เรื่องราวอบอุ่นเบื้องหลังโฉมใหม่แสนมีเสน่ห์ของ ‘แต้คุนฮะ’ แบรนด์ข้าวสารอายุ 60 ปี

เรารู้จัก ยูน-พยูณ วรชนะนันท์ ในฐานะนักออกแบบสาวที่ฝีมือมีลายเซ็นสวยไม่เหมือนใคร เราเลยตื่นเต้นเมื่อรู้ว่านักออกแบบผู้ประจำการอยู่ที่ญี่ปุ่นคนนี้มีงานออกแบบชิ้นใหม่ นั่นคือถุงข้าวสารของ ‘แต้คุนฮะ’ กิจการขายข้าวสารอายุ 60 ปีของที่บ้าน

แค่เห็นภาพผลงานออกแบบของยูนผ่านเฟซบุ๊ก เราก็ตกหลุมรัก แทนที่บรรจุภัณฑ์ข้าวเรียบง่ายอย่างการใส่ถุงพลาสติกหรือถุงสุญญากาศ ยูนหยิบข้าวสารคุณภาพของแต้คุนฮะมาใส่ในถุงกระดาษเรียบสวย ผูกเป็นโบด้านบน แล้วติดฉลากที่มีคำอวยพรดีๆ ลงไป เป็นการออกแบบที่เปลี่ยนให้ข้าวสาร 1 ถุงกลายเป็นของชิ้นสวยที่น่าซื้อไปมอบให้คนอื่น แล้วยิ่งเมื่อติดต่อไปพูดคุย เราก็ได้รู้ว่าเบื้องหลังงานออกแบบแสนสวยนี้มีวิธีคิดแสนละเอียดและไม่ได้มีแค่ไอเดียดีๆ

แต่มี ‘ครอบครัว’ เป็นส่วนผสมสำคัญ

‘แต้คุนฮะ’ สิ่งดีที่ไม่อยากให้หายไป

“ร้านข้าวสารของที่บ้านเพิ่งปิดหลังจากที่ทำมาตั้ง 60 ปี ป๊า ม้า และอาเจ็ก ที่ช่วยดูแลร้านกันมาเขารีไทร์เพราะอายุเยอะแล้ว แต่พวกเรา 3 พี่น้องเสียดายความรู้เรื่องข้าวของคนรุ่นเก่า เพราะโตมากับข้าวเลยไม่เคยสังเกตว่าตัวเองกินข้าวดีๆ มาตลอด ไม่เคยสังเกตว่าพ่อแม่ตั้งใจและรอบรู้เรื่องข้าวมากขนาดนี้ เลยคิดว่าจะลองเอามาทำต่อดู ทุ่มทุกอย่างที่มีหมดหน้าตักเลย ถือว่าเป็นโอกาสที่ดีที่จะได้เรียนรู้อะไรใหม่ๆ ด้วย แล้วเสน่ห์ของการรู้อะไรลึกซึ้งเฉพาะทางแบบนี้มันน่าหลงใหล สักวันเราอยากเป็นแบบนั้นบ้าง”

สานต่อกิจการด้วยงานออกแบบ

“เราคิดจะออกแบบฉลากและแพ็กเกจข้าวของร้านเพราะนั่นเป็นการทำร้านของพ่อแม่ต่อในแบบที่เราถนัด ข้าวที่ป๊าคัดมามันเป็นของดีอยู่แล้ว ทำอะไรเพิ่มไม่ได้แล้ว (หัวเราะ) แล้วเราก็คิดว่า มีของดีอยู่ ไม่อยากให้มันหายไป อยากให้คนอื่นกินแบบเดี๋ยวส่งไปให้เป็นของขวัญ แต่จะส่งไปแบบถุงร้อนรัดหนังยางเฉยๆ ก็ยังไงอยู่ เลยคิดว่า เอาอย่างนี้ เรามาทำข้าวให้เป็นของขวัญและของฝากดีกว่า จริงๆ การดึงของดีในท้องตลาดมาทำบรรจุภัณฑ์ใหม่เป็นสิ่งที่เห็นมากในตลาดญี่ปุ่น ดูแล้วก็ไปอิจฉาเขา คิดเสมอว่าของบ้านเรามีของดีกว่านี้เต็มไปหมด อยากทำบรรจุภัณฑ์ให้บ้าง คิดมาตลอด และหาข้อมูลเอาไว้เยอะมากๆ สั่งสมมาหลายปีแล้ว นี่ก็เลยเป็นโอกาสดี ลองกับของร้านตัวเองนี่แหละ ก็เลยตั้งทีมออกแบบขึ้นมา”

