“ผมไม่สามารถเสแสร้งว่ารู้สึกเป็นกลางกับทุกสี ผมชื่นชมยินดีกับบางสีเป็นพิเศษและรู้สึกเสียใจกับสีน้ำตาลที่น่าสงสาร”
วินสตัน เชอร์ชิลล์ นายกรัฐมนตรีและรัฐบุรุษของอังกฤษกล่าวถึงสีน้ำตาลไว้เช่นนี้ หลายคนรู้จักเชอร์ชิลล์ในฐานะผู้นำที่เฉียบขาดผู้นำพาอังกฤษผ่านพ้นชั่วโมงดำมืดช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 อันที่จริงนอกจากงานด้านการเมืองและการทหาร เชอร์ชิลล์ยังมีงานอดิเรกที่น่าสนใจคือการวาดภาพสีน้ำมันซึ่งเขาได้กล่าวถึงการเลือกใช้สีของตัวเองในเชิงที่ว่าตัวเขานั้นไม่ค่อยโปรดปรานสีน้ำตาลสักเท่าไหร่
น่าสนใจว่าเชอร์ชิลล์ไม่ใช่คนเดียวที่คิดแบบนี้ จากผลสำรวจเรื่องสีของชาวยุโรปและอเมริกา สีน้ำตาลเป็นสีที่ได้รับความนิยมน้อยที่สุดแม้มันจะเป็นสีที่สามารถมองเห็นได้ตามธรรมชาติและเชื่อมโยงกับสิ่งของที่เป็นที่ชื่นชอบของชาวตะวันตกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นชา กาแฟ หรือช็อกโกแลต
ในเชิงภาษาศาสตร์ brown–คำในภาษาอังกฤษที่มีความหมายถึงสีน้ำตาลมีที่มาจากภาษาอังกฤษโบราณคือคำว่า brún ซึ่งหมายถึงสีคล้ำ คำว่า brown ปรากฏในตระกูลภาษาอังกฤษตามหลังคำว่า black (สีดำ), white (สีขาว), red (สีแดง), yellow (สีเหลือง), green (สีเขียว) และ blue (สีน้ำเงิน)
สีน้ำตาลปรากฏเป็นลายลักษณ์อักษรครั้งแรกในบทกลอน Cursor Mundi (แปลเป็นภาษาอังกฤษว่า runner of the world) บทกลอนทางศาสนาความยาวราว 3,000 บรรทัด เขียนขึ้นราว ค.ศ. 1300 โดยนักเขียนไม่ทราบชื่อ บทกลอนที่ว่าใช้สีน้ำตาลเพื่อแทนลักษณะสีผมของบุคคล โดยกล่าวว่า “สีผมของเขาเป็นเหมือนถั่วสีน้ำตาล เมื่อมันสุกพร้อมและร่วงหล่น” (His hair was like the nut brown / When it for ripeness falls down)
ในบทบันทึกนี้ดูเหมือนสีน้ำตาลจะเกี่ยวโยงกับธรรมชาติเสียเป็นส่วนใหญ่จนมนุษย์ไม่น่าจะมีเหตุผลให้ไม่ชอบสีนี้ แต่แล้วหลายคนก็กลับไม่ชอบสีน้ำตาลขึ้นมาเพราะมันถูกผูกโยงกับความเชื่อว่าเป็นสีของคนจน
หญิงผิวขาว ชายผิวเข้ม สีน้ำตาลกับการแบ่งหน้าที่ในอียิปต์โบราณ
สีน้ำตาลไม่ใช่สีที่แบ่งแยกคนจน-คนรวยมาตั้งแต่ต้น เพราะย้อนกลับไปยังอียิปต์หลายพันปีก่อน สีน้ำตาลคือสิ่งที่ใช้แยกบทบาทระหว่างเพศมากกว่า
