อาหรับ จีน ฝรั่งเศส หรือ อเมริกัน ว่าด้วยอะลาดิน แอนิเมชั่นที่รวมทุกอย่างไว้ด้วยกันจนประสบความสำเร็จอย่างงดงาม

อะลาดินกับตะเกียงวิเศษ (Aladdin – 1992) ดูจะเป็นแอนิเมชั่นที่ฉีกภาพจำของดิสนีย์ในหลายๆ ด้าน นอกจากฉากหลังของเรื่องที่ถูกย้ายจากตะวันตกมาสู่ตะวันออก ตัวละครหลักก็ถูกเปลี่ยนจากหญิงสาวมาเป็นชายหนุ่ม แถมเป็นหนุ่มที่มีอาชีพไม่ค่อยสุจริตนักคือเป็นหัวขโมยในตลาด บรรดาแฟนคลับดิสนีย์อาจรู้สึกได้ว่าอะลาดินมีกลิ่นอายที่ต่างไปจากผลงานก่อนหน้า คือมีความเป็นคอเมดี้ผสมเรื่องราวการผจญภัย และตัวละครซึ่งเป็นที่จดจำมากพอๆ กับตัวละครหลัก ก็คือยักษ์ในตะเกียงที่ถอดแบบคาแรกเตอร์มาจากนักแสดงดังอย่างโรบิน วิลเลียมส์

อิริก โกลด์เบิร์ก (Eric Goldberg) แอนิเมเตอร์ผู้ดูแลตัวละครของดิสนีย์ กล่าวว่า โรบิน วิลเลียมส์ ได้ลองสวมบทบาทที่แตกต่างกันมากถึง 60 บทบาทเพื่อให้ทีมงานได้เลือกคาแรกเตอร์ของยักษ์ในตะเกียงที่เหมาะสม การแสดงของเขา มีส่วนสำคัญต่อเรื่องราว ทำให้การเล่าเรื่องมีสีสันและรสชาติที่แตกต่างจากผลงานชิ้นก่อนๆ

อะลาดินซึ่งเป็นตัวละครหลัก ถูกพัฒนาคาแรกเตอร์มาจากบทบาทของทอม ครูซ ในเรื่อง Top Gun “ตัวละครของเขามีทั้งความมั่นใจและความอวดดี” เกล็น คีน (Glen Keane) อีกหนึ่งแอนิเมเตอร์ผู้ดูแลตัวละครของดิสนีย์ ให้ความคิดเห็น “อะลาดินเป็นตัวละครที่ต้องใช้เวลาสร้างสรรค์มาก เนื่องจากเขาซับซ้อนและมีหลายอารมณ์ความรู้สึก ในขณะที่เจ้าชายอสูรมีแอนิเมเตอร์ 6 คน อะลาดินกลับต้องใช้ทีมงานประมาณ 12-20 คน”

ผลปรากฏว่างานรูปแบบใหม่ของดิสนีย์ได้รับเสียงตอบรับดียิ่งกว่าเก่า จากที่ โฉมงามกับเจ้าชายอสูร เคยสร้างเสียงตื่นเต้น กวาดรายได้ไปมากถึง 145.8 ล้านดอลลาร์ อะลาดิน ทุบสถิติ เป็นแอนิเมชั่นเรื่องแรกของโลกที่ทำรายได้มากกว่า 200 ล้านดอลลาร์ในสหรัฐอเมริกาและแคนาดา รายได้ที่ว่าหากเทียบกับค่าตั๋วในช่วงเวลาเดียวกัน แปลว่าชาวอเมริกันถึง 1 ใน 5 ยินดีจ่ายค่าตั๋วเพื่อเข้าชมผลงานเรื่องนี้ในโรงหนัง บทเพลงสำคัญอย่าง A Whole New World ยังได้รับรางวัลเพลงประกอบภาพยนตร์ยอดเยี่ยม (Best Original Song) ควบรางวัลดนตรีประกอบภาพยนตร์ยอดเยี่ยม (Best Original Score) ในปีเดียวกัน

