เปิดลายแทงนิทรรศการธรรมชาติสุดน่ารักชื่อ ‘มาหาสมบัติ’ ที่แค่มาเล่นก็สนุกแล้ว

จะมาพูดเรื่องการอนุรักษ์อีกแล้วเหรอ เบื่อจัง…หยุดก่อนถ้าคุณกำลังรู้สึกแบบนั้น!

รู้ใช่ไหมว่าที่ The Emquatier มีชั้นที่เป็นสวนอยู่ ตอนนี้พื้นที่ตรงนั้นกำลังจัดนิทรรศการชื่อน่ารักว่า มาหาสมบัตินิทรรศการว่าด้วยธรรมชาติที่ ‘มีชีวิต’ เพราะเต็มไปด้วยซุ้มกิจกรรมกรุบกริบให้คนเข้าไปเล่นสนุก (เช่น
ไปลองดมอึเสือ!) แถมได้ความรู้สึกเข้าถึงธรรมชาติติดตัวกลับบ้านแม้จะอยู่กลางเมืองใหญ่

คนจัดงานคือมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ที่ร่วมมือกับทีมงานนักเล่าเรื่องรุ่นใหม่อย่าง Glow Story พวกเขาตั้งใจออกแบบงานแสนท้าทายนี้ให้เป็นมิตรกับทุกคนที่เข้ามาเสพ

เอาล่ะ ถ้าพร้อมแล้วเราจะให้สองหนุ่มตัวแทนจาก Glow Story อย่าง ป่าน-ปิยพัทธ์ ปฏิโภคสุทธิ์ กับ พิ-พิริยะ กุลกาญจนาชีวิน เริ่มพาทัวร์ไอเดียเบื้องหลังซึ่งได้ บี๋-นภัส มุทุตานนท์ มาช่วยก่อร่างให้เป็นรูปธรรม

นิทรรศการที่ขอคุยกับคนเมือง

ก่อนออกทัวร์ ทั้งคู่ขอแจกแจงที่มาที่ไปของงานนี้ให้ฟัง “โจทย์คือการทำงานฟื้นฟูธรรมชาติที่แม่ฟ้าหลวงทำไม่ทันกับการทำลาย อย่างที่จังหวัดนาน แม่ฟ้าหลวงทำมา 30 ปีได้ประมาณ 400,000 ไร่ ซึ่งเยอะมากแล้ว
แต่ปีนึงคนทำลายทีละ 100,000 ไร่ มันไม่มีทางทันเลย นอกจากข้างบนฟื้นฟูก็ต้องพยายามลด demand ของคนข้างล่างด้วย คนไม่รู้ว่าเราสร้าง demand ในการทำลายป่ายังไง เราอยากให้เขาตระหนักมากขึ้น” ป่านเกริ่น

ตามรอยเสือเพื่อเข้าใจป่า

ทั้งป่านและพิบอกตามตรงว่าเคยไม่อินกับเรื่องต้นไม้ใบหญ้า สัตว์ป่า แล้วพวกเขาจะทำงานนี้ให้คนอินได้ยังไง คำตอบคือหงายการ์ดออกเดินทางเข้าป่ามันเสียเลย

พวกเขาตามติดเข้าไปดูการทำงานแบบเอ็กซ์คลูซีฟ (มาก) กับเจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ได้ไปเห็นการเก็บข้อมูลวิจัยเสือซึ่งเป็นสัตว์สำคัญผู้ชี้วัดความอุดมสมบูรณ์ของป่า ทั้งคู่ช่วยกันเล่าว่าเสือใช้พื้นที่หาอาหารเยอะมาก เสือแต่ละประเทศจะใช้ไม่เท่ากัน สำหรับเมืองไทยคือ 300 ตารางกิโลเมตรต่อเสือตัวผู้ 1 ตัว สรุปง่ายๆ คือทั้งกรุงเทพมหานครจะมีเสืออยู่ได้แค่ 4 ตัว ยิ่งเสือใช้พื้นที่หาอาหารเยอะเท่าไหร่ก็ยิ่งแสดงว่าป่าไม่อุดมสมบูรณ์เท่านั้น

