เด็กสมัยนู้นอ่านอะไร?

ถึงแม้ว่าคราวก่อนเราได้สำรวจตรวจดูหนังสือเล่มโปรดของน้องๆ a team junior 13 เพื่อดูว่าเด็กเจนเนอเรชั่นใหม่ที่โตมาพร้อมสมาร์ทโฟนจะยังรักการอ่านหนังสือกันอยู่ไหม? และอ่านอะไรกันอยู่? จบไปแล้ว

แต่เราไม่จบแค่นั้น เพราะเกิดความสงสัยขึ้นต่อว่า…อ้าว! แล้วเด็กสมัยก่อนที่ไม่ได้เติบโตมาพร้อมอินเทอร์เน็ต และทะเลข้อมูลอย่างพวกเรา เขาอ่านอะไรกันนะ? แล้วประเภทหนังสือที่พวกเขาหลงรักจะแตกต่างหลากหลายจากเด็กรุ่นเราอย่างไรบ้าง?

ชาว a team จึงส่งข้อความไปหาผู้ใหญ่ใจดีที่เด็กสมัยนี้เคารพรักมาร่วมแลกเปลี่ยนหนังสือในความทรงจำสมัยยังหนุ่มยังสาวด้วยกันสักหน่อย

เพราะเชื่อว่าความทรงจำของเด็กสมัยก่อนนั้นจะเป็นขุมทรัพย์ของเด็กสมัยนี้ เพราะบางเล่มก็เป็นหนังสือรวมคลังภาษาสนุกรุ่นเก๋าที่เราเกิดไม่ทันจะได้อ่าน

และคงเป็นเรื่องตื่นเต้นไม่น้อยถ้าเด็กสมัยนี้บางคนจะลองออกค้นหามาอ่านดูสักตั้ง!

แป๊ด – ดวงฤทัย เอสะนาชาตัง

บรรณาธิการสำนักพิมพ์ระหว่างบรรทัด และเจ้าของร้านหนังสือก็องดิด


สงสัยจังว่าหนังสือเล่มไหนที่ทำให้สาวแว่นอย่างคุณติดงอมแงม?
“เอาจริงๆ ตอนเป็นวัยรุ่นมัธยมปลาย เราติดนวนิยายประโลมโลกย์มาก อ่านตะลุยดะ ไม่ว่าจะเป็นของทมยันตี, โรสราเรน, ลักษณาวดี ,วลัย นวาระ, โสภาค สุวรรณ, นันทนา วีรชน ฯลฯ”

ถ้าไม่ใช่ห้องสมุดโรงเรียน เราจะหาสาวแว่นอย่างคุณเจอได้ที่ไหนบ้างช่วงปิดเทอม?
“ถ้าชีวิตช่วงปิดเทอมพบได้ตามร้านเช่าหนังสือ ห้องสมุดประชาชน และหมกตัวอยู่แต่ในบ้าน ถ้าชอบนักเขียนคนไหน ก็จะตามอ่านผลงานของคนนั้นจนครบชุด เรียกได้ว่าอ่านจนแว่นตาหนาตั้งแต่มัธยม และได้รับความคิดเพ้อเจ้อ ช่างมโนมาจากนวนิยายเหล่านี้ไม่มากก็น้อย”

พอเข้ามหาวิทยาลัย โลกการอ่านของพี่แป๊ดเปลี่ยนไปอย่างไรบ้าง?
“ตอนเข้าปีหนึ่ง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ชีวิตการอ่านเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง หนึ่งในอาจารย์ที่เปลี่ยนการอ่านคือ อาจารย์ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ วิชาปรัชญาการเมือง ลงเรียนตอนปีหนึ่ง อาจารย์ให้อ่าน เจ้าชายน้อย อ่านมาคีอาเวียลลี รู้จักเจ้าชายน้อยตอนปีหนึ่ง และต้องขอบคุณ ห้องสมุดกลาง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ คือโอเอซิสช่วงวัยเรียนมหาวิทยาลัยมาก ไม่มีวันไหนที่เราไม่เข้าห้องสมุด อ่านความเรียง วรรณกรรม ชีวิตการอ่านเติบโตอย่างแข็งแรงที่นี้”

