เปิดเบื้องหลัง ‘Callversation’ เกมสนทนาที่ชวนถกตั้งแต่เรื่องไข่ดาวไปจนถึงปัญหาคอรัปชั่น

Highlights

  • ชวนทักทายคู่สนทนาอย่างแคน–นพัชธวัช วงษ์เจริญสิน, หน่อย–ขวัญพร แช่มช้อย และเจนนี่–ณัฐวดี คงแสง Story Curator แห่ง Glow Story พูดคุยกันถึงเบื้องหลัง ‘Callversation’ เกมสนทนาที่พาเราตั้งคำถามถึงเรื่องเล็กน้อยอย่างการกินไข่ดาวสุกหรือไม่สุก ไปจนถึงเรื่องจริงจังอย่างสังคมและการเมือง
 

นอกจากช่วงที่ผ่านมาเราจะใช้โปรแกรมสนทนาออนไลน์ในการประชุมวิดีโอคอนเฟอเรนซ์แทบทุกเช้า สัมภาษณ์ใครหลายๆ คน ไม่กี่สัปดาห์ก่อนหน้าเราก็มีโอกาสได้ใช้โปรแกรมที่ว่าพูดคุยกับกลุ่มเพื่อนที่นานๆ ทีจะเจอกันด้วยบทสนทนาจาก ‘Callversation’ เกมสนทนาที่สร้างขึ้นโดย Glow Story ที่ประกอบไปด้วยหัวข้อในการพูดคุยทั้งเรื่องชีวิตและความรัก สังคมและการเมือง เรื่องวงการบันเทิงและสื่อ เรื่องการศึกษา เรื่องปัญหาอะไรก็ไม่รู้ ไปจนถึงทางเลือกวัดใจ เพราะสนุกที่ได้แลกเปลี่ยนความเห็นกัน

จากที่คิดว่าจะคุยกันเพียงเล็กน้อย กลายเป็นบทสนทนาลากยาวที่มีจุดเริ่มต้นมาจากคำถามง่ายๆ อย่าง กินไข่ดาวแบบกรอบหรือไม่กรอบ และจริงๆ แล้วต้องเรียกพริกน้ำปลาว่าอะไรกันแน่

ก่อนจะย้อนความไปมากกว่านี้ เสียงของคู่สนทนาฝ่ายตรงข้ามทักทายเรามาแล้ว มาเริ่มต้นสร้างบทสนทนาผ่านทางออนไลน์ คุยกับผู้อยู่เบื้องหลังอย่าง แคน–นพัชธวัช วงษ์เจริญสิน Change Manager, หน่อย–ขวัญพร แช่มช้อย Visual Designer และเจนนี่–ณัฐวดี คงแสง Story Curator แห่ง Glow Story กัน

 

เริ่มต้นสร้างบทสนทนา

“Callversation เริ่มจากว่าที่ Glow Story ใช้แนวคิดในการทำงานแบบเดียวกันกับกูเกิลคือ Passion Project แบ่ง 20% ของการทำงานให้ทุกคนได้มาทำโปรเจกต์ร่วมกัน 1 เดือน 1 โปรเจกต์ มี Change Lab เป็นพื้นที่สำหรับทดลอง อยากลองอะไรก็ใช้พื้นที่นี้ทดลองทำดู เราพยายามจะถามว่าแต่ละคนชอบอะไร มีสกิลอะไร อยากพัฒนาอะไรบ้าง แล้วให้สิ่งที่เขาอยากเรียนรู้นี้ เป็นสิ่งที่ไดรฟ์เขา โดยเราจะมีหน้าที่ในการโยนประเด็นก่อน แล้วให้แต่ละคนมา pitch idea แข่งกัน” แคนเริ่มเปิดประเด็น ปูพื้นฐานให้เรารู้จักรูปแบบการทำงานของบริษัท ก่อนจะเริ่มเล่าวิธีการทำงานกว่าจะกลายมาเป็น Callversation ให้ฟังทีละขั้น

