พีรเดช มุขยางกูร ซีอีโออายุน้อยแห่ง Cariber คอร์สออนไลน์ที่ชวนผู้นำทางความคิดมาแชร์ความรู้ให้หนุ่มสาวฟัง

ลองดูว่าเห็นรายชื่อผู้สอนคอร์สออนไลน์ต่อไปนี้แล้วคุณรู้สึกอย่างไร? ฐากร ปิยะพันธ์, บรรยง พงษ์พานิช, รวิศ หาญอุตสาหะ, ภาณุ อิงคะวัต, ยุทธนา บุญอ้อม, เรืองโรจน์ พูนผล ไปจนถึง เกียรติศักดิ์ เสนาเมือง, บรรจง ปิสัญธนะกูล, ดุจดาว วัฒนปกรณ์ ฯลฯ   

ขออนุญาตตอบแทนให้เลยก็ได้ว่า รายชื่อเหล่านี้ทำให้คุณรู้สึกตื่นตาตื่นใจ เพราะแต่ละคนเป็น ‘เบอร์ใหญ่’ เป็นผู้นำทางความคิดในสายงานของตัวเองทั้งนั้น สิ่งที่คุณคิดต่อไปก็คือ แล้วคนที่ทำแพลตฟอร์มนี้เป็นใครกันหนอ จึงสามารถรวบรวมบุคคลระดับนี้มาสอนได้มากมาย เขาต้องเป็นคนที่มีพาวเวอร์อะไรบางอย่างแน่ๆ   

แต่แท้ที่จริงแล้ว เปล่าเลย Co-Founder และ CEO ของแพลตฟอร์มเรียนออนไลน์ Cariber ที่เรากำลังพูดถึงอยู่นี้ เป็นเพียงเด็กหนุ่มวัย 25 ปีที่ชื่อ พี-พีรเดช มุขยางกูร

เด็กหนุ่มที่ก่อนหน้านี้หลังเรียนจบจาก BBA ธรรมศาสตร์ เคยทำงานประจำมา 1-2 แห่ง จากนั้นเมื่อเดือนเมษายน 2020 นี้เอง ลาออกมาเริ่มทำธุรกิจของตัวเองกับเพื่อนซี้อีกคนที่ชื่อ ฟิว-ณัฐพนธ์ เมธาภาคย์ ทั้งๆ ที่ยังไม่รู้แน่ชัดว่าจะทำอะไรกัน 

จนถึงวันนี้ ผ่านมาเกือบ 2 ปีแล้ว ผลลัพธ์ของการลงมือทำในวันนั้น ไม่เพียงแต่กลายเป็นรูปเป็นร่างและตั้งต้นยืนได้ แต่ดูเหมือนว่าแพลตฟอร์มคอร์สออนไลน์อย่าง Cariber ที่เรียกร้องสายตาผู้พบเห็นได้จากความ ‘ปัง!’ ของเหล่า instructor นั้น กำลังเริ่มออกเดินไปตามเส้นทางของตัวเองข้างหน้า ทีละก้าว อย่างมั่นคง และมีเป้าหมาย

a day จะพาคุณไปรู้จัก Founder หนุ่ม ผู้ที่บอกว่าตัวเองเป็น problem solver ชอบการขาย และคลั่งไคล้ฟุตบอลคนนี้

เริ่มจากการเป็นโบรกเกอร์ขายขนมให้แม่

ผมชอบเรื่องธุรกิจการค้าขายมาตั้งแต่เด็ก อาจจะไม่ถึงขั้นรู้ตัวขนาดนั้น แต่ก็สั่งสมมาเรื่อยๆ อย่างเช่นเมื่อก่อนแม่ผมทำร้านขายขนม แล้วอาจารย์ที่โรงเรียนชอบสั่งขนมของแม่ ผมก็จะเป็นเหมือนโบรกเกอร์ คอยดีลว่าใครเอาอะไรบ้าง และขอค่าคอมมิชชั่นจากคุณแม่ นั่นคือสตอรี่ตอนเด็กๆ

