริบทคนไทยส่วนใหญ่ หลายคนอาจมองแรปเป็นเรื่องวงการใต้ดิน แต่จริงๆ แล้วแรปอยู่กับพวกเราทุกคนตลอด ไม่ใช่แค่คนในวงการ แทบจะอยู่ในเลือดหรืออยู่ในชีวิตโดยไม่รู้ตัว เพราะแรปมีการปรับตัวตลอดเวลา ไปอยู่ในเพลงป๊อบบ้าง ไปอยู่ในเพลงเรกเก้ สกาบ้าง ถึงจะหายไป แต่แรปไม่เคยตายไปจากกระแสหลัก”

“สิ่งสำคัญอีกอย่างคือเราเป็นคนผลิตรายการทีวี ถือว่าเป็นตลาดกว้าง เป็นสื่อสำหรับทุกคน เพราะฉะนั้นรายการต้องไม่ยากและไม่ซับซ้อนเกินไป พ่อแม่ ปู่ย่า เด็กๆ ควรดูพร้อมกันได้ The Rapper Thailand เลยต้องทำให้เพลงแรปเข้าถึงทุกคน ฟังแล้วย่อยง่าย แต่กลุ่มคนฟังเพลงแรปตัวจริงก็ต้องฟังแล้วไม่เลี่ยน พยายามหาตรงกลาง”

โจทย์ข้อที่ 2 : “ทลายกำแพงภาพจำของคนทำและคนดู”

“หลายคนติดภาพว่าเพลงแรปต้องดุดัน พูดถึงความเจ็บปวด หรือภาพความทรงจำที่ไม่สวยงามของชีวิต ถ้ามองอีกมุมหนึ่ง เพลงแรปก็เป็นเพลงทั่วไปที่สามารถส่งความสุข มอบกำลังใจ พูดถึงความรักได้ สิ่งที่ตั้งใจและอยากทำคือขยายมุมดีๆ ของเพลงแรปให้คนทั่วไปเปิดใจ ไม่ติดอยู่กับมุมมองเดิมๆ แล้วถ้าใครดูรายการแล้วชอบ อยากลงลึกกับแรปแนวทางไหนต่อ ก็ถือเป็นผลพลอยได้ของคนทำ”

นอกจากการทลายกำแพงเรื่องภาพจำเพลงแรปของคนดูแล้ว สิ่งต่อมาที่ต้องทลายคือกำแพงของคนทำ ทีมงานโต๊ะกลมต้องศึกษาและทำความเข้าใจวงการเพลงแรป สิ่งที่ช่วยทุกคนทลายกำแพงความเข้าใจได้ดีที่สุด คือการพบและร่วมมือทำงานกับแรปตัวจริงทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นกลุ่ม Rap is Now ที่เข้ามาช่วยตั้งแต่ขั้นตอนสร้างสรรค์รายการ คอยให้ความรู้และคำแนะนำเกี่ยวกับเพลงแรป รวมถึงโปรดิวเซอร์และโค้ชทุกคนอย่าง โจอี้บอย, ขัน Thaitanium, กอล์ฟ ฟักกลิ้งฮีโร่ ปู่จ๋านลองไมค์ โต้ง Twopee Southside และ UrboyTJ

“โปรดิวเซอร์และโค้ชทุกคนเป็นแรปเปอร์ที่ประสบความสำเร็จ ทุกคนเข้าใจดีว่าถ้าอยากให้แรปก้าวเข้ามาอยู่ในกระแสหลักมากขึ้น ต้องทำงานเพิ่มหรือปรับลดอะไรบางอย่างด้วยกัน มองไปที่เป้าหมายเดียวกันคืออยากให้แรปไทยมีพื้นที่มากขึ้น”

โจทย์ข้อที่ 3 : “ใช้คำหยาบได้ไหม”

สิ่งหนึ่งที่ทีมงานถกเถียงกันอย่างหนัก ตั้งแต่รู้ข่าวว่าจะสร้างรายการจนถึงขั้นตอนการผลิต นั่นก็คือเรื่องของคำหยาบในการร้องแรป มีคนไม่น้อยที่กังวลใจว่ารายการแรปที่ออกอากาศทางโทรทัศน์จะตัดและลดทอนคำหยาบออกจากการเขียนไรม์ที่แต่ละคนต้องแต่งขึ้นมาแบตเทิลกัน จนกลายเป็นการลดทอนความสนุกและความสามารถของแรปเปอร์ไป