เริ่มจากประเด็นอย่าง ‘ปัญหาจากโควิด-19’ ที่เขาตั้งต้นให้ทุกคนในออฟฟิศช่วยกันคิดและโยนไอเดียว่ามีปัญหาอะไรเกิดขึ้นบ้าง พูดคุยกันว่าการทดลองใน Change Lab ครั้งนี้จะมุ่งไปที่ปัญหาไหน จนสุดท้ายเมื่อได้ข้อสรุปออกมาว่าพวกเขาจะจับประเด็นเรื่อง mental health และ human connection ที่หายไป ก็ให้แต่ละคนนั้นกลับไปคิดว่าจะแก้ปัญหานี้ด้วยวิธีการไหน ซึ่งกว่าจะออกมาเป็น Callversation ในรูปแบบที่เราเห็นกัน ไอเดียของโปรดักต์ที่พวกเขาช่วยกันเสนอก็มีทั้งบ็อกเซ็ตสิ่งของที่ใช้แล้วเหมือนได้ออกจากบ้าน การจัดบ้านให้สปาร์กจอยอย่างมาริเอะ คนโด ไปจนถึงบริการส่งสุนัขไปให้เล่นถึงที่ 

“ไอเดียที่ชนะคือไอเดียของณัฐ (ณัฐชยา จรรยาพาณิชย์ Communication Designer) กับพี่บี๋ (นภัส มุทุตานนท์ ผู้ร่วมก่อตั้ง Glow Story) โดยไอเดียนั้นมีที่มาจากที่บริษัทเราจะมีชุดการ์ดบทสนทนาคล้ายๆ กันนี้ที่พอได้เล่นหรือได้ใช้เวลาร่วมกันมันช่วยให้คนได้มีบทสนทนาที่ลึกและมีความหมายมากขึ้น ณัฐและพี่บี๋เองก็มองว่าเราน่าจะปรับตรงนี้มาเป็นเกมออนไลน์ อยู่บนแพลตฟอร์มที่ทุกคนสามารถร่วมเล่นได้ผ่านอินเทอร์เน็ต เพราะในช่วงนั้นทุกคนก็เริ่มติดต่อกันผ่านวิดีโอคอนเฟอเรนซ์มากขึ้น” แคนอธิบาย

 

ออกแบบหน้าตาและตั้งคำถาม

หลังไอเดียการ์ดเกมผ่าน กระบวนการถัดมาคือการให้แต่ละคนออกความคิดว่าอยากจะพัฒนาการ์ดเกมนั้นออกมาในรูปแบบไหน อยากให้มีอะไรในเกม เกมนั้นต้องตอบโจทย์เรื่องอะไร ทาร์เก็ตเป็นใคร และคุณค่าของเกมนี้คืออะไร ออกมาเป็นงาน 3 แบบ ที่มีเป้าหมายเพื่อแก้ปัญหาเดียวกัน แต่ต่างวิธีการเล่นออกไป จากนั้นเจ้าของไอเดียจะมาจับคู่กับแคน เพื่อนำไอเดียทั้งหมดมารวมกัน แล้วแบ่งทีมทำงานออกเป็น 2 ทีมตามความสมัครใจ คือคราฟต์ทีมที่ดูแลเว็บไซต์ คำถามและวิธีการเล่น และพีอาร์ทีมที่คอยโปรโมตเมื่อโปรเจกต์เสร็จสิ้น ตั้งว่าแต่ละทีมมีวัตถุประสงค์อะไร และตั้งเดดไลน์ว่าแต่ละงานควรเสร็จตอนไหนบ้าง

หน่อยซึ่งดูแลในส่วนของการออกแบบเว็บไซต์เป็นตัวแทนเล่าให้ฟังว่า “ช่วงแรกค่อนข้างวุ่นวาย เพราะจากแค่คอนเซปต์ไอเดียที่มี เราก็ต้องไปรีเสิร์ชหาว่ามีเครื่องมืออะไรบ้างให้เราทำสิ่งนี้ขึ้นมาได้ คุยกันว่าอยากให้ mechanic ในนั้นเป็นยังไงบ้าง ช่วยกันโยนความคิดแล้วรวมความเป็นไปได้ วางเรียงกันเป็นเจอร์นีย์ว่าอยากให้คนเล่นรู้สึกยังไง ศึกษาหาเครื่องมือที่คนนิยมใช้กันตอนเวิร์กฟรอมโฮม ดูว่าแต่ละอันแตกต่างกันยังไง และอะไรจะเหมาะกับสิ่งที่เราคิด 

