ซีรีส์อนาฅตซึ่งฉีกกฎการเวียนว่ายตายเกิด การแสดงครั้งใหม่ที่ทำให้ ‘อิ้งค์ วรันธร’ ได้ค้นพบคำตอบของชีวิต

“ทุกคนมีสิทธิในเรือนร่างและตัวตนของตัวเอง ไม่ว่าจะยังมีชีวิตอยู่ หรือจากโลกนี้ไปแล้ว ในปัจจุบัน หลายคนเริ่มวางแผนชีวิตหลังความตายของตัวเองไว้ล่วงหน้า ต่อให้ในอนาคต การโคลนนิ่งมนุษย์จะถูกกฎหมาย และมีการยืนยันจากหลายภาคส่วน เราก็ยังอยากให้มีการเซ็นยินยอม และถามความสมัครใจของเจ้าตัวก่อน ไม่ใช่โคลนนิ่งเรากลับมา ทั้งที่เราไม่ต้องการ”

‘อนาฅต’ ซีรีส์ Netflix Original เรื่องสุดท้ายของปี 2024 เล่าถึงโลกอนาคตที่ความเชื่อทางศีลธรรม และขนบธรรมเนียมฉบับไทยถูกสั่นคลอนด้วยความก้าวหน้าของเทคโนโลยีล้ำยุค ผ่านเรื่องราว 4 ตอน 4 ประเด็น ได้แก่ นิราศแกะดำ (Black Sheep) ศาสดาต้า (Buddha Data) เด็กหญิงปลาหมึก (Octopus Girl) และเทคโนโยนี (Paradistopia)

ตอน นิราศแกะดำ (Black Sheep) นับเป็นการฉีกกฎวัฏสงสาร หรือแนวคิดการเวียนว่ายตายเกิด ตามหลักพระพุทธศาสนา โดยเรื่องราวทั้งหมดเริ่มต้นขึ้นเมื่อ ‘หมอนุ่น’ (รับบทโดย อิ้งค์ วรันธร) แพทย์และนักบินอวกาศหญิงเสียชีวิตลง เพราะเดินทางไปทดลองสร้างหัวใจเทียมบนอวกาศ ทำให้ ‘นนท์’ (รับบทโดย บอย ปกรณ์) สามีของเธอตัดสินใจโคลนนิ่งคนรักให้กลับมามีชีวิตอีกครั้งหนึ่ง

คอลัมน์ Artist Talk จึงชวน ‘อิ้งค์-วรันธร เปานิล’ หนึ่งในนักแสดงหลักจากซีรีส์เรื่องนี้ มาค้นหากุญแจสำคัญที่ซ่อนอยู่ในตอน นิราศแกะดำ (Black Sheep) บอกเล่าประเด็นซึ่งอยากถ่ายทอดสู่สังคม พร้อมพูดคุยถึงความหมายของการเป็นนักแสดง และเส้นทางต่อไปในอนาคตของศิลปินมากความสามารถคนนี้

ซีรีส์ อนาฅต พา ‘อิ้งค์ วรันธร’ ไปพบเจอสภาวะใหม่ที่ไม่เคยสัมผัสมาก่อนในฐานะนักแสดง อีกทั้งยังทำให้เธอได้ทบทวนและตกตะกอนบทเรียนชีวิตหลากหลายแง่มุม แท้จริงแล้ว ซีรีส์เรื่องนี้พิเศษอย่างไร? มาเดินทางข้ามวัฏสงสารด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ เพื่อปลดล็อกคำถามในใจไปพร้อมกัน

‘อิ้งค์ วรันธร’ ในบทบาทนักแสดง

ถ้าการร้องเพลงคือแพสชัน แล้ว ‘การแสดง’ มีความหมายต่อคุณอย่างไร?

