ตุ้ย-เนรมิต สร้างเอี่ยม อดีตนักพัฒนาอสังหาฯ ผู้สร้าง ‘กาดเกรียงไกรมาหามิตร’ ด้วยแนวคิดธุรกิจแบบ ‘ยะด้วยใจ๋’

อดีตนักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ อยากย้ายไปอยู่เชียงใหม่ แต่ก็ไม่อยากไปอยู่เฉยๆ เขาจึงซื้อกิจการโรงงานแปรรูปผลไม้เพื่อที่จะได้มีอะไรทำในวัยเกษียณ ทำไปทำมาก็เอาพื้นที่ว่างส่วนหนึ่งมาทำเป็นกาดชุมชน และปัจจุบันมันได้กลายเป็นสถานที่ดึงดูดนักเที่ยวแห่งใหม่ในอำเภอแม่ริม  

นี่คือเรื่องราวของ ตุ้ย-เนรมิต สร้างเอี่ยม เจ้าของ ‘กาดเกรียงไกรมาหามิตร’ ซึ่งเปิดให้บริการเมื่อปลายปีที่แล้ว โดยเนรมิตโกดังไหดองที่ไม่ได้ใช้งานแล้วภายในพื้นที่โรงงานเกรียงไกรผลไม้ ให้กลายเป็นกาดเก๋ๆ จำหน่ายทั้งของกินของใช้ของฝาก เพื่อสนับสนุนคนท้องถิ่นด้วยแนวคิด ‘ยะด้วยใจ๋’ และให้บรรยากาศเป็นกันเองแบบ ‘มาหามิตร’

เขาคืออดีตผู้บริหาร บริษัท แกรนด์ ยูนิตี้ ดิเวลล็อปเมนท์ จำกัด ผู้ประสบความสำเร็จกับโครงการอย่างคอนโดมิเนียมแบรนด์ยูดีไลท์ โครงการบ้านบ้าน วิภาวดี 20 

จุดเปลี่ยนบางอย่างในชีวิตทำให้เขาต้องทบทวนตัวเองและตัดสินใจย้ายภูมิลำเนาไปอยู่เชียงใหม่ ครั้นเมื่อต้องลงมือทำธุรกิจที่ไม่คุ้นมือเพื่อให้มีอะไรทำในช่วงบั้นปลาย เขาพบว่านอกจากต้องปรับ mindset ของตัวเองให้เข้ากับที่นั่นแล้วก็ยังมีอีกหลายสิ่งที่ต้องเรียนรู้

การเดินทางของชีวิต กรุงเทพฯ-เชียงใหม่ ครั้งนี้ จึงเป็นการตกผลึกทางความคิดหลายๆ ด้านของ ตุ้ย-เนรมิต สร้างเอี่ยม อย่างแท้จริงแม้ในวัยที่โชกโชนประสบการณ์แล้ว ซึ่งเขาได้ทิ้งร่องรอยลำดับวิธีคิดที่น่าสนใจไว้ในบทสัมภาษณ์นี้ 

1

คนทำอสังหาฯ เชื่อเรื่องเจ้าที่เจ้าทาง

 

อยู่เชียงใหม่นานๆ คุณมองกรุงเทพฯ เปลี่ยนไปเยอะมั้ย

ผมไปอยู่ตอนที่เราเซ็ตอัพกาด รวมประมาณสัก 3 เดือน แต่ก่อนผมเป็นวิศวกร ทำเรื่องอสังหาฯ ฉะนั้นสมัยก่อนตึกทุกตึกในกรุงเทพฯ ผมเรียกชื่อได้หมดเลย พอหายไป 3 เดือน ลงมา ทำไมมีตึกแหลมๆ โผล่ขึ้นมา อันนี้ตึกอะไร (หัวเราะ)

เราก็ไม่อยากจะบอกว่าเราเข้าใจชีวิตมากขึ้น แต่รู้สึกว่านิยามของการพัฒนากรุงเทพฯ มันไปอยู่ในรูปของเรื่องเศรษฐกิจเรื่องการใช้เงินมากกว่าเรื่องอื่นๆ อย่างคลองช่องนนทรี ผมยังคิดว่ามีวิธิใช้เงินได้ประหยัดและทำได้ดีกว่านี้ ได้ประโยชน์กว่านี้ เลยมองว่า กรุงเทพฯ ก็พัฒนาอยู่ตลอด เห็นตลอด แต่ว่าไม่ค่อยชอบในแนวทางแบบนั้นแล้ว ถึงแม้ว่าเราจะเคยอยู่ในธุรกิจอสังหาฯ เราชอบจะเห็นสิ่งปลูกสร้างอยู่แล้ว 

ความเปลี่ยนแปลงในลักษณะนี้มันเกิดขึ้นในเชียงใหม่มากขึ้นมั้ย หรือเปลี่ยนแปลงในอัตราเร็วเท่านี้หรือเปล่า

เชียงใหม่ผมว่าแปลก คือผมเองอยู่อสังหาฯ มานาน คนที่อยู่อสังหาฯ ส่วนใหญ่ก็จะเชื่อเรื่องเจ้าที่เจ้าทาง อย่างเวลาเราซื้อที่ทำคอนโดฯ เราก็ต้องดูเรื่องพวกนี้เหมือนกัน 