ความสำเร็จของ อะลาดิน เป็นที่น่าจับตา น่าสนใจว่าเรื่องราวแอนิเมชั่นได้รับการดัดแปลงจากต้นฉบับเป็นอย่างมากและถ้ากล่าวในสายตานักประวัติศาสตร์ หลายท่านกลับบอกว่าเรื่องนี้เป็นที่สุดของความ ‘จับแพะชนแกะ’ จนแทบไม่เหลือเค้าเดิมของบทประพันธ์ เรื่องราวต้นฉบับของ อะลาดิน เป็นอย่างไร แล้วส่วนไหนบ้างที่เป็นการเสริมแต่งของดิสนีย์ บทความนี้จะพาไปหาคำตอบ

อะลาดินแบบต้นฉบับ เรื่องราวที่มักถูกเข้าใจผิดว่ามาจากนิทานพันหนึ่งราตรี

พันหนึ่งราตรี หรือ The Arabian Nights เป็นเรื่องเล่าเก่าแก่ที่ถูกรวบรวมขึ้นเป็นภาษาอาหรับ เก็บรวมนิทานพื้นบ้านของทั้งเอเชียตะวันออกกลาง เอเชียใต้ และแอฟริกาตอนเหนือ หลักฐานเก่าแก่ที่สุดของ พันหนึ่งราตรี พบว่า มีบันทึกไว้ตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 9 แต่เรื่องราวเกี่ยวกับอะลาดินกับตะเกียงวิเศษไม่ได้ถูกบรรจุอยู่ในนั้น

นิทาน อะลาดินกับตะเกียงวิเศษ เพิ่งพบถูกบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรครั้งแรก ในผลงานฉบับแปลของนายอันโตน กัลแลนด์ (Antoine Galland) นักวิชาการและนักการทูตชาวฝรั่งเศสที่เคยทำหน้าที่เป็นเลขาให้กับราชทูตฝรั่งเศสประจำนครคอนสแตนติโนเปิล

อันโตน กัลแลนด์ เป็นชาวตะวันตกคนแรกที่นำนิทาน พันหนึ่งราตรี มาแปลเป็นภาษาฝรั่งเศส ทำให้งานเขียนเรื่องนี้เป็นที่นิยมในสังคมตะวันตก มูห์ซิน เจ. อัล-มูซาวี (Muhsin J. al-Musawi) ศาสตราจารย์ด้านภาษาอาหรับและการศึกษาเปรียบเทียบจากมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย (Columbia University) กล่าวว่า พันหนึ่งราตรี ฉบับแปลของนายกัลแลนด์ นำเรื่องราวมาจากต้นฉบับที่ไม่สมบูรณ์ในภาษาอาหรับซึ่งถูกเขียนขึ้นในศตวรรษที่ 14

ระหว่างปี 1704-1706 กัลแลนด์ตีพิมพ์นิยายแปลของเขาจำนวน 7 เล่ม ครอบคลุมเรื่องราวประมาณ 40 เรื่อง ซึ่งปรากฏว่าได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก แต่ในราวปี 1709 กัลแลนด์หมดเรื่องราวที่จะนำมาแปลต่อ เขาจึงเดินทางไปพบเพื่อนและคู่แข่งคนสำคัญคือนายพอล ลูคัส นักล่าสมบัติที่เดินทางไปมาระหว่างปารีสกับตะวันออกกลาง เพื่อสรรหาของมีค่ามาถวายกษัตริย์หลุยส์ที่ 14 ผู้มีความสนใจในอัญมณีหายาก

ที่อพาร์ตเมนต์ของลูคัส กัลแลนด์ได้พบกับชายหนุ่มชาวซีเรียจากอเลปโป ชื่อแฮนนา ดิยับ (Hanna Diyab) เด็กหนุ่มคนนี้เป็นผู้เล่าเรื่องราวเกี่ยวกับอะลาดินกับตะเกียงวิเศษ เรื่องราวที่ว่าถูกนำมาเรียบเรียงเพื่อตีพิมพ์ใหม่ในปี 1717

ทุกวันนี้นักวิชาการต่างพากันสงสัยว่านายดิยับนำเรื่องราวของอะลาดินมาจากไหน เขาคิดเรื่องทั้งหมดขึ้นมาเอง หรือนำส่วนต่างๆ จากนิทานที่จำได้มาปะติดปะต่อเข้าด้วยกัน เขาอาจจะได้ฟังเรื่องนี้ในระหว่างการเดินทาง หรือได้อ่านต้นฉบับเรื่องนี้ ที่ปรากฏว่าสูญหายไปแล้วในปัจจุบัน

อะลาดินเป็นชาวอาหรับจริงหรือไม่?