“ถ้าเสือหาย โดมิโนก็จะล้มไปด้วย มีคำเรียกนึงคือ keystone species นึกภาพประตูอิฐ ถ้าดึงอิฐก้อนสำคัญออกไปก้อนเดียวมันจะร่วงหมดเลย เหมือนเคสในอเมริกาที่ Yellowstone ที่หมาป่าถูกล่า ทุกอย่างพังครืนหมด เราไม่อยากให้มีการหายไปก่อน เพราะมันใช้เวลากว่าจะกลับมา นี่เป็นความรู้จากพี่ๆ ระหว่างเดินทาง” พิเสริม

คนธรรมดานี่แหละที่เฝ้าทรัพย์ไว้ให้เรา

นอกจากความรู้ สิ่งที่พวกเขาได้สัมผัสคือจิตวิญญาณการทำงานที่ทุ่มเทเหน็ดเหนื่อย ทั้งที่อยู่ในพื้นที่เต็มไปด้วยความเสี่ยงและอาจโดนสัตว์ป่าทำร้ายจนถึงแก่ชีวิตได้

“ชื่อนิทรรศการมาจากคำถามที่เราถามอาจารย์อัจฉรา ซิ้มเจริญ (นักวิจัยเสือโคร่ง) ว่าทำไมต้องทุ่มเทจริงจังขนาดนั้น เขาตอบว่าเขาไม่รู้หรอกว่าที่เก็บข้อมูลไปจะได้ใช้เมื่อไหร่ แต่ป่าและธรรมชาติเป็นสมบัติที่สำคัญมาก สิ่งที่เขาทำคือการรักษาหีบสมบัตินี้ไว้ ในอนาคตยังมีอะไรที่รอนักวิจัยคนอื่นเอากุญแจมาไข เช่น ยารักษาโรคจำนวนมากก็มาจากในป่า ถ้าวันหนึ่งหีบสมบัติหายไปโดยยังไม่ถูกเปิด มันจะไม่เหลืออะไรเลย” พิให้ข้อมูล

ไม่มีใครรักป่ามาตั้งแต่เกิด แต่มันมีสูตรของมันอยู่

การล่อให้คนเมืองมาสนใจเรื่องที่พูดกันมานามนมแล้วมีความหืดขึ้นคอ ทีมงานเลยหงายการ์ดรีเสิร์ช ไล่สัมภาษณ์คน 2 กลุ่ม คือคนที่อินเรื่องธรรมชาติอยู่แล้วกับคนที่ไม่อินเลย ให้รู้ว่าขอบเขตการสื่อสารให้คนไม่อินยังเปิดรับได้อยู่ตรงไหน และหาแพตเทิร์นประสบการณ์ที่ทำให้คนรักป่า นั่นล่ะกุญแจที่พวกเขาจะเอามาใช้ดีไซน์นิทรรศการ ด้วยสันนิษฐานว่าถ้าคนได้ผ่าน journey ที่จำลองขึ้นมา เขาอาจจะเดินตกหลุม (รัก) เหมือนกันก็ได้

สิ่งที่พวกเขาถอดรหัสได้คือ โมเมนต์แห่งความอิ่มเอมเมื่อได้อยู่ใกล้ชิดธรรมชาติ ปลอดโปร่ง สัมผัสถึงความยิ่งใหญ่ เป้าหมายของการทำนิทรรศการนี้จึงตั้งต้นด้วยการสร้างโมเมนต์ดีๆ ระหว่างคนกับธรรมชาติก่อน ทำให้สนุก มีความสุข แล้วจึงค่อยป้อนเนื้อหาต่างๆ ตามไป