เชียงใหม่มีการพัฒนาอยู่เรื่อยๆ แต่ก็มีการล้มหายตายจากไปในอัตราที่ใกล้เคียงกัน แล้วผมรู้สึกว่าคนที่ล้มหายตายจาก ก็จะเป็นคนทำธุรกิจที่เหมือนไม่ค่อยเหมาะกับเชียงใหม่เท่าไหร่ เชียงใหม่นี่ 700 กว่าปี เก่าแก่กว่ากรุงเทพฯ ผมเลยเชื่อว่าเชียงใหม่เจ้าที่ดี เขาช่วยในเรื่องของการดูแล ใครที่ทำธุรกิจอย่างไม่ทำร้ายเชียงใหม่ ก็จะอยู่ไปได้เรื่อยๆ ไม่เดือดร้อนอะไร

ทำธุรกิจแบบไม่ทำร้ายเชียงใหม่ คุณคิดว่าควรเป็นธุรกิจแบบไหน 

ถ้าเราเข้าใจความเป็นมาและประวัติศาสตร์ ผมว่าเชียงใหม่เป็นเมืองที่ผู้คนสงบ ภาษาเหนือเขามีคำว่า ‘ต๊ะต่อนยอน’ ตอนผมไปเชียงใหม่แรกๆ ผมก็ไปจากทุนนิยมที่กรุงเทพฯ อะไรก็ต้องเร็วและแรงในการทำธุรกิจ ถึงแม้เราบอกว่าเราอยากไปเกษียณอายุที่โน่น เราก็อดเผลอที่จะเร็วกับแรงไม่ได้ แต่ลูกน้องผมทุกคน ไม่มีใครเร็วแรงกับผมเลย จะกระทั่งผมได้สติว่า แล้วเรามาที่นี่เราต้องการจะเร็วกับแรงไปเพื่ออะไร เราก็เลยเริ่มมองลูกน้องแล้วพยามยามเริ่มปรับตัวเอง ให้ ‘ต๊ะต่อนยอน’ ตามเขาไปหน่อย

อย่างเช่น ถ้ากรุงเทพฯ ผมบอกลูกน้อง งานต้องเสร็จวันนี้ คำว่าวันนี้มันมีถึงเที่ยงคืน คือทำไปจนกระทั่งต้องเสร็จ แต่เชียงใหม่ พอ 5 โมงปุ๊ป เสร็จไม่เสร็จไม่เป็นไร (หัวเราะ) ทุกคนสลายตัวกลับบ้านไปอยู่กับครอบครัว กรุงเทพฯ นี่ไม่เสร็จไม่เลิก 

ผมก็เลยคิดว่าเชียงใหม่เป็นเมืองของความสงบ ความบาลานซ์ และการเคารพพื้นถิ่นต่างๆ สมมุติเอาธุรกิจแบบพัทยาไปลงเชียงใหม่ ผมว่าจะไม่รอด ยิ่งถ้าไปเลือกทำเลที่อยู่ข้างวัดก็อยู่ไม่ได้นาน 

อย่างที่บอกว่าคุณเชื่อเรื่องเจ้าที่เรื่องสิ่งศักดิ์สิทธิ์ อยากรู้ว่าตอนรู้จักพื้นที่กาดเกรียงไกรฯ เซ้นส์คุณรู้สึกว่ามันคือโชคชะตา หรือมีอะไรบางอย่างบอกว่าที่นี่พิเศษกว่าที่อื่นมั้ย 

จริงๆ ตอนนั้นผมว่าเป็นอารมณ์นำพามามากกว่า เพราะเราประสบปัญหาในครอบครัวคือเสียคุณแม่ไป แล้วเราก็คิดว่าชีวิตมันคืออะไร แล้วก็ตัดสินใจว่าเราควรจะเบากับเรื่องงาน เรื่องความเครียด เรื่องสุขภาพ สมัยก่อนผมไม่สนใจเรื่องสุขภาพ ผมคิดว่าไม่มีใครทำงานแล้วตายแน่ๆ เลยตัดสินใจว่ายังไงก็ต้องย้ายภูมิลำเนาไปอยู่เชียงใหม่

ก่อนจะมาเห็นพื้นที่ของโรงงานนี้ เราเดินทางขึ้นลงเชียงใหม่ สมมุติผมเลิกงานวันศุกร์ ผมบินละ ไปกับภรรยา พอไปถึงสนามบินก็มีรถเช่ารอหนึ่งคัน พอเช้าวันเสาร์ผมก็ขับรถเช่าวิ่งตามรถของโบรกเกอร์เพื่อดูที่ในเชียงใหม่ ผมใช้เวลาอย่างนี้ทุกสัปดาห์อยู่ 8 เดือน และตัดสินใจเลือกที่ทำเลหนึ่งในอำเภอแม่ริม

พอเลือกได้แล้วเราก็เริ่มคิดว่า จะมาอยู่เชียงใหม่เฉยๆ ไม่ทำอะไร เราคงจะกลายเป็นคนแก่ที่หงอยลงไปเรื่อยๆ ก็คิดว่าต้องทำอะไรสักอย่างหนึ่ง ซึ่งตอนนั้นผมตั้งใจจะทำเกษตรต้นน้ำ คือลงมือปลูกเลย เราสงสัยว่า ทำเกษตรทำไมต้องขาดทุน ทำให้มันได้กำไรไม่ได้หรือไง เราอยากพิสูจน์ตรงนั้น แล้วที่ดินที่หามาได้ก็เป็นชัยภูมิสำหรับการทำเกษตรต้นน้ำ