“เราอยากให้คนที่เล่นสามารถคุยกันและเห็นการ์ดไปด้วย สุดท้ายเลยได้เครื่องมือเป็น zoom รวมกับการทำ microsite ขึ้นมาง่ายๆ ซึ่งก็สะดวกตรงที่เราสามารถแชร์สกรีนแล้วเล่นกับพื้นหลังได้ การทำ microsite ในเว็บสำเร็จอย่าง wix ก็สามารถเข้าไปปรับแต่ง เลือกหน้าจอเลย์เอาต์ของเราเองได้ ซื้อโดเมนเอานิดหน่อยก็เสร็จได้ในเวลาไม่เกิน 1-2 อาทิตย์ 

เครื่องมือที่เราใช้ก็เป็นตัวกำหนดหลายๆ อย่างของ Callversation เหมือนกัน พวกวิธีการเล่น กติกาการยกนิ้ว การกำหนดเวลาก็มาจากว่า zoom มีการตัดทุก 40 นาทีสำหรับคนที่ไม่ได้เสียเงิน การจะทำให้คนสามารถเล่นได้ในเวลาที่จำกัดเลยต้องคิดวิธีเป็นการชูนิ้ว 1-5 ภายใน 15 วินาที หลังจากนั้นค่อยมาถกกันอีก 3 นาที” หน่อยบอกเบื้องหลังงานที่ตัวเองรับผิดชอบอย่างละเอียด โดยมีเจนนี่ซึ่งดูแลด้านการคิดคำถามช่วยเสริม 

“ตอนแรกเราจะให้ชูนิ้ว 1-8 ด้วยซ้ำ แต่ตอนทดสอบรอบแรกมีคนทักว่าถ้าเกิดเขามีแขนแค่ข้างหนึ่งล่ะ จะทำยังไง เราเลยคิดได้แล้วเปลี่ยนใหม่ให้เหลือแค่ชูนิ้ว 1-5 เหมือนปัจจุบัน ซึ่งพอเล่นจริงนอกจากข้อทักท้วงที่ว่ามาเราก็พบว่าคนส่วนใหญ่เวลาตอบมักจะชูเลขไม่น้อยสุด มากสุด ก็กลางไปเลย เรนจ์ไม่ได้เยอะขนาดนั้น” เป็นความใส่ใจเล็กๆ ที่พวกเขาอยากให้คนทุกเพศ ทุกวัย ทุกช่วงอายุ ทุกสถานะเล่นได้ ซึ่งเราเพิ่งรู้เอาวันนี้  

วิธีคิดคำถาม ส่วนใหญ่ก็จะนั่งคุยกันเลย นั่งดูว่าช่วงนี้ทวิตเตอร์มีประเด็นอะไร มีกระแสอะไรบ้างที่คนชอบพูดถึง ลองทักหาเพื่อนที่สนใจประเด็นสังคมว่ามีเรื่องอะไรหรือเปล่าที่เขารู้สึกว่าหาคำตอบไม่ได้ หรืออยากให้เกิดการตั้งคำถามมากขึ้น แล้วเราก็จะลองคุยถกกับพี่ในทีมก่อนว่าถ้าเราคิดคำถามมาแบบนี้เขาจะตอบยังไง เราจะตอบยังไง ถ้าคิดแล้วตอบได้เลย เป็นเอกฉันท์ก็แสดงว่าคำถามนี้ไม่เวิร์ก ง่ายไป” เจนนี่เล่าพร้อมเสียงหัวเราะ บอกเราว่าจริงๆ แล้วก็ไม่ได้มีกฎเกณฑ์ตายตัวว่าคำถามแบบไหนถึงจะผ่านไปให้คนอื่นเล่นได้ บางครั้งก็เป็นเพียงฟีลลิ่งของเธอกับทีมที่วัดจากการลองทดสอบและนั่งคุยกัน

