PAD THAI คลิปโฆษณาสุดเจ๋งที่ชวนเที่ยวเมืองไทยผ่านผัดไทย 1 จาน!

เคยเห็นโฆษณาชวนเที่ยวไทยมาเยอะ
แต่พอมาเจอคลิปโฆษณา Discover Amazing Stories : PAD THAI ของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ที่สร้างสรรค์โดยเอเจนซี่ตัวพ่ออย่าง The Leo Burnett
Group Thailand (กีรติ ชัยมังคโล-Executive Creative Director / พิพัฒน์ อุราพร-Creative
Director / ประธาน อุดมทรัพย์วงศ์-Copy Writer)
ผลิตโดยโปรดักชั่นเฮาส์ Macho Mango เราก็แทบจะก้มกราบให้กับวิธีคิดวิธีเล่าเรื่องที่จะครีเอทีฟอะไรเบอร์นั้น
เพราะคลิปนี้เล่นชวนเที่ยวเมืองไทยแบบทั่วประเทศผ่านวิธีการทำผัดไทยจานเดียว
สูตรลับของผัดไทยจานนี้จะเลิศขนาดไหน มาดูกันเลย!

ขั้นตอนที่ 1

ประธาน: “ เราทำเรื่องการประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวให้กับ ททท.
ทั้งในส่วนของคนไทยและชาวต่างชาติอยู่แล้ว คลิปโฆษณาตัวนี้เป็นโจทย์ในส่วนของต่างประเทศ
ซึ่งสิ่งที่ลูกค้าบอกเราเสมอคือให้มองแบบ outside in เราก็ต้องมองว่าต่างชาติให้ความสนใจกับอะไร
บางอย่างที่คนไทยว่าธรรมดามาก ฝรั่งอาจมองว่านี่แหละ อะเมซิ่งก็ได้”

พิพัฒน์: “ในโฆษณาตัวนี้ เราอยากเซ็ตให้เมืองไทยเป็น quality
destination ซึ่งเป็นนโยบายหลักของ ททท.ในช่วงนี้
แต่ในแง่ของการสื่อสาร เราไม่อยากโปรโมตการท่องเที่ยวออกไปเป็นภาพเก่าๆ เราคิดว่าเรื่องวิถีชีวิตแบบไทยก็ยังเป็นสิ่งที่น่าสนใจในสายตาคนทั่วโลกอยู่ แต่จะทำยังไงให้วิถีที่เรามีโดดเด่น
เป็นที่สนใจ เราก็เลยคิดแมสเสจของปีนี้ว่า Discover Amazing Stories มีรากมาจาก Amazing Thailand ความหมายคือเมืองไทยยังมีสิ่งมหัศจรรย์อีกมากมายให้คุณมาค้นหา
แค่จากจุดเริ่มต้นจุดเดียว เบื้องหลังก็มีเรื่องราวมากมาย ซึ่งนี่ก็คือแมสเสจหลักในการนำเสนอหนังภาพยนตร์เรื่องนี้”

ขั้นตอนที่ 2

พิพัฒน์: “ที่จริงแล้ว เราวางแผนทำคลิปโฆษณาชุดนี้ไว้เป็นหมวดอยู่แล้ว
เช่น หมวดอาหาร หมวดที่เที่ยว ซึ่งถ้าเป็นหมวดอาหาร เราก็นึกถึงอะไรที่เด่นที่สุดของประเทศนั่นคือผัดไทย”

ประธาน: “ทำไมต้องผัดไทย เพราะมันทับศัพท์คำว่าไทยได้
แล้วมันชัด อยู่มานาน
แล้วส่วนตัวเรารู้สึกว่ามันเป็นสิ่งที่พูดปุ๊บแล้วเข้าใจได้เร็วกว่าต้มยำกุ้ง
ถามว่าถ้าเทียบต้มยำกุ้ง ส้มตำ ผัดไทย ผัดไทยนี่เร็วสุดในแง่ของแมสเสจในการสื่อสาร
แล้วมันก็บอกตัวตนเราได้ดีที่สุด”

ขั้นตอนที่ 3

ประธาน: “ในส่วนของวิธีเล่า ตอนนี้วิธีของเอเจนซี่เกือบทุกที่คือ ถ้าอยากได้งานที่ดีในการพรีเซ้นท์ คุณต้องตัดเป็นวิดีโอ เพราะสตอรี่บอร์ดเล่าไม่สนุกแล้ว มันแห้ง ผัดไทยเป็นเรื่องที่เราเลือกมาทำเป็นวิดีโออธิบายกลยุทธ์
ตอนแรกมันไม่ได้ถูกมองว่าเป็นหนังโฆษณา เป็นแค่การอธิบายคอนเซปต์
ความตั้งใจคืออธิบายให้ลูกค้าเข้าใจว่าเรามีผัดไทย
แล้วลองนึกภาพดูว่าถ้าเล่าเรื่องผัดไทยแบบเชื่อมโยงไปสู่สิ่งอื่นได้จะเป็นยังไง
แต่ปรากฏว่าลูกค้าเอาไปเทสต์แล้วชอบมาก ก็เลยเป็นที่มาของหนังโฆษณาตัวนี้”

