Newground : แก้ปัญหาเด็กไทยด้วยการให้เด็กไทยแก้ปัญหาด้วยตัวเอง

เวลาที่เรามีคำถามเรื่องการศึกษาว่าใครจะเป็นผู้สร้างการเปลี่ยนแปลง เราจะนึกถึงใครก่อน ครู ผู้อำนวยการ รัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการ หรือนายกรัฐมนตรี แต่จะมีสักกี่คนที่นึกถึงเด็ก เด็กผู้เป็นส่วนล่างสุดของห่วงโซ่การศึกษาไทยและแบกรับผลที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงทั้งหมด

น่าแปลกเป็นอย่างยิ่งที่ไม่ค่อยมีคนคิดว่าเด็กจะเปลี่ยนแปลงอะไรได้ ใครเล่าจะมั่นใจในเด็กหัวเกรียน โดดเรียนไปเตะบอล ซอยผม หัดเขียนคิ้ว ให้มาทำนโยบายปฏิรูปการศึกษา เปลี่ยนแปลงระบบด้วยนโยบายในแบบที่ตัวเองอยากได้

ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อว่า ความคิดเราเปลี่ยนไปก็ตอนที่ไปเจอเพจ Newground เพจที่นำเสนอเรื่องการศึกษาเป็นหลัก ทั้งเรื่องการละเมิดสิทธิในโรงเรียน ข้อเสนอทางวิชาการ แต่สิ่งที่ทำให้เราสะดุดตาจริงๆ เห็นจะเป็นโครงการให้ทุน ‘เด็ก’ และ ‘เยาวชน’ ได้ทำในสิ่งที่ตัวเองอยากทำ แก้ปัญหาที่ตัวเองเจอ เช่น การตั้งสหกรณ์ของหาย หรือการทำนิตยสารที่นำเสนอเรื่องการกลั่นแกล้งในโรงเรียนก็เป็นไอเดียที่ออกมาจากเด็กๆ ภายใต้โครงการ ‘กองทุนคนรุ่นใหม่’ กองทุนที่กล้าให้เงินเด็กได้ทำในสิ่งที่ตัวเองอยากทำจริงๆ ของ Newground

เราติดต่อไปยัง ฟิล์ม-เปรมปพัทธ ผลิตผลการพิมพ์ co-founder ของ Newground มีคำถามหลายอย่างที่เราอยากรู้เกี่ยวกับเด็กไทย สงสัยว่าทำไมถึงกล้าให้ทุนเด็กทำอะไรแปลกๆ มีอะไรที่เขาสนใจในตัวเด็ก เขาอยากเห็นและคาดหวังอะไรกับเด็กไทย

เด็กไทยเลือกอะไรได้บ้าง

ฟิล์มเล่าให้เราฟังว่า สิ่งที่ Newground สนใจเป็นเรื่องของการเข้าถึงทรัพยากรของคนรุ่นใหม่ที่ปัจจุบันแม้จะมีจำนวนถึง 15 เปอร์เซ็นต์ของสัดส่วนคนในประเทศ แต่คนรุ่นนี้เข้าถึงทรัพยากรได้น้อยมากๆ ยิ่งเปรียบเทียบกับต่างประเทศแล้ว เราเข้าถึงมันได้น้อยอย่างน่าใจหาย นั่นยิ่งทำให้ทางเลือกของคนรุ่นใหม่น้อยลงไปอีก