จากการไปตรงนั้น 8 เดือน เราได้ไปรู้จักกับเจ้าของโรงงานเกรียงไกรผลไม้ ทำธุรกิจแปรรูปผลไม้ วันหนึ่งแกฝากบอกมาทางเพื่อนผมว่า อยากจะขายโรงงาน เพราะลูกๆ ไม่เอาแล้ว ผมเองเนื่องจากเราอยากหาอะไรทำอยู่แล้ว อยากทำเกษตรอยู่แล้ว แต่เป็นเกษตรต้นน้ำ แต่เราก็มานั่งฉุกคิดนิดหนึ่ง ถ้าทำเกษตรต้นน้ำเราน่าจะคุมเรื่องราคาลำบาก แล้วตอนนั้นเกษตรกรก็ย่ำแย่อยู่แล้วในทุกผลผลิต มาเริ่มกลางน้ำนี่ก็ดีเหมือนกัน เราน่าจะปรับปรุงอะไรได้ เสร็จแล้วค่อยไปทำต้นน้ำก็ไม่น่าสาย 

ด้วยเหตุผลต่างๆ เหล่านี้ คือตอนแก่ต้องมีอะไรทำ มีโอกาสทำเกษตรกลางน้ำมา แล้วโรงงานเองก็เป็น systematic มีระบบของมัน เพราะตอนนั้นเราทำบริษัทอสังหาฯ ก็ค่อนข้างจะวุ่นวายพอสมควร 3 ข้อนี้ คิดไม่นานเลยครับ 2 วันตัดสินใจเลย ผมเลยคิดว่าไม่ได้ดูเรื่องที่อะไรมากมายหรอก คือวันนั้นมันมีปัจจัยแวดล้อมอย่างอื่นที่มาบอกเราว่าเราควรจะเอา

เพียงแต่ว่าก็มีมุมมองทางด้านอสังหาฯ อยู่บ้าง ที่มันก็ตั้ง 7 ไร่นะ ถ้าเราทำไม่ได้จริงๆ เจ๊ง อย่างน้อยก็เหลือที่ อย่างน้อยใช้วิชาทำอสังหาฯ ก็กลับมาทำที่ตรงนี้ได้ คงไม่ได้ล่มจมอะไร ก็เลยตัดสินใจ 

2

ถูกถีบตกน้ำก็ต้องเอาตัวเองให้รอด

ปกติคนที่ทำธุรกิจมานานๆ เวลาจะทำอะไรใหม่ๆ ก็จะต้องพยายามมองภาพให้เห็นชัดเจนก่อน รู้ว่าจะทุ่มแค่ไหน ถ้าเจ๊งแล้วเสียเท่าไหร่ ตอนนั้นในหัวคุณคิดภาพไว้ยังไงบ้าง

พอคิด 2 วันปุ๊ป ผมกลับมาบอกเพื่อนๆ ที่สนิท เอาตังค์มารวมกันหน่อยสิ จะไปซื้อโรงงานทำ มันก็ถามว่าทำทำไมวะโรงงาน บอกว่ากูอยากมีอะไรทำตอนแก่ๆ แล้วก็คิดว่าในอนาคตภูมิอากาศสภาพแวดล้อมจะทำให้ของสดน้อยลง ฝรั่งมันทำแฮม เราต้องไปกินแฮมกินเบคอนมันแพงๆ กิมจิของเกาหลีก็แพง ทั้งๆ ที่เป็นของไม่สด อีกหน่อยผมว่าเมืองไทยของสดจะขาดแคลน ฉะนั้นเรามีโรงงานแปรรูปไว้น่าจะดี ผมก็โน้มน้าวเพื่อนอย่างนี้ พร้อมด้วยข้อสุดท้ายว่า เออ เอาน่า ถ้าเจ๊งก็ยังเหลือที่ดิน ทุกคนอยู่ในวงการอสังหาฯ ก็โอเค งั้นเอา

แต่ถึงที่สุดแล้วเราไม่ได้อยากจะเจ๊งหรอกครับ คิดว่าอย่างน้อยเราไม่ได้ซื้อแฟรนไชส์มา เราซื้อหมดเลย ตั้งแต่ที่ดิน ตัวโรงงาน ตัวลูกค้า ตัวแบรนด์ แล้วผมก็เชื่อว่า ไม่ว่าจะธุรกิจไหน เราเรียนมา มีประสบการณ์มา เราทำได้ทุกธุรกิจ เพียงแต่ต้องอาศัยจังหวะเวลา ช่วงสัก 3 ปีแรก ในการเรียนรู้ ในการถูกหลอกเยอะๆ หน่อย ในการโง่เยอะๆ หน่อย ปีที่ 4 เราก็จะฉลาดละ เราก็จะเริ่มเทคออฟได้ละ คิดแค่นี้ก็เลยลุยเลย 

พอเริ่มลุยเลยเส้นทางของมันเป็นยังไงบ้าง จากตัวโรงงานวันนั้น กลายเป็นกาดตรงนี้

จริงๆ แล้วลุยเลยก็ยังสบายๆ เพราะคุณเกรียงไกรเจ้าของเดิมบอกเราว่าเดี๋ยวช่วย 1 ปี เราก็ใจเย็น มีเวลาตั้งปีในการเรียนรู้ แต่ว่าพอเราซื้อได้ 3 เดือน คุณเกรียงไกรก็เสียชีวิต คราวนี้เลยรู้สึกว่าเหมือนถูกถีบตกน้ำ 