เรื่องเล่าต้นฉบับของอะลาดิน กล่าวว่าเหตุการณ์ทั้งหมดเกิดขึ้นในประเทศจีน อะลาดินไม่ใช่หัวขโมยกำพร้า แต่อาศัยอยู่กับแม่ เขาเป็นเด็กขี้เกียจ ไม่เอาการเอางาน อยู่บ้านเกาะแม่กินไปวันๆ กระทั่งวันหนึ่งอะลาดินได้พบกับชายแปลกหน้า อ้างตัวว่าเป็นลุงที่สูญหายไปนาน

วันหนึ่งลุงตัวปลอมเสกคาถาเปิดทางไปยังถ้ำซ่อนสมบัติปริศนา โดยกล่าวว่ามีแค่อะลาดินเท่านั้นที่จะสามารถนำตะเกียงวิเศษออกจากถ้ำ เขามอบแหวนให้หนึ่งวง บอกว่าถ้าเด็กหนุ่มเจอปัญหาให้ใช้แหวนวงนี้ อะลาดินนำตะเกียงวิเศษออกมาได้อย่างปลอดภัย ลุงตัวปลอมสั่งให้อะลาดินส่งตะเกียงให้เขา เด็กหนุ่มปฏิเสธบอกว่าลุงต้องช่วยพาเขาออกไปก่อน ทั้งสองถกเถียงกัน จบลงที่ลุงตัวปลอมปิดตายถ้ำ ขังอะลาดินกับตะเกียงไว้โดยไม่มีทางออก

อะลาดินหมดหวัง เขาเริ่มสวดอ้อนวอนแต่บังเอิญว่ามือไปถูกับแหวนเข้า ทำให้มียักษ์วิเศษปรากฏตัวออกมา อะลาดินขอให้ยักษ์ช่วยพาเขากลับบ้าน และได้นำตะเกียงพร้อมด้วยของมีค่าบางส่วนกลับมาด้วย

เมื่อกลับมาถึงบ้าน อะลาดินและแม่ตัดสินใจนำตะเกียงไปขาย ในขณะที่แม่นำผ้ามาเช็ดตะเกียงเพื่อทำความสะอาด ยักษ์ตัวใหญ่ก็ปรากฏออกมาพร้อมถามว่าเจ้านายต้องการจะขอพรอะไร อะลาดินที่เคยพบยักษ์ในแหวนมาก่อน กล่าวว่าเขาต้องการอาหาร ยักษ์จึงเสกข้าวปลามากมายในถาดเงิน อะลาดินและแม่กินอาหารอย่างมีความสุขและได้นำถาดเงินไปขายเพื่อใช้จ่ายในเวลาต่อมา

วันหนึ่งสุลต่านเจ้าเมืองประกาศว่าลูกสาวของเขาจะเดินทางเข้าเมืองเพื่อไปโรงอาบน้ำ อะลาดินอยากเห็นว่าเจ้าหญิงมีหน้าตาเป็นอย่างไรจึงเข้าไปแอบดูและตกหลุมรักตั้งแต่แรกเห็น

อะลาดินขอให้แม่นำเพชรพลอยที่ตนนำกลับมาจากถ้ำไปสู่ขอเจ้าหญิงจากสุลต่าน ปรากฏว่าเพชรพลอยมีมูลค่ามากจนสุลต่านพอใจ กล่าวว่าจะยอมยกลูกสาวให้ในเวลาสามเดือนข้างหน้า

อย่างไรก็ดี ที่ปรึกษาของสุลต่านแอบมาคุยลับหลัง กล่าวว่าเขาสามารถหาสมบัติมูลค่าสูงกว่านี้ได้ภายในสองเดือน ดังนั้นสุลต่านจึงกลับคำสัญญา มอบลูกสาวให้แต่งงานกับลูกชายที่ปรึกษาแทน