“เราไปสำรวจในเว็บบอร์ดหนึ่ง 500 กระทู้ล่าสุด เพื่อดูว่าเด็กคุยอะไรกัน ก็พบว่ามีเด็กที่บอกว่าสายตาสั้นแต่ไม่กล้าบอกพ่อแม่ เพราะกลัวพ่อแม่จะว่าว่าติดเกม มีกระทู้เรื่องรับน้อง หรืออะไรต่างๆ แต่ 47 เปอร์เซ็นต์ของกระทู้ทั้งหมดเป็นเรื่องความขัดแย้ง เช่น การมีปัญหากับครูแต่ไม่รู้จะทำยังไง เพราะเมื่อเวลาเด็กทำผิด มีกฎระเบียบมากมายที่ลงโทษเขา แต่เวลาครูทำผิดเองก็ไม่รู้จะทำยังไง ไม่รู้จะจัดการยังไง เด็กไม่มีทางเลือก การศึกษาทุกวันนี้ สิ่งที่เด็กมีสิทธิ์เลือก คือใช้เสื้อผ้ายี่ห้ออะไร ซื้ออุปกรณ์ยี่ห้ออะไร นอกนั้นจะทัศนศึกษาที่ไหน จะออกแบบการเรียนยังไง เด็กไม่เคยได้ตัดสินใจ แม้แต่องค์กรกิจกรรมอื่นที่ไม่ใช่ภาครัฐ แหล่งทุนต่างๆ ถ้าเขาทำงานเกี่ยวกับเด็กก็ควรให้เด็กเข้าไปมีส่วนร่วม มีอำนาจตัดสินใจ

“พอพูดเรื่องการศึกษา เราพบว่างบประมาณส่วนใหญ่ลงไปกับการพัฒนาครู แต่น้อยมากเลยที่จะเข้าไปอยู่ข้างเยาวชน อีกข้อหนึ่งที่เราพยายามทำคือเรื่องการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชากรในอนาคต เวลาพูดถึงประชากรก็จะพูดถึงแต่โครงสร้างประชากร ผู้สูงอายุมีจำนวนมาก แต่ไม่ค่อยมีใครพูดถึงปัญหาข้างหน้าที่หลายคนกำลังจะเจอ สมมติว่าเรื่องประกันสุขภาพ เรากลับต้องไปนั่งฟังประวัติศาสตร์ที่ย้อนไปเป็นร้อยปี แต่ไม่ค่อยมีคนพยายามจะคิดไปข้างหน้าเท่าไหร่ ในมุมของ forward thinking policy”

ผู้ใหญ่กับเด็กเชื่อต่างกัน

ผู้ใหญ่เชื่ออย่าง เด็กชอบอีกอย่าง คือสิ่งที่ฟิล์มพยายามเล่าให้เราฟัง ผู้ใหญ่ที่พูดถึงหมายถึงแหล่งทุนที่ให้เงินเด็กในการทำโครงการ ทำกิจกรรมต่างๆ สิ่งที่แหล่งทุนเชื่อคือเรื่องประมาณว่า ความสุขเชิงสุขภาวะ ความดีแบบวัตถุวิสัย ความดีแบบตายตัว และชุมชนทางกายภาพ เช่น ความมีน้ำใจของคนในชุมชน ซึ่งมันขัดกับสิ่งที่เด็กๆ เชื่อ เด็กไม่ได้สนใจมากขนาดนั้น

“อย่างแรก เด็กสนใจเรื่องความสัมพันธ์ส่วนบุคคล เขาไม่ได้สนใจข้างบ้าน คอนโดฯ ห้องข้างๆ เป็นใคร เขาไม่ได้สน แต่ถ้าร้านบอร์ดเกมที่รวมตัวเพื่อนๆ แถวบ้านปิด อันนี้ทำให้เด็กเขาสนใจเพราะมันเกี่ยวกับตัวเขา

“อย่างที่สอง เด็กไทยสนใจเรื่องทุกขภาวะ คือไม่ได้ตั้งหน้าตั้งตานั่งสมาธิหาความสุข พวกเขาโอเคกับความเหงา ความเศร้า ความกลัว หนังสือ Haruki Murakami เลยเป็นตัวเลือกที่คนรุ่นใหม่สนใจ

