“!!^&#E=!*)@#)!$*)!!” ในวันงานล้นใกล้บ้า ฉันอ่าน ทำงานยังไงไม่ให้บ้าไปซะก่อน

Highlights

  • It Doesn't Have to Be Crazy at Work หรือ ทำงานยังไงไม่ให้บ้าไปซะก่อน! คือหนังสือโดย Jason Fried และ David Heinemeier Hansson ที่ว่าด้วยเรื่องวัฒนธรรมการทำงานในบริษัท Basecamp
  • บริษัท Basecamp คือบริษัทซอฟต์แวร์ที่ก่อตั้งโดยเจสัน ฟรายด์ เมื่อปี 2004 ตั้งแต่วันแรกที่ Basecamp เกิดขึ้น ทั้งเจสันและพนักงานในบริษัทต่างเชื่อในวิถีการทำที่ต่างไปจากขนบเดิมๆ พวกเขาไม่เน้นการเข้าออฟฟิศ ไม่เน้นการตั้งเป้าหมาย หรือแม้กระทั่งไม่เน้นการทำกำไรสูงสุด แนวคิดและที่มาของวัฒนธรรมองค์กรของ Basecamp นี่เองคือที่มาของหนังสือเล่มนี้
  • หลังจากอ่านจบ เราพบว่าแม้คำแนะนำของทั้งเจสันและเดวิดอาจไม่สามารถประยุกต์ใช้กับเราได้ทั้งหมด แต่อย่างน้อยหนังสือเล่มนี้ก็สามารถกระตุกความคิดให้เรามองงานของตัวเองและตั้งคำถามกับมันได้

ทำงานยังไงไม่ให้บ้าไปซะก่อน สารภาพตามตรงว่าในโมงยามปกติ ผมไม่ใช่คนที่ชอบอ่านหนังสือฮาวทูเท่าไหร่

อาจเพราะไม่ถูกจริต ไม่ถูกใจในการนำเสนอหรืออะไรก็ตามแต่ ผมกับหนังสือฮาวทูมักไม่ค่อยพบเจอกันบ่อย พอประมาณได้เลยว่าในหนึ่งปี หนังสือจำพวกนี้มักผ่านตาผมแค่ 2-3 เล่มเท่านั้น

แต่สำหรับปีนี้ เล่มแรกเกิดขึ้นแล้ว 

และก็เหมือนกับทุกๆ ครั้งก่อนหน้า ผมมักเดินไปหาหนังสือฮาวทูในวันที่ชีวิตตัวเองมีปัญหาเสมอ

ทำงานยังไงไม่ให้บ้าไปซะก่อน

It Doesn’t Have to Be Crazy at Work  หรือ ทำงานยังไงไม่ให้บ้าไปซะก่อน! คือหนังสือโดย Jason Fried และ David Heinemeier Hansson ที่ว่าด้วยเรื่องวัฒนธรรมการทำงานในบริษัท Basecamp อธิบายอย่างสั้น บริษัท Basecamp คือบริษัทซอฟต์แวร์ที่ก่อตั้งโดยเจสัน ฟรายด์ เมื่อปี 2004 ตั้งแต่วันแรกที่ Basecamp เกิดขึ้น ทั้งเจสันและพนักงานในบริษัทต่างเชื่อในวิถีการทำงานที่ต่างไปจากขนบเดิมๆ พวกเขาไม่เน้นการเข้าออฟฟิศ ไม่เน้นการตั้งเป้าหมาย หรือแม้กระทั่งไม่เน้นการทำกำไรสูงสุด แนวคิดและที่มาของวัฒนธรรมองค์กรของ Basecamp นี่เองคือเนื้อในของหนังสือเล่มนี้ที่เจสันและเดวิดหยิบมาถ่ายทอดให้กับผู้อ่าน

ว่ากันตามตรง ถ้าดูผิวเผินจากตัวอย่างสั้นๆ หรือจากการลองพลิกอ่าน 2-3 หน้า หลายคนน่าจะเกิดความคิดว่านี่เป็นอีกแค่หนึ่งหนังสือฮาวทู การทำงานที่พูดเรื่องคล้ายเดิม คือเน้นสร้างแนวคิดและแรงบันดาลใจโดยที่เนื้อหาอาจไม่ได้สดใหม่กับยุคสมัย ผมเองก็เช่นกัน ดังนั้นในตอนแรกก่อนหยิบเล่มนี้ขึ้นมาเปิดอ่าน ผมเริ่มตั้งต้นโดยการตั้งแง่และไม่เชื่อใจในเนื้อความข้างในเท่าไหร่นัก

แต่เพียงแค่ประโยคแรกที่จั่วเปิดหัวมา ต้องยอมรับว่าผู้เขียนจี้ใจดำผมได้ถูกจุด

‘บ่อยแค่ไหนที่คุณพูดว่า ‘ทำงานแทบบ้าตาย“’

นี่มันคือประโยคที่ผมพูดกับตัวเองบ่อยๆ ในช่วงนี้นี่!

