เบื้องหลังความพิเศษต้องห้ามพลาดของหนังสือพิมพ์ไทยรัฐฉบับ 100 วันน้อมอาลัยในหลวงภูมิพล

ใครหลายคนบอกว่าสิ่งพิมพ์กำลังจะตาย แต่ในวันที่เกิดเหตุการณ์ครั้งใหญ่ในเมืองไทย เราไม่เห็นหนังสือพิมพ์เหลืออยู่บนแผงแม้แต่ฉบับเดียวในเช้าวันรุ่งขึ้นและเป็นแบบนั้นเกือบอาทิตย์ ในช่วงนั้นหนังสือพิมพ์น้อยใหญ่และนิตยสารหลายหัวต่างก็ทำนิตยสารฉบับพิเศษหรือสกู๊ปพิเศษเกี่ยวกับในหลวงรัชกาลที่ 9 ออกมา แต่หลายคนอาจจะกำลังตั้งหน้าตั้งตาเฝ้ารอหนังสือพิมพ์หัวใหญ่อย่าง
ไทยรัฐ ว่าจะทำเนื้อหาพิเศษอะไรออกมาตอนไหน ซึ่งไทยรัฐเลือกวาระครบ 100 วันสวรรคตของในหลวงรัชกาลที่ 9 เพื่อปล่อยหนังสือพิมพ์
ฉบับ 100 วันน้อมอาลัยในหลวงภูมิพล ออกมาเป็นของขวัญให้ชาวไทยในห้วงเวลาที่เราจะกลับมาโศกเศร้าอีกครั้ง

ด้วยความพิเศษนี้ เราจึงแวะไปพูดคุยกับ
วัชร วัชรพล ผู้บริหารหนุ่มไฟแรงแห่งไทยรัฐทีวีซึ่งรับหน้าที่เป็นเรี่ยวแรงหลักในการทำหนังสือพิมพ์แจกฟรีฉบับนี้ พร้อมกับเล่าถึงความพิเศษของหนังสือพิมพ์ฉบับ 100 วันน้อมอาลัยในหลวงภูมิพล ซึ่งน่าเก็บสะสมและน่า ‘เล่น’ ที่สุดเพราะนอกจากจะมีเนื้อหาสุดเอ็กซ์คลูซีฟจากกองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ที่มีอายุยาวนานที่สุดในประเทศไทยแล้ว ยังมีปรากฏการณ์ใหม่สำหรับสิ่งพิมพ์ไทยใส่เข้าไปในหนังสือพิมพ์ฉบับนี้ด้วย นั่นคือการหยิบเอาเทคโนโลยี AR (Augmented Reality) เข้ามาใช้ซึ่งเป็นความสร้างสรรค์ที่จะรวมโลกจริงและโลกดิจิทัลเข้าด้วยกัน

และนี่คือ 5 ความพิเศษต้องห้ามพลาด หนังสือพิมพ์ไทยรัฐฉบับ 100 วันน้อมอาลัยในหลวงภูมิพล ฉบับวันที่ 20 มกราคม 2560

1. เนื้อหาอัพเดตที่สุด

แม้ว่าในช่วงที่เกิดเหตุการณ์ที่เศร้าโศกเสียใจของคนไทยทั้งประเทศจะมีสื่อสิ่งพิมพ์มากมายทำบทความเกี่ยวกับในหลวงรัชกาลที่ 9 แต่หนังสือพิมพ์พิเศษฉบับนี้จะรวบรวมเนื้อหาซึ่งครอบคลุมอารมณ์ความรู้สึกของคนไทยตั้งแต่เกิดเหตุการณ์ไว้ทุกช่วงเวลา


