โรงเรียนมัธยมที่ผมจบมาเป็นโรงเรียนคาทอลิก วันสำคัญที่สุดวันหนึ่งของโรงเรียนคือวันกีฬาสีที่มีชื่อว่า College Day
ด้วยชื่อของงานแล้ว
วันนี้เปรียบเสมือน ‘วันชาติ’ ของโรงเรียนเลยทีเดียว เป็นวันที่ทุกๆ
สีจัดเต็มกันมาไม่ว่าจะเป็นเสื้อเชียร์ ขบวนพาเหรด เชียร์ลีดเดอร์ การตกแต่งอัฒจรรย์เชียร์
และพระเอกของงาน
คือการแข่งขันกรีฑา
College Day จะมีการแข่งขันเฉพาะกรีฑาเท่านั้น ทั้งประเภทลู่และลาน กีฬาประเภทอื่น
ไม่ว่าจะเป็น ฟุตบอล บาสเกตบอล ตะกร้อ วอลเล่ย์บอล ฯลฯ
จะทำการแข่งขันกันตลอดทั้งปี สงวนไฮไลต์ของวัน College Day ให้เฉพาะกรีฑาเท่านั้น
ดังนั้น นักกรีฑาที่ได้เหรียญทองในวันนั้น จะมีความภาคภูมิใจเป็นอย่างมาก เพราะนักเรียนทั้งโรงเรียน
ตลอดจนครูและผู้ปกครองจะรู้จักและเป็นสักขีพยานของความสำเร็จนี้
ผมเป็นนักวิ่งระยะสั้น
ตั้งแต่ชั้นมัธยมต้นเป็นต้นมา ทุกปี ผมจะลงแข่งเฉพาะวิ่งผลัด 4 x 100 เมตร และ 4 x 200 เมตรเท่านั้น ไม่เคยวิ่งไกลกว่านี้ ฝีเท้าและเทคนิคก็พัฒนามาเรื่อยๆ
จนมาถึงจุดสูงสุดตอนที่ผมเรียนชั้น ม.5
ในปีนั้นผมลงแข่งทั้ง
4 x 100 เมตร และ 4 x 200 เมตร
เช่นเดิม เรามีทีมที่ดีมากในปีนั้น เป็นตัวเก็งทั้งสองรายการ และพวกเราก็ทำได้บรรลุตามเป้าหมาย
ได้แชมป์ทั้งสองรายการตามคาด
แต่ที่เหนือความคาดหมายก็คือทีม
4 x 200 เมตรของเรา ทำลายสถิติโรงเรียนลงอย่างราบคาบ
ในปีต่อมา
ซึ่งเป็นปีสุดท้ายของผมในโรงเรียน ผมตัดสินใจไม่ลงแข่ง 4 x 200 เมตรอีกต่อไป เพราะไม่เหลืออะไรให้ท้าทายอีกแล้ว ผมตัดสินใจลงแข่ง 4 x 100
เมตร โดยมีเป้าหมายทำลายสถิติของโรงเรียนให้ได้
อีกรายการ
ผมเลือกแข่งวิ่ง 400 เมตร หากใครพอรู้เรื่องเกี่ยวกับการแข่งขันวิ่งบ้างจะรู้ว่าระยะ
400 เมตรนั้น ยังจัดอยู่ในประเภทการวิ่งระยะสั้น คือวัดกันที่ความเร็ว
แต่เป็นระยะที่โหดมากเนื่องจากต้องวิ่งสปีดเต็มที่ และต้องยืนระยะให้ได้ในเวลาไม่เกิน 1 นาที
คนที่เคยวิ่งจะรู้ว่า…แทบขาดใจ
ผมเตรียมพร้อม
ซ้อมวิ่งตามปกติ ระยะเวลาการเตรียมตัว ลักษณะการซ้อม
ยังคงรูปแบบการซ้อมเหมือนทุกปี ร่างกายผมพร้อมมาก เดินเข้าสู้วันสำคัญที่สุดในโรงเรียนเป็นครั้งสุดท้ายด้วยความมั่นใจเต็มเปี่ยมกับการปิดฉากนักกรีฑาเลือดน้ำเงิน-ขาวอย่างเต็มภาคภูมิ
แล้ววันนั้นก็มาถึง
วัน College Day ในเดือนมกราคม ปี 2531 วันที่ทำให้มุมมองต่อเรื่องต่างๆ ของผมเปลี่ยนไปตลอดกาล…
