“เราโชคดีมากที่มีเขา และเขาบอกว่าโชคดีมากที่ได้รักเรา” Curry in Boxes เมนูต้องมนตร์รัก

Highlights

  • ร้าน Curry in Boxes คือร้านอาหารอินเดียสูตรโฮมเมดของ เอมี่–เฉลิมพล พิมพ์วัน และ Sunil Kumar คู่สามีภรรยาไทย-อินเดีย ซึ่งก่อกำเนิดจากความรักไม่จำกัดเพศของทั้งคู่ “ฉันไม่สนใจว่าคุณเป็นเพศอะไร แต่ฉันมีความสุขทุกครั้งที่ได้คุยกับคุณ”
  • ที่ร้านให้บริการทั้งแบบเดลิเวอรีและ home dining บนซอยกิ่งจันทน์ ซึ่งมีคอนเซปต์ว่า ‘กินข้าวบ้านเพื่อน’ เพราะนอกจากได้กินอาหารอินเดียต้นสูตรต้นตำรับจากบ้านเกิดของสุนิลล์ ก็ยังจะได้ร่วมวงสนทนากับทั้งสองอย่างอบอุ่นเหมือนอยู่บ้านอีกด้วย

สำหรับคุณ คำว่า ‘บ้าน’ หมายถึงอะไร?

บ้านอาจหมายถึงสิ่งปลูกสร้างอันเป็นที่พักอาศัย อาคารตึกแถวสองชั้นที่อยู่มาแต่เด็ก หรือบ้านไม้ของคุณตาคุณยายที่เคยวิ่งเล่นสมัยประถม 

หรือบ้านอาจมีความหมายนามธรรม ประเทศใหม่ที่เพิ่งย้ายมาอยู่แต่ทุกคนที่นี่ทำให้รู้สึกสบายใจ หรือครอบครัวและเพื่อนดีๆ ที่คอยให้กำลังใจเราอยู่เสมอ 

“สำหรับเรา บ้านคือที่ที่ปลอดภัยที่สุด เหมือนเป็นฟูกที่คอยรองรับให้เราไม่เจ็บ คอยรักษา คอยเยียวยาในวันที่เราเจอสิ่งที่ไม่ดีหรือโดนใครทำร้าย”

“บ้านคือที่ที่ทุกคนมีความสุข ได้ใช้เวลาร่วมกัน สำหรับผม เมืองไทยก็เหมือนบ้านหลังหนึ่งที่ผมมีความสุขกับการใช้ชีวิตในทุกๆ วัน” 

นี่คือคำตอบของ เอมี่–เฉลิมพล พิมพ์วัน และ Sunil Kumar คู่สามีภรรยาเจ้าของร้าน Curry in Boxes ร้านอาหารอินเดียสูตรโฮมเมดที่อยากทำให้ประสบการณ์การกินอาหารทุกมื้อของลูกค้าเหมือนได้กลับบ้านไปนั่งคุยกับครอบครัว คนสนิท แกล้มด้วยแกงอุ่นๆ ไม่ว่าจะสั่งกลับไปกินที่บ้านตัวเอง หรือมากินที่บ้านของทั้งคู่ ซึ่งเสียงจากคนเคยมาบอกเราว่านอกจากจะได้ผ่อนคลายในบรรยากาศแสนสบายแล้ว หากจะนึกสนุกเสนอตัวช่วยพ่อครัวทำนานก็ยังได้ แถมเอมี่และสุนิลล์ยังเสิร์ฟเมนูพิเศษเป็นบทสนทนาออกรสในแทบทุกหัวข้อที่นึกออก ตั้งแต่เรื่องที่มาของร้าน วัฒนธรรมอินเดีย ความเป็นมาของอาหารบนโต๊ะและวัตถุดิบในจาน

รวมทั้งอีกหัวข้อที่ใครหลายคนอาจคาดไม่ถึง นั่นคือเรื่องคู่ชีวิตและสถานะของ LGBTQ ในปัจจุบัน 

ในยามเย็นของวันธรรมดาวันหนึ่ง เรามาหาพวกเขาที่บ้านขนาด 1 คูหาในซอยกิ่งจันทน์ เมื่อเปิดรั้วเหล็กสีดำเข้าไปจะเจอกับห้องสี่เหลี่ยมผืนผ้าซึ่งตกแต่งด้วยผ้าควิลท์แฮนด์เมดและโคมไฟสีสันสดใส แดดยามโพล้เพล้สาดแสงจากคลองด้านหลังบ้านคอยต้อนรับผู้มาเยือนได้พักผ่อนหย่อนใจจากวันอันแสนเหนื่อยล้า

