​Dehjo Racing กลุ่มเด็กม.5 ที่จะพาโมเดลรถแข่ง F1 สัญชาติไทยไปแข่งบนเวทีโลก

​Dehjo Racing ตอนอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5, กิจกรรมที่เป็นหมุดหมายในชีวิตของคุณคืออะไร?

ส่วนตัวเราทุ่มเทพลังงานทั้งหมดไปกับการเตรียมงานกีฬาสี อีเวนต์ที่เปรียบดั่งศึกชี้ชะตาของคนเกือบทั้งโรงเรียน

ไม่ว่าคำตอบของคุณจะเป็นอะไร เราอยากชวนมาฟังเรื่องราวของกลุ่มนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 จากโรงเรียนอำนวยศิลป์ซึ่งรวมตัวกันในนาม Dehjo Racing (เตโชเรสซิง) เพราะหมุดหมายของพวกเขาไม่เหมือนใคร และที่สำคัญ-ไม่เคยมีมาก่อนในประเทศไทย

เตโชเรสซิงคือตัวแทนประเทศไทยกลุ่มแรกที่จะเข้าร่วมการแข่งขันออกแบบรถแข่ง F1 in Schools Challenge ครั้งที่ 13 ซึ่งจะจัดขึ้นวันที่ 24 – 26 กันยายนนี้ ณ ประเทศมาเลเซีย โดยมีทีมนักเรียนมัธยมจากกว่า 40 ประเทศทั่วโลกมาแข่งขันออกแบบและผลิตโมเดลรถแข่ง F1 ขนาดจิ๋ว โดยบูรณาการความรู้ด้าน STEM (Science, Technology, Engineering, Mathemetic) เข้าด้วยกัน

​Dehjo Racing

ในช่วงโค้งสุดท้ายก่อนออกตัว เรามีโอกาสได้ไปพูดคุยกับน้องๆ ทั้ง 6 คน ซึ่งประกอบด้วย จิ๊บชญานิษฐ์ แก้วหล้า, โมนาปาณิศา จรรยาคุณ, เต็มติชิลา เกตุมาลาศิริ, โอปออัษฎา นภาวรรณ, โอ๊กเอกดนู คงอิ่ม และ เบียงธาวิน วงศ์พัฒนาสิน ทำให้เราได้รู้ว่า นอกจากเตโชเรสซิงจะต้องออกแบบและผลิตโมเดลรถแข่งที่มีประสิทธิภาพสูงแล้ว น้องๆ ยังต้องหาสปอนเซอร์ด้วยตัวเอง เพื่อใช้เป็นทุนในการศึกษาวิจัย การผลิต การประชาสัมพันธ์ อีกทั้งทุนดังกล่าวยังครอบคลุมค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปแข่งขันด้วย-เนื้องานเหมือนกับบริษัทออกแบบที่กำลังเตรียมตัวไปพิทช์งานกับลูกค้าไม่มีผิด​Dehjo Racing

ความรับผิดชอบทั้งหมดนี้อาจไม่ใช่สิ่งที่เราและคุณคาดคิดว่าอยู่ในระดับความสามารถของเด็กมัธยมปลาย แต่จากการพูดคุย เราเชื่อว่าเตโชเรสซิงพร้อมแล้วที่จะไปพิสูจน์ตัวเองต่อหน้าคณะกรรมการระดับโลก

และบรรทัดต่อไปนี้คือเรื่องราวของดรีมทีมตัวแทนประเทศไทย พวกเขาได้เรียนรู้และผ่านอะไรมาบ้าง เชิญเกาะขอบสนามติดตาม

​Dehjo Racing

จะเป็นดรีมทีมได้ต้องครบเครื่อง

จิ๊บ: มันเริ่มจากมี ICC (In-Country Co-ordinator) ของ F1 in Schools Challenge เข้ามาแนะนำโครงการในโรงเรียน แล้วกลุ่มพวกเราสนใจด้านฟิสิกส์อยู่แล้ว มีเด็กที่เรียนฟิสิกส์ระดับ A Level 4 คน

โมนา: เราแบ่งตำแหน่งของแต่ละคนโดยดูตามความถนัด เช่น โมกับโอปอดูแลด้านการออกแบบรถและการทำรถเพราะเราเคยเรียนวิชา Design Thinking ตอนม.4