“พี่คนนึงบอกว่าการทำให้คนรักธรรมชาติก็เหมือนทำให้คนรักผู้หญิงสักคนนั่นแหละ ถ้าเขาไม่รู้สึกว่าผู้หญิงคนนี้น่ารัก ให้คุณค่ากับเรา เราขาดเขาไม่ได้ เขาคงไม่ใส่ใจดูแลรักษา มันเป็นการสื่อสารประเด็นสิ่งแวดล้อม ไม่ใช่บอกว่าน่ากลัว โลกร้อน มึงเลว แบบนั้นคนไม่เปลี่ยนหรอก ทำยังไงให้คนรู้สึกว่าสิ่งนี้มีคุณค่ากับเรา นี่คือทางที่เขาจะค่อยๆ กระดึ๊บเข้ามา” พิเล่า

ซ่อนขุมทรัพย์กลางสวนเมืองใหญ่

ทีม Glow Story สรุปก้อนไอเดียที่อยากเล่าในนิทรรศการออกมาได้ 3 อย่าง คือเรื่องเสือ ทำให้คนสนใจเสือเพื่อไปสนใจป่า เรื่องป่าคือสมบัติที่ให้ประโยชน์กับคน และเรื่องการเชื่อมโยงว่าสิ่งที่มนุษย์ทำล้วนกระทบถึงป่าหมด โดยทุกอย่างจะตั้งต้นที่ความสนุก ทำอย่างไรก็ได้ให้คนเอ็นจอยกับนิทรรศการ แต่ก่อนจะไปถึงตรงนั้น จะสร้างนิทรรศการที่ตรงไหนดี?

ส่องไปส่องมาก็พบโซนสวนลอยฟ้า Water Garden ที่ชั้น 5 ของตึก Helix ที่ห้างสรรพสินค้า The Emquartier ที่เป็นธรรมชาติตอบโจทย์ที่สุดแต่ก็มีความท้าทายมากพอกัน

“พื้นที่ตรงนี้ไม่เคยจัดนิทรรศการมาก่อน วิววิเศษมาก แต่จุดยากที่สุดในมุม Experience Designer คือพื้นที่กำหนด journey ไม่ได้ เพราะมันเข้าได้จาก 3 ทาง แต่ละคนไม่ได้เริ่มเดินจากจุดเดียวกัน เลยต้องมีดีไซน์เพื่อแก้ปัญหา เราเลยใช้วิธีสื่อสารผ่าน node ต่างๆ ให้คนเข้ามาค้นหาเหมือนเป็น treasure hunt เช่น node น้ำ node อากาศ แต่ละอันก็จะมีเอกลักษณ์เหมือนกัน กิจกรรมต่างกัน”

ด้วยพื้นที่กว้างขวางและต้องตั้งซุ้มกิจกรรมกระจายกัน พวกเขายังใส่ตัวล่อเป็นสติกเกอร์รอยเท้าสัตว์ป่าเท่าขนาดจริงให้ตามรอย พร้อมแผนที่สำหรับปั๊มตัวแสตมป์น่ารักๆ ให้ครบทุกซุ้มกิจกรรม ซึ่งมันได้ผล! (ยืนยันจากตัวเองที่ติดกับไปเรียบร้อย)

ออกแบบเส้นทางเดิน (เพื่อเห็นคุณค่า) ป่าสำหรับทุกคน

พอได้โครงสร้างนิทรรศการคร่าวๆ ก็มาถึงการเติมเต็มคอนเทนต์ ทีม Glow Story จับมือกับผู้เชี่ยวชาญสายต่างๆ เพื่อหาข้อมูลในเรื่องนั้นๆ โดยมีตัวละครหลักเป็น แอน-สุภัชญา เตชะชูเชิด นักวิจัยนกไต่ไม้ใหญ่มาช่วยเหลือ แต่ที่ท้าทายมากกว่านั้นคือทำยังไงจะนำเสนอข้อมูลให้เหมาะกับกลุ่มเป้าหมายหลากหลายมากที่สุด ทั้งผู้ใหญ่ไปจนถึงเด็กๆ ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายเดิมของพื้นที่

