ถ้าเขาจะรัก ธรรมดาแค่ไหนเขาก็รัก ‘ถ้า 30 ยังซิงจะมีพลังวิเศษ’ ซีรีส์ที่มีมากกว่าความจิ้น

ออกตัวก่อนว่าฉันไม่ค่อยได้ดูซีรีส์วาย มีเรื่องที่ดูจบแบบนับนิ้วได้ แม้ว่าช่วงหนึ่งฉันเคยปวารณาตัวเองเป็นสาววาย อ่านนิยายชายรักชาย เคยจับปากกาเขียนงานวายของตัวเองบ้าง แต่พออายุยิ่งเยอะความฟินที่เคยรู้สึกก็ไม่ทำงานเหมือนเก่า ไม่รู้ว่าเป็นเพราะช่วงวัยปัจจุบันสร้างฟิลเตอร์ใหม่ๆ ที่ทำให้ดูฉากหวานๆ แล้วเลี่ยน หรือซีนจิ้นในซีรีส์หลายเรื่องมันเลี่ยนจริงๆ จนดูไม่จบ แต่นั่นไม่ใช่ประเด็น

ประเด็นคือ ถ้าจะมีซีรีส์วายเรื่องไหนที่ฉันดูจบได้ในวัยใกล้ 30 Cherry Magic ถ้า 30 ยังซิง! จะมีพลังวิเศษ คือเรื่องนั้น

Cherry Magic
amazon.com

อาจเพราะเรื่องนี้ฉายในจังหวะเวลาที่ฉันอยากฮีลตัวเองจากชีวิตและเหตุการณ์บ้านเมืองที่น่ากลุ้มใจ มันจึงน็อกฉันได้อยู่หมัดตั้งแต่ตอนแรก ไม่แน่ใจว่าหลังจากนั้นเกิดอะไรขึ้น แต่ในความทรงจำอันรางเลือน ฉันเห็นตัวเองกดปุ่ม ‘ตอนต่อไป’ อีกหลายครั้ง รู้ตัวอีกทีเครดิตจบเรื่องก็ขึ้น พร้อมแก้มที่เมื่อยเพราะฉีกยิ้มเกินโควตาและเอวที่เกือบเคล็ดเพราะบิดตัวเขินนับครั้งไม่ถ้วน

ฉันรู้ว่าหลายคนอาจได้ยินคำว่าชุบชูใจกันจนเบื่อ ได้ยินทีไรก็คิดแต่ว่าไม่มีคำไหนมารีวิวความรู้สึกได้ดีกว่านี้ได้แล้วเหรอ แต่พูดก็พูดเถอะ Cherry Magic ถูกสร้างมาเพื่อชุบชูใจคนดูจริงๆ (ให้พูดอีกครั้งยังได้ ชุบชูใจ!) ตลอด 12 ตอนนั้นมอบความบันเทิงแบบเพียวๆ เหมือนโปรดิวเซอร์แปะโจทย์ให้ผู้กำกับว่า ไป! เราไปทำให้คนดูยิ้มได้ทุกตอนกันเถอะ 

แล้วพวกเขาก็ทำสำเร็จ (อย่างน้อยก็กับฉัน) แต่มากกว่าความสนุกจิกหมอน ซีรีส์ชวนจิ้นเรื่องนี้ยังสะท้อนกรอบคิดบางอย่างของคนญี่ปุ่นและแทรกหลายแง่มุมที่ชวนให้ฉันขบคิดสงสัยต่อ จัดอยู่ในหมวดซีรีส์จบคนดูไม่จบได้อีกเรื่อง

Cherry Magic

ปาฏิหาริย์ของคนซิงวัย 30

พล็อตเรื่องที่ฟังแล้วอยากกดปุ่มเพลย์ทันที อาจเป็นเหตุผลหลักที่เรื่องนี้ตกฉันได้

Cherry Magic เล่าเรื่องของอาดาจิ (รับบทโดย Eiji Akaso) หนุ่มออฟฟิศธรรมดาๆ คนหนึ่งที่อายุใกล้ขึ้นเลขสาม ทุกวันเขาใช้ชีวิตแบบวนลูป กินอาหารเมนูเดิมๆ ทำงานหนัก ไม่เคยมีคนรัก และคอยชื่นชมคนในออฟฟิศแล้วหวังว่าวันหนึ่งจะต้องเก่งให้ได้แบบพวกเขา โดยเฉพาะคุโรซาวะ (รับบทโดย Keita Machida) หนุ่มหล่อพนักงานขายดาวรุ่งผู้ที่อาดาจินับถือเป็นพิเศษ 