หลังออกจากวงเกิร์ลกรุ๊ป Chilli White Choc สังกัด KamiKaze อิ้งค์เคยเล่นภาพยนตร์เรื่อง Snap แค่…ได้คิดถึง ก่อนจะกลับมาเป็นศิลปินอีกครั้งในนาม ‘อิ้งค์ วรันธร’ เพราะมองการแสดงเป็นสิ่งที่ชอบ แต่ความฝันคือการเป็นศิลปิน จึงพยายามทําพาร์ตศิลปินให้ดีที่สุด และอยากให้คนอื่นนึกถึง ‘อิ้งค์ วรันธร’ ในบทบาทการเป็นศิลปินมากกว่านักแสดง

แต่การเป็นนักแสดง ซึ่งต้องรับบทบาทตัวละครหนึ่ง ทําให้เราได้ทบทวนตัวเอง และสำรวจอารมณ์ความรู้สึกที่ไม่เกิดขึ้นในชีวิตประจําวันของศิลปิน หลังจากการถ่ายทำเสร็จสิ้น เรามักได้รับบทเรียนหรือข้อคิดบางอย่างจากตัวละครกลับมาเสมอ เช่น ภาพยนตร์เรื่อง แอน (Faces of Anne) ในชีวิตจริง เราไม่มีทางอยู่ในภาวะความกลัวหรือความเครียดมากเท่าในหนัง แต่เมื่อรับบทตัวละครนี้ ทำให้เรามองเห็นตัวเองในอีกมิติหนึ่ง และสัมผัสความรู้สึกที่ไม่เคยรู้สึกมาก่อน

ตัวละคร ‘หมอนุ่น’ ใน นิราศแกะดำ ทำให้เราได้ทบทวนตัวเองหลายอย่างเช่นกัน เพราะตัวละครนี้แตกต่างกับตัวตนจริงของอิ้งค์โดยสิ้นเชิง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอาชีพ ทัศนคติ และการเติบโต ทำให้เราได้รับรู้มุมมองอื่น และเข้าใจความรู้สึกของคนที่มีความคิดแบบหมอนุ่นมากขึ้น

สิ่งที่แตกต่างคือ ‘การตัดสินใจ’ ถ้าพบเจอเหตุการณ์เดียวกัน อิ้งค์ วรันธรจะตัดสินใจแบบหนึ่ง ส่วนหมอนุ่นจะตัดสินใจอีกแบบหนึ่ง เพราะ ‘หมอนุ่น’ คือคุณหมอและนักบินอวกาศหญิงคนแรกของไทยที่สามารถขึ้นไปทํา 3D Printing อวัยวะหัวใจบนยานอวกาศ เธอทุ่มเทหลายอย่างเพื่อทำสิ่งที่ยิ่งใหญ่ เมื่อมองย้อนกลับมาที่ตัวเอง ทำให้เรารู้ว่า การตัดสินใจของเราไม่ได้เด็ดเดี่ยวเท่าหมอนุ่น หรือแม้แต่มุมมองการใช้ชีวิตก็ต่างกัน ถ้ามีปัญหาเกิดขึ้น อิ้งค์จะชอบพูดคุย เพื่อให้อีกฝ่ายเข้าใจในมุมของเรา แต่หมอนุ่นจะตัดสินใจอย่างเด็ดขาด หรือหันเหความต้องการอย่างไม่ลังเล หมอนุ่นจึงมีความแกร่งกว่าอิ้งค์ วรันธร

คุณทำงานด้านการแสดงมาประมาณหนึ่ง คิดว่าเอกลักษณ์ด้านการแสดงของตัวเองคืออะไร?

คิดว่าเอกลักษณ์ด้านการแสดงคือ ‘ความจริงใจ’ แน่นอนว่า เราต้องสวมบทบาทเป็นตัวละครนั้นๆ แต่อิ้งค์จะพยายามเป็นธรรมชาติที่สุด โดยใส่ความรู้สึกจริงเข้าไปด้วย เพราะไม่อยากบังคับตัวเองให้กลายเป็นคนอื่น 100 เปอร์เซ็นต์ ดังนั้น ถ้ารับงานแสดงเรื่องหนึ่งแล้ว เราจะใช้เวลาในการศึกษาและเรียนรู้ตัวละครค่อนข้างนาน แต่จริงๆ คำถามนี้ เราอยากให้ผู้ชมช่วยตัดสินมากกว่า

ตัวตน ‘ศิลปิน’ ช่วยส่งเสริมการทำงานด้านการแสดงไหม?

