ลดใช้ ใช้ซ้ำ สร้างทรัพยากรใหม่ โลกจะยั่งยืนได้ยังไงในยุค new normal หลังการระบาดของโควิด-19

Highlights

  • ในช่วงที่มนุษย์ต้องรับมือกับวิกฤตการณ์โรคระบาดและป้องกันตัวเองไม่ให้ติดเชื้อ เราใช้ทรัพยากรและสร้างขยะกันมากขึ้นอย่างปฏิเสธไม่ได้
  • แม้จะทำไปด้วยความจำเป็นแต่มนุษย์เองก็ต้องรับผิดชอบ โดยช่วยกันหาวิธีแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น ดังที่หลายๆ องค์กรพยายามทำ ไม่ว่าจะเป็นการสนับสนุนการใช้ซ้ำ การฆ่าเชื้อ และการสร้างทรัพยากรขึ้นทดแทน

หลายคนเชื่อว่าวิกฤตโควิด-19 คือช่วงเวลาแห่งการพักรักษาตัวและรักษาโลก เพราะในขณะที่มนุษย์เก็บเนื้อเก็บตัวอยู่บ้าน ธรรมชาติโดยเฉพาะในแหล่งท่องเที่ยวก็ค่อยๆ ฟื้นตัว

แต่ในความเป็นจริงแล้ว ขณะที่มนุษย์เก็บเนื้อเก็บตัวอยู่บ้าน เรากำลังใช้จ่ายทรัพยากรมากที่สุดเท่าที่เคยเป็นมา ผ่านการสั่งซื้อสินค้าและอาหารแบบเดลิเวอรี ซึ่งทิ้งทั้ง carbon footprint และขยะจากแพ็กเกจจิ้งในปริมาณมหาศาล

รายงานของ OceansAsia ระบุว่าหลังผู้คนเริ่มกักตัว ปริมาณขยะพลาสติกก็เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจนกลายเป็นหนึ่งในสามของปริมาณขยะทั้งหมด ซึ่งมีจำนวนมากถึง 400 ล้านตัน และอีกกว่า 5.25 พันล้านชิ้นกำลังลอยอยู่บนมหาสมุทรทั่วโลก ทั้งหมดนี้คือปัญหาที่ทุกประเทศทั่วโลกต่างเห็นเป็นเสียงเดียวกันว่าต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน

รู้อย่างนี้แล้ว มนุษย์อย่างเราๆ จะหาตรงกลางระหว่างการใช้ชีวิตยุค new normal กับความยั่งยืนของทรัพยากรได้ยังไง?

 

ใช้ซ้ำและฆ่าเชื้ออาจเป็นคำตอบ

หน้ากากอนามัยเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดของวัตถุที่ใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง เพราะเมื่อถึงจุดหนึ่งที่มีการใช้งานพร้อมกันเป็นจำนวนมากจนสร้างปริมาณขยะจนเกินจะรับมือไหว หลายบริษัทจึงต้องเริ่มปรับเปลี่ยนนโยบายการผลิต เพื่อทำให้หน้ากากสามารถใช้ได้หลายครั้งมากขึ้นด้วยการฆ่าเชื้อเพื่อยืดอายุการใช้งาน โดยปัจจุบันมีอุปกรณ์ฆ่าเชื้อผลิตออกมาตามท้องตลาดมากขึ้น เช่น หม้อนึ่งขนาดใหญ่ของบริษัท San-I-Pak ที่สามารถฆ่าเชื้อชุดป้องกันไวรัส (PPE) และหน้ากากอนามัยได้ หรือเครื่อง The STERRAD® 100NX® จากบริษัท Advanced Sterilization Products ที่ทำให้การฆ่าเชื้อตามมาตรฐานแพทย์ทำได้ง่ายและเร็วมากขึ้น เป็นต้น

แต่ในปัจจุบันหลายประเทศมองการณ์ไกลกว่านั้น แม้ว่าสถานการณ์โควิด-19 จะเริ่มควบคุมได้แล้วจนบางประเทศออกมาใช้ชีวิตกันตามปกติ แต่ก็ต้องยอมรับว่าวิถีชีวิตการใช้พลาสติกที่มากขึ้นนั้นได้เกิดขึ้นแล้วและยากที่จะเปลี่ยนแปลง

