เมื่ออยู่บ้านไม่ปลอดภัย ความรุนแรงในครอบครัวช่วงโควิดและการเข้าถึงความช่วยเหลือ

Highlights

  • ความรุนแรงในครอบครัวเป็นอีกปัญหาที่หลายคนกังวลและคาดการณ์ว่าจะเกิดเพิ่มขึ้นในช่วงมาตรการกักตัว เพราะสมาชิกในครอบครัวจะต้องอยู่ร่วมกันในระยะยาว
  • ปัญหาที่ผู้ถูกกระทำต้องเจอคือ เบอร์ช่วยเหลือเหยื่อคู่สายเต็ม เพราะเป็นเบอร์ที่หน่วยงานรัฐใช้เปิดรับทั้งประเด็นความรุนแรง คนไร้บ้าน และการค้ามนุษย์ 
  • ที่สำคัญคือในภาวะเคอร์ฟิวและกักตัวทำให้เหยื่อไม่มีพื้นที่ปลอดภัยอื่นๆ ให้หลบความรุนแรงได้
  • เพราะความรุนแรงไม่ใช่แค่เรื่องของคนที่โดนกระทำ เราจึงรวบรวมวิธีช่วยเหลือเหยื่อมาไว้ด้วย เผื่อว่าเราเจอเหตุการณ์ความรุนแรง เราจะสามารถช่วยเหลือกันได้

ระยะเวลาเดือนกว่ากับมาตรการกักตัวที่บ้านทำให้เราได้เห็นอะไรหลายอย่าง นอกไปจากอาการเบื่อหน่ายของผู้คนที่ไม่สามารถออกไปไหนได้ อีกด้านหนึ่ง คงเป็นเรื่องการจัดการความสัมพันธ์และพื้นที่กับคนในครอบครัว โดยเฉพาะคนที่มีปัญหาความรุนแรงเกิดขึ้นในบ้านเป็นทุนเดิม แม้จะห่างไกลจากโรค แต่บ้านก็ไม่ใช่พื้นที่ปลอดภัยต่อการใช้ชีวิตอยู่ดี    

ปัญหานี้เกิดขึ้นทั่วโลก หลายประเทศมีตัวเลขรายงานความรุนแรงในครอบครัว (domestic violence) เพิ่มสูงขึ้น เริ่มตั้งแต่จีน ซึ่งเป็นประเทศแรกที่สั่งปิดเมืองให้คนกักตัวที่บ้าน ในเมืองหนึ่งตำรวจได้รับเรื่องร้องเรียนความรุนแรงในครอบครัวเพิ่มขึ้น 3 เท่า ประเทศอังกฤษ มีคนโทรเข้าสายด่วนความช่วยเหลือเพิ่มขึ้น 49 เปอร์เซ็นต์ และยังมีผู้หญิง 14 คน เด็ก 2 คนถูกฆ่าเสียชีวิตหลังประกาศล็อกดาวน์ได้ราว 3 อาทิตย์ เช่นเดียวกับฝรั่งเศสที่มีรายงานจากตำรวจเรื่องความรุนแรงเพิ่มขึ้น 30 เปอร์เซ็นต์ หรือแม้กระทั่งเพื่อนบ้านเราอย่างสิงคโปร์ มีสายเข้ามาที่ AWARE สายด่วนช่วยเหลือผู้หญิงมากขึ้น 33 เปอร์เซ็นต์  

ส่วนบ้านเรา มีรายงาน ‘ระวังความรุนแรงในโรคระบาด เมื่อ “บ้าน” อาจไม่ใช่ที่ปลอดภัยสำหรับทุกคน’ โดย ดร.บุญวรา สุมะโน เจนพึ่งพร พบว่า จำนวนผู้โทรเข้าสายด่วนช่วยเหลือสังคม 1300 เดือนมีนาคม 2563 มีจำนวน 103 ราย ลดลงจากปีที่แล้วซึ่งมี 155 คน จำนวนที่น้อยลงไม่ได้หมายความว่าความรุนแรงลดลง เพราะคนโทรแจ้งส่วนใหญ่เป็นคนนอก เช่น ครู เพื่อน เมื่อตอนนี้โรงเรียนปิด และผู้คนกักตัวที่บ้าน ตัวเลขนี้จึงอาจแสดงให้เห็นว่าการรายงานความรุนแรงเพื่อขอความช่วยเหลือลดลงอย่างเห็นได้ชัด