“แรปเปอร์ที่เข้าแข่งขันต้องเขียนเพลงหรือเขียนท่อนแรปขึ้นมาใหม่เอง แต่มีกติกาบางอย่างที่รายการกำชับไป หนึ่งในนั้นคือเพลงต้องไม่ใช้คำหยาบมากเกินไปเพื่อให้ยังออกอากาศได้ ค้นพบว่าแรปเปอร์ส่วนใหญ่จะกังวลใจ ไม่ก็รู้สึกว่าเป็นเรื่องที่ท้าทายมาก สิ่งที่ทีมงานค้นพบคือคนเก่งจริงทำได้ การใช้คำหยาบคายสามารถเข้าถึงอารมณ์ สร้างความรู้สึกให้คนเฮได้ไม่ยากเลย แต่การใช้คำไม่หยาบและยังทำให้เข้าถึงอารมณ์เดียวกันอยู่เป็นสิ่งที่น้อยคนทำได้ ผลของกติกานี้ทำให้รายการได้งานอีกมิติหนึ่งซึ่งดีมาก”

โจทย์ข้อที่ 4 : “ผู้เข้าแข่งขันต้องเก่งจริง”

โจทย์ใหญ่ของผู้เข้าแข่งขันคือไม่ใช่แค่แรปได้แล้วจะรอด ไม่ใช่ว่าคาแรกเตอร์จัด แสดงบนเวทีเก่งอย่างรายการประกวดทั่วไปแล้วจะชนะ สิ่งที่ชี้ชัดและเป็นไม้ตายของรายการ The Rapper Thailand คือความสามารถของผู้เข้าแข่งขันล้วนๆ

“รายการนี้เหมือนเป็นค่ายฝึกสำหรับแรปเปอร์ โหดมาก เก่งจริงเท่านั้นถึงอยู่รอด เนื่องจากเป็นรายการประกวด การทำงานของทุกฝ่ายจึงถูกกำหนดด้วยเวลาเป็นหลัก อย่างการเขียนไรม์ให้จับใจคนฟัง มีสัมผัสนอกสัมผัสใน แรปเปอร์ต้องทำงานภายใต้เวลาที่จำกัด พอผ่านด่านทำเพลงก็มาเจอด่านการถ่ายทอดให้เข้าถึงอารมณ์และความรู้สึกบนเวทีอีก แรปเปอร์บางคนแม่นๆ ขึ้นเวทีแล้วเป๋ก็มี ไม่สามารถวัดที่แรปหรือการแสดงบนเวทีอย่างเดียวได้ แต่ต้องครบ”

โจทย์ข้อที่ 5 : “รายการแรปผู้หญิงไม่ดูหรอก”

หลายคนอาจคิดว่าการมีพิธีกรสวยแซ่บอย่าง ไอซ์-อภิษฎา เครือคงคา ก็เพื่อสร้างสีสันในรายการเฉยๆ แต่ความจริงแล้วไอซ์เป็นกุญแจสำคัญที่ถูกวางไว้ให้เป็นตัวแทนของคนธรรมดาหรือคนส่วนใหญ่ในสังคมที่ไม่มีความรู้เกี่ยวกับวงการแรปเท่าไหร่ ทำให้คนดูสามารถเข้าใจศัพท์แรปอย่าง ไรม์ หรือโฟลว (flow) ผ่านคำถามของไอซ์เป็นหลัก

น้ำเสียงโดยรวมของรายการก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ผู้กำกับให้ความสำคัญ การมีเสียงพูดของผู้หญิงจะช่วยลดทอนภาพลักษณ์ที่ดูแมนและดุดันของรายการลง ทำให้ผู้ชมรายการที่เป็นผู้หญิงรู้สึกผ่อนคลายและคุ้นชินมากกว่าการดูรายการที่มีแต่เสียงผู้ชายอย่างเดียว