จิ๊บ: จิ๊บเป็น Team Manager เบียงที่สนใจด้านกราฟิกดีไซน์ก็เป็นกราฟิกดีไซเนอร์ เต็มที่สนใจด้านมาร์เก็ตติ้งและธุรกิจก็ดูแลด้านนี้ไปเลย ส่วนโอ๊กดูแลเรื่องโซเชียลมีเดีย

เต็ม: และเพราะปีนี้เป็นปีแรกของประเทศไทย ทาง F1 in Schools Challenge ต้องการนักเรียนที่มีความสามารถภาษาอังกฤษ ซึ่งหลักสูตรของเราเป็นสองภาษาอยู่แล้ว เขาก็เลยติดต่อให้เราไปแข่งขันในระดับ World Final เลย

จะเป็นดรีมทีมได้ต้องเรียนรู้ด้วยตัวเอง

จิ๊บ: Mr.Pine ผู้อำนวยการโรงเรียน เป็นคนนำโครงการนี้เข้ามา แต่เขาอยากให้เป็นผลงานของเด็กจริงๆ ก็เลยไม่ได้ลงมาช่วยขนาดนั้น แต่จะคอยให้คำแนะนำเสียมากกว่า

โอปอ: เรื่องการออกแบบรถเราต้องเรียนรู้ด้วยตัวเองใหม่ทั้งหมดเลย คือทาง F1 in Schools Challenge เขาจะให้หนังสือคู่มือมา ซึ่งเราต้องอ่านและศึกษาข้อกำหนดต่างๆ ในการออกแบบ แล้วหัดใช้โปรแกรม CAD/CAM (Computer-Aided Design & Computer-Aided Manufacturing-การใช้คอมพิวเตอร์ช่วยออกแบบและผลิต) จากนั้นเราถึงจะเริ่มศึกษาเรื่องที่จำเป็นต้องรู้ เช่น เรื่อง Aerodynamics (อากาศพลศาสตร์) เรื่องปัจจัยที่ทำให้รถวิ่งเร็ว แล้วก็ออกแบบให้ตรงกับข้อกำหนดที่เขาให้มา

โอปอ: เสร็จแล้วเราต้องฝึกใช้โปรแกรม CFD (Computational Fluid Dynamics-พลศาสตร์ของไหล การใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์คำนวณของไหล เช่น อุณหภูมิ ความเร็ว ความดัน)เพื่อทดสอบค่า Drag Coefficient (แรงต้านอากาศ) ของรถ ซึ่งถ้าค่าตรงนี้ยิ่งน้อยจะยิ่งดี จากนั้นถึงจะลงมือทำรถด้วยเครื่อง CNC (Computer Numerical Control-เครื่องจักรกลที่ใช้ผลิตหรือขึ้นรูปชิ้นงานผ่านโปรแกรมคอมพิวเตอร์) และเครื่องพิมพ์สามมิติ

โมนา: โมเป็นคนรับแบบมาจากโอปอแล้วนำมาผลิตเป็นของจริง โดยเครื่อง CNC ใช้สำหรับตัดบล็อกโพลียูรีเทน
(วัสดุชนิดหนึ่งคล้ายโฟม) ที่ทาง F1 ให้มา จากบล็อกสี่เหลี่ยมก็จะเป็นรูปทรงรถของเรา ส่วนเครื่องพิมพ์สามมิติจะใช้พิมพ์ชิ้นส่วนพวกล้อและปีก

โอปอ: ความพิเศษของรถเราคือจะเน้นที่ปีกกับตัวรถเป็นหลัก เราออกแบบปลายปีกด้านหลังให้เอียงและโค้งไปด้านหลัง เพื่อให้แรงต้านอากาศแยกเป็นสองแรง อีกทั้งตรงปลายปีกเราก็ออกแบบให้เล็กและแหลม เพราะเวลาปีกผ่านอากาศ มันจะเกิดลมตรงปลายปีก ถ้าเราทำให้มันแหลม พื้นที่เกิดลมก็น้อยลง ส่วนตัวรถเราก็พยายามทำให้ต่ำที่สุด จะได้ฝ่าอากาศได้ดีๆ แต่สิ่งสำคัญก็คือต้องอิงตามกฎเกณฑ์ด้วย อย่างความสูงก็มีข้อกำหนดว่าห้ามสูงเกินเท่านี้ ห้ามต่ำเกินเท่านี้

