แม้ไม่ใช่ ‘ถ่านไฟเก่า’ ในแง่ของคนรักเหมือนในเพลงของพี่เบิร์ด ธงไชย แต่ในโลกของการทำงาน บ่อยครั้งที่ใครหลายคนซึ่งเคยลาออกจากบริษัทเก่าด้วยเหตุผลส่วนตัว หรือการทำงาน ยังคงรู้สึก ‘นึกถึง’ ที่ทำงานเดิม จนทำให้ต้องกลับมาสมัครงานใหม่อีกครั้ง
กระแสดังกล่าวได้รับความนิยมมากขึ้นในช่วงหลัง จนกลายเป็นปรากฏการณ์ที่เรียกว่า ‘Boomerang Employees’
สิ่งนี้เกิดขึ้นพร้อมกับการที่องค์กรต่างๆ เริ่มมีทัศนคติที่มองว่า การลาออก ไม่จำเป็นต้องหมายถึง ‘การลาออกตลอดกาล’ แต่เหล่า Boomerang Employees ที่ส่วนใหญ่เคยลาออกไปเพื่อไปแสวงหาโอกาสในบริษัทใหม่ สามารถกลับมาสร้างประโยชน์ให้องค์กรเดิม ที่ต้องการสร้างพนักงานที่มีความมั่นคงและมีอายุงานยาวนานได้
ขณะเดียวกัน พนักงานในปัจจุบันก็ต้องการความยืดหยุ่นในการแสวงหาทางเลือกอื่นในการทำงาน โดยไม่ได้ ‘ทำลาย’ สะพานที่เชื่อมตนเองกับที่ทำงานเก่าไปอย่างถาวร คล้ายกับการลาออกจากที่ทำงานเดิมโดยยังเหลือ ‘เยื่อใย’ บางอย่างไว้ เคยมีการสำรวจของ UKG ที่พบว่า 62% ของคนที่เคยลาออกจากงานเดิมมองว่า องค์กรเดิมดีกว่าบริษัทใหม่ที่พวกเขาทำงานอยู่
เช่นนี้แล้ว การจ้าง Boomerang Employees ที่ถ่านไฟเก่ายังร้อนรอวันรื้อฟื้น อาจเป็นผลดีต่อทั้งองค์กรและพนักงาน เนื่องจากองค์กรก็จะได้บุคลากรที่มีประสบการณ์ มีความสัมพันธ์คุ้นเคยกลับเข้ามา ขณะเดียวกัน พนักงานก็ได้กลับมาทำงานในบรรยากาศที่คุ้นเคย พร้อมกับประสบการณ์ใหม่ๆ ที่ได้ออกไปแสวงมา และอาจเป็นโอกาสในการขยับตำแหน่งงานสูงขึ้น
หนึ่งในคำถามที่น่าสนใจคือ ถ่านไฟเก่าเหล่านี้ใช้เวลานานเท่าไหร่จึงจะเริ่มร้อนอีกครั้งจนต้องกลับมา
มีผลวิจัยที่ระบุว่า Boomerang Employees มักกลับมาทำงานที่เดิมภายใน 13 เดือนหลังจากลาออก มีเพียง 26% ที่กลับมาภายใน 7 เดือน และมากกว่า 3 ใน 4 กลับมาภายในเดือนที่ 16 แสดงให้เห็นว่า ค่าเฉลี่ย 1 ปี คือช่วงเวลาที่เหล่าพนักงานจะกลับมาสมัครงานที่เดิมบ่อยเป็นพิเศษ
มีการวิเคราะห์ที่ทำให้เห็นปัจจัยสำคัญบางประการที่ทำให้พนักงานเหล่านี้เลือกกลับมาที่เดิม เช่น พนักงานรู้สึกว่าองค์กรใหม่ไม่รักษาสัญญาที่ให้ไว้ โดยเฉพาะเงื่อนไขการจ้างงานที่ชัดเจน
นอกจากนี้ อีกเหตุผลคือ ‘ความสัมพันธ์ทางสังคม’ ที่ยิ่งพนักงานยังรักษาความเหนียวแน่นในสายสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงานเดิมได้มากเท่าไหร่ ก็ยิ่งมีแนวโน้มที่จะกลับมาทำงานที่เดิมมากขึ้นเท่านั้น และอีกเหตุผลสำคัญคือเรื่องของฐานเงินเดือนที่เหล่า Boomerang Employees มักได้รับการปรับเงินเดือนขึ้นจากช่วงก่อนลาออกครั้งแรก
แน่นอนว่ายังมีปัจจัยอื่นๆ อีกมากมายที่ส่งผลต่อการตัดสินใจกลับมาทำงาน แต่หากจะพูดถึงจุดแข็งของ Boomerang Employees ที่องค์กรควรพิจารณา มีอะไรบ้างกันแน่?
สมบัติล้ำค่าในการสร้างทีมที่ภักดีและยืนยาว
พนักงานที่กลับมาพร้อมประสบการณ์ในที่ทำงานใหม่ มักจะนำความมุ่งมั่นและความรู้สึกชื่นชมที่มีต่อวัฒนธรรม ค่านิยม และเป้าหมายขององค์กรเดิมกลับมาด้วย การกลับมาของ Boomerang Employees อาจเป็นการส่งข้อความที่ทรงพลังให้ทั้งออฟฟิศได้รับรู้ว่า นี่คือองค์กรที่ยอดเยี่ยม หากองค์กรสามารถต้อนรับพนักงานเหล่านี้ได้อย่างเปิดเผย พวกเขาก็อาจเป็น ‘สะพาน’ ในการส่งเสริมความภักดีและเป็นกำลังใจให้พนักงานที่มีอายุงานยาวนานได้มองความสำเร็จในอนาคตร่วมกัน

