อิทธิพล สมุทรทอง : นักวิ่งหนึ่งเดียวที่เคียงข้าง ตูน บอดี้สแลม ตลอดระยะทาง 400 กิโลเมตร จากกรุงเทพฯ ถึงบางสะพาน

ภาพที่คนส่วนใหญ่ได้เห็นตามสื่อช่วงนี้คือ ‘ก้าวแห่งความสำเร็จ’ ของ อาทิวราห์ คงมาลัย หรือ ตูน บอดี้สแลม ในโครงการ #ก้าวคนละก้าว ซึ่งยอดบริจาคมหาศาลจากประชาชนทั่วประเทศที่สูงราว 70 ล้านบาทนั้นทำให้เราได้เห็นว่าการระดมทุนด้วยการวิ่ง (อย่างบ้าพลัง) จากกรุงเทพฯ ถึงอำเภอบางสะพาน ประจวบคีรีขันธ์ ในการจัดซื้อเครื่องมือแพทย์ให้โรงพยาบาลบางสะพานนั้นไม่สูญเปล่า และสะท้อนให้เห็นพลังของภาคสังคมที่น่าประทับใจ

แต่กว่าก้าวย่างของซูเปอร์สตาร์จะมาถึงเส้นชัยที่ปลายทางได้นั้น ยังเต็มไปด้วยกระบวนการเบื้องหลังที่คนส่วนใหญ่ไม่เคยเห็นภาพ มีทีมงานอีกอย่างน้อยกว่า 30 ชีวิตที่เดินทางเคียงข้างไปด้วยกันเพื่อให้งานนี้ลุล่วง หนึ่งในนั้นคือ อิทธิพล สมุทรทอง หรือ ‘ป๊อก’ นักวิ่งเพียงคนเดียวที่วิ่งเคียงข้างไปกับตูนตลอดระยะทาง 400 กิโลเมตร เราจึงเดินทางไปคุยกับเขาในช่วงโค้งสุดท้ายก่อนถึงเส้นชัยว่าต้องมี ‘ใคร’ และ ‘องค์ประกอบ’ อะไรอีกบ้างที่ทำให้ผู้ชายคนหนึ่งทำโครงการที่ยิ่งใหญ่และเป็นไปได้ยากนี้ได้สำเร็จ

ต้องการที่ปรึกษา

“ผมรู้จักกับพี่ตูนในฐานะแฟนคลับธรรมดาคนหนึ่ง เจอกันงานวิ่งก็สวัสดีทักทาย พอดีผมเป็นแอดมินกรุ๊ป ‘42.195 Kclub เราจะไปมาราธอนด้วยกัน’ มีครั้งหนึ่งจะทำ Facebook Live เลยโหวตว่าในกรุ๊ปอยากฟังใคร เพื่อนๆ โหวตให้ Live พี่ตูน ซึ่งพี่ตูนเป็นคนไข้หมอเมย์ (พญ.สมิตดา สังขะโพธิ์) หนึ่งในแอดมินเลยประสานไปทางโทรศัพท์ พี่ตูนก็ยินดีมาก พอพี่ตูนบอกผมว่าอยากทำโครงการวิ่งเพื่อช่วยเหลือโรงพยาบาลบางสะพาน ผู้ชายคนหนึ่งที่กล้าคิดอย่างนี้เจ๋งมาก ผมยินดีช่วยให้คำปรึกษาเต็มที่ในฐานะคนที่เคยวิ่งระยะไกลมาก่อน ร่วมมือกับหมอเมย์ ช่วยกันวางแผนให้เขาหมดว่าต้องมีอะไรบ้าง”

ต้องมีแผนที่เป็นไปได้

“มันไม่มีอะไรบ่งบอกว่าคนหนึ่งคนจะวิ่ง 400 กิโลเมตรได้ไหม ตัวผมเองก็ยังไม่เคย ยาวสุดรวดเดียวคือ 115 กิโลเมตร แต่ส่วนตัวผมเชื่อว่าเป็นไปได้ ซึ่งจะเป็นไปได้จริงไหมก็ต้องดูแผน แผนการวิ่งของพี่ตูนจะแบ่งการวิ่งเป็น 4 เซ็ต เซ็ตละ 10 กิโลเมตร ระหว่างเซ็ตพักครึ่งชั่วโมง วิ่งช่วงเช้า 2 เช็ต พักยาวช่วงกลางวันที่อากาศร้อน แล้ววิ่งอีก 2 เซ็ตตอนเย็น ตอนแรกผมก็รู้สึกว่าเสียเวลา ทำไมไม่วิ่งรวดเดียว 40 กิโลเมตรเลย แต่สุดท้ายกลายเป็นว่าแบบนี้ดีที่สุด ฉลาดที่สุด เพราะมีเวลาให้ร่างกายค่อยๆ ฟื้นตัวทุก 10 กิโลเมตร ถ้าวิ่งวันละ 40 กิโลเมตรรวดเดียวอาจจะไปต่อไม่ไหวตั้งแต่ 3 วันแรกแล้ว”

