Immanuel Music School : โรงเรียนดนตรีคลาสสิกกลางชุมชนคลองเตยที่เราอยากชวนให้ตั้งใจฟัง

1

พูดถึง ‘ชุมชนคลองเตย’ สิ่งแรกที่นึกถึงคืออะไร?

ความแออัดวุ่นวาย แหล่งอบายมุข
หรือความไม่ปลอดภัย หลายคนคงมีภาพจำจากสิ่งที่เคยได้ยินได้ฟังมาแบบนั้น แม้จะปฏิเสธไม่ได้ว่าส่วนหนึ่งก็เป็นความจริงตามสายตาที่มองจากคนนอก
แต่ถ้าใครมีเวลาเดินเข้าไปในชุมชนบ้านกล้วยช่วงเย็นของทุกวัน แล้วเงี่ยหูฟังดีๆ
เราอาจได้ยินเสียงไวโอลินดังออกมาจากคริสตจักรอิมมานูเอลลูเธอร์แรน สลับกับเสียงหัวเราะของเด็กๆ
ที่นั่นคือที่ตั้งของโรงเรียนดนตรีอิมมานูเอล (Immanuel Music School)

เหมือนอย่างเย็นวันนี้ที่เราเดินตาม
ต้นกล้วย-วรินทร์ อาจวิไล หนุ่มวัย 24
ครูประจำคนเดียวของโรงเรียนดนตรีกลางชุมชนคลองเตยแห่งนี้เข้าไปในคริสตจักรฯ
สถานที่ที่เขาใช้ฝึกซ้อมดนตรีให้เด็กๆ ที่มีตั้งแต่ยังเรียนอนุบาล 3 จนถึงอายุ 20
ปี ย้อนกลับไปในปี 2000 ที่นี่เคยต้อนรับสองสามีภรรยามิชชันนารีชาวนอร์เวย์ที่เดินทางมาสอนศาสนา
ซึ่งอาจารย์ Solveig Meling Johannessen ผู้เป็นภรรยาได้ตั้งใจอยากสอนดนตรีให้เด็กในชุมชนด้วยโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย
จากเดิมที่มีมาเรียนแค่ไม่กี่คน สลับกันใช้เครื่องดนตรีไปมา ก็เริ่มสอนจริงจังจนปัจจุบันมีเด็กๆ
ที่มาเรียนทุกเย็นรวมแล้วกว่า 100 คน
ซึ่งก็ยังสอนให้ฟรีเช่นเดิม

วรินทร์เก็บประสบการณ์และความรักในเสียงไวโอลินจากโรงเรียนดนตรีอิมมานูเอลมาตั้งแต่อายุ
8 ขวบ
และโชคดีที่ช่วงมัธยมปลาย
มีมิชชันนารีนักไวโอลินจากฟินแลนด์ชื่อซูซานนา มาช่วยสอนที่โรงเรียนจนเขาสอบเข้าวิทยาลัยดุริยางคศิลป์
มหาวิทยาลัยมหิดลได้สำเร็จ (เขากระซิบว่าได้แรงบันดาลใจมาจากภาพยนตร์เรื่อง Season
Change
นั่นแหละ)

4 ปีในรั้วมหาวิทยาลัยดนตรีบวกประสบการณ์อีก
1 ปีหลังเรียนจบที่ได้ร่วมวงออร์เคสตร้าอันดับหนึ่งของไทย Thailand
Philharmonic Orchestra ก็ช่วยให้ต้นกล้วยมีอาวุธมากพอจะกลับมาสานความตั้งใจของอาจารย์ที่อยากจะตั้งวงออร์เคสตร้าของโรงเรียนอย่างจริงจังเมื่อ
3 ปีก่อน โดยแบ่งออกเป็น 3 วงตามระดับ คือ วง A วงผู้ใหญ่ที่สามารถเล่นเพลงคลาสสิกพื้นฐานได้, วง B
ของเด็กๆ ที่เล่นเพลงซึ่งเรียบเรียงขึ้นใหม่ไม่ยากมาก และวง C
สำหรับเด็กที่เพิ่งเริ่มเข้ามาเรียน โดยวงออร์เคสตร้าของเด็กๆ ได้ออกแสดงจริงจังครั้งแรกเมื่อปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมานี้เองที่สถาบันคึกฤทธิ์

“เด็กที่สามารถรวมวงได้จะมีประมาณ 40 – 50 คน ซึ่งเราไม่ได้คัดเลือกเด็กในการแสดงแต่ละครั้ง
แต่จะพยายามให้ได้เล่นกันทุกคน จัดตำแหน่งให้ไม่ซ้ำกันเพื่อให้เขาได้พัฒนา
หรือหากคนไหนเก่งแล้ว ก็อาจกลับไปเล่นในตำแหน่งล่างสุด
เราไม่อยากให้เด็กรู้สึกว่าเขาเก่งที่สุดแล้ว
แต่ต้องเล่นได้ในทุกตำแหน่งที่ได้รับ”

