‘การจัดดอกไม้คือการที่เรากำลังเล่นกับความตายของมัน’
ดาหลา บุปผา ฆาตกรรม หรือ Dalah: Death and the Flower ซีรีส์ Netflix Original ของไทย แนว Whodunit หรือสืบสวนสอบสวน อำนวยการสร้างโดย ‘คุ่น-ปราบดา หยุ่น’ นักเขียนรางวัลซีไรต์ และ ผู้กำกับ 2 สาว ‘ดรีม-ฐานิกา เจนเจษฎา’ และ ‘เอ-เอลิซ่า เปียง’
ในแง่เนื้อหาว่าด้วยเรื่องราวของดาหลา สาวนักจัดดอกไม้ผู้ลึกลับเข้าไปพัวพันกับการตายอย่างปริศนา นอกจากเรื่องราวการตามหาตัวฆาตกรตัวจริง ยังสอดแทรกความเท่าเทียมและการถูกกดทับในมิติต่างๆ โดยมีการนำปรัชญาของการจัดดอกไม้แบบอิเคบานะมาเปรียบเทียบความแตกต่างระหว่างชนชั้นของผู้มีอิทธิพลและผู้ที่อยู่ในสถานะด้อยกว่าทางสังคม
ในแง่ของภาพลักษณ์ ซีรีส์เรื่องนี้เป็นงานศิลปะที่ถูกวางแผนมาอย่างดี ไม่ว่าจะเป็น การใช้สีและลวดลายที่แฝงความหมาย การตัดต่อด้วยจังหวะการตัดดอกไม้ มุมกล้องและการจัดแสงที่สร้างบรรยากาศลึกลับ ไปจนถึงการออกแบบเสียงที่เล่นกับจิตใต้สำนึกของมนุษย์
เบื้องหลังการทำงานของซีรีส์ที่ใช้ดอกไม้เป็นกุญแจหลักในการไขคดีจะมีความน่าสนใจอย่างไรบ้าง ตามเราไปพูดคุยกับพวกเขาพร้อมๆ กัน

ดาหลา
ดาหลา เป็นดอกไม้ในโซนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีความลึกลับน่าสนใจ ด้วยรูปทรงเป็นเอกลักษณ์ กลีบสีสดซ้อนกันหลายชั้น เปรียบเหมือนตัวละคร ‘ดาหลา’ ผู้เป็นนักจัดดอกไม้ที่สวยสง่า แต่ก็มีความลับที่ซ่อนเร้นอยู่มากมาย
ดรีม: ดอกดาหลาเป็นดอกไม้ตระกูลขิง อยู่ในโซนภาคใต้บ้านเราที่มีความน่าสนใจมาก ถ้าไปดู Time lapse การเจริญเติบโตของดอกไม้ชนิดนี้จะไม่เหมือนดอกอื่นๆ มันมีความคืนคลานชูช่อขึ้นมา
คุ่น: ดาหลาเป็นชื่อตัวละครหลักที่คิดขึ้นมาตั้งแต่แรก เพราะเป็นดอกไม้ที่ดูมีความลึกลับน่าสนใจ การที่เราเลือกให้ตัวละครดาหลาเป็นนักจัดดอกไม้ (Floral Designer) เพราะอยากให้ตัวละครที่ไขคดีหรือสืบสวนในเรื่องนี้มีลักษณะพิเศษของตัวเอง มีวิธีมองโลกที่ต่างไปจากคนทั่วไป ส่วนใหญ่การจัดดอกไม้จะเป็นการคิดอยู่กับตัวเองคนเดียว มีการคิดทบทวน ไตร่ตรองต่างๆ ทำให้ตัวละครนี้มีความซับซ้อนในแง่ของบุคคลิก และตัวดาหลาเองก็มีความลับที่ปกปิดอยู่ มีอดีตที่ไม่มีใครรู้ด้วยเช่นกัน

เมื่อได้ไอเดียบทตั้งต้นว่าตัวละครหลักเป็นนักจัดดอกไม้ และมีเหตุการณ์ฆาตกรรมเกิดขึ้นระหว่าง 2 ครอบครัว หลังจากนั้นก็มีพี่ ‘อ้ำ-ฤทัยวรรณ วงศ์สิรสวัสดิ์’ และ ‘มุ้ย-อาทิชา ตันธนวิกรัย’ มาพัฒนาบทร่วมกันว่าเรื่องควรจะเกิดที่ไหน ตัวละคร 2 ครอบครัวนี้ควรจะเป็นใคร ใครควรจะเป็นคนที่ถูกฆ่า ใครควรจะเป็นฆาตกร มุ้ยก็จะมีประสบการณ์ตรงจากการเติบโตมาในครอบครัวคนจีน ส่วนพี่อั้มก็มีประสบการณ์ในการเขียนบทแบบ เลือดข้นคนจาง มาก่อน เราก็เอาทั้งหมดผสมผสานกันออกมาเป็นซีรีส์ 6 ตอน