คนที่เป็นระดับ activist พวกเขาดึงมาเป็นสปีกเกอร์ คนที่อินกลางๆ หลายคนก็มาเป็นทีมงาน สำหรับฝั่งผู้ชม เนื้อหางานทอล์กก็มีหลายระดับ ตอบโจทย์คนอินเลเวลหนักๆ ไปจนถึงคนไม่อินเลยแต่อยากตามมาฟังสปีกเกอร์ในดวงใจ คนที่อินนิดๆ หน่อยๆ ก็มีนิทรรศการไว้ตอบโจทย์ เพราะไม่ต้องใช้ความพยายามเยอะ เด็กๆ ก็มีเวิร์กช็อปสนุกให้เพลิดเพลิน

“เราอยากดันผู้ชมขึ้นไปทีละสเต็ป” ป่านกล่าว ก่อนที่พิจะช่วยเสริม “มันไม่มี one size fit all อยู่แล้ว คนไม่อินก็คงไม่อยากมาฟังทอล์กที่พูดเรื่องเศรษฐศาสตร์กับป่า ทุกคนพูดเหมือนกันว่าเรื่องสิ่งแวดล้อม คนที่อินคืออินอยู่แล้ว แต่ปัญหานี้ต้องแก้ด้วยแมส ต้องแก้ด้วยจำนวนคน ถ้าไม่แตะ critical mass แก้ไม่ได้”

“เรารู้สึกว่าฝั่งทอล์กก็มีบางคอนเทนต์ที่ไม่หนักมากแต่ดึงคนได้เยอะ เช่น ทอล์กของ หมาก ปริญ แฟนคลับก็จะฟังด้วยตาเป็นประกาย ถ้าเขาเดินป่าตามพี่หมากแล้วเจอทั้งความสวยงามและบาดแผลของมัน ถ้าเขารักมันพอ เขาจะเริ่มตั้งคำถาม”

เล่ามาถึงตรงนี้แล้วเราขอพาทัวร์ซุ้มกิจกรรมเป็นน้ำจิ้มว่ามีอะไรเป็นไฮไลต์บ้าง

ซุ้มสัตว์ป่า : ความหลากหลายของสัตว์ป่าคือขุมทรัพย์ของผืนป่า

กิจกรรมห้ามพลาด

• ยกหูโทรศัพท์คุยกับสัตว์ป่าหลากสายพันธุ์ ฟังเสียงช้างป่าหรือสมันที่สูญพันธุ์ไปแล้ว! กิจกรรมนี้เกิดขึ้นด้วยไอเดียว่าสัตว์ป่าเวลาอยู่ด้วยกันจะเข้าใจว่าอีกฝ่ายต้องการอะไร มีการสื่อสารข้ามสปีชีส์ แต่มีแค่มนุษย์รึเปล่าที่ไม่เคย ‘สื่อสาร’ กับใครในป่าเลย

• ประลองความคมของสายตาในเกม Photo Hunt ชื่อ ‘ภาพสัตว์หายาก’ ตามหาสัตว์ที่ซ่อนตัวอย่างแนบเนียนอยู่ในภาพ กลยุทธ์ของเกมนี้คือทำให้คนได้ใช้เวลากับสเปซและธรรมชาติมากขึ้นเพื่อให้ได้รับความรู้สึกกลับไปพร้อม fact ด้วย

ซุ้มเวิร์กช็อป : หัดสังเกตสังการายละเอียดเล็กน้อยของธรรมชาติ

กิจกรรมห้ามพลาด (สำหรับเด็ก)