2

ฟังดูเป็นเรื่องที่ใครๆ
ก็คงเห็นดีด้วยและน่าสนับสนุน แต่โรงเรียนดนตรีอิมมานูเอลก็ยังต้องไขข้อสงสัยจากคนในชุมชนเองไม่น้อย
โดยเฉพาะช่วงแรกที่ผู้ปกครองของเด็กๆ ไม่เข้าใจว่าทำไมต้องฝึกซ้อมอย่างจริงจังแทบทุกเย็นจนเด็กไม่ได้กลับบ้านมาช่วยพ่อแม่ทำงาน
หรือแม้แต่ถูกมองว่าการเรียนดนตรีคลาสสิกจะทำให้เด็กเป็นคนหัวสูง

“เราบอกเด็กเสมอว่าให้เป็นอย่างที่เป็น
เขาไม่จำเป็นต้องโตไปเป็นคนแบบนั้นก็ได้ แต่ศักยภาพของเขาสามารถพัฒนาให้มีเท่ากับคนอื่นๆ
ได้แน่นอน เราแค่มอบโอกาสนั้นให้เขา เราและอาจารย์มองร่วมกันว่าสิ่งที่ทำอยู่ไม่ใช่แค่ให้เด็กเล่นดนตรีสนุกๆ
แต่ระหว่างที่เราสอน เราก็ให้เขาได้ลองฝึกสอนเพื่อนๆ ไปด้วย โตขึ้นไปมันก็เป็นอาชีพได้”
ครูต้นของเด็กๆ ตอบคำถามนี้แล้วย้ำกับเราว่าคงไม่มีใครเลือกได้ว่าจะเกิดและโตมาในชุมชนแบบไหน
แต่ความรู้ที่มีติดตัวต่างหากที่จะสามารถกลับไปพัฒนาชุมชนของตัวเองได้

นอกเหนือจากดนตรี สิ่งที่โรงเรียนนี้ปลูกฝังให้เด็กคือทักษะการใช้ชีวิต
เด็กแต่ละคนมีตารางเรียนของตัวเองที่ต้องมาเรียนให้ตรงเวลา ไม่มีการเดินไปตามถึงบ้านแม้จะรู้จักบ้านของเด็กๆ
ทุกคน รวมถึงวิธีการสอนที่ครูต้นบอกเองว่าเขาเป็นคนดุและเสียงดังจนบางครั้งเด็กก็กลัว
แต่ต่อให้เข้มงวดขนาดไหน ก็ไม่แพ้ความตั้งใจของเด็กๆ ที่ยังกลับมาเรียนทุกครั้ง “ความมุ่งมั่นของเด็กๆ
เองที่ทำให้เขายังมาเรียน สิ่งนี้ไม่ได้เกิดจากเราเลย
เขารู้สึกว่าที่นี่เป็นบ้านหลังที่สอง เป็นอีกสังคมหนึ่งที่เขาได้มาเจอเพื่อน
มาซ้อม มาเล่นด้วยกัน”

3

สำหรับแคมเปญ ‘From Klongtoey to Concert Hall’ ที่กำลังเปิดให้คนได้มาร่วมระดมทุนในเว็บไซต์
asiola.com เพื่อเป้าหมายคือคอนเสิร์ตออร์เคสตร้าเต็มวงครั้งใหญ่ของเด็กๆ
ในวันที่ 7 ธันวาคม ก็ได้รับผลตอบรับดีมากจนมีผู้ร่วมสนับสนุนครบครบ 50,000 บาทตามที่ตั้งไว้ภายในระยะเวลาไม่ถึงสัปดาห์ ตอนนี้เลยขยายเป้าหมายพิเศษว่าเงินส่วนที่เกินมาจะนำไปใช้สำหรับซื้อเครื่องดนตรีเพิ่ม
รวมถึงจ้างครูสอนดนตรีมืออาชีพมาสอนเด็กๆ อีกด้วย