พอมาปี 2009 ตอนนั้นผมอยู่ ม.2 ชอบดูบอลมาก และบอลไทยกำลังบูมสุดๆ ผมเชียร์ทีมเมืองทอง ปรากฏว่าเสื้อเมืองทองขาดตลาด แล้วพอดีผมได้ไปซัมเมอร์ที่สิงคโปร์ จนสุดท้ายไปเรียนต่อที่นั่น ที่สิงคโปร์มีเสื้อบอลเยอะมาก ผมก็ซื้อมาทำดีไอวายที่ไทย ขายออนไลน์ผ่านเว็บบอร์ด เสื้อเปล่าแบรนด์แท้ตัวละ 500 มาใส่โลโก้ สกรีนสปอนเซอร์ ติดอาร์ม ตัวแพงสุดขายได้ 5,000 ผมขายหลัก 500-1,000 ตัว มาร์จินสูงมาก แต่ธุรกิจนี้ก็อยู่ได้แค่ 2-3 ปี เพราะมันเกิดจากความไม่เสถียรของสภาพตลาด ณ ตอนนั้น ปัจจุบันคงทำไม่ได้แล้ว

นั่นเป็นครั้งแรกที่ผมได้จับเงินเป็นเนื้อเป็นหนังจากการทำธุรกิจ สนุกมากกับการซื้อมาขายไป เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ชอบการค้าขาย การทำธุรกิจแบบจริงๆ จังๆ จำได้ว่าวันไปสัมภาษณ์เข้า BBA ธรรมศาสตร์ หรือคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชีอินเตอร์ฯ คำถามคือจบไปแล้วอยากทำอะไร ผมตอบว่าอยากทำธุรกิจส่วนตัว อยากเป็นผู้ประกอบการ 

สิ่งนี้เลือนรางหายไปบ้างในช่วงที่เรียน และเริ่มได้ mindset ของการเป็นพนักงานประจำมา แต่ทำไปสักพักก็รู้ว่า เราอยากลองในสมรภูมิของผู้ประกอบการมากกว่า  

ลาออกจากงานประจำมาทำธุรกิจ ให้เวลาตัวเอง 1 ปี  

ตอนเรียนอยู่ BBA ธรรมศาสตร์ ผมมีโอกาสได้ไปฝึกงานที่ Lazada Uber Microsoft เพราะมีความชอบเกี่ยวกับ tech startup โปรดักต์หรือเซอร์วิสที่เกี่ยวข้องกับตัวเอง ในสภาพแวดล้อมที่มีคนรุ่นใหม่เยอะๆ 

จบมาได้ไปทำงานที่ Sea Group ในหน่วยงานที่ทำ Garena เกม ROV จริงๆ ชอบสภาพแวดล้อมและตัวบริษัทมาก แต่ผมอาจจะไม่ได้เป็นคนที่ชอบเกมขนาดนั้น เลยลาออกมาทำบริษัทเล็กลง เป็น Product Manager ที่สตาร์ทอัพตัวหนึ่ง ชื่อ Workmate ก่อนหน้านี้ใช้ชื่อ Helpster เป็น regional สตาร์ทอัพมีเฮดควอเตอร์อยู่สิงคโปร์ มีโปรดักต์ที่อินโดนีเซียและไทย เป็นที่ที่เริ่มทำโปรดักต์ในส่วนของ tech มากขึ้น

หลังจากนั้นผมก็ลาออกจากงานประจำมาเริ่มทำธุรกิจของตัวเองกับเพื่อนอีกคนหนึ่งคือ ฟิว-ณัฐพนธ์ เมธาภาคย์ ฟิวกับผมเป็นเพื่อนที่สนิทกันมาตั้งแต่อยู่ BBA ฟิวเรียนการตลาด ผมเรียนการเงิน ตอนปี 3 เราทำโปรเจกต์ด้วยกันใน dtac accelerate ซึ่งเป็นโครงการสนับสนุนสตาร์ทอัพ และมีไอเดียอยากทำธุรกิจด้วยกันมาตั้งแต่ตอนนั้น