อะลาดินเมื่อทราบเรื่องนี้ก็ไม่พอใจเป็นอย่างมาก ในวันแต่งงานของเจ้าหญิง เขาขอพรกับยักษ์ในตะเกียงให้พาตัวเจ้าหญิงมาที่บ้าน และขังเจ้าบ่าวเอาไว้ อะลาดินอธิบายเรื่องราวทั้งหมดให้เธอฟัง กล่าวว่าเขาแค่ต้องการทวงสัญญาแต่จะไม่ทำร้ายเจ้าหญิง เช้าวันต่อมาเจ้าหญิงถูกส่งตัวกลับวัง และเมื่อเธอเล่าเรื่องนี้ให้ฟัง กลับได้รับคำตอบว่าพระองค์น่าจะแค่ฝันร้าย

คืนต่อมาเรื่องราวแบบเดียวกันเกิดขึ้นอีกกับเธอและสามี จนสามีทนไม่ไหวขอแยกทาง เวลาผ่านไปถึงเดือนที่สามตามสัญญา อะลาดินให้แม่เดินทางไปพบสุลต่านเพื่อจัดการเรื่องสมรส สุลต่านคิดจะเล่นแง่จึงเรียกข้อแลกเปลี่ยนที่ดูจะเป็นไปไม่ได้ ขอให้อะลาดินนำ ‘ตะกร้าที่เต็มไปด้วยทองคำจำนวน 40 ถัง ถือโดยทาสผิวดำ 40 คน นำขบวนด้วยทาสผิวขาวอีก 40 คน ทั้งหมดต้องแต่งตัวสวยงาม’ มามอบให้พระองค์

คำขอนี้ไม่ใช่เรื่องยากสำหรับอะลาดินเพราะยักษ์ในตะเกียงสามารถจัดหาให้ได้ในทันที อะลาดินกับเจ้าหญิงได้แต่งงานกัน ทั้งสองสร้างวังใหม่และอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข

อะลาดินเป็นคนจิตใจดีจึงได้รับความนิยมจากประชาชน ชื่อเสียงของเขาโด่งดังจนไปเข้าหูลุงตัวปลอมซึ่งเดินทางกลับไปแอฟริกา ลุงเจ้าคาถากลับมาเพื่อหวังชิงตะเกียงจากอะลาดิน รอจนวันที่เขาไม่อยู่บ้าน ปลอมตัวเข้าไปในวังเสนอแลกตะเกียงเก่ากับของใหม่

เจ้าหญิงไม่เข้าใจความสำคัญของตะเกียงจึงนำตะเกียงวิเศษมามอบให้อย่างว่าง่าย เมื่อได้รับอำนาจจากตะเกียง ลุงตัวปลอมขอให้ยักษ์ย้ายวังและเจ้าหญิงไปอยู่ที่แอฟริกา อะลาดินกลับมาไม่พบทั้งวังทั้งภรรยา จึงเรียกให้ยักษ์วิเศษในแหวนออกมาช่วย ยักษ์ผู้เป็นทาสแห่งแหวนกล่าวว่าตัวเขาไม่มีอำนาจมากพอจะต่อกรกับยักษ์แห่งตะเกียง แต่สามารถพาอะลาดินไปหาเจ้าหญิงได้

อะลาดินและเจ้าหญิงวางแผนสังหารลุงตัวปลอมด้วยกัน ใช้วิธีใส่ยาพิษลงในอาหาร เมื่อลุงตัวปลอมตายจากไป อะลาดินก็ขอให้ยักษ์ในตะเกียงย้ายวังของเขากลับมาอยู่ที่เดิม แต่เรื่องราวยังไม่จบแค่นั้น พี่ชายของผู้วิเศษที่เคยปลอมตัวเป็นลุงของอะลาดินทราบข่าวและตั้งใจจะแก้แค้น

เขาเดินทางมาถึงเมืองและได้ทราบว่าเจ้าหญิงมักเชิญตัวหญิงนักบวชชรานามว่าฟาติมาเข้าไปในวัง จึงทำการฆ่าฟาติมาและปลอมตัวเป็นเธอ ใช้ผ้าคลุมหน้าปกปิดตัวตนเพื่อเข้าไปในวัง ฟาติมาตัวปลอมกล่าวว่าวังของเจ้าหญิงสวยมาก ขาดไปอย่างเดียวคือไข่ของนกร็อก (Roc) ซึ่งเป็นสัตว์ในตำนานมีลักษณะคล้ายพญาอินทรีขนาดใหญ่สามารถล้มช้างได้ทั้งตัว

