Circular Economy ที่ Circular กันตั้งแต่ในจอ นอกจอ และหลังจอ

Highlights

  • โลกหมุนด้วยมือเรา คือภาพยนตร์โฆษณาออนไลน์ตัวใหม่ของ SCG ที่เอาแนวคิดระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) มาย่อยให้เข้าใจง่ายขึ้น ทำให้คนรู้ว่าทรัพยากรเหลือน้อย และต้องช่วยกันหมุนเวียนทรัพยากรกลับมาใช้อย่างคุ้มค่าที่สุด
  • And Friends Studio รับโจทย์ทำภาพยนตร์โฆษณาเรื่องนี้โดยเน้น insights ว่าทำไมเราต้องสนใจผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมที่จะเกิดขึ้น ถึงแม้ไม่ได้เกิดผลกระทบในวันนี้วันพรุ่งนี้
  • ไม่ใช่แค่ในจอเท่านั้นที่เล่าเรื่อง SCG Circular Way นอกจอ–ในกองถ่ายภาพยนตร์โฆษณาเรื่องนี้พวกเขาก็พยายามจะเอามาปรับใช้ในการถ่ายทำ หรือทำให้กองถ่ายเป็น Circular Shooting ด้วย

เราอยู่ในยุคที่หันไปทางไหนก็มีแต่คนพูดถึงเรื่องสิ่งแวดล้อม

ปฏิเสธไม่ได้ว่าเรื่องนี้กำลังอยู่ในความสนใจ เช่นกัน ปฏิเสธไม่ได้ว่าเรื่องนี้กำลังวิกฤต

เมื่อ And Friends Studio ต้องมารับหน้าที่คิดภาพยนตร์โฆษณาเรื่อง โลกหมุนด้วยมือเรา แคมเปญใหม่ล่าสุดของ SCG ที่มีหัวใจว่าด้วยการหมุนเวียนทรัพยากรกลับมาใช้ใหม่ได้ด้วยวิธีการที่เหมาะสมที่สุด ชลิต มนุญากร ครีเอทีฟและผู้ก่อตั้ง And Friends Studio จึงหาวิธีพูดที่ง่ายแต่โดนจุดโดนใจที่สุด

และก่อนที่พวกเขาจะส่งภาพยนตร์โฆษณาชุดนี้ไปสร้างความตระหนักเรื่องสิ่งแวดล้อมให้คนดูรู้สึก พวกเขาไม่ลืมที่จะเริ่ม SCG Circular Way กับตัวเองก่อนด้วยการหมุนเวียนใช้ทรัพยากรให้คุ้มค่าตั้งแต่การคิด คุยงานกับลูกค้า ไปจนถึงวันถ่ายทำ

หากกดเพลย์ดูภาพยนตร์โฆษณาตัวนี้แล้ว อยากชวนมาทำความเข้าใจเบื้องหลังการคิดโฆษณาตัวนี้ต่อกับชลิต รวมถึง แอ็ค–พิมลรัตน์ ภัคโชตานนท์ Project Manager และ โจ๊ด–ชนาภา พลอยอรุณรุ่ง โปรดิวเซอร์ Suneta House ที่มีส่วนทำให้ หนังเรื่อง โลกหมุนด้วยมือเรา เกิดขึ้นจริง

มากเรื่องเล่า

เช่นเดียวกับการทำโฆษณาทุกๆ ชิ้น ก่อนที่จะปล่อยให้จินตนาการและความคิดสร้างสรรค์โลดแล่นไปไกล พอได้รับโจทย์จากทาง SCG ปุ๊บ ชลิตและทีมจะลงมือทำรีเสิร์ชเป็นอันดับแรก

“โจทย์เรื่อง Circular Economy มันคิดไม่ยากเพราะเป็นเรื่องใหม่สำหรับคนไทย หยิบจับมุมไหนมาคือเล่าได้หมด พอได้ประเด็นแข็งแรงมันเล่าไม่ยากแล้ว