ผมกับฟิวตัดสินใจร่วมหัวจมท้ายกันโดยให้เวลาตัวเอง 1 ปี เพราะเงินทุนเรามีจำกัด ใช้แค่ทุนตัวเอง และ 1 ปีน่าจะเป็นเวลาที่พอวัดได้ว่าเวิร์กหรือไม่เวิร์ก ก็คุยกันแค่นั้น เราเชื่อในกันและกันมากประมาณหนึ่ง 1 เมษายน ปี 2020 ผมก็ลาออกจากงานมา ส่วนฟิวก่อนหน้านั้นทำธุรกิจส่วนตัว เขียนหนังสือ ก็หยุดมาโฟกัสสิ่งนี้เต็มตัวเช่นกัน

วันแรกเราคิดว่าเราอยากทำสตาร์ทอัพ แต่จะทำอะไรดี ถ้าพูดตรงๆ ก็ยังคิดไม่ออกร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่เรามองเห็นสิ่งหนึ่งที่คิดว่าน่าสนใจคือ หนึ่ง, เราเห็นว่ามีมีเดียในตลาดค่อนข้างเยอะ สอง, สิ่งที่เราชอบอยู่แล้วคือเป็นคนชอบเรื่องการงาน ชอบใช้ LinkedIn หลายคนบอกผมชอบหางานมากกว่าทำงาน ก็รู้สึกว่ามันดูมีทาร์เก็ต สิ่งแรกที่ทำเราคิดไม่เยอะเลย คือเราอยากสัมภาษณ์คน และเป็นเรื่องเกี่ยวกับการงาน เรื่อง Career ก็เลยเกิดเป็น Career Fact ขึ้นมา เป็นมีเดียอันหนึ่งซึ่งเราก็รู้ว่ามีเดียมีข้อดีและมีข้อจำกัดของมัน แต่เรารู้สึกว่าวันนั้นเป็นไอเดียที่เริ่มได้ง่ายและเริ่มได้เลย ก็เริ่มกันจากตรงนั้นก่อน

หลังจากทำ Career Fact ได้ 3-4 เดือน สัมภาษณ์พี่ๆ น่าจะหลัก 10 คนแล้ว ระหว่างนั้นก็หาโอกาสไปเรื่อยๆ ว่าเราจะทำอะไรต่อดี มีลิสต์ของไอเดียที่อยากทำอยู่แล้ว แต่ก็รู้สึกยังไม่ใช่สักที จนเราไปสัมภาษณ์พี่ผู้บริหารท่านหนึ่ง เขาบอกเราว่า คุณมีโอกาสได้สัมภาษณ์คนเก่งๆ พวกผู้บริหาร จากแค่สัมภาษณ์ คุณน่าจะลองทำให้มันยาวขึ้นนะ ไหนๆ ก็ตั้งกล้องถ่ายอยู่แล้ว ทำให้ยาวกว่านี้หน่อยก็เป็นคอร์สได้ เหมือน MasterClass ไง

นั่นเป็นคล้ายๆ จุดเริ่มต้น เราก็นำไอเดียนั้นกลับมาคิดต่อว่า จริงๆ มีโอกาสในตลาดมากน้อยแค่ไหน ซึ่งก่อนหน้านั้นเราเองอาจจะไม่ได้เป็นคนที่มีความรู้ในเรื่อง learning platform เราไม่ใช่คนที่ชอบดูคอร์สออนไลน์มากขนาดนั้น เคยดูบ้างแต่คงไม่ใช่ทาร์เก็ตหลัก ฉะนั้นเราก็ต้องกลับมาศึกษาตลาด โดยพักไอเดียไว้ด้านหนึ่งก่อน ไอเดียคือ MasterClass แล้วมาแยกว่าปัญหาที่ user เจอในปัจจุบัน อะไรบ้างที่เราเข้าไปตอบโจทย์ได้

สุดท้ายแล้วมันกลับมาตรงที่ว่า เราเชื่อว่า วันนี้ถ้าเราทำคุณภาพที่ดีกว่าได้ หรือถ้าเราโฟกัสที่คุณภาพในเลิร์นนิ่งแพลตฟอร์ม เราน่าจะมีความแตกต่างในตลาดนี้ 