พิพัฒน์: “ที่จริงตอนได้บรีฟมาว่าจะต้องทำแบบนี้
เราก็ลองไปสำรวจหาความเป็นไปได้ทางอื่นต่อแล้ว
แต่ปรากฏว่าทางอื่นมันซับซ้อน เข้าใจยาก ทางนี้แหละคือทางที่เล่าถึง Discover
Amazing Stories ได้ง่าย ได้เข้าใจที่สุด เพราะฉะนั้นมันก็เลยลงตัวที่วิธีนี้”

ขั้นตอนที่ 4

ประธาน: “หลังจากนั้น เราต้องมานั่งดูว่าสิ่งที่ไปหามาทำเป็นคลิปไพล็อตทั้งหลาย
ทำยังไงให้ในชีวิตจริงมันมีได้ เพราะตอนเราทำไพล็อตมันไม่มีงบประมาณหรอก
แต่พอชีวิตจริง เอาเงินมาวาง เราก็ต้องเรียกผู้กำกับมาคุย ให้เขาดูวิดีโอตัวนี้
เขาต้องไปตีราคามาให้ได้ แล้วเราก็จะคุยกับทีมงานโปรดักชั่นเฮ้าส์แบบลงรายละเอียดในแต่ละช็อต โจทย์สำคัญที่เราบอกฝั่งโปรดักชั่นไปคือ
ในเมื่อลูกค้าชอบอันนี้แล้ว เราจะทำยังไงให้ดีกว่าตัวไพล็อต นั่นแปลว่างานต้องเนี้ยบขึ้น
ต้องสมบูรณ์แบบยิ่งขึ้น”

ขั้นตอนที่ 5

ประธาน: “ในส่วนการถ่ายทำ สิ่งที่ต่างไปจากตัวคลิปไพล็อตคือ
ผู้กำกับเดินมาบอกว่า ผมจะถ่ายฟู้ดช็อตแบบเท่ซึ่งตัวคลิปดั้งเดิมไม่มี
นี่คือสิ่งที่เราทำการบ้านเพิ่มขึ้น”

พิพัฒน์: “งานนี้จะเสียเวลากับการถ่ายฟู้ดช็อตเยอะหน่อย เราถ่ายอาหารอย่างกุ้งแห้งให้ภาพดูกราฟิก
ดูมีลีลาหน่อย ไม่ใช่แค่ไปเอากุ้งแห้งจากตลาดมา เพราะฉะนั้น
เราจะเห็นว่าในคลิปจะมีทั้งวิวสวย
แล้วก็สไตล์ของภาพที่เราใส่เติมเข้าไปให้ดูทันสมัย ไม่ได้ดูเรียลไปหมดทุกเฟรม หรือเราอยากพูดว่าผัดไทยกินใส่ได้หลายจาน
กินได้ทุกที่ บางทีฟุตเทจสต็อกมันก็ไม่ได้มุมอย่างที่เราต้องการ
เราจะโชว์ว่าผัดไทยอยู่บนใบตอง ผัดไทยอยู่บนจานหรูมีกุ้งตัวใหญ่ เราก็ต้องถ่ายใหม่”

ประธาน: “อีกข้อเหนื่อยของการทำหนังท่องเที่ยวคือ
คุณถ่ายทำทุกอย่างภายในฤดูเดียว ซึ่งถ้าคุณต้องทำหนังเดือนเมษาแล้วอยากได้หมอก
ไม่มีทางที่คุณจะหาได้ ความโชคดีของเราก็คือทุกวันนี้โลกออนไลน์มีฟุตเทจเต็มไปหมด
ช็อตไหนที่ต้องเป็นวิวก็ซื้อซะ ช็อตไหนที่หาได้ก็หา
หรือช็อตไหนที่เราเคยถ่ายเก็บไว้เวลาไปออกกองของททท. แต่ละครั้งก็จะถูกเอามาใช้
ซึ่งลูกค้าก็เปิดโอกาสให้เราได้ใช้พวกนี้ด้วย คลิปนี้ก็เลยเป็นการถ่ายใหม่จำนวนหนึ่งผสมกับฟุตเทจ”