“อย่างประโยคที่เจอ เช่น ‘ขยะคือทรัพย์สิน’ หรือแบบ ‘ไม่มีคำว่าขยะ มีแต่ของที่อยู่ผิดที่’ โอ้โห มันจริงมากเลย สมมติเวลาเราไม่จัดบ้าน ทุกอย่างมันเป็นขยะไปหมดเลย แต่ถ้าเรารู้ว่าอะไรอยู่ตรงไหน สุดท้ายมันก็ใช้ได้ หรือส่วนตัวก็จะชอบแฟกต์แปลกๆ อย่างเช่น ‘ในมือถือมีทอง’ พวกนี้มันทำเป็นหนังได้หมดเลย ตอนไปขายรู้สึกว่าต้องผ่านสักอันล่ะวะ จุดขายมันแข็งแรง แล้วโจทย์แบบนี้ก็ไม่ได้ยากมาก มันไม่มีสิ่งที่ต้องขายเยอะ และมีประเด็นที่อยากจะพูดชัดๆ” ชลิตนึกย้อนกลับไป

Why Why?

ชลิตและทีมผ่านการร่างและนึกถึงหลากหลายไอเดีย ตั้งแต่การสร้างความตระหนักให้เห็นถึงทรัพยากรแสนมีค่าที่อยู่ในของใช้ในชีวิตประจำวัน อย่างการจำลองกองมือถือให้ล้อกับเหมืองทองในยุคตื่นทอง ขุดมือถือขึ้นมาแล้วเจอทอง, การเล่าว่าทำอะไรถึงจะ Circular ได้บ้าง แต่สุดท้ายก็ลงเอยกับไอเดียที่บอกว่า ‘ทำไม’ ถึงต้องสนใจเรื่อง Circular, ‘ทำไม’ ถึงต้องใส่ใจสิ่งแวดล้อม

“ไอเดียที่ลูกค้าซื้อคืออันที่พยายามพูด why ว่าทำไมคนต้องตระหนักเรื่องสิ่งแวดล้อม ผมว่าสิ่งที่ลูกค้าซื้อคือ insights พฤติกรรมคนที่บอกว่าไม่นานก็ตายแล้ว อย่าไปเดือดร้อนกับสิ่งแวดล้อมเยอะเลย นี่ต่างหากที่เป็นจุดแข็งที่ผมคิดว่าพูดแบบนี้ต้องโดนใจคนแน่เลย เรารู้สึกว่ามันมีบางคนที่คิดว่ามีเรื่องตั้งเยอะที่น่าปวดหัว จะมาสนใจอะไรอย่างนี้ทำไม ผมว่านี่เป็นจุดแข็งที่พอเอามาพูดแล้วมันปฏิเสธไม่ได้” ด้วยความที่ชลิตเริ่มงานในวงการโฆษณาจากการเป็นแพลนเนอร์ คนรอบตัวมักจะบอกว่างานที่มี insights และพูดตรงจุดเป็นเหมือนลายเซ็นของเขา

 

เล่าให้เห็นภาพ

เพราะการบริโภคที่ไม่สิ้นสุดทำให้ทรัพยากรลดน้อยถอยลงไปเรื่อยๆ หรือพูดให้ฟังเข้าใจง่ายแบบชลิตคือ ‘คนใช้ของจนจะหมดโลกอยู่แล้ว’ โจทย์ของ And Friends Studio เมื่อเริ่มลงรายละเอียดกับงานคือ จะเล่าเมสเซจนี้ออกไปแบบไหนคนถึงเข้าใจได้ทันที

“จะพูดแบบที่คนชอบพูด อย่างเรื่องอีกกี่ปีน้ำมันจะหมดโลก กี่ปีต้นไม้จะหมด มันก็เป็นเรื่องไกลตัว เป็นเรื่องมหภาค มันไม่ค่อยเห็นภาพ เราเลยหาวิธีว่าจะทำยังไงให้พูดง่าย แล้วก็นึกถึงพี่ต่อ (ธนญชัย ศรศรีวิชัย) แกเป็นเจ้าแห่งการ demonstrate แบบง่าย เวลาดูหนังแกยังไงก็ดูรู้เรื่อง เพราะแก demonstrate เก่ง อย่างตอนที่แกเล่าสังคมไทยอยู่บนรถบัสหนึ่งคัน เราเลยคิดว่าลองใช้วิธีคิดแบบพี่ต่อดีกว่า

