Cities of Magic บันทึกความสวยงามที่ซ่อนอยู่ในกระจก เคมีภัณฑ์ และเทคโนโลยีไว้ในสตรีทโฟโต้

Cities of Magic บันทึกความสวยงามที่ซ่อนอยู่ในกระจก เคมีภัณฑ์ และเทคโนโลยีไว้ในสตรีทโฟโต้

Highlights

  • “ขอบเขตของสตรีทโฟโต้มันกว้างและหลากหลายมาก แต่ถ้าต้องสรุปแบบง่ายๆ เพื่อให้คนทั่วไปเข้าใจ การถ่ายภาพสตรีทคือการถ่ายภาพในพื้นที่สาธารณะ แค่นั้นเลย ดังนั้นใดๆ ในโลกล้วนเป็นสตรีท ถูกไหม” ผ้าป่าน–สิริมา ไชยปรีชาวิทย์ สรุปให้เราฟัง
  • ถึงแม้ว่าทุกวันนี้ Street Photography จะไม่ได้ทำหน้าที่หลักเพื่อบันทึกประวัติศาสตร์เหมือนเมื่อก่อน แต่การถ่ายภาพแนวนี้ก็ขยับขยายสู่ความเป็นศิลปะ ซึ่งได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในหลายประเทศทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย ที่สตรีทโฟโต้เริ่มเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา 
  • ล่าสุด AGC บริษัทสัญชาติญี่ปุ่น ผู้นำการผลิตกระจก เคมีภัณฑ์ และนวัตกรรมเทคโนโลยีชั้นสูง ตัดสินใจชวนผ้าป่านเข้าเป็นส่วนหนึ่งในแคมเปญ 'Cities of Magic' ที่อยากจะนำเสนอภาพความสุขรอบตัวเราทุกคนออกมาเป็นภาพถ่ายที่มองเห็นและจับต้องได้

“หัวใจของสตรีทโฟโต้อยู่ที่มุมมองของช่างภาพ ว่าเขามองเห็นอะไรที่แตกต่างจากคนอื่น ที่จะทำให้เกิดมิติใหม่ของภาพขึ้นมา มันคือการครีเอตสตอรีบนความจริงอีกชุดหนึ่ง”

ในบรรดาเหตุการณ์มากมายที่เกิดขึ้นรอบตัวเราตลอดเวลา อาจมีแง่มุมอันสวยงามซ่อนอยู่ในมุมเล็กๆ ที่เราไม่เคยสังเกตเห็น หรือโมเมนต์มหัศจรรย์ที่เกิดขึ้นเพียงแค่ชั่วพริบตาเดียว กล้องถ่ายภาพและเลนส์ คือเครื่องมือที่ ผ้าป่าน–สิริมา ไชยปรีชาวิทย์ นักแสดงและช่างภาพสตรีทโฟโต้สาวใช้เพื่อบันทึกเหตุการณ์ผ่านมุมมองของเธอ โดยมีความคิดสร้างสรรค์เป็นส่วนประกอบสำคัญ

“เราอาจจะได้เดินเข้าไปในตึกเดียวกัน เดินอยู่บนถนนเส้นเดียวกัน แต่สิ่งที่เรามองเห็นมันไม่มีทางเหมือนกัน สิ่งที่เราจะเลือกเฟรมมันก็ขึ้นอยู่กับว่าเรามองโลกแบบไหน” ผ้าป่านอธิบายถึงเสน่ห์ของงานสตรีทโฟโต้ ที่เมื่อเราได้ค้นพบมุมมองใหม่ๆ ในสิ่งที่เกิดขึ้นตรงหน้า เหตุการณ์นั้นก็จะถูกบันทึกเป็นภาพถ่ายและเรื่องราวของเราที่ไม่เหมือนใคร แม้จะมีคนอีกเป็นสิบเป็นร้อยที่ร่วมอยู่ในสถานการณ์เดียวกันก็ตาม

เป็น magic moment ที่เราได้ค้นพบและบันทึกเอาไว้ด้วยตัวของเราเอง

 

ใดๆ ในโลกล้วนเป็นสตรีท

“ขอบเขตของสตรีทโฟโต้มันกว้างและหลากหลายมาก แต่ถ้าต้องสรุปแบบง่ายๆ เพื่อให้คนทั่วไปเข้าใจ การถ่ายภาพสตรีทคือการถ่ายภาพในพื้นที่สาธารณะ แค่นั้นเลย ดังนั้นใดๆ ในโลกล้วนเป็นสตรีท ถูกไหม” ผ้าป่านสรุปให้ฟังอย่างกระชับที่สุด

