วันที่ฉันคิดว่าตัวเองเก่งมาก

“ป้อ
ปีนี้เล่นไวโอลิน 2 นะ”

ประโยคที่ฉันรอคอยมานาน
ในที่สุดก็ได้ยินเป็นครั้งแรก

ถ้าให้กล่าวถึงเรื่องราวที่เป็นครั้งแรกของตัวเอง สิ่งที่ฉันนึกถึงล้วนเกี่ยวข้องกับการเล่นดนตรี ไม่ว่าจะเป็นการขึ้นแสดงบนเวทีเป็นครั้งแรก
การแสดงโชว์เดี่ยวครั้งแรก หรือจะเป็นการแสดงในวงออร์เคสตราครั้งแรก
ทุกเหตุการณ์ในตอนนั้นยังคงแจ่มชัดในความทรงจำ และครั้งแรกเหล่านั้นก็เป็นครั้งที่ทำให้ตัวตนของฉันแข็งแรงและชัดเจนจนฉันมาเป็นฉันในปัจจุบัน

ฉันเริ่มเล่น
‘ไวโอลิน’ ตั้งแต่ยังจำความไม่ได้ แม่เล่าว่าฉันสามารถเล่นมันได้โดยที่ยังไม่ได้เริ่มเรียนด้วยซ้ำ
ซึ่งนั่นคงเป็นเพราะได้ฟังพี่สาวทั้ง 2 คนเล่นให้ฟังมาตลอด แน่นอนในเวลาต่อมา ฉันที่เป็นน้องเล็กจึงเดินตามพี่สาวอย่างตะกุกตะกักในวัย 3 ขวบ
กลายเป็นลูกศิษย์ที่เด็กที่สุดของคุณครูร่างผอมในตอนนั้น

เวลาผ่านไป
การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ก็มาถึง ประมาณตอนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 ที่ครูใส่ชื่อฉันลงไปในตำแหน่งผู้เล่นไวโอลินแนวประสาน
(Violin
II, ไวโอลิน 2) ภายในวงออร์เคสตรา ตอนนั้นฉันออกจะภูมิใจเพราะเป็นแค่เด็กแต่ได้อยู่ในลำดับที่
2 ไม่ใช่ 3 (Violin 3) คิดเพียงว่าคนเก่งคนเด่นจะได้เล่นไวโอลิน
1 ในขณะที่คนที่เก่งน้อยกว่าจะอยู่ลำดับถัดๆ ลงมา แม้ครูจะคอยบอกเสมอว่า ทุกตำแหน่งในวงล้วนสำคัญเท่าๆ กัน
เหมือนรสชาติของอาหารที่ต้องมีรสเด่นและรสอื่นที่สร้างความละมุนเข้ามาเจือกันจนกลายเป็นรสกลมกล่อม แต่เพราะความคิดเด็กๆ ฉันจึงไม่สนใจคำครู คิดแค่ว่าตัวเองคงเก่งไม่เบา การเดินเข้าไปในห้องซ้อมและนั่งลงที่เก้าอี้ของตัวเอง
ในตำแหน่งของตัวเอง ด้วยความรู้สึกภาคภูมิที่กระจายอยู่รอบๆ เหมือนประกาศตัวตนของฉันอยู่กลายๆ

แต่นั้นแหละที่เขาว่ากันว่า
ยิ่งวางตัวไว้สูง เวลาตกลงมามันยิ่งเจ็บ ความจองหองที่เกิดขึ้นเหล่านั้นต้องดับวูบไปอย่างรวดเร็วทันทีที่คอนดักเตอร์เริ่มสะบัดแขนเป็นจังหวะ
หลังจากยื่นปึกโน้ตมาให้เพียงไม่กี่นาที

ระเบิดลง
คงเป็นคำอธิบายที่เหมาะที่สุดในตอนนั้น ทุกคนรอบข้างฉันแกว่งแขนไปราวกับกำลังเต้นระบำ
ในขณะที่ฉันกลายเป็นไอ้โง่คนหนึ่งที่ได้แต่ถือโบว์ (สิ่งที่ใช้ลากไปบนสายของตัวเครื่องให้เกิดเสียง)
ค้างไว้ที่เดิม สมองประมวลผลอย่างหนัก ทุกอย่างแปลกใหม่สำหรับฉันแต่ไม่ใช่สำหรับคนอื่น
ไม่มีใครตื่นตระหนกเมื่อต้องเริ่มเล่นทันทีหลังจากเพิ่งอ่านโน้ตไปไม่กี่ตัว
นอกจากนี้ ยังมีเรื่องน่าอัปยศอื่นอีก เช่น การที่ในกระดาษไม่มีเลขประจำตัวโน้ตที่ฉันอาศัยมันในการอ่านเพื่อเอาตัวรอดมาตลอด
9 ปี (ตอนนั้น ฉันอ่านโน้ตเป็นตัวไม่ออก เพราะงงบรรทัดและจำไม่ได้)

