‘วัดบันดาลใจ’ โครงการบันดาลวัดให้กลับคืนสู่ศูนย์รวมจิตใจของชุมชน

ในยุคที่หลายวัดเปลี่ยนบทบาทจากศูนย์รวมจิตใจกลายมาเป็นที่จอดรถ สถาบันอาศรมศิลป์ สถาบันการศึกษาที่มีความสนใจในสถาปัตยกรรมที่มีรากมาจากภูมิปัญญาไทยและกระบวนการมีส่วนร่วมในการออกแบบสถาปัตยกรรม จึงคิดทำโครงการ ‘วัดบันดาลใจ’ เพื่อพลิกฟื้นวัดให้กลับมาเป็นศูนย์รวมจิตใจคนในสังคมเหมือนก่อน คนจะได้หันหน้าเข้าหาวัดมากขึ้นด้วยการปรับโครงสร้างทางสถาปัตยกรรม ระบบจัดการภายในวัดและกิจกรรมธรรมะต่างๆ เราเลยชวน ประยงค์ โพธิ์ศรีประเสริฐปริยาภรณ์ สุขกุล และ ยิ่งยง ปุณโณปถัมภ์ ทีมงานหลักของ ‘อาศรมสถาปนิกชุมชนและสิ่งแวดล้อม’ องค์กรไม่แสวงหาผลกำไรที่นำความรู้ไปบริการสังคม หนึ่งในโครงข่ายของสถาบันอาศรมศิลป์ มานั่งคุยถึงการบ่มเพาะโครงการแสนบันดาลใจนี้ให้ชูดอกออกผลอย่างงดงาม

 

๑. เห็นความสำคัญจึงบันดาลใจ

เมื่อบทบาทของวัดในสังคมไทยเริ่มเปลี่ยนไป วัดหลายแห่งในย่านการค้าจึงกลายเป็นเพียงที่จอดรถให้คนที่มาทำกิจธุระบริเวณนั้น บางแห่งก็กลายเป็นพุทธพาณิชย์ ทีมอาศรมสถาปนิกชุมชนและสิ่งแวดล้อมเลยคิดเริ่มทำโครงการวัดบันดาลใจขึ้นมาตั้งแต่เดือนกันยายน ๒๕๕๗ ร่วมกับ สสส. โดยตั้งใจว่าอยากทำให้วัดกลับมาเป็นศูนย์กลางทั้งทางจิตวิญญาณและกายภาพของชุมชนดังเดิม

 

๒. คัดสรรวัด ๙ แห่ง

จากรายชื่อแรกที่เสนอไปแค่ ๓ วัด แต่ สสส. อยากให้โครงการนี้เห็นการเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจนทีมงานจึงเสนอเพิ่มเป็น ๙ วัด โดยเลือกจากวัดที่เจ้าอาวาสมีวิสัยทัศน์สอดคล้องกับแนวคิดโครงการ เป็นวัดที่มีคนรู้จักและกระจายอยู่ทุกภูมิภาค จะได้เป็นแรงบันดาลใจให้วัดอื่นๆ อยากพัฒนาบ้าง ที่สำคัญคือแต่ละวัดต้องมีจุดเด่นหรือศักยภาพไม่ซ้ำกัน เช่น วัดที่เน้นสอนธรรมะ วัดที่เน้นการปฏิบัติธรรมเผยแพร่ศาสนา วัดโบราณสถานที่เป็นสถานที่ท่องเที่ยว

วัด ๙ แห่งที่เป็นต้นแบบของโครงการ คือ วัดพระธาตุพนมวรมหาวิหาร จังหวัดนครพนม, วัดพระสิงห์วรมหาวิหาร จังหวัดเชียงใหม่, วัดนางชี กรุงเทพฯ, วัดชลประทานรังสฤษดิ์ จังหวัดนนทบุรี, วัดภูเขาทอง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา, วัดสุทธิวราราม กรุงเทพฯ, วัดศรีทวี จังหวัดนครศรีธรรมราช, วัดป่าโนนกุดหล่ม จังหวัดศรีสะเกษ และวัดมหาจุฬาลงกรณราชูทิศ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

๓. ฟอร์มทีมติดอาวุธทางปัญญา

โครงการนี้ยังได้หน่วยงานหลายภาคส่วนมาช่วยรับผิดชอบในแต่ละด้าน อย่างการออกแบบก็ร่วมมือกับสมาคมวิชาชีพ ๓ แห่ง คือ สมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย และสมาคมภูมิสถาปนิกประเทศไทย ด้านกิจกรรมร่วมมือกับหอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ ด้านงานวิจัยได้ รศ. ดร.อรศรี งามวิทยาพงศ์ และคณะจากวิทยาลัยพัฒนศาสตร์
ป๋วย อึ๊งภากรณ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มาช่วย รวมไปถึงดึงพลังจากกลุ่มชูใจ กะ กัลยาณมิตรมาช่วยงานด้านสื่อสาร