“งานนี้เราเลยนึกถึงการย่อโลกจากที่มีคน 7,000 ล้านคนให้เหลือ 7 คน แต่ละคนเป็นตัวแทนของแต่ละวัย แต่ละกลุ่ม ส่วนโลกทั้งใบย่อเหลือโต๊ะใบเดียว ทุกอย่างมันก็เริ่มฟังรู้เรื่องขึ้น พฤติกรรมของคนบนโลก การแก่งแย่งกันมันก็เห็นง่ายขึ้น แล้วก็เห็นภาพการใช้ไปอย่างเต็มที่เลยพวกเรา มันจะหมดแล้วเว้ย บางคนก็จะคิดว่าอีกตั้งนานไม่กลัวหรอก แล้วเราก็แอบพูดกับคนที่คิดว่าอีกกี่ปีน้ำจะท่วม อีกกี่ปีน้ำมันจะหมด 30-40 ปี เราอยู่ไม่ถึงหรอก เราแอบพูดดักคนกลุ่มนี้ว่าคิดแบบนี้ไม่ได้เว้ย

“สูตรที่ผมชอบใช้คือ พูด pain point ชัดๆ เอา pain point มาขยี้ แล้วมาเสนอ solution ถ้า pain point ยิ่งโดนใจคน solution ก็จะหล่อขึ้นมาเอง”

 

เรื่อง Circular–เรา Circular

ไม่ได้มาจากลูกค้า, แต่ไอเดียการทำกองถ่ายให้ Circular สอดคล้องกับใจความหลักของหนังที่ทำนั้นเกิดขึ้นจากทาง And Friends Studio เอง

ย้อนกลับไปในวันที่แอ็คไปรับบรีฟที่ SCG กับชลิต และได้เรียนรู้เกี่ยวกับ Circular Economy แอ็คอดไม่ได้ที่จะนึกถึงกองถ่าย

การถ่ายหนังโฆษณา ไม่ว่าจะเป็นความยาวสั้นกระชับเพียง 30 วินาทีหรือจะเป็นเรื่องยาวก็ตาม การออกกองแต่ละครั้งใช้ทรัพยากรบุคคลเกือบร้อย ในจำนวนนี้มีทั้งลูกค้า ทีมงาน ไปจนถึงนักแสดง

ในวันออกกอง ทรัพยากรจำนวนมากจะถูกใช้งาน ตั้งแต่อาหารและเครื่องดื่มที่เสิร์ฟไม่อั้น และทำตามการจัดการสะดวกเข้าว่า หลายต่อหลายครั้งจึงใช้พลาสติกที่ใช้แล้วทิ้ง แก้วแล้วแก้วเล่า ยังไม่นับรวมถึงทรัพยากรประกอบฉากและเครื่องแต่งกายที่มักจะเฟ้นหาสิ่งที่ดีที่สุดและหาเผื่อไว้จำนวนมาก

“มีครั้งหนึ่งเราไปถ่ายหนังที่ทะเลแล้วมีซากต้นไม้กระดาษถูกทิ้งไว้ หลายเดือนผ่านไปเรามีโอกาสไปที่นั่นอีก ต้นไม้กระดาษนั้นก็ยังอยู่ เราเลยคิดว่ามันทิ้งอย่างนี้ได้ยังไง การออกกองแต่ละครั้งสร้างขยะเยอะ เราเลยมองย้อนมาที่ตัวเองว่าเราเป็นหนึ่งในคนที่สร้างขยะโดยไม่จำเป็น แล้วถ้าจะมาทำหนังเรื่อง SCG Circular Way แต่กองถ่ายของตัวเองนั้น… โห ขยะเต็มเลย ก็รู้สึก hypocrite นิดหนึ่ง วันนั้นเลยบอกพี่ชลิตว่าถ้าเราทำได้ มาลองทำ Shooting ให้เป็น Circular ด้วยมั้ย มันอาจจะไม่ร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่อะไรที่ทำได้ก็น่าลอง”

 