โจทย์ข้อที่ 6 : “โค้ชจะตอบโจทย์ผู้เข้าแข่งขันได้อย่างไร”

หลังจากการรับสมัครออดิชัน ปรากฏว่าแรปเปอร์ที่เข้าสมัครร่วมรายการมีหลากหลายมาก ตั้งแต่คนที่แรปเป็นอาชีพอยู่แล้ว ไปจนถึงมือใหม่ที่มองหาแนวทางการแรปของตัวเอง โค้ชทุกคนจำเป็นต้องมีทักษะให้ครอบคลุมความหลากหลายของผู้เข้าแข่งขัน มีจุดเด่นและช่วยพัฒนาความสามารถของผู้เข้าแข่งขันได้จริง

“โค้ชแต่ละคนมีแนวทางของตัวเองชัดเจนมาก อย่างปู่จ๋านลองไมค์ ถือว่าเป็นขวัญใจของวัยรุ่นและคนต่างจังหวัด เพราะแนวเพลงเป็นแรปผสมกับเพื่อชีวิต เข้าถึงคนหมู่มากได้ง่าย คนที่อินกับการถ่ายทอดความรู้สึกตัวเองก็จะเหมาะกับเขา UrboyTJ เป็นตัวจริงเรื่องการผสมแรปกับป๊อป เป็นแนวที่วัยรุ่นในเมืองและคนกรุงชอบ คนมีพื้นฐานการร้องป๊อปก็เหมาะกับเขา หรือคนที่ชอบแรปแบบฟรีสไตล์ ดุดันหน่อยก็เหมาะกับโต้ง Twopee Southside เพราะเป็นตัวจริง และสุดท้ายกอล์ฟ ฟักกลิ้งฮีโร่ แรปเปอร์ที่ถือว่าฐานคนดูโทรทัศน์รู้จักเยอะที่สุด เพราะออกรายการทีวีอยู่แล้ว ความโดดเด่นของกอล์ฟอยู่ที่ความสร้างสรรค์ของเพลงที่เขาเขียน เหมาะกับผู้เข้าแข่งขันอีกแบบ”

โจทย์ข้อที่ 7 : “เอาแรปขึ้นมาบนจอยังไงให้คนเห็นภาพที่สุด”

นอกจากคนที่ทำให้รายการสนุกแล้ว องค์ประกอบอื่นๆ ที่ไม่มีชีวิตอย่าง Production Design ก็นับเป็นส่วนสำคัญที่ทำหน้าที่ชักชวนให้คนดูอินไปกับรายการ หนึ่งในสิ่งที่โจ้ภูมิใจนำเสนอคือฉาก

ฉากของ The Rapper Thailand ถูกคิดขึ้นมาจากการจำลองสถานการณ์เหมือนในภาพยนตร์ต่างประเทศ ผู้กำกับต้องการให้คนดูรู้สึกเหมือนกำลังพาคนดูเข้ามามุงแรปเปอร์ที่มาดวลเพลงกันจริงๆ เลยออกแบบให้เป็นเวที 360 องศา คนดูสามารถมองเห็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ทุกมุมและเห็นความรู้สึกของโค้ชแต่ละคนชัดเจน ส่วนบรรยากาศที่เป็นโกดังร้างและรถยนต์นั้นก็มาจากการทำการบ้านว่าสถานการณ์ดวลแรปเกิดที่ไหนบ่อยสุด สถานที่ที่ไหนที่คนดูจะมีภาพจำของแรปเปอร์อยู่แล้ว

“การดวลแรปหรือการหลบมุมคุยกันในโกดังร้างที่มีรถเยอะๆ เป็นฉากที่เห็นในภาพยนตร์ต่างประเทศเยอะ และไม่ค่อยเห็นใครทำฉากแบบนี้ในรายการมาก่อน รู้สึกว่าน่าสนใจ หรือรถที่ประกอบฉากของโค้ชแต่ละคนก็เป็นการทำงานร่วมกันของทีมงานกับโค้ช โค้ชจะเสนอมาว่ารถที่เขาคิดว่าสามารถ represent ตัวเองได้เป็นรถแบบไหน แล้วทีมงานก็ดูว่าคาแรกเตอร์ของรถแต่ละคนชัดเจน แตกต่างกันพอหรือยัง สามารถทำให้เกิดขึ้นจริงในสตูดิโอได้แค่ไหน”

