น้อยครั้งนักที่เราจะได้เห็นการเต้นร่วมสมัย ศิลปะการจัดวาง (Installation Art) และดนตรีมารวมตัวกันในห้องเดียว
แต่ในทุกครั้งนั้น เรามักได้เห็นชื่อของ หลอดไฟ-นวินดา ปัจฉิมสวัสดิ์ นักเต้นและนักออกแบบท่าเต้นร่วมสมัยที่น่าจับตามองที่สุดคนหนึ่งแห่งยุค เช่น การแสดงชุด ‘Fractals (2015)’ ซึ่งผสมผสานการเต้นรำร่วมสมัยเข้ากับงานสถาปัตยกรรม
ล่าสุดเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน และ 1 – 2 กรกฎาคมที่ผ่านมา ในโอกาสครบรอบหนึ่งทศวรรษ Bangkok Design Festival นักเต้นสาวกลับมาอีกครั้งโดยจับมือกับ ปัว-ศาวินี บูรณศิลปิน พร้อมทีมสถาปนิกแห่ง thingsmatter และเพื่อนนักดนตรี ยู–ณัฐพล เลิศวนัสวงศ์ เพื่อสรรค์สร้าง ‘Human’ การแสดงร่วมสมัยว่าด้วยการเดินทางของเวลา ประสบการณ์ร่วมของมนุษย์ รวมทั้งการเกิดและดับที่เวียนวนไร้ที่สิ้นสุด
ในเวลาชั่วโมงกว่า เราตื่นตาไปกับการเคลื่อนไหวร่างกายของเหล่านักเต้น บานกระจกที่สะท้อนตัวตนหลายต่อหลายชั้นและดนตรีประกอบที่ปลุกเร้าอารมณ์ คล้ายชวนเชิญให้เราใคร่ครวญความหมายลึกลงไปกว่าสิ่งที่ตาได้เห็นและหูได้ยิน จนเราอดรนทนไม่ไหว ต้องขอเข้าไปดูและฟังกระบวนการคิดของงานชิ้นนี้โดยนักสร้างสรรค์ทั้งสามดูสักหน่อย
รวมศาสตร์และศิลป์ให้เห็นภาพชัด
หลอดไฟ: หลังจากจบด้านการเต้นร่วมสมัยจากเมลเบิร์น เราตัดสินใจว่าจะกลับมาอยู่ที่นี่ ก่อนกลับก็เลยไปแบ็กแพ็กรอบยุโรปคนเดียว อยากหาประสบการณ์ ใช้ชีวิต พอดีบังเอิญไปเจอพี่ที่เป็นสถาปนิกที่เบอร์ลิน เราก็เพิ่งเข้าใจว่า สถาปนิกไม่ได้สร้างตึกนี่หว่า เขามีความเป็นศิลปิน แต่ยังอยู่บนพื้นฐานของความจริงได้ เราชอบในจุดนี้เพราะมันสามารถดึงคนที่ไม่เข้าใจงานศิลปะมากๆ เข้ามาได้ เราเลยทำงานกับสถาปนิก เป็นงานเต้นที่มี object installation ให้คนดูเห็นภาพชัดๆ ว่าตอนนี้มันมี object นี้ สามารถเห็น space ได้แบบนี้ เคลื่อนไหวได้แบบนี้ แทนที่จะอยู่ในร่างกายเรา เป็นแค่ conceptual ที่เรารู้คนเดียว แต่สามารถยืดร่างกายออกมาเป็น object อื่นได้ด้วย เหมือนเรามีแขนขาเพิ่มขึ้นมา แล้วก็ให้คนดูได้เห็นอย่างอื่นที่ไม่ใช่แค่ movement
จากงานแรก ‘Fractals’ เราสนุกที่ได้ทำงานกับศิลปินที่ไม่ใช่สาย Fine Art มากๆ เลยทำต่อมาอีกเรื่อยๆ พอมาโปรเจกต์นี้ ทาง Bangkok Design Festival รู้จักสถาปนิกมากมาย ก็เลยจับให้เรากับสถาปนิกจาก thingsmatter
มาทำ Human ด้วยกัน
ใช้กระจกสะท้อนการเดินทางของเวลา