ในภาวะที่ความรุนแรงเป็นภัยกับบางคนได้มากกว่าโรคระบาด อะไรที่เป็นปัจจัยให้การช่วยเหลือยากยิ่งขึ้น สถานการณ์ในช่วงปิดเมืองที่ผ่านมาเป็นยังไง เราชวน เบสท์–บุษยาภา ศรีสมพงษ์ นักกฎหมายและเจ้าของเพจ SHero พื้นที่ช่วยเหลือเหยื่อที่ได้รับความรุนแรงในครอบครัว มาพูดถึงปัญหา ความยากในการช่วยเหลือเหยื่อช่วงโรคระบาด และแนวทางช่วยเหลือผู้ได้รับความรุนแรง

 

ปัญหาและความลำบากของเหยื่อในช่วงกักตัว

ความรุนแรงในครอบครัวไม่ได้เป็นปัญหาที่เพิ่งเกิดขึ้นในช่วงการกักตัวที่ผ่านมา แต่เป็นปัญหาที่เกิดมาอย่างยาวนาน ปี 2561 มีรายงานข่าวว่าช่วงเดือนมกราคม-มีนาคม เกิดความรุนแรงต่อเด็กและผู้หญิงในไทยสูงถึง 83.6 เปอร์เซ็นต์ เฉลี่ย 5 คนต่อวัน ในขณะที่มูลนิธิหญิงชายก้าวไกลรวบรวมข่าวจากหนังสือพิมพ์ 10 ฉบับ ในปี 2561 พบว่า เกิดความรุนแรงในครอบครัว 623 ข่าว สูงกว่าปี 2559 35.4 เปอร์เซ็นต์ 

ดังนั้น เมื่อมีมาตรการที่ทำให้สมาชิกในบ้านต้องมาอาศัยอยู่ร่วมกันในระยะยาว ย่อมส่งผลให้ครอบครัวที่มีความรุนแรงเป็นทุนเดิมอยู่แล้วมีโอกาสจะเกิดการทะเลาะกันมากขึ้น

“ในต่างประเทศก็คอนเฟิร์มเคสเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด และเรามั่นใจว่าในไทยต้องเพิ่มขึ้นแน่นอน ยิ่งสถานการณ์ตอนนี้เกิดความเครียดมากขึ้นจากภาวะเศรษฐกิจ ภาวะตกงาน ผู้กระทำที่มีแนวโน้มจะก่อความรุนแรงอยู่แล้วก็มีความเสี่ยงที่เขาจะทำมากขึ้น” เบสท์อธิบาย

โดยปกติหากมีเหตุความรุนแรงและต้องการความช่วยเหลือ ผู้ถูกกระทำสามารถโทรสายด่วน 1300 ซึ่งเป็นศูนย์ช่วยเหลือสังคม One Stop Crisis Center (OSCC) ของกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ได้

“ปรากฏว่าในสถานการณ์ตอนนี้คู่สายมันเต็มเพราะเขาไม่ได้รับแค่เรื่องความรุนแรง ยังมีเรื่องคนไร้บ้าน การค้าแรงงานมนุษย์ และอื่นๆ เลยกลายเป็นว่าพอคนโทรเข้าไปขอความช่วยเหลือก็ไม่ได้รับการตอบรับ” เบสท์เล่าให้ฟังถึงตอนที่เธอได้ขอข้อมูลกับทางหน่วยงานช่วงมาตรการปิดเมืองเริ่มแรกๆ

“ตอนนี้เขาเลยเปิดให้ความช่วยเหลือด้วยการให้คนติดต่อไปที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ในทุกจังหวัด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นบ้านพักฉุกเฉิน บ้านพักเด็ก บ้านพักคนชรา ซึ่งสามารถเช็กพิกัดได้ที่เพจมายซิส

นอกจากปัญหาการติดต่อหน่วยงานช่วยเหลือยากแล้ว การทำงานของเจ้าหน้าที่อย่างนักสังคมสงเคราะห์เป็นไปด้วยความยากลำบากเช่นกัน

“ยกตัวอย่างเคสความรุนแรงต่อเด็ก ปกตินักสังคมฯ ที่เข้าไปช่วยก็จะหา child friendly space ให้ด้วย พาไปอยู่บ้านพักของ พม. หรือที่พักที่ปลอดภัย ปัญหาคือ ในเมื่อมีโรคระบาดเข้ามา child friendly space มันไม่มี หน่วยงานเขาก็ไม่กล้ารับใครใหม่”

“ทีนี้จะมีอีกเคสคือโรงพยาบาลแผนกฉุกเฉินเคยเป็นพื้นที่รับเคสความรุนแรง ถ้าหากมีผู้ถูกกระทำมาขอความช่วยเหลือ นักสังคมจาก OSCC จะเข้ามาประกบทันที แต่ในสถานการณ์ตอนนี้ที่โรงพยาบาลส่วนใหญ่เอาไว้รับเคสโควิด คนที่ถูกกระทำก็ไม่กล้าไป นักสังคมบางคนก็ต้องเวิร์กฟรอมโฮม” 