​Dehjo Racing

จะเป็นดรีมทีมได้ต้องหาสปอนเซอร์และแก้ปัญหาเป็น

จิ๊บ: ในโปรเจกต์นี้เราต้องหาสปอนเซอร์เองทั้งหมดเลย ตอนนี้เราก็หามาได้ประมาณ 6 แสนบาทแล้ว คือเราต้องนัดเข้าไปพรีเซนต์กับบริษัทต่างๆ แล้วให้เขาพิจารณาว่าอยากสนับสนุนเราไหม สนับสนุนเท่าไหร่ ซึ่งเงินที่ได้มาก็ครอบคลุมค่าเข้าร่วมการแข่งขัน ค่าโรงแรมที่เขากำหนดให้เราอยู่ ซึ่งเป็นโรงแรมที่แพงมากๆ แล้วก็มีค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ค่าอุปกรณ์ ค่าเช่าห้องแล็บ เพราะเราไม่ได้ใช้อะไรฟรีเลย เราต้องจ่ายทุกอย่าง

โมนา: ตอนที่หาสปอนเซอร์เราเจอปัญหาหนึ่ง คือตอนแรกเราได้บริษัทหนึ่งเป็นสปอนเซอร์หลัก ซึ่งจะได้พื้นที่ที่เด่นที่สุดในการวางโลโก้บนรถของเรา ต่อมาเรามีโอกาสไปพรีเซนต์กับอีกเจ้า ซึ่งเสนองบประมาณที่มากกว่า เพราะเขาอยากเป็นสปอนเซอร์หลักเหมือนกัน เราจึงต้องเจรจากับทั้งสองบริษัทเพื่อหาวิธีแก้ปัญหาที่ทุกฝ่ายพอใจที่สุด
เพราะเราก็อยากได้สปอนเซอร์ทั้งคู่มากๆ เหมือนกัน

​Dehjo Racing

จะเป็นดรีมทีมได้ต้องลงมือทำ

เต็ม: จริงๆ สิ่งที่เราเคยเรียนมามันอยู่ในหนังสือทั้งหมดเลย ไม่เคยลงมือทำจริงๆ อย่างเต็มดูแลเรื่องมาร์เก็ตติ้งก็จะมีผู้ปกครองที่เก่งด้านนี้มาแนะแนวว่าจะติดต่อสปอนเซอร์อย่างไร และพอได้ทำจริงๆ ก็ได้รู้ว่าเราอาจจะยังทำผิดอยู่ ตอนแรกๆ ถ้าเราส่งอีเมลล์ไปแล้วถ้าเขาไม่ตอบ เราก็ทิ้งไว้อย่างนั้น แต่พี่แผนกมาร์เก็ตติ้งจากบริษัทหนึ่งที่เข้าไปติดต่อแนะนำมาว่า เวลาคุยกับบริษัท เราทิ้งไม่ได้ เราต้องแอ็กทีฟและตามเขาตลอด

เบียง: เมื่อก่อนเบียงออกแบบอยู่แค่ในคอม ไม่เคยได้ทำออกมาจริงๆ แต่พอมาร่วมทีมก็เลยมีโอกาสได้เอางานออกแบบมาใช้งานจริงๆ เช่น การออกแบบสีตัวรถ ออกแบบโลโก้ติดหมวก ติดเสื้อ ออกแบบสื่อประชาสัมพันธ์ในโซเชียลมีเดีย แล้วก็ออกแบบบูท pitch display สำหรับตอนที่ไปแข่งด้วย

โอ๊ก: ส่วนของโอ๊กรับผิดชอบเรื่องโซเชียลมีเดีย เมื่อก่อนโอ๊กไม่รู้ว่าการที่เราจะโพสต์อะไรซักอย่างมันต้องไตร่ตรองให้เยอะ ไม่ใช่แค่อยากโพสต์ก็โพสต์ไปเลย โดยที่ไม่รู้ว่าถูกต้องไหม เช่น เมื่อวานโอ๊กจะโพสต์เกี่ยวกับสปอนเซอร์รายหนึ่ง แต่คุยกับเพื่อนจึงรู้ว่าการตกลงยังไม่ไฟนอล ถ้าโพสต์ไปมันจะไม่ถูกต้อง โอ๊กก็เลยหยุดไว้ก่อน ไม่โพสต์