“อย่างที่สาม เด็กสนใจเรื่องการรื้อสร้างมายาคติ การตั้งคำถามต่างๆ เช่น เขาตั้งคำถามว่า สามัคคีคือพลังจริงหรือเปล่า บางอย่างเป็นความดีหรือเปล่า มันแสดงให้เห็นว่า สิ่งที่ทั้งสองฝ่ายเชื่อมันขัดแย้งกันไปหมด นโยบายที่ออกมาจากกลุ่มกับสิ่งที่เด็กอยากทำก็เลยสวนกัน”

เราไม่ได้อยากแก้ปัญหาของคนอื่น

“เราพบว่า คนที่ทำงานเกี่ยวกับเยาวชนรุ่นหลังๆ มาที่เขามองเห็นปัญหาได้อย่างน่าสนใจมากขึ้น มีเด็กที่รณรงค์เรื่องการทำแท้งอย่างสมัครใจ หรือมีเด็กที่ทำเรื่อง LGBT พวกเขาเหล่านี้เป็นกลุ่มขับเคลื่อนประเด็นที่เราฝันจะเห็น แต่ปัญหาคือเมื่อเขาอยู่ในองค์กรที่มีโครงสร้างเลยมีข้อจำกัด ทำให้ไม่ได้ใช้ความคิดอย่างเต็มที่ ไหนจะเรื่องข้อจำกัดด้านงบประมาณ สุดท้ายก็ต้องทำในสิ่งที่ผู้ใหญ่สั่ง

“เราเจอแต่โครงการประมาณว่า ต่อต้านยาเสพติด ลูกน้ำยุงลาย จิตอาสาสิ่งแวดล้อม ทั้งๆ ที่เขาคือคนที่อยู่กับปัญหา เพราะฉะนั้นเขาควรจะเป็นผู้ที่คิดแก้ปัญหา เช่น คนที่อยู่บริเวณที่มีเขื่อนมาสร้าง แล้วเขารู้สึกว่าเขื่อนมันทำลายชีวิตและชุมชนของเขา คนที่ไม่พอใจกับการถูกตัดผม เขาควรเข้าถึงสิทธิ์ในการแก้ปัญหาไม่ใช่เข้าถึงคนกลุ่มเดียว นี่จึงเป็นที่มาของกองทุนคนรุ่นใหม่”

กองทุนคนรุ่นใหม่ อยากทำอะไรต้องได้ทำ

“ในปีที่ผ่านมา มีการเขียนข้อเสนอกันมา 40 กว่าทีม เราคัดเหลือ 9 ทีม มาตรฐานของเราคือ Newground คือมันต้องใหม่ แน่นอนว่ามีคนเขียนมาขอไปท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ไปขอทำผ้ามัดย้อม ซึ่งมันไม่ผิดนะ แต่เรามองว่าคุณสามารถขอที่อื่นได้ เราต้องการให้คนที่มีไอเดียในการแก้ไขปัญหา สามารถเข้าถึงทรัพยากรได้มากขึ้น

“เราเริ่มจากคนที่อยากทำอะไรสักอย่าง อะไรก็ได้ อยากจะทำสตูดิโอถ่ายภาพ ทำต่างหูขาย รณรงค์เรื่องต่างๆ คุณก็สามารถส่งไอเดียเข้ามา แต่คุณต้องระดมทุน 1 เท่า เช่น ถ้าระดมมาได้ 1,000 บาท เราสมทบให้อีก 2 เท่า อีก 2,000 บาท แล้วปีหน้าหรือรอบต่อไป เราจะถอนออกเท่าหนึ่ง แล้วก็ชวนองค์กรที่เกี่ยวข้องมาร่วมทุนแทน ทำให้องค์กรมีเด็กมาสานงานต่อ ส่วนเด็กก็ได้แก้ไขปัญหาของตัวเอง ส่วนเราก็ได้เด็กมาทำฐานข้อมูลต่อ ทุกฝ่ายต้องได้ประโยชน์”