“อีกอย่างคือจากการคุยกับคนที่ทำงาน ตอนนี้งบประมาณที่จะเข้ามาช่วยเหลือนักสังคมหรือเรื่องความรุนแรงก็ลดน้อยลง เพราะว่าเขาดึงงบไปส่วนกลางเพื่อช่วยเหลือเรื่องที่ priority มากกว่านั่นคือหมอ พยาบาล” 

นักกฎหมายคนนี้บอกด้วยว่าโดยปกติความรุนแรงในครอบครัวเป็นเคสที่ดำเนินการได้ยากอยู่แล้ว เพราะด้วยค่านิยมในสังคมที่มองว่า ‘ไฟในอย่านำออก ไฟนอกอย่านำเข้า’ ทำให้ผู้ถูกกระทำหลายคนเลือกที่จะเงียบ หรือหากบางคนเลือกดำเนินคดีก็ยังเจอกับปัญหาความล่าช้า เมื่อเกิดภาวะเช่นนี้ การช่วยเหลือจึงเป็นไปได้ยากมากขึ้น

หลากหลายวิธีการช่วยเหลือความรุนแรงในครอบครัวของต่างประเทศ

ปัญหาการช่วยเหลือที่ยากลำบากไม่ใช่แค่ไทย หลายประเทศเป็นกังวลต่อภาวะเช่นนี้ แม้ว่าจะไม่ได้รับมือกันตั้งแต่แรกจนเกิดสถิติความรุนแรงมากขึ้นทุกวัน แต่รัฐบาลต่างๆ เริ่มวางแผนช่วยเหลือความปลอดภัยให้กับผู้ที่อยู่ในความเสี่ยงมากขึ้น จากข้อมูลของ Thailand Institute of Justice นำเสนอสถานการณ์การรับมือความรุนแรงในครอบครัวช่วงโควิด-19 และได้รวบรวมแนวทางการแก้ปัญหาของรัฐบาลในต่างประเทศช่วงการกักตัวในบ้านเอาไว้ เราได้สรุปพร้อมรวมข้อมูลประเทศอื่นๆ จากสำนักข่าวมาไว้ ดังนี้

  • ในฐานะประเทศที่มียอดผู้เสียชีวิตจากความรุนแรงสูงมากกว่าใครในยุโรป ฝรั่งเศสออกแผนรับมือและมาตรการช่วยเหลือผู้ถูกกระทำหลายอย่าง เช่น ให้ร้านยาเป็นจุดขอความช่วยเหลือ โดยผู้ถูกกระทำต้องพูดโค้ดลับว่า “ขอหน้ากากเบอร์ 19” แล้วพนักงานขายจะช่วยประสานงานหน่วยงานที่ให้ความช่วยเหลือ, รัฐบาลประกาศจอง 20,000 ห้องพักในโรงแรมเป็นสถานที่พักของเหยื่อความรุนแรง, เปิดศูนย์ให้คำปรึกษาทางการเงินในร้านค้า และสนับสนุนเงินหนึ่งล้านยูโรให้องค์กรที่ทำงานด้านนี้ 
  • ออสเตรเลีย จัดงบประมาณ 91 ล้านดอลลาร์เพื่อช่วยเหลือความรุนแรงในครอบครัว โดยเฉพาะการสนับสนุนระบบโทรศัพท์ที่จะเป็นการช่วยเหลือหลักในครั้งนี้
  • สเปนและอิตาลี จัดโรงแรมเป็นสถานที่พักชั่วคราวให้ผู้ถูกกระทำ และใช้ WhatApps เป็นช่องทางให้ผู้ที่ถูกกระทำติดต่อขอความช่วยเหลือตำรวจได้โดยตรงหากเกิดความรุนแรง
  • สิงคโปร์ มีแพ็กเกจการช่วยเหลือจากรัฐ และมีการสนับสนุนงบประมาณให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
  • สำนักข่าว The Diplomat รายงานว่าญี่ปุ่นจะเปิดคู่สายช่วยเหลือผู้ถูกกระทำ ศูนย์ให้ความช่วยเหลือจะเปิดให้บริการ 24 ชม. ทุกคนสามารถติดต่อได้ผ่านอีเมล เบอร์โทรศัพท์ SMS โดยศูนย์นี้จะทำงานร่วมกับหน่วยงานเอกชน พร้อมสนับสนุนการติดต่อช่วยเหลือกับสถานีตำรวจและโรงพยาบาลด้วย