Cherry Magic
amazon.com

ก่อนวันเกิด รุ่นพี่ในแผนกเดียวกันเล่าให้อาดาจิฟังว่า ‘ถ้ายังรักษาพรหมจรรย์ได้จนอายุ 30 จะกลายเป็นผู้วิเศษ’ เขาคิดว่าเรื่องนี้มันไร้สาระ จนกระทั่งวันที่อายุ 30 เต็มตัว อาดาจิก็ค้นพบพลังวิเศษที่ทำให้เขาอ่านใจคนอื่นได้เมื่อแตะตัว 

แค่มีพลังก็น่าตกใจ แต่สิ่งที่ทำให้เขาเหวอกว่าคือเมื่อเผลอไปแตะตัวคุโรซาวะ อาดาจิก็ได้ยินว่าอีกฝ่ายแอบชอบเขาอยู่!

มังงะที่สร้างจากมีมในอินเทอร์เน็ต

ซีรีส์เรื่องนี้สร้างมาจากมังงะเรื่องดังของ Yuu Toyota ซึ่งเริ่มต้นจากการเผยแพร่บนทวิตเตอร์และ pixiv จนได้รวมเล่มในปี 2018 ถึงเธอจะเป็นคนแต่งเรื่องราว แต่ถ้าหากคุณรู้สึกคุ้นๆ กับพล็อต ‘ถ้าเก็บพรหมจรรย์ไว้จนอายุ 30 จะได้เป็นผู้วิเศษ’ ก็ไม่ต้องแปลกใจ

อันที่จริง ความเชื่อเรื่อง 30-Year-Old Virgin Wizard แพร่กระจายในโลกอินเทอร์เน็ตมาเนิ่นนาน เว็บไซต์ knowyourmeme.com ซึ่งรวบรวมเกร็ดสนุกๆ เกี่ยวกับมีมในอินเทอร์เน็ตเชื่อว่าจุดเริ่มต้นของความเชื่อนี้มาจากบริการสำรวจความคิดเห็นของคนญี่ปุ่นชื่อ Automatic Enquete Generator ที่ออกมาเผยว่าประโยค ‘ผู้วิเศษชายอายุ 30 ปี’ ได้รับการพูดถึงอย่างมากในกลุ่มผู้ใช้ ซึ่งใครเป็นคนจุดกระแสขึ้นก็ไม่อาจทราบได้

แม้เมื่อบริการปิดตัวลง ประโยคนี้ก็ยังแพร่กระจายต่อไปในคอมมิวนิตี้ออนไลน์หลายแห่งทั้งในญี่ปุ่นและฝั่งตะวันตก มันป๊อปปูลาร์จนเว็บไซต์พจนานุกรมศัพท์สุดนิชอย่าง Urban Dictionary บรรจุความหมายข้อหนึ่งของคำว่า wizard ไว้ว่า ‘A 30+ year old virgin.’ มียูทูบเบอร์ทำคลิปเกี่ยวกับเรื่องนี้ แถมในปี 2011 อนิเมะเรื่อง Haganai ยังกล่าวถึงประโยคในตำนานนี้อย่างตรงไปตรงมา 

ไม่นานหลังจากนั้นก็มีนักวาดการ์ตูนหยิบไปสร้างเรื่องราวจนกลายเป็นมังงะและซีรีส์ที่เราได้ดูกันนี่แหละ

amazon.com

ฉากเซอร์วิสที่เหมือนอ่านใจคนดูออก

ไม่แน่ใจว่าผู้สร้างเรื่องนี้มีพลังวิเศษที่อ่านใจคนได้เหมือนอาดาจิไหม แต่ถ้าเป้าหมายของพวกเขาคือกลุ่มแฟนๆ ซีรีส์แนว boy’s love (หรือที่เราเรียกว่าสาววาย) ก็เหมือนพวกเขาจะอ่านใจคนดูได้จริงๆ เพราะมีฉากเซอร์วิสให้จิ้นแทบทุกตอน สลับกับดราม่าตัดเลี่ยน ซึ่งความเก่งกาจคือในระเวลายี่สิบนาทีนิดๆ ของแต่ละตอนพวกเขาสามารถทำให้คนดูเขินจนตัวบิดได้ตลอดโดยที่ตัวละครหลักไม่ได้ทำอะไรมากไปกว่าการกอด แม้ตอนแรกฉันจะรู้สึกกลัวคุโรซาวะนิดๆ เพราะความในใจของเขาที่มีต่ออาดาจิบางอย่างมันน่าสะพรึงจริงๆ (เช่น ตอนอยู่ใกล้อาดาจิแล้วมีเสียงในใจว่า ‘คิดอยู่แล้วว่าต้องตัวหอม’ พอได้ยินก็รู้สึกเหมือนโดนคุกคามไปด้วยเลย) โชคดีที่ซีรีส์เผยให้เห็นแง่มุมอื่นๆ ของคุโรซาวะจนพิสูจน์ได้ว่านี่คืออาการคลั่งรักมากกว่าโรคจิต