โลกของการอ่านมันเปลี่ยนชีวิตสาวแว่นชมรมวรรณศิลป์ของรั้วแม่โดมยังไงบ้าง?
“หนังสือเปลี่ยนชีวิตสำหรับตัวเองจะเรียกว่าตำราก็ว่าได้ มันมีชื่อว่า รัฐศาสตร์ทวนกระแส เขียนโดยอาจารย์ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ เป็นรวมบทความจากที่ต่างๆ เกี่ยวกับความหมายใหม่ของวิชารัฐศาสตร์ ทำให้เราเปลี่ยนมุมมองจากสิ่งที่เรียกว่า”กระแสหลัก” อย่างสิ้นเชิง

เราไม่ค่อยมองหาความหมายของรัฐศาสตร์จากสิ่งที่เป็นระบบ เช่น พรรคการเมือง รัฐสภา หรือองค์กรต่างๆ แต่เรามองหาความหมายของการเมืองจาก นวนิยาย จากเพลง จากหนัง จำได้ว่าลงเรียนวิชานวนิยายกับการเมืองกับอาจารย์ชัยวัฒน์สนุกมาก เอานวนิยายเรื่องคู่กรรม มาทำเปเปอร์ จากที่เคยร้องไห้ตอนอ่านครั้งแรกสมัยมัธยม ความคิดนั้นเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง

อีกที่หนึ่งที่ทำให้เราอ่านหนังสืออย่างหนัก คือ รุ่นพี่ รุ่นน้องที่ชมรมวรรณศิลป์ ธรรมศาสตร์ เราได้แลกเปลี่ยนการอ่านเป็นอย่างมากที่นี่ ได้รู้จักวรรณกรรมแปลเชิงปรัชญา อย่างงานของซาร์ต ของกามูส์ ของซีโมน เอ บูวัวร์ ก็ที่นี่ ยังจำความสนุกเวลานั่งคุยหรือถกเถียงเรื่องวรรณกรรมกับพี่น้องที่ชมรมนี้

และการอ่านทั้งหลายในวันนั้น ก็กลายเป็นเราในวันนี้”

จุ้ย – ศุ บุญเลี้ยง

นักเขียนลูกสมุย ผู้ก่อตั้งกะทิกะลาคอมปานี อดีตเจ้าสำนักศิษย์สะดือผู้ผลิตหนังสือเล่มเนื้อหาแหวกแนว และนิตยสารขวัญใจวัยรุ่นสมัยก่อน อย่าง ไปยาลใหญ่


สงสัยจังว่าเด็กชายสมจุ้ย ชอบอ่านหนังสือแบบไหน?
“หนังสือมวย – ชื่อ มวย เดอะริง”

ทำไมเด็กน้อยวัยประถมปลายถึงริอ่านหนังสือมวยนะ?
“สนใจมวย”

นิตยสารมวยมันให้อะไรเรา หรือพาเราไปเจออะไรบ้าง?
“สำนวน อรรถรส”

จินตนาการไม่ออกเลย พอจะแบ่งปันตัวอย่างให้ฟังได้ไหมคะ?

“นั่นนะสิ ต้องคิดก่อนนะ

พวกการตั้งชื่อนักมวย อย่าง สายฟ้า แสงมรกต ฉายานักมวย อย่าง ขุนเข่าเสาโทรเลข จอมเตะไฟพะเนียง ไอ้หมูแข้งทอง เป็นต้น เห็นการใช้ภาษาที่เก๋เท่ไหม ยิ่งบรรยายการต่อสู้แต่ละยกนี่จินตนาการตามอย่างออกรส เพราะคนอ่านไม่มีภาพเคลื่อนไหวเหมือนสมัยนี้ ที่มาของชื่อนั้นไม่รู้ใครตั้ง แต่คนพากย์ คนเขียนต้องเขียนเก่งใส่ไข่ให้ภาพ แม่ไม้มวยไทยก็ใช้คำดี ลองหาดูสิ ตาเถรกวาดลาน หักงวงไอยรา”

อ๋อ! จระเข้ฟาดหาง ขุนยักษ์จับลิง

“เห็นไหม…มันสุดๆ”

แล้วเด็กชายสมจุ้ยไม่นึกสงสัยบ้างหรือคะ?