“ต้องขอบคุณการทดสอบกับกลุ่มต่างๆ ด้วย เพราะได้ลองเล่นและมีฟีดแบ็กกลับมาเราเลยสามารถนำกลับมาพัฒนาให้ดีขึ้น อย่างรอบแรกที่ปล่อยออกไปเรายังไม่ได้เรียงคำถาม พอเอาไปลองเล่นจริงๆ ก็ทำให้เห็นว่าอารมณ์ของคนเล่นจะตกได้ถ้าเราเรียงเอาคำถามที่ยากมาก เปิดมาทุกคนร้องซี้ด แต่คำถามต่อไปกลับง่าย ก็ต้องเรียงคำถามใหม่ เริ่มจากคำถามง่ายๆ ก่อน เป็นการวอร์มให้พีคขึ้นเรื่อยๆ บิลด์กราฟว่าเราจะสร้างเจอร์นีย์ให้เขารู้สึกยังไงบ้าง” เช่นเดียวกับการทำเว็บของหน่อยที่ขณะทำก็ต้องออกแบบตามหลัก UX/UI ดูว่าคนที่เข้ามาจะต้องเจอกับอะไรก่อนหลัง ควบคุมให้ผู้เล่นเป็นไปอย่างที่อยากให้รู้สึก เริ่มจากการอ่านวิธีเล่น ดูตัวอย่างการเล่น แล้วจึงเข้าสู่คำถาม 

“เราต้องการให้มันเร็ว ง่าย เข้าถึงได้ทุกคน เวลาทุกคนเข้าเว็บไซต์มาจึงไม่ต้องล็อกอิน ไม่ต้องสร้างแอ็กเคานต์อะไรทั้งนั้น แต่ตอนนี้อาจจะยังจำกัดว่ายังเข้าเล่นจากโทรศัพท์ไม่ได้” แคนซึ่งคอยดูภาพรวมของงานช่วยสรุปความตั้งใจของทีม

 

โปรเจกต์เพื่อคนอยู่บ้านที่สร้างขึ้นด้วยการทำงานจากบ้าน

เนื่องจากโปรเจกต์นี้พวกเขาทั้งเริ่มคิดและรันกระบวนการทำงานทุกอย่างจากที่บ้าน เราจึงอดอยากรู้ไม่ได้ว่าสุดท้ายแล้วการทำงานในรูปแบบนี้มีข้อดี-ข้อเสีย หรืออะไรที่เป็นอุปสรรคสำหรับพวกเขาบ้างหรือเปล่า

หลังนิ่งคิด เจนนี่เริ่มเอ่ยบอกเราเป็นคนแรกว่า “การทำงานนี้ทำให้เรามองหาโซลูชั่นที่ดีขึ้นจากสถานการณ์ปกติ ถ้าเป็นสถานการณ์ปกติมันคงจะไม่ได้ออกมาเป็น Callversation ในรูปแบบนี้ ยิ่งพอมันมีปัญหาเกี่ยวกับโควิด-19 ว่าทุกคนเบื่อ อยากออกจากบ้านเยอะเท่าไหร่ งานมันเลยเหมือนมีสปริงทำให้เราถีบกระโดดไปได้เร็วขึ้น มีพาวเวอร์ในการทำมากขึ้น ถือเป็นข้อดีในข้อเสีย ส่วนข้อเสียคือมันใช้เวลาในการประชุมพูดคุยกันเยอะขึ้น เพราะไม่สามารถที่จะเห็นความรู้สึกของคนที่เข้าร่วมได้ อย่างตอนแรกเราวางไว้สองชั่วโมง ทุกวันจันทร์ กลายเป็นว่าเวลาก็เพิ่มมากขึ้นไปกว่านั้นอีก เพราะไม่สามารถเดินไปถาม ไปเจอกันเหมือนตอนอยู่ออฟฟิศได้

“มันกินเวลาทำงานไปจากเดิมก็จริง แต่เราเข้าใจว่าทุกคนอยากทำมัน เพราะส่วนใหญ่เวลามีงานในส่วนของ Change Lab ต่อให้มันเป็นงานที่งอกขึ้นมา ทุกคนก็จะกระตือรือร้นกันกว่าปกติ เพราะพอมันเป็นสิ่งที่เราได้ทำในสิ่งที่เราอยากลองเอง ได้ใช้ความสามารถในสิ่งที่เรามี ซึ่งบางครั้งเวลาทำงานปกติเราไม่ได้ใช้ หรือบางครั้งที่เราอยากพัฒนามากๆ แล้วเราได้มาทำในพื้นที่นี้มันก็เลยสนุกและทุกคนก็เต็มใจที่จะทำตรงนั้น”