ต้องประเมินร่างกาย

“ก่อนวิ่งผมพาพี่ตูนไปตรวจสุขภาพเพื่อเตรียมความพร้อมให้นักกีฬามั่นใจในตัวเอง ดูความฟิตรู้ว่าร่างกายเป็นยังไง ตรวจสี่อย่าง คือหนึ่ง ตรวจว่าร่างกายสามารถนำออกซิเจนไปใช้ได้ดีมากน้อยแค่ไหนอย่างไร สอง ตรวจดูท่าทางการวิ่งซึ่งแก้ไขอะไรยากแต่ให้รู้เอาไว้ สาม ตรวจอัตราการเต้นของหัวใจด้วยการวิ่งสายพาน สี่ ตรวจเอ็กโค่หัวใจ”

ต้องการทีมแพทย์เคลื่อนที่ (ด้วยการวิ่ง)

“พี่ตูนมีโจทย์ให้ผมว่า ถ้าเขาล้มอยากให้มีแพทย์มาช่วยเหลือเขาได้ภายใน 2 นาที ผมจึงเตรียมทีมแพทย์อาสาสมัครจากเพื่อนนักวิ่ง คุณสมบัติคือต้องเป็นนักกีฬาวิ่ง ไตรกีฬาก็ได้ ที่จริงผมอยากได้หมอหัวใจ แต่การทำปฐมพยาบาลเบื้องต้นนั้นจะเป็นหมอด้านไหนก็ได้ จนสุดท้ายได้ทีมหมอมาจำนวนหนึ่ง ตั้งแต่วันที่ 1 ถึง 10 จะมีหมอวิ่งกับพี่ตูนทุกวัน แต่ละคนมีความรู้ต่างกันไป คอยดูแลร่างกายพี่ตูน อยู่หน้างานคอยแก้ปัญหา ผมบอกพี่ตูนเลยว่า ถ้าพี่ตูนล้ม ไม่ต้องรอถึง 2 นาที 30 วินาทีก็มีหมอเข้ามาถึงตัวพี่ตูนแล้ว นอกจากนั้นยังมีหมออีกกลุ่มหนึ่งคอยสนับสนุนระหว่างทางอีก”

ต้องมีเพื่อนวิ่ง

“ไม่มีตำแหน่งคนวิ่งประกบตั้งแต่เริ่มต้น มีแค่คำชวนจากพี่ตูนให้ผมไปวิ่งด้วยกัน นักวิ่งหลายคนเห็นผมมาวิ่งกับพี่ตูนก็อยากมาวิ่งด้วย แต่ถ้ามองเป้าหมาย โครงการนี้ไม่ได้ต้องการคนทั่วไปมาวิ่งด้วยมากมาย เพราะการวิ่งบนถนนหลวงต้องการขบวนที่เล็กที่สุด คล่องตัวที่สุด โครงการนี้ต้องการเพื่อนหรือศิลปินที่มีผู้ติดตาม เพราะอยากให้คนเหล่านี้ช่วยกระจายข่าวการระดมทุนออกไปให้เยอะที่สุด ผมก็วางแผนเพื่อช่วยเหลือเขา เป็นแค่คนที่วิ่งอยู่ข้างหลัง คอยสนับสนุน จะไม่มีภาพความสำเร็จของผม เพราะนี่เป็นโครงการของเขา”

ต้องจัดลำดับขบวนวิ่ง

“ในขบวนจะต้องมีอะไรบ้าง หนึ่ง รถตำรวจวิ่งนำ 1 คัน เพราะทางหลวงต้องการดูแลความปลอดภัย สอง รถไฟฟ้าวิ่งนำระยะใกล้ รถที่จะนำพี่ตูนวิ่งควรเป็นรถไฟฟ้า ทางทีมก็ไปขอผู้สนับสนุนมาได้ 2 คัน ทีมสื่ออยู่บนรถไฟฟ้าก็ถ่าย live ได้ด้วย อยู่หน้าพี่ตูน 5 เมตรได้เลยไม่ต้องกลัวเพราะไม่มีมลพิษ สาม ทีมวิ่ง มีพี่ตูนและเซเลบอยู่ข้างหน้า แล้วตามด้วยผมและแพทย์ ปิดท้ายด้วยรถตู้ นี่คือแผนที่วางไว้ แต่พอปฏิบัติจริง ผมกลายเป็นผู้สนับสนุนที่อยู่ใกล้พี่ตูนที่สุด”