“ตอนเราไม่สงสัยภาษาพวกนั้น แต่อินไปเลย มันเซอร์เรียล เหนือจริงอยู่แล้ว อย่าง ซ้ายหมัดสั่ง หมัดทะลวงไส้ ล็อกถล่ม เซียนอยู่รู หมูอยู่ตึก เตะพับในจนเข้าห้องน้ำไม่ได้ หลับลืมบ้านเลขที่ เยอะแยะ จำไม่หมด ไม่เคยคิดจะจำ แต่มันติดมาว่าเวลาจะเขียนอะไรต้องใช้สำนวนให้มันเกินมันกวนมันยวนใจ”

ทุกวันนี้หนังสือเล่มนั้นยังมีขายอยู่ไหม?

“ห่อถั่วคั่วไปหมดแล้ว”

หนังสือมวยส่งอิทธิพลกับคุณอาในวันนั้นยังไงบ้าง?

“ทำให้อยากเป็นนักมวย แต่มาเป็นนักเขียน เพราะนักมวยความฝันมันเจ็บและจุก เคยโดนเตะโดนศอกแล้วรู้”

แล้วตอนนั้นคุณอาหาอ่านเอาจากไหนเหรอคะ ไปเปิดดูตามค่ายมวยในสมุย หรือว่าแคะกระปุกซื้ออ่าน?

“ขโมยอ่าน”

หมี – นิภา เผ่าศรีเจริญ

Editorial Director บริษัท เดย์ โพเอทส์ จำกัด


อยากรู้จังว่าเด็กหญิงนิภา เผ่าศรีเจริญ เริ่มเดินทางเข้าไปในโลกของการอ่านตั้งแต่เมื่อไหร่?
“พี่อ่านหนังสือที่ไม่ใช่ตำราตั้งแต่ ป.2 อายุประมาณ 7 ขวบได้มั้ง จำได้ว่าตอนปิดเทอมไปค้างบ้านยาย ก็หยิบเล่ม จดหมายจากเมืองไทย ของโบตั๋น มาอ่านเอง—สนุกมาก อื่นๆ ก็พวกการ์ตูน เบบี้ หนูจ๋า ที่พ่อซื้อให้ลูกๆ แบ่งกันอ่านเป็นประจำ หนังสือพิมพ์ที่ที่บ้านรับ ก็เอามาอ่านบ่อยๆ รู้เรื่องบ้างไม่รู้เรื่องบ้าง ก็อ่านมันหมดละ”

ตอนนั้นเราติดหนังสือขนาดไหน?
“ช่วงที่เรียกว่าเกิดการอ่านอย่างจริงจังขึ้นเรื่อยๆ คงเป็นตอน ป.5 เริ่มจากเก็บเงินซื้อหนังสือชุดเด็กของ ทวพ.เอง สลับกับยืมหนังสือต่างๆ ในห้องสมุดโรงเรียน ยืมจนเรียบครบทุกเล่มทุกชั้น พี่ติดอ่านหนังสือมากจนโดนแม่ดุ เพราะไม่ยอมนอน บางทีถึงกับเอาไฟฉายไปแอบอ่านหนังสือต่อในผ้าคลุมโปง”

แล้วอย่างช่วงวัยรุ่นมีหนังสือเล่มไหนที่ประทับใจ หรือชอบเป็นพิเศษไหม?
“ถ้าให้จำกัดการอ่านตอนวัยรุ่นอย่างชัดเจน ยากหน่อยค่ะ เพราะพี่อ่านหนังสือมั่วไปหมดทุกแนว เท่าที่มีกำลังซื้อหรือสนใจ ทั้งนิยายไทย เรื่องสั้น บทกวี วรรณกรรมเยาวชน วรรณกรรมแปล เรื่องสืบสวน เรื่องประวัติศาสตร์ เรื่องประโลมโลกย์ เรียกว่าตั้งแต่สุวรรณี สุคนธา อกาธา คริสตี้ เชคอฟ ไปจนแฮโรลด์ ร็อบบิ้นส์ ฯลฯ และที่อ่านมากไม่แพ้กันคือนิตยสาร ทั้ง ‘บีอาร์’ ‘ลลนา’ ‘ดิฉัน’ ‘สตรีสาร’ ‘แพรว’ ฯลฯ แต่มีหนังสือจำพวกที่ยังไม่เคยอ่านจนทุกวันนี้ คือ การ์ตูนญี่ปุ่น และกำลังภายใน ไม่ได้แอนตี้หรือเห็นว่าไม่ดี มันแค่ไม่เคยอ่าน และยังไม่นึกอยากอ่านเท่านั้นเอง ไม่รู้เหมือนกันว่าเพราะอะไร”