ทีม 4 x 100 เมตรของเราได้แชมป์ตามคาด แม้ทำลายสถิติโรงเรียนลงไม่ได้ รายการสุดท้ายของผมคือ
วิ่ง 400 เมตร หากนับกันที่สปีดความเร็วแล้ว ผมเป็นนักวิ่งที่มีสปีดเร็วที่สุด
เหนือกว่านักวิ่งทุกๆ คนที่ลงแข่งในปีนั้น
ผมเดินไปเตรียมตัวออกสตาร์ทด้วยความผ่อนคลาย
ไม่ได้เคร่งเครียดอะไร ถึงแม้ครั้งนี้จะเป็นครั้งแรกของการแข่งในระยะนี้ของผม ผมออกตัวนำโด่งตั้งแต่ต้น
ทิ้งห่างคู่แข่งแบบขาดลอย เสียงเชียร์ดังกึกก้อง เพราะเป็นการนำโด่งมากๆ ผมวิ่งมาจนถึงระยะ
300 เมตร อีกแค่ 100 เมตร
ผมก็จะได้เหรียญทองอีกเหรียญไปประดับ
แต่…อยู่ๆ
ผมเกิดช็อตขึ้นมาเฉยๆ เร่งสปีดไม่ได้
จู่ๆ
ขาทั้งสองข้างเหมือนกับไม่ใช่ขาของผม มันไม่ฟังคำสั่งจากสมองที่พยายามสั่งให้เร่งสปีดต่อไป
มันทรยศผม โดยทำแค่เพียงเคลื่อนไหวตามแรงเฉื่อยเท่านั้น
เสียงโฆษกสนามดังก้องพยายามกระตุ้นผม
เสียงเชียร์เริ่มแผ่วเบาลง เปลี่ยนเป็นเสียงประหลาดใจ
ผมค่อยๆ ถูกแซงไปทีละคน สุดท้ายก็เข้าเส้นชัยเป็นที่ 4 ในสภาพเหมือนเดินเข้าเส้นชัย แต่ผมยังได้เหรียญทองแดง เพียงเพราะคนที่เข้าที่
3 ทำฟาวล์
ผมไม่เคยรู้สึกภูมิใจกับเหรียญทองแดงเหรียญนั้นที่ได้เลย
แทนที่ผมจะปิดฉากอย่างสวยงามด้วยความประทับใจ ผมกลับปิดฉากด้วยความขายหน้า และอับอาย…
ทว่า ในวันนี้เมื่อมองย้อนกลับไป
ผมกลับรู้สึกดีใจมาก ที่เกิดเหตุการณ์อันน่าอับอายแก่ผมในวันนั้น
ทุกครั้งที่ผมทำอะไรประสบความสำเร็จ
เหตุการณ์ในวันนั้นจะแฟลชแบ็กเข้ามาในหัวผมตลอดเวลา คอยย้ำเตือนว่า…ผมรอบคอบเพียงพอที่จะไม่หลงลืมรายละเอียดบางอย่างไปหรือไม่
ผมเตรียมการอย่างพร้อมจริงๆ
สำหรับทุกสถานการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้นหรือเปล่า
ความมั่นใจและความเชื่อมั่นของผมอยู่ในระดับพอดี
ไม่มากจนเกิดเป็นอัตตาที่ควบคุมไม่ได้ไหม
เราทุกคนได้รับการสอนและปลูกฝังจากพ่อแม่ครูบาอาจารย์มาตลอดว่า อย่าเชื่อมั่นจนเกินงาม อย่ากระหยิ่มใจกับความสำเร็จที่เข้ามา
มีขึ้น ก็มีลง
ร้อยทั้งร้อย ไม่เคยมีใครควบคุมตัวเองได้
ร้อยทั้งร้อย ล้วนเคยเดินเข้าสู่แดนประหารด้วยตัวเอง เพราะทุกคนที่เคยประสบความสำเร็จจะมีช่วงเวลาหนึ่ง
ที่รู้สึกว่าโลกทั้งโลกอยู่ใต้อุ้งมือเราทั้งนั้น
ผมโชคดีที่เหตุการณ์นั้นเกิดกับผมเร็วในวัยเยาว์ ความเสียหายที่เกิดขึ้นไม่มาก
คุณล่ะ
เคยประสบเหตุการณ์ทำนองนี้หรือยัง…
ภาพ pexels.com