ต้องอำนวยความสะดวก

“ตอนวิ่งจริง พี่ตูนอยู่ซ้าย ผมอยู่ขวา หลังพี่ตูนเป็นหมอหนึ่งคนคอยดูการเต้นหัวใจเพราะพี่ตูนวิ่งเร็ว เหตุผลที่ผมต้องวิ่งอยู่ด้านขวาเพราะต้องบังพี่ตูน พูดตรงๆ เลยว่าถ้ารถมา ชนผมก่อน ผมต้องกันนักกีฬาออกจากอันตรายและคอยอำนวยความสะดวกให้เขามากที่สุด อย่างตอนเช้าตรู่จะไม่มีไฟ ผมมี head lamp ที่ใส่ไว้เพื่อส่องเอียงไปที่ด้านหน้าของพี่ตูน เพราะเขาตกหลุมไม่ได้ ขาพลิกไม่ได้ ถ้าขาพลิกก็ไปต่อไม่ได้เลย ห้ามชะลอบ่อยเพราะต้อง boost พลังงานใหม่และอันตรายต่อกล้ามเนื้อ ผมก็ต้องคอยบอกและป้องกัน”

ต้องประเมินความเสี่ยง

“อันตรายที่อาจเกิดขึ้นจากการวิ่ง 400 กิโลเมตรคือกล้ามเนื้อสลาย ต้องเตรียมทีมหมอเพื่อตรวจเลือดตอนวิ่งครบ 100 กิโลเมตร ดูค่าการสลายกล้ามเนื้อแล้วเพิ่มสารอาหารเข้าไปช่วยแก้ อีกอย่างที่เสี่ยงคือภาวะขาดน้ำ ทุกเช้าต้องมีหมอคอยดูปัสสาวะพี่ตูนว่าขาดน้ำมากไหมในแต่ละวัน วันไหนขาดมากก็อัดน้ำเข้าไปเลย อันตรายที่สุดคือไตวาย เพราะฉะนั้นผมจึงมีข้อตกลงกับพี่ตูนตั้งแต่แรกว่าทีมแพทย์เตรียมอะไรต้องทานแบบนั้น”

ต้องคอยส่งน้ำส่งเสบียง

“ที่เป้ติดตัวผมจะมีกระบอกน้ำ เจลพลังงาน เกลือแร่แบบเม็ด โซดามินต์ และ BCAA (Branched Chain Amino Acid) หรือสารที่ต้องกินเพื่อให้กล้ามเนื้อไม่สูญหายไป มีสูตรว่าทุก 2.5 กิโลเมตรต้องให้น้ำ ทุกครึ่งวันต้องให้ BCAA แต่ถึงเวลาจริงก็ไม่ได้เป๊ะมาก ใช้หลักว่าผมวิ่งไปข้างพี่ตูนตลอด ดูระยะทางที่ประเมินว่าควรให้ดื่มน้ำหรือยัง ถ้าร้อนมากก็ดื่มบ่อยขึ้น บางทีเหงื่อเยอะก็ดื่มบ่อย มีเครื่องดื่มที่หมอผสมไว้ให้ มีสัดส่วนสารอาหารและเกลือแร่ที่พอดีกับร่างกายเขาแต่ละวัน”

ต้องมีรถบ้าน

“รถบ้านสำคัญมาก เพราะหลังพี่ตูนวิ่งแต่ละเซ็ตต้องฟื้นฟูร่างกายทันทีเพื่อให้วิ่งต่อไปได้ วิ่งเสร็จทุก 10 กิโลเมตรยังไม่ทันทักทายแฟนๆ พี่ตูนก็ต้องขึ้นรถบ้าน บนรถจะมีทีมนักกายภาพบำบัดคอยยืดเหยียด ประคบน้ำแข็ง ทำกายภาพ มีหมอคอยดูว่าต้องฉีดยาหรือดูแลการบาดเจ็บอะไรไหม และที่สำคัญคือทำธุระส่วนตัว บนรถมีห้องน้ำ เตียงหลายเตียงที่นักวิ่งและคนดังหลายคนขึ้นมาใช้ร่วมกัน”

ต้องแช่น้ำแข็งทุกวัน

“ผมบอกทีมงานว่าต้องมีถังน้ำแข็งให้พี่ตูนลงแช่ทุกวัน ทีมเขาก็ไปซื้อบ่อสูบลมมาเลย ทุกวันตอนเย็นเราวิ่งไปจบที่ไหนก็ฟื้นฟูร่างกายด้วยการเอาน้ำใส่ลงไปในบ่อแล้วค่อยๆ เติมน้ำแข็งลงไปเพื่อให้ได้ 15 องศาเซลเซียส นักกีฬาลงไปแช่ก็เหมือนได้ช็อกกล้ามเนื้อ 15 นาทีทุกวัน วันละ 1 ครั้ง”