แม้สีน้ำตาลจะปรากฏในงานเขียนค่อนข้างช้า แต่ในโลกศิลปะ สีน้ำตาลเป็นสีที่ถูกใช้มาอย่างยาวนาน โดยอาจย้อนไปได้ตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์เมื่อสีน้ำตาลถูกใช้โดยชาวอียิปต์โบราณเพื่อแยกบทบาทของชาย-หญิง ชาวอียิปต์เก่งกาจเรื่องการใช้สัญลักษณ์ ไม่เพียงแต่ภาษาของพวกเขาจะถูกสร้างในรูปแบบอักษรภาพ แต่ชาวอียิปต์ยังเริ่มวาดภาพเหมือนแทนตัวบุคคลมาตั้งแต่ 3,000 ปีก่อนคริสตกาล
ผู้นำของอียิปต์หรือที่เราเรียกกันว่าฟาโรห์ มักปรากฏในฐานะตัวละครที่สำคัญที่สุดของภาพจึงมักมีขนาดใหญ่ ที่น่าสนใจคือชาวอียิปต์ในยุคอาณาจักรเก่า (The Old Kingdom กินเวลาประมาณ 3,200-2,300 ปีก่อนคริสตกาล) มีกฎเกณฑ์ตายตัวในการวาดภาพผู้ชายโดยระบายสีผิวเป็นโทนน้ำตาลแดงในขณะที่ฝ่ายหญิงมักมีสีผิวเป็นสีอ่อนกว่าคือสีโทนเหลือง ที่เป็นแบบนี้เพราะชาวอียิปต์มีแนวคิดชัดเจนเรื่องการแบ่งงานกันทำ ฝ่ายชายที่มักออกไปทำงานกลางแจ้งต้องมีสีผิวที่เข้มกว่าเพราะโดนแดดแผดเผา ส่วนผู้หญิงซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบงานในบ้านหรือกิจการที่ไม่ต้องออกแดด เช่น การทอผ้า หุงหาอาหาร ก็ควรมีสีผิวที่ปราศจากการแตะต้องของแสงอาทิตย์
แนวคิดแบ่งหน้าที่ในสังคมสืบย้อนกลับไปได้ถึงแนวคิดโบราณเรื่องสมดุลของจักรวาลซึ่งกล่าวถึงหน้าที่ในทางตรงกันข้ามระหว่างชาย-หญิง ความเชื่อนี้เกี่ยวข้องกับเทพีมาอัต (Maat) เทพีแห่งความยุติธรรมที่ทำหน้าที่จัดระเบียบสมดุลต่างๆ ของโลก
ถึงอย่างนั้นภาพวาดของชาวอียิปต์ก็ไม่ได้สื่อสารความจริงทั้งหมดเพราะไม่เชิงว่าหญิง-ชายจะต้องมีสีผิวเข้มหรืออ่อนกว่าอีกฝ่ายเสมอไป คู่สมรสของฟาโรห์บางองค์อาจมีผิวสีเข้มกว่าพระสวามี แต่คอนเซปต์เรื่องสียังคงถูกใช้เพื่อให้ความหมายในเชิงสัญลักษณ์เพื่อแสดงอำนาจของเพศชายมากกว่าการบอกเล่ารูปลักษณ์ตามความเป็นจริง
กฎเรื่องสีไม่ได้ถูกใช้ไปตลอดเพราะมีการผ่อนผันลงในช่วงอาณาจักรใหม่ (The New Kingdom กินช่วงเวลาระหว่าง 1600-1100 ปีก่อนคริสต์ศักราชซึ่งเป็นช่วงเวลาที่อียิปต์รุ่งเรืองสูงสุด) ฮัตเซปซุต ฟาโรห์หญิงแห่งราชวงศ์ที่ 18 พยายามสื่อสารว่าทรงมีสิทธิขาดในการปกครองด้วยการเลือกให้ภาพวาดของพระองค์มีสีผิวสีน้ำตาลเช่นเดียวกับผู้ชาย อันหมายถึงพระองค์ทำงานของผู้ชายได้ดีไม่แพ้กัน