 

๔. ลงพื้นที่ธรรมแล้วลงมือทำ

เมื่อได้ ๙ วัดนำร่องแล้ว ทีมอาศรมศิลป์ก็ทำหน้าที่เป็นผู้ประสานงานกลางเพื่อหานักออกแบบอาสาสมัครให้เหมาะกับความต้องการของแต่ละวัด และช่วยดูแลจัดการการดำเนินงานร่วมกันระหว่างวัดและนักออกแบบอาสา

เริ่มจากการพูดคุยปัญหากับเจ้าอาวาสชุมชนและเครือข่ายของทางวัด เพื่อวิเคราะห์ข้อมูลทั้งหมดกว้างๆ ร่างเป็นผังแม่บทขั้นที่หนึ่ง เสนอเจ้าอาวาสหรือคณะกรรมการวัดเพื่อพัฒนาร่วมกัน จนออกมาเป็นโจทย์เฉพาะของแต่ละวัดที่ต้องทำให้ได้ ๒-๓ ประเด็น เช่น ปรับผังจัดโซนต่างๆ ในวัดใหม่ เพิ่มพื้นที่สีเขียวสร้างความร่มรื่น หรือแม้กระทั่งสร้างระบบการจัดการต่างๆ ภายในวัดอย่างระบบการแยกขยะ แล้วพัฒนาผังแม่บทสุดท้ายที่สามารถนำไปพัฒนาได้จริง พร้อมกับมิตรภาพที่ดีต่อกันของทีมงาน พระสงฆ์ และชาวบ้านในแต่ละพื้นที่

ด้วยเงินทุนของวัดที่จำกัด จึงต้องเริ่มทำปัญหาที่สำคัญและเร่งด่วนก่อน บางส่วนเมื่อทำเสร็จ ก็สามารถทดลองทำกิจกรรมได้เลยว่าใช้ได้หรือไม่ จะได้ปรับเปลี่ยนแก้ไขปัญหากันไปจนเหมาะสม ซึ่งแต่ละวัดใช้เวลาต่างกัน ขึ้นกับปัจจัยต่างๆ ทั้งความซับซ้อนของปัญหา ขนาดพื้นที่วัดและความมุ่งมั่นกระตือรือร้นของพุทธบริษัท

 

๕. ธรรมะออกแบบได้

“ปกติเราไม่ค่อยคุยกับพระ ก็จะรู้สึกเกร็งๆ แต่พอเข้าไปทำงานกับท่านจริงๆ เราก็สื่อสารกับท่านได้ สำคัญมากคือต้องทำให้ท่านเห็นสิ่งที่เราคิดเป็นรูปธรรม ท่านจะเริ่มเชื่อใจ เวลาฟังบรีฟงานจากท่าน ท่านก็บอกเหตุผลและเล่าแก่นธรรมถึงสิ่งที่ต้องการสอนให้กับญาติโยมที่จะมาวัด ทีมเราได้เข้าไปศึกษาธรรมะ ปฏิบัติธรรมด้วย พุทธศาสนาเป็นปรัชญาและความซับซ้อนบางอย่างที่เราจำเป็นต้องทำความเข้าใจเพื่อให้งานออกแบบนี้ไม่ได้มีแค่ความสวยงามอย่างเดียว แต่ต้องมีธรรมะสอดแทรกเข้ามา รวมถึงคำนึงว่าคนมาวัดแต่ละแห่งก็เป็นกลุ่มคนที่แตกต่างกัน” ปริยาภรณ์อธิบายถึงหลักการทำงานร่วมกับทางวัด

 

๖. สร้างบทสนทนาเรียนรู้กันและกัน

พอได้แบบที่แน่นอน ทีมงานก็จัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างนักออกแบบของทั้ง ๙ วัด มาเล่าโจทย์ต่างๆ ให้ฟังว่าทำงานแก้ปัญหากันอย่างไร ได้เรียนรู้อะไรบ้าง รวมถึงได้นิมนต์เจ้าอาวาสและพระสงฆ์ของแต่ละวัดมาร่วมเรียนรู้ด้วย ทำให้ทั้งพระและนักออกแบบเริ่มมองเห็นทิศทางการพัฒนาไปในทางเดียวกันและเป็นรูปธรรมมากขึ้น