ต้องมี ‘ทีม’

“ภาพที่ออกไปเหมือนผมเป็นคนดูแลคนเดียว แต่ที่จริงมีทีมงานมากกว่า 30 คน ก่อนจะถึงกระบวนการวิ่งที่ทุกคนเห็นภาพนี้ เรามีทีมงานที่ช่วยกันคิดมาก่อนแล้วว่าจะต้องทำอะไร ระวังอะไร ทีมงาน 30 กว่าคนคอยอัพเดตสื่อสารกันตลอดเวลา เป้าหมายเดียวกันคือให้นักวิ่งปลอดภัย ทุกคนทำเพื่อพี่ตูน เพื่อให้พี่ตูนไปทำเพื่อคนอื่นอีกทีหนึ่ง”

ต้องมีความมุ่งมั่น

“ผมเรียกตัวเองว่าตำแหน่ง ‘กองหน้าผ้าเย็น’ แต่ความหมายที่แท้จริงมันอยู่ในหัวหมดแล้วว่าผมทำไปทำไม เพราะอะไร เพื่ออะไร ความรู้สึกของผมคือผมต้องคอยช่วยเหลือคนนี้ เพื่อให้คนคนนี้ทำสิ่งที่ยิ่งใหญ่ สิ่งที่ผมได้เห็นคือเห็นว่าพี่ตูนเขาเป็นผู้ชายธรรมดา แต่ต้องยอมรับว่าข้างในเขาไม่ธรรมดา เขามีความมุ่งมั่นตั้งใจมาก เขาไม่ใช่คนฮา ผู้ชายคนนี้เป็นคนที่โฟกัสจริงจังกับสิ่งที่ทำ ขณะเดียวกันก็สุภาพอ่อนน้อม”

ต้องมีความสุข

“เวลาผมไปวิ่งแข่งที่ต่างประเทศ ตอนผมไปยืนที่จุดสตาร์ท มันคือความสุขชนิดหนึ่งเลย เพราะมันเป็นความสุขของตัวเอง แต่วันที่ออกวิ่งกับพี่ตูน มันไม่เหมือนกันเลย มันคือ run for a reason คือการวิ่งเพื่อคนอื่น คือการนับถอยหลัง ถามว่าตอนวิ่งผมรู้ไหมว่าเหลืออีกกี่กิโลเมตร ผมไม่รู้หรอก รู้อย่างเดียวว่าคนข้างผมต้องปลอดภัย ต้องพาเขาไปถึงเส้นชัยแต่ละวัน”

ต้องไปให้จบ

“วันแรกที่เปิดบัญชี ผมสนับสนุนโครงการนี้แทบจะเป็นคนแรกๆ เพื่อบอกพี่ตูนว่าผมสนับสนุนเขาให้ทำสิ่งที่ยิ่งใหญ่ ไม่ใช่สนับสนุนแค่เงิน แต่ผมจะมาช่วยทุกวัน ผมไม่ได้มาเอาอะไรจากโครงการนี้ ผมไม่ได้ถูกจ้างมา คนอีกมากมายที่มาช่วยเหลืองานนี้ก็มาด้วยความรู้สึกนี้เช่นกัน ทุกคนมาช่วยพี่ตูนเพื่อให้พี่ตูนไปช่วยคนอื่นต่อ เพื่อให้รู้ว่าเราสนับสนุนในสิ่งที่เขาทำจริงๆ เพราะฉะนั้น เราไม่มีเหนื่อย ไม่อยากหยุดคิด แต่จะทำอย่างไรให้ขาเราไปรอด แค่นั้นเลย ต้องไปให้ได้ ต้องไปให้จบ”

ต้องทำ

“ผมเคยถามพี่ตูนว่ามีอะไรในชีวิตที่เขาอยากทำแล้วยังไม่ได้ทำ พี่ตูนบอกว่าอยากเป็นวัยรุ่นตลอดไป การเป็นวัยรุ่นคือทำโดยไม่ต้องคิด ไม่ต้องคำนึงว่ามีอะไรเป็นกรอบ โครงการวิ่งระดมทุน 400 กิโลเมตร ถ้าคิดแบบผู้ใหญ่ เป็นคุณ คุณกล้าทำไหม แต่พี่ตูนเขาทำ ผมคิดว่าเขาได้ทำในสิ่งที่เขาอยากทำที่สุดในชีวิตแล้ว”

ภาพ ดวงสุดา กิตติวัฒนานนท์

AUTHOR