วิถีแห่งอิเคบานะ
เมื่อแรงบันดาลใจมาจากนิยายสืบสวนคลาสสิก บวกกับความสนใจศิลปวัฒนธรรมญี่ปุ่น คอนเซปต์หลักของเรื่องจึงถือกำเนิดขึ้น นั่นคือการเอาความสนใจ 2 อย่างนี้มาผสมผสานกัน
คุ่น: ช่วงที่เราได้เวิร์กช็อปจัดดอกไม้อิเคบานะ ทำให้รู้วิธีคิดและหลักการต่างๆ เช่น วิธีการปักวางดอกไม้หรือการจัดชั้นความสัมพันธ์ของดอกไม้ต่างๆ ที่ไม่เหมือนกัน การจัดดอกไม้แบบอิเคบานะมันจะอิงอยู่กับปรัชญามากๆ ซึ่งเราอยากให้เป็นวิธีคิดของตัวละคร รู้สึกว่ามันเป็นศาสตร์ที่เหมาะกับคนที่จะสามารถใช้การสังเกตและไหวพริบในการสืบสวนเพื่อไขคดีบางอย่างได้ ซึ่งจะเห็นได้ว่าตัวละครดาหลาจะมีวิธีคิด มีการสังเกตรายละเอียด มีปรัชญาบางอย่างที่ไม่เหมือนกับคนอื่น

คนส่วนใหญ่มักจะคิดว่าการจัดดอกไม้คือกิจกรรมที่ละมุนละไม ต้องใช้ความอ่อนโยน แต่จริงๆ แล้วมันคือการตัดอันนี้ทิ้ง ดึงอันนี้ออก ถ้าเป็นเราก็จะอยากเก็บทุกอย่างไว้ แต่ความเป็นจริงคืออะไรไม่สวยก็ต้องทิ้ง เน้นความสวย เน้นภาพลักษณ์ ไม่ได้เน้นว่าต้องรักษาธรรมชาติไว้ ครูก็มักจะสอนว่าไม่ต้องกลัวที่จะทำร้ายมัน เราต้องทำร้ายมัน มันก็ดูมีความรุนแรงอยู่ในนั้นด้วย
ดรีม: มีประโยคหนึ่งจากในซีรีส์ที่บอกว่าจริงๆ แล้ว การจัดดอกไม้คือการยืดเวลาความตายออกไปให้อยู่ได้นานที่สุด อิเคบานะคือการจัดดอกไม้ที่พูดถึง harmony ต้องมีดอกเด่น ดอกรอบข้าง บางคนมองว่าการจัดดอกไม้ทุกอย่างจะสวยงาม แต่จริงๆ แล้วมันคือการฝืนธรรมชาติ การเข้าใจความตาย

อิเคบานะมีความเกี่ยวข้องกับศาสนาพุทธที่ญี่ปุ่น ซึ่งสำนักแรกๆ ก็คือพระ โดยเริ่มมาจากการจัดดอกไม้มาถวายบูชาทางศาสนา มีความเป็น ceremonial ตอนที่เราไปเรียนครูก็พูดถึงธรรมชาติ การยืดเวลาชีวิต เสียบยังไงให้อยู่ได้นาน แอบเซอร์ไพรส์เหมือนกันว่าการจัดดอกไม้มันเกี่ยวกับความตายมากกว่าที่คิด และ morbid ขนาดนี้
เอ: การที่เราตัดดอกไม้ออกจากต้น ตอนนั้นมันตายแล้ว แต่การจัดดอกไม้คือการที่เรากำลังเล่นกับความตายของมัน