ระบายสีบนใบไม้และเปเปอร์มาเช่ก้อนหิน เห็นกิจกรรมง่ายๆ แบบนี้ จริงๆ แล้วเกิดจากแนวคิดว่าเด็กๆ ยังไม่พร้อมจะรับข้อมูลอะไรยากๆ เพราะฉะนั้นเราให้เขาได้ใช้เวลากับธรรมชาติผ่านสิ่งเล็กๆ และใช้ประสาทสัมผัสให้เต็มที่ดีกว่า น้องๆ จะได้สังเกตสีในใบไม้และปั้นดินตามสีที่เห็น ระบายสีลงในช่องจิ๋วๆ บนใบไม้ที่เกิดจากเส้นทางลำเลียงน้ำ (เห็นแล้วยังอยากไปนั่งเล่นด้วยเลย) กิจกรรมนี้ดูแลโดยมูลนิธิกระต่ายในดวงจันทร์

ซุ้มเสือ :
เจ้าป่าคนสำคัญใช้ชีวิตในการดูแลสมดุลธรรมชาติอย่างไร เมื่อเทียบกับเจ้าป่าฝั่งป่าคอนกรีตอย่างเรา

กิจกรรมห้ามพลาด

• ชมวีดิโอลับหลังเสือหม่ำวัวแดง เคยได้ยินคำที่บอกว่า ‘คนกินเหลือ เสือกินแบ่ง’ ไหม ที่จริงเสือเป็นผู้ล่าที่จะทำให้สัตว์ตัวอื่นๆ ได้มาจอยจานอาหารชั้นเลิศด้วยกัน เพราะถ้าให้ล่าเองนี่ล่าไม่ไหว วิดีโอนี้จะแอบดูว่าใครย่องมาเป็นผู้ร่วมโต๊ะอีกบ้าง ข้อมูลข้างๆ ยังเปรียบเทียบให้ผู้ชมเห็นชัดๆ ไปเลยว่าการใช้ชีวิตของเจ้าป่าสองฝั่งต่างกันอย่างไร และการบริโภคของเราส่งผลกระทบต่อธรรมชาติยังไง บอกเลยว่าเข้าใจง่าย

• ดมฉี่เสือ อึเสือ ส่องอึเสือ! ใช่แล้ว พวกเขาเตรียมอึเสือของแท้มาให้เราลองดมกันด้วย ถ้าอยากรู้ว่าเสือหม่ำอะไรไปบ้างก็ดูจากอึได้เลย (อ้อ! เราดมมาแล้ว อึเสือไม่ได้เหม็นขนาดนั้นหรอกนะ อยากรู้ต้องมาพิสูจน์เอง)

ซุ้ม Timeline
:
เทียบให้เห็นชัดๆ วันที่ป่าหายไป โลกข้างนอกเกิดอะไรขึ้นบ้าง

กิจกรรมห้ามพลาด

สนุกกับเครื่องเล่นอินเตอร์แอ็กทีฟอันใหญ่บึ้ม 2 หน้าจอ บอร์ดใหญ่ด้านหลังโชว์พื้นที่ป่าที่เปลี่ยนแปลงไปตั้งแต่อดีตจนปัจจุบัน ส่วนจอเล็กด้านหน้าเมื่อเลื่อนไปตามช่วงเวลาแล้วจะโชว์ข้อมูลให้ดูกันจะจะเลยว่า ในแต่ละปีมีอะไรเกิดขึ้น ใครเป็นนายกรัฐมนตรี ปริมาณโรงงานและประชากรมีเท่าไหร่ โลกกำลังเกิดอะไรขึ้น แล้วเราจะปะติดปะต่อเหตุการณ์ได้ว่าป่าหายไปจากผลพวงของอะไร ทีมงานอยากสื่อว่าทุกอย่างมันเกิดขึ้นคู่ขนานและมีเอฟเฟกต์ต่อกันนะ

ซุ้มอากาศ :
เรียนรู้เรื่องคุณภาพอากาศที่ส่งผลโดยตรงต่อชีวิตของเรา

กิจกรรมห้ามพลาด

• สนุกกับการส่องไลเคนที่คนมักมองข้าม เหตุผลที่ต้องเป็นไลเคนเพราะมันคือสิ่งชี้วัดคุณภาพอากาศของแต่ละพื้นที่ได้เป็นอย่างดี เราจะได้เห็นรายละเอียดยุบยิบแต่น่าอัศจรรย์ของไลเคนแบบต่างๆ แค่ดูก็เพลินแล้ว