แคนพยักหน้าเห็นด้วยกับสิ่งที่เจนนี่พูด ก่อนจะเสริมขึ้นว่า “สิ่งสำคัญมากๆ ที่คิดว่าได้เรียนรู้คือเราว่าทุกคนที่อยู่ใน Glow Story มีความสามารถที่สูงอยู่แล้ว เวลามีใครมาถามเกี่ยวกับโปรเจกต์นี้เรามักตอบว่า จริงๆ แล้วผมก็ไม่รู้ว่าตัวเองทำอะไรเหมือนกัน เพราะคนใน Glow มีความสามารถสูง มีทักษะที่ตรง และเขาก็ทำในสิ่งที่เขารู้อยู่แล้ว เราแค่ต้องเชื่อว่าเขาทำได้ ให้ความเคารพในสิ่งที่เขาเป็น ด้วยความที่งานนี้กระบวนการทำมันไม่ได้อยู่ด้วยกัน และนี่ก็เป็นโปรเจกต์ที่ทุกคนใน Glow เป็นเจ้าของ เราเลยให้ ownership กับทุกคนสูงมาก ถ้าแต่ละทีมมาปรึกษากับเราว่าจะทำหรือไม่ทำอันนี้ดี เราก็จะบอกแค่ว่าแล้วแต่เลย ถ้าทำแล้วรู้สึกว่ามันยังตรงกับวัตถุประสงค์ คิดว่าทำได้และต้องทำก็ทำเลย ไม่ต้องปรึกษาเยอะ ไม่ต้องขอเยอะ ลงมือทำได้เลย”

“เราว่าการเรียนรู้ที่ดีจากการทำงานนี้คือการสร้างเซฟโซน Callversation เป็นเซฟโซนที่อยากให้คนมาถกเถียงกันได้ แต่ในขณะเดียวกันกระบวนการทำงานของเราก็พยายามสร้างเซฟโซนให้กันและกัน ด้วยการเพิ่มความเชื่อมั่น และมั่นใจในความสามารถของแต่ละคนให้มากที่สุด การที่ให้เราเลือกทำงานจากความสนใจ เลยทำให้เราพยายามที่จะทำสิ่งที่ดีที่สุดเท่าที่เราจะทำได้ออกมา เพราะหนึ่งคือเราเลือกทำมันด้วยตัวเอง และสองคือเรารู้สึกว่าไม่ว่าจะทำอะไร ทุกคนพร้อมที่จะให้ฟีดแบ็กเพื่อเอาไปปรับปรุงต่อ จะไม่มีการเบลม แต่จะเป็นคำว่าฟีดแบ็ก ที่ Glow ใช้โมเดล I like, I wish ชอบอะไร อยากให้ปรับปรุงอะไร หรืออยากให้อะไรดีขึ้น เวลาได้ฟีดแบ็กมามันก็เลยกลายเป็นว่าเรายิ่งอยากเอาไปพัฒนา 

“มันคือการเชื่อ การเคารพในความแตกต่าง หลากหลาย และความเป็นตัวเองของแต่ละคน มันทำให้เรามองเห็นว่าคนคนนั้นมีความเป็นไปได้ที่จะทำอะไรบ้าง ในขณะเดียวกันมันก็จะทำให้เขารู้สึกเชื่อมั่นในตัวเองด้วย เมื่อได้ทำในสิ่งที่ตัวเองชอบ สิ่งที่ตัวเองสนุก และได้รับความเชื่อใจ ได้รับการสนับสนุนจากคนรอบข้าง มันเลยทำให้ไม่ว่ากระบวนการทำงานจะยากสักแค่ไหนเราก็ยังรู้สึกอยากทำ ส่งผลไปถึงปลายทางว่าไม่ว่ามันจะออกมาเป็นยังไง ทุกคนก็จะพอใจกับปลายทางนั้น เพราะเราได้ดึงส่วนที่เราชอบที่สุดในตัวเองออกมาใช้           