เจ้าหญิงขอไข่ของนกจากอะลาดิน ผู้ซึ่งนำคำขอไปบอกยักษ์ในตะเกียงอีกที ปรากฏว่ารอบนี้ยักษ์วิเศษไม่ได้มอบพรตามคำขอ แต่กลับโกรธมากเพราะร็อกเป็นนกที่มีอำนาจสูงมาก ถือเป็นนายของเหล่ายักษ์ในตะเกียงอีกที การขอไข่ของนกวิเศษถือเป็นการลบหลู่อย่างรุนแรงดังนั้นยักษ์จึงปฏิเสธที่จะมอบพรใดๆ ให้อะลาดินอีก

แต่ก่อนที่ยักษ์จะจากไป เขาได้กล่าวว่าฟาติมาผู้นี้เป็นตัวปลอมและกำลังหวังร้าย อะลาดินทราบจึงลงมือฆ่าฟาติมาเสีย เรื่องราวจบลงตรงนี้ อะลาดินและเจ้าหญิงใช้ชีวิตต่อมาอย่างมีความสุขและได้ขึ้นปกครองหลังสุลต่านจากไป ทั้งสองมีลูกหลานด้วยกันมากมาย ล้วนได้ขึ้นครองราชย์ในเวลาต่อมา

นิทานเรื่อง อะลาดิน กล่าวว่าเรื่องราวทั้งหมดเกิดขึ้นที่ประเทศจีน แต่องค์ประกอบของเรื่องไม่ว่าจะเป็นสุลต่าน นกร็อก หรือแม้แต่ตำนานยักษ์ในตะเกียงล้วนเป็นวัฒนธรรมและความเชื่อแบบตะวันออกกลาง อะราฟัต เอ. ราซซัค (Arafat A. Razzaque) นักวิจัยจากศูนย์อิสลามศึกษา มหาวิทยาลัยแคมบริดจ์ (University of Cambridge) กล่าวว่า เรื่องเล่าโบราณในวัฒนธรรมอาหรับมักกล่าวถึงสถานที่ห่างไกลโดยใช้ชื่อสถานที่นั้นว่าประเทศจีน (China) ดังนั้นจีนในที่นี้ ไม่ได้หมายความว่าอะลาดินเป็นชาวจีนอย่างที่เข้าใจ แต่เป็นการเปรียบเปรยว่าสถานที่นี้อยู่ไกลโพ้นและมีความแตกต่างจากตะวันออกกลาง

อย่างไรก็ดี เมื่อเรื่องเล่าของอะลาดินเป็นที่โด่งดังในยุโรป ภาพประกอบที่ถูกทำขึ้นในยุควิกตอเรียนจึงมักวาดภาพอะลาดินให้เป็นชาวจีนแบบแมนจู เพราะในระหว่างนั้นชาวอังกฤษคุ้นชินกับวัฒนธรรมจีนมากกว่าอันมีเหตุมาจากการทำสงครามฝิ่น

สำหรับแอนิเมชั่นเรื่อง อะลาดิน ของดิสนีย์ จอห์น มัสเคอร์ (John Musker) หนึ่งในผู้กำกับ ได้กล่าวว่าอะลาดินนั้นตั้งใจจะใช้ฉากหลังเป็นเมืองแบกแดดของประเทศอิรัก แต่ภายหลังเกิดสงครามอ่าวขึ้นเสียก่อนระหว่างอิรักและคูเวต ทำให้มีการเปลี่ยนสถานที่เป็นเมืองอัลคาบาร์ซึ่งเป็นนครในจินตนาการ ไม่ได้มีอยู่จริง

ส่วนเหตุที่ฉากหลังเก่าเป็นเมืองแบกแดด อาจเป็นเพราะบทบาทของอะลาดินซึ่งถูกเปลี่ยนจากผู้ชายเกาะแม่กินไม่เอาถ่าน เป็นหัวขโมยที่มีลูกเล่นแพรวพราวได้รับแรงบันดาลใจมาจากภาพยนตร์ดังในปี 1940 เรื่อง The Thief of Bagdad

แต่อะลาดินตัวจริงเป็นใคร?