๗. การบอกต่อก่อให้เกิดผลล้นหลาม

ทีมงานเริ่มตั้งเป้าขยายผลโครงการ โดยจัดงานเสวนาเพื่อดึงพระจากวัดอื่นๆ ที่สนใจเข้ามาร่วมพัฒนาให้ไปไกลกว่าแค่ ๙ วัดนำร่อง มีวัดต่างๆ ส่งใบสมัครเข้ามาถึง ๓๒ แห่ง คัดเลือกจนได้ ๑๖ แห่ง ที่ตอนนี้กำลังลงพื้นที่สำรวจอยู่ อีกส่วนยังมาจากการบอกต่อของเจ้าอาวาสวัดนำร่องที่เฟ้นหาวัดมาแนะนำ แถมบางครั้งยังไปช่วยอธิบายแนวคิดโครงการให้เสร็จสรรพ ตอนนี้มีวัดอีก ๑๑ แห่งที่เริ่มทำงานกันแล้ว ในขณะเดียวกันก็มีนักออกแบบทั้งในนามบริษัทและส่วนบุคคลที่สนใจเข้ามาช่วย ทั้งหมดนี้ถือเป็นความสำเร็จอย่างหนึ่งที่โครงการสามารถไปต่อได้ถึงขั้นที่พระสงฆ์เข้าใจและขยายผลกันเอง

 

๘. จากแนวคิดนามธรรมสู่ความสำเร็จรูปธรรม

ตอนนี้วัดที่เกิดผลสำเร็จทั้งทางรูปธรรมและกิจกรรมแล้วมี ๒ แห่งคือ วัดศรีทวีและวัดสุทธิวราราม ปริยาภรณ์เล่าว่า “วัดศรีทวีเริ่มใช้ห้องปฏิบัติธรรมใหม่แล้วเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา
เราเข้าไปปรับปรุงเรื่องแสงสว่างเพราะแต่เดิมเวลาปิดประตูห้องจะทึบมาก คนที่มาปฏิบัติธรรมบอกว่าบางทีเข้าไปนั่งในห้องแอร์นานๆ ๓-๔ วัน เขาจะเริ่มไม่สบายกัน เราจึงเจาะผนังข้างๆ ขยายหน้าต่างให้กว้าง และยกเพดานขึ้นให้ดูโปร่ง ที่คานก็ติดตั้งภาพปริศนาธรรมลงไป ทราบมาว่าหลังจากปรับปรุงห้องปฏิบัติธรรมก็มีการใช้งานเต็มตลอด”

“ส่วนที่วัดสุทธิวราราม เราก็ปรับภูมิทัศน์ใหม่โดยสร้างพื้นที่สีเขียวให้ร่มรื่นมากขึ้น รวมถึงปรับปรุง ‘ศาลา ณ สงขลา’ ของวัด เปิดเป็นพื้นที่อเนกประสงค์ให้ชาวบ้านเข้ามาใช้ประโยชน์ จัดกิจกรรมอย่าง ‘ดูหนังหาแก่นธรรม’ ขึ้น ซึ่งทางวัดก็เข้ามาช่วยอย่างดี จะเห็นว่าถ้าวัดมีขนาดเล็กไม่ซับซ้อนมาก และทุกฝ่ายทำงานแบบลุยเต็มที่ เวลาแค่ปีครึ่งก็จะเห็นผลแล้ว”

๙. โครงการบันดาลไกล

จากเป้าหมายเบื้องต้นที่ทีมงานแค่อยากขยายผลให้เกิดองค์ความรู้ใน ๑๐๐ วัด ก็เริ่มเล็งเห็นว่าน่าจะเป็นไปได้ที่จะสามารถทำให้เกิดผลเป็นรูปธรรมทั้ง ๑๐๐ แห่ง เพียงแต่ขอบเขตการพัฒนาของแต่ละวัดจะไม่เท่ากัน บางวัดอาจทำตั้งแต่มาสเตอร์แพลนไปจนถึงขั้นตอนก่อสร้างและคิดกิจกรรมธรรมนำใจ แต่บางวัด เจ้าอาวาสอาจขอแค่ให้ไปช่วยในบางเรื่องก็ได้

“พอทำงานกับ ๙ วัดนำร่องนี้แล้ว เราจะรู้ว่าวัดนี้ควรใช้เครื่องมืออะไร ควรแก้ปัญหาอย่างไรตั้งแต่ต้น เราจะปรับเปลี่ยนกระบวนการให้มีประสิทธิภาพขึ้นเรื่อยๆ รวมถึงเราอาจพูดเก่งกว่าเดิม สื่อสารกับพระท่านได้ดีขึ้น แต่เราคงทำทั้ง ๑๐๐ วัดไม่ไหว วัดบันดาลใจจะร่วมกับเครือข่ายในท้องถิ่นแต่ละสถานที่เพื่อขยายการทำงาน วิธีนี้จะเป็นการพัฒนาอย่างยั่งยืนในระยะยาว”

“เวลาที่วัดจัดงานบุญหรือปฏิบัติธรรมแล้วเราเห็นคุณตาย่ายายเดินถือชะลอมมา มีคนหนุ่มสาวเข้าไปช่วย แล้วชวนไปนั่งกินข้าว เรารู้สึกว่าสังคมกำลังกลับมา ชีวิตชีวากลับมาที่วัดแล้ว” ปริยาภรณ์ทิ้งท้ายด้วยผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมที่สุดของโครงการนี้

facebook | วัดบันดาลใจ

ภาพ โครงการวัดบันดาลใจ

AUTHOR