เอมี่และสุนิลล์ออกมาต้อนรับเราด้วยตัวเอง ทั้งคู่เชื้อเชิญให้เรานั่งลง และระหว่างที่ฝ่ายชายขอตัวเข้าไปในครัว ฝ่ายหญิงก็เริ่มต้นเล่าเรื่องราวของพวกเขาให้เราฟัง 

“ลูกค้ากลุ่มแรกๆ เขาแทบไม่ได้สนใจอาหารเลย เขาสนใจสตอรี่ อ้าว เราเป็นกะเทยหรอ คบกับผู้ชายอินเดียหรอ อินเดียเขาเคร่งมากไม่ใช่เหรอ” เธอเกริ่นในประเด็นที่เราเองก็สงสัย 

แต่จะเริ่มที่เรื่องราวของเอมี่และสุนิลล์ก็ไม่แปลก เพราะเป็นความรักครั้งนี้เองที่ก่อร่างสร้างตัวเป็น Curry in Boxes บ้านของอาหารอินเดียสูตรต้นตำรับจากเมืองแคทเทิล (Kaithal) รัฐหรยาณา (Haryana) บ้านเกิดของพ่อครัวหนึ่งเดียวของที่นี่

“คุณจะเป็นอะไรก็ได้ ไม่ต้องไปสนใจ ผมจะเป็นสามีคุณ และคุณจะต้องเป็นภรรยาผม”

ย้อนกลับไปเมื่อ 4 ปีที่แล้ว เอมี่ผู้กำลังอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านจาก ‘ผู้ชาย’ มาเป็น ‘ผู้หญิง’ บังเอิญมาพบกับสุนิลล์ ผู้ชายที่อกหักจากผู้หญิงที่หลอกเขามากว่า 8 ปี 

“ตอนนั้นเราแบกเป้ไปเที่ยวอินเดียคนเดียว แล้วสายตาพลันเหลือบไปมองเห็นผู้ชายคนนี้ เค้าดูดีมากๆ ด้วยความแรด (หัวเราะ) ก็เลยเข้าไป Hello! Can you speak English? ช่วยอ่านเมนูให้หน่อยได้ไหม แล้วแลก WhatsApp กันไว้ แต่ตอนนั้นอยู่มา 10 กว่าวันแล้ว ก็รู้อยู่แล้วว่าต้องกินอะไร (หัวเราะ)” 

ฟังดูเป็นเรื่องราวรักแรกพบทั่วไป ทว่าความซับซ้อนก็คือ ในเวลานั้นเอมี่ยังไม่เป็นสาวสวยสะพรั่งเหมือนในปัจจุบัน 

“ช่วงนั้นเรากำลังตัดสินใจที่จะเปลี่ยนมาเป็นผู้หญิง แต่ตอนนั้นยังเป็นบอยๆ อยู่ คือเป็นตุ๊ด และเราไม่ได้คาดหวังอะไรจากความสัมพันธ์นี้เลย แม้ว่าเราจะอยากมีงานแต่งงานเป็นของตัวเองมาก (ลากเสียง) แต่มันก็เป็นไปได้ยาก เพราะอินเดียเขาไม่ได้เปิดกว้างเรื่องเพศทางเลือก เราก็ไม่กล้าคิดไกล”

ความสัมพันธ์ค่อยๆ ผลิบาน จากการคุยกันเป็นครั้งคราวก็กลายเป็นชีวิตประจำวันของทั้งคู่ แต่ความสดชื่นสดใสก็ตามมาด้วยความกลัวและความลำบากใจเพราะเส้นกั้นที่เกิดจากวัฒนธรรมและเพศสภาพ

“เราไม่รู้ว่าตอนแรกเขาเป็นอะไร เพราะถ้าเขาชอบผู้ชาย เราก็ไม่ใช่แล้ว เพราะเราจะเป็นผู้หญิงนะ” เอมี่ย้อนความถึงความไม่สบายใจในครั้งนั้น