คงเป็นเรื่องของปริมาณงานที่กองล้นกับสถานการณ์บ้านเมืองที่ส่งผลกระทบ การทำงานในโมงยามนี้ของสังคมจึงกลายเป็นเรื่องเครียดมากขึ้นทุกที รู้ตัวอีกทีผมเห็นตัวเองเป็นหนูติดจั่นที่ต้องวิ่งไปเรื่อยๆ โดยไม่รู้เลยว่าเส้นชัยของตัวเองอยู่ตรงไหน

ดังนั้นหลังจากประโยคเปิดของ ทำงานยังไงไม่ให้บ้าไปซะก่อน! ผมจึงเริ่มจัดแจงตัวเองใหม่และตั้งใจอ่านหนังสือขนาดความยาว 212 หน้าแบบรวดเดียวจบ

ทำงานยังไงไม่ให้บ้าไปซะก่อน

อย่างแรกที่พอพูดได้สำหรับคนที่สนใจอ่านหนังสือเล่มนี้ ผมอยากแนะนำว่าให้เลิกคิดก่อนเลยว่านี่เป็นหนังสือฮาวทู

เปล่า ในแง่ของการจัดหมวดหมู่ งานเขียนนี้อยู่ในประเภทหนังสือฮาวทูน่ะถูกแล้ว แต่ผมคิดว่าถ้าตอนอ่าน เราถอดเอาวาทกรรมการสอนหรือคำพูดขวานผ่าซากของผู้เขียนออกไป หลายคนน่าจะได้ประโยชน์จากแก่นแท้ในหนังสือเล่มนี้ได้มากกว่า

ทุกบทในหนังสือทั้งเจสันและเดวิดเลือกเล่าวิธีการทำงานและแนวคิดต่อเรื่องต่างๆ โดยมีพื้นฐานจากบริษัท Basecamp เป็นหลัก ดังนั้นพวกเขาจึงใช้ภาษาและสื่อสารจากฝั่งของผู้ที่ได้ประโยชน์จากวิธีการทำงานเหล่านี้เท่านั้น จนในบางครั้งพวกเขาเลือกใช้คำรุนแรงเพื่อกระแทกใจเมื่อพูดถึงสิ่งที่อยู่ตรงกันข้าม

ยกตัวอย่างเช่นเรื่องของการประชุม ในปัจจุบันการประชุมแบบออนไลน์อาจเป็น new normal แต่ที่ Basecamp พวกเขาทำแบบนี้มาก่อนกาลนานมากแล้ว พนักงานทุกคนล้วนทำงานออนไลน์โดยปราศจากออฟฟิศเป็นหลักแหล่ง และพวกเขาไม่เห็นด้วยเลยกับการใช้ชีวิตแบบมนุษย์ออฟฟิศไปวันๆ หรืออย่างเวลาทำงาน พวกเขาก็กำหนดให้พนักงานทุกคนทำงานแค่วันละ 8 ชั่วโมง และไม่เกิน 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ถ้าเกินกว่านี้พวกเขานิยามคนเหล่านั้นว่าไม่มีคุณภาพ และเป็นการไม่เคารพคนอื่นอย่างยิ่งถ้าติดต่องานไปในช่วงวันหยุด รวมถึงการมุ่งเน้นความสบายในการทำงานมากกว่าความลำบาก

พวกเขาไม่ตั้งเป้าหมายเพราะเชื่อว่าแค่ทำทุกวันให้ดีที่สุดก็เพียงพอ พวกเขาไม่ต่อสู้ทางธุรกิจเพราะเชื่อว่าแค่ทำทุกวันให้ดีที่สุดก็เพียงพอ และพวกเขาไม่ขับเคี่ยวตัวเองด้วยวิธีการใดทั้งนั้นเพราะเชื่อว่าแค่ทำทุกวันให้ดีที่สุดก็เพียงพอ!

ฟังมาถึงแค่นี้ หลายคนน่าจะเลิกคิ้วสงสัยแล้ว แต่นั่นแหละคือเหตุผลที่ผมคิดว่าถ้าถอดเอาคำว่าฮาวทูออกไปจากหนังสือเล่มนี้เราจะพบสิ่งที่สามารถนำไปใช้จริงได้มากกว่า

ทำงานยังไงไม่ให้บ้าไปซะก่อน

ไม่รู้คนอื่นเป็นไหม แต่เวลาอ่านหนังสือฮาวทูผมรู้สึกว่าหลายครั้งข้อความที่ผู้เขียนหลายคนใช้มักเต็มไปด้วยการสอนสั่ง หลายคนถึงกับเบือนหน้าหนีหนังสือฮาวทูเพราะเหตุผลข้อนี้ และหลังจากอ่าน ทำงานยังไงไม่ให้บ้าไปซะก่อน!  ผมพบว่าบางครั้งหนังสือก็สื่อสารออกมาในแนวทางนั้นเช่นกัน