โจทย์ข้อที่ 8 : “โปรโมตรายการยังไงดี ในยุคที่มีรายการโทรทัศน์ให้ดูเต็มไปหมด”

โจทย์นี้ถือว่าเป็นโจทย์พื้นฐานที่สุด แต่นับว่ายากที่สุดในทุกข้อ เพราะสมัยนี้การประชาสัมพันธ์หรือโปรโมตรายการแทบจะเป็นปัจจัยหลักที่ชี้ความสำเร็จของรายการโทรทัศน์ กลยุทธ์ของรายการ The Rapper Thailand ที่ทางโต๊ะกลมและเวิร์คพอยต์เลือกใช้นั้น ไม่เลือกประชาสัมพันธ์แค่กลุ่มคนฟังแรปอย่างเดียว แต่คิดเสมือนว่านี่เป็นรายการโทรทัศน์รายการหนึ่งที่ต้องเข้าถึงคนดูทั้งประเทศและดึงให้เข้ามามีส่วนร่วมให้ได้

“ตอนแรกคิดว่ารายการนี้อาจเฉพาะกลุ่ม พอประกาศรับสมัครออดิชั่น พบว่าวงการแรปและกลุ่มออนไลน์เข้าถึงอย่างรวดเร็ว แทบจะเกิดกระแสปากต่อปากทันที ทำให้รู้เลยว่าฐานทั้งสองกลุ่มนี้พร้อมมีส่วนร่วมกับรายการอยู่แล้ว ในขณะเดียวกัน โลกออฟไลน์หรือผู้ชมทั่วไปที่รู้ข่าวก็มีสมัครมา ทำให้รู้ว่าจริงๆ คนนอกวงการแรปเองก็สนใจ เพราะฉะนั้นการประชาสัมพันธ์ต้องเน้นควบคู่ทั้งทางทีวีและออนไลน์ ไม่สามารถเลือกทางออนไลน์อย่างเดียวได้ ต้องทำให้คนทั่วไปรู้ข่าว มาสมัคร และอยากติดตามรายการเหมือนกัน”

หลังจากรายการออนแอร์มาได้ไม่กี่สัปดาห์ สิ่งหนึ่งที่น่าสนใจคือในช่วงที่รายการออกอากาศ แฮชแท็ก #therapper ก็ขึ้นอันดับชาร์ตอย่างต่อเนื่องทันที สิ่งนี้บอกกับคนทำได้ถึงช่วงวัยของคนที่ให้ความสนใจรายการได้อย่างชัดเจน เพราะผู้เล่นทวิตเตอร์และยูทูปส่วนใหญ่จะเป็นเด็กวัยรุ่น ไม่เหมือนกลุ่มผู้ใช้ของเฟซบุ๊กที่จะเป็นผู้ใหญ่เยอะกว่า สิ่งที่ฟีดส์ในทวิตเตอร์จะเร็วและแสดงถึงเทรนด์ สามารถศึกษามุมมองที่เด็กๆ มองรายการได้เลย

“ส่วนเรตติ้งทางโทรทัศน์เป็นเรื่องที่เราเผื่อใจเอาไว้พอสมควร แต่ปรากฏผลออกมาค่อนข้างเกินความคาดหมาย อาจเป็นเพราะภาพลักษณ์รายการที่ดูแตกต่างจากรายการอื่นพอสมควร ทำให้คนสนใจ ก็ดีใจที่คนดูเปิดใจให้กับรายการใหม่ๆ”

The Rapper Thailand รายการที่เต็มไปด้วยโจทย์นี้ เหล่าผู้ผลิตและทีมงานจะเขียนคำตอบออกมาได้โดนใจผู้ชมทั้งประเทศได้แค่ไหน โปรดติดตามชมตอนต่อไป

Facebook | TheRapper

ภาพ บริษัท โต๊ะกลมโทรทัศน์ จำกัด

AUTHOR