จนมาถึงยุคสมัยของฟาโรห์แอเคนาเทนหรือแอเมนโฮเทปที่ 4 ทรงมีแนวคิดเรื่องการเปลี่ยนสีผิวในภาพวาดของทั้งหญิงและชายให้ใช้สีเดียวกันคือน้ำตาลแดงหรือสีออกส้ม การเปลี่ยนแปลงทางศิลปะในยุคของพระองค์นั้นมาจากแนวคิดปฏิรูปศาสนา เพราะพระองค์ทรงต้องการให้ชาวอียิปต์หันมานับถือสุริยเทพอาเทนเพียงองค์เดียว อาเทนนั้นมีสีผิวสีน้ำตาลแดงดังนั้นการวาดชาวอียิปต์ทั้งหมดให้มีสีผิวแบบเดียวกันนอกจากจะหมายถึงความเป็นเอกภาพ ยังหมายความว่าพวกเขามีความเชี่ยมโยงกับเทพเจ้าสูงสุด นั่นจึงเป็นเหตุผลที่รูปปั้นและภาพวาดของเนเฟอร์ติติ ราชินีผู้โด่งดังของแอเคนาแทน (รวมไปถึงลูกสาวสามคนของทั้งสอง) มีสีผิวเป็นสีน้ำตาลแดงเช่นเดียวกับฟาโรห์แทนที่จะเป็นสีอ่อนเหมือนผู้หญิงในอุดมคติในยุคก่อนหน้า
สีน้ำตาลกลายเป็นสีของความจนได้ยังไง? ว่าด้วยชนชั้นที่ถูกจำกัดด้วยสีสัน
ในขณะที่สีม่วงบ่งบอกถึงสถานะสูงส่งและถูกสงวนไว้สำหรับจักรพรรดิ ชาวโรมันมีคำเรียกที่สื่อถึงสีน้ำตาลว่าเป็นสีของชนชั้นล่างหรือพวกป่าเถื่อน
ชนชั้นล่างของโรมันถูกเรียกว่าพวกเพลเบียน (plebeians) หมายถึงคนสามัญ อันได้แก่ ชาวนา พ่อค้า ช่างฝีมือ หรือประชาชนทั่วไปที่ไม่ได้อยู่ในชนชั้นปกครอง โดยคำว่า plebeians นั้นมีรากศัพท์มาจากคำว่า pullati หมายความว่าบุคคลที่สวมใส่สีน้ำตาล ส่วนเหตุที่สีน้ำตาลเป็นสีที่สวมใส่กันในหมู่ประชาชนทั่วไปเป็นเพราะสีนี้สามารถย้อมได้โดยวัสดุธรรมชาติ ไม่ต้องซื้อหาหรือนำเข้าจากต่างแดน
ในยุคกลาง ภาพลักษณ์ของสีน้ำตาลเป็นที่จดจำอย่างมากในฐานะสีเสื้อคลุมของนักบวชคาทอลิกคณะฟรานซิสกัน โดยสีน้ำตาลนั้นเป็นสีที่นักบุญฟรังซิสแห่งอัสซีซีเคยสวมใส่ในช่วงก่อตั้งคณะ พระองค์ได้รับบริจาคผ้าเก่าจากบรรดาชาวนาผู้มีจิตศรัทธาซึ่งแน่นอนว่าชาวนาที่มีฐานะยากจนย่อมมีแต่เสื้อผ้าสีน้ำตาลซึ่งเป็นสีที่หาง่ายและมีราคาถูก
อันที่จริงการสวมใส่สีน้ำตาลของคณะฟรานซิสกันไม่ถือเป็นกฎตายตัวแต่มีการสนับสนุนให้ผู้ศรัทธาสวมใส่เสื้อผ้าที่ไม่หรูหราและมีความอ่อนน้อมถ่อมตน นอกจากนั้นสีน้ำตาลยังสื่อถึงการใช้ชีวิตที่ใกล้ชิดธรรมชาติ มันเป็นสีที่เปื้อนยากแม้ต้องเดินทางทำงานหนัก ดังนั้นจึงหมายถึงความมุ่งมั่นตั้งใจของนักบวชในคณะที่เดินทางไปตามที่ต่างๆ เพื่อเผยแผ่พระธรรมคำสอนและเป็นสีที่ทำให้ผู้พบเห็นได้ตระหนักถึงวิถีชีวิตเรียบง่าย
Mummy Brown เมื่อสีน้ำตาลมีราคาเพราะทำมาจากศพ
แม้สีน้ำตาลจะมีประวัติศาสตร์พันผูกกับความยากจนและชีวิตเรียบง่าย แต่ก็มีอยู่ครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ที่สีน้ำตาลกลายเป็นที่นิยมเพราะที่มาแสนแปลกประหลาดนั่นคือ ‘มัมมี่’