กลายเป็นว่าเหมือนฉันกำลังอ่านภาษาที่อ่านไม่ออก ผ่านไปไม่ถึง 10 นาทีแต่มันแสนทรมาน เหงื่อแตกพลั่กเพราะความเครียดและอาย
รู้สึกหน้าชาตัวชาไปหมด ได้แต่ลากโบว์ไปบนสายโดยที่ไม่กดโน้ตอะไรเลย (ใช้นิ้วแตะเบาๆ
ที่สาย จะทำให้เวลาสี เสียงจะไม่ออก)
ตอนนั้นรู้สึกเหมือนไม่มีใครสนใจเราเลย แต่นั่นทำให้ยิ่งรู้สึกว่าต้องดิ้นอยู่ในที่แคบ
พี่สาวของฉันที่นั่งอยู่ไม่ไกลพูดเพียงว่า “เล่นไป” ทั้งๆ ที่ฉันส่งสายตาขอความช่วยเหลือ
ในขณะที่ครูของฉันไม่มองมาที่ฉันเลยด้วยซ้ำ
ความอึดอัดความเสียใจทำให้น้ำตาเริ่มมาคลอที่เบ้า

ในที่สุดฉันจึงวางเครื่องไว้บนเก้าอี้แล้ววิ่งออกจากห้องไป

ฉันวิ่งขึ้นไปบนตึกถึงชั้น 3
ร้องไห้ออกมาดังที่สุด หน้าตาในกระจกช่างดูไม่ได้
แต่แล้วสัมผัสที่วางบนไหล่ทำให้ฉันรีบกล้ำกลืนก้อนสะอื้นไว้ ครูของฉันนั่นเอง ครูมองสบตาฉัน
ไม่ได้ปลอบใจไม่ได้ให้กำลังใจ แต่ถามด้วยน้ำเสียงเรียบๆ ว่า “จะเล่นต่อไหม”

น้ำตาที่หยุดไหลไป
ไหลออกมาอีกครั้ง

“ถ้าจะเล่นต่อ ล้างหน้าแล้วลงไป
แต่ถ้าไม่เอาแล้วก็เก็บเครื่อง ไปนั่งรอแม่มารับกลับบ้าน”

ครูพูดแค่นั้นแล้วผละออกไป เดินกลับลงไปด้านล่าง
ฉันกัดฟันแน่นกลั้นน้ำตาที่ไหลไม่หยุด สิ่งที่ครูพูดมาเหมือนแทงลงไปที่ใจ
ฉันยืนทบทวนวนไปวนมา สมองและใจตีกันมั่วไปหมด ใจนึงก็บอกว่าไม่ไหว
กลับบ้านเถอะแล้วเลิกเรียนซะ
แต่อีกใจมันคอยย้ำเตือนว่านี่คือสิ่งที่ฉันต้องการมาตลอด อยากเข้ามาเล่นในวงเหมือนพวกรุ่นพี่
อยากอยู่บนเวทีเล่นเพลงที่ยิ่งใหญ่ ฉันเปิดน้ำล้างหน้าสูดลมหายใจเข้าลึกๆ วิ่งลงไปข้างล่าง
หยิบไวโอลินตัวเองพาดลงที่บ่า ตัดสินใจแล้วว่าจะเล่นมันต่อ

ตั้งแต่ร้องไห้ครั้งนั้น เหมือนว่าฉันโตขึ้นอีกนิด
รับรู้ว่าตัวเองได้ก้าวผ่านก้อนกรวดเล็กๆ บนทางชีวิตมาได้หนึ่งครั้ง
ความคิดหลายอย่างเปลี่ยนไป ฉันเห็นคุณค่าของตัวเองมากขึ้น แต่ถ่อมตัวลง
เพราะหนึ่งคือความเข้าใจถึงความจริงว่า ทำไม่ได้ไม่ได้แปลว่าไร้ความสามารถ
แต่เราแค่ ‘ยังทำไม่ได้’ และที่สำคัญคือเราไม่ใช่คนที่เก่งที่สุดเสมอ

นอกจากนี้ บางครั้งการได้หยุดมองรอบด้านก็ทำให้เรารับรู้และได้เรียนรู้อะไรมากขึ้น คนรอบข้างที่ตอนแรกฉันคิดว่าเป็นกำแพงที่กดฉันลง
กลับกลายเป็นคนที่ฉุดฉันขึ้นแล้วดันฉันให้เดินต่อ บทเพลงต่างๆ เสมือนหนังสือในห้องเรียน
ส่วนผู้เล่นในวงคือเพื่อนร่วมงานที่ต้องสามัคคีกันโดยมีคอนดักเตอร์เป็นหัวหน้าคอยนำทาง
แม้จะมีสะดุดบ้างแต่เสียงดนตรีเป็นตัวกลางสำคัญระหว่างกลุ่มคนที่มีเป้าหมายเดียวกัน
วันที่ฉันขึ้นไปบนเวที บรรเลงท่วงทำนองจังหวะไปพร้อมกับคนอื่น
เป็นช่วงเวลาแสนพิเศษที่ทำให้หัวใจฉันเบิกบาน
เป็นช่วงเวลาที่หัวใจฉันตกลงไปในห้วงของเสียงเพลง ไม่ใช่แค่หลงใหลและเพลิดเพลิน แต่ยังเทิดทูนและยกคุณค่าของมัน
เพราะเสียงดนตรีเป็นสิ่งที่ตราตรึงอยู่ในใจว่าครั้งหนึ่งฉันคนนี้เคยได้เป็นผู้เล่นในวง

ใครอยากเล่าเรื่องวันเปลี่ยนชีวิตของตัวเองบ้าง คลิกที่นี่เลย

AUTHOR