แล้วคุณภาพที่ว่ามันคืออะไรบ้างล่ะ? คุณภาพมีตั้งแต่ผู้สอน โปรดักชั่น curation จนไปถึงการขาย จะขายยังไง สิ่งที่เราเชื่อคืออะไร แล้วสิ่งที่ตลาดต้องการคืออะไร นั่นคือจุดเริ่มต้นที่ค่อยๆ คราฟต์ไอเดียของ Cariber ขึ้นมา 

ยังไม่ซื้อไม่เป็นไร แต่เห็นคนสอนแล้วต้องร้อง ‘ว้าว!’

ในหลายๆ ธุรกิจสำหรับสตาร์ทอัพ คำว่าเทคโนโลยีอาจจะเป็นสิ่งสำคัญที่สุด ฉันต้องมีแพลตฟอร์มที่ดีมากๆ ถึงจะ launch ได้ แต่ด้วยความยูนีคของเลิร์นนิ่งแพลตฟอร์ม สิ่งที่ยากที่สุดก็คือผู้สอน นั่นคือความท้าทายแรกที่เราเจอ

ต้องบอกว่าในวันแรกรายชื่อที่เราติดต่อ เราไม่ได้ตั้งเกณฑ์อะไรเยอะ จริงๆ เกณฑ์เรามีอันเดียวและคิดว่าน่าจะเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด คือเราอยากให้คนที่เข้ามาดูแพลตฟอร์มเรา เขายังไม่ซื้อไม่เป็นไร แต่เขาต้องรู้สึกว่า ‘ว้าว’ ดึงคนนี้มาสอนได้ยังไง เพราะเราไม่ใช่ผู้เล่นคนแรกในตลาดแน่ๆ เราเป็น late comer ถ้าเราอยากจะแตกต่าง อันนั้นก็เป็น wow factor ที่เราต้องพยายามหาให้ได้ 

การหาผู้สอนในระดับที่ให้ความรู้สึก ‘ดึงคนนี้มาได้ยังไง’ นั้นยากมากๆ เพราะถ้าย้อนกลับไป เราอาจจะมีเครดิตของการทำ Career Fact มาบ้าง แต่ก็ยังน้อยมากๆ ที่จะไปบอกผู้บริหารว่า ผมขอเวลาทำเนื้อหากับพี่ๆ 5-10 ชั่วโมงก่อนถ่ายทำ แล้วก็ขอเวลาพี่ๆ 1 วันเต็มในการถ่ายทำ ตั้งแต่ 8 โมงเช้าถึง 5 โมงเย็น มันคงเป็นอะไรที่ยากมากๆ 

ซึ่งด้วยความที่ไม่รู้ว่าจะติดต่อยังไง เราก็สู้แบบมวยวัดเลย คือทุกคอนเนกชั่นที่มี ทุกช่องทางที่เราไปได้ ทุกคนที่เรารู้จัก LinkedIn ทักหาคนมากมาย เรารู้ว่าสิ่งที่เราทำดูน่าจะมีประโยชน์ ลองคุยกับพี่ๆ หลายๆ คน ซึ่งวันนั้นก็ต้องยอมรับว่าคนสนใจมีไม่เยอะ เพราะหนึ่ง, เขาไม่รู้ด้วยซ้ำ เราบอกว่า พี่ ผมอยากทำมาสเตอร์คลาส คำถามแรกที่เขาคงคิดในใจ แต่เขาไม่ได้บอกผมก็คือ พวกเราจะทำได้เหรอ เพราะเราเองก็ไม่ได้มีประสบการณ์ ผมก็ไม่เคยทำโปรดักชั่นกองใหญ่มา วันแรกที่ถ่ายทำ Cariber นั่นคือโปรดักชั่นที่ใหญ่ที่สุดในชีวิตผมแน่นอน ก่อนหน้านั้นคือตั้งกล้องคนเดียว ถ่ายรูปคนเดียว ซึ่งพอเป็นแบบนั้นก็ต้องหาคนที่เชื่อและให้โอกาสพวกเราจริงๆ