“เราบอกเขาก่อนว่า เรามีความสุขมากที่ได้คุยกับเขาในทุกๆ วัน เราหยุดคุยไม่ได้ ไม่รู้ว่ามันคืออะไร แล้วเขาก็บอกว่า เขาก็ชอบเราเหมือนกัน เขาไม่เข้าใจตัวเอง แต่เขามีความสุขที่ได้คุยกับเราในทุกๆ วัน”

และเป็นประโยคนี้จากสุนิลล์ที่ทำให้เธอรู้สึกมั่นใจในความสัมพันธ์

“คุณจะเป็นอะไรก็ได้ ไม่ต้องไปสนใจ ผมจะเป็นสามีคุณ และคุณจะต้องเป็นภรรยาผม” ชายหนุ่มบอก ก่อนชวนหญิงสาวไปพบกับครอบครัวของเขาที่เมืองแคทเทิล (Kaithal) รัฐหรยาณา (Harayana) ประเทศอินเดีย 

แม้เอมี่จะวิดีโอคอลล์กับพี่สาวและแม่ของสุนิลล์ได้อย่างสนิทสนม แต่การเดินทางครั้งนั้นก็เต็มไปด้วยความกลัวว่าครอบครัวของเขาจะไม่ยอมรับตัวตนของเธอ

“นี่ไม่ใช่ผู้ชาย นี่คือผู้หญิง”

ฮิจจารา (Hijra) คือภาษาฮินดีแปลว่าสาวข้ามเพศหรือ transgender people 

หลายคนคงคุ้นเคยกับความซับซ้อนด้านวัฒนธรรมของชาวอินเดีย ไม่ว่าจะเป็นระบบวรรณะ พิธีกรรมต่างๆ ที่แตกต่างจากเมืองไทย โดยเฉพาะพิธีแต่งงานที่ทั้งซับซ้อนและแบ่งตามวรรณะของคน เช่น ถ้าหากบรรพบุรุษเคยเป็นคนคุก ลูกหลานจะต้องแต่งงานกับคนคุกเท่านั้น 

เช่นกัน การแต่งงานฮิจจาราก็อาจจะนำกาลกิณีมาสู่วงศ์ตระกูลได้ 

นั่นคือความกังวลที่เอมี่แบกไปถึงเมืองแคทเทิล ทว่าสถานการณ์ที่บ้านสุนิลล์กลับตาลปัตร 

พ่อแม่พี่น้องของสุนิลล์ต้อนรับเอมี่ด้วยความรักความเอ็นดู “เขาบอกว่า นี่ไม่ใช่ผู้ชาย นี่คือผู้หญิงที่สวยมาก” เอมี่เล่า

ช่วงนั้นเป็น 7 วันที่เรามีความสุขที่สุดในชีวิตแล้ว ไม่ต้องคิดเรื่องงาน มีคนที่รักเราและเราก็รักเขา ครอบครัวเขาปฏิบัติกับเราเหมือนเราเป็นผู้หญิง เป็นผู้หญิง (เน้นเสียง) เราเป็นผู้หญิงที่สมบูรณ์มาก”

และแล้วครอบครัวสุนิลล์ก็ขอเอมี่แต่งงาน ความฝันของเธอกลายเป็นจริงในเวลารวดเร็ว แต่ทว่าจู่ๆ คลื่นลูกใหญ่ก็เข้ามาซัดความฝันของพวกเขาแทบพังทลาย

 

“ทำอย่างไรก็ได้ให้พ่อของเรายอมรับและภาคภูมิใจในตัวสุนิลล์ให้ได้”

แม้ว่าครอบครัวของสุนิลล์จะมองข้ามเรื่องเพศ และเห็นถึงความรักความจริงใจของเอมี่ได้ แต่ที่บ้านของเอมี่กลับตรงกันข้าม

“ปกติแล้วพ่อแม่เราชิลล์มาก เราคิดว่าพ่อแม่เราคงโอเค แต่กลับกลายเป็นว่าพ่อเราไม่ชอบสุนิลล์เลย ไม่รู้ว่าเพราะอะไร แต่เราคิดว่าเป็นเพราะ stereotype ของคนบางกลุ่มที่มีต่อแฟนกะเทยและคนอินเดีย เขาบอกว่าแฟนกะเทยมักจะมาหลอกกะเทยกิน ส่วนคนอินเดียก็มักโดนดูถูกว่าเหม็นหรือสกปรก เป็นพวกขายวัว ขายผ้า”