amazon.com

สิ่งที่ฉันชอบที่สุดคือการดำเนินเรื่องเหมือนการ์ตูนญี่ปุ่น มีเสียงพากย์ความคิด มีการหันมามองกล้องแล้วร้องว่า ‘เอ๋?’ หรือ ‘ม่ายยยย’ และที่เรียกรอยยิ้มได้มากคือมุกที่เล่นกับพลังอ่านใจ ยกตัวอย่างซีนหนึ่งที่อาดาจิกับคุโรซาวะนั่งติดกันบนรถเมล์ แม้จะไม่ได้พูดคุย หันหน้ากันไปคนละทาง แต่อาดาจิได้ยินคุโรซาวะแต่งกลอนเกี่ยวกับตัวเขาจนต้องหลุดขำออกมา

Cherry Magic
amazon.com

ความชอกช้ำของการเป็นไอ้ต้าว

นอกจากความตลกขบขัน ซีรีส์เรื่องนี้สอดแทรกประเด็นทางสังคมไว้ให้ขบคิดหลายข้อ ที่เห็นได้ชัดสุดๆ คือตัวคุโรซาวะ พระเอกของเรื่องที่ดิ้นรนกับ beauty privilege มาทั้งชีวิต ใช่อยู่ที่ความหน้าตาดีของเขาทำให้คนอื่นชื่นชอบเขาได้ง่ายๆ แต่ลึกลงไปในใจ ชายหนุ่มกลับรู้สึกว่ารูปร่างหน้าตาเป็นเหมือนกำแพงสูงที่คนอื่นไม่สามารถก้าวข้ามมาได้สักที และไม่มีใครรู้จักตัวตนของเขาจริงๆ

หลายซีนในซีรีส์ฉายให้เห็นความชอกช้ำของการเป็นไอ้ต้าว ตั้งแต่เรื่องทำงานหนักให้ตายยังไงบางคนก็คิดว่าที่ทำสำเร็จเป็นเพราะหน้าตาอยู่ดี ไปจนถึงการถูกลวนลามทางเพศที่พอปฏิเสธก็โดนดูถูกว่าเล่นตัว อย่างเขาน่ะมีดีแค่หน้าตาเท่านั้นแหละ

Cherry Magic
amazon.com

ภาพสะท้อนของหนุ่มสาวญี่ปุ่นรุ่นใหม่ที่เลือกชีวิตได้เอง

Cherry Magic ยังสะท้อนกรอบสังคมของคนญี่ปุ่นที่ยังดำรงอยู่ในปัจจุบัน โดยเฉพาะระบบชายเป็นใหญ่ อย่างซีนที่อาดาจิกับคุโรซาวะถูกชวนไปดื่มกับผู้บริหารหญิงคนหนึ่ง อาดาจิมีท่าทีไม่อยากดื่มเลยถูกผู้บริหารชวนกึ่งแขวะว่า ‘ดื่มซะสิ เป็นผู้ชายไม่ใช่เหรอ?’ หรือซีนหนึ่งที่อาดาจิไปซื้อของกับฟูจิซากิซัง หญิงสาวผู้เป็นเพื่อนร่วมงานแล้วโดนอันธพาลเข้ามาหาเรื่อง อาดาจิเข้าไปช่วยแต่โดนเล่นงานจนอ่วม เขาจึงก่นด่าตัวเองในใจที่ไม่สามารถทำสิ่งที่ ‘ผู้ชายควรจะทำ’ ได้ เป็นซีนเล็กๆ ที่สะท้อนเรื่อง toxic masculinity (แนวคิดเรื่องชายเป็นใหญ่ที่ทำร้ายทุกเพศ) ได้ดี