ออกแบบให้ดูเป็นคนแก่ใจดี

“โจทย์ของทีมเราคือ งานดีไซน์นี้คือคนอายุ 60 ปี ถ่อมตัว เรียบง่าย ตั้งใจทำงาน และซื่อสัตย์ เหมือนร้านเก่าของเรา และด้วยเหตุนี้เราจึงไม่เอาสไตล์น้อยนิ่งหรือโมเดิร์นถ้าไม่มีเหตุผล รวมถึงไม่เวอร์วังอลังการวูบวาบ อยากให้ดูใจดี ให้มีรอยเหี่ยวย่นของกาลเวลาบ้าง”

ไม่ใช่การออกแบบฉลากถุงข้าวสาร แต่คือการออกแบบฉลากบนของขวัญ

“ในส่วนของการออกแบบฉลาก ไอเดียการออกแบบของเราชัดเจนมากตั้งแต่แรก ทุกคนเห็นภาพเดียวกัน นั่นคือเราเน้นให้ข้าวแต้คุนฮะเป็นของขวัญมากกว่าการซื้อไปใช้เอง ซึ่งการให้ของขวัญกันคือการส่งต่อความปรารถนาดีจากคนหนึ่งไปสู่อีกคนหนึ่ง และมันเป็นเหมือนหน้าตาของคนให้ ฉะนั้น แทนที่จะพะยี่ห้อร้านใหญ่ๆ เราเปลี่ยนเป็นคำอวยพรตัวใหญ่ๆ อย่าง ‘ขอให้แข็งแรง’ หรือ ‘ขอให้รุ่งเรือง’ ดีกว่า เราไม่สนว่าโลโก้ชื่อร้านมันจะเล็กหรือไม่เด่น แต่คอนเซปต์ของความเป็น ‘ของขวัญ’ มันจะต้องแข็งแรงและมาก่อนเสมอ และเนื่องจากเรามีทีมออกแบบของตัวเองอยู่ เราจึงใช้โอกาสนี้ให้คุ้มด้วยการเปลี่ยนข้อความและดีไซน์ให้เหมาะสมกับแต่ละเทศกาลด้วย”

 

งานออกแบบที่เกิดในสวรรค์ของนักออกแบบ

“เราทำงานออกแบบครั้งนี้จากญี่ปุ่น ซึ่งมาตรฐานการพิมพ์ของที่นี่สูงมาก ส่องรายละเอียดใกล้ๆ แล้วหัวใจเต้นแรง ทึ่งกับความเนี้ยบ กระดาษก็มีให้เลือกหลายชนิดแบบละลานตา เป็นแดนสวรรค์ของนักออกแบบ ตอนตัดสินใจเลือกกระดาษทำฉลากก็ขอตัวอย่างกระดาษจากหลายโรงพิมพ์มาเปรียบเทียบ จนมาเจอกระดาษญี่ปุ่นที่ชื่อว่ากระดาษ 雲龍 (อุนริว = เมฆมังกร) เนื้อกระดาษนุ่ม ผสมเงินๆ ทองๆ เข้าไป ดูสวยแบบพอดีๆ เลยตัดสินใจเลือกกระดาษนี้ ตอนนั้นคิดว่าโชคดีจริงๆ ที่มีทีมออกแบบอยู่ที่ญี่ปุ่น เพราะมีอิสระในการเลือก อีกเรื่องคือชื่อร้านเป็นภาษาจีน เรารู้ญี่ปุ่นเลยพอพิมพ์จีนได้ พอทำฟอนต์ได้อีกนิดหน่อย เลยพอจะออกแบบโลโก้ที่เป็นคันจิให้พอดูได้ไม่เด๋อ”

 

ถุงข้าวสารที่ดีและจบในตัวเอง

“ก่อนทำตัวบรรจุภัณฑ์ เราให้น้องชายกับพี่ชายไปสืบดู เห็นในท้องตลาดเขานิยมแบบข้าวบล็อกสุญญากาศ เรามาคุยกันว่ามันก็เร็วและง่ายดีนะ แต่คิดไปคิดมา ถ้าเราทำเหมือนเขาไปมันก็จะไม่มีอะไรใหม่ แล้วจะไปแข่งกับคนอื่นเขาทำไม เลยลองหาวิธีให้สินค้ามันจบงานในตัวเองในฐานะของขวัญหนึ่งชิ้นได้ โดยไม่ต้องเขียนการ์ดและไม่ต้องห่อของขวัญอีกทีให้วุ่นวาย

