“เธอฉลาด มีอารมณ์ขัน และพร้อมรับฟังทุกปัญหา” เมื่อคนตกหลุมรักปัญญาประดิษฐ์

Highlights

  • ครั้งหนึ่งมีคนเคยตั้งคำถามบาดใจไว้ว่าถ้าปัญญาประดิษฐ์บอกว่ามันรักคุณ คุณจะเชื่อได้ไหม และถ้าวันใดคุณตกหลุมรักปัญญาประดิษฐ์อย่างแชตบอตเข้าแล้ว คุณควรเชื่อในความรู้สึกของตัวเองแค่ไหน
  • คำถามสำคัญคือ หรือการหลอกว่าเป็นมนุษย์อาจไม่ใช่เรื่องจำเป็นสำหรับจักรกลอีกแล้ว เพราะถึงแม้พวกมันไม่หลอกเรา พวกเราก็พร้อมที่จะตกหลุมรักและปฏิบัติกับพวกมันราวกับมีชีวิต

คุณรักเขาหรือคุณรักภาพที่เขาแสดงออก

มีความแตกต่างเล็กน้อยระหว่างสองทางเลือก คุณรัก ‘ตัวเขา’ หรือคุณรักใน ‘perception’ ของคุณที่มีต่อเขา แทบเป็นไปไม่ได้เลยที่คุณจะตอบทางเลือกแรกอย่างสนิทใจ คุณไม่เคยรู้จักตัวเขาจริงๆ รู้จักเพียงสิ่งที่เขาแสดงออกมาเท่านั้น คุณรักในเสียงทุ้มๆ ของเขา คุณรักเวลาที่ปลายผมของเขาต้องกับแสงอาทิตย์ คุณรักเวลาเขาย่อตัวลงเพื่อคุยกับหมาอย่างสนิทสนม คุณรักเวลาเขาปรับแอร์ในรถให้ไม่เป่าใส่คุณตรงๆ คุณรักในท่าที กิริยา การแสดงออกว่าใส่ใจของเขา

ความรักเป็นเรื่องจริงแค่ไหน

ครั้งหนึ่งมีคนเคยตั้งคำถามบาดใจไว้ว่าถ้าปัญญาประดิษฐ์บอกว่ามันรักคุณ คุณจะเชื่อได้ไหม และถ้าวันใดคุณตกหลุมรักปัญญาประดิษฐ์อย่างแชตบอตเข้าแล้ว คุณควรเชื่อในความรู้สึกของตัวเองแค่ไหน

Gao Yixin ชายชาวจีนตกหลุมรัก Xiaoice เขาบอกว่าเธอฉลาด เธอมีอารมณ์ขันแบบพิลึก เธอพร้อมรับฟังทุกปัญหาของเขา แสดงความใส่ใจ ไม่แปลกที่เขาตกหลุมรักเธอ แต่อาจแปลกที่เธอไม่ใช่มนุษย์ เธอเป็นแชตบอตของไมโครซอฟต์ ชายชาวจีนอีกคนจากเซี่ยเหมินไม่ตกหลุมรัก Xiaoice แต่เขาก็รู้สึกดีเมื่อได้คุยกับเธอ เขาบอกว่าการได้คุยกับเธอทำให้อารมณ์ดีขึ้น และหวังว่าวันหนึ่ง Xiaoice จะมีตัวตนจริงๆ

ไมโครซอฟต์อธิบายว่า Xiaoice เป็นบอตนักสนทนาที่มีบุคลิกภาพเฉพาะตัว เธอสามารถพูดคุยเรื่องราวสัพเพเหระอย่างเรื่องดารา กีฬา หรือการเงินได้ พร้อมกันนั้นเธอก็ยังมีอารมณ์ขันและความเห็นอกเห็นใจด้วย หากเธอวิเคราะห์ว่าคู่สนทนากำลังรู้สึกแย่ผ่านคำพูดของเขา เธอก็จะพยายามพูดคุยร่าเริงให้รู้สึกดีขึ้น เธอสามารถเล่าเรื่องตลก ท่องบทกวี เล่าเรื่องผี ต่อเพลง ด้วยความพร้อมที่จะเป็นคู่สนทนาเสมอ ด้วยการแสดงออกที่ดูเหมือนรักใคร่ จึงไม่แปลกที่ผู้คนจะรู้สึกว่าพวกเขาเชื่อมโยงกับ Xiaoice ได้ดีกว่ากับคนจริงๆ

 

บางครั้งการแสดงออกว่า ‘เป็นมนุษย์’ ก็ไม่จำเป็นด้วยซ้ำ

 