Cherry Magic
amazon.com

ฟูจิซากิซังเองก็เป็นตัวละครที่น่าสนใจ ถ้าอยู่ในซีรีส์เรื่องอื่นเธอคงเป็นสาวออฟฟิศธรรมดาๆ ที่เข้ามาเป็นคอนฟลิกต์เล็กๆ ของเรื่องในฐานะหญิงสาวที่แอบชอบอาดาจิ แต่พออยู่ใน Cherry Magic เราก็มีโอกาสได้ยินเสียงในใจของเธอที่สะท้อนความคิดของผู้หญิงญี่ปุ่นยุคใหม่ที่เหนื่อยกับกรอบสังคมแบบเดิมๆ อย่างการเป็นคนสุภาพอ่อนหวาน ห้ามแสดงความรู้สึก และต้องมีคนรักเพื่อเติมเต็มชีวิต​ ภายใต้ใบหน้ายิ้มแย้ม ใครจะรู้ว่าเธอทนทุกข์กับการโดนที่บ้านถามอยู่ตลอดว่าเมื่อไหร่จะพาแฟนเข้าบ้าน เมื่อไหร่จะแต่งงาน ซึ่งสำหรับเธอการมีความรักไม่ใช่ทั้งหมดของชีวิต และชีวิตของเธอก็สมบูรณ์ได้ด้วยตัวมันเองโดยไม่จำเป็นต้องให้ผู้ชายคนไหนเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งก็ได้ 

นั่นคือเหตุผลที่ตอนอาดาจิพูดว่า ‘ถึงไม่มีความรักก็เป็นชีวิตที่สนุกได้’ ฟูจิซากิซังถึงรู้สึกประทับใจเป็นพิเศษ

amazon.com

การโอบรับความหลากหลายที่ครึ่งๆ กลางๆ

ถ้าจะมีอะไรที่ดูแล้วทำให้ฉันตะขิดตะขวงใจคือความเป็นวายแบบเดิมๆ ที่กำหนดให้พระเอก-นายเอกอยู่ในกรอบของคนรักต่างเพศ ด้วยการเขียนคาแร็กเตอร์ของตัวละครให้เป็นฝ่าย เคะ-เมะ ชัดเจน 

อ่านถึงตรงนี้แล้วสาววายอย่าเพิ่งจวกฉัน ฉันรู้ว่าญี่ปุ่นคือดินแดนต้นกำเนิดของ yaoi ที่ทรงอิทธิพลมากๆ ต่อสื่อบันเทิงแนวนี้ในหลายประเทศ รวมถึงประเทศไทย แต่ฉันแค่อยากจะชวนครุ่นคิดว่า ในขณะกระแสการขับเคลื่อนเรื่อง LGBTQ+ แผ่ขยายไปทั่วโลกในปัจจุบัน ยังจำเป็นแค่ไหนที่ซีรีส์วายต้องสเตอริโอไทป์พระเอกให้เป็นตัวแทนของชายที่มีความเป็นชายสูง ในขณะที่นายเอกมีความอ้อนแอ้นตัวเล็กตัวน้อยสื่อถึงความเป็นหญิง หรือทำไมอาดาจิกับคุโรซาวะไม่เคยคุยเรื่องรสนิยมทางเพศกันอย่างจริงจัง หรือกระทั่งคำถามสำคัญกว่านั้นคือ ตัวละครจำเป็นแค่ไหนที่จะต้องบอกว่าพวกเขา ‘เป็นอะไร’ ในซีรีส์ชายรักชาย 

Cherry Magic

หลายคนอาจชูมือบอกว่า ก็มันเป็นแค่จินตนาการที่ตอบโจทย์คนดูกลุ่มหนึ่งเท่านั้น ไม่ต้องตรงความเป็นจริงทุกอย่างก็ได้มั้ง และอันที่จริง ในสเปกตรัมของ LGBTQ+ ก็มี bisexual (คนที่รักทั้งชายและหญิง) และ pansexual (คนที่สนใจคนอื่นโดยไม่ติดว่าจะเป็นเพศอะไร) ไม่จำเป็นต้องบอกว่าเป็นเกย์เสมอไปซะหน่อย

อันที่จริง ในซีรีส์ก็พยายามจะปลูกฝังเรื่อง LGBTQ+ กับคนดูอยู่บ้าง ไม่ว่าจะฉายให้เห็นภาพการดิ้นรนและถกเถียงกับตัวเองของอาดาจิเมื่อเขารู้สึกหวั่นไหวกับผู้ชาย หรือซีนหนึ่งที่สึเงะ เพื่อนสนิทของอาดาจิ อธิบายเหตุผลของการหนีห่างมินาโตะ หนุ่มพนักงานส่งของ ว่าเขาไม่ได้หนีเพราะอีกฝ่ายเป็นเกย์ แต่เขาหนีเพราะตัวเองตกหลุมรักฝ่ายนั้น ซึ่งถือเป็นเรื่องน่าชื่นชม แต่คำถามคือฉากเหล่านี้เพียงพอหรือเปล่ากับการทำให้คนดูเห็นว่านี่คือความปกติ 