“ถ้าถามว่าโปรเจกต์จาก Change Lab มันเปลี่ยนคนอื่นไหม ก็อาจต้องให้คนอื่นตอบ แต่ที่เห็นชัดเจนเลยคือพอมันมี Change Lab ขึ้นมา มันทำให้คนในทีมเปลี่ยนไปอย่างเห็นได้ชัด ทุกคนมีเอเนอร์จี้มากขึ้น ได้เปลี่ยนมุมมอง เปลี่ยนอะไรไปหลายๆ อย่าง พอเรารู้สึกว่ามันเปลี่ยนและได้เรียนรู้จากตรงนี้เราเลยรู้สึกพอใจ ซึ่งก็กลับไปที่จุดประสงค์ของ Change Lab ในตอนแรก”

 

ใช้ทักษะที่ถนัด พัฒนาสกิลที่มี 

อย่างที่เจนนี่บอก โปรเจกต์นี้คือการที่ทุกคนได้ใช้ทักษะที่ตัวเองถนัดและอยากทำ สำหรับทุกคนเลยเหมือนเป็นการได้สำรวจสิ่งใหม่ๆ ได้เติมความชำนาญให้สิ่งที่ตัวเองสนใจ

“เราเองอาจจะด้วยเพราะอยู่กับพี่บี๋ พี่พิ (พิริยะ กุลกาญจนาชีวิน ผู้ก่อตั้ง Glow Story) เยอะ ทักษะการจัดการเลยเพิ่มขึ้น พยายามเอาข้อดีของทั้งสองคนมาผสมกัน แล้วก็ถ่ายทอดออกมา พยายามจัดการงานให้ได้ทั้งผลลัพธ์และความสนุก” แคนเริ่มบอกทักษะที่คิดว่าตัวเองได้พัฒนา ก่อนจะส่งต่อให้น้องในทีม

“เราได้เอาใจใส่ว่าคนเล่นน่าจะรู้สึกอะไรตอนเล่น และใช้ curiousity ในบางคำถาม เพราะเราเป็นคนชอบฉอด เป็นคนอยากรู้อยากเห็นอยู่แล้ว บางอย่างเป็นเรื่องที่เราอยากจะคุยมานานแล้วแต่ไม่ได้คุย ก็ได้ใช้ความอยากรู้อยากเห็นของเรานี่แหละมาตั้งคำถาม เราว่าจริงๆ แล้วทุกคนมีสกิลอะไรพวกนี้อยู่แล้ว เพียงแค่ระบบของสังคมไทยมันไม่ได้ทำให้เราหันมาตั้งคำถาม เราแค่ดึงสกิลพวกนี้ออกมาใช้เพื่อที่จะทำให้คนเห็นแล้วก็มีประสบการณ์เดียวกันว่ามันไม่ใช่แค่เราที่ทำได้ คุณก็สามารถทำได้ มันไม่จำเป็นต้องเป็นแค่คำถาม 10 ข้อนี้ คุณเดินออกไปข้างนอก เห็นอะไร คุณก็อาจจะตั้งคำถามกับเพื่อนได้ว่าคุณเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับสิ่งนี้ มันไม่จำเป็นต้องอยู่แค่ใน Callversation ก็ได้”  

“จริงๆ แล้วตอนที่ทำเกมนี้ออกมาเราก็ไม่ได้คิดว่ามันจะมีคุณค่าอะไรชัดเจน เหมือนแค่เป็นโซลูชั่นในการแก้ปัญหาโควิด แต่พอลองเล่นไปสักพัก เราก็มองว่าคุณค่าของมันคือเราอยากทำให้การถกเถียงไม่ใช่สิ่งที่กล้าหาญ แต่เป็นสิ่งที่ปกติมากๆ ในสังคม ควรจะเข้าใจว่าคนที่ออกมาถกเถียงหรือแสดงความคิดเห็น เขาไม่ใช่คนที่กล้าหาญ แต่มันคือสิ่งปกติที่เราทุกคนสามารถทำได้ ซึ่ง Callversation มันเอื้อให้สามารถทำแบบนั้น หนึ่งคือพอเราวิดีโอคอลกันมันต้องมีแค่หนึ่งคนพูด เพื่อที่เราจะได้เข้าใจ ถ้าเกิดพูดแทรกก็คือต้องเงียบและนั่งฟัง ด้วย environment ที่เป็นแบบนี้เลยยิ่งทำให้การถกเถียงมันมีการรับฟังมากขึ้น” ลีดโปรเจกต์อย่างแคนยกข้อดีที่เขามองเห็นจากการทำ Callversation ให้เราได้ฟัง เช่นเดียวกับเจนนี่ที่เริ่มพูดข้อดีในมุมของตัวเอง       