หลอดไฟ: เราอยากพูดเรื่องการเดินทางของเวลา เพราะคุณยายเราเพิ่งเสีย เราสงสัยว่า แล้วคุณยายไปไหน เราเกิดมาจากที่เดียวกัน ด้วยความออร์แกนิกมาก แต่พอโตขึ้น มันผ่านช่วง man-made ซึ่งไม่ได้ออร์แกนิกแล้ว เรารับนู่นรับนี่เข้ามาปรับเปลี่ยนเป็นตัวตนของเราเอง ซึ่งทำให้มนุษย์ไม่เหมือนกันแต่เราก็ไปจบที่เดียวกันอยู่ดี สุดท้ายเราก็โปรยคุณยายกลับเข้าไปในดินเหมือนเดิม กลับเข้าสู่โลก สู่ความออร์แกนิกเหมือนเดิม
เราอยากใช้กระจกเพราะมันสะท้อนตัวตนของเรา อยากให้มีกระจกเยอะๆ เพื่อเล่าเรื่องราวการเดินทางของเวลา ตั้งแต่เราอยู่ในท้องแม่ ออกมา เติบโต แก่เฒ่า ตาย เราก็ทำการบ้านจากคนรู้จักและคนที่ทำงานด้วยกันในโปรเจกต์นี้ว่า
เรื่องราวที่สำคัญกับเขามีอะไรบ้างและอยู่ในช่วงชีวิตไหน แล้วจับเอามาร้อยเรียงกัน แต่ละประสบการณ์ แต่ละความทรงจำจะอยู่ในกระจกแต่ละบาน คือตัวเราอยู่ในกระจกที่มันสะท้อนเข้าไป แล้วก็อยากให้มีโครงสร้างที่แขวนกระจกได้
พอแขวนแล้วมันเหมือนเราเรียงความทรงจำของเราก่อนตาย
ออกแบบกระจกให้เล่นด้วยได้
ปัว: เราคุยกันว่าสนใจจะใช้กระจก ทางทีม thingsmatter ก็เลยออกแบบเป็นโครงสร้างที่มีกระจกแขวนอยู่ แล้วเอากระจกออกมาใช้ได้ โดยเราดีไซน์ให้โครงสร้างโค้งนิดนึง เพราะเวลายืนคนเดียวในพื้นที่จะเห็นภาพสะท้อนเป็นตัวเราหลายๆ คน แล้วตัวโครงสร้างก็เลือกใช้ไม้ที่ดูบางๆ เวลาแสดงหรือเอากระจกออกมาใช้แล้วอยากให้โครงสร้างดูเหมือนหายไปเลย
จริงๆ กระจกอันนี้ไม่ใช่กระจก มันคือแผ่นแสตนเลส เราเลือกใช้เป็น mirror finish คือมีพื้นผิวแบบกระจกเงา แต่แข็งแรงกว่า เราเน้นความปลอดภัย เพราะถ้าใช้เป็นแก้วจริงๆ จะอันตราย
หลอดไฟ: ตัวกระจกค่อนข้างหนัก ซึ่งเป็นเรื่องบังเอิญ เพราะตอนคุยกันว่าจะใช้กระจก เราบอกสถาปนิกไปว่าเราอยากให้มันตั้งได้หลายระดับ เพื่อให้มันสะท้อนในระดับที่ไม่เหมือนกัน แต่เราไม่ได้ลงรายละเอียดมากกว่านั้น ในใจเราคิดแค่ว่ามันจะเบาแล้วกางขาออกมาสี่ขาได้ แต่สำหรับสถาปนิกเขาต้องทำออกมาให้เป๊ะที่สุด เขาคิดถึงความมั่นคง คิดถึงว่าจะเก็บอย่างไรให้สวยงาม เขาคิดแทนให้ ซึ่งเรารู้สึกดีมาก ถึงแม้กระจกจะออกมาหนักกว่าที่คิดไว้ แต่เพราะความหนักเราเลยได้ใช้มันในแบบที่ไม่คิดว่าจะได้ใช้ตอนแรก คือมันเหยียบได้ แบกได้ และมีความหนาที่เห็นชัดเจน ซึ่งเราว่ามันคือความวิเศษของการทำงานกับคนที่อยู่ละสาขา มุมมองเขากับมุมมองเราไม่เหมือนกัน แต่มันเซิร์ฟกันได้
ตีความคีย์เวิร์ดให้เป็นการเคลื่อนไหว
หลอดไฟ: จุดนี้คือจุดที่สนุกที่สุดสำหรับเรา เพราะเรามาสายนี้ เราก็จะตีความจากประสบการณ์รอบตัวให้นักเต้นเขียนออกมา ถ้าเขาจำได้ว่าตอนนั้นรู้สึกอย่างไร หรือเราเห็นภาพมันเป็นอย่างไร เช่น ตอนอยู่ในท้องแม่ มันมีน้ำ มันมีการบีบ