เราก็ต้องเริ่มใช้สมองมากขึ้นละ เริ่มกลับเข้าไปดู ไปเรียนรู้ กระเทียมต้นมันหน้าตาเป็นยังไง ท้อลักษณะต้นเป็นยังไง ผลผลิตที่ดีคืออะไร บ๊วยมันปลูกอยู่ที่ไหนเหรอ เริ่มเรียนรู้ไปทีละตัวๆ เป็นความจำเป็นบังคับ ซึ่งผมเชื่อว่าถ้าใครถูกถีบตกน้ำแล้วตัวเองต้องรอด ต้องว่ายให้ได้ ทุกคนก็ทำเหมือนผม แล้วก็จะรอดได้ เพียงแต่จะรอดอย่างดีมากหรือดีน้อยก็แล้วแต่ฝีมือ 

ซึ่งก็ต้องขอบคุณเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ไม่ได้ขอบคุณที่คุณเกรียงไกรเสียชีวิต แต่ขอบคุณเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้เราได้ใช้สมอง ใช้พลัง เพื่อมาทำความเข้าใจ ฉะนั้นเวลา 3 ปีมันก็จะลดลงเร็วขึ้น จากแผนที่ผมบอกว่าผมเรียนรู้ 3 ปี ก็เหลือแค่ปีกว่าๆ 2 ปี เราก็คิดว่าเราน่าจะพอจับทางได้แล้ว เริ่มจะต่อยอดหรือพลิกแพลงได้บ้างแล้ว 

การทำธุรกิจครั้งนี้ในเชียงใหม่ต่างจากงานลงทุนด้านอสังหาฯ ที่เคยทำก่อนหน้านี้ที่กรุงเทพฯ มากมั้ย

หนึ่งคือ อันนี้เราเป็นเจ้าของเอง ที่กรุงเทพฯ ตอนทำคอนโดฯ เราเป็นเหมือนมือปืนรับจ้าง เราบริหารให้เขา ฉะนั้นการที่เราใช้เงินตัวเอง ถึงแม้เป็นเงินตัวเองส่วนหนึ่ง เงินเพื่อนๆ อีกส่วนหนึ่ง เงินเพื่อนๆ มันทำให้เราต้องขยันมากกว่าเงินตัวเราเองอีก ความที่เราต้องเอาให้รอด พลังหรือแพสชั่นตรงนี้มันรุนแรงมากกว่าตอนทำอสังหาฯ อีก ถึงแม้เพื่อนจะบอกว่า โอเค มึงทำเจ๊งไม่เป็นไร เหลือที่ดิน แต่เราก็ทำอย่างนั้นไม่ได้อยู่ดี มันก็ได้แต่คำพูดหยอกๆ กันไป แต่ข้อเท็จจริงธุรกิจลงทุนมันก็ต้องมีกำไร อันนี้คือข้อแตกต่างข้อที่หนึ่ง

ข้อที่สอง ผมก็มีแพสชั่นเพิ่มขึ้นมาอย่างที่เล่าให้ฟัง ว่าทำไมคนทำเกษตรไม่รวย จริงๆ ตัวเองวันนี้ไม่ได้อยากรวยเลย แค่รู้สึกอยากทำให้คนเห็นว่า ทำเกษตรมันเลี้ยงชีพได้ ฉะนั้นแพสชั่นข้อนี้ก็เป็นตัวเสริมเข้าไปว่า อยากจะทำให้เป็นตัวอย่างแก่สังคม

ตอนผมทำอสังหาฯ ที่กรุงเทพฯ เราทำโมเดลอันหนึ่งไม่เหมือนใคร คือเราสร้างตึกได้เร็วมาก เช่น ตึก 6 หมื่นตารางเมตร 2 ตึก ตึกละ 30 ชั้น เราสร้างปีเดียว ถ้าตึก 8 ชั้น 200 ยูนิต 2 ตึก เราสร้าง 7 เดือน ในขณะที่คนอื่นใช้เวลาปีครึ่งถึง 3 ปี ด้วยโมเดลอย่างนี้ ประหยัดเวลาไปได้ 1-2 ปี เวลาที่หายมันเป็นเงินเป็นร้อยล้านนะครับ เราก็เลยมาทำราคาให้ถูกลงได้โดยที่ยังกำไรไม่แตกต่างจากรายอื่น แล้วลึกๆ ผมทำผมไม่ได้กลัวคนมาเลียนแบบ ผมทำโดยอยากที่จะให้คนเลียนแบบ ให้เขาเห็นว่า จริงๆ งานก่อสร้างที่เราจะรับรู้กันตลอดเวลาว่าที่ไหนก็ดีเลย์ แต่เรานี่ไม่ใช่ตรงเวลา เราผิดเวลาโดยเร็วกว่าเดิม คนก็ไปเลียนแบบกัน ผมรู้สึกว่าดี ที่ผมได้ทำอะไรทิ้งไว้กับสังคม ทำให้เกิดประสิทธิภาพ

เกษตรก็เหมือนกัน แพสชั่นตรงนี้เราอยากทำให้คนเห็นว่ามันทำได้ ไม่ได้มีอะไรซับซ้อนไปกว่ากัน เพียงแต่ว่าเราต้องถอยกลับมายืนแล้วมองกลับเข้าไปใหม่ แล้วก็ปรับแต่งมันใหม่ขึ้นมาเท่านั้นเอง

ยกตัวอย่างเหมือนลูกน้องเคยมาหาผม บอกว่า มีอีเมล์อยู่ 300 ฉบับที่อ่านไม่ทัน ผมบอกว่าให้ลบทิ้งให้หมดเลย แล้วพอมีฉบับใหม่เข้ามาวันพรุ่งนี้ให้เริ่มอ่านให้ทันแต่ละฉบับ เพราะถ้าเรามัวไปอ่านฉบับที่ติดลบ 300 ไล่มาเรื่อยๆ วันนี้เราก็ยังอยู่ในสภาพดีเลย์