สำหรับอิ้งค์ มองว่าการทำงาน 2 ส่วนนี้ไม่เกี่ยวข้องกันเลย เนื่องจากรูปแบบการทำงานและกระบวนการคิดแตกต่างกัน เมื่อเราเดินเข้าไปเป็นตัวละครใดตัวละครหนึ่งแล้ว ณ สถานที่นั้นมีแค่เรา นักแสดงร่วม และทีมงานเบื้องหลัง ซึ่งไม่ใช่ตัวตนของศิลปินที่ยืนร้องเพลงบนเวทีต่อหน้าผู้คนจำนวนมาก 

อีกทั้ง การสื่อสารอารมณ์สู่ผู้ชมยังต่างกัน เพราะการแสดงมีองค์ประกอบการสื่อสารหลายส่วน ทั้งภาพและเสียง แต่ศิลปินจะถ่ายทอดความรู้สึกผ่านเสียงเพลง บางครั้งผู้ฟังไม่ได้ต้องการภาพ แต่ต้องการเสียงเพลงไปทดแทนภาพในความคิดของเขา เพราะเพลงคือการแชร์ประสบการณ์ร่วม เช่น คนเรามีเรื่องราวการอกหักไม่เหมือนกัน แต่สามารถมีอารมณ์ร่วมในเพลงเดียวกันได้ เนื่องจากผู้ฟังนำความรู้สึกและความทรงจําของตัวเองมาทดแทนในเพลงแต่ละส่วน

‘หมอนุ่น’ ซีรีส์อนาฅต

ทำไมจึงตัดสินใจรับแสดงบทบาท ‘นุ่น’ ในซีรีส์อนาฅต?

เนื่องด้วยเหตุผลต่างๆ ทั้งบทซีรีส์ ผู้กำกับ และนักแสดงร่วม ทำให้อิ้งค์ไม่อยากพลาดโปรเจกต์นี้ จริงๆ มีงานแสดงติดต่อมาตลอด แต่เราจะพิจารณาจาก 2 ปัจจัยหลักคือ เวลาและความต้องการของเรา เมื่ออ่านบทและเรื่องย่อของซีรีส์อนาฅตแล้ว เรารู้สึกว่าซีรีส์เรื่องนี้แตกต่างจากซีรีส์ไทยที่ผ่านมา สิ่งที่น่าสนใจคือ ‘บทบาทที่ท้าทาย’ เพราะเราชอบตัวละครที่ไม่มีจุดร่วมกับตัวเอง

นอกจากนี้ เรายังนับถือในแพสชันของ ‘พี่กอล์ฟ-ปวีณ ภูริจิตปัญญา’ ผู้กำกับซีรีส์อนาฅต ซึ่งชอบทำสิ่งล้ำยุคล้ำสมัยมาโดยตลอด เมื่อประมาณ 10 ปีที่แล้ว พี่กอล์ฟเคยกำกับ MV เพลงแรกในฐานะเกิร์ลกรุ๊ปของอิ้งค์ ตอนนั้นเขาให้อิ้งค์เล่นกับ Green Screen ทั้งวัน จนปัจจุบันนี้ เขาก็ยังมีแพสชันเรื่อง Sci-fi และเทคโนโลยี 

ทำไมจึงชื่อตอนว่า ‘นิราศแกะดำ’ มีความหมายแฝงอย่างไร?

ตอน ‘นิราศแกะดำ’ เกี่ยวข้องกับการโคลนนิ่งมนุษย์ ซึ่งแกะคือสัตว์ชนิดแรกที่มนุษย์สามารถโคลนนิ่งได้ แต่ ‘ความแกะดํา’ จะเชื่อมโยงกับซีรีส์อย่างไร อยากให้ทุกคนรอชม เพราะอิ้งค์ยังบอกรายละเอียดไม่ได้จริงๆ (หัวเราะ) แต่มั่นใจว่า ถ้าทุกคนได้ดูซีรีส์ตอนนี้แล้ว จะต้องรู้สึกเหมือนกันว่า ‘เฮ้ย มันต้องชื่อนี้แหละ

คุณเคยรู้สึกว่าตัวเองเป็น ‘แกะดำ’ ที่เดินสวนทางกับคนส่วนใหญ่ไหม?