amazon.com

สำหรับฉันไม่มีอะไรถูกหรือผิดทั้งนั้น แต่ถ้าให้ตอบประเด็นทั้งหมดที่ยกขึ้นมา แน่นอนว่าฉันอยากเห็นอะไรมากกว่านี้ เหตุผลหนึ่งคือเราปฏิเสธไม่ได้ว่าซีรีส์วายกับอัตลักษณ์ทางเพศของชาว LGBTQ+ มีมิติที่ทับซ้อนกันอยู่ การแสดงออกเรื่องรสนิยมทางเพศอย่างชัดเจนและซื่อตรงต่อวิถีชีวิตของ LGBTQ+ อาจย่ำยีจินตนาการของสาววายหลายๆ คน (ที่ยังเชื่อว่าวายไม่ใช่เกย์แต่คือผู้ชายสองคนรักกัน) แต่มันทำให้คนดูและคนที่เป็น LGBTQ+ รู้สึกว่าพวกเขามีตัวตน และในฐานะคนที่นับตัวเองอยู่ในชุมชน LGBTQ+ แน่นอนว่านั่นคือสิ่งที่ฉันอยากให้เป็น 

น่าสนใจว่าในอนาคตทิศทางของซีรีส์วายญี่ปุ่นและอีกหลายประเทศจะเป็นไปแบบไหน และหากมันหลุดจากกรอบเดิมๆ ที่มีอยู่มันจะฟินได้เหมือนตอนนี้ไหม ฉันตั้งตารอและเอาใจช่วยล่ะ (หรือถ้าใครรู้จักเรื่องไหนที่หลุดจากกรอบแล้วกระซิบมาบอกกันได้ อยากตามไปดู)

พลังวิเศษของคนธรรมดา

กลับมาที่ซีรีส์ พอดูจบแล้วได้หันกลับมามองภาพรวม สิ่งที่ฉันชอบที่สุดในเรื่องพอๆ กับความรักของอาดาจิกับคุโรซาวะคงเป็นเรื่องพลังวิเศษนี่แหละ

พลังวิเศษทำให้อาดาจิมองเห็นแง่งามในคนรอบตัวที่บันดาลใจให้เขาอยากลุกขึ้นมาทำอะไรดีๆ ให้คนอื่นบ้าง ทำให้สึเงะเรียนรู้ว่าการเป็นคนที่เวอร์จิ้นมา 30 ปีไม่ได้หมายความว่าเขาจะรักใครไม่ได้ 

พลังวิเศษยังทำให้ตัวละครมองเห็นความสำคัญของการตรวจสอบความรู้สึกของคนที่อยู่ข้างๆ โดยเฉพาะในสังคมที่ทุกคนต่างรักษาน้ำใจกันและกัน ภายใต้ใบหน้ายิ้มแย้ม บุคลิกร่าเริงแจ่มใส ใครจะรู้ว่าข้างในคนคนหนึ่งกำลังอยากสื่อสารอะไรอยู่จริงๆ แม้คนที่สมบูรณ์แบบอย่างคุโรซาวะก็มีความรู้สึกเปราะบางไม่ต่างจากเราทุกคน

มากกว่านั้น พลังวิเศษทำให้ตัวละครมองเห็นข้อเสียของพลังวิเศษ ทำให้พวกเขาตั้งคำถามว่าถ้าไม่มีพลังวิเศษพวกเขาจะเป็นคนแบบไหน จะพึ่งพาตัวเองได้หรือใส่ใจคนรอบข้างได้เหมือนกับตอนมีพลังไหม นั่นคือคำตอบที่ตัวละครส่งผ่านมายังคนดูอย่างฉัน

สุดท้าย แม้พลังวิเศษจะเป็นปัจจัยใหญ่ที่ทำให้อาดาจิกับคุโรซาวะตกหลุมรักกัน แต่มันก็สอนให้พวกเขารู้ว่าการมีอยู่ของมันไม่ได้สำคัญเสมอไป ความรักที่พวกเขามีให้กันเกิดจากความชอบตัวตนข้างในต่างหาก 

ต่อให้มีหรือไม่มีพลัง จะเป็นคนที่วิเศษหรือธรรมดาแค่ไหน พวกเขาก็ยังตกหลุมรักกันเหมือนเดิม

Cherry Magic

ดู Cherry Magic แบบครบทุกตอนได้ทางแอพพลิเคชั่น WeTV ได้แล้ววันนี้


อ้างอิง

knowyourmeme.com/memes/30-year-old-virgin-wizard

urbandictionary.com/define.php?term=Wizard&defid=3565730

AUTHOR