“ปกติถ้าใครยกมือก็คือแปลกใช่ไหม แต่ใน Callversation ทุกคนต้องยกมือถึงจะได้พูด มันเลยเป็นสัญลักษณ์ว่าเราสามารถแสดงความคิดเห็นได้ ต่อให้มันจะเป็นความคิดเห็นที่ไม่เหมือนกันเลยก็ตาม แต่สิ่งที่ทุกคนทำได้และต้องทำคือคุณต้องยกมือแสดงจุดยืนของคุณ

“ข้อดีของ Callversation จึงเป็นการชี้ให้คนเห็นว่าการถกเถียงที่ดีมันควรจะเป็นยังไงด้วย เพราะเราก็มีบอกไว้ตั้งแต่แรกแล้วว่ามันควรที่จะเปิดใจรับฟัง เปิดใจในคำตอบที่มันแตกต่างหลากหลายได้ เพราะสุดท้ายแล้วมันไม่ได้เป็นเกมที่มีคำตอบว่าสรุปเฉลยคืออะไร แต่เป็นเกมที่ทำให้เราได้รู้จักความคิดเห็นของคนอื่นมากขึ้น ด้วยความที่มันเป็นเกม บางหัวข้ออย่างการเมืองเลยสามารถพูดได้ เพราะถูกครอบด้วยคำว่าเกม ทำให้สนุกแล้วคนก็จะรู้สึกว่ามันซีเรียสน้อยลง รู้สึกว่ามันก็เป็นแค่เกมเกมหนึ่ง

“อีกอย่างที่รู้สึกว่าเป็นข้อดีคือกับบางคนเราไม่เคยได้คุยกันลึกๆ ขนาดนี้ด้วยซ้ำ แต่ว่าเราอาจจะอยากหาเรื่องชวนคุยกับเขามานานแล้ว เราใช้สิ่งนี้ในการเริ่มต้นชวนคุยได้ เหมือนทำให้เราได้รู้จักคนที่เรารู้จักอยู่แล้วในมิติที่เพิ่มมากขึ้น ในมุมที่เราอาจจะไม่ได้พูดคุยกันในช่วงปกติ   

“สุดท้าย Callversation อาจจะไม่ได้อยู่ตลอดไปก็ได้ คนอาจจะเลิกเล่นไป แต่เราว่าก็ไม่เป็นไร ไม่ต้องมาเล่นในนี้ก็ได้ แต่ในชีวิตจริงคุณสามารถหยิบวิธีการเดียวกันนี้ไปใช้ สุดท้ายแล้วคีย์ของมันอยู่ที่ mechanic มากกว่า”

“ระบบสังคมไทยมันคือการที่คุณซุกทุกอย่างเอาไว้ใต้พรม แล้วโบกปูนทับด้วยคำว่าศีลธรรม ความดีงาม ซึ่งความดี ความงามนั้นคืออะไร คุณก็ยังไม่สามารถตอบได้ พอมีคนมาถามว่าความดีที่โบกทับไว้คืออะไรคะ ยังไม่ถามถึงอันที่อยู่ใต้พรมเลย เขาก็ไม่ให้เราตั้งคำถามแล้วด้วยซ้ำ เราเลยมองว่าการไม่พูดไม่ถกกันอย่างนี้มันเป็นปัญหา เราไม่ได้อยู่ในสังคมที่ไม่ตั้งคำถามอย่างนี้มาแค่ 5-6 ปีที่ผ่านมา แต่เราอยู่มาทั้งชีวิต เราเลยคิดว่าแค่สิ่งเล็กๆ อย่างการตั้งคำถามและการกล้าออกมาพูดมันจึงเป็นอะไรที่สำคัญมากๆ ถ้าสิ่งนี้มันกลายเป็นสิ่งที่ปกติ มันก็น่าจะเปลี่ยนแปลงสังคมได้ หรืออย่างน้อยมันเปลี่ยนแปลงคนหนึ่งคนในการใช้ชีวิตได้” หญิงสาวผู้ดูแลด้านคำถามพูดด้วยความหวัง โดยมีหน่อยคอยเสริมทัพ    