แต่ถ้ามองย้อนกลับไปในยุค 60s ที่ทุกคนยังไม่มีกล้องมือถือให้พกติดตัวตลอดเวลา ผลงานของ Vivian Maier หรือ Henri Cartier-Bresson รวมถึงช่างภาพสตรีทโฟโต้คนอื่นๆ ถือว่ามีบทบาทสำคัญในการบันทึกความเป็นอยู่ของผู้คนในสมัยนั้นอย่างตรงไปตรงมา ทั้งบรรยากาศบนท้องถนน ไลฟ์สไตล์ หรือการแต่งตัว

ถึงแม้ว่าทุกวันนี้ street photography จะไม่ได้ทำหน้าที่หลักเพื่อบันทึกประวัติศาสตร์เหมือนเมื่อก่อน แต่การถ่ายภาพแนวนี้ก็ขยับขยายสู่ความเป็นศิลปะซึ่งรับความนิยมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในหลายประเทศทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย ที่สตรีทโฟโต้เริ่มเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา 

ส่วนตัวของผ้าป่านเองนั้นเริ่มเข้าสู่แวดวงนี้อย่างจริงจังโดยการเข้าร่วมกลุ่ม Street Photo Thailand เมื่อปี 2014

“ตอนแรกป่านเริ่มถ่ายโดยที่เราไม่ได้รู้ว่ามันเรียกว่าสตรีทโฟโต้ เราแค่ถ่ายรูปสิ่งที่เราพบเจอในชีวิตประจำวัน แต่พอถ่ายไปได้สักระยะหนึ่งก็เริ่มรู้สึกอยากเข้าใจการถ่ายภาพให้มากขึ้น ก็เลยดูงานภาพถ่ายของช่างภาพคนอื่นๆ ให้มากขึ้น แล้วเราก็รู้สึกว่าสตรีทโฟโต้มันน่าสนใจ มันสนุก เพราะมันเป็นสิ่งที่เราสามารถครีเอตได้ในทุกๆ วันที่เราออกไปนอกบ้าน”

ภาพ : Street Photo Thailand

 

แบบฝึกหัดการถ่ายรูป

“คนที่ไม่เชี่ยวชาญเรื่องการถ่ายภาพมาก่อนจะสามารถถ่ายสตรีทโฟโต้ได้ไหม” เราถามเผื่อใครหลายคนที่อ่านมาถึงตรงนี้แล้วเริ่มนึกอยากถ่ายภาพแนวสตรีทดูเล่นๆ 

“เรามักจะพูดว่าสตรีทโฟโต้คือแบบฝึกหัดการถ่ายรูป คือมันอาจจะไม่ใช่ทั้งหมดนะ แต่นัยหนึ่งมันก็เป็นเครื่องมือในการฝึกทักษะที่จำเป็น” ด้วยขอบเขตที่กว้างขวาง ทำให้สตรีทโฟโต้กลายเป็นหนึ่งในแนวภาพถ่ายที่เข้าถึงง่าย ฝึกหัดได้ด้วยตัวเอง และเหมาะสำหรับมือใหม่หัดถ่ายภาพอยู่ไม่น้อย

“คือถ้าพูดถึงเชิงเทคนิค ในยุคนี้มันก็ง่ายขึ้นเรื่อยๆ หลายคนเขาก็ถ่ายภาพสตรีทด้วยกล้องมือถือ ซึ่งมันก็เป็นระบบออโต้หมดอยู่แล้ว คนส่วนใหญ่ที่ถ่ายสตรีทเขาเลยไม่ค่อยจะคุยกันเรื่องเทคนิคสักเท่าไหร่ เมื่อเปรียบเทียบกับเรื่องความคิดสร้างสรรค์ การจัดองค์ประกอบ แล้วก็จังหวะ สามอย่างนี้เหมือนเป็นหัวใจในการฝึกถ่ายภาพ”

“ด้วยความที่เราไม่สามารถเซตได้ และไม่สามารถย้อนเวลากลับไปได้ เพราะมันคือสิ่งที่เกิดขึ้น ณ ตรงนั้น ดังนั้นเรื่องความเร็วเลยค่อนข้างจำเป็น ทั้งในแง่การจัดองค์ประกอบ และการจัดการกับข้อจำกัดหน้างาน” ผ้าป่านอธิบาย