เคยรู้สึกว่าตัวเองเป็น ‘แกะดำ’ ในช่วงมัธยม ซึ่งคือวัยที่กำลังค้นหาตัวเอง เพราะในสังคมไทย เด็กเรียนดีคือคนที่ได้เกรดสูง และถนัดวิชาวิทย์-คณิต แต่เราไม่เก่งเรื่องวิชาการเลย ตอนนั้นจึงรู้สึกแย่และตั้งคำถามกับตัวเองว่า ‘นี่เราไม่เก่งจริงๆ เหรอ?’ แต่เมื่อเวลาผ่านไป เราก็เข้าใจโลกมากขึ้นว่า คนเราไม่จำเป็นต้องเก่งเหมือนกัน เรายังคงมุ่งมั่นกับการร้องเพลงไปเรื่อยๆ จนเริ่มเห็นความสามารถของตัวเองชัดเจนขึ้น โดยไม่ได้เอาตัวเองไปเปรียบเทียบกับบรรทัดฐานของการศึกษาไทย สุดท้ายแล้ว เรามีความสุขกับสิ่งที่ทําจริงๆ และได้เรียนต่อในคณะที่ชอบ 

“ความรู้สึกของการเป็นแกะดำ ณ วันนั้น อาจเกิดขึ้นจากสังคมรอบตัว”

จริงๆ แล้ว อิ้งค์เป็นคนมีความคิดเป็นของตัวเองค่อนข้างสูง ตอนทำงานพาร์ตศิลปิน เราจะมีภาพในหัว ความต้องการ และจุดมุ่งหมายของตัวเอง บางครั้งถ้าทุกคนเห็นด้วยกับความคิดฝั่งเดียว เราจะไม่ไหลตามสังคม แต่ชอบตั้งคำถามกับประเด็นนั้น แล้วพูดคุยกับคนอื่น เพื่อทำความเข้าใจระหว่าง 2 ฝ่าย หรือหาจุดสมดุลกึ่งกลาง อิ้งค์ไม่แน่ใจว่านี่คือ ‘แกะดำ’ ไหม

ตัวละคร ‘นุ่น’ สำคัญต่อเรื่องนี้อย่างไร และพยายามสื่อสารประเด็นใดต่อสังคม?

‘หมอนุ่น’ เป็นตัวละครที่ทําให้เกิดเรื่องราวต่างๆ ขึ้น เนื่องจากเธอเสียชีวิตจากอุบัติเหตุ ขณะเดินทางกลับจากอวกาศ นนท์ผู้เป็นสามี (รับบทโดย บอย ปกรณ์) จึงพยายามทําทุกวิถีทางเพื่อให้นุ่นกลับมาในรูปแบบของ ‘การโคลนนิ่ง’ ตัวละครนุ่นถือเป็นกุญแจสำคัญที่กำหนดทิศทางของซีรีส์เลยก็ว่าได้ เพราะการตัดสินใจในอดีตของหมอนุ่น จะส่งผลกระทบต่อการกระทำในอนาคตของนนท์ 

ผู้ชมบางคนอาจเคยเผชิญสถานการณ์แบบหมอนุ่น หรือบางคนอาจไม่เห็นด้วยกับการกระทําของตัวละครนี้ สิ่งที่ตัวละคร ‘หมอนุ่น’ พยายามสื่อสารกับสังคมคือ การตั้งคําถามกลับไปที่ผู้ชมว่า ถ้าคุณอยู่ในโลกอนาคตที่สามารถโคลนนิ่งมนุษย์ได้แล้ว คุณจะตัดสินใจอย่างไร และเลือกให้คนรักกลับมาไหม?

ถ้าถึงช่วงเวลาสุดท้ายของชีวิตแล้ว อยากให้คนรักโคลนนิ่งร่างตัวเองไหม?

เราไม่รู้ว่าในอนาคต การโคลนนิ่งมนุษย์จะเป็นอย่างไร แต่ถ้าถาม ณ วันนี้ อิ้งค์ไม่อยาก เพราะตัวเองและคนรอบตัวมีความสุขแล้ว รวมถึงมองว่า อีก 100 ปีข้างหน้าก็ไม่มีใครจําเราได้แล้ว ทุกคนกําลังอยู่ในช่วงเวลาของตัวเอง และพยายามทําทุกช่วงเวลาให้ดีที่สุด จึงไม่อยากให้แฟนโคลนนิ่งตัวเรากลับมา ต่อให้ในอนาคต การโคลนนิ่งมนุษย์จะถูกกฎหมาย และมีการยืนยันจากหลายภาคส่วน เราก็ยังอยากให้มีการเซ็นยินยอม และถามความสมัครใจของเจ้าตัวก่อน ไม่ใช่โคลนนิ่งเรากลับมา ทั้งที่เราไม่ต้องการ