วัชร:
“ตั้งแต่หลังจากเหตุการณ์สวรรคต ทีมนั่งคุยกันทันทีว่าเราอยากจะทำหนังสือพิมพ์ฉบับพิเศษแต่จะทำอย่างไรให้มันพิเศษกว่าสิ่งพิมพ์อื่นๆ ซึ่งความพิเศษนั้นทำให้เรานึกถึงเทคโนโลยี AR ตั้งแต่เริ่มต้นแต่ต้องใช้เวลาในการพัฒนาโปรแกรมพอสมควร เราจึงนึกถึงช่วงเวลา 100 วันขึ้นมา ซึ่งมันทำให้เรามีเวลาทำงานมากขึ้นเพื่อคัดเลือกเนื้อหาที่เหมาะสมที่สุด ความที่เราไม่ได้ทำฉบับพิเศษตั้งแต่ช่วงแรกๆ เลยทำให้เรามีเนื้อหาที่ไม่ขาดหายไป โดยตั้งแต่หน้าแรกจะเรียงลำดับเหตุการณ์ตั้งแต่วันที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 สวรรคต เริ่มตั้งแต่ประกาศจากสำนักพระราชวัง เหตุการณ์วันที่เคลื่อนพระบรมศพ พระราชพิธีที่เกิดขึ้น จนเริ่มเป็นพระราชประวัติซึ่งเป็นไฮไลต์พิเศษของแต่ละช่วงชีวิต”

2. เต็มอิ่มกับเนื้อหาพิเศษ 32 หน้า

หนังสือพิมพ์ฉบับพิเศษนี้จะเรียกว่าฟรีก็ไม่ผิดนัก เพราะจะแนบไปกับหนังสือพิมพ์ข่าวฉบับวันที่ 20 มกราคมด้วย แปลว่าวันนั้นหนังสือพิมพ์ไทยรัฐจะหนาราวๆ 64 หน้าเลยทีเดียว และพิมพ์เพิ่มจากปกติ 1 ล้านฉบับ เป็น 3 ล้านฉบับเพื่อกระจายให้ชาวไทยอย่างทั่วถึง ในส่วนของเนื้อหา 32 หน้าเต็มเป็นเนื้อหาที่จัดทำขึ้นมาใหม่โดยทีมงานทั้งหมดของไทยรัฐ ด้วยความร่วมมือของฝ่ายหนังสือพิมพ์ฝ่ายทีวีและฝ่ายออนไลน์


วัชร:
“ฝ่ายหนังสือพิมพ์จะเป็นคนวางเนื้อเรื่องหลักก่อน โดยคิดหัวข้อก่อนว่าจะใส่เนื้อหาไหนเข้าไปในหนังสือพิมพ์ฉบับนี้ นอกเหนือจากเรื่องอัพเดตสุดๆ แล้ว จะมีพระราชประวัติซึ่งแบ่งเป็น 2 ส่วน คือช่วงแรกจะเป็นพระราชประวัติและเหตุการณ์สำคัญในชีวิตของพระองค์ ส่วนที่ 2 คือชีวิตส่วนตัวของพระองค์ เช่น สัตว์เลี้ยง ทรงดนตรี ทรงกีฬา ธนบัตร แสตมป์ ภาพวาดฝีพระหัตถ์”

3. สื่อเก๋าที่มีภาพและวิดีโอสุดเอ็กซ์คลูซีฟ

ไทยรัฐเป็นสถาบันสื่อที่อยู่มากว่า 67 ปี มีช่างภาพและนักข่าวอาวุโสซึ่งมีเนื้อหาและรูปถ่ายสุดพิเศษที่ไม่เคยเปิดเผยที่ไหนมาก่อนอีกด้วย

4. หมัดฮุกด้วยเทคโนโลยี AR

อีกหนึ่งความพิเศษที่ทำให้หนังสือพิมพ์เล่มนี้น่าเก็บสะสมและน่า ‘เล่น’ มากขึ้นคือเทคโนโลยี AR แบบโลกเสมือนที่เราเริ่มรู้จักจากเกม Pokémon GO ซึ่งไทยรัฐจับมือกับ OOKBEE เพื่อพัฒนาโปรแกรม ยิ่งทำให้หนังสือพิมพ์ฉบับนี้มีเนื้อหาสุด hidden อยู่เต็มไปหมด