แม้ว่าสตรีทโฟโต้จะฟังดูเป็นการถ่ายภาพที่ไม่มีกฎเกณฑ์ตายตัว แต่ในความฟรีสไตล์นั้นก็มีรูปแบบหรือแนวทางในการถ่ายที่สามารถจำแนกประเภทได้เหมือนกัน

“อย่างสไตล์ของป่านจะเป็นแนวที่เขาเรียกกันว่า fishing technique คือคล้ายกับการตกเบ็ด คือเราจะเริ่มจากเดินหาพื้นที่ เพราะป่านเป็นคนอินกับเรื่ององค์ประกอบภาพและโครงสร้าง ไม่ว่าจะเป็นโครงสร้างตึก เส้น แสง เงา ดังนั้นวิธีการของป่านมันจึงเป็นการมองหาซีนที่เราชอบก่อน แล้วหลังจากนั้นคือการรอให้ซับเจกต์ผ่านเข้ามา ซึ่งเราก็ต้องจินตนาการภาพรวมที่อยากได้ขึ้นมาก่อน ว่าอยากให้มีอะไรเกิดขึ้นตรงไหน เพื่อที่จะคาดการณ์ว่ามันสามารถเกิดขึ้นได้จริงหรือเปล่า ไม่อย่างนั้นเดี๋ยวจะกลายเป็นว่ารอเก้อ” ผ้าป่านหัวเราะปิดท้ายเมื่อพูดถึงกระบวนการทำงานของตัวเองซึ่งก็ต้องใช้ทั้งทักษะ มุมมอง และโชคไปในเวลาเดียวกัน

 

ความท้าทายคือความสนุก

“ส่วนตัวป่านคิดว่าความท้าทายของสตรีทโฟโต้ก็คือตอนที่ไม่ได้รูป” 

เมื่อพื้นฐานของสตรีทโฟโต้คือการถ่ายภาพเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงรอบตัว ซึ่งปราศจากการวางแผนหรือเตรียมตัวล่วงหน้า ดังนั้นจุดที่ท้าทายมันสมองของช่างภาพที่สุดก็คือในวันที่อยากถ่ายแค่ไหนก็ยังไม่มีอะไรให้ถ่ายอยู่ดี

“เราแค่ต้องเดินให้มากพอ อยู่บนท้องถนนให้มากพอ ต้องเร็วมากพอ และต้องคิดให้ทัน เพราะชาเลนจ์ของมันคือการที่เราต้องฝึกสกิลเตรียมพร้อมตลอดเวลา เพราะเราไม่รู้ว่าเราจะเจอจังหวะนั้นเมื่อไหร่” ผ้าป่านย้ำถึงความสำคัญของการขัดเกลาฝีมือของช่างภาพ และการพาตัวเองไปอยู่ในสถานที่และเวลาที่ถูกต้อง

แต่ความท้าทายล่าสุดที่ผ้าป่านต้องเผชิญก็คือ การถ่ายภาพสตรีทโดยมีโจทย์เป็นครั้งแรก หลังจากที่ AGC บริษัทสัญชาติญี่ปุ่น ผู้นำการผลิตกระจก เคมีภัณฑ์ และนวัตกรรมเทคโนโลยีขั้นสูง ตัดสินใจชวนผ้าป่านเข้าเป็นส่วนหนึ่งในแคมเปญ Cities of Magic ที่อยากจะนำเสนอภาพความสุขรอบตัวเราทุกคนออกมาเป็นภาพถ่ายที่มองเห็นและจับต้องได้ โดยมีทั้งหมด 3 คอนเซปต์หลักคือ

  1. Cities Reflector สะท้อนภาพชีวิตของคนเมือง ผ่านนวัตกรรมกระจกหลากหลายชนิด
  2. Bond of Happiness ค้นพบความสุขและความสวยงาม ผ่านเคมีภัณฑ์ที่อยู่รอบตัวเรา 
  3. Shape of Tomorrow เทคโนโลยีและนวัตกรรมล้ำสมัย ที่เริ่มกลายเป็นหนึ่งเดียวกับชีวิตเรา 