เหมือนกันกับเกษตร วันนี้ผมบอกกับเกษตรกรที่อยู่หน้าบ้านผมที่เชียงใหม่ หยุดปลูกไปเลย 3 ปี แล้วค่าข้าวทั้งหมด 10 ไร่ตรงนี้เดี๋ยวผมจ่ายให้ พักดินเลย ไม่ต้องไปทำอะไร แล้วอีก 3 ปีข้างหน้ามาเจอกัน วันนี้เดี๋ยวเราจะปลูกปอเทืองปลูกถั่วอะไรกันไป เติมไนโตรเจนลงไป เป็นทุ่งดอกไม้แล้วไถกลบ ปลูกใหม่ กลบไป และไม่ต้องใช้สารเคมีอีกแล้ว สมมุติเราทำอย่างนี้ได้ 3 ปี ปีที่ 4 เราจะตั้งต้นได้ เราจะกำหนดราคาได้ เราจะหยุดทุกอย่างได้ หยุดปัญหาของกำไรขาดทุน ของศัตรูพืช ของยาฆ่าแมลง ได้หมดเลย

แต่ชีวิตจริงจะมีใครลบอีเมล์ 300 ฉบับ กับยอมอยู่เฉยๆ 3 ปีมั้ยครับ เรื่องนี้ต้องใช้ความเข้าใจอย่างมาก วันนี้ผมก็ยังโน้มน้าวเกษตรกรหน้าบ้านผมไม่ได้ ทั้งที่ผมจะจ่ายตังค์ให้ 3 ปี 

3

เป็นเถ้าแก่ทำทุกอย่าง สนุกกว่าเป็นซีอีโอเยอะ

ตอนนี้งานหลักๆ ที่ทำที่เชียงใหม่มีอะไรบ้าง 

ผมกลับไปเป็นเถ้าแก่หนักๆ อีกครั้งหนึ่ง เพราะว่าลูกน้องเราน้อยมาก ตอนไปอยู่เชียงใหม่แรกๆ เราใส่คนเพิ่มเข้าไปทุกฝ่ายเลย ทำตัวเหมือนชินกับทุนนิยมอยู่กรุงเทพฯ มีการตลาด มีการขาย มีแบรนดิ้ง ปรากฏว่าขาดทุนย่อยยับเลย ขาดทุนในเรื่องของกำลังคนนี่แหละ เพราะว่าการเราที่ใส่คนเข้าไปหนึ่งคน สมมุติเรากำไร 10 เปอร์เซ็นต์ ใส่คนเข้าไป 1 หมื่นบาท ยังไม่ต้องคิดค่าโต๊ะ ค่าเก้าอี้ ค่าแอร์ ค่าสวัสดิการ ค่าอะไรที่เราต้องจ่ายออนท็อปเข้าไป คิดแค่ 1 หมื่น เขาเองเดือนหนึ่งต้องหารายได้ให้เรา 1 แสนนะ ถ้าเรากำไร 10 เปอร์เซ็นต์ 

พอมาหลังๆ เราก็เริ่มปรับองค์กรว่า งานขายของเราจริงๆ มันเป็นอีกประเภทหนึ่งแล้ว ไม่ใช่ประเภทเป็นเหมือนขายบ้าน ปรับไปปรับมา ตอนนี้ก็เลยมีคนเหลืออยู่แค่ 5 คน 5 คนนี้เป็นสตาฟที่ยุ่งกับดาต้าเบส ยุ่งกับตัวเลข ยุ่งกับงานบริหาร แล้ว 5 คนนี้มันทำตั้งแต่ HR ยัน มาร์เก็ตติ้ง ยันแบรนดิ้ง คือหมุนกันอยู่ในนี้ ดูแลตัวกาด ดูแลโรงงาน ดูแลทั้งหมด ซึ่งผมบิวด์ 5 คนนี้ขึ้นมาจนกระทั่งมันเข้าใจได้แล้วว่า พี่ไม่ต้องมีคนมากกว่านี้หรอก มากกว่านี้เดี๋ยวเราอยู่กันไม่ได้ (หัวเราะ) ซึ่งผมดีใจมากนะที่ลูกน้องมาพูดอย่างนี้ คือมันมีความเป็น entrepreneur กันไปแล้ว

ผมเลยต้องทำงานอยู่กับพวกเขา เช่นก่อนมาสัมภาษณ์ ผมเพิ่งออกแบบฉลากสินค้าใหม่ของโรงงานเสร็จไปหนึ่งตัว ใช้ illustrator นั่งทำเอง ทำหมดแหละครับ บางทีเห็นขยะก็เก็บ โบกรถ ช่วยกัน ทำเหมือนกับเราเป็นเถ้าแก่จริงๆ ไม่ได้เป็นแบบซีอีโอเหมือนสมัยก่อนที่เรามีลูกน้องเยอะๆ คุยกับลูกค้าด้วย การคุยกับลูกค้าจะทำให้เราเห็นโอกาสเสมอ รับโทรศัพท์ ตอนนี้ในกาดใครโทรมาเจอผมแน่ๆ เขาไม่รู้หรอกว่าเป็นผม ผมอยากรับเองเพื่อจะได้รับรู้ปัญหาต่างๆ เวลามีคนโทรมาถาม  