แม้สุนิลล์จะยื่นข้อเสนอให้เอมี่กลับไปอยู่กับเขาที่อินเดีย แต่เธอไม่ยอม

“มันไม่ใช่สิ่งที่เราต้องการ ถึงไปได้ เราจะอยู่อย่างไร บ้านที่นี่ก็ต้องผ่อน พ่อแม่ก็ต้องดูแล อยู่ที่นู่นไม่มีงานทำ เราเลยตัดสินใจอยู่ที่นี่ และทำอย่างไรก็ได้ให้พ่อของเรายอมรับและภาคภูมิใจในตัวสุนิลล์ให้ได้”

และนี่คือจุดเริ่มต้นของการสร้าง ‘บ้าน’ ของคนสองคน

“ไม่ว่าปัญหาจะเยอะแค่ไหน แต่เขาไม่เคยคิดจะทิ้งเราเลย”

ชีวิตของเอมี่ผู้เป็นดีไซเนอร์ประจำ Hybrid Outfitters ที่เคยมีเงินใช้ไม่ขาดมือ อยากไปเที่ยวไหนก็ไป อยากซื้ออะไรก็ซื้อ กลับต้องพลิกผันเป็นสาวนักสู้ที่ต้องบาลานซ์ระหว่างการทำงานประจำกับการต่อสู้ให้สุนิลล์เป็นที่ยอมรับ

“ถ้าเขาจะเป็นที่ยอมรับ เขาก็ต้องมีงานและสามารถดูแลเราได้ ช่วงนั้นเขาไปสมัครงานเยอะมากแต่ไม่มีที่ไหนรับเลย แล้วเงินก็ค่อยๆ ร่อยหรอลงไปเรื่อยๆ”

เมื่อ 3 ปีที่แล้ว เอมี่ต้องช่วยเดินเรื่องหางานให้สุนิลล์อยู่เสมอ จนถึงขั้นที่ไม่มีเงินเก็บเหลือใช้และต้องกินมาม่าประทังชีวิตในห้องอพาร์ตเมนต์เล็กๆ 

ส่วนเรื่องการแต่งงานจดทะเบียนสมรสก็ยังเป็นแค่วิมานลอยในประเทศไทย 

“พอเราไม่ได้เป็นผู้หญิง เราไม่สามารถแต่งงาน จดทะเบียนสมรสได้ ตอนแรกเราจึงลำบากมาก และยิ่งตอกย้ำว่าเราไม่ใช่ผู้หญิง

“พอรู้ว่ามีปัญหา สุนิลล์เห็นใจเรามาก เราเลยรู้สึกว่าเราไม่ได้สู้อยู่คนเดียว ไม่ว่าปัญหาจะเยอะแค่ไหนแต่เขาไม่เคยคิดจะทิ้งเราเลย”

ถึงจะลำบากแต่ทั้งสองคนก็มีความสุขและอยู่เคียงข้างกันเสมอ และที่ห้องเช่าเล็กๆ แห่งนี้เองที่สุนิลล์ได้ทำอาหารให้เพื่อนๆ ของเอมี่และเพื่อนชาวอินเดียของสุนิลล์ทานโดยใช้เตาไฟฟ้าและกระทะไฟฟ้าขนาดเล็ก 

แม้ฝีมือการทำอาหารของสุนิลล์จะทำให้เพื่อนทุกคนออกปากชม แต่เอมี่ก็ยังไม่ได้คิดว่ามันจะสร้างความประทับใจให้ลูกค้า Curry in Boxes ได้เหมือนอย่างปัจจุบัน 

“ตอนแรกเราไม่ได้เป็นเซียนอาหารอินเดีย เราคิดว่าเขาแค่ทำอาหารเป็น เหมือนที่เราทำผัดกะเพรา ทำไข่เจียวเป็น แต่พอเพื่อนชาวอินเดียมาทานแล้วเขาบอกว่ามันไม่ใช่แบบนั้น บางคนทักว่าคุณไปอยู่ที่ไหนมา ทำอาหารอร่อยมาก

“แล้วเราก็เพิ่งรู้ว่าเขาเคยดื้อแพ่งเปิดร้านอาหารที่อินเดียมาก่อน แต่เปิดได้แค่ 7 เดือนก็ต้องปิดไปเพราะพ่อไม่ชอบ พ่อเขาโกรธทุกครั้งที่เขาทำอาหาร เขาอยากให้สุนิลล์อยู่ดูแลฟาร์ม ดูแลครอบครัวมากกว่า”

และตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา สุนิลล์ก็ไม่เคยเล่าความฝันของเขาให้ใครฟังเลย หรือแม้กระทั่งจะสามารถจินตนาการว่าตัวเองจะได้ทำอาหารอีกครั้ง จนกระทั่งมาเจอเอมี่

“เราสร้างครอบครัวให้เราได้อยู่ด้วยกัน”

Curry in Boxes ไม่ได้เริ่มต้นเป็นร้านอาหารแบบ home dining ตั้งแต่แรก แต่เป็นร้านอาหารเดลิเวอรีที่ได้ไอเดียจากร้านอาหารคลีนแบบเดลิเวอรีที่ต้องสั่งล่วงหน้า 

“เราเห็นน้องที่ออฟฟิศสั่งอาหารคลีนมาเต็มตู้เย็นเลย กล่องละ 70 บาท แต่ต้องสั่งล่วงหน้า เห็นแล้วก็เลยเกิดไอเดีย แต่ปัญหาคือเราอยู่ในห้องเช่าเล็กๆ ไม่มีเตาแก๊สที่ทำอาหารขายได้”

พวกเขาจึงตามหาบ้านเช่าเล็กๆ ที่พอจะมีพื้นที่ครัวอยู่บ้าง จนมาเจอบ้านเช่าหลังปัจจุบัน

“โห ตอนนั้นสภาพสะพรึงมาก ฝุ่นเยอะมาก บนผนังยังมีโปสเตอร์เต๋า สมชายแปะอยู่เลย (หัวเราะ) มีลายมือเด็กเขียน a b c เต็มไปหมด เราต้องทำความสะอาดเอง สุนิลล์ก็ฉาบปูนเอง แต่ก็ตัดสินใจเช่าที่นี่เพราะค่าเช่าถูกมากๆ และมีพื้นที่ครัวที่พอทำอาหารได้”

แม้ว่าจะเริ่มต้นจากศูนย์ แต่เอมี่ก็เล่าให้เราฟังว่า “ที่นี่เป็นเหมือน kingdom ของตัวเอง หรือจะเรียกว่า family ก็ว่าได้ เหมือนเราสร้างครอบครัวให้เราได้อยู่ด้วยกัน และเรามีอิสระที่จะทำอะไรกับที่นี้ก็ได้ เราตกแต่งในสิ่งที่เราอยากแต่ง อย่างเราชอบแต่งบ้าน เป็นสายอาร์ต สายพาหุรัดกะเทยพันผ้า เราก็ไปเลือกซื้อผ้าสีต่างๆ มามิกซ์กัน แล้วสุนิลล์ก็เย็บเป็นผ้าคลุมและปลอกหมอนสำหรับตกแต่งที่นี่”

บ้านเช่าเก่าโทรมจึงกลายเป็น kingdom ที่เอมี่และสุนิลล์สร้างมากับมือและสะท้อนตัวตนของพวกเขาอย่างจริงแท้ที่สุด

“If I don’t cook Garam Masala or Paneer by myself, then it is not my mom’s recipe-a homemade recipe.”

หลังจากเปิดขายแบบเดลิเวอรีไปสักพัก เพื่อนของเอมี่ก็เสนอให้ทำร้านเป็น Chef’s Table 

“Chef’s Table คือการจัดอาหารเป็นคอร์สหรูหรา แล้วจะมีเชฟมาอธิบายให้ฟัง แต่เรากับสุนิลล์ไม่ได้เป็นคนระดับนั้น เลยเกิดไอเดีย ‘กินข้าวบ้านเพื่อน’ เหมือนชวนเพื่อนมากินข้าวแล้วก็ได้คุยกับเพื่อนด้วย ไม่ต้องคุยกับเชฟหรอก เดี๋ยวเราคุยเอง (หัวเราะ)” 

เมื่อตัดสินใจเปิด home dining เอมี่ก็นำผ้าคลุมควิลท์สีสันสดใสมาคลุมโซฟา

“ผ้าผืนนี้สุนิลล์ทำเองสมัยที่เขายังไม่มีงานทำ เราภูมิใจในตัวเขามากๆ เลยอยากให้ลูกค้าเห็นตรงนี้ด้วย” เอมี่ยิ้ม