แล้วเราจะป้องกันและช่วยเหลือผู้ถูกกระทำในครอบครัวได้อย่างไร

ความรุนแรงในครอบครัวไม่ใช่เรื่องเฉพาะของใครคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นปัญหาที่เราทุกคนในสังคมต้องช่วยกัน ผู้เชี่ยวชาญหลายคนมองว่าความรุนแรงส่งผลต่อเหยื่อในระยะยาวทั้งด้านร่างกายและจิตใจ หากเป็นเด็กอาจส่งผลให้เขาซึมซับพฤติกรรมและใช้ความรุนแรงต่อผู้อื่นในอนาคตได้เช่นกัน

เมื่อเราอาจจะเจอความรุนแรงได้ทุกเมื่อ เราจึงสอบถามวิธีการช่วยเหลือเหยื่อเมื่อเกิดความรุนแรงจากเบสท์ ทั้งในมุมของผู้ถูกกระทำและคนรอบข้างที่เห็นเหตุการณ์  

สำหรับผู้ถูกกระทำ

1. พยายามหาคนที่ช่วยเหลือเราได้ ไม่ว่าจะเป็นเพื่อน ญาติ หรือใครก็ตามที่พร้อมให้ข้อมูลเราได้ในสถานการณ์ฉุกเฉิน โดยเฉพาะผู้ถูกกระทำที่อยู่ในช่วงตัดสินใจไม่ได้ หรือสับสน ตั้งคำถามว่านี่คือความผิดเราหรือเปล่า ไม่แน่ใจว่าต้องทำตัวยังไง ให้พยายามหาคนที่ไว้ใจและสามารถพูดคุยให้กำลังใจกันได้ 

“ผู้กระทำมักใช้วิธีการกดดันผู้ถูกกระทำว่า it’s your fault ดังนั้น เมสเซจหนึ่งที่เราพยายามบอกผู้ถูกกระทำคือคุณไม่ผิดนะ ไม่ว่าคุณจะทำอะไรมา ไม่มีใครมีสิทธิมาทำร้ายคุณ หรือบางทีคนจะรู้สึกว่าเราไม่ได้เป็นผู้ถูกกระทำมากพอเลยไม่กล้าเล่าให้ใครฟัง แต่ถ้าเมื่อไหร่ก็ตามที่เรารู้สึกไม่ดี ถูกละเมิดหรือข่มเหง เมื่อนั้นคุณก็คือผู้ถูกกระทำคนหนึ่ง พยายามหาสิ่งแวดล้อมที่ซัพพอร์ตเรา คนที่พร้อมรับฟังเรา” เบสท์อธิบายเพิ่มเติม 

ที่สำคัญคือพยายามสร้างโค้ดลับกับคนที่ไว้ใจ คำที่สื่อสารแล้วเข้าใจว่ากำลังเกิดอะไรขึ้น เช่น ถ้าบอกเพื่อนว่า “น้ำตาลหมด” เพื่อนจะรู้ว่าเกิดอะไรขึ้น และเรากำลังขอความช่วยเหลือจากเขาอยู่

2. หาข้อมูลหน่วยงานใกล้บ้านที่พร้อมช่วยเหลือ เช่น สถานีตำรวจ โรงพยาบาล พยายามขอเบอร์โทรศัพท์ของสำนักงานโดยตรง เพราะหากเกิดเหตุการณ์ความรุนแรงเราจะได้ติดต่อเจ้าหน้าที่ได้เลย ไม่ต้องผ่านเบอร์ส่วนกลาง

3. ทำ emergency bag เตรียมไว้เผื่อสถานการณ์ฉุกเฉินด้วยการเก็บเอกสารสำคัญ สิ่งของจำเป็นไว้ในกระเป๋า เมื่อต้องออกมาจะได้หิ้วกระเป๋าใบนี้ออกมาได้เลย

4. หากเกิดเหตุทะเลาะกันให้หา safe room ห้องที่มีทางออกไว้ ในสภาวะกักตัวหาห้องที่มีความเสี่ยงน้อยที่สุด อย่าทะเลาะกันในห้องครัวหรือห้องที่มีอาวุธ

5. สำหรับคนที่มีลูกต้องสร้างความเข้าใจกับเด็กก่อน สื่อสารกับเด็กลดความตึงเครียด สร้างสัญญาณที่เข้าใจตรงกันหากเกิดความรุนแรง เช่น ถ้าอ้าแขน ลูกต้องมาหาเราทันที หรือเมื่อบอกลูกว่าไปห้องปลอดภัย ลูกจะรู้ว่าอยู่ที่ไหนและวิ่งไปหลบที่ห้องนั้นโดยทันที หากเด็กสามารถใช้โทรศัพท์ได้ ฝึกให้เด็กโทรหาสายด่วน 191 หรือ 1300 