พอจะยกตัวอย่างหนังสือวัยเด็กที่ติดอยู่ในความทรงจำให้ฟังได้ไหมคะ?
“สงสัยบอกไปสักร้อยชื่อคงยังไม่พอ 🙂 คงต้องเรียกว่าติดการอ่านอย่างงอมแงมมากกว่า แต่หากให้ยกมาสักเรื่องจากวัยเด็ก พี่นึกถึงหนังสือชุด บ้านเล็กในป่าใหญ่ ของลอร่า อิงกัลไวล์เดอร์ส สำนวนแปลของคุณสุคนธรส (เพราะภายหลังมีอีกสองสำนวนแปล) ที่อ่านครั้งแรกตอน 10 ขวบ”

ทำไมถึงเป็นบ้านเล็กในป่าใหญ่กันนะ?
“หนังสือชุด ‘บ้านเล็กฯ’ ในยุคก่อนเป็นปกแข็งมีแจ็คเก็ตหุ้มเป็นภาพวาดสวยงาม มีทั้งหมดเจ็ดเล่มในชุด—พี่ยืมจากห้องสมุดที่โรงเรียนสาธิตฯ ไปนั่งอ่านที่ชิงช้าก่อนกลับบ้านแทบทุกเย็น จำได้ว่า มันให้ความรู้สึกผจญภัยนิดๆ เปิดโลกและให้เราได้จินตนาการไปถึงผู้คนและถึงดินแดนที่เราไม่รู้จัก ที่สำคัญคือมันเป็นความรู้สึกผูกพันและอบอุ่นอย่างประหลาด”

แหล่งช็อปหนังสือของเด็กหญิงนิภาคือที่ไหน?
“ก็อย่างที่เล่าค่ะว่า หาหนังสืออ่านทั้งจากในบ้าน และจากห้องสมุด แต่ที่มากที่สุดคือ ซื้อหามาอ่านเองจากร้านหนังสือละแวกสยามสแควร์ วังบูรพา หรือรอซื้อลดราคาตามงานแฟร์ที่มีร้านมาเปิดบูธ เช่น งานเกษตรแฟร์ในอดีต หรืองานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ สมัยยังจัดงานกันที่คลองหลอด และสวนลุมฯ พี่ต้องเตรียมเก็บเงินค่าขนมเพื่องานนี้ทุกปี ไม่มีพลาด”

โลกของการอ่านมันหล่อหลอมอะไรในตัวเราบ้าง?
“คงต้องบอกว่า ไม่มีหนังสือเล่มใดเล่มหนึ่งหรอก—ทุกเล่มเลยมากกว่าที่หล่อหลอมอยู่ในตัวเรา เรียกว่ามัน ‘สั่งสม’ มาเรื่อยๆ โดยเราไม่รู้ตัว โดยที่ไม่ได้ไปตั้งเป้าหมายอะไรกับการอ่านทั้งสิ้น เราจะอ่านเพราะสองเหตุผลเท่านั้นคือ อยาก ‘รู้’ และได้ ‘รู้สึก’

พี่มามองย้อนดูถึงเห็นว่า มันมีส่วนสำคัญไม่น้อยที่ทำให้เราเป็นอย่างที่เราเป็น และยังถือเป็น ‘สิ่งจำเป็น’ มากในชีวิตพี่จนถึงทุกวันนี้ เหมือนมีชีวิตอยู่ก็ยังต้องมีอากาศไว้หายใจ ไม่ได้พูดใหญ่เกินจริงเลย–

‘I read, therefore I am.’ “

AUTHOR