ที่เป็นเช่นนี้เพราะนอกจากพฤติกรรมของมนุษย์ที่เปลี่ยนไปแล้ว ยังมีตัวแปรอื่นที่ทำให้เราต้องใช้และสร้างขยะพลาสติกจำนวนมากขึ้น โดยเฉพาะในแง่เศรษฐกิจที่ส่งผลต่อปริมาณขยะพลาสติกที่เกิดขึ้นอย่างชัดเจน 

เฮเลน แมคจอร์จ นักวิเคราะห์เศรษฐกิจอาวุโสของ ICIS กล่าวว่าในปัจจุบันที่โลกเข้าสู่ระยะจำศีล อุตสาหกรรมทุกอย่างหยุดชะงัก ความต้องการผลิตเชื้อเพลิงต่ำลง ทำให้ราคาของพลาสติกใหม่ (virgin plastic) ที่เคยสูงมากกลับลดลง กลุ่มผู้ผลิตที่เคยใช้พลาสติกแบบโพลีเมอร์ซึ่งย่อยสลายได้ง่ายและเหมาะแก่การนำกลับมารีไซเคิลก็หันกลับไปใช้พลาสติกบริสุทธิ์แทน เพราะมีขั้นตอนที่ง่าย ราคาประหยัด แต่ก็ต้องแลกกับสุขภาพของโลกที่เสียไปจากปริมาณขยะย่อยสลายยากที่เพิ่มมากขึ้น ซึ่งเป็นโจทย์ที่มนุษย์ต้องหาวิธีแก้ไขต่อไป

 

‘โดนัท’ แห่งความยั่งยืนของคนอัมสเตอร์ดัม

ตัวอย่างการแก้ปัญหาเรื่องการอนุรักษ์เชิงยั่งยืนที่น่าสนใจและคู่ควรแก่การเป็นกรณีศึกษามากๆ คือ Amsterdam City Doughnut ริเริ่มโดย Kate Raworth ผู้มองเห็นปัญหาว่ามนุษย์บริโภคทรัพยากรธรรมชาติสูงขึ้นจนไม่สมดุลกับทรัพยากรทางธรรมชาติที่มี

ภาพ : fairbnb.coop

ราเวิร์ธเสนอวิธีแก้ไขปัญหาโดย ‘ใช้และสร้างไปพร้อมกัน’ ในอนาคตสังคมจะต้องนำวิธีใช้ทรัพยากรธรรมชาติมาใช้ซ้ำ ควบคู่กับการผลิตที่ทำให้ใช้ทรัพยากรในแต่ละครั้งมีความยั่งยืนมากยิ่งขึ้น ซึ่งจะช่วยให้มนุษย์เข้าถึงทรัพยากรได้ทุกภาคส่วนและทำให้ทรัพยากรทางธรรมชาติไม่เสียสมดุลจนกลายเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อม

สาเหตุที่โปรเจกต์นี้มีคำว่าโดนัทเพราะกราฟที่ราเวิร์ธใช้นำเสนอหลักการที่ว่านั้นเป็นรูปโดนัท รูด้านในแสดงถึงปริมาณของผู้คนที่ขาดแคลนทรัพยากรด้านต่างๆ ในขณะที่โดนัทสีเขียวแสดงถึงกลุ่มคนที่เข้าถึงทรัพยากรได้ครบถ้วน ส่วนขอบด้านนอกนั้นแสดงถึงขีดจำกัดปริมาณทรัพยากรที่มนุษย์สามารถใช้ได้ในปัจจุบัน

ราเวิร์ธเชื่อว่าทุกอย่างต้องสมดุลกัน การปรับเปลี่ยนที่สุดโต่งและทิ้งปัญหาอีกด้านไว้ข้างหลังจะนำมาสู่ปัญหาที่มากกว่าเดิม ดังนั้นแผนการของทฤษฎีนี้คือการทำยังไงก็ได้ให้วงกลมสีเขียวขยายเข้าหารูตรงกลางเพื่อให้ทุกคนเข้าถึงทรัพยากร รวมถึงขยายออกไปข้างนอกเพื่อขยายเพดานปริมาณของทรัพยากรที่มนุษย์จะใช้ได้