6. สร้างพื้นที่สงบ ในช่วงที่ต้องอาศัยกับคนที่ใช้ความรุนแรง โดยเฉพาะช่วงกักตัว พยามสร้างพื้นที่สงบที่เรารู้สึกปลอดภัยทั้งกายและใจ สร้างกำลังใจให้ตัวเอง พยายามแยกตัวออกจากคนที่ใช้อารมณ์

7. ทบทวนแผนป้องกันตัวเสมอ เก็บแผนความปลอดภัยไว้กับคนที่ไว้ใจ หรือในที่ที่ผู้กระทำจะหาไม่เจอ โดยเฉพาะเบอร์ของผู้ที่จะช่วยเหลือเรา เช่น สายด่วน เจ้าหน้าที่ตำรวจ คนที่เราไว้ใจ

สำหรับผู้ที่ใกล้ชิดผู้ถูกกระทำหรือเห็นความรุนแรงในชุมชน

1. ประเมินสถานการณ์ว่าเกิดอะไรบ้าง คนกระทำมีอาวุธหรือไม่ สภาพแวดล้อมอันตรายเกินไปไหม ถ้าเราเข้าไปจะเสี่ยงหรือเปล่า หากรู้ว่าเข้าไปไม่ได้ให้โทรแจ้งตำรวจ

2. หากประเมินแล้วว่าปลอดภัย สามารถเข้าไปขัดได้ให้เดินเข้าไป เบสท์ยกตัวอย่างสถานการณ์ว่าถ้าเหตุเกิดเป็นข้างบ้าน รู้จักกันดี แค่เดินไปกดกริ่ง เรียกถามว่าเกิดอะไรขึ้น หรือเดินไปบอกว่าซื้อมะม่วงมาฝาก ง่ายๆ แบบนี้ก็ได้ เพราะการเข้าไปขัดผู้กระทำจะให้พวกเขาหยุด ไม่จำเป็นว่าต้องไปตะโกนด่าหรือหาเรื่องเขาก็ได้

3. สำหรับคนที่มีคนรู้จักเป็นผู้โดนกระทำสามารถช่วยเหลือได้ด้วยการรับฟัง ไม่กดดัน เพราะสิ่งที่ผู้ถูกกระทำส่วนใหญ่ต้องการอย่างแรกคือคนรับฟังหรือกำลังใจ หากเขาอยู่ใน circle abuse มาโดยตลอด เขาจะสูญเสียความมั่นใจในตัวเอง

“ต้องฟังแบบไม่ตัดสิน ต่อให้ฟังแล้ว เขาบอกว่ายังอยากอยู่กับแฟน ก็ไม่ใช่ว่าไปด่าเขา เราต้องถามว่า โอเคงั้นแผนความปลอดภัยของคุณคืออะไร รู้จักเบอร์นี้ไหม 1300 เคยโทรไปไหม ถ้ามีอะไรเกิดขึ้นมา กดโทรหาเรานะ เพราะบางคนที่ถูกกระทำยังมีความหวังว่าแฟนตัวเองยังดีอยู่ แต่เราก็ต้องยืนยันว่าคุณมีสิทธิที่จะออกมานะ มันแจ้งความได้ แต่ถ้ามันร้ายแรงจริงๆ ยังไงก็ต้องเรียกตำรวจ คนในชุมชนก็ต้องพยายามให้ความสนใจ” เบสท์เสริม

การช่วยเหลือที่สำคัญอีกอย่าง คือมาตรการดูแลจากรัฐ ซึ่ง ดร.บุญวรา สุมะโน เจนพึ่งพร เสนอ 2 แนวทางช่วยเหลือในรายงาน คือ หนึ่ง ต้องมีการเพิ่มการประชาสัมพันธ์ช่องทางช่วยเหลือ ทั้งของรัฐและองค์กรต่างๆ และสอง ขอความร่วมมือโรงแรม โฮสเทลที่ว่างอยู่ เมื่อไม่มีนักท่องเที่ยว อาจทำเป็นที่พักฉุกเฉินให้ผู้ถูกกระทำ หรือผู้ที่มีความเสี่ยงเจอความรุนแรงได้ 

AUTHOR

ILLUSTRATOR

ฟาน.ปีติ

ปีติชา คงฤทธิ์ นักออกแบบภาพประกอบประจำนิตยสาร a day งานอดิเรกคือการทำอาหารคลีน, วิ่ง และต่อกันพลา