Circular Shooting

แอ็คจับมือกับโจ๊ดช่วยกันลิสต์ดูว่าทำยังไงที่จะใช้ทรัพยากรให้คุ้มค่าสุดๆ ในกองถ่ายนี้ได้บ้าง

“เริ่มตั้งแต่เวลาไป pre-production จะมีวัฒนธรรมปรินต์ pre-production book เราก็ไม่ปรินต์ จริงๆ เรื่องนี้หลายเฮาส์ก็ทำอยู่แล้ว การพกแก้วมาเองหรือใช้แก้วที่ล้างได้ถ้าไม่สะดวกจริงๆ ก็ใช้แก้วกระดาษ เรื่องเสื้อผ้าถ้าตัวไหนยืมได้ก็ยืม หรือบางตัวถ้าต้องทำขึ้นก็เก็บไปใช้งานอื่นต่อ เรื่องพร็อพก็คิดให้จบว่าใช้เสร็จแล้วจะเอาไปไว้ไหน เราก็ลองโทรหาคนทิ้งขยะ ก็เลยรู้ว่าแค่แยกขยะไว้ก็มีคนรับไปใช้ต่ออยู่แล้ว ส่วนอาหารก็เปลี่ยนมาให้แม่ครัวทำอาหารตักใส่จาน แล้วก็ชวนคนในกองพกปิ่นโตมาด้วย ถ้าอาหารเหลือก็ใส่กล่องกลับไปได้ ซึ่งมันก็ทำได้บ้างไม่ได้บ้าง” แอ็คเล่าให้ฟัง โดยมีโจ๊ดเป็นผู้ประสานหลักกับคนอื่นๆ ในกองเพื่อให้ความพยายามนี้เกิดขึ้นจริง

เพื่อให้กองถ่ายเป็นไปในแบบ SCG Circular Way มากที่สุด ชลิตไปพูดคุยกับเพื่อนพี่น้องร่วมวงการเพื่อทำความเข้าใจว่าความสิ้นเปลืองในกองถ่ายเกิดจากอะไร และอยู่ตรงไหนบ้าง

“ผมพบว่าความสิ้นเปลืองนี้มีทั้งตั้งใจและไม่ได้ตั้งใจ บางทีครีเอทีฟกับผู้กำกับก็อาจจะอยากได้อะไรบางอย่าง เช่น ต้องเอาโซฟาตัวนี้มาให้ได้ เอารองเท้าคู่นี้มาให้ได้ ทั้งที่จริงๆ เห็นอยู่แค่เสี้ยววินาทีหรืออาจไม่เห็นด้วยซ้ำ แต่เราก็เผื่อกันสุดฤทธิ์ คือ Circular ไม่ได้แปลว่าไม่เอาพลาสติก แต่มันคือทุกอย่าง อย่างการไม่ใช้พลังงานสิ้นเปลือง แล้วก็รวมไปถึงการที่คุณมัวใช้เวลาเลือกรองเท้าสิบคู่ ทั้งที่ไม่ใช่สาระ มันเปลืองทีมฟิตติ้งที่ฟิตแล้วฟิตอีก ส่งไปส่งกลับ ถ้าเราบริหารหรือคิดกันมาดีๆ มันอาจจะไม่จำเป็นก็ได้

“คือหลายๆ กอง โดยเฉพาะกองรุ่นใหม่ๆ มักจะมีแนวโน้มดีขึ้นเรื่อยๆ หลายๆ กองก็ลดขยะพลาสติกลงไปเยอะ ไม่ใช้หลอดแล้ว มันเหมือนเป็นเทรนด์ประมาณหนึ่งด้วย แต่กองประเภทอู้ฟู่เต็มที่ก็ยังมี

ผมว่ามันเป็นความร่วมมือของทุกฝ่าย ถ้ากองถ่ายอยากประหยัด ลูกค้าอาจรู้สึกว่าทำไมงก แต่ถ้าเป็นความคิดของลูกค้าด้วยว่ามันไม่ต้องสิ้นเปลืองขนาดนั้นหรอก มันก็โอเค” ชลิตเสริม