ขั้นตอนที่ 6

ประธาน: “สคริปต์ในหนังถูกเขียนเป็นภาษาไทยก่อนแล้วแปลเป็นอังกฤษ
โดยที่เราบอกคนแปลว่าอย่าได้พยายามเป็นภาษาอังกฤษซับซ้อน เพราะถ้าหนังคุณมีสคริปต์เยอะขนาดนี้
คนดูดูแล้วเกิดภาพไม่เคลียร์ อย่างถ้าเห็นภาพข้าวเกรียบ ฝรั่งไม่รู้จักว่าอันนี้คืออะไร
เราก็ต้องใส่ก้อปปี้ที่ทำให้เขาเข้าใจมากที่สุด”

ขั้นตอนที่ 7

ประธาน: “เสียงโฆษกที่อ่านเป็นภาษาอังกฤษในเรื่อง
เราลงดีเทลแบบคราฟต์เลย เลือกใช้โฆษกผู้หญิงก็เพราะรู้สึกว่าเรื่องราวพวกนี้เหมาะกับผู้หญิงมากกว่า
ผู้หญิงพูดแล้วน่าฟังกว่า ส่วนเรื่องภาษาอังกฤษ เราต้องการคนไทยที่พูดอังกฤษชัด
แต่ไม่ใช่พยายามเป็น ที่ใช้คนไทยอ่านก็เพราะนี่เป็นเรื่องของชาติเรา
สำเนียงที่ฟังไม่รู้ว่าเป็นอังกฤษหรืออเมริกันทำให้รู้สึกว่าแตกต่าง
บางทีตกรอบแค่เพราะเขาอ่านแล้วฟังดูเป็นสำเนียงอเมริกันก็มี”

ขั้นตอนที่ 8

ประธาน: “ในเรื่องเพลงประกอบ หนังเรื่องนี้พระเอกคือเสียงโฆษกที่จะเล่าเรื่อง
เพลงต้องเป็นพระรอง เสียงเครื่องดนตรีต้องไม่เด่นเกินไป เราก็สกอร์เพลงขึ้นมาใหม่
หลบหลีกทำให้เสียงโฆษกของผู้หญิงคนนี้โดดเด่นขึ้น ดูแพงขึ้น นอกจากนี้ เราเลือกใช้เพลงที่ตอบโจทย์คอนเซปต์ที่ทันสมัย
เป็นททท.ภาคอินเตอร์ ไม่ใส่เสียงดนตรีไทยเพราะเสียงฟังแล้วไม่ค่อยสากล
ดนตรีไทยยังดูผ่อนคลายไปหน่อยด้วย เพราะเราต้องการความตื่นเต้น ไดนามิกบางอย่าง
ไม่อยากให้คลิปนี้ดูเป็นสารคดีที่เพลงวนลูป เนิบๆ”

ขั้นตอนที่ 9

ประธาน: “หลังทำคลิปดราฟต์แรกเสร็จไปส่งลูกค้า
คอมเมนต์ที่กลับมาคือดูแล้วเป็นหนังที่เกี่ยวกับผัดไทยเกินไป
มากกว่าหนังท่องเที่ยว เราก็กลับมาแก้ ค่อยๆ หยอดวิวลงไป
ซึ่งนี่คือข้อดีของการทำวิดีโอไพล็อต มันจะได้คอมเมนต์ที่ลงรายละเอียดหน่อย ที่ยังพอแก้ได้เพราะลูกค้าเห็นภาพมาแล้ว
ไม่เหมือนการขายสตอรี่บอร์ดที่ต้องไปลุ้นเพราะลูกค้าไม่เคยเห็นภาพในหัวเรามาก่อน สิ่งที่ต้องสู้คือทำยังไงก็ได้ให้ลูกค้าลืมคลิปไพล็อตตัวนั้นไป
ปัญหาที่เจอก็เลยจะเป็นเรื่องทำยังไงให้มันดีกว่าตัวเดิม ดีหรือยังวะ น่าจะได้อีกมั้ย”

พิพัฒน์: “พอทำวิดีโอตัวนี้เสร็จ ปล่อยมันลงยูทูป เราก็ปล่อยไปตามธรรมชาติเลยนะ
แล้วก็รู้สึกดีที่มันมีพลังพอที่จะทำให้คนชอบและแชร์ต่อไปได้ เราอยากให้คนดูคลิปนี้แล้วรู้สึกว่า
เมืองไทยยังมีสิ่งมหัศจรรย์อีกมากมายให้คุณมาค้นหา ดูสิ นี่แค่ผัดไทยนะเนี่ย แล้วถ้าเป็นอย่างอื่นล่ะ
มีอีกเยอะแยะนะ ให้คนที่ไม่เคยมารู้สึกว่า โอ้โห มีขนาดนี้เลยเหรอ ส่วนคนที่มาแล้วก็อยากให้คิดว่า
ยังมีสิ่งอื่นอีกเหรอ ฉันจะกลับมา”

AUTHOR