คุ้ยเรื่องอร่อยผ่านจานชามช้อนใน ‘ประวัติศาสตร์ก้นครัว’

ชื่อหนังสือ ประวัติศาสตร์ก้นครัว (Consider the Fork: A History of How We Cook and
Eat)
ผู้เขียน Bee Wilson
ผู้แปล พลอยแสง เอกญาติ
สำนักพิมพ์ openworlds

อาหารเป็นหัวข้อที่มนุษย์ทั่วโลกอินร่วมกัน
จะทำครัวหรือไม่ทำครัว เราก็มีความสุขกับการกิน ดื่ม เคี้ยว ซด
อาหารทั้งชาติตัวเองและชาติคนอื่น
เราอยู่กับอาหารทุกวันมาตั้งแต่ยุคโบราณอันไกลโพ้น การปรุงและการกินอาหารมีการเคลื่อนผ่าน
เปลี่ยนแปลง อัพเลเวลความทันสมัย ดูได้จากหนังสือมากมายที่เล่าเรื่องประวัติศาสตร์อาหาร
สูตรอาหารนับร้อยนับพันเล่ม แต่ดั๊นไม่มีใครสนใจเทคโนโลยีเครื่องครัวที่ตั้งทนโท่อยู่ในครัวของเราเลย! ทั้งที่แค่ช้อนไม้เล็กๆ
อันเดียวก็เล่าประวัติศาสตร์การกินของมนุษย์ได้มากมาย

ด้วยเหตุนี้ ผู้เขียน บี วิลสัน
(ซึ่งเป็นทั้งนักเขียนเรื่องอาหารและนักประวัติศาสตร์)
เลยรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับเทคโนโลยีเครื่องครัว ไล่เรียงตั้งแต่ หม้อ กระทะ มีด
แม่พิมพ์ ตู้เย็น ฯลฯ มาร้อยเรียงว่าของแต่ละชิ้นที่ใช้ๆ
กันอยู่ทุกบ้านมีที่มาที่ไปตั้งแต่โบราณอย่างไร การเปลี่ยนแปลงของมันในแต่ละยุคสมัยส่งผลต่อการใช้ชีวิตและความสุขในการกินของเราอย่างไร
ทำไมของใช้หน้าตาเก่าเก็บอย่างสากและครกถึงอยู่ยั้งยืนยงข้ามกาลเวลามาได้ ทั้งที่เดี๋ยวนี้เราก็มีเครื่องปั่นหน้าตาสวยเป็นราศีครัว
ฯลฯ

คำว่า ‘เทคโนโลยี’ อาจฟังดูน่าเบื่อ
แต่ความสนุกมันอยู่ที่เขาไม่ได้เล่าแค่ว่าหม้อแรงดันอันใหม่จะทำให้หมูนุ่มหรือไม่นุ่ม
แต่แสดงให้เห็นแง่มุมสนุกหรือยิ่งใหญ่ของสิ่งของในครัวที่เรามองข้าม
ทั้งที่ปฏิสัมพันธ์กับมันอยู่ทุกวัน เช่นว่า หม้อเป็นเทคโนโลยีพลิกโลกที่ช่วยชีวิตมนุษยชาติ
เพราะหม้อทำให้เราปรุงอาหารเหลวได้ คนฟันร่วงหมดปากก็ยังมีอาหารกิน ไม่อดตาย หรือมีดปังตออาจเป็นเทคโนโลยีมีดที่ใช้สอยประโยชน์ได้สูงสุดเท่าที่โลกเคยมี
เพราะมันยังใช้เหลาดินสอ เหลาตะเกียบ โกนหนวด และคิดบัญชีเก่าใหม่กับศัตรูคู่แค้นได้ด้วย
(!) ยังไม่นับถึงเหตุผลในการสับทุกอย่างเป็นชิ้นเล็กแล้วปรุงรวมกันของคนจีน
มันคือวิถีการกินที่ทำให้ชาวนาประหยัดเงินได้มากเพราะใช้เชื้อเพลงนิดเดียวอาหารก็สุกพร้อมกัน
แถมไม่ต้องลงทุนซื้ออุปกรณ์อื่นๆ ให้ล้นครัว ผู้เขียนไขความลับมากมายที่ซ่อนอยู่ในวิถีการกินการปรุงของมนุษย์โลก

ส่วนบันเทิงมากคือวัฒนธรรมการทำครัวที่ต่างกันในแต่ละประเทศ
เพราะบางอย่างมันทั้งพิเศษ แปลกประหลาด และน่าอร่อย จินตนาการตามก็เหมือนจะน้ำลายสอ
ตัวอย่างเช่น ‘ครัวหินร้อนยังคงใช้อบหอยในนิวอิงแลนด์
หอยตลับเนื้อหวานที่เพิ่งจับมาสดๆ จะถูกปรุงบนชายหาดนั่นเลยโดยวางเรียงในหลุมที่ใส่หินร้อนสลับกับเศษไม้และสาหร่ายทะเล ซึ่งช่วยคงความชุ่มฉ่ำให้เนื้อหอย’ อ่านไปก็อุทานโอ้ใน 2 ความหมาย หนึ่ง โอ้อาหารช่างเป็นเรื่องอุดมรายละเอียดและผูกพันกับมนุษย์กว่าที่เราคิด
สอง โอ้มนุษย์หนอช่างคิดรังสรรค์เพื่อความสุขในการกิน

ถึงบางช่วงจะไม่ค่อยอินเพราะมีวัฒนธรรมตะวันตกเสียมาก
อย่างเรื่องหม้อหุงข้าวนางก็ไม่ลงรายละเอียดเยอะ หรือบางทีก็ลงลึกเชิงเทคนิคเกินไป
แต่หนังสือเล่มนี้ก็น่ารักตรงที่ทำให้เรารำลึกได้ว่า ต่อให้โลกหมุนไปข้างหน้าแค่ไหน
เครื่องคั้นน้ำผลไม้แยกกากจะหมุนเวียนมาอยู่ในห้องครัวอีกกี่เครื่อง แค่หม้อเก่าๆ หน้าตาไม่หล่อเหลาที่มีซุปหรือแกงกำลังเดือดปุดและส่งกลิ่นหอม
ก็ปลอบประโลมจิตใจเราได้โดยไม่มีข้อแม้และไร้กาลเวลา

ความยากง่ายในการอ่าน: อ่านได้เรื่อยๆ แต่ติดขัดสำนวนแปลบางประโยคที่เข้าใจยากไปหน่อย
ถ้าไม่ถนัดอ่านสารคดีอุดมข้อมูลยาวๆ อาจเผลอง่วงระหว่างทาง (แต่ถ้าเจอข้อมูลสุดว้าวก็จะตาวาวทันที)

AUTHOR