“ตอนนี้กําลังมีความสุขกับช่วงเวลาของตัวเอง ส่วนช่วงเวลาข้างหน้าคือสิ่งที่เราอยากทิ้งไว้ให้กับคนอื่นมากกว่า”

คิดว่า ‘ผู้เสียชีวิต’ ควรมีสิทธิในเรือนร่างและตัวตนของตัวเองไหม?

‘ผู้เสียชีวิต’ ควรมีสิทธิในเรือนร่างและตัวตนของตัวเอง เพราะทุกคนมีสิทธิเลือกทุกอย่างในชีวิตตนเอง ไม่ว่าจะยังมีชีวิตอยู่ หรือจากโลกนี้ไปแล้ว ในปัจจุบัน หลายคนเริ่มวางแผนการตาย ว่าเขาจะตายอย่างไร หรืออยากจัดงานศพแบบไหน เช่น ตอนจัดงานศพให้ย่า เราอยากรู้ว่า ย่าอยากได้ดอกไม้สีอะไร แต่เราก็ถามไม่ได้แล้ว เพราะฉะนั้น ทุกคนมีสิทธิคิดและวางแผนชีวิตหลังความตายของตัวเองไว้ล่วงหน้า

ถ้าสามารถพาคนที่รักกลับมาได้ คุณอยากพาใครกลับมามากที่สุด?

ตอนนี้ไม่อยากพาใครกลับมาเลย เพราะทุกคนมีสิทธิที่จะเลือกว่า อยากกลับมามีชีวิตหรือไม่ บางทีเขาอาจจะไม่อยากกลับมาก็ได้ ยิ่งเป็นคนที่เรารัก เราเคยเห็นเขาเจ็บปวดก่อนเสียชีวิตไปแล้วครั้งหนึ่ง เราคงทำใจไม่ได้ที่จะต้องเห็นภาพนั้นอีกครั้ง ซึ่งตัวเขาเองก็น่าจะไม่อยากกลับมาเจ็บปวดเช่นกัน

คุณได้เรียนรู้แง่คิดเรื่องอะไรจากการแสดงครั้งนี้บ้าง?

“ตัวละคร ‘หมอนุ่น’ สามารถสร้างแรงบันดาลใจให้ใครหลายคน เพราะเป็นนักบินอวกาศหญิงคนแรกของไทย นับเป็นความภูมิใจของคนไทย เขายิ่งใหญ่มากในสายตาของอิ้งค์”

3 สิ่งที่ได้เรียนรู้มากที่สุด ข้อแรกคือ การเข้าใจ ‘ความแตกต่าง’ ในหลากหลายแง่มุม เพราะบทซีรีส์เป็นเรื่องไกลตัว ส่วนข้อที่ 2 คือ การซึมซับ ‘ความเข้มแข็ง’ จากตัวละครหมอนุ่น ซึ่งไม่ได้แสดงออกอย่างตรงไปตรงมา แต่เธอใช้ความเข้มแข็งทั้งหมดของตัวเองทุ่มเทให้กับอะไรบางอย่าง 

จริงๆ แล้ว คนเราอาจจะต้องเปิดโหมดนั้นบ้างในชีวิต แม้เราจะไม่ได้ทำในสิ่งที่ต้องการ แต่เราสามารถทําในสิ่งที่ถนัดให้ดีที่สุด เพื่อพาตัวเองไปสู่จุดที่สูงกว่าเดิม ในทางกลับกัน ทําให้มองย้อนกลับมาที่ตัวเองว่า เราโชคดีที่ได้ทําในสิ่งที่ชอบ จึงอยากทําให้ดีที่สุด เพราะหลายคนก็ไม่ได้โชคดีแบบเรา

