เราหลีกเลี่ยงหน้าจอไม่ได้ในวันนี้ แต่เราใช้ชีวิตให้ดีขึ้นได้ไหม?
นี่คือคำถาม ณ ใจกลางของหนังสือ Digital Minimalism : Choosing a Focused Life in a Noisy World ของ Cal Newport
ในเล่มก่อนหน้านี้อย่าง Deep Work นิวพอร์ตสำรวจการทำงาน ‘โดยไร้สิ่งกวนใจ’ ให้เราสามารถดำดิ่งลงไปในเนื้องานได้ด้วยการ ‘บล็อก’ เวลาเป็นท่อนๆ ในแต่ละวัน หลังจากหนังสือเล่มนั้นวางแผง (และกลายเป็นหนังสือเบสต์เซลเลอร์) ได้ไม่นาน นิวพอร์ตก็พบว่าคนส่วนมากไม่เพียงไม่สามารถตั้งสมาธิกับการงานได้อย่างเต็มที่เท่านั้น แต่พวกเขายังไม่สามารถจดจ่อกับการใช้ชีวิตได้ด้วย
ผมหยิบหนังสือเล่มนี้ขึ้นมาอ่านด้วยความตะขิดตะขวงใจ นี่จะเป็นหนังสืออีกเล่มใช่ไหมที่บอกให้เราไป ‘ดิจิทัลดีทอกซ์’ ชวนให้เราเลิกเล่นเน็ตสักเจ็ดวันสิบห้าวัน ราวกับนิวพอร์ตอ่านใจผมออก เขาปฏิเสธตั้งแต่บทแรกว่านี่ไม่ใช่หนังสือที่ชวนให้เราตัดขาดจากโลกอินเทอร์เน็ตไปเลย หรือชวนให้เราดีทอกซ์ระยะสั้นอย่างนั้น เป้าหมายของหนังสือเล่มนี้ของเขาคือการชักชวนให้กลับมาทบทวนความสัมพันธ์ของเรากับเครื่องมือดิจิทัลเสียใหม่ วางเราและเครื่องมือไว้ในระยะที่เหมาะสม
ตั้งแต่โซเชียลเน็ตเวิร์ก อีเมล การส่งข้อความ การดูวิดีโอสตรีมมิง และการเล่นเกมนั่นแหละ
นิวพอร์ตชวนให้เราวางกลยุทธ์การใช้เครื่องมือดิจิทัลทั้งหลายเพื่อให้พวกมันสร้างประโยชน์สูงสุด เขาไม่ปฏิเสธเทคโนโลยีและความเป็นไปได้ที่มาพร้อมกัน แต่เขาก็ชวนให้เราตั้งคำถามด้วยว่า ณ จุดปัจจุบันที่มนุษยชาติยืนอยู่ พวกเราใช้เทคโนโลยีอย่างที่เทคโนโลยีถูกสร้างมาจริงหรือ เขาพาย้อนกลับไปถึงการกำเนิดไอโฟนเครื่องแรกในปี 2007 ตอนนั้น สตีฟ จ็อบส์แนะนำไอโฟนว่าเปรียบเสมือนไอพอดที่สามารถโทรศัพท์ได้ ฟังก์ชั่นด้านโซเชียลมีเดียและการท่องเว็บเป็นเรื่องสำคัญรองลงมาด้วยซ้ำ จ็อบส์ไม่คาดคิดว่าไอโฟนจะพัฒนามาถึงจุดที่ฟังก์ชั่นด้านโทรศัพท์จะเป็นเรื่องรอง ในขณะที่ฟังก์ชั่นแอพฯ และโซเชียลมีเดียจะกลายเป็นจุดสนใจอันดับหนึ่งอย่างทุกวันนี้