 “เราเองก็รู้สึกว่ามันไม่ปกตินะ การที่คนไม่ตั้งคำถามอะไรเลย ซึ่งมันเป็นตั้งแต่เด็กๆ แล้ว เห็นอยู่ว่าเด็กไทยไม่ได้ถูกปลูกฝังให้เรากล้าถามคำถาม บางครั้งเราเองขนาดเป็นผู้ใหญ่แล้วยังไม่กล้าตั้งคำถามกับเรื่องบางเรื่องเลย เราเลยรู้สึกว่าการที่มีเครื่องมืออย่าง Callversation ขึ้นมา อาจจะเป็นพื้นที่ให้คนได้แสดงความคิดเห็นหรือตั้งคำถามมากขึ้น

“เล่นมาทุกวงเราก็ยังไม่เคยเจอใครตัดสินกันเลยนะ ยังไม่เคยเจอแบบ อุ๊ย แกคิดอย่างนี้ได้ยังไงเนี่ย ก็รู้สึกว่ามันดีเนอะที่เป็นอย่างนี้” หน่อยทิ้งท้ายด้วยรอยยิ้ม   

 

ให้ Callversation เป็นจุดเริ่มต้นเล็กๆ ที่สามารถเปลี่ยนแปลงสังคม 

ถึงคำตอบของคำถามที่ว่าพวกเขารู้สึกยังไงที่ได้ทำ Callversation ขึ้นมาจะอยู่ในน้ำเสียงและเสียงหัวเราะที่แทรกให้ได้ยินตลอดบทสนทนา แต่เราก็ยังอยากถามให้ชัดเจนอีกครั้ง และเจนนี่ก็บอกพร้อมรอยยิ้มว่า “มันสนุกและบ้าพลังดีที่ได้ทำอะไรบางอย่างออกมาในเวลาเท่านี้ เหมือนคลอดลูกแหละ พองานเสร็จแล้วก็แฮปปี้และโล่ง และสเตปต่อไปก็สงสัยว่าลูกคนนี้ มันจะโตไปได้ขนาดไหน ถ้าเกิดเขาโตไปเป็นคนที่ดีของสังคมและเปลี่ยนแปลงสังคมได้ก็คงดี”     

เช่นเดียวกับแคนที่พยักหน้าให้กับประโยคข้างต้น พร้อมยืนยันว่าเขาก็รู้สึกอย่างเดียวกัน “มันเป็นความรู้สึกนั้นเลยนะ เพราะนี่ก็เป็นโปรเจกต์แรกของพวกเราที่ทำภายใต้ Change Lab หลังบ้านมันอาจมีความทรหดอดทนของแต่ละคนอยู่ซึ่งเราก็ขอบคุณจริงๆ แต่คิดว่าพอผลงานมันออกไปแล้ว มีการไปทดลองเล่น มีฟีดแบ็กกลับมา เรารู้สึกว่าทุกคนแฮปปี้กับสิ่งนี้ ภาพในอนาคตก็คือคิดเห็นและรู้สึกแบบเดียวกับที่เจนนี่พูดว่าคลอดออกมาแล้วสเตปต่อไปก็หวังว่ามันจะพัฒนาออกมาเป็นสิ่งที่ดีให้กับคนรอบข้างหรือคนในสังคมได้” โดยมีหน่อยปิดท้ายว่า

“ตอนแรกเราก็ตั้งคำถามว่ามันจะไปได้ไกลขนาดไหน แต่ตอนนี้เป็นความรู้สึกที่ว่ามันก็ไปได้ไกลเหมือนกันนะ แล้วเราจะทำยังไงให้ไปได้ไกลกว่านี้ มันมีแนวทางที่ไปต่อได้ เป็นความรู้สึกว่าความเพ้อเจ้อของพวกเราชาว Glow Story ที่เราคิดว่าดี พอปล่อยออกไปแล้วมันดีจริงๆ ตอบโจทย์กับสิ่งที่สังคมต้องการอยู่ ก็เป็นเรื่องน่าตื่นเต้นว่ามีคนคิดเห็นแบบเดียวกันกับเราแล้ว เราไม่ได้คิดไปกันเอง ไม่ได้ดีแค่ใน Glow แต่ดีออกไปข้างนอกด้วย”    

AUTHOR