แก้ปัญหาและบริหารโครงการแบบเกาหลีใต้ด้วย ‘Design Thinking’ ตอนที่ 1

วันก่อนแวะไปที่ Magazine Library ใน Dongdaemun Design Plaza ที่กรุงโซลมาค่ะ 

ด้วยความที่ทำงานเกี่ยวกับความคิดสร้างสรรค์ เนื้อหาและงานออกแบบมานานหลายปี ก็เลยสนใจเรื่องของ ‘Design Thinking’ เป็นพิเศษ พอเปิดไปเจอว่าปี 2017 ประเทศเกาหลีใต้ใช้ Design Thinking หรือที่เรียกว่า ‘กระบวนการคิดเชิงออกแบบ’ ในการดำเนินงานโครงการต่างๆ ของ Seoul Design Foundation ก็เลยตื่นเต้นเลยค่ะ 

ว่าแต่ Design Thinking คืออะไร? 

แล้ว…ใช้ได้ผลมากขนาดที่หน่วยงานขับเคลื่อนด้านการออกแบบชั้นนำของเกาหลีใต้นำไปเป็นแนวทางในการคิดและบริหารโครงการเลยหรือ? 

Design Thinking เป็นวิธีการคิด วิธีการทำงาน การพัฒนา/ค้นหาทางแก้ปัญหาและความเป็นไปได้ใหม่ๆ จากสหรัฐอเมริกา ปัจจุบันนิยมใช้มากทั้งในภาครัฐ ภาคธุรกิจ การออกแบบ เทคโนโลยี นวัตกรรม และการบริหาร โดยมี d.school ของมหาวิทยาลัย Stanford, D Lab มหาวิทยาลัย MIT และบริษัท IDEO เป็นผู้นำในการเผยแพร่วิธีคิดนี้ในวงกว้าง

จุดเด่นของ Design Thinking อยู่ตรงที่เป็นกระบวนการคิดที่มี ‘ผู้ใช้’ (หรือมนุษย์) เป็นศูนย์กลางตามแนวทางการออกแบบที่เรียกว่า Human-centered Design ซึ่งเชื่อในเรื่องของการทำความเข้าใจใน ‘มนุษย์’ ก่อนสิ่งอื่นใด แล้วจึงค่อยตั้งคำถามและค้นหาความเป็นไปได้ในรูปแบบต่างๆ เพื่อนำมาซึ่งทางแก้ไขปัญหาที่สร้างสรรค์ แปลกใหม่ และใช้ได้จริง

การใช้ Design Thinking แบบที่เราคุ้นเคย มักจะเป็นการดำเนินการผ่านเวิร์กช็อปที่เป็นการทำงานของคน 4 กลุ่มคือ มนุษย์หรือผู้ใช้ (User), ผู้ใช้งาน Design Thinking, ผู้ดำเนินกิจกรรม (Facilitator), และกลุ่มเป้าหมาย (Target Audience) โดยแบ่งกระบวนการ Design Thinking ออกเป็น 4 ขั้นตอน (บางสายแบ่งละเอียดยิบเป็น 5 ขั้นตอน) วิธีการใช้งานก็แค่เลือก/กำหนดหัวข้อที่สนใจก่อน แล้วทำตามขั้นตอนต่างๆ ของ Design Thinking โดยมีผู้ดำเนินกิจกรรมช่วยอธิบายเพิ่มเติมหรือแนะนำรายละเอียดในแต่ละขั้นตอนเท่านั้น  

ขั้นตอนที่ 1: Discover (การทำความเข้าใจประเด็นปัญหา)

ในมุมมองแบบ Design Thinking การลงไปสัมผัส พูดคุยและคลุกคลีกับมนุษย์คือหนทางเดียวที่จะเข้าใจว่าปัญหาที่แท้จริงคืออะไร? และแทนที่จะแบ่ง ‘มนุษย์’ หรือ ‘ผู้ใช้’ ออกตามลักษณะทางกายภาพหรือหลักประชากรศาสตร์ (Demographic) เช่น อายุเท่าไร อาศัยอยู่ที่ไหน หรือมีรายได้เท่าไร แต่ Design Thinking ให้ความสำคัญกับวิธีการใช้ชีวิต (Lifestyle) ความรู้สึกนึกคิด ความสนใจ ความชอบ ไปจนถึงงานอดิเรกของ ‘มนุษย์’ มากกว่าสิ่งอื่นใด จะได้เข้าใจอย่างถ่องแท้ว่าความต้องการที่แท้จริงของมนุษย์ (ผู้ใช้) คืออะไร?​ และใช้งานสิ่งต่างๆ ในรูปแบบใดบ้าง?  

ขั้นตอนที่ 2: Define (การชี้/ระบุว่าประเด็นปัญหาคืออะไร และตั้งคำถามเพื่อสร้าง/พัฒนาทางแก้) 

พอเข้าใจใน ‘มนุษย์’ และ ‘พฤติกรรม’ ของมนุษย์แล้ว ก็ถึงเวลาที่จะตั้งคำถามเพื่อแก้ไขประเด็นปัญหาที่ค้นพบในขั้นตอนแรก การตั้งคำถามในแบบของ Design Thinking เป็นคำถามปลายเปิดเพื่อค้นหาและเสนอทางออกหลายๆ วิธี แทนที่จะเป็นคำถามที่ต้องการคำตอบว่าใช่หรือไม่ใช่เพียงอย่างเดียว เพราะวิธีการคิดแบบ Design Thinking มองว่าการถามว่าใช่หรือไม่ใช่ เป็นการจำกัดความเป็นไปได้ และไม่ได้สร้างให้เกิดสิ่งใหม่ๆ 