ให้ข้อเสนอแนะที่จริงใจ
พนักงานส่วนใหญ่ที่ลาออก มักมองเห็นปัญหาหรือจุดบกพร่องขององค์กรเดิม และการที่พวกเขาได้ออกไปเผชิญกับโอกาสในที่ทำงานใหม่ ถือเป็นประสบการณ์ที่ทำให้ได้เห็นโลกภายนอกองค์กร ได้รับข้อมูลเชิงลึกใหม่ๆ เกี่ยวกับการทำงาน เมื่อกลับมาทำงานในองค์กรเดิม จึงสามารถนำประสบการณ์ใหม่ๆ นั้นมาปรับใช้ในการสนับสนุนการทำงาน หรือช่วยแก้ไขปัญหาเดิมของทีมให้ดีขึ้นได้ นอกจากนี้ ยังสามารถช่วยดึงดูดบุคลากรใหม่ๆ ที่มีความสามารถให้เข้ามาร่วมงานได้อีกด้วย โดยการแสดงให้เห็นว่า องค์กรนั้นๆ คือที่ทำงานที่ ‘คุ้มค่า’ จะอยู่ต่อ

กลับมาจอยทีมด้วยมุมมองที่สดใหม่และช่วยสร้างความมั่นใจ
พนักงาน Boomerang Employees มักกลับมาพร้อมกับความคุ้นเคยแต่เต็มไปด้วยมุมมองใหม่ๆ ดังนั้น ความคุ้นเคยเกี่ยวกับระบบการทำงานและวัฒนธรรมองค์กรเดิม ทำให้พวกเขาปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมได้อย่างรวดเร็ว และสามารถสร้าง ‘ผลกระทบ’ ได้ทันที หากองค์กรสามารถช่วยให้พนักงานเหล่านี้มั่นใจว่าการเปลี่ยนแปลงจะเป็นไปด้วยความราบรื่น พลังงานสดใหม่นี้จะสามารถสร้างแรงบันดาลใจให้กับเพื่อนร่วมทีม และกระตุ้นเตือนถึงคุณค่าของความสัมพันธ์ในที่ทำงาน ซึ่งมีผลต่ออาชีพและการใช้ชีวิตได้

เสริมภาพลักษณ์ขององค์กร
มีข้อสังเกตที่บอกว่า เมื่อพนักงาน ‘เลือกที่จะกลับมา’ นั่นแสดงถึง ‘บางสิ่ง’ ที่ทรงพลังเกี่ยวกับองค์กร นั่นอาจหมายถึง องค์กรเป็นสถานที่ที่เหล่าพนักงานรู้สึกมีคุณค่า ได้รับการสนับสนุน และได้รับการเห็นคุณค่า และการกลับมาอีกครั้งอาจเป็นเครื่องพิสูจน์ถึงวัฒนธรรมองค์กรให้คนภายนอกได้เห็นว่า นี่คือสถานที่ทำงานที่มีความสำคัญ และสามารถเติบโตในอาชีพการงานได้ สิ่งนี้จะเสริมสร้างชื่อเสียง ภาพลักษณ์ อันจะช่วยให้องค์กรสามารถดึงดูดบุคลากรใหม่ๆ และรักษาบุคลากรเดิมในองค์กรที่มีความสามารถไว้ได้

แน่นอนว่าทุกอย่างมีทั้งข้อดีและข้อด้อย การกลับมาของพนักงาน Boomerang Employees อาจเป็นจุดที่สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นให้องค์กรได้ ขณะเดียวกัน ก็เป็นหน้าที่ขององค์กรที่จำเป็นต้องพิจารณาและคัดเลือกคนทำงานให้ดี ไม่ว่าจะเป็นพนักงานที่ถ่านไฟเก่ายังร้อน หรือพนักงานใหม่ที่ไฟยังแรง
ขณะเดียวกัน ไม่ว่าจะคนรักเก่าหรือพนักงานเก่า เมื่อโชคดีได้มีโอกาสครั้งที่สอง ก็ต้องพิสูจน์ให้เห็นด้วยว่า เราเหมาะสมและทำให้โอกาสที่ได้รับมานั้นคุ้มค่าอย่างแท้จริง