ขณะที่เราพูดคุยกันอยู่นั้น เสียงเครื่องปั่นก็ดังขึ้น ตามมาด้วยกลิ่นเผ็ดร้อนของเครื่องเทศนานาชนิดผสมกับกลิ่นหอมหวานของอบเชย 

“สุนิลล์กำลังทำ Garam Masala ค่ะ เป็นเครื่องชูรสของที่ทุกบ้านในอินเดียต้องมี” เอมี่เล่า

แม้ว่าวัตถุดิบหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็น Galam Marsala เครื่องชูรสที่ทำมาจากเครื่องเทศรสเผ็ดกว่า 20 ชนิด หรือ paneer เนยอินเดีย สามารถซื้อแบบสำเร็จรูปได้ แต่สุนิลล์ก็ยังยืนกรานว่า 

“If I don’t cook Garam Masala, Paneer, or other menu by myself, then it is not my mom’s recipe-a homemade recipe. This is not a high-end or five-star restaurant and I don’t have any special techniques. It’s indeed homemade Indian food.” 

เพราะอาหารทุกจานมาจากสูตรประจำบ้านของสุนิลล์ที่อาศัยครูพักลักจำมาจากแม่และพี่สาว และเขาก็ลงมือปรุงด้วยมือของเขาเองแต่เลือกคัดสรรวัตถุดิบจนถึงขั้นจัดเสิร์ฟบนโต๊ะ

สักพักสุนิลล์ก็นำอาหารอินเดียมาเสิร์ฟตรงหน้า Butter Chicken Ball ไก่ก้อนทอดราดด้วยแกงหวานละมุน Spinach Paneer ที่มีรสชาติเผ็ดนำผสมกับรสฝาดจากผักและ paneer หรือเนยแข็งอินเดีย Chicken Tikka Masala ไก่ย่างชิ้นพอดีคำราดด้วยแกงรสเผ็ดนำและทิ้งรสหวานไว้ที่ปลายลิ้น Tandori Chicken ไก่ย่างหอมกรุ่นด้วยเครื่องเทศ Vegetable Samosa ผักชุบแป้งทอดสามเหลี่ยมทานพร้อมกับน้ำจิ้มรสเผ็ด และ Naan หรือแป้งนาน เมื่อเราทานอาหารเสร็จแล้วสุนิลล์ก็จะเสิร์ฟชาอินเดียหรือ Chai ชานมรสหวานเพื่อดับรสเผ็ดของเครื่องเทศ

และแน่นอนว่าสุนิลล์ทำอาหารเองทุกจาน แม้กระทั่งน้ำจิ้มผักรสเผ็ดที่ประกอบไปด้วยใบสะระแหน่ พริกเขียว ผักชี โดยหน้าด้วยโยเกิร์ตรสเปรี้ยว สำหรับทานคู่กับ Vegetable Samosa และเครื่องชูรสอย่าง Garam Masala ที่ประกอบไปด้วยเครื่องเทศกว่า 20 ชนิด ซึ่งสุนิลล์เพิ่มความพิเศษโดยใส่อบเชยเยอะเป็นพิเศษจนทำให้อาหารของที่นี้มีทั้งรสหวานและรสเผ็ดเข้ากันอย่างละมุนลิ้น

หลังจากได้สัมผัสประสบการณ์ home dining ด้วยตัวเอง หากจะให้อธิบายคำคำนี้เพิ่มเติมนอกเหนือจากความอบอุ่นเป็นกันเองเหมือนอยู่บ้าน ก็คงเป็นภาพที่เราได้เห็นความใส่ใจในอาหารทุกจานของสุนิลล์ พ่อครัวผู้นั่งอ่านรีวิวของลูกค้าทุกเย็น และรบเร้าให้เอมี่แปลให้ฟังทุกตัวอักษรอยู่เสมอเหมือนเพื่อนที่รักและหวังดี ทำอาหารให้เพื่อนทานและเสิร์ฟอาหารคุณภาพ ดี สด ใหม่อยู่เสมอ

“เรามักบอกสุนิลล์ว่าเราโชคดีมากที่มีเขา แต่เขาก็จะบอกว่าเขาโชคดีมากที่ได้รักเรา”

การจะทดสอบว่าบ้านหลังหนึ่งแข็งแรงหรือไม่ หรือจะทดสอบว่าร้านอาหารร้านหนึ่ง หรือความสัมพันธ์หนึ่งนั้นเป็นตัวจริงหรือไม่ เวลาคือเครื่องพิสูจน์นั้น