มีมากกว่าห้าครั้งแน่ๆ ที่ตอนอ่าน ผมนึกเถียงขึ้นมาในใจว่าสิ่งที่เจสันและเดวิดแนะนำใช้ไม่ได้ผลกับทุกบริบท ในรูปแบบบริษัทบางแห่ง (เช่นในประเทศไทย) สิ่งที่พวกเขายึดมั่นถือมั่นและนำมาเล่าไม่สามารถนำมาใช้ได้จริงแบบปัจจุบันทันด่วน หลายๆ อย่างที่เป็นพื้นฐานของสังคมทำงานทำให้หลายวิธีการดูไม่ตอบโจทย์เท่าไหร่นัก แต่ถึงเป็นแบบนั้น ผมพบว่าการเลือกปิดหนังสือเล่มนี้ไปโดยไม่อ่านจบทั้งหมดมีข้อเสียมากกว่าข้อดีแน่ๆ

ภายใต้ตัวอย่างแนวคิดและการทำงานของบริษัท Basecamp ในหนังสือเล่มนี้ ถ้าเราถอดวิธีการและภาษาสั่งสอนออก ผมพบว่าแก่นแท้ของ Basecamp ต่างหากที่เราสามารถนำมาประยุกต์ใช้กับงานได้ทั้งในแง่ของการเป็นพนักงานและผู้นำ เช่น ถ้าเราถอดประโยค ‘ไม่คิดถึงกำไรสูงสุด’ ออก เราจะพบว่าแท้จริงแล้วคำว่า ‘ทำทุกวันให้ดีที่สุดก็เพียงพอ’ นั้นเป็นสัจนิยมของโลกที่หลายคนมักหลงลืมไปเมื่อติดอยู่ในวังวนการทำงาน เราอาจนำมาใช้และบอกตัวเองได้ว่าอย่าคิดถึงผลที่ตามมามากเกินไปจนลืมการทำงานตรงหน้าในปัจจุบัน หรือแม้กระทั่งในหัวข้อ ‘การไม่ต่อสู้ทางธุรกิจ’ ใจความจริงๆ แล้วก็คือบริษัท Basecamp เน้นความยั่งยืนมากกว่าการเติบโตอย่างรวดเร็วโดยไร้รากฐานที่แข็งแรง พวกเขายังคงใส่ใจเรื่องกำไร เพียงแต่ไม่นำมันมาขับเคลื่อนบริษัทมากเกินไปจนหลงลืมความสุขในการทำงานของพนักงาน

นี่เป็นแค่ 2-3 ตัวอย่างเท่านั้น แต่ในความเป็นจริงเมื่อได้ลองเอามุมมองนี้มาใช้ยามตัวเองไม่เห็นด้วยกับเนื้อหาในหนังสือ ผมพบว่าแท้จริงแล้วหนังสือเล่มนี้มีประโยชน์สูงมากกับสภาวะหนูติดจั่นที่ผมเจอ 

แนวคิดจากทั้งเจสันและเดวิดทำให้ผมได้ตรึกตรองถึงวิธีการทำงานของตัวเองและจุดที่ยืนอยู่ ผมได้ถามตัวเองด้วยหลายๆ คำถามที่มีที่มาจากหนังสือเล่มนี้

ทุกวันนี้กับงาน ผม (และคุณ) ให้ค่ากับอะไรกันแน่?

ผม (และคุณ) ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากพอหรือยัง?

กับชีวิตส่วนตัว ผม (และคุณ) หลงลืมมันไปขนาดไหนแล้ว?

และที่สำคัญ งานยังทำให้ผม (และคุณ) มีความสุขอยู่หรือเปล่า?

ทำงานยังไงไม่ให้บ้าไปซะก่อน

แม้หลังจากตอบคำถามบางข้อ ผมอาจไม่ได้เปลี่ยนแปลงถึงขั้นเดียวกับบริษัท Basecamp แต่นั่นก็เพียงพอแล้วเพราะหนังสือเล่มนี้ทำให้ผม (และอาจรวมถึงคุณ) ได้เห็นและเริ่มสร้างรูปแบบการทำงานที่เหมาะสมกับตัวเองจริงๆ 

เมื่อปิดหนังสือลง งานผมอาจไม่ได้ลดลงหรอก ผมและอีกหลายคนล้วนยังต้องเป็นฟันเฟืองที่ทำงานอย่างหนักในโลกทุนนิยม อย่างผมเอง ขนาดอ่าน ทำงานยังไงไม่ให้บ้าไปซะก่อน! ผมยังต้องเอามาเขียนเป็นบทความนี้เลย แต่เหนืออื่นใดผมว่าเวลาที่ใช้ไปกับสิ่งที่ได้มานั้นเป็น ‘ความคุ้มค่า’ อย่างน้อยหนังสือเล่มนี้ก็ทำให้ผมได้ตกตะกอนบางอย่าง และได้คิดถึงหลายๆ อย่างเกี่ยวกับงานตรงหน้ามากขึ้น

สุดท้ายนี้ ขอตัวไปทำงานที่รักก่อนนะ

ไว้เจอกันใหม่ในวันใกล้บ้า และวันนั้นผมหวังว่าจะเข้าใจตัวเองมากขึ้น

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ณัฐวัฒน์ ตั้งธนกิจโรจน์

ชื่อโทนี่ แต่พวกเขามักจะรู้จักผมในนาม Whereisone