แง่คิดข้อสุดท้ายคือ การนับถือ ‘ความรัก’ ของนนท์ที่มีให้กับหมอนุ่น เพราะ ‘นนท์’ คือคนที่เสียสละและเปิดกว้างมาก หลายคนอาจจะมองว่า เขาเห็นแก่ตัวที่อยากให้ภรรยากลับมามีชีวิตอีกครั้ง แต่อิ้งค์คิดว่า มันเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ นนท์ปล่อยให้หมอนุ่นไปทำตามความฝัน และเฝ้ารอคอยเธอถึง 3 ปี แต่ท้ายที่สุด คนรักกลับมาไม่ได้อีกแล้ว จึงไม่แปลกที่นนท์จะสติแตก 

การตัดสินใจของนนท์อาจจะไม่ถูกต้องทั้งหมด แต่เขาเห็นโอกาสในการพาคนรักกลับมา เขาจึงอยากทำการโคลนนิ่ง แต่นอกเหนือจากประเด็นนี้ ยังมีเรื่องราวอีกมากมายที่สะท้อนให้เห็นว่า ความรักของนนท์น่านับถือแค่ไหน

ทำงานร่วมกับ ‘บอย ปกรณ์’ ครั้งแรกเป็นอย่างไรบ้าง?

เรารู้จักพี่บอยในฐานะพี่น้องมานานแล้ว แต่ครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่ได้ร่วมงานกัน ทำให้ได้เห็นพี่บอยในโหมดทํางาน และในบทบาทที่ไม่เคยเห็นมาก่อน เขาได้ใจอิ้งค์นะ เขาตั้งใจทํางาน และทุ่มเทกับตัวละครนนท์มาก พี่บอยเป็นนักแสดงที่เก่ง และเป็นพาร์ตเนอร์ที่ดีจริงๆ แม้จะชอบแกล้งอิ้งค์ก็ตาม (หัวเราะ)

อนาคตของศิลปินวัย 30

วัฏจักรชีวิตสำหรับคุณเป็นอย่างไร ประกอบด้วยลำดับขั้นอะไรบ้าง?

คิดว่า ‘วัฏจักรชีวิต’ ของอิ้งค์คือการเวียนว่ายตายเกิดเหมือนกัน ซึ่งปรับใช้ได้กับทุกเรื่องในชีวิต เช่น การทำเพลงหนึ่งเริ่มต้นจากไอเดียที่เกิดขึ้น จากนั้นอาจเวียนว่ายไปในจุดที่ดีหรือแย่มากก็ได้ ไม่ว่าผลลัพธ์จะเป็นอย่างไร สุดท้ายมันจะผ่านไป และวัฏจักรของเพลงนี้ก็จบลง เราต้องค้นหาแรงบันดาลใจใหม่ๆ และดำเนินตามวัฏจักรเดิมต่อไป อิ้งค์พยายามเปลี่ยนมาใช้วิธีคิดนี้ เพราะหากความทุกข์เกิดขึ้นมา เราจะได้มีสติรู้ตัวว่า สุดท้ายความทุกข์นี้จะเวียนว่ายและหายไป ซึ่งความทุกข์อาจกลับมาอีกครั้งในเรื่องอื่นๆ 

“แนวคิดนี้ทําให้อิ้งค์มองความทุกข์สั้นลง ในขณะเดียวกัน มองความสุขอย่างธรรมดามากขึ้น เพราะความสุขไม่ได้คงอยู่กับเราตลอดไป”

คุณคลุกคลีกับวงการบันเทิงมาตั้งแต่เด็กๆ สิ่งที่ตกตะกอนได้จากการทำงานที่ผ่านมาคืออะไร?

  คนอื่นอาจจะเห็นภาพความสำเร็จเบื้องหน้า เช่น การทำเพลงซึ่งใช้เวลาเป็นเดือน แต่ทุกคนได้ฟังเพียง 3 นาที สิ่งที่เราตกตะกอนได้จากการทำงานที่ผ่านมาคือ การมองเห็นความยากลำบากในการทำงาน ไม่ใช่แค่สำหรับตัวเรา แต่รวมไปถึงทีมงานด้วย ความทรงจำที่ดีที่สุดในทุกผลงานเกิดขึ้นจาก ‘ระหว่างทาง’ ก่อนจะไปถึงผลลัพธ์ปลายทาง เพราะเราได้พบเจอคนใหม่ๆ และเรียนรู้ประสบการณ์จากพวกเขา 

