Wonderfruit Festival : เทศกาลเฉลิมฉลองความสนุกผ่านงานศิลปะที่เริ่มต้นคิดจากคำว่าชีวิตที่ดีและโลกที่ยั่งยืน

ภาพจำเทศกาลตามต่างจังหวัดที่เราคุ้นชินคือวงดนตรีร็อกกำลังแสดงโชว์สุดมันบนเวทีขนาดใหญ่ที่ส่องไฟสปอตไลต์สีฉูดฉาด ฉากหลังเป็นภูเขาสูง ทุ่งหญ้าแห้ง และสายลมเย็นพัดเอื่อยๆ ตรงข้ามกับอารมณ์พลุ่งพล่านของคนมาร่วมงานที่ถูกเติมด้วยฤทธิ์แอลกอฮอล์ จนเมื่อสองปีก่อน เราได้ยินชื่อเทศกาล Wonderfruit เป็นครั้งแรก นอกจากจะแปลกใจที่เป็นเทศกาลของคนไทยแล้ว แนวคิดไลฟ์สไตล์เฟสติวัลที่ชูคอนเซปต์ความยั่งยืน (Sustainable) ใส่ใจสิ่งแวดล้อมและรับผิดชอบต่อโลกเรา
ควบคู่ไปกับความสนุกสร้างสรรค์ของงานศิลปะ ดนตรี การกินดื่ม และการดูแลสุขภาพซึ่งเป็นพื้นฐานของชีวิตที่ดีที่เราอยากจะมีกันทุกคนได้อย่างกลมกลืน

ความยั่งยืนและใส่ใจโลกกับความสนุกเป็นภาพที่เรานึกไม่ออกว่าจะหลอมรวมด้วยกันอย่างไร แต่การเกิดขึ้นของ Wonderfruit มาแล้วถึง 2 ปี และกำลังจะจัดเป็นครั้งที่ 3 ในวันที่ 16 – 19 กุมภาพันธ์ 2560 นี้ที่ The Field at Siam Country Club เมืองพัทยา ก็ยืนยันกับเราได้ว่ามันเกิดขึ้นจริง

พีท-ประณิธาน พรประภา ผู้บริหารบริษัท สแครทช์ เฟิร์สท์ จำกัด และผู้ก่อตั้งเทศกาลนี้ตัวจริงพร้อมตอบความสงสัยว่าเขาทำเทศกาลนี้ขึ้นด้วยความเชื่อมั่นแบบไหน และความตั้งใจที่อยากส่งต่อให้คนที่มาร่วมงานและโลกใบนี้คืออะไร ก่อนที่จะไปเตรียมเจอความสร้างสรรค์ที่ทีมงานคิดและทำในเทศกาลนี้ตลอด 4 วันงานพร้อมกัน

ทำสิ่งสร้างสรรค์ที่ไกลกว่าเรื่องตัวเอง

“ผมรู้สึกว่าคนเราควรมีความรับผิดชอบในการทำอะไรสร้างสรรค์เกี่ยวกับส่วนรวม ควรดูแลอะไรที่ไม่เกี่ยวข้องกับตัวเราหรือคนรอบข้าง ซึ่งสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องที่ผมคิดมาตั้งแต่เด็กอยู่แล้ว จุดเริ่มต้นจากพ่อผมเคยทำโครงการ Think Earth เป็นโครงการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมแรกๆ ของไทยเมื่อสัก 25 ปีก่อน ผมเข้าไปทำต่อสักพักก็รู้สึกว่าเราไม่อยากเหยียบเส้นทางที่คุณพ่อทำไว้ น่าจะหาสิ่งที่เราถนัด เหมาะสมกับวันเวลาของเราตอนนี้มากกว่า ช่วง 2 ปีก่อน มีโครงการสิ่งแวดล้อมเยอะมาก ทุกคนพยายามจะทำแต่ด้วยเหตุผลถูกหรือผิดก็แล้วแต่นะ ผมเองก็สับสน เรารู้ว่ามันมีปัญหาแน่นอน แต่ก็ไม่รู้อยู่ดีว่าจะมีส่วนในการแก้ปัญหายังไง สมัยนี้ยิ่งไปพูดว่าอย่าทำนู่นทำนี่ คนจะยิ่งไม่สนใจ เราเลยคิดหาทางออกที่สร้างสรรค์และไม่ได้บีบบังคับ ใส่กฎเกณฑ์เข้าไปขนาดนั้น”