• มุดหัวเข้าไปสูดอากาศจากต้นไม้แบบใกล้ชิดขั้นสุด ซุ้มตรงนี้ไม่ใช่แค่จะให้ถ่ายรูปสวยๆ เท่านั้น แต่จะสื่อว่าอากาศจากธรรมชาติสดชื่นยังไง กล่องใสที่อุดมด้วยต้นไม้ 2 กล่องนี้จัดโดยร้าน Tiny Tree ที่เชี่ยวชาญเรื่องสวนขวด

ย้ำว่านี่เป็นแค่น้ำจิ้ม ยังมีซุ้มอีกหลากหลายให้ไปเล่นสนุกและเสพเนื้อหาย่อยง่ายแสนอร่อย เช่น ซุ้มแบคทีเรียที่จะเฉลยความลับสำคัญในร่างกายมนุษย์ ซุ้มน้ำที่จะเล่าให้ฟังว่าป่าเจ๋งแค่ไหนในการกักเก็บน้ำ ซุ้มต้นไม้ที่จะไขปริศนาว่าต้นไม้ช่วยลดอาชญากรรมในเมืองได้อย่างไร ลองออกมาเป็นนักผจญไพรตามหาขุมทรัพย์เราที่ลืมกันไปดูนะ

ไม่ขออะไรมากมาย แค่คิดถึงกันก็พอ

สรุปแล้ว นิทรรศการมาหาสมบัติไม่ได้หวังผลใหญ่โต การทำงานตามเจตนารมย์ของมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ คือการ ‘ป้ายยา’ ให้คนเก็บแนวคิดเกี่ยวกับธรรมชาติติดตัวไป เพื่อวันหนึ่งเมื่อเขาต้องตัดสินใจทำอะไรสักอย่าง เขาจะไม่ลืมนึกถึงธรรมชาติ

“อาจารย์อัจฉราบอกว่า เขาไม่ใช่คนรักเสือ เหตุผลที่เขาทำงานหนักเพื่อรักษาเสือทุกวันนี้ เพราะเสือรักษาป่า และป่ารักษาคน สุดท้ายเขาก็เห็นแก่ตัว เขาแค่อยากให้ทุกคนเห็นแก่ตัวเหมือนเขาบ้าง เรารู้สึกว่าทุกคนแค่ไม่รู้ว่าสิ่งที่ทำอยู่ทุกวันคือกำลังกรีดแขนตัวเองโดยไม่รู้ตัว” พิแชร์ให้ฟัง

“ธรรมชาติไม่ได้ต้องการคนที่วิ่งไปปลูกป่า ออกไปเรียกร้อง ไปเอ็นดูเสือ ธรรมชาติแค่ต้องการให้มนุษย์ใช้ชีวิตโดยไม่เบียดเบียนมากเกินไป เท่านั้นก็พอแล้ว นี่คือพอยต์ที่เปลี่ยนเรา เปลี่ยนการใช้ชีวิต ของกินเหลือก็เก็บกลับบ้าน ตื่นเช้ามาก็กินของเดิมที่มีอยู่ก่อน มันอาจเป็นการเปลี่ยนแปลงเล็กๆ แต่มันตอบโจทย์ทุกอย่างจริงๆ” ป่านสรุปปิดท้าย

งานนี้ยังมีถึงวันที่ 31 สิงหาคม ทราบแล้วมุ่งหน้าตรงไปที่นิทรรศการได้เลย! ดูรายละเอียดที่ เพจมาหาสมบัติ นะ ในงานยังมีทีม Nature Nerd ที่เป็นคนศึกษาด้านธรรมชาติโดยตรงมาเล่าข้อมูลต่างๆ ให้ฟังด้วย ดูรอบบรรยายบนเพจได้เลย

ภาพ ทีมงาน Glow
Story
และ ชนพัฒน์ เศรษฐโสรัถ

AUTHOR