นักประวัติศาสตร์ในปัจจุบันให้ความสนใจไปยังชายชาวซีเรียซึ่งเป็นผู้บอกเล่าเรื่องราวทั้งหมด ว่าตัวเขานั่นแหละคืออะลาดิน โดยได้แต่งเติมนิทานเรื่องนี้จากประสบการณ์ส่วนตัวที่ได้ประสบพบเจอในบ้านเกิด จนเดินทางมาถึงประเทศฝรั่งเศส

กัลแลนด์ไม่เคยให้เครดิตแฮนนา ดิยับ ในฐานะผู้เล่านิทาน แต่ในปี 1993 มีการพบบันทึกของดิยับในห้องสมุดของวาติกัน ที่ซึ่งตัวเขาได้จดบันทึกเกี่ยวกับชีวิตและการเดินทาง คำอธิบายของเขาที่ได้กล่าวถึงความฟุ่มเฟือยหรูหราของพระราชวังแวร์ซาย มีความคล้ายกันกับคำอธิบายของพระราชวังสุลต่านในเรื่องราวของอะลาดิน

เปาโล เลมอส ฮอร์ตา (Paulo Lemos Horta) เจ้าของหนังสือ Marvellous Thieves: Secret Authors of the Arabian Nights กล่าวว่า เรื่องราวของอะลาดินถูกเขียนขึ้นจากสายตาที่สดใหม่และความเห็นใจต่อความอยุติธรรม ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่น่าจะเกิดขึ้นกับชนชั้นสูงอายุ 60 กว่าอย่างกัลแลนด์

หากเราเชื่อว่าดิยับเป็นเจ้าของเรื่องราวทั้งหมด อะลาดินตัวจริง ก็อาจเป็นชายหนุ่มจากซีเรียที่เดินทางเผชิญโลกกว้างและได้เห็นความหรูหรามากมายที่เป็นดั่งพรวิเศษใช้ได้ไม่จำกัดของราชสำนักในช่วงก่อนการปฏิวัติฝรั่งเศส

อะลาดินกับจัสมิน คู่รักที่เป็นดังตัวแทนหนุ่มสาวอเมริกัน ทศวรรษที่ 1990s

หากเทียบกันกับ สโนไวท์ (1937), ซินเดอเรลล่า (1950), ออโรร่า เจ้าหญิงนิทรา (1959), เอเรียล เงือกน้อยพจญภัย (1989), และเบลล์จาก โฉมงามกับเจ้าชายอสูร (1991) จัสมินดูจะเป็นเจ้าหญิงที่มีความเฟมินิสต์มากที่สุด

ซินเดอเรลล่าเป็นเรื่องของการสมรสเพื่อเปลี่ยนชนชั้นทางสังคม ในขณะที่ออโรร่าพ้นจากคำสาปเพราะความช่วยเหลือจากฝ่ายชาย แอเรียลเป็นเจ้าหญิงที่มีความใกล้เคียงกับจัสมิน ทั้งสองเป็นลูกสาวผู้ปกครอง ใช้ชีวิตสุขสบาย แต่ตัดสินใจละทิ้งสถานะเพื่อตามหาสิ่งที่ต้องการ แอเรียลเปลี่ยนตัวเองเป็นมนุษย์เพื่อตามหาความรัก แต่จัสมินปลอมตัวหลบหนีจากวังเพราะต้องการอิสระ

จัสมินโหยหาอิสรภาพและไขว่คว้าหาความสุข เธอต้องการใช้ชีวิตของตัวเองซึ่งเป็นชีวิตในอุดมคติของชาวอเมริกัน อลัน เมนเคน (Alan Menken) ผู้ประพันธ์เพลงประกอบในแอนิเมชั่น อะลาดิน กล่าวว่า มิสชั่นหลักของเขาคือการหาจุดลงตัวระหว่างป๊อปคัลเจอร์อเมริกัน กับวัฒนธรรมอาหรับโบราณ “มันเป็นเรื่องธรรมดาที่ดิสนีย์ต้องการใส่ความเป็นอเมริกันเข้าไป เพื่อให้ผู้ชมสามารถเข้าใจและรู้สึกมีส่วนร่วมกับตัวละคร”