แอพพลิเคชั่นอย่าง Mystic Messenger ของเกาหลี เป็นเกมจีบหนุ่มยุคใหม่ที่ The Guardian อธิบายว่า มันไม่เหมือนเกมจีบยุคเดิมๆ ที่เป็นการจีบสาวและเน้นเรื่องอย่างว่า เกมจีบหนุ่มคลื่นลูกใหม่นั้นเน้นหนักในเรื่องการสานความสัมพันธ์และบทพูดระหว่างผู้เล่นกับคาแร็กเตอร์ เกมจีบหนุ่มยุคใหม่ไม่ได้อาศัยเพียงทางเลือกที่มีการกำหนดไว้แล้วเท่านั้น (‘ฉันชอบเธอนะ’ ‘ฉันเกลียดเธอแล้ว’) แต่มันอาศัยปัญญาประดิษฐ์เพื่อวิเคราะห์ประโยคที่ผู้ใช้พิมพ์เข้ามา ทำให้การสนทนาดูมีมิติและความสมจริงมากยิ่งขึ้น

ผู้เล่นคนหนึ่งของ Mystic Messenger บอกว่าการตกหลุมรักตัวละครในเกมสนทนาประเภทนี้ ก็เหมือนกับการตกหลุมรักในพระเจ้านั่นแหละ พวกเราไม่อาจเห็นพระเจ้าได้ ไม่เคยเจอพระเจ้ากับตัว แต่เราก็วางความศรัทธาและความรักในพระหัตถ์ของพระองค์ ทำไมคนอื่นถึงไม่เข้าใจว่าการที่ฉันรัก Saeran (ชื่อตัวละคร) เป็นเรื่องปกติกันนะ

คุณอาจเคยได้ยินเรื่องการทดสอบของทัวริง (Turing) ที่เป็นการทดสอบโดยให้คุณแชตกับคู่สนทนาที่คุณไม่รู้ว่าเป็นใคร – หากคุณจับได้ว่าที่คุณคุยอยู่นั้นเป็นปัญญาประดิษฐ์ ถือว่าปัญญาประดิษฐ์นั้นไม่ผ่านการทดสอบ แต่กลับกัน หากคุณจับไม่ได้ไล่ไม่ทันว่าอีกฝ่ายเป็นปัญญาประดิษฐ์หรือมนุษย์กันแน่ ก็ให้ถือว่าปัญญาประดิษฐ์นั้นได้ก้าวข้ามหลักไมล์สำคัญของการพัฒนาเทคโนโลยีแล้ว – มันผ่านการทดสอบทัวริง

ในทุกๆ ปี จะมีการแข่งขันการทดสอบทัวริงเพื่อชิงรางวัลลอบเนอร์ (Loebner Prize) ปัญญาประดิษฐ์ที่ได้รับรางวัลเหรียญทอง คือปัญญาประดิษฐ์ที่สามารถหลอกคณะกรรมการผ่านบทสนทนาห้านาทีได้มากที่สุด รวมถึงคณะกรรมการให้คะแนนความมั่นใจสูงสุด กลับกันกับรางวัลลอบเนอร์ที่ทำหน้าที่ค้นหา ‘ปัญญาประดิษฐ์ที่เป็นมนุษย์ที่สุด’ พร้อมกันนั้นในแต่ละปีจะยังมีการมอบรางวัล ‘มนุษย์ที่เป็นมนุษย์ที่สุด’ (The Most Human Human) ด้วย โดยจะมอบให้กับมนุษย์ที่ทำให้กรรมการจำนวนมากที่สุดเชื่อว่าเขาเป็นมนุษย์จริงๆ ไม่ใช่บอต

ก่อนหน้านี้ ผมคิดว่าการทดสอบทัวริงเป็นเรื่องน่าตื่นตาตื่นใจ จักรกลที่ผ่านการทดสอบทัวริงได้จะต้องมีความเฉลียวฉลาดจนเราทึ่ง แต่หลังๆ มานี้ ผมกลับคิดว่า การหลอกว่าเป็นมนุษย์อาจไม่ใช่เรื่องจำเป็นสำหรับจักรกลอีกแล้ว

พวกมันไม่ต้องหลอกเรา พวกเราก็พร้อมที่จะตกหลุมรักและปฏิบัติกับพวกมันราวกับมีชีวิต

บางครั้งความเป็นมนุษย์อาจไม่จำเป็นสำหรับปัญญาประดิษฐ์หรือหุ่นยนต์ เมื่อพวกเรารักมันหมดทั้งหัวใจและมอบความเป็นมนุษย์ให้ผ่านมุมมองของตัวเอง

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

น้ำใส ศุภวงศ์

Graphic Designer / Data ชาวบ้าน Collector