หากคุณกำลังพบว่าตนจ้องหน้าจออย่างเหนื่อยหน่าย ไม่มีจุดประสงค์เป็นพิเศษ แต่ก็ดึงตัวเองออกมาจากมันไม่ได้ วิธีของนิวพอร์ตอาจเหมาะสำหรับคุณ เขาแนะนำให้
ขั้นตอนแรก กำหนดกฎเทคโนโลยีของคุณเสียใหม่ อย่างที่บอกไปแล้ว นิวพอร์ตไม่ได้บอกให้เราตัดขาดจากเทคโนโลยีไปเสียหมด กลับกัน เขาชักชวนให้เราแยกแยะว่าเทคโนโลยีไหนที่เรา ‘จำเป็นต้องใช้’ และตัวไหนที่ ‘ละได้’ (optional) (เขาเตือนว่า อย่าสับสน ‘ความสะดวกสบาย’ กับ ‘ความจำเป็น’ เช่น อาจเป็นเรื่องสะดวกที่เราสามารถเข้ากรุ๊ปเฟซบุ๊กเพื่อตามข่าวสารมหาวิทยาลัย แต่หากไม่ใช้ นั่นก็ไม่ได้แปลว่าวงสังคมของเราจะล่มสลาย) เมื่อแยกแยะได้แล้ว ก็มาถึงขั้นตอนถัดไป
ขั้นตอนที่สอง พักเทคโนโลยีที่ว่าสามสิบวัน แน่นอน ช่วงแรกเริ่มคุณจะพบว่าการหักดิบเช่นนี้ยากลำบาก อาจมีบางช่วงขณะที่คุณเผลอเอื้อมไปหยิบมือถือแบบไม่ได้คิดอะไร ไม่เป็นไร เมื่อสติกลับมาประทับร่าง คุณก็ควรจะเริ่มความพยายามเสียใหม่ สามสิบวันนี้เป็นสามสิบวันที่จะพิสูจน์ว่า เทคโนโลยีที่คุณบอกว่า ‘ละได้’ นั้นมัน ‘ละได้’ จริงไหม หรือแท้จริงแล้วมันสอดประสานเข้ามาในชีวิตคุณมากกว่าที่คิด ไม่แน่ คุณอาจพบว่าบางอย่างที่คุณเคยคิดว่าแสนสำคัญนั้น แท้จริงแล้วคุณละได้โดยไม่คิดถึงมันมากมายเมื่อสามสิบวันผันผ่าน
ขั้นตอนที่สาม นี่คือขั้นตอนสำคัญ หลังจบสามสิบวัน (อันแสนทรมาน?) ไปแล้ว นิวพอร์ตอยากให้เรากลับมาทบทวนเสียใหม่ว่าเราจะนำเทคโนโลยีตัวใดเข้ามาในชีวิต เขาบอกว่า จำเป็นมากที่เราจะต้องค่อยๆ เริ่มสอดแทรกเทคโนโลยีเข้ามาทีละตัวๆ ไม่ใช่พอจบสามสิบวันปุ๊บ ก็กระโดดตู้มเดียวเข้าไปในไลน์ทุกกรุ๊ป เฟซบุ๊กทุกเพจ 9GAG BuzzFeed เล่นเกมรัวๆ สิบห้าชั่วโมงติด แบบนั้นก็จะไม่เกิดประโยชน์อะไร ที่ต้องเป็น ‘ทีละตัว’ ก็เพราะเราจะได้ประเมินได้อย่างถูกต้องว่าเทคโนโลยีนั้น ‘จำเป็น’ จริงๆ ไหม (บางคนที่เข้าร่วมโครงการนี้ของนิวพอร์ตคิดว่าตัวเองจะโหยเฟซบุ๊กมาก พอสามสิบวันที่ร้างลาเฟซบุ๊กจบลง เธอก็รีบกระโดดเข้าไปหาอ้อมอกของมาร์ก ซักเกอร์เบิร์กทันที เพียงเพื่อพบว่าจริงๆ แล้วเฟซบุ๊กน่าเบื่อเป็นบ้า)