“ผมเคยไปเทศกาลต่างประเทศที่คนมารวมตัวกัน 2 – 3 หมื่นคน มันมี sense of community สูงมาก ถ้าเกิดเราใช้พลังตรงนี้ไปทำประโยชน์บางอย่างมันน่าจะมีพลังมากเลยนะ ใช้ตัวยึดบางอย่างซึ่งคนสนใจร่วมกัน อย่างศิลปะ ดนตรี อาหาร เป็นสิ่งที่ทุกคนเสพได้และชอบที่จะเสพ ถ้าหยิบมารวมกับเรื่องความยั่งยืนหรือส่งผลกระทบในทางสร้างสรรค์ได้ ผมคิดว่ามันเป็นแพลตฟอร์มที่น่าสนใจ Wonderfruit ก็เริ่มจากตรงนั้น”

หลอมรวมความสนุกพร้อมปลูกจิตสำนึก

“เทศกาลในต่างประเทศเขาก็มีใช้วัสดุธรรมชาติหรือรีไซเคิลขยะนะ แต่ Wonderfruit เราคิดว่าสิ่งนั้นคือสิ่งที่ควรต้องทำเป็นปกติอยู่แล้ว โฟกัสของเราจะเน้นไปที่นวัตกรรมที่เริ่มจากคำว่า sustainability การคิดคอนเทนต์ทุกอย่างเราก็เริ่มจากปรัชญานี้ โดยใช้ศิลปะหรือกิจกรรมเป็นตัวขับเคลื่อนสื่อสารสิ่งที่เราเชื่อออกไป ศิลปินทุกคนที่เราชวนมาทำงานด้วยอาจไม่ได้ทำงานแนวนี้มาก่อน แต่เขาก็จะคิดงานโดยเริ่มจากสิ่งนี้เหมือนกัน เรายังใช้ความสนุกนำ เป็นหัวใจอีกอันของเรา ไม่ได้อยากให้มองแยกกันว่าความสนุกกับการรับผิดชอบต่อสังคมอย่างสร้างสรรค์เป็นคนละเรื่อง แต่เราทำให้เป็นสิ่งเดียวกันได้”

“อย่างปีนี้เรามีเวที Farm Stage สร้างเป็นปราสาทข้าวความสูง 15 เมตร ซึ่งมีโครงสร้างเป็นไม้ไผ่และทำหลังคาด้วยข้าวซึ่งเราปลูกขึ้นเองจริงๆ มีงานศิลปะสร้างจากขยะที่เดินไปเดินมาได้ ให้คนเข้าใจว่าการบริโภคของเราเยอะขนาดไหน มีเวที Scratch Talk ชวนคนขึ้นมาพูดคล้ายๆ TED Talk หัวข้อตั้งแต่เรื่องการจัดการขยะ ไปจนถึงการท่องเที่ยวเชิงสิ่งแวดล้อม อย่างเดียวที่ไม่ได้อิงกับคำว่ายั่งยืนคือพาร์ตดนตรี ยากไป (หัวเราะ)”

ทุกเสาสำคัญเท่ากันหมด

“พาร์ตดนตรีปีนี้เราชวนศิลปินประเทศเพื่อนบ้านมาเยอะ ทั้งสิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เราเชื่อว่ารอบบ้านเรามีอะไรดีๆ เยอะ อยากให้คนไทยเปิดมุมมองรับงานดนตรีแนวใหม่ๆ หลากหลายที่อาจไม่ค่อยได้นึกถึง อีกเหตุผลสำคัญคือเราไม่ใช่เทศกาลดนตรี ไม่อยากเอาวงดนตรีใหญ่เกินเรามาเพราะคนจะสนใจแต่สิ่งนั้น ทั้งที่จริงๆ เรามีอีก 5 เสาที่สำคัญเท่ากัน ทั้งงานศิลปะ อาหาร สุขภาพที่ดี ครอบครัว และความรู้ผ่านเวิร์กช็อปหรือเสวนา เป็น 6 เสาที่เราคิดแตกมาจากชีวิตที่สมบูรณ์แบบและอยากให้เป็น”