ชอบทำของหายก็กลายเป็นโครงการ

“9 ทีมที่คัดเข้ามา เราจึงคัดทีมที่มีเป้าหมายร่วมกัน มีบางทีมน่าสนใจมาก ยกตัวอย่างทีมหนึ่ง เป็นนักเรียน ม.3 ปัญหาของเขาคือของหายบ่อยมาก เดี๋ยวดินสอหาย ยางลบหาย เขาขอทุนมา 500 บาท ให้เราสมทบอีก 1,000 บาท รวมเป็น 1,500 บาท เงินก้อนนี้เขาเอาไปทำสวัสดิการของหาย ส่วนหนึ่งเอาไปซื้อของเป็นกองกลาง ตั้งเป็นชมรมของหาย ส่วนคนที่มีสิทธิ์คือสมาชิกในชมรมของหาย คือต้องจ่ายค่าสมาชิกเดือนละ 5-10 บาท แล้วคุณก็สามารถใช้ได้ แล้วเมื่อต่อยอดมันก็จะทำหลายๆ ห้องมากขึ้น อะไรแบบนี้ไม่มีทางเลยที่องค์กรเด็กอื่นๆ จะให้ทุน

“มีทีมหนึ่งที่ขอเงินทุนไปเที่ยว เป็นโรงเรียนในจังหวัดศรีสะเกษ รายละเอียดคือเขาไม่ได้เอาเงินที่ได้จากเราไปเที่ยว แต่เอาไปรวมให้เพื่อนทำกองทุนกันวันละบาท ออมเพื่อไปเที่ยวอีกที สิ่งเหล่านี้ทำให้เห็นความเป็นไปได้มากกว่าข้อจำกัด ไม่มีกฎเกณฑ์บังคับว่าจะต้องเอาไปทำอะไร ต้องทำเพื่อพิสูจน์ความจนหรือความดี สามารถเอาไปใช้ได้เต็มที่ตามที่กรอบมันจะเป็นไปได้”

Overdog Project นิตยสารที่ยืนข้างนักเรียน

“อีกทีมที่น่าสนใจคือ Overdog Project คนทำหลักๆ คือ น้องมี่-พิมพิศา เชี่ยววารีสัจจะ ประเด็นที่เขาทำคือการบูลลี่ (การกลั่นแกล้ง) แต่ทั่วไปทำคือการบูลลี่กันเองระหว่างเด็ก แต่ทีมนี้เขาทำเรื่องการบูลลี่โดยครู น้องมี่ออกจากโรงเรียนเพราะโดนครูบูลลี่ แต่สิ่งที่เขาทำคือ นิตยสารที่เลือกสื่อสารเรื่องราวของเขากลับไปยังโรงเรียนที่เขาออกมา เอาไปแจกเพื่อนๆ ในโรงเรียน

“มันเกิดปรากฏการณ์หลายๆ อย่าง เพราะนิตยสารของเขาก็ไม่ได้มีผลแค่กับเด็กในโรงเรียน แต่มีผลกับเด็กหลายๆ คนนอกโรงเรียนด้วย มีงานเสวนาหนึ่งจัดขึ้นแล้วน้องมี่ก็ได้ไปพูด เราถึงได้พบว่ามีคนอีกจำนวนมากที่ไม่พอใจสิ่งเหล่านี้ มีประโยคหนึ่งที่น้องมี่พูดในงานเสวนาว่า ‘สิ่งที่เยียวยาการเป็นโรคซึมเศร้าจากการถูกบูลลี่ คือการที่ได้พูดเรื่องราวเหล่านี้ออกมา’ มันชัดเจนมากว่า การที่เราสนับสนุนให้เด็กได้แก้ปัญหาด้วยตนเองมันสำคัญขนาดไหน มันชุบชีวิตคนขึ้นมา ทำให้คนลุกขึ้นยืนอย่างมีศักดิ์ศรี ไม่ใช่ผู้แพ้ของสังคมอีกต่อไป นิตยสารเขียนคำโปรยได้เท่มาก เขาใช้คำว่า ‘ขอยืนอยู่ข้างนักเรียน ในวันที่โรงเรียนยืนอยู่ข้างครู’”