เขาให้กฎเกณฑ์ประเมินง่ายๆ ว่าเทคโนโลยีไหนเหมาะสมและควรค่าแก่การอยู่ในชีวิตของเราไว้ดังนี้
- จะต้องเป็นเทคโนโลยีที่ให้ค่ากับสิ่งที่คุณยึดถือเป็นสรณะ (deeply valued) ‘แค่มีประโยชน์บ้าง’ นั้นไม่พอ
- คุณต้องหาวิธีใช้เทคโนโลยีนี้ให้ดีที่สุดเพื่อสกัดคุณค่าที่ว่าออกมา (ถ้าวิธีที่คุณใช้ ไม่ได้เป็นวิธีที่ดีที่สุด ให้หาวิธีอื่น) ตัวอย่างเช่น หากคุณรักทวิตเตอร์เพราะคุณตามแอ็กเคานต์ความรู้ดีๆ ไว้มากมายเพื่อประดับสมอง แต่เวลาคุณใช้ทวิตเตอร์จริง คุณกลับใช้มันเพื่อพิมพ์เถียงกับเกรียนอินเทอร์เน็ต แบบนี้ก็อาจต้องหาวิธีใช้ทวิตเตอร์แบบใหม่ เช่น อันฟอลโลว์บางคนไป หรือไปที่หน้าแอ็กเคานต์ที่มอบความรู้เหล่านั้นโดยตรง โดยไม่อ่านฟีด
- คุณควรกำหนดขั้นตอนการใช้เครื่องมือเทคโนโลยีนั้นๆ ที่ระบุลงไปเลยว่า คุณจะใช้มันเมื่อไรและอย่างไร (เช่น จะเช็กอีเมลทุกห้าโมงเย็นของแต่ละวันเท่านั้น และจะใช้เวลาไม่เกิน 30 นาทีในการเช็ก)
หนังสือเล่มนี้มอบคำแนะนำบางข้อที่ชวนให้สะพรึงอยู่บ้าง เช่น นิวพอร์ตบอกว่าเราไม่ควรกดปุ่มไลก์ใดๆ เลยสักครั้งเดียว และไม่ควรคอมเมนต์อะไรบนโลกออนไลน์เลย เพราะเทียบกับการพูดคุยต่อหน้าแล้ว การกดไลก์และคอมเมนต์ออนไลน์นั้นให้ค่าเพียงกระจิริด หรือเขายกตัวอย่างกลุ่มคนที่เลือกใช้ชีวิตหลังถึงจุด ‘อิสรภาพทางการเงิน’ ด้วยการย้ายไปอยู่ในที่ห่างไกลไร้อินเทอร์เน็ต
ผมประเมินจากชีวิตของตัวเองแล้วคิดว่าคำแนะนำเหล่านี้ไม่อาจทำได้จริง (อย่างน้อยก็ในระยะเวลาอันใกล้, 5-10 ปี) เพราะจะพาให้ตกงานและเป็นบ้าไปเสียก่อน แต่ถึงอย่างนั้น แนวคิด Digital Minimalism ของนิวพอร์ตก็เปรียบเสมือนคัมภีร์เตือนใจ เหมือนหลักเกณฑ์มาตรฐาน ที่ถึงแม้เราจะทำตามไม่ได้ทั้งหมด แต่ก็มีไว้เพื่อให้ฉุกคิด และนำหลักปฏิบัติบางข้อที่เหมาะสมไปปรับใช้ในชีวิตจริง
Digital Minimalism ขึ้นต้นด้วยความเรียงของแอนดรูว์ ซัลลิแวนที่มีชื่อเรื่องว่า ‘ผมเคยเป็นมนุษย์’ (ก่อนที่เทคโนโลยีจะทำให้ผมสูญเสียความเป็นมนุษย์นั้นไป) แต่มันก็เลือกจบอย่างมองโลกในแง่ดี ด้วยประโยคสุดท้ายที่ว่า ‘เพราะเทคโนโลยีทำให้ผมเป็นมนุษย์ที่ดีกว่าที่เคยเป็น’