ความหลากหลายของสปีชีส์
เรามักจะเห็นการเปรียบเทียบผู้หญิงกับดอกไม้ แต่สำหรับเรื่องนี้ดอกไม้เปรียบเสมือนคนในสังคมที่มีนิสัยแตกต่างกัน และพยายามต่อสู้ดิ้นรนในสภาวะแวดล้อมที่มีทรัพยากรอย่างจำกัด
ดรีม: พี่คุ่นอยากทำเกี่ยวกับฆาตกรรม ผู้หญิง และดอกไม้ แน่นอนว่าการที่เลือก Topic ดอกไม้ มันก็ช่วยเสริมเรื่องเฟมินิสต์ต่างๆ แต่ถ้าลึกไปมากกว่านั้น คือการที่เอาผู้หญิงไปเปรียบกับดอกไม้ แต่เราไม่ได้พูดแค่เรื่องดอกไม้กับผู้หญิง เพราะเรามองว่าทุกอย่างเป็น ecosystem เดียวกัน จริงๆ แล้วดอกไม้ก็คือคนในสังคมที่มีนิสัยแตกต่างกัน พยายามที่จะต่อสู้ดิ้นรนในสภาวะแวดล้อมเพื่อที่จะได้แสงและให้ตัวเองตายช้าที่สุด
เอ: จริงๆ แล้วเฟมินิสต์หรือเรื่องเพศก็มีวิวัฒนาการในช่วงเวลาที่ไม่เหมือนกัน ในประวัติศาสตร์บางอารยธรรมก็เคยมียุคที่ผู้หญิงใหญ่กว่าผู้ชายหรือผู้ชายใหญ่กว่าผู้หญิง สิ่งที่เราพยายามใส่เข้าไปในเรื่องนี้คือความร่วมสมัย ยุคที่ผู้หญิงมีสิทธิ์มีเสียง แต่เมื่อมีคนแย่งชิงก็จะมีคนสู้ขึ้นมาอีก เพราะนี่คือธรรมชาติ
ดรีม: ที่ผ่านมาเราอาจจะเห็นคนที่ซัปพอร์ต faminism ในมุมเดียวซะส่วนใหญ่ บางคนก็ใช้ faminism เป็นเครื่องมือเพื่อที่จะเอาเปรียบอะไรบางอย่าง เพื่อที่จะให้ได้มาในสิ่งที่ตัวเองอยากได้ แม้กระทั่งผู้หญิงเองก็ใช้เช่นกัน เพราะฉะนั้นก็จะเห็นได้ว่าตัว faminism มันก็เป็นดาบสองคม

องค์ประกอบศิลป์ที่เลียนแบบธรรมชาติ
สิ่งที่น่าสนใจไม่แพ้กันคืองานอาร์ต ที่ทำให้ภาพรวมออกมาดูแปลกใหม่ไม่ซ้ำใคร ตั้งแต่มุมกล้องที่มีการเล่นกับตัวละคร การตัดต่อด้วยจังหวะการตัดดอกไม้ การจัดแสงที่สร้างบรรยากาศให้ดูลึกลับ ไปจนถึงการออกแบบเสียงที่เล่นกับจิตใต้สำนึกของมนุษย์
ดรีม: กลไกของซีรีส์คือทุกคนเป็น ecosystem ในป่าหรือธรรมชาติที่เต็มไปด้วยความหลากหลายสปีชีส์ของพันธุ์ไม้ เราก็จะมีการตีความเรื่องภาพ เรื่องสีว่าตัวละครของแต่ละบ้านเมื่อเทียบกับสภาพแวดล้อมควรเป็นยังไง
เอ: อย่างเช่น ‘สตูดิโอดาหลา’ ก็จะมีความเป็นถ้ำ มี movement อยู่ตลอดเวลา มีดอกไม้ที่คืบคลาน ‘บ้านเอื้อเทพา’ เป็นป่าดงดิบที่มีบ่อน้ำอยู่ตรงกลางสีน้ำเงิน ‘บ้านตั้งสินทรัพย์’ ให้ความรู้สึกเหมือนเป็นหน้าผา เราได้แรงบันดาลใจมาจากภาพวาดจีนที่มีภูเขา หิน ดอกกุหลาบ ของในบ้านก็เลยต้องเซ็ตไปทางนั้น


ดรีม: ส่วนมู้ดแอนด์โทนเราอยากให้ไปทางฟิล์มนัวร์ (Film Noir) มีความ Femme fatale และดาร์กกว่าซีรีส์ทั่วไป อยากให้มัน cinematic เหมือนหนัง กล้องมีการสวิตช์ไปมาเล่นกับคาแรกเตอร์ของดาหลาที่เป็นคนขี้สงสัยและ awkward ประมาณหนึ่ง เป็นความตั้งใจที่อยากให้มุมภาพสะท้อนกับความคิดและความรู้สึกของคาแรกเตอร์ที่เป็นนักจัดดอกไม้อย่างช่ำชอง พี่คุ่นก็ชอบที่กล้องไม่ได้จ่ออยู่นิ่ง เพราะมันทำให้เห็น movement ของตัวละคร