Set the Mindset

ด้วยความที่โฆษณามักมาคู่กับการค้า ผลประโยชน์ที่ได้จากโฆษณาอาจนำกลับมาซึ่งเม็ดเงินมหาศาล กระบวนการผลิตโฆษณาในแต่ละครั้งจึงจัดเต็มเป็นปกติ แต่เรื่องเหล่านี้เปลี่ยนได้ อยู่ที่มายด์เซต

“พอเงินมันเยอะ ความคาดหวังของทุกคนคือต้องเผื่อได้สิ ถ่ายเผื่ออีกเทค เผื่ออีกสามชุด ออกกองแล้วต้องอู้ฟู่ อาหารการกินต้องอู้ฟู่ ไปถ่ายต่างจังหวัดแต่อยากกินอะไรก็ให้รถกองไปซื้อมาเลย กลับมาถึงก็ไม่อร่อยแล้วนะ พวกนี้เป็นจิตสำนึกที่ทุกคนต้องช่วยกัน

“ถ้าเราเริ่มจากมายด์เซตที่เข้าใจปัญหา เราจะไม่ต้องมาบอกกันว่าทำ 1 2 3 4 นะ มันหยุมหยิม แต่ทำยังไงก็ได้ในวิถีของคุณมันจะง่ายกว่า มันจะไม่เป็นคุณครูที่มานั่งจับผิด ว่าทำสิ่งนี้รึยัง ทำสิ่งนั้นรึยัง ถ้าเข้าใจถึงแก่นมันจะรู้โดยอัตโนมัติเลยว่าควรทำอะไร

“แล้วพอเริ่มจากมายด์เซตเรื่องการประหยัดทรัพยากร มันก็จะมากกว่าการไม่ใช้แก้วพลาสติกแล้ว อย่างในวงการโฆษณาลูกค้าก็มีส่วนช่วยในการสรุป คุยให้ชัด แอพพรูฟให้เร็ว สมมติไม่แอพพรูฟสักที ทีมงานทุกคนต้องสแตนด์บายรอ ต้องทำโอที สุดท้ายมาเร่ง มันมีความสิ้นเปลืองที่มองไม่เห็นเพียบเลย” ชลิตเล่าให้ฟังว่างานชิ้นนี้ผ่านไปได้อย่างค่อนข้างราบรื่นตั้งแต่ขั้นตอนคุยงาน

“เราเปลืองเวลาหน่อยในช่วงพัฒนางาน เราแก้กันตั้งแต่มันอยู่ในกระดาษจนสุดท้ายก็จูนกันติดโดยที่ยังไม่ต้องเตรียมข้าวของ เตรียมเซต เตรียมพร็อพ อีกอย่างคืองานนี้มีคนที่มีอำนาจตัดสินใจอยู่ในการประชุม มันเลยทำให้การเจอกัน effective มาก ไม่งั้นสามชั่วโมงที่คุยกันมันจะไม่มีประโยชน์เลยถ้าคนเคาะงานไม่อยู่ มันจะคุยกัน เถียงกันแปดตลบ แล้วสุดท้ายก็ต้องขายใหม่อีกรอบและอาจไม่ใช่ที่คุยกันเลย”

“มาถึงวันนี้มันไม่ใช่แค่เรื่องบัดเจ็ตของการถ่ายโฆษณาต่อไปแล้ว มันหมายถึงเรื่องสิ่งแวดล้อมที่ใหญ่กว่าหนังที่เราทำอีก ถ้าทุกฝ่ายที่ทำงานด้วยกันดีลกันด้วยมายด์เซตเรื่องสิ่งแวดล้อมกันตั้งแต่แรกมันก็จะบาลานซ์ความคาดหวังกันให้อยู่ในวิถี Circular ได้ ลูกค้าก็จะเข้าใจ โปรดักชั่นเฮาส์ก็จะไม่กดดันว่าฉันบริการไม่ดีหรือเปล่า” แอ็คทิ้งท้าย


หากใครสนใจเรื่องของเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และแนวปฏิบัติ SCG Circular Way ที่อยากสนับสนุนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของทุกภาคส่วนสามารถติดตามต่อได้ที่ http://bit.ly/2KRgnMR

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

สรรพัชญ์ วัฒนสิงห์

ชีวิตต้องมีสีสัน