สุดท้ายหลังจากติดต่อไปเยอะมากๆ ก็ได้พี่ๆ มา 3 ท่านแรกในระยะเวลาประมาณ 7 เดือนที่หา คือ คุณฐากร ปิยะพันธ์ ผู้บริหารทางด้านการเงิน, คุณมณีรัตน์ อนุโลมสมบัติ ซีอีโอของ Sea ประเทศไทย และคุณบรรยง พงษ์พานิช ประธานกรรมการบริหาร ธนาคารเกียรตินาคินภัทร จนสามารถเปิดตัวแพลตฟอร์ม Cariber ได้เมื่อเดือนมีนาคม 2021

สิ่งที่จะทำให้ผู้สอนมาหรือไม่มา คือเขาเชื่อมั่นในตัวเรามากน้อยแค่ไหน 

ตอนทำฟรีมีเดียมันเหมือนมีความเข้าใจที่ตรงกันว่า ไม่มีเรื่องของตัวเงินเข้ามาเกี่ยวข้อง เป็นการแลกเปลี่ยนกัน คือทางเรามีคอนเทนต์ แล้วเราก็ให้คอนเทนต์นั้นกับ public แต่ตอนนี้เป็นเซอร์วิสที่มีการขาย แน่นอนว่าต้องมีการตอบแทนที่สมน้ำสมเนื้อสำหรับพี่ๆ แต่ผมรู้สึกว่า สิ่งที่สำคัญกว่านั้นคือ คุณค่าบางอย่างที่เราเสนอให้มากกว่า 

เพราะถ้าพูดตามตรง พี่ๆ ท่านจะมาหรือไม่มา จริงๆ เงินอาจจะไม่ใช่ปัจจัยหลัก หรืออาจจะไม่ใช่ปัจจัยเลยด้วยซ้ำ สิ่งที่จะทำให้เขามาหรือไม่มา คือ เขาเชื่อมั่นมากน้อยแค่ไหนในสิ่งที่เรากำลังจะทำ ซึ่งวันแรกก็ต้องยอมรับว่ายาก เราเองไม่ได้มีเครดิตอะไรไปบอกเขาว่าผมเคยทำแบบนี้มา แต่พอวันนี้เราเปิดตัวมาได้สักพักหนึ่งแล้ว เหมือนการให้พี่ๆ เข้าไปดูว่า อันนี้คือความตั้งใจที่เราเคยทำมาก่อนหน้า ทุกท่านก็จะรู้สึกเห็นดีเห็นงามว่าส่ิงที่เราทำมันโอเค

ถ้าคำที่ผมบอกเลยก็คือ วันนี้พอพี่ๆ ประสบความสำเร็จถึงจุดหนึ่งแล้ว ทุกท่านอยากจะ leave legacy หรือทิ้งอะไรไว้ให้คนรุ่นหลัง ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ซึ่งก่อนหน้านั้นเขาเขียนหนังสืออัตชีวประวัติของตัวเอง หรือหนังสือในเรื่องที่ตัวเองถนัด เราเองรู้สึกว่าการเขียนหนังสือเป็นวิธีหนึ่งที่ดีมากๆ ผมเองก็อ่านหนังสือ แต่คือเรามีทางเลือกให้พี่ๆ อันนี้เป็นดิจิทัลแพลตฟอร์มที่ทำหน้าที่คล้ายๆ กันในการส่งต่อ ซึ่งผมรู้สึกว่ามันมีความคล้ายคลึงกับการเขียนหนังสือตรงที่ว่า ไม่รู้ว่าผมผิดมั้ย แต่ผมเชื่อว่าพี่ๆ หลายๆ คนที่เป็นผู้นำทางความคิด ผู้บริหาร เวลาเขียนหนังสือไม่ได้มุ่งหวังเรื่องค่าตอบแทนเพียงอย่างเดียว แต่อยากเขียนเพราะเขาอยากแบ่งปันจริงๆ เราก็เชื่อว่ามันมีองค์ประกอบเหมือนกันในการทำคอร์สนี้ ไม่แน่ว่าอาจจะเข้าถึงคนได้มากกว่าด้วยซ้ำ เพราะก็จะมีคนที่ชอบอ่าน และคนที่ชอบดู

อันนี้ก็เป็นภาพที่บอกพี่ๆ เขา ก่อนหน้านั้นเราก็ทำรีเสิร์ชมาประมาณหนึ่ง พอรู้ว่าหลายๆ ท่านมีความอยากจะเขียนหนังสืออยู่แล้ว เราเองก็ได้อ่านได้มีการติดตามหลายๆ ท่านอยู่แล้ว 

สร้างคอร์สแบบครูพักลักจำ ให้เวลา และลงเงิน 

จริงๆ ทั้งผมและฟิวไม่มีความรู้ทั้งทางด้านโปรดักชั่น และ education มาก่อนมากนัก สิ่งที่ทำคือครูพักลักจำอย่างเดียว เราดูทุกแพลตฟอร์มที่มีทั้งไทยและต่างประเทศ แล้วลิสต์เลยว่าสิ่งที่เราชอบคืออะไรบ้าง สิ่งที่เราไม่ชอบ จุดอ่อนจุดแข็งของแต่ละคน แล้วก็มาดูว่าเราจะออกแบบคอร์สอย่างไรให้มันดีที่สุด น่าตื่นตาที่สุด กระบวนการของการพัฒนาคอร์สจริงๆ มันเริ่มมาจากการดูว่าข้างนอกเป็นยังไงบ้าง เพราะเรารู้ว่าเราไม่ใช่คนแรกที่ทำในตลาดแน่ๆ มีตัวอย่างมากเกินพอที่จะดูได้

หลังจากดูเสร็จก็มาพัฒนาว่า แล้วใน Cariber ควรมีอะไรบ้าง ก็กลับมาที่ตัว instructor หรือผู้สอน วิธีการเล่าเรื่องเล่ายังไงให้สนุกที่สุด วันนี้ยังไม่เพอร์เฟกต์ แต่นั่นคือความตั้งใจของเราจริงๆ ศัพท์ที่ใช้กันก็คือ edutainment นั่นเอง

ส่ิงหนึ่งที่เราเชื่อก็คือ คอร์สที่ดีไม่จำเป็นต้องยาว วันแรกต้องบอกว่าเป็นการตัดสินใจที่ยาก ทุกคนก็บอกว่าถ้าคอร์สยาว 3-4 ชั่วโมง คนจะรู้สึกว่าคุ้ม ยิ่งยาวยิ่งคุ้ม ซึ่งเรามีความรู้สึกแตกต่างออกไป อาจจะเพราะผมเป็นคนสมาธิสั้นเล็กน้อย คนอาจจะมองว่าคุ้มก็จริง แต่ถ้าเรียนไม่จบก็ไม่มีประโยชน์อะไร ในหลายๆ ครั้งเราตัดฟุตเทจออกเกือบครึ่ง สิ่งไหนที่เรารู้สึกว่าซ้ำ ผู้เรียนไม่จำเป็นต้องรู้ ถ้าครบองค์ประกอบที่ผู้สอนอยากจะสื่อแล้ว เราก็ตัดแค่นั้น

ในด้านของการทำบท ทำให้แตกต่างยังไง ผมว่าต้องขอบคุณย้อนกลับไปที่พี่ๆ ผู้สอน สุดท้ายแล้วไม่ว่าเราจะตั้งใจทำการบ้านขนาดไหน ถ้าผู้สอนไม่ได้ให้เวลากับเรา ก็ผลิตงานที่ดีออกมายาก เราเองเคยทำงานสัมภาษณ์มาประมาณหนึ่ง เลยพอรู้ว่าในหลายๆ ประเด็นเราอยากจะไปมากกว่านี้  

พอพี่ๆ ผู้สอนเขาร่วมมือและให้เวลาเต็มที่ ก็เห็นได้ชัดว่ามันไปได้ลึกกว่าจริงๆ

สิ่งที่อาจจะไม่เรียกว่าเป็นข้อเสีย แต่เป็นสิ่งเราต้องแลกก็คือ มันเป็นกระบวนการที่ใช้เวลานานมาก ทำให้เราเปิดตัวผู้สอนได้ 1 ท่านต่อเดือน ซึ่งเมื่อเทียบกับตลาดแล้วถือว่าค่อนข้างช้า แต่ก็ได้ผลลัพธ์ออกมาคมอย่างที่เราต้องการ

อันนั้นคือ primary research ส่วน secondary research ข้อดีของเราอย่างหนึ่งคือ ด้วยความที่เราเป็นเด็ก เราต้องทำการบ้านเยอะมากๆ อยู่แล้ว ต้องให้เครดิต Co-Founder ของผมเต็มๆ คือฟิว ฟิวเป็นคนคุมฝั่งคอนเทนต์ทั้งหมด เรื่องไหนเขาไม่รู้เขาจะไปอ่านหนังสือมาเลยเล่มหนึ่ง เพื่อที่จะได้สื่อสารกับพี่ๆ ผู้สอนได้ ผมว่าสองด้านนี้คือจุดที่ทำให้เราแตกต่าง

ในแง่โปรดักชั่น เราพยายามจะลงทุนที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ ซึ่งมันก็คือเงิน หลายคนจะถามว่ามันจำเป็นมั้ย ต้องขนาดนั้นเลยเหรอ แต่ถ้าเราเชื่อในสิ่งนี้ เราให้ความสำคัญกับสิ่งนี้ เพราะฉะนั้นเราก็จ่ายกับสิ่งนี้ 

ย้อนกลับไป เราก็อยากให้เกียรติกับพี่ๆ ผู้สอนที่มาสอนด้วย เราก็รู้ว่าเราขอมากกว่าปกติ เพราะฉะนั้นเวลาให้เราก็อยากจะให้มากกว่าปกติ คุ้มค่าคุ้มเวลากับที่เขามอบให้เรา 

เลือกทีมงานที่ทัศนคติมากกว่าประสบการณ์  

Cariber เป็นบริษัทเล็กๆ ที่อยากจะเป็นสตาร์ทอัพ ปัจจุบันมีทีมงาน 18 คน อายุเฉลี่ย 25 ปี ค่อนข้างเด็กพอสมควร อาจจะดูย้อนแย้งกับธุรกิจที่ทำนิดนึง พี่ๆ ที่มาสอนก็จะค่อนข้างรุ่นใหญ่ เบอร์ใหญ่

นอกจากผมกับฟิวเป็นเพื่อนกันมาก่อน ทีมงานยุคก่อตั้งเกือบทุกคนก็เป็นเพื่อนกันมาก่อน และทุกคนเป็นคนรุ่นราวคราวเดียวกัน อาจจะอายุห่างกันบวกลบไม่เกิน 2-3 ปี ไม่มีใครต้องเรียกใครว่าพี่หรือยกมือไหว้ ฉะนั้นเราอยู่ในบรรยากาศแบบนี้ ผมเองก็โดนด่าได้ถ้าทำงานไม่ดีแม้ว่าจะเป็นซีอีโอ และทุกอย่างก็ flexible สไตล์บริษัทรุ่นใหม่ ใครอยากเวิร์กฟรอมโฮม ใครอยากเข้าออฟฟิศก็ได้

ถ้าเราต้องเลือกคนมาทำงาน แน่นอน ประสบการณ์สำคัญ แต่เราจะดูที่แอดติจูดเป็นหลัก เรารับบางคนมาทำงานบางตำแหน่งที่เขาไม่เคยทำมาก่อนด้วยซ้ำ แต่เราก็จ้างมาเพราะเชื่อว่าสุดท้ายถ้าเขามีแอดติจูดที่ดี เขาตั้งใจทำ ยังไงมันก็สำเร็จ

เพราะวันที่ผมกับฟิวเริ่ม Career Fact เราก็ไม่ได้มีประสบการณ์ด้านมีเดียมาก่อน วันที่เราเริ่ม Cariber ผมเองก็ไม่ได้ดูคอร์สออนไลน์มาเยอะ ไม่ได้เป็นคนอยู่ในอุตสาหกรรมนี้ ไม่ได้เข้าใจ EdTech แต่สุดท้ายผมว่าสิ่งที่ทำให้เราเริ่มต้นมาได้ แม้วันนี้ยังไม่ดีที่สุด ก็คือเรารู้แล้วว่าเราอยากทำสิ่งนี้ คำถามคือ เราตั้งใจ ให้ใจ ให้ชีวิตกับมันได้หรือเปล่า 

ถ้าอยากเป็นสตาร์ทอัพก็ต้องลองไปเรื่อยๆ 

สิ่งที่เราอยากจะเป็นหรือเป้าหมายของเราก็คือ สร้างการศึกษาคุณภาพในราคาที่จับต้องได้ ฟังแล้วอาจจะดู cliché แต่เป็นเพราะว่าเป้าหมายเรามีหลายด้าน เฉพาะด้านการศึกษานี้ผมว่ายังมีบิสสิเนสโมเดลอีกหลายๆ ตัวมากที่เราสามารถไปได้ เราอาจจะไม่ได้มีภาพชัดเจนว่าอีก 3 ปี 5 ปีจะเป็นยังไง มันก็มีหลายๆ โปรเจกต์ที่เราลอง การทำสตาร์ทอัพคือ เราลอง ลองไปเรื่อยๆ ถ้าไม่เวิร์ก ก็เปลี่ยน จนถึงจุดหนึ่งมันอาจจะเกิดเป็นธุรกิจใหม่ได้เลย 

แน่นอน เราดีใจที่เราเริ่มต้นมาได้ แต่เรื่องความสำเร็จนั้นผมยังรู้สึกว่าอีกไกลมาก เวลามีคนเดินมาบอก ดีนะ เก่งนะ พอมาคิดว่าสิ่งนี้มันเริ่มต้นมาได้ยังไง เรามาถึงวันนี้ได้ยังไง จริงๆ ต้องบอกว่าเรามีทั้ง investor instructor คือวันนี้เราเริ่มต้นมาได้เพราะพวกเขามีส่วนอย่างมากจริงๆ รู้สึกขอบคุณพี่ๆ เหล่านั้นมาก และเราก็ยังมีเป้าหมายที่อยากจะ achieve ต่อไป

โดยส่วนตัวผมเองกับธุรกิจนี้ อาจจะไม่ใช่แพสชั่นนำ ผมใช้ปัญหานำมากกว่า รู้สึกว่ามันมีปัญหาในตลาด แล้วเราคิดว่าเราเป็นคนที่สามารถแก้ปัญหานั้นได้ เราก็อยากจะลอง นั่นคือสิ่งที่ไดรฟ์ผม ถ้าถามว่าวันนี้มองอะไรต่อ เราก็มองว่าถ้าปัญหานี้ยังมีช่องให้เราแก้ได้อยู่ และเราก็ยังรู้สึกสนุกกับการทำมัน สมมุติพอปัญหานี้แก้ได้แล้ว คำถามก็จะเป็น แล้วปัญหาที่ใหญ่ขึ้น กว้างขึ้น หรือปัญหาอีกด้านหนึ่งมีอะไรบ้าง ที่เราสามารถเข้าไปแก้ได้ ผมรู้สึกว่าเป็นอย่างนั้น เป็น problem solver ไม่ได้บอกว่าอยากจะแก้ทุกปัญหา แค่อยากจะแก้ปัญหาที่เราแก้ได้ ปัญหาที่เรารู้สึกว่ามีความสามารถในการแก้

ส่วนสิ่งที่เป็นแพสชั่นนำ ชีวิตนี้ผมจะเข้าวงการฟุตบอลแน่นอน ยังคิดไม่ออกว่าจะทำอะไรในนั้น ไม่รู้ว่าฟันเฟืองไหนในวงการฟุตบอลที่เราจะเข้าไปได้ แต่ผมจะต้องเข้าวงการฟุตบอลให้ได้

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ดวงสุดา กิตติวัฒนานนท์

ช่างภาพนิตยสาร a day ผู้ชอบกินอาหารที่ถ่าย