ตัวอย่างภาพถ่ายจากผ้าป่าน

“ปกติแล้วเราก็ไม่เคยถ่ายรูปโดยที่มีโจทย์แบบนี้ ซึ่งมันทำให้เราต้องสวมแว่นในการมองหาสิ่งต่างๆ ที่ตรงกับโจทย์เจอก่อนเป็นอันดับแรก แล้วถึงครีเอตซีนจากตรงนั้นขึ้นมา ซึ่งถึงจะท้าทายแต่โดยรวมก็สนุกหมดเลย” 

 

Magic For Life 

แม้ว่าการเป็นช่างภาพสตรีทจะฝึกให้ผ้าป่านเป็นคนช่างสังเกต และมองเห็นมุมมองใหม่ๆ จากสิ่งรอบตัวอยู่เสมอ แต่การร่วมงานกับ AGC ครั้งนี้ก็ทำให้เธอได้ทำความรู้จักกับนวัตกรรมที่ซ่อนตัวอยู่ในชีวิตประจำวันของเราตลอดเวลา

“ก่อนหน้านี้เราน่าจะเหมือนกับคนทั่วไป ที่ก็มองว่ากระจกคือกระจก สบู่ก็คือสบู่ เลนส์ก็คือเลนส์ เป็นแค่ผู้ใช้งานที่ไม่ได้รู้เรื่องนวัตกรรมหรือองค์ประกอบภายใน แต่พอเราได้มาร่วมโปรเจกต์นี้ เราถึงเข้าใจว่าเขาอยากจะทำให้คนทั่วไปสังเกตเห็นว่าของพวกนี้มันเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน” อย่างผ้าป่านเอง แม้ด้วยอาชีพนั้นต้องสังเกตดูสิ่งรอบตัวเป็นประจำอยู่แล้ว แต่งานนี้ก็ทำให้เธอยิ่งมองเห็นองค์ประกอบที่ละเอียดมากขึ้นไปอีก

“ในแง่หนึ่งเราว่ามันก็เหมือนกับการถ่ายภาพสตรีทโฟโต้ เพราะจริงๆ แล้วมันคือชีวิตประจำวันของเรา จากมุมมองที่เราคุ้นชิน เห็นจนชินตา แต่พอเรามองแบบสตรีท มันก็ทำให้เราต้องพยายามที่จะหามุมมองใหม่ๆ จากสถานที่เดิม หรือสิ่งของเดิมๆ” ผ้าป่านสรุป


งานนี้นอกจากผลงานของผ้าป่านแล้ว แคมเปญ Cities of Magic จาก AGC ยังเปิดโอกาสให้ทุกคนได้ลองสังเกต และทำแบบฝึกหัดการถ่ายภาพสตรีทโฟโต้ภายใต้โจทย์ทั้งสามไปด้วยกัน รับประกันเลยว่าการทำตามโจทย์ไม่ยากเหมือนที่คิด เนื่องจาก AGC สร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์รอบตัวคุณ

ผลงานภาพถ่ายทั้งหมดจะถูกจัดแสดงบน agccitiesofmagic.com ไมโครไซต์ที่เปรียบเสมือนอาร์ตแกเลอรีออนไลน์สำหรับทุกคน ซึ่งสามารถสมัครเข้าร่วมได้ง่ายๆ เพียงแค่ถ่ายภาพตามคอนเซปต์ทั้งสามแล้วโพสต์ลงเฟซบุ๊กหรืออินสตาแกรม เขียนอธิบายสั้นๆ เกี่ยวกับ magic ที่ได้ค้นพบเบื้องหลังภาพนั้นๆ พร้อมติดแฮชแท็ก #AGCMagicForLife #AGCCitiesOfMagic และสุดท้าย เลือกติดแฮชแท็กตามคอนเซปต์ที่เลือก #AGCCitiesReflector, #AGCBondofHappiness หรือ #AGCShapeofTomorrow

เจ้าของภาพถ่ายที่ได้รับการคัดเลือกในแต่ละคอนเซปต์ จะได้รับของรางวัลเป็น AirPods gen 2 จำนวน 1 เครื่อง รวมทั้งหมด 3 รางวัล และยังได้มีบทสัมภาษณ์สุดพิเศษในนิตยสาร a day ฉบับเดือนธันวาคม สำหรับผู้ที่สนใจ สามารถติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่เพจเฟซบุ๊ก AGC Group Thailand และเว็บไซต์ agccitiesofmagic.com

AUTHOR