มันก็จะออกมาเป็นท่าทาง ไม่ใช่ว่าพวกเราเต้นอะไรก็ได้ แต่มันถูกกลั่นกรองมาจากคำต่างๆ สมมติคำว่า ‘รก’
เราก็จะตีความว่า สำหรับคุณ รกมันคืออะไรบ้าง ร.เรือ ก.ไก่ คือดูรวมไปถึงตัวอักษรที่เขียนเลย แล้วคำว่ารกมันมีความหมายว่าอะไรบ้าง แตกหน่อออกมา เหมือนเราช่วยกัน Brainstorm มันจะได้คำอื่นๆ ใหม่ๆ ออกมาที่ไม่ใช่คำนั้นโดยตรง แล้วก็ลองเต้นดู ส่วนใหญ่จะเป็นภาพนิ่งก่อนแล้วเอาภาพนิ่งมาต่อกัน
กระจกทำได้มากกว่าการสะท้อน
หลอดไฟ: เราไม่ได้ใช้กระจกเพื่อสะท้อนอย่างเดียว บางทีเราใช้กระจกแทนของที่มีความสำคัญกับเรา ติ๊ต่างว่ากระจกเป็นของชิ้นนั้น และมันจะมีเซกชันหนึ่งที่เราให้แดนเซอร์วาดรูปสิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับเขา โดยใช้กระจกเป็นดินสอหรือพู่กัน บางทีอาจใช้มุมกระจกเป็นดินสอ หรือใช้ด้านป้านเป็นพู่กัน แล้วให้รู้สึกว่าทั้งห้องนี้เป็นกระดาษ คนดูจะไม่รู้ว่าเขากำลังวาดรูปอยู่ แต่ระหว่างที่เขาวาดมันก็จะออกมาเป็น movement
ใช้เสียงธรรมชาติเล่าเรื่องชีวิตมนุษย์
หลอดไฟ: เราใช้เวลาประมาณ 3 เดือนค่อยๆ กลั่นกรองออกมาเป็นเซกชันต่างๆ แล้วก็คุยกับคนทำซาวนด์ว่า แต่ละเซกชันมีความหมายอย่างไรและเข้ากับ movement นั้นอย่างไร
ยู: ตอนแรกหลอดไฟให้โจทย์ว่า Human คือธรรมชาติ ก่อนเริ่มงานผมก็เลยเอาเครื่องอัดเล็กๆ เดินไปเก็บเสียงดิน เสียงใบไม้ เสียงไม้ เสียงน้ำ หลังจากนั้นหลอดไฟก็ไกด์มาเป็นเซกชัน ว่าแต่ละเซกชันคืออะไร เซกชันนี้เกิด เซกชันนี้โต เซกชันนี้มีการละเล่นของเด็ก เซกชันนี้มีการคุยกับคนดู เซกชันนี้วุ่นวายหน่อย ผมก็เอาเสียงที่เตรียมไว้มาทำ ทั้งการแสดงใช้เป็นเสียงธรรมชาติทั้งหมด แค่ใส่เอฟเฟกต์ให์ฟังดูรู้สึกอิเล็กทรอนิกส์ อย่างเซกชันที่วุ่นวาย ผมจะตีความว่ามันวุ่นวายจนเสียงธรรมดาของมนุษย์เรามันอธิบายไม่ได้แล้ว ก็เลยทำให้เสียงมันแตกจนฟังดูไม่ใช่เสียงธรรมชาติแล้ว
สุดท้ายประสานทุกอย่างเข้าด้วยกัน
หลอดไฟ: ตอนเอามารวมกันทั้งหมดเป็นตอนที่เราเหนื่อยที่สุด เครียดมาก (หัวเราะ) แต่มันก็ท้าทายที่สุดด้วยว่าเราจะร้อยเรียงอย่างไรให้มันดูสมูท ทำอย่างไรให้คนดูไม่รู้ว่านี่คือ transition ระหว่างแต่ละเซกชัน จะทำอย่างไรไม่ให้มันกระโดด ต้องคำนวณว่าจะเลื่อนกระจกไปอย่างไร ต้องใช้กี่คนเพื่อเลื่อน และระหว่างคนอื่นเลื่อน มีใครทำอะไรอีก
แล้วคนดูจะมองอะไร มันค่อนข้างคิดเยอะเหมือนกัน เวลาเราสร้างงานๆ หนึ่งมันเลยต้องตกตะกอนพอสมควร ไม่ใช่เอะอะทำอะไรก็ได้ โดยไม่ให้ความหมายหรือความสำคัญกับมัน อันนี้อาจเป็นความเยอะของเราเอง แต่เราคิดว่าการลงรายละเอียดเรื่องพวกนี้คือการที่เราจริงใจกับงานที่เราทำ อยากให้ออกมาดีที่สุด