ตัวถุงแบบนี้มีขายอยู่ในตลาดญี่ปุ่นอยู่แล้ว ซึ่งเราว่ามันดีและสะดวกมาก คือซื้อแล้วก็หิ้วออกจากร้านไปได้เลย ไม่ต้องใส่ถุงพลาสติกอีกที เราก็เลยศึกษาต่อแล้วไปคุยกับทางบริษัทผลิตถุง ขอตัวอย่างเขามามหาศาล มานั่งเลือก ลองชั่งข้าวใส่ ลองผูกดู สุดท้ายสรุปฟันธงเอาถุงนี้โดยดูจากการใช้งานเป็นหลัก คือเลือกเอาถุงที่มีการเคลือบภายในเพื่อการรักษาคุณภาพของข้าว แล้วก็เลือกแบบที่เจาะเป็นช่องให้ลูกค้ามองเห็นข้าวข้างใน
ส่วนสีถุงก็เลือกมาสองสีคือขาว เอาไว้ใส่ข้าวขาว และถุงน้ำตาลเอาไว้ใส่ข้าวแดงผสม ผูกปลายเป็นโบว์ด้านบนให้สมเป็นของขวัญ”

ความพอใจคือค่าแรง
กำไรคือการพัฒนาตัวเอง

“สิ่งที่ยากในการทำตัวบรรจุภัณฑ์คือการอยากทำของดีๆ ได้โดยไม่เจ็บตัว คือเราออกแบบตามนิสัยคนทำงานออกแบบไง ต้นทุนเลยบาน ต้องแก้ปัญหาด้วยการเลือกตัวท็อปทั้งหมดเพื่อให้ได้ของดีออกมา แล้วไปกดค่าแรงออกแบบของตัวเองเพื่อให้ต้นทุนต่ำที่สุด ไม่อยากขายของแพงเกินควร เพราะป๊าม้าเราไม่ทำแบบนั้น ซึ่งเราก็ถือว่า พยายามทำให้มันออกมาดีๆ แล้วเอาความพอใจนั้นเป็นค่าแรง กำไรคือการพัฒนาตัวเอง”

งานออกแบบที่ลูกค้าคือครอบครัว

“เวลาออกแบบให้กับสินค้าของที่บ้านมันมีความต่างกับการทำงานให้ลูกค้าตรงที่เรารู้จักร้านนี้ดีที่สุด และมันมีชื่อร้านเก่าแก่ตั้ง 60 ปีตั้งแต่สมัยอากงค้ำคออยู่ จะทำอะไรก็ต้องคิดดีๆ เหมือนกดดันตัวเอง กลัวจะเอาโคลนไปป้ายหน้าร้าน ทั้งที่รู้ว่าพวกเขาไม่ว่าอะไรหรอก เขาไม่ได้ยึดติดกับอะไรแบบนั้น คือเราไม่เคยคิดว่าจะมาถึงวันนี้ได้ วันที่ต้องส่งงานออกแบบของตัวเองให้ป๊าม้าตรวจความถูกต้อง เอาของตัวอย่างไปปรึกษาโกวและเจ็กก่อนว่าจะผลิตไหวไหม ปรึกษาเรื่องการขายต่างๆ กับพี่สะใภ้ และจะใช้จ่ายลงทุนพิมพ์อะไรก็ต้องให้เฮียกับน้องอนุมัติก่อน แต่พอเป็นเรื่องออกแบบ พวกเขาก็เชื่อใจเรามากนะ มากกว่าเราเชื่อในตัวเราเอง (หัวเราะ) บางทีเขาก็มีเสนอว่า เขาไม่ชอบอันนี้ แต่ทุกคนจะทิ้งท้ายเสมอว่า จะทำหรือไม่ทำก็ให้นักออกแบบเป็นคนตัดสินใจ สำหรับเรา การเชื่อใจกันเป็นเรื่องดีที่สุดที่นักออกแบบจะได้รับจากลูกค้าเลยว่าไหม”

 

พลังของงานที่ส่งถึงใจคน

“เราทำสิ่งนี้จากความคิดว่าอยากทำให้มันดี ซึ่งก็ไม่รู้หรอกว่า เราว่าดีแล้วคนอื่นจะเห็นดีกับเราไหม พอเปิดขายวันแรก ตกใจเลย ของขายหมดใน 6 ชั่วโมงแบบที่เรายังมึนๆ อยู่เลย พอตั้งตัวได้ ความแพนิคก็เปลี่ยนเป็นความซาบซึ้งใจว่า ดีใจที่ลูกค้าเห็นคุณค่าของมัน ดีใจที่บรรจุภัณฑ์ได้ทำงานของมัน เพราะบรรจุภัณฑ์เป็นด่านแรก ถ้ามันช่วยขายของไม่ได้ คนก็จะไม่มีทางรู้ได้ว่าของข้างในมันดี แล้วนอกจากลูกค้าใหม่ ก็มีลูกค้าเก่าแก่ตามมาเจอกันในนี้ด้วย เราดีใจมากๆ”

Facebook l ร้านข้าวสารแต้คุนฮะ

 

AUTHOR