เป็นเวลาร่วมสี่ร้อยปีนับตั้งแต่ศตวรรษที่ 15 ที่มัมมี่จากอียิปต์ถูกลักลอบนำเข้าไปยังยุโรปโดยชนชั้นสูงที่นิยมนำมากินเป็นยา กระทั่งในช่วงศตวรรษที่ 16-17 กระแสคลั่งมัมมี่ก็ทวีความนิยมเป็นอย่างสูง มีการนำเข้ามัมมี่อย่างเป็นระบบโดยมักขนส่งไปยังอังกฤษ ฝรั่งเศส และเยอรมนี
มัมมี่ที่ถูกนำเข้ามานั้นมีทั้งที่นำไปจัดแสดง ศึกษา บดเป็นยา หรือถูกส่งขายตามบ้านเพื่อเป็นของสะสม (กล่าวว่าใน Cabinet of Curiosities หรือห้องสารภัณฑ์ของผู้มีอันจะกินจะต้องมีมัมมี่อย่างน้อยหนึ่งร่างหรือมีชิ้นส่วนจากมัมมี่ไม่น้อยไปกว่าหนึ่งชิ้น) มัมมี่บางตนถูกนำมาแกะโชว์เพื่อความสนุกสนาน แต่สิ่งที่โหดร้ายต่อคนตายมากที่สุดคือการนำร่างของมัมมี่มาบดเป็นผงเพื่อผสมเป็นสีโดยสีที่ได้จากมัมมี่นั้นเป็นสีน้ำตาลอยู่ระหว่างโทน raw umber กับ burnt umber
ส่วนศิลปินชาวยุโรปเริ่มใช้สีจากมัมมี่มานานแค่ไหน? เป็นไปได้ว่าน่าจะเริ่มใช้มาตั้งแต่ศตวรรษที่ 16 แต่สีน้ำตาลมัมมี่เริ่มเป็นที่นิยมในตลาดก็เมื่อร้านขายสีชื่อดังในปารีสนำสีน้ำตาลจากมัมมี่มาผลิตในสเกลใหญ่แถมทุ่มงบโปรโมตโดยเรียกชื่อสีของเขาว่า ‘Mummy Brown’ ซึ่งมีบันทึกว่าต้องใช้มัมมี่บดผสมกับมดยอบ (ยางไม้ที่ได้จากพืชในสกุล Commiphora) และน้ำมันสน แทนที่จะกลัวเพราะเป็นสีจากศพ Mummy Brown กลับเป็นที่ชื่นชอบของเหล่าศิลปินเพราะคุณสมบัติเกลี่ยเข้ากับสีอื่นได้ง่าย ดังนั้นภาพมากมายจากในยุคนั้นจึงใช้สีจากมัมมี่โดยที่เราไม่เคยรู้ เช่น ภาพเสรีภาพนำประชาชน (La Liberté guidant le peuple) อันโด่งดังของ Eugène Delacroix ศิลปินชาวฝรั่งเศส หรือผลงานของ William Beechey ศิลปินชื่อดังชาวอังกฤษ
อันที่จริงการใช้สีที่ผลิตจากร่างมนุษย์ไม่ได้ให้ผลที่ดีนักในเชิงการเก็บรักษาเพราะมีส่วนประกอบของทั้งไขมันและแอมโมเนีย ส่งผลให้เมื่อใช้ไปนานเข้าสีนี้อาจจะทำให้เกิดรอยแตกในภาพวาด อย่างไรก็ดี คนในยุคนั้นไม่ทราบถึงส่วนประกอบทางเคมี และการผลิตสีจากมัมมี่ก็ยังถูกทำซ้ำต่อไปจนถึงศตวรรษที่ 20 กล่าวกันว่ามัมมี่หนึ่งร่างสามารนำมาผลิตสีได้นานถึง 20 ปี และกว่าสีน้ำตาลจากมัมมี่จะหมดไปจากตลาดก็ต้องรอกระทั่งร้านขายสีแห่งสุดท้ายใช้มัมมี่จนหมดไปจากสต็อกคือในปี 1964 นี้เอง