“เราก็ตกใจนะว่าทำไมมันถึงกระจายไปทั่วเลย
เราตั้งใจว่าเงินที่ได้จากการระดมทุนกับ asiola
จะไม่ได้ใช้กับคอนเสิร์ตวันที่ 7 ธันวาฯ เท่านั้น แต่จะช่วยเด็กๆ ทุกครั้งที่มีการแสดง
เพราะแต่ละครั้งเราต้องจ่ายค่าสถานที่ ค่าถ่ายวิดีโอ
ค่าอัดเสียงซึ่งจำเป็นต้องทำเพราะเราอยากให้เด็กๆ
ได้ย้อนกลับมาดูพัฒนาการของตัวเอง และทุกครั้งเราก็ไม่ได้เก็บค่าเข้าชม
แล้วแต่ว่าใครจะบริจาคเท่าไหร่ ที่ผ่านมาก็ติดลบตลอดเพราะคนที่มาชมส่วนใหญ่เป็นผู้ปกครองเด็กๆ
เอง เราเลยอยากประชาสัมพันธ์ให้คนทั่วไป คนนอกชุมชนได้เข้ามาชม
เพราะเชื่อว่าเงินบริจาคน่าจะเปลี่ยนไป
และเอาเงินส่วนนี้มาใช้พัฒนาโรงเรียนต่อไปได้” ครูหนุ่มอธิบายเรื่องเงินระดมทุนให้เราฟัง

แต่ถ้าใครอยากลองชมฝีมือของนักดนตรีตัวน้อยก่อน
วันเสาร์ที่ 1 ตุลาคมนี้ก็จะมีคอนเสิร์ตออร์เคสตร้าที่เป็นการร่วมแสดงครั้งแรกของวงผู้ใหญ่และวงเด็ก
มี Jonathan Mann นักดนตรีชาวอังกฤษมาช่วยฝึกซ้อมและเป็นวาทยากรให้
แถมยังได้นักไวโอลินมืออาชีพ วง Kristiansand Symphony Orchestra จากนอร์เวย์มาร่วมแสดงด้วย ทั้งหมดนี้จะช่วยพัฒนาศักยภาพของเด็กๆ
ให้ก้าวกระโดดไปอีกขั้น และโชว์ความสามารถที่มีให้คนดูเห็น ความตั้งใจที่อยากให้คนนอกชุมชนได้มาชมคอนเสิร์ตเลยไม่ใช่เรียกร้องความสงสารหรือเงินบริจาค
แต่อยากให้คนดูได้ความสุขจากคุณค่าของดนตรีกลับไปจริงๆ

ไม่ต่างจากความรู้สึกของคนแสดงเอง เขาเชื่อว่าคอนเสิร์ตแต่ละครั้งไม่ว่าเล็กใหญ่ก็ช่วยสร้างคุณค่าในจิตใจให้เด็กๆ
ได้

“การแสดงแต่ละครั้งคือการถ่ายทอดสิ่งที่พวกเขาซ้อมมาตลอด
3 – 4 เดือน ว่าเขาพยายามเต็มที่ที่จะสื่อสารกับคนฟัง
คุณได้รับไหม เขาได้ทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งสำเร็จแล้วแม้จะไม่ได้เงินเลย นี่น่าจะเป็นสิ่งที่ทำให้เด็กๆ
อยากเล่นต่อไป ทุกครั้งที่ซ้อมจะมีเด็กบางคนขี้เกียจ ท้อแท้ แต่พอแสดงจบ
เขาจะรู้สึกว่าเขาก็ทำได้นี่นา หรือบางคนที่ออกไปแล้วมาดูเพื่อนแสดง ก็อยากกลับมาซ้อมใหม่
คอนเสิร์ตแต่ละครั้งมันสร้างแรงกระเพื่อมให้หลายๆ คน ส่งผลทุกอย่างเลย” ต้นกล้วยทิ้งท้ายด้วยประโยคที่ทำให้เราอยากลองฟังเสียงบรรเลงของแรงกระเพื่อมจากเด็กๆ
สักครั้ง

4

พูดถึง ‘ชุมชนคลองเตย’ สิ่งแรกที่นึกถึงคืออะไร

ครั้งต่อไปเราจะตอบว่าเสียงดนตรี

คอนเสิร์ต ‘Music for Life’ จะจัดขึ้นในวันที่ 1 ตุลาคม 2559 เวลา 15.30
น. ที่หอประชุม ศาสตราจารย์สังเวียน
อินทรวิชัย อาคารตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย สำรองที่นั่งได้ที่ 08-4672-6078
และยังร่วมระดมทุนแคมเปญ
‘From Klongtoey to Concert Hall’ ได้ถึงวันที่ 1 ธันวาคม
โดยทุกท่านที่ร่วมระดมทุนขั้นต่ำ 500 บาทจะได้รับชมคอนเสิร์ตของเด็กๆ ที่จะจัดขึ้นในวันที่
7 ธันวาคม 2559 ที่คริสตจักรไคร้สตเชิช กรุงเทพฯ (Christ Church Bangkok)

facebook | Immanuel Music School

ภาพ ดวงสุดา กิตติวัฒนานนท์

AUTHOR