เรามองเห็นคุณค่าในการทำงานมากขึ้น เพราะเราไม่ได้ทำเพื่อตัวเองคนเดียว แต่ทำเพื่อทีมงานเบื้องหลังด้วย เขาเตรียมงานกันนานมาก แลกกับ 3 นาทีในเพลง หรือ 3 ชั่วโมงบนเวทีของเรา รู้สึกขอบคุณทุกคนที่ช่วยผลักดันให้อิ้งค์มาถึงจุดนี้ ทีมงานเบื้องหลังทำให้อิ้งค์สามารถออกไปร้องเพลงบนเวทีให้ทุกคนได้ฟัง

จากเด็กที่รักเสียงเพลง สู่ศิลปินมากประสบการณ์ แม้เวลาจะผ่านไป แต่สิ่งที่ไม่เคยหายไปจากตัวตน ‘อิ้งค์ วรันธร’ คืออะไร?

สิ่งที่ไม่เคยหายไปจากตัวตนอิ้งค์ วรันธร น่าจะเป็นเรื่อง ‘ความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น’ เมื่อก่อนเรามองนิสัยนี้เป็นข้อเสีย และตั้งคำถามกับตัวเองว่า เราพยายามเข้าใจคนอื่นมากเกินไปหรือเปล่า? เพราะท้ายที่สุด เราคือคนที่เครียดมากกว่าเดิม แต่การถามไถ่ พูดคุย รวมถึงพยายามทำความเข้าใจผู้อื่น ทำให้เราได้ใกล้ชิดกับคนรอบข้างและเพื่อนร่วมงานมากขึ้น จนตอนนี้มันกลายเป็นข้อดีสำหรับอิ้งค์ เพราะมีหลายคนเดินเข้ามาบอกกับเราว่า “วันนี้ขอบคุณนะที่ถาม”

นิสัยนี้ทำให้เราจริงใจกับการทำงานมากขึ้นด้วย ไม่ใช่แค่ทำให้เสร็จ แต่เราจะคิดเผื่อทุกฝ่าย ทั้งทีมงาน ผู้ฟัง แฟนคลับ และส่วนอื่นๆ อย่างไรก็ตาม เรายังต้องรับมือกับผลกระทบเชิงลบเช่นกัน เพราะบางครั้งนิสัยนี้ก็ทำให้เราเครียด คิดมาก หรือกดดันตัวเองมากเกินไป

มองภาพอนาคตของตัวเองไว้อย่างไร?

อยากมองย้อนกลับมาแล้วไม่เสียใจในสิ่งที่ตัวเองทํา ชีวิตวัยแก่คงไม่ได้ต้องการอะไรไปมากกว่านี้ แค่อยากนั่งมองผลงานในอดีตแล้วรู้สึกว่า “มันยากนะ แต่แกเก่งว่ะที่ผ่านมาได้ การขึ้นไปร้องเพลงต่อหน้าคนเป็นหมื่นไม่ใช่เรื่องง่าย แต่แกทำได้ว่ะอิ้งค์” 

จดหมายถึง ‘อิ้งค์ วรันธร’ ในอีก 5 ปีข้างหน้า อยากบอกอะไรกับตัวเอง?

ทุกวันนี้ฉันเหนื่อยมาก ฉันหวังว่าตอนนั้นแกจะสบายนะจ๊ะ ล้อเล่น (หัวเราะ) จริงๆ อยากบอกว่า แม้ตอนนี้จะเหนื่อย แต่ก็มีความสุขที่ได้ทําในสิ่งที่ตัวเองรัก ไม่รู้ว่าอีก 5 ปีข้างหน้าจะได้ทําสิ่งเหล่านี้อีกไหม ได้ทำมากขึ้นหรือน้อยลงแค่ไหน แต่วันนี้ฉันเต็มที่แล้วนะแก

“เรารักการทำงานมาก ถ้าวันหนึ่งไม่ได้ทํางานแล้ว คงจะเศร้าไม่น้อย เพราะงานที่รักทำให้เราอยากตื่นขึ้นมาในทุกวัน”

PHOTOGRAPHER

gunsept

เด็กหาดใหญ่ แหลงใต้ไม่เป็นแต่ว่า รักดนตรี ศิลปะ ภาพยนตร์