ด้วยความที่สีน้ำตาลจากมัมมี่ถูกใช้มานานมาก น่าสนใจว่าศิลปินบางคนไม่รู้ด้วยซ้ำว่าสีน้ำตาลที่เรียกว่า Mummy Brown มีที่มาจากมัมมี่จริงๆ Edward Burne-Jones ศิลปินชาวอังกฤษในศตวรรษที่ 19 ตกใจมากเมื่อทราบว่าสีของเขาทำมาจากมัมมี่เพราะตัวเขาคิดมาตลอดว่าชื่อสีเป็นแค่คำเปรียบเปรย เมื่อรู้เรื่องนี้โดยบังเอิญหลังทานมื้อเที่ยงกับเพื่อนในวงการ เขารีบวิ่งกลับสตูดิโอเพื่อนำหลอดสีมาทำพิธีฝังอย่างสมศักดิ์ศรีที่สวนหลังบ้าน กล่าวกันว่าลูกสาวของเขาถึงขั้นนำดอกเดซี่มาปลูกไว้เพื่อเป็นการไว้อาลัยให้ใครก็ตามที่โชคร้ายถูกนำร่างหลังความตายมาผลิตเป็นสี
ความนิยมมัมมี่ในสังคมยุโรปเรียกได้ว่าติดลมบนมายาวนาน เราไม่อาจทราบได้ว่ามีมัมมี่มากมายเท่าไหร่ที่ถูกนำมาบดเป็นยาหรือผลิตออกมาเป็นสี มีข่าวว่าการซื้อ-ขายมัมมี่ทำกำไรได้มากขนาดศพคนจริงถูกโขมย นำไปตากให้แห้งเพื่อย้อมแมวเป็นมัมมี่ อันที่จริงในช่วงปี 1973 ห้างสรรพสินค้าในนิวยอร์กก็ยังขาย ‘ผงมัมมี่’ ที่สามารถนำไปเป็นส่วนผสมของอะไรก็ตามสุดจะคาดเดา
ไม่เห็นไม่ได้แปลว่าไม่สำคัญ สีน้ำตาลและส่วนประกอบสำคัญของประวัติศาสตร์
เมื่อเรามองภาพวาดอันโด่งดังอย่าง The Night Watch ของ Rembrandt ศิลปินชื่อดังชาวดัตช์ หลายคนอาจจดจำสีดำของยามค่ำคืนหรือสีแดงที่อยู่บนแถบผ้าของชายที่อยู่จุดกึ่งกลางความสนใจ แต่รู้หรือไม่ว่าภาพวาดของแรมบรันดต์นั้นซ่อนสีน้ำตาลมากมายที่มาประกอบกันเพื่อให้ตัวแบบของเขาสามารถปรากฏตัวออกมาจากความมืดได้
แรมบรันดต์นั้นโด่งดังเรื่องการจัดแสง ภาพวาดของเขามักมีแสงสว่างส่องลงมาตรงกลางภาพและไล่สีให้องค์ประกอบด้านข้างดูมืดลงไป การจะสร้างเอฟเฟกต์แบบนี้จำเป็นต้องใช้สีน้ำตาลมากมายหลายเฉดและใช้อย่างชาญฉลาดเพื่อสร้างมิติ ภาพวาดของเขาจึงติดตราตรึงใจผู้คนมานานหลายร้อยปีโดยที่ผู้ชมภาพส่วนใหญ่ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าสีน้ำตาลมีส่วนช่วยอย่างมากในการสร้างประสบการณ์ทางศิลปะ
ที่ผ่านมาในอารยธรรมมนุษย์ สีน้ำตาลรับบทรองหลายครั้ง มันอาจไม่ใช่สีที่โด่งดังหรือเป็นที่จดจำมากที่สุด คนส่วนใหญ่ที่กำลังอ่านบทความอาจไม่มีสีน้ำตาลติดอยู่ในลิสต์สีโปรดในดวงใจ แต่หากเราหันกลับไปมองสิ่งประกอบสร้างมากมายในชีวิตประจำวัน เราอาจประหลาดใจที่เห็นสีน้ำตาลแอบซ่อนอยู่ในส่วนเล็กน้อยของชีวิต
ก็อย่างเช่นเรื่องที่เล่ามาทั้งหมดนั่นล่ะ สีน้ำตาลไม่เรียกร้องความสนใจแต่มันก็เป็นสีที่ขาดไม่ได้ในการบอกเล่าเรื่องราวมากมายในประวัติศาสตร์