วันแรกที่เอมี่และสุนิลล์เริ่มเปิดร้าน Curry in Boxes ต้องขอบคุณเพื่อนๆ และคนรอบข้างที่คอยช่วยเหลืออยู่เสมอ แต่หากฝีมือของสุนิลล์ไม่ใช่ของแท้หรือความใส่ใจในลูกค้าของสองสามีภรรยาไม่ได้มาจากความจริงใจแล้ว ร้านนี้ก็คงจะมาไม่ถึงจุดนี้ 

“เมื่อก่อนมีลูกค้าแค่ 1 คนก็ดีใจแล้ว พอมาถึงตรงนี้เราภูมิใจมาก เรามักบอกสุนิลล์ว่าเราโชคดีมากที่มีเขา แต่เขาก็จะบอกว่าเขาโชคดีมากที่ได้รักเรา” 

และที่ไปไกลกว่าการได้รับการยอมรับจากลูกค้าที่แวะเวียนมากฝากท้องคือการได้รับการยอมรับจากคนที่ใกล้ตัวที่สุด 

“ตอนนี้พ่อเราเริ่มโอเคกับสุนิลล์มากขึ้นแล้ว พ่อเริ่มถามถึงบ้าง แม้เขาจะยังเรียกสุนิลล์ว่าเป็นเพื่อนเราอยู่” เอมี่เล่าด้วยรอยยิ้ม

ตลอดระยะเวลา 4 ปีที่เอมี่และสุนิลล์มีกันและกัน และตลอดระยะเวลากว่า 1 ปีครึ่งที่ร่วมสร้าง Curry in Boxes มาด้วยกัน ทั้งคู่ไม่เคยย่อท้อกับอุปสรรคที่ประดังประเดเข้ามา กลับกัน พวกเขาใช้อุปสรรคนี้งัดเอา potential และแพสชั่นที่ซุกซ่อนอยู่ในตัวเองออกมา

สุนิลล์ที่เคยเปิดร้านอาหารของตัวเอง แต่ก็ต้องปิดไปเพียงเพราะพ่อไม่อนุญาต ทุกวันนี้ก็ได้ทำตามความฝันของตัวเองอีกครั้ง และมีความสุขทุกครั้งเมื่อลูกค้าชอบอาหารฝีมือเขา

เอมี่ที่ได้ขุดจิตวิญญาณนักสู้ ฝ่าฟันปัญหาต่างๆ เรียนรู้วิธีการบริหารจัดการร้านอาหารที่เริ่มตั้งแต่ศูนย์ จนร้าน Curry in Boxes มีชื่อเสียงขึ้นเรื่อยๆ ในอินเทอร์เน็ตผ่านรีวิวของลูกค้า 

แต่กันและกันในที่นี้ไม่ได้หมายถึงแค่ตัวเอมี่หรือสุนิลล์เท่านั้น แต่รวมไปถึงลูกค้าทุกๆ คนที่คอยเข้ามาสร้างสีสันภายในร้านเล็กๆ ขนาด 1 คูหา และร่วมด้วยช่วยกันทำให้พื้นที่รับประทานอาหารแห่งนี้มีชีวิตเหมือนบ้านที่มีครอบครัวแสนอบอุ่น

“My customers are like my family.” สุนิลล์ทิ้งท้าย

เมื่อก้าวออกจากบ้านของทั้งสองไปแล้ว สิ่งที่เราได้ไม่ใช่แค่ได้ลิ้มรสอาหารอินเดียสูตรโฮมเมด แต่กลับเป็นมิตรภาพดีๆ  และบทสนทนาที่มีความหมาย เหมือนได้กลับบ้านและได้ล้มลงฟูกที่จะโอบรับเราไว้ในวันที่เหนื่อยล้า


Curry in Boxes  

Address: ซอยกิ่งจันทน์ แยก 12 ถนนจันทน์ เขตบางคอแหลม กรุงเทพมหานคร 10120
Tel: 063 919 2924
Hours: Home dining ต้องจองล่วงหน้าผ่านเพจเฟซบุ๊ก สำหรับอาหาร delivery สั่ง pre-order ล่วงหน้า 1 วัน
Facebook: Curry in Boxes

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ดวงสุดา กิตติวัฒนานนท์

ช่างภาพนิตยสาร a day ผู้ชอบกินอาหารที่ถ่าย