จะเป็นดรีมทีมได้ต้องกล้าหาญและมีสติ

จิ๊บ: คือทุกทีมเขาเคยแข่งมาหลายรอบแล้ว ตอนแรกจิ๊บก็เลยกลัวว่าเราจะทำได้ไหม เราจะขายขี้หน้าเขาหรือเปล่า
เราจะเอาธงไทยไปแล้วทำรถพังไหม แต่จิ๊บก็คิดว่า ไม่ว่าเราจะได้ที่เท่าไหร่ หรือเราทำได้ไม่ดี แต่ถ้าเราทำดีที่สุดของเราแล้วจริงๆ มันก็ไม่ควรจะน่าอาย เพราะฉะนั้นก็เลยไม่กลัวแล้วค่ะ

โอ๊ก: เพื่อนๆ เลือกให้โอ๊กเป็นคนกดให้ตัวรถพุ่งไปจากจุดสตาร์ท คือในการแข่งรถ จะมีไฟขึ้นทีละดวงจนครบ 5
ดวง แล้วมีช่วงเวลาแป๊บหนึ่งที่ไฟติดทุกดวง จากนั้นพอไฟดับปุ๊บ โอ๊กต้องกดให้เร็วที่สุด ก่อนหน้านี้เคยลองกดแล้วก็ทำเวลาได้ค่อนข้างดี แต่เมื่อวันก่อนมีรายการทีวีมาถ่ายทำ แค่เจอกล้องและเพื่อนๆ รอบข้างไม่กี่สิบคนโอ๊กก็ตื่นเต้นแล้ว แล้วถ้าคนเป็นพันจะเป็นอย่างไร แต่โอ๊กคิดว่ารับมือได้ครับ เพราะสุดท้ายเราต้องตั้งสมาธิและมีสติในการกด ไม่ต้องไปวอกแวก ก็เลยคิดว่าจะกลับบ้านไปนั่งสมาธิเพื่อให้มีสติ ยิ่งเรามีสติเราก็จะกดได้เร็วกว่าเดิม ถ้าเรากดเร็วรถเราก็จะพุ่งไปก่อนคู่แข่ง มันไม่ใช่แค่ว่ารถเราเร็วแล้วจะชนะ แต่ reaction time ตอนกดก็เป็นปัจจัยสำคัญที่จะชี้ผลแพ้ชนะได้เหมือนกัน

​Dehjo Racing

แล้วถ้าดรีมทีมอยากเป็น World Champion ต้องมีอะไร?

จิ๊บ: ในการแข่งขันจะมีทั้งหมด 1,000 คะแนน แบ่งคร่าวๆ เป็นด้านรถ 600 คะแนนและด้านธุรกิจ 400 คะแนน เราต้องทำคะแนนในแต่ละหมวด เช่น ทำพอร์ตโฟลิโอด้านวิศวกรรม ทำพอร์ตโฟลิโอด้านธุรกิจ การไปนำเสนอที่นั่น
แล้วก็การแข่งรถซึ่งถือเป็นพาร์ทหลักเพราะมี 250 คะแนน ทีมที่แข่งรถชนะจะได้รางวัลเป็น Fastest Car แต่ทีมที่จะเป็น world champion ต้องทำคะแนนได้ดีทุกด้าน

โอปอ: เป้าหมายสูงสุดของเราคือ world champion ถ้าทำได้

ติดตามความเคลื่อนไหวและส่งแรงใจไปเชียร์เตโชเรสซิงได้ที่
dehjoracing.comหรือ
facebook.com/Dehjo-Racing

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ชนพัฒน์ เศรษฐโสรัถ

ช่างภาพนิตยสาร a day ที่เพิ่งมีพ็อกเก็ตบุ๊กเล่มใหม่ชื่อ view • finder ออกไปเจอบอลติก ซื้อสิ ไปซื้อ เฮ่!