เปลี่ยนจำนวนคนเป็นต้นไม้ใหญ่

“เราน่าจะเป็นเทศกาลแรกของโลกที่ทำ Carbon Offset คือคำนวณปริมาณคาร์บอน (Carbon Footprint) ที่คนมาร่วมงานจะผลิตตลอด 4 วันงาน จากนั้นก็ดูว่าต้องปลูกต้นไม้ทดแทนปริมาณคาร์บอนที่ปล่อยทิ้งออกมาทั้งหมดเท่าไหร่ แล้วไปปลูกที่ Rimba Raya Biodiversity Reserve ซึ่งเป็นระบบนิเวศที่อุดมสมบูรณ์ในประเทศอินโดนีเซีย กับอีกที่คือประเทศเมียนมา ที่ไม่ปลูกในไทยไม่ใช่ว่าเราไม่ศึกษานะ แต่พื้นที่พวกนี้ส่วนใหญ่เป็นของรัฐบาล และบ้านเรายังไม่มีหน่วยงานหรือกลไกควบคุมจริงจังว่าปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ที่ต้นไม้ต้นหนึ่งจะดูดซับได้เป็นเท่าไหร่ เราปลูกไปก็ยังไม่รู้ว่าทดแทนได้แค่ไหน ซึ่งถ้ามีมันจะเป็นวิธีหารายได้ที่ดีของรัฐบาลได้เลย สิ่งที่อยากให้คนมางานคิดต่อไปคือถ้าเราทำสิ่งที่กระทบต่อสิ่งแวดล้อม แล้วต้องเสียภาษีหรือค่าใช้จ่ายเพราะมัน เกมจะเปลี่ยนไปเลยนะ เราต้องคิดก่อนทำอะไรลงไปแน่นอน”

บอกเล่าผ่านสิ่งที่ทำ ไม่ใช่การบังคับ

“หลายคนมางานก็ไม่ได้เข้าใจสิ่งที่เราทำก่อนมา เพื่อนผมก็ไม่สนใจ ดูแต่แสงสีเสียง แต่งตัวสวยงาม แต่มาแล้วต่างหากถึงจะได้กลับไป เพราะทุกอย่างเกิดขึ้นจริงในงานของเรา ถ้าเขามาแล้ว เขาจะสังเกตแน่นอนว่าทำไมในงานไม่มีพลาสติกเลย มองเวที Farm Stage แล้วเริ่มมองข้าวในจานตัวเองว่ามันมีผลยังไง คิดต่อไปถึงเกษตรกรที่เป็นกระดูกสันหลังของเรา เราอยากปลูกฝังด้วยวิธีนี้เพราะเป็นวิธีที่เราเรียนรู้มา เราไม่มีทางมานั่งพูดว่า Wonderfruit เป็นงานรักโลกนะ มันไม่ใช่สิ่งที่เป็นเรา แต่เราเล่าผ่านงานศิลปะและเนื้อหาที่ทำ สิ่งนี้ทำให้คนต้องมาที่งานก่อนถึงจะเข้าใจ”

สิ่งที่พูดเป็นเรื่องสากล

“ผมเองไม่มีลักษณะของคนที่จะจัดอีเวนต์ได้เลย แต่ผมอยากสร้างความเคลื่อนไหว เพราะถ้าเราพูดอย่างเดียวแต่ไม่ทำ คนไม่สนใจเราแน่นอน และเราเองก็จะไม่สนใจสิ่งที่เราทำด้วย ผมจะมาทำงานเพื่ออะไรถ้าสิ่งที่ทำไม่ได้สะท้อนสิ่งที่ผมเชื่อ อย่างน้อยเราก็รู้ว่าเราได้ทำแล้ว และพยายามจะสื่อสารให้คนอื่นได้รู้ด้วย สิ่งที่เราเชื่อเป็นสิ่งสากลมากๆ นะ เรื่องสิ่งแวดล้อม การเห็นส่วนรวมสำคัญกว่าตัวเราเอง แปลว่าผมไม่ได้มานั่งผลักดันความคิดของผมให้คนอื่น แต่เป็นสิ่งที่ทุกคนมีอยู่ในตัวอยู่แล้ว เพราะเราก็ยังอยู่ในโลกเดียวกันอยู่ดี”

ยังมีเวลาซื้อบัตรเข้างาน Wonderfruit ก่อนไปเปิดรับประสบการณ์แปลกใหม่นี้กันได้ที่ wonderfruitfestival.com ความเจ๋งของงานนี้ต้องพิสูจน์ด้วยตัวเองนะ

ภาพ Wonderfruit

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ดวงสุดา กิตติวัฒนานนท์

ช่างภาพนิตยสาร a day ผู้ชอบกินอาหารที่ถ่าย