ผู้ใหญ่ไม่ได้เข้าใจเด็กขนาดนั้น

“เวลาคนมองเด็กจะมองเป็นเอเลี่ยน มองเป็นสัตว์ มองเป็นสิ่งที่ไม่มีวันเข้าใจได้เลย คนอายุ 24 ก็ไม่มีวันที่จะมองคนอายุ 23 แบบที่เข้าใจจริงๆ ได้เลย ผู้ใหญ่มักคิดว่าตนเคยผ่านการเป็นเด็กมาแล้ว ย่อมเข้าใจปัญหาวันนี้ของเด็กได้ ทั้งที่สถานการณ์ปัจจุบันมันเปลี่ยนไปแล้ว ปัญหาที่เด็กเจอไม่เหมือนเดิมแล้ว ปีที่แล้วยังไม่มี BNK48 ไม่มีบอลโลก ปรากฏการณ์ต่างๆ มันสร้างอิมแพ็คต่อวิธีคิดมากๆ หลายปีก่อนบางคนยังภูมิใจกับการรับน้องรุนแรง แต่วันนี้เขากลับไม่สามารถพูดว่าภูมิใจได้อย่างเต็มปากเต็มคำแล้ว เพราะคุณค่ามันเปลี่ยนไป เราคิดว่าการสำรวจวัฒนธรรมเด็ก เยาวชน มุมมองวิธีคิด มันควรจะเป็นรูปแบบใหม่ และควรต้องทำเรื่อยๆ ประเทศไทยไม่มีศูนย์วิจัยหรือกองทุนที่ทำงานลักษณะนี้”

เราควรมีสิทธิ์แก้ปัญหาของตัวเองด้วยตัวเอง

“เราว่าคนรุ่นพ่อแม่เราก็มีโอกาสในการใช้ชีวิตอย่างเต็มที่แล้ว อาจจะโดนกีดกันจากคนรุ่นก่อนหน้านิดหน่อยหรือมากๆ แต่ในท้ายที่สุด เขาก็ได้รับโอกาสในการใช้ชีวิตอย่างเต็มที่ ผู้ใหญ่ควรจะมอบโอกาสนั้นให้เรา ให้เราใช้ชีวิตอย่างเต็มที่ เลี้ยงเราอย่างอิสระ รักเราอย่างอิสระ แต่อย่างที่บอกว่า เราจะโยนปัญหาไปให้ปัจเจกอย่างพ่อแม่อย่างเดียวก็ไม่ได้

“เราต้องดูโครงสร้างกฎหมาย นโยบายว่ามันยังมีปัญหามาก อายุ 18 ปี จริงๆ แล้วคุณเลือกตั้งได้ เสียภาษีได้ รับการพิจารณาคดีแบบเดียวกับที่ผู้ใหญ่โดนได้ ติดคุกได้ แต่คุณกลับไม่สามารถกำหนดที่อยู่เองได้ คุณจะไปอยู่หอเองก็ทำไม่ได้ตามกฎหมาย พ่อแม่มีสิทธิ์เอาตำรวจมาลากตัวกลับไปได้เลย จะเข้าผับก็ไม่ได้ หรือทำหนังสือเดินทางไปต่างประเทศเองก็ไม่ได้ เพราะเขาถือว่าบรรลุนิติภาวะตอนอายุ 20 มันดูขัดแย้งมากๆ

“ยิ่งไปกว่านั้น ปัจจุบันมีเด็กอายุ 18 ที่เริ่มทำธุรกิจจำนวนมาก แต่พอต้องทำธุรกรรมทางการเงินกลับต้องใช้ชื่อพ่อแม่ ใช้ชื่อผู้ใหญ่ แล้วถ้าเขาไม่เห็นด้วยกับเราล่ะ เขาสามารถขัดขวางเราได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย คำถามคือเราจะทำยังไง หนึ่ง คือลดศักยภาพลงให้เด็กอายุ 18 ทำได้ตามกรอบของเด็กอายุ 15 หรือสอง จะใช้วิธีแก้กฎหมายให้เด็กอายุ 18 ใช้ชีวิตได้อย่างเต็มที่ คุณจะเลือกอะไรระหว่างลดอำนาจพวกเขาหรือแก้กฎหมายให้เขาได้ใช้ชีวิตในแบบของตัวเอง”