คุ่น: เราอยากเอาศิลปะของการจัดดอกไม้ในแต่ละขั้นตอนเข้าไปอยู่ในการตัดต่อด้วย อย่างเช่น การตัดกิ่งก้านก็จะมีจังหวะต่างๆ เพราะเราอยากให้สิ่งนี้สื่อออกมาทางภาพ ซึ่งถ้าสังเกตตอนเริ่มต้นของแต่ละอีพี ก็จะมีดอกไม้และวิธีการจัดการกับดอกไม้ที่ต่างกัน เพื่อนำเสนอว่าเรากำลังจะพูดเรื่องอะไร
จริงๆ แล้ว สตูดิดิโอดาหลาต้องเซ็ตขึ้นใหม่มาจากโรงที่มีอยู่จริง ความยากคือคนที่ดูแลดอกไม้เขาต้องวางแผน ดอกไม้มาจากเมืองไหน แล้วพรุ่งนี้มันจะเหี่ยวไหม เขาต้องเอามาเปลี่ยน ช่วงที่เราถ่ายสตูดิโอนั้นก็มีการเปลี่ยนดอกไม้อยู่ตลอดเวลา แอร์ต้องเปิดทั้งวัน เพื่อให้มันยังคงสภาพเหมือนเดิม

เอ: ในพาร์ตของเสื้อผ้าและการแต่งหน้า สำหรับผู้หญิงมันคืออาวุธ ซึ่งก็จะเป็นเหตุผลว่าทำไมดาหลาต้องปากแดง วันนี้ฉันไปเจอใคร ฉันต้องฟาดสีแบบไหน ทำไมถึงใส่เสื้อผ้าแบบนั้น เพราะจริงๆ แล้วเขาก็เอาชุดแม่มาใส่ ทุกอย่างมันจะมี logic ของเขาอยู่

ดรีม: ด้วยความที่เราอยากเล่าการถูกกดทับด้วยธรรมชาติ เราทำ moodboard ของตัวละครว่ามีสีอะไรบ้าง แล้วแต่ละสีมัน represent อะไร ใครไปกดทับใคร แล้วเขาไปกดทับใครต่อ รวมออกมาแล้วกลายเป็นสีไหนมันก็จะติดอยู่ในเสื้อผ้าของตัวละครเหล่านั้น รวมทั้งลายดอกไม้ต่างๆ อย่าง ริสา (รับบทโดย แพต-ชญานิษฐ์ ชาญสง่าเวช) อาจจะอาศัยลายดอกไม้เยอะหน่อย เพื่อที่จะซ่อนว่าเขาเป็นดอกไม้ที่ถูกกดทับด้วยผู้ชายบ้าง ด้วยผู้หญิงกันเองบ้าง
เอ: เราวางแผนกันเยอะมากๆ การสื่อสารจึงสำคัญมาก เราทำสตอรี่บอร์ดกันค่อนข้างละเอียด ซึ่งก็ช่วยได้เยอะในการทำงาน ช่วงที่ตื่นเต้นที่สุดคือ pre-production เหมือนทุกคนช่วยกันเนรมิตขึ้นมาได้หมดเลย นี่คือ cinema magic ของ production design ที่เรารู้สึกว่ามันเจ๋งมาก

ดรีม: ส่วนพาร์ตของ sound design ตอนแรกเรารู้สึกว่ายังขาดความ psychological บางอย่าง เราอยากทำให้มัน thriller ขึ้น ฟังแล้วมีคำถามในเชิงลึกขึ้น เพราะอยากดึงดูดความสนใจคนดูในแต่ละตอน อย่างเช่น ตอนนี้เราจะให้เบาะแสสำคัญ หรือการบอกถึงตัวละครที่กำลังมีเงื่อนงำอะไรในใจ เขากำลังโดนใครกดอยู่ หรือเขาไปกดใครอยู่ ส่วนใหญ่มันจะเป็นเสียงสภาวะจิตใต้สำนึกของมนุษย์
ช่วง post-production เราอดหลับอดนอน ทำงานเวลาแปลกมาก แต่ก็มีไอเดียหลายอย่างในการตัดต่อ มีการเปลี่ยนสคริปต์บ้างเพื่อทำให้ซีรีส์เข้มข้นขึ้น เหมือนคลอดลูกออกมาในแบบที่ไม่ได้คาดคิดมาก่อนว่าจะมาทางนี้ได้ ซึ่งพวกเราก็ได้เรียนรู้อะไรใหม่ๆ กันเยอะมาก