จัสมินดูจะเป็นตัวละครแรกที่ใช้พลังความเป็นหญิงของเธอเพื่อยั่วยวนจาฟา เป้าหมายเพื่อช่วยอะลาดินให้สามารถทำภารกิจให้สำเร็จ เธอเป็นตัวของตัวเอง กล้าเผชิญหน้ากับผู้มีอำนาจ และเชื่อว่าจะสามารถเปลี่ยนชีวิตของตัวเองได้ ทั้งหมดนี้เป็นค่านิยมของวัยรุ่นอเมริกัน แม้แต่ชุดที่จัสมินสวมใส่ก็ยังถอดแบบมาจากเสื้อเอวลอย กับกางเกงขายาวทรงใหญ่ในยุคนั้น รวมไปถึงแฟชั่นแบบซีทรูซึ่งได้รับความนิยมในสังคมอเมริกา

เรื่องน่าสนใจอีกอย่างเกี่ยวกับเสื้อผ้าของจัสมิน คือดิสนีย์เคยตั้งใจจะให้เธอสวมชุดสีชมพู เพราะของเล่นสีชมพูทำกำไรและเป็นที่ต้องการมากกว่า แต่เปลี่ยนกลับมาเป็นสีเขียวในภายหลัง การตัดสินใจที่เกี่ยวข้องกับการตลาด เคยเกิดขึ้นเหมือนกันในเคสของแอเรียล เมื่อดิสนีย์คิดจะเปลี่ยนสีผมของเงือกน้อยให้เป็นสีทอง เพราะตุ๊กตาผมแดงไม่เป็นที่นิยมในท้องตลาด

ทุกวันนี้ อะลาดิน เป็นหนึ่งในผลงานขึ้นหิ้งของดิสนีย์ แต่สิ่งที่ทำให้ อะลาดิน ได้รับการพูดถึงเป็นอย่างมากในวงการประวัติศาสตร์และมีความแตกต่างจากงานของดิสนีย์เรื่องอื่นๆ คือการผสมผสานทางวัฒนธรรมที่ชวนให้เรามองเห็นการพบปะสังสรรค์ของผู้คนจากหลายที่มา เรื่องเล่าแบบอาหรับโบราณ เล่าโดยจินตนาการของนักเดินทางชาวซีเรีย เขียนผ่านปลายปากกาของนักเขียนฝรั่งเศสผู้เป็นตัวแทนสังคมชั้นสูงก่อนการปฏิวัติ ก่อนถูกหยิบขึ้นมาตีความใหม่จนโด่งดังในบริบทของความเป็นอเมริกัน ที่ผสานไปด้วยคุณค่าของความรักและเสรีภาพ

References:

Was Aladdin Based on a Real Person? Here’s Why Scholars Are Starting to Think Sohttps://time.com/5592303/aladdin-true-history/

The History of the original Aladdin Tale https://www.pookpress.co.uk/project/history-original-aladdin-story/

The Messed Up Origins of Aladdin | Disney Explained – Jon Solo https://www.youtube.com/watch?v=I1sozWpmx_A

Aladdin’ Becomes a $200-Million Genie for Disney : Movies: Studio’s all-time top-grosser is the first animated feature to reach the box office milestone. And in its 23rd week of release, there still is no end in sight https://www.latimes.com/archives/la-xpm-1993-04-21-ca-25327-story.html

‘Aladdin’: 25 Things You Didn’t Know About the 1992 Animated Classic! https://www.etonline.com/aladdin-25-things-you-didnt-know-about-1992-animated-classic-91537

What You Probably Never Knew About Disney’s Aladdin https://www.looper.com/867756/what-you-never-knew-about-disneys-aladdin/

“พันหนึ่งราตรี” นิทานอาหรับ ต้นฉบับจากอินเดีย? https://www.silpa-mag.com/culture/article_62564

THE MOST FEMINIST DISNEY PRINCESS: JASMINE https://rosybvm.com/2020/03/21/the-most-feminist-disney-princess-jasmine/

Rating Disney Princess Dresses on Historical Accuracy (Part One) https://www.youtube.com/watch?v=UeRa9bEhgXg&t=1107s

AUTHOR

ILLUSTRATOR

ประภวิษณุ์ อินทร์ตุ่น

นักออกแบบสายแอมบิเวิร์ท ผู้หลงใหลธรรมชาติ เสียงเพลง ภูเขา งานอดิเรกคือ อ่านหนังสือ ปาร์ตี้ และของกิน