ส่วนตัวเรามองว่าการตั้งคำถามเป็นสิ่งที่ต้องให้ความสำคัญมากที่สุดในกระบวนการ Design Thinking เพราะถ้าเราตั้งคำถามผิด ก็เท่ากับเราเดินหลงทางตั้งแต่ยังไม่เริ่ม…  

ส่วนใหญ่เวลาตั้งคำถามแบบ Design Thinking มักเริ่มต้นประโยคด้วยคำว่า ‘How might we…?’ หรือ ‘เราจะ….. อย่างไร?’ ผู้ตอบจะได้แสดงความคิดเห็นได้อย่างหลากหลาย โดยไม่ต้องอายและไม่ต้องกลัวว่าจะตอบผิด เพราะสำหรับ Design Thinking แล้ว ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นไปได้เสมอ!

พอได้รับความคิดเห็นและคำตอบจำนวนหนึ่งแล้ว ก็จะเริ่มจัดคำตอบที่ใกล้เคียงกันให้อยู่กลุ่มเดียวกัน (Grouping) แล้วดูว่าคำตอบนั้นๆ มีส่วนที่เหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร สามารถนำมารวมกัน คิดตรงกันข้าม คิดสุดโต่ง หรือต่อยอดเพิ่มได้หรือไม่? อย่างไร? ในส่วนนี้จะเริ่มทำงานเป็นกลุ่ม โดยมากมักจัดแบ่งกลุ่มให้มีความหลากหลาย ทั้งในด้านความสนใจ ไปจนถึงทัศนคติ สิ่งที่จะทำในขั้นตอนต่อไปจะได้มีความครบถ้วนในหลายๆ ด้าน 

ขั้นตอนที่ 3: Develop (การออกแบบและพัฒนาวิธี/ทางแก้ไขปัญหา)

ขั้นตอนนี้เป็นการพัฒนาวิธีแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม จับต้องได้ แต่ไม่ได้เป็นการเสนอทางเลือก/ทางออกของปัญหาเพียงอย่างเดียว เราต้องสร้าง ‘ต้นแบบ’ ของวิธีการแก้ไขปัญหาหรือสิ่งที่เราเสนอด้วย เพื่อทดสอบว่าสิ่งที่เราคิดและพัฒนาขึ้นมานั้นใช้ได้จริงหรือไม่? อย่างไร? โดยในกลุ่มจะแบ่งหน้าที่กันตามความชอบ ความสนใจ หรือความถนัด ไม่เน้นการบังคับให้ทำงาน แต่ให้สมาชิกในกลุ่มเลือกกันเอง 

ทางแก้ไขปัญหาในแบบของ Design Thinking มีทั้งที่เป็นสินค้าที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้ใช้ แอปพลิเคชั่นที่ช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิต บริการใหม่ๆ เพื่อประชาชน ไปจนถึงนโยบายในการพัฒนาประเทศ 

สำหรับ Design Thinking แล้ว ไม่ว่าคำตอบจะเป็นอะไร ก็ไม่มีถูกหรือผิด แต่วัดกันที่ ‘ใช้ได้จริงและได้ผล’ หรือไม่? ผู้ตอบคำถามและผู้พัฒนาทางแก้ไขปัญหาจึงไม่ต้องรู้สึกกดดันว่าจะตอบผิด เพราะถ้าทางแก้ไขปัญหาใช้ไม่ได้ เราก็สามารถปรับปรุงและพัฒนาต่อไปเรื่อยๆ ได้ และเพื่อให้รู้ว่าใช้ได้ผลขนาดไหน ผู้ใช้รู้สึกอย่างไร จะมีการนำ ‘กลุ่มเป้าหมาย’ เข้ามาช่วยให้ความคิดเห็นในขั้นตอนนี้

ขั้นตอนที่ 4: Deliver (การลงมือแก้ไขปัญหาด้วยสิ่งที่พัฒนาขึ้นมา)

ขั้นตอนสุดท้ายคือการนำวิธี/ทางแก้ไขปัญหาที่พัฒนาขึ้นมาไปใช้จริง โดยมีการวัดผลเป็นระยะๆ จะได้พัฒนาศักยภาพของสิ่งที่เราค้นพบต่อๆ ไป หากผลลัพธ์หรือทางแก้ไขปัญหายังไม่น่าพึงพอใจ ต้องการพัฒนา หรือหาทางแก้ปัญหาที่แตกต่างออกไป ก็สามารถย้อนกลับไปทำซ้ำในขั้นตอนต่างๆ ได้ ขึ้นอยู่กับว่าต้องการปรับปรุงหรือพัฒนาในจุดไหน

สำหรับเรา Design Thinking ถูกออกแบบมาให้นำไปใช้ได้ไม่ยาก สนุก และได้ผลดี สิ่งสำคัญคือในระยะแรกต้องทำความเข้าใจ ฝึกใช้บ่อยๆ และไม่กลัวการตอบคำถามผิด 

เพราะจุดมุ่งหมายของ Design Thinking ไม่ใช่การวัดว่าคำตอบไหนผิดหรือถูก ใครเก่งหรือไม่เก่ง แต่เป็นการช่วยกันนำความคิดและความเป็นไปได้ไปพัฒนาให้เป็นทางแก้ไขปัญหาที่ตอบโจทย์ความต้องการของมนุษย์และผู้ใช้งานอย่างแท้จริง 

ครั้งหน้ามาดูตัวอย่างของการนำ Design Thinking ไปใช้งานกันนะคะ!


เครดิตภาพ

designkit.org

AUTHOR