คำตอบจากความรู้สึกที่ว่า ‘โลกนี้ไม่ใช่ที่ของฉันเลย’

ทุกอย่างดูอึดอัดไปหมด คับแคบ แสดงความเห็นไม่ได้เลย เราไม่สามารถบอกความต้องการของตัวเองได้เลย เราควรต้องปรับตัว หรือใช้ชีวิตยังไง ปลายทางของคำถามคือความอยากรู้สำหรับเด็กที่อยู่ไม่เป็น

“เราคิดว่าคำถามมันตอบได้ 2 ทาง ทางแรก คงบอกพ่อแม่หรือครูว่า ถ้าวันหนึ่งคุณรู้สึกว่าคุณควบคุมเขาไม่ได้ สื่อสารไม่รู้เรื่อง อย่างแรกที่คุณควรเลิกคิดคือเลิกมองว่าเด็กเป็นเมล็ดพันธ์ุ เด็กไม่ใช่ลูกไม้ที่จะต้องมาหล่นอยู่ใต้ต้นเราเสมอ เขามีชีวิตของเขาเอง มีสิทธิ์ในการตัดสินใจ เขามีสิทธิ์ที่จะเกลียดเราได้ถ้าเราทำไม่ดี เราต้องยอมรับว่าลูกคือความแตกต่างที่ต้องอยู่ร่วมกัน

“แต่คำตอบที่สองคือ สำหรับเด็กอย่างเราๆ ถ้าคุณรู้สึกว่าตัวเองเป็นคนอื่นเสมอ สิ่งเหล่านี้ไม่ได้มีแค่คุณคนเดียวที่รู้สึกแบบนั้น มีคนอีกจำนวนมากที่รู้สึก แล้วก็ไม่ใช่แค่ในประเทศไทย มีคนอีกมากที่กำลังขับเคลื่อนเรื่องเหล่านี้อยู่ เคลื่อนเพื่อชีวิตที่ดีกว่า เคลื่อนเพราะอยากเห็นอนาคตที่ไม่ได้เป็นแบบนี้ มีการรวมกลุ่มของคนรุ่นใหม่จำนวนมาก มีเด็กที่กำลังเรียกร้องเรื่องโรคซึมเศร้า เรื่องกัญชาถูกกฎหมายอยู่

“ไม่ใช่เราคนเดียวที่กำลังรู้สึกเป็นอื่นจากโลกใบนี้ สิ่งที่ทำได้ก็คือต้องอยู่และเรียนรู้กันต่อไป อยู่กับความไม่ปกติและไม่ยอมรับมันว่าเป็นความปกติ ไม่ช้าไม่นาน ก็จะมีอำนาจในการเปลี่ยนแปลง เปลี่ยนความไม่ปกติเหล่านั้นให้มันมีความปกติมากขึ้น แล้วอีกไม่ช้าไม่นาน คนรุ่นเด็กกว่าก็จะมาเปลี่ยนเขาอีกที ให้กลายเป็นความปกติของคนรุ่นต่อไป เพราะฉะนั้นอย่าเศร้าไปเลย สิ่งที่ทำได้คือ คนรุ่นเราควรรวมตัวกันเข้าไว้ ไม่ต้องรอให้แก่ก่อน ไม่ต้องรอให้รวยก่อน ทำอะไรได้ก็ทำ” ฟิล์มทิ้งท้าย

 

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

พชรธร อุบลจิตต์

เป็นช่างภาพที่เรียนการเมืองแต่ชอบเดินทางเป็นอาชีพแถมยังชอบทำขนมเป็นงานอดิเรก กำลังเก็บเงินไปเอเวอเรสต์และซื้อตู้เย็น