วัชร:
“เราเคยคุยเรื่องเทคโนโลยี AR มาก่อนแต่ก็ยังไม่ได้พัฒนาอะไรขึ้นมาเป็นพิเศษ แต่จากเหตุการณ์สวรรคตของในหลวงรัชกาลที่ 9 เราจึงคิดถึง AR อีกครั้งซึ่งจะเข้ามาช่วยเสริมให้หนังสือพิมพ์ฉบับนี้พิเศษยิ่งขึ้น โดยเป็นครั้งแรกที่เราใช้ประสิทธิภาพของบุคลากรในไทยรัฐอย่างเต็มที่ คือ หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ไทยรัฐทีวี แล้วก็ไทยรัฐออนไลน์ แต่ถ้าใครที่ไม่มีสมาร์ทโฟนหรือไม่สามารถโหลดแอพพลิเคชัน Thairath AR ได้ก็ไม่เป็นไร เพราะตอนที่เราคิดเนื้อหาของหนังสือพิมพ์ฉบับนี้ก็ยังตั้งธงให้มันเป็นเนื้อหาที่เหมาะสมที่สุดและมีคุณค่าที่สุด เกิดความรู้สึกที่อยากจะเก็บหนังสือพิมพ์ฉบับนี้แน่ๆ แต่ AR จะมาช่วยเพิ่มความประทับใจให้มันทวีคูณขึ้นไปอีก”

5. ตื่นตาตื่นใจกับเทคโนโลยีแสงสีเสียงที่จัดทำขึ้นมาเป็นพิเศษ

คลิปวิดีโอ เซ็ตภาพถ่าย เสียงเพลงพระราชนิพนธ์ กราฟิก หรือการขับเสภาของเก่ง ธชย เป็นคอนเทนต์สุดพิเศษที่ทำขึ้นมาเพื่อหนังสือพิมพ์เล่มนี้โดยเฉพาะ โดยมีชิ้นงาน AR ทั้งหมด 41 ชิ้นงาน ประกอบด้วยแกลเลอรีภาพจำนวน 12 ชุด วิดีโอ 22 ชิ้น ภาพ-วิดีโอสามมิติ 6 ชิ้น และภาพ 360 องศา 1 ชิ้น


วัชร:
“ทีมจากทั้ง 3 สื่อของไทยรัฐวางแผนออกไอเดียเพื่อสร้างโครงเรื่องขึ้นมา ฝั่งเขียนก็เขียน ฝั่งทีวีก็ต้องหาวิดีโอคอนเทนต์ หาเสียง หากราฟิก สร้างวิดีโอสามมิติ เพื่อนำมาประกอบร่างกันโดยสังเกตง่ายที่สุด แต่ละรูปที่มีเนื้อหาพิเศษจะมีจุดสัญลักษณ์เพื่อใช้สมาร์ทโฟนส่อง เช่น หน้าแรกจะเป็นในหลวงรัชกาลที่ 9 ซึ่งเมื่อส่องด้วยแอพแล้วจะมีกราฟิกและเสียงทรงพระเจริญขึ้นมาด้วย บางหน้าแทรกคลิปวิดีโอประกาศสวรรคตจากสำนักพระราชวัง หรือบางหน้าเป็นการให้ข้อมูลเรื่องพระบรมโกศซึ่งสามารถหมุนดูได้ 360 องศา มีแกลเลอรี่ภาพเก่าๆ ของพระองค์ซึ่งหาดูได้ยาก ซึ่งในการทำงานจริง ทั้ง 3 ทีมจะคิดว่าอยากจะใส่ลูกเล่นอะไรเข้าไป เรื่องไหนจะแทรกด้วยวิดีโอ เรื่องไหนต้องเป็นกราฟิก เรื่องไหนต้องเป็นวิดีโอสามมิติ”


ดาวน์โหลดแอพพลิเคชัน THAIRATH AR ได้ทาง App Store และ Play Store

AUTHOR