ภาพ : smartcitiesworld.net

การแก้ไขเชิงปฏิบัติของ Amsterdam City Doughnut คือการกลับมาใช้ (restore) และสร้างใหม่ (regenerate) ไปพร้อมกัน ยกตัวอย่างเช่น เรื่องมลพิษจากสารเคมีซึ่งรวมถึงพลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้งด้วย ปัญหานี้ต้องแก้ไขในสองทางพร้อมกัน นั่นคือ หนึ่ง–นำพลาสติกที่มีอยู่กลับมารีไซเคิลแล้วใช้ใหม่ และสอง–ผลิตพลาสติกที่สามารถใช้ซ้ำได้หลายครั้งเพิ่มขึ้น

ราเวิร์ธคาดการณ์ว่าเมื่อเริ่มปฏิบัติการตามแนวคิดนี้ ภายในปี 2030 คนอัมสเตอร์ดัมจะลดการใช้ทรัพยากรใหม่ได้ถึง 20 เปอร์เซ็นต์ มารอดูกันว่า Amsterdam City Doughnut จะได้ผลจริงหรือไม่

 

ความยั่งยืนจาก ‘Circular Living’ สำหรับคนไทย

ย้อนกลับมาดูสถานการณ์ในประเทศไทยกันบ้าง ปัจจุบันบ้านเรามีขยะมากถึง 1.93 ล้านตันต่อปี แต่มีเพียง 0.39 ล้านตันที่เข้าสู่กระบวนการรีไซเคิล ซึ่งถือว่าเป็นการจัดการขยะที่ต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน โดยเฉพาะในยุคโควิด-19 ที่ปริมาณการใช้พลาสติกเพิ่มขึ้นมาอีกกว่า 3,440 ตัน

วิกฤตการณ์ดังกล่าวนี้ทำให้ผู้ที่รักสิ่งแวดล้อมหลากหลายฝ่ายในประเทศไทยจัดงาน GC Circular Living Symposium 2020: Tomorrow Together ขึ้น เพื่อแลกเปลี่ยนมุมมองและเรียนรู้จากผู้นำและผู้เชี่ยวชาญที่เป็นที่ยอมรับในระดับโลก รวมทั้งองค์กรและบุคลากรชั้นนำต่างๆ ที่มีความมุ่งมั่นในการร่วมมือกันอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติที่มีอย่างจำกัด เพื่อนำไปสู่การสร้างแบบแผนชีวิตที่ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมให้มากที่สุด

โดยในงานจะรวบรวมผู้นำทางความคิด นวัตกร และผู้ขับเคลื่อนด้านเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) จากหลากหลายวงการทั่วโลก มาช่วยกันคิด วิเคราะห์ หาสาเหตุ และออกแบบปัญหาให้กับประเทศไทยในปัจจุบัน ซึ่งจะเป็นการหารือและขอความร่วมมือจากทุกฝ่ายเพื่อช่วยกันพาประเทศพ้นวิกฤตทางด้านสิ่งแวดล้อมในครั้งนี้ ภายใต้แนวคิด ‘ทุกคนสามารถเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนได้’

แม้จะเป็นงานที่เหมาะสำหรับนักพัฒนา แต่คนธรรมดาแบบพวกเราก็ยังสามารถเสาะหาประโยชน์จากงานนี้ได้เช่นกัน เพราะในงานจะมี Circular City เมืองจำลองที่เชื่อมโยงวิถีชีวิตและสิ่งแวดล้อมเข้าด้วยกัน ช่วยให้เราเข้าใจการอยู่ร่วมกันระหว่างมนุษย์และธรรมชาติว่าไม่ใช่เรื่องยากตามที่หลายคนเข้าใจ

งาน Circular Living Symposium 2020: Tomorrow Together จะจัดขึ้นในวันพฤหัสบดีที่ 12 พฤศจิกายน 2563 เวลา 8:30-15:30 น. สามารถลงทะเบียนล่วงหน้าเพื่อชมถ่ายทอดสดผ่านช่องทางออนไลน์ไปพร้อมกันแบบไม่มีค่าใช้จ่ายที่ bit.ly/34Midtp

 


อ้างอิง

AUTHOR