พอทำงานแบบเถ้าแก่แล้ว ชีวิตเปลี่ยนไปมากมั้ย 

จริงๆ ผมมารู้สึกว่าผมชอบทำงานอย่างนี้นะ ผมชอบทำงานที่คนน้อยๆ แล้วทุกคนก็มีบรรทัดเดียวกันที่มองอยู่ ตอนที่ผมทำอสังหาฯ ถึงแม้คนผมจะเยอะ แต่ก็ถือว่าผมมีคนน้อยที่สุดในอุตสาหกรรม ถ้าคิดเป็นรายได้ต่อหัวก็ถือว่ามียอดขาดต่อหัวที่สูงที่สุดในตลาด ตอนนั้นเราก็สร้างทีมคล้ายๆ อย่างนี้ แม้แต่แม่บ้านก็เห็นบรรทัดสุดท้ายร่วมกัน คือเขาจะรู้ว่าตัวเขาและรายละเอียดต่างๆ ที่เขาใช้อยู่ เช่น เขาเสิร์ฟน้ำลูกค้า ไม้กวาด มันมีผลกระทบมาถึงบรรทัดสุดท้ายด้วย 

แล้วผมรู้สึกว่าทำแบบคนน้อยๆ อย่างนี้ดี บางทีการมีคนเยอะก็มีข้อเสียเยอะ หนึ่ง, การเมืองเยอะ สองคือ เราคงไม่ได้สามารถทำให้ทุกคนขยันเหมือนกันได้หมด ถ้ามีคนขี้เกียจขึ้นมาปุ๊ป มันมีโอกาสขยายวงหรือแพร่เชื้อ แต่ถ้าคนน้อยๆ เรายังมีโอกาสทำให้ทุกคนเรียกว่ายุ่งๆ แล้วก็ขยันได้เหมือนๆ กัน พอมีคนขยันโดย ecosystem ผมว่าคนมันจะขี้เกียจไม่ได้เลย 

4

เครื่องมือตอบสนองบางอย่างลึกๆ ในใจ

ธุรกิจตัวกาดที่ทำอยู่ตอนนี้ เหมือนคุณใส่ความเป็นตัวเองได้เต็มที่ ซึ่งมีความน่าสนใจในหลายจุด แต่ที่อยากถามคือชื่อ ทำไมถึงใส่คำว่า ‘มาหามิตร’ เข้าไปในกาดเกรียงไกรด้วย 

เป็นคำถามที่คนถามเยอะมาก ว่า adjective ตัวนี้มันมาจากไหน ผมอธิบายง่ายๆ ว่า สมัยก่อนแม่ลากผมไปตลาดด้วย ซื้อของจริงๆ ใช้เวลา 10 นาทีเอง แต่ว่าแม่เดินคุยอยู่ชั่วโมงหนึ่ง คือแม่ไปหาเพื่อน การไปตลาดของแม่คือการเพลิดเพลิน ผมก็อยากให้ทุกคนที่มากาดของผมมีความสุข มาแล้วได้ทักทายกัน ได้รู้จักกันไปหมด คุยกันได้ทุกเรื่อง ผมว่าความสุขมันอยู่ตรงนั้นแหละครับ 

ผมเรียนที่เชียงใหม่ ตอนจบมาผมซื้อที่ไว้อยู่แปลงหนึ่งที่เชียงใหม่ แต่ว่าเนื่องจากถนนไปตัดผ่านก็เลยไม่อยากอยู่ที่แปลงนั้นแล้ว ผมเคยคิดว่า ผมอยากจะอยู่ในชุมชนที่เราเดินไปตรงไหน อยากกินข้าวบ้านไหนก็เข้าไปกินได้เลย เพราะว่าเราได้ช่วยเหลือคนไว้เยอะ เราเดินไป เหนื่อย อยากขอน้ำกินหน่อย เขาก็ให้กิน หิวข้าวเขาก็ให้กิน เราอยากเป็นอย่างนั้น ตอนนี้กาดมันเลยมาเป็นเครื่องมือตอบอะไรบางอย่างลึกๆ ในใจผมตรงนั้น ผมอยากให้ทุกคนมาหามิตรกัน มาเป็นมิตรกัน แล้วก็มาเป็นมหามิตร คือเป็นมิตรที่ยิ่งใหญ่กันอีกที ในตอนสุดท้าย

จริงๆ ต้องชมเชยทีมเอเจนซีที่ทำงานให้ผม พอผมเล่าเรื่องแบบนี้ไป เขาก็ไปจัดการมาเลย ผ่านไปประมาณสัก 4-5 วัน กลับมาด้วยประมาณสัก 7-8 ชื่อ มีชื่อนี้อยู่ด้วย ผมเห็นปุ๊ป ผมบอกว่าซื้อเลย ไม่ต้องไปหาอีกแล้ว จบเลย ชอบมาก 

ที่บอกว่ากาดเป็นที่ที่มาหาเพื่อนได้ อยากรู้ว่าในเชิงการทำให้เกิดขึ้นจริงคุณทำยังไง เพราะว่าบางคนเข้ามาที่กาด เขาอาจจะรู้สึกว่านี่ก็คืออีกหนึ่งโครงการตลาดที่คนกรุงเทพฯ มาทำที่เชียงใหม่ แต่เบื้องลึกเบื้องหลังของมันแล้ว คุณมีวิธีการออกแบบยังไงให้คนรู้สึกว่านี่คือสถานที่ที่เรามาเจอเพื่อนได้ 

ผมว่าข้อที่หนึ่ง ตัวเราต้องเป็นคนที่เฟรนด์ลี่มากๆ ก่อน ซึ่งอันนี้ก็ไม่ขัดกับความตั้งใจและนิสัยผมอยู่แล้ว จริงๆ เราไม่ได้เป็นหัวหน้าพ่อกาดแม่กาดเขา แต่ว่าพอเราเป็นเจ้าของกาด เราก็เหมือนเป็นพ่อที่ปกครองลูก ต้องดูแลให้ลูกเกิดความยุติธรรมอะไรต่างๆ ฉะนั้นเราก็ต้องปฏิบัติตัวให้เป็นตัวอย่างก่อน

อันที่สองก็คือ ผมบอกว่ากระดุมเม็ดแรกของความสำเร็จผม ไม่ได้อยู่ที่สถานที่หรือสิ่งของ แต่อยู่ที่ตัวพ่อกาดแม่กาด ฉะนั้นทุกรายผมจะสัมภาษณ์และคัดเลือกเอง ผมจะดูสินค้าทุกตัวเอง ชิมอาหารเอง ดูแววตา ฟังเสียงพูด ดูท่าทางอวัจนภาษาเขาเอง เพื่อดูว่าคนๆ นี้เป็นคนยังไง ฉะนั้น พอผมได้คนที่เฟรนด์ลี่ พร้อมจะมีเพื่อนพอๆ กับพร้อมจะค้าขาย ผมเชื่อว่าอันนี้คือคีย์หลักสำคัญซึ่งสำเร็จไปแล้ว 80 เปอร์เซ็นต์ หมายถึงว่าแค่เราคัดเลือกพ่อกาดแม่กาดที่พร้อมจะมีเพื่อน

ผมดีใจมากเลยเพราะมีคนเขียนมาหลังบ้านผม ว่าผมไปปรับความคิดของพ่อกาดแม่กาดได้ยังไง เขาพูดได้เหมือนกับว่าเขารักกาดนี้มาก เช่น มีแม่กาดคนหนึ่ง เขาอธิบายสินค้าเขา กรอบของการคัดเลือกเรามีคำว่า ‘ยะด้วยใจ๋’ คือทำด้วยใจ เราคัดเลือกอย่างนี้เพราะว่าเวลาเขาอธิบายสินค้า มันจะเห็นภาพ เพราะเขาเป็นคนลงมือทำ เขาพูดสินค้าเขาเสร็จ เขาไม่ได้ยัดเยียดขาย แต่ยังแนะนำสินค้าของร้านอื่นให้ไปลองดู เพราะเขาไปกินมาแล้วแล้วเขาชอบ อย่างนี้เป็นต้น คือผมคิดว่าเขาไม่ได้คิดว่าเขาต้องขาย แต่เขาคิดว่าลูกค้าควรจะได้สิ่งที่ดีที่สุด เหมาะสมกับลูกค้าที่สุด ในการมากาดครั้งนี้ ลูกค้าก็ประทับใจมากและเขียนมาชมผม

นอกจากนี้ผมมีอบรมสัมมนาอยู่เรื่อยๆ เพื่อที่จะปรับปรุงวิธีการดำเนินธุรกิจของพ่อกาดแม่กาด แต่ไม่ได้ปรับปรุงให้มันเป็นทุนนิยม แต่ปรับปรุงให้ทำน้อยได้มาก ไม่ใช่ทำมากได้มาก ทุนนิยมวันนี้ถ้าอยากได้เงินมากต้องทำเยอะๆ เพราะว่าเปอร์เซ็นต์กำไรนี่มันเอาขึ้นไม่ได้ กำไรมันเท่าเดิม เปอร์เซ็นต์เท่าเดิม แต่ว่าอยากจะได้เม็ดเงินมากก็ต้องขายให้ได้ปริมาณมาก แต่ผมเองชวนเขาให้ทำปริมาณน้อยลง แล้วใส่ความพิถีพิถันเข้าไปอีก ใส่ความใส่ใจ ใส่คุณภาพเข้าไปอีก แล้วขายให้แพงขึ้น ผมดึงเขามาอีกทางหนึ่ง อยากให้เขาเหนื่อยน้อยลง แต่ได้ผลตอบแทนกลับไปคุ้มค่า แล้วมีแพสชั่นหรือมีกำลังใจในการกลับไปทำให้มันดียิ่งขึ้นไปอีก 

คุณบอกว่าตัวกาดจริงๆ ถูกสร้างมาเพื่อชุมชน แต่ว่า ณ ตอนนี้มีนักท่องเที่ยวเข้าไปเยอะมากกว่าที่คิดไว้ อยากรู้ว่าคุณมองอนาคตมันไว้ยังไง เราจะดูแลขาขึ้นของกาดนี้ยังไงให้มันไม่เป๋จากทิศทางที่เราตั้งไว้ 

เป๋ไม่เป๋ผมว่าอยู่ที่เราเลย ถ้าเราไม่ได้โปรโมตกับนักท่องเที่ยว ถ้าเราโฟกัสไปที่คนท้องถิ่นแล้วก็พยายามทำทุกอย่างเพื่อส่งเสริมให้คนท้องถิ่นเข้า เดี๋ยวเขาก็มาเอง ซึ่งวันนี้ผมก็ไม่ได้โปรโมตในมุมนักท่องเที่ยวเลย โมเดลหลายๆ อันที่ใส่เข้าไป อย่างเมื่ออาทิตย์ก่อนเพิ่งใส่โมเดลเรื่องสมาชิกเข้าไป แล้วก็คุยกับร้านค้า เขาก็เริ่มไปทำบัตรสะสมแต้ม แบบปั๊มทีละดวงๆ ซึ่งเขาก็ไม่มีเงินที่จะไปทำแบบเป็นระบบไอที ผมบอกเอาอย่างนี้แหละ กระดาษง่ายๆ ดี ไม่ต้องคิดว่ามันต้องดิจิทัลอะไรหรอก เอาอะไรที่เห็นผลได้ เราก็เริ่มมาส่งเสริมการขายกับลูกค้าในท้องถิ่น เช่นในช่วงประมาณ 2 เดือนที่ผ่านมาเราอาจจะยุ่งมากจนไม่ได้ถามชื่อถามเสียงลูกค้า วันนี้เราเห็นหน้าเขา รู้ว่าเป็นคนในชุมชน เราน่าจะเริ่มคุยกับเขา ถามชื่อถามเสียง เริ่มดีไซน์บริการที่เหมือนรู้ใจเพื่อน เพื่อนมารู้เลยว่าจะซื้ออันนี้ชอบอันนี้ 

5

ถ้าหลุดพ้นพันธนาการก็ทำตามความฝันได้

คงมีคนทำธุรกิจหลายคนที่อยากทำแบบคุณ ไปทำธุรกิจด้วยใจ อยากเป็นเถ้าแก่ทำงานประณีต แต่ติดที่ว่าบางทีเขาทำไม่ได้ เพราะติดเงื่อนไขหลายๆ อย่าง คุณมีคำแนะนำมั้ยว่า เราจะทำธุรกิจแบบที่เราใส่ใจกับมันมากขึ้นได้ยังไง ในระบบทุนนิยมที่บีบคั้นให้เราต้องทำมากได้มากอยู่ตลอดเวลา

ผมคิดว่าเราต้องมาเริ่มถามก่อนว่า จริงๆ เป้าหมายในชีวิตเราคืออะไร เราทำงานเยอะๆ ไปเพื่ออะไร ผมกล้าถามเพราะผมทำงาน 7 โมงเช้าถึงตี 1 ตี 2 มาเป็นเวลา 20-30 ปี ผมไม่ได้รังเกียจเรื่องการทำงานหนัก แต่ว่าถ้าเราทำจนกระทั่งสุขภาพเสีย กินข้าวไม่เป็นเวลา นอนไม่เป็นเวลา เราก็คงต้องทำงานเยอะๆ เพื่อเตรียมเงินก้อนโตไว้สำหรับหาหมอตอนเจ็บป่วย แต่ถ้าเราดูแลร่างกายให้ดีหน่อยตั้งแต่วันนี้ล่ะ ทานข้าวให้ตรงเวลา นอนให้หลับ อยู่ในที่ชอบๆ ไม่ต้องรอตายแล้วค่อยอยู่ ก็มีโอกาสทำให้สุขภาพดี ไม่ต้องเจ็บป่วย แล้วเราจะหลุดพ้นจากพันธนาการอีกเยอะมาก

พอหลุดพ้นแล้ว เราก็ถามต่อไปว่า จริงๆ แล้วชีวิตเราต้องการทำอะไรบ้างที่เป็นความฝัน หลายคนอาจจะเคยมีความฝันแต่ฝังมันลงไปลึกมากจนลืมๆ ไปแล้ว ต้องไปขุดๆ มาหน่อย เอากลับมาแล้วก็ดูสิว่า ทุกวันนี้เรามีช่องทาง มีเทคโนโลยีใหม่ๆ อินเทอร์เน็ตที่ทรงพลังมาก แอพพลิเคชั่นที่ไปไกลมาก มีโอกาสอะไรหลายๆ อย่างที่สามารถเอาความฝันกลับมาทำให้สำเร็จได้เยอะมาก โดยที่เราไม่ต้องไปหาเงินเพื่อการเจ็บป่วย

แต่ว่าปัจจุบันคนไม่หลุดพันธนาการสิครับ มันติดอยู่ตรงนี้ ต้องหาเงิน อยากสบาย อยากไปทำตามความฝัน แต่ว่าจะต้องหาเงินเตรียมไว้ก้อนหนึ่งก่อน หาเงินไปเท่าไหร่ยังไม่รู้เหมือนกัน แต่อยากหาให้ได้เยอะที่สุดเท่าที่แรงจะทำได้ แต่จริงๆ คิดเสียหน่อยก็ดีว่าเราต้องใช้เงินเท่าไหร่ เราจะได้รู้ตัวเองว่าเราต้องการแค่ไหน เราก็ทำไปถึงแค่ตรงนั้น แล้วก็เอ็นจอยระหว่างทางไปด้วย แล้วก็เริ่มสร้างความฝัน ทยอยออกมาทำความฝันตัวเอง

ผมออกมาทำโรงงานนี้ ผมคิดว่าจริงๆ อยู่ในทุนนิยมผมยังทำเงินได้อีกเยอะมากเลยนะ แต่ผมก็บอกว่าผมไม่รู้จะเอาเงินไปทำอะไรแล้ว เพราะแต่ละวันผมไม่ได้ใช้เงินเยอะ เราก็ออกมาได้เลยครับ เพราะผมขอแค่ เดินได้ นอนหลับได้ กินอาหารได้ มีเพื่อนไม่ต้องเยอะมาก และมีคุณค่าต่อสังคม ถ้า 5 ข้อนี้ผมผ่าน ผมก็พร้อมจะตื่นขึ้นมาอย่างมีพลังทุกวันแล้วล่ะ

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

พิชย์ สุนทโรสถ์

ช่างภาพหน้าหมี ผู